Gene-Pool-Aquarium.pantown.com
สาระน่ารู้กับ RoF <<
กลับไปหน้าแรก
โรคจากเชื้อไวรัสที่พบบ่อยในปลาสวยงาม
ไวรัส คือ อะไร?
ไวรัสนั้น ถือเป็นสุดยอดของเชื้อโรค ที่ถือกำเนิดขึ้นมาบนโลกนี้เลยก็ว่าได้นะครับ บนความสุดยอดที่ว่านั้น กลับกลายเป็นว่า ไวรัส เป็นสิ่งมีชีวิต ที่มีโครงสร้างที่ สลับซับซ้อนน้อยที่สุดในบรรดาสิ่งมีชีวิตทั้งหลายในโลกนี้ ซึ่งบางครั้ง เราอาจมองว่า มันมีคุณสมบัติไม่เพียงพอที่จะเรียกว่าสิ่งมีชีวิตด้วยซ้ำไป เนื่องจากโครงสร้างของมันยังไม่สมบูรณ์พอที่จะเรียกว่า เซลล์ นั่นเอง สิ่งที่บอกว่ามันมีชีวิต ก็คือ มันสามารถขยายพันธุ์ได้นั่นเองครับ
คุณสมบัติที่สำคัญของไวรัส
1. ไวรัสมีกรดนิวคลีอิกเพียงชนิดเดียวเป็น DNA หรือ RNA
เอาง่ายๆว่า DNA และ RNA คือสารพันธุกรรม ที่มีอยู่ในนิวเคลียส ของเซลของสิ่งมีชีวิตทุกชนิดครับ เป็นตัวกำหนดทุกสิ่งทุกอย่างของสิ่งมีชีวิตนั้นๆครับ ไวรัสก็มี สารพันธุกรรมเช่นกัน ครับ
2. ไวรัสมีขนาดเล็กมาก (20-300 nanometer) จนสามารถหลุดรอดผ่านเครื่องกรองที่ใช้กรองแบคทีเรียได้ ในสมัยก่อนเรียกไวรัสว่าเป็น filterable agents การดูรูปร่างของไวรัสต้องใช้กล้องจุลทรรศน์อิเลคตรอนจะใช้กล้องจุลทรรศน์ธรรมดาไม่ได้
3. ไวรัสมีการเพิ่มจำนวนเฉพาะในเซลล์ของสิ่งที่มีชีวิตเท่านั้นจึงจัดไวรัสเป็น obligate intracellular parasite ถ้าปราศจากเซลล์ของเจ้าบ้านแล้ว ไวรัสก็ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ และขยายพันธุ์ได้ครับ และ กลไกของไวรัสในการเพิ่มจำนวนที่เรียกว่า replication (การจำลองตัวเอง) ก็แตกต่างจากการเพิ่มจำนวนของจุลินทรีย์ชนิดอื่นอย่างชัดเจน ทั้งนี้เพราะไวรัสมีโครงสร้างและส่วนประกอบแบบง่ายๆ ไม่มีเมตาโบลิซึมและ organell ต่างๆเช่นไรโบโซมหรือไมโตคอนเดรียของตัวเอง จำเป็นต้องอาศัยการทำงานจากเซลล์โฮสต์ทั้งสิ้น
4. ไวรัสไม่ถูกทำลายโดยยาปฏิชีวนะที่ใช้รักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรีย แต่มีสารอินเตอร์เฟียรอน (Interferon, IFN) ซึ่งเป็นโปรตีนต่อต้านไวรัส ที่เซลล์สร้างขึ้นเมื่อติดเชื้อไวรัส เเละสามารถนำไปใช้ป้องกันเซลล์อื่นในการติดเชื้อไวรัสเดียวกันได้ และยาหรือสารเคมีที่ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัสได้
5. การติดเชื้อไวรัสสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆ บนเซลล์โฮสต์ เช่น ทำให้เซลล์ตาย, มีการรวมตัวของเซลล์, หรือทำให้เซลล์เกิดการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติ (transformation) กลายเป็นเซลล์มะเร็งได้
โครงสร้างของไวรัส
ไวรัสจัดเป็นจุลินทรีย์ที่มีโครงสร้างแบบง่ายๆไม่ซับซ้อน ไวรัสที่มีส่วนประกอบครบสมบูรณ์เรียกว่าวิริออน (virion) ซึ่งจะประกอบด้วยแกนกลาง (core) ของกรดนิวคลิอิกซึ่งเป็น RNA หรือ DNA และมีโปรตีนหุ้มล้อมรอบเพื่อป้องกันกรดนิวคลิอิก โปรตีนที่หุ้มนี้เรียกว่าแคพซิด (capsid) ซึ่งประกอบด้วยหน่วยย่อยเรียกว่าแคพโซเมอร์ (capsomer) กรดนิวคลิอิกและโปรตีนที่หุ้มนี้เรียกว่า นิวคลีโอแคพซิด (nucleocapsid) ในไวรัสบางชนิดจะมีชั้นไขมันหุ้มล้อมรอบ nucleocapsid อีกชั้นหนึ่งเรียกไวรัสพวกนี้ว่า enveloped virus ไวรัสบางชนิดมีเฉพาะ nucleocapsid เท่านั้นเรียกว่า non-enveloped virus หรือ naked virus
ไวรัสที่มี envelope บางชนิดมีปุ่มยื่นออกมาจากชั้น envelope เรียกว่า spike หรือ peplomer ซึ่งมีความสำคัญในการใช้เกาะกับ receptor บนผิวเซลล์ของเจ้าบ้าน spikeของไวรัสอาจมีคุณสมบัติเป็นสารบางอย่างเช่น เป็นฮีแมกกลูตินิน (hemagglutinin) หรือเป็นเอ็นซัยม์นิวรามินิเดส(neuraminidase)โดยทั่วไป naked virus มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมได้ดีกว่า enveloped virus และจะไม่ถูกทำลายด้วยสารละลายไขมัน เช่น ether, alcohol หรือ bile(น้ำดี) จะเห็นได้ว่า ไวรัสนั้น มีโครงสร้างที่ง่ายมากครับ มีแค่ กรดนิวคลีอิค ซึ่งกำหนดพันธุกรรมของมัน โปรตีน และไขมันเป็นเปลือกหุ้มเท่านั้น ไม่เหมือนกับเซลสิ่งมีชีวิตอื่นๆที่มีความซับซ้อน และมีขนาดใหญ่กว่านี้มากมายนัก ความเรียบง่ายอันนี้นี่เอง ทำให้มันสามารถเข้าไปทำลายหน่วยย่อยที่สำคัญ ของเซลล์สิ่งมีชีวิตอื่นๆได้นั่นเองครับ
โดย: RoF (เจ้าบ้าน
) [25 ต.ค. 51 19:11] ( IP A:58.9.228.211 X: )
ความคิดเห็นที่ 1
คุณสมบัติสำคัญทางชีววิทยาของไวรัส
1. ไวรัสมีกรดนิวคลีอิค ซึ่งการสลับการเรียงตัวของนิวคลีโอไทด์ คือ รหัสพันธุกรรมอยู่ในสภาพของยีน ที่ควบคุมลักษณะทางกรรมพันธุ์
2. ไวรัสเพิ่มจำนวนได้ในเซลล์ของสิ่งมีชีวิตเท่านั้น อาหารที่ใช้เพาะเลี้ยงบัคเตรี ใช้เพาะเลี้ยงไวรัสไม่ได้ นอกจากจะเพาะเลี้ยงในเซลล์ของสิ่งมีชีวิต
3. รหัสพันธุกรรมของไวรัสเมื่อผันแปร ไวรัสก็ผันแปรด้วย ไวรัสที่ผันแปรแตกต่างไปจากไวรัสปกติอาจตรวจสอบได้โดยเลี้ยงกับเซลล์ต่าง ๆ และเปรียบเทียบไวรัสดูตรวจสอบคุณสมบัติต่าง ๆ เช่น
คุณสมบัติทางฟิสิกส์ของไวรัส เช่น ความทนของไวรัสต่อรังสี ความทนของไวรัสต่ออุณหภูมิระดับต่าง ๆ
คุณสมบัติทางเคมีของไวรัส เช่นความทนของไวรัสต่อสารเคมี
คุณสมบัติทางชีววิทยาของไวรัส เช่น ความสามารถในการสังเคราะห์ไวรัส ความสามารถของไวรัสในการทำลายเซลล์รุนแรงมากน้อยเพียงใด ความสามารถในการสังเคราะห์เอ็นไซม์ สังเคราะห์แอนติเจน ที่เฉพาะของไวรัส ยีนที่ควบคุมชนิดของเซลล์ที่ไวรัสจะเจริญ ยีนที่ทำให้เกิดการสลายเซลล์ที่ผันแปรจากเซลล์ปกติ โดยเปรียบเทียบความสามารถของไวรัสที่จะแพร่พันธุ์ โดยตรวจสอบดูคุณสมบัติทางฟิสิกส์ ทางเคมีและทางชีววิทยาของไวรัสตามแบบดังกล่าวข้างต้น ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่า ไวรัสนั้น มีการพัฒนาตัวเองได้เร็วมากๆครับ เพียงแค่การเปลี่ยนแปลงของสารพันธุกรรมเพียงเล็กน้อย ก็ทำให้ตัวมันทั้งตัวเปลี่ยนแปลงไป หรือเรียกว่าการกลายพันธุ์นั่นเองครับ
การเพิ่มจำนวนของไวรัส
ไวรัสทั่วไปตามธรรมชาติจำเป็นต้องเข้าไปเจริญและทวีแพร่พันธุ์ในเซลล์ของสิ่งมีชีวิตเท่านั้น โดยยีนของไวรัสและยีนของเซลล์ที่เพาะเลี้ยงไวรัสต้องมีกลไกสอดคล้องต้องกัน ไวรัสจะสามารถเจริญแพร่พันธุ์ไวรัสใหม่ได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับชนิดของเซลล์และชนิดของไวรัส ดังนั้น แต่ละชนิดของไวรัสจึงทำให้เกิดโรคเฉพาะมนุษย์ สัตว์ แมลง พืช สาหร่ายสีน้ำเงิน รา หรือบัคเตรีต่าง ๆ กันครับไวรัสจะสามารถเจริญและทวีแพร่พันธุ์ในเซลล์ชนิดใดนั้น แล้วแต่ชนิดไวรัสครับ
การเจริญทวีแพร่พันธุ์ของไวรัสมีขั้นตอนดังนี้
๑. ไวรัสจะต้องเข้าไปภายในเซลล์ของสิ่งที่มีชีวิต ต่างจากเชื้อโรคอื่นๆ เช่นแบคทีเรีย ซึ่งมีขนาดใหญ่ พอๆกับเซลล์ของปลา และทำร้ายเซลล์ด้วยการย่อยสลาย หรือขับสารพิษออกมาทำลายเซลล์อื่นๆ
๒. ไวรัสจะต้องสร้างกรดนิวคลีอิคขึ้นใหม่ในเซลล์ของสิ่งที่มีชีวิตนั้นได้ (replicating nucleic acid) ไวรัสนั้น เมื่อเข้าไปในเซลล์ของเจ้าบ้านได้แล้ว ก็จะปล่อยสารพันธุกรรมที่อยู่ในเปลือกหุ้มออกมาครับ สารพันธุกรรมดังกล่าว จะแทรกเข้าไปในสารพันธุกรรม (DNA) ของเซลล์เจ้าบ้าน และบังคับให้ เซลล์เจ้าบ้าน สร้างไวรัสตัวใหม่ขึ้นมามากมายครับ จะเห็นได้ว่า การเข้าทำลายของไวรัสนั้น เข้าไปในส่วนที่สำคัญที่สุดของสิ่งมีชีวิต ซึ่งก็คือ DNA นั่นเองครับ ดังนั้น การที่จะเอาชนะมันนั้น จึงเป็นเรื่องที่ยากเย็นมากๆ เพราะเซลล์โดนมันควบคุมเอาไว้แล้วนั่นเอง ตรงนี้นี่เองครับ คือความซับซ้อนในการทำงานของไวรัสซึ่งยากนักที่วิทยาการตอนนี้จะเข้าไปจัดการได้โดยตรง แต่ก็ อีกไม่นานเกินรอครับ สำหรับยุคของนาโนเทคโนโลยี ซึ่งกำลังคืบคลานเข้ามาใกล้เราเรื่อยๆ...
๓. ไวรัสจะต้องสร้างโปรตีนหุ้ม (coat protein) ห่อหุ้มกระนิวคลีอิคเพื่อให้เกิดไวรัสที่สมบูรณ์ ส่วนที่เป็นกรดนิวคลีอิคเท่านั้นจะทวีจำนวนมากมายในเซลล์ การทำลายเซลล์ของไวรัส ก็อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นครับ คือ ทำให้เซลล์มีลักษณะผิดปกติไป เช่น มีขนาดใหญ่ขึ้นผิดปกติ เนื่องจากการเพิ่มจำนวนของไวรัสในเซล มีการรวมตัวกันของเซลล์ หรือ มีการเจริญที่ผิดปกติเนื่องจากเข้าไปเปลี่ยนแปลงสารพันธุกรรมภายในเซลล์เจ้าบ้าน จนกลายเป็นเนื้องอก หรือมะเร็ง หรือไม่ก็ทำให้เซลล์แตกสลายไปก็ได้ครับ
โดย: RoF (เจ้าบ้าน
) [25 ต.ค. 51 19:12] ( IP A:58.9.228.211 X: )
ความคิดเห็นที่ 2
โรคของปลาโดยทั่วไปที่เกิดจากไวรัส
แล้วเราก็ได้รู้จักไวรัสกันพอหอมปากหอมคอแล้วนะครับ หวังว่าคงไม่งงนะครับ เพราะคัดมาแบบย่อๆแล้วครับ อาจมีคำศัพท์ หรือ อะไรบางอย่างที่เพื่อนๆอาจไม่เข้าใจ ก็ลองไปอ่านเพิ่มเติมในหนังสือชีววิทยาทั่วไปดูนะครับ ทีนี้เรามาดูรายละเอียดของโรคจากไวรัส ที่มักจะเกิดขึ้นกับปลาของเรากันต่อเลยครับ
โรคลิมโฟซิสต์ทีส (Lymphocystis)
โรคนี้ เป็นโรคที่เกิดขึ้นบ่อยกับปลาสวยงาม โดยเฉพาะปลาในกลุ่มปลาหมอสี (Cichlid) นั่นเองครับ หลายคน คงเคยเจอโรคนี้กันมาบ้างแล้ว แต่มักไม่ทราบว่ามันคืออะไร โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสนั่นเองครับ ซึ่งโดยปกติแล้ว ไวรัสดังกล่าวจะพบอยู่ในเซลล์ของปลาและสิ่งแวดล้อมทั่วไปอยู่แล้ว แต่จะแสดงอาการออกมา เมื่อปลาของเราอ่อนแอ เลี้ยงในสภาพไม่เหมาะสม เครียด ป่วยจากโรคอื่นๆ หรือไม่ก็อยู่ในสภาวะที่ไวรัสเจริญเติบโตได้ดีครับ
อาการของโรค
อาการของโรคนี้ที่ชัดเจนมากๆ ก็คือ เราจะพบ ตุ่มสีขาวขนาดใหญ่ เป็นกระจุก ตามลำตัว ไม่ว่าจะเป็นส่วนไหนก็ตาม แต่ที่พบบ่อย และเห็นชัด ก็คือบริเวณครีบต่างๆ เช่น ครีบอก และครีบหางครับ ลักษณะดังกล่าว มักทำให้หลายๆคนเข้าใจผิดว่า ปลาเป็นโรคจุดขาว ซึ่งจริงๆแล้ว ไม่ใช่ครับ โรคจุดขาวนั้นเกิดจากปรสิตชนิดหนึ่งซึ่งมีขนาดใหญ่ และ จะมองเห็นเป็นลักษณะคล้ายผงแป้ง กระจายอยู่ทั่วไปหมดทั้งบริเวณลำตัว และครีบ แต่ถ้าเป็นโรคจากไวรัส จะเป็นตุ่มเนื้อขนาดใหญ่ ไม่แพร่กระจายไปทั่วตัวเหมือนจุดขาวครับ ตุ่มดังกล่าวนั้น ก็คือเซลล์ที่ติดไวรัสนั่นเอง โดยไวรัสนั้นจะทำให้เซลล์มีขนาดใหญ่ผิดปกติ โดยอาจทำให้เซลล์มีขนาดใหญ่กว่าเดิมถึง 100,000 เท่า ของขนาดปกติก็ได้ครับ เมื่อหลายเซลล์บริเวณนั้นติดไวรัส เราจึงสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เป็นตุ่ม หรือ ก้อนเนื้อคล้ายๆหูด หรือเนื้องอกนั่นเอง โดยปกติแล้วจะมีขนาดประมาณเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 มิลลิเมตรครับ แต่ถ้าเป็นหนักๆ อาจกลายเป็นก้อนเนื้องอกขนาดใหญ่มากๆก็ได้ครับ ปลาที่มีอาการดังกล่าวนี้ จะไม่ตายจากแผลดังกล่าวนะครับ จริงๆแล้ว มันไม่ได้ทำให้ปลาตายโดยตรง ภายในระยะเวลาอันสั้นครับ แต่มันจะเป็นเครื่องบ่งชี้ว่า ปลาของเราอ่อนแอ และสภาพการเลี้ยงตอนนี้นั้น ไม่เหมาะสมครับ บางครั้ง ถึงแม้ปลาจะแสดงอาการเป็นตุ่มดังกล่าวออกมา แต่ก็ยังใช้ชีวิตได้อย่างปกติเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นครับ
โดย: RoF (เจ้าบ้าน
) [25 ต.ค. 51 19:13] ( IP A:58.9.228.211 X: )
ความคิดเห็นที่ 3
การป้องกันโรค
เนื่องจากโรคนี้จะแสดงอาการชัดเจน ต่อเมื่อปลาอ่อนแอ ป่วย และสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม ดังนั้น การป้องกันโรคดังกล่าว จึงต้องเอาใจใส่สุขภาพปลา ตลอดจนสิ่งแวดล้อมในตู้ของเรา ไม่ว่าจะเป็นอาหาร และการให้อาหาร ระบบกรอง คุณภาพน้ำต่างๆ เป็นอย่างดีครับ แต่ถึงแม้ว่า เราจะทำทุกอย่างดีแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าปลาจะไม่มีโอกาสเกิดโรคนี้ขึ้นมานะครับ เพราะยังมีหลายปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้และยังไม่ทราบแน่ชัด คล้ายๆกับคนเป็นเนื้องอกหรือมะเร็งนั่นเองครับ ดังนั้น ถ้าทำดีแล้ว แต่ปลายังป่วยเป็นโรคนี้อยู่ ก็ไม่ต้องเครียดอะไรกันมากมายนะครับ
โดย: RoF (เจ้าบ้าน
) [25 ต.ค. 51 19:14] ( IP A:58.9.228.211 X: )
ความคิดเห็นที่ 4
การรักษาโรค
อย่างที่ทราบกันแล้วนะครับ ว่า ไวรัสนั้น เข้าไปทำลายลึกถึง สารพันธุกรรมที่อยู่ในนิวเคลียสของสิ่งมีชีวิต ตอนนี้เรายังไม่มียารักษาโรคจากไวรัสที่ได้ผลชัดเจนครับ การทำลายไวรัสนั้น ก็เท่ากับทำลายเซลล์ไปด้วยครับ ดังนั้น วิธีที่ได้ผลที่สุดสำหรับปลา ก็คือ ขั้นแรก เราต้องควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่างๆที่ทำให้ปลาเราป่วย และอ่อนแอลงเสียก่อนครับ ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขปรับปรุงเรื่องระบบกรอง รักษาคุณภาพน้ำ ให้ความสำคัญเรื่องความสะอาดของตู้ อาหาร เป็นต้น ทำแบบนี้ให้ดีขึ้นไปสักระยะครับ เราจะพบว่า อาการดังกล่าวก็อาจจะหายไปเองได้ ในหลายๆกรณี จำไว้เสมอว่า ไมว่าจะเป็นยาอะไรก็ตาม ไม่ได้ช่วยให้อาการดังกล่าวหายได้โดยตรงเลยครับ บางคนใส่มาลาไคท์กรีนลงไป ยิ่งแล้วใหญ่ เพราะว่า นอกจากจะรักษาไม่ได้แล้ว มาลาไคท์กรีน ยังเป็นสารก่อมะเร็งอีกด้วยครับ เท่ากับว่าไปซ้ำเติมปลาให้เป็นหนักขึ้นเสียอีก แต่ถ้าจนแล้วจนรอด ปลาก็ยังไม่หายอาการเป็นตุ่ม หูด หรือเนื้องอกเสียที เราจะใช้วิธีการรักษาโดยการกำจัดเซลล์ที่ติดเชื้อทิ้ง ด้วยการตัด หรือ เฉือน ตุ่ม เนื้องอก ดังกล่าวออกไปด้วยมีดคมๆ เช่นมีดโกน หรือมีดผ่าตัด แล้วทาแผลด้วยยาป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนเช่น เบตาดีน อคริฟลาวิน หรือ ครีมยาปฏิชีวนะต่างๆ เช่น คลอแรมครีม หรือไม่ก็แช่ด้วยยาปฏิชีวนะเช่นเตทตร้าซัยคลิน หรือ ออริโอมัยซิน สัก 60 มิลลิกรัม ต่อลิตร สัก 30 นาที ก่อน ปล่อยลงตู้ตามเดิมครับ
โดย: เจ้าบ้าน
[25 ต.ค. 51 19:14] ( IP A:58.9.228.211 X: )
ความคิดเห็นที่ 5
บทความนี้ใช้เวลาเขียนเพียงชั่วแล่นตามเคย ถ้าผิดพลาดประการใด ก็ขออภัยด้วยนะครับ และหวังว่าบทความนี้คงมีประโยชน์แก่ทุกท่านไม่มากก็น้อยครับ หาข้อมูลเรื่องปลาเพิ่มเติมได้ที่เวปไซด์
https://www.genepoolaquarium.com/
เช่นเคยครับ มีปลาทุกชนิดที่ท่านอยากรู้จัก สำหรับวันนี้ ราตรีสวัสดิ์ครับผม..
โดย: RoF (เจ้าบ้าน
) [25 ต.ค. 51 19:16] ( IP A:58.9.228.211 X: )
ความคิดเห็นที่ 6
มีประโยชน์มากๆ ครับพี่
ตาสว่างเลยครับ
โดย: ป_ปลาระเบิด(เกร็ดกระจาย)
[27 ต.ค. 51 8:36] ( IP A:124.121.182.14 X: )
ความคิดเห็นที่ 7
แจ่มเรยครับ เหมือนกลับไปเรียนชีววิทยาอีกครั้ง
เหอๆ
โดย: เอก (kaikem121
) [27 ต.ค. 51 9:08] ( IP A:58.9.156.34 X: )
ความคิดเห็นที่ 8
ขอบคุณครับสำหรับข้อมูลดี ๆ
โดย: chitrasit
[10 ก.ย. 52 13:40] ( IP A:203.153.163.34 X: )
คลิกที่นี่เพื่อกลับหน้าบ้าน