การเลี้ยงปลาน้ำจืดเบื้องต้น
   สวัสดีครับ เพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ทุกท่าน ผมเองอยู่ที่เวบบอร์ดนี้มาไม่นาน แต่ได้รับความรู้-สาระเรื่องการเลี้ยงปลาสวยงามจากเวบนี้มากมาย วันนี้มีเวลาว่างเลยอยากจะทำกระทู้สักหนึ่งกระทู้ที่มีสาระและประโยชน์กับบอร์ดแห่งนี้บ้าง ซึ่งสิ่งที่ผมกำลังจะกล่าวต่อไปนี้ ได้รวบรวมนำข้อมูลและบทความมาจากแหล่งต่างๆทั้งเวบนี้บ้างก็ดี เวบปลาสวยงามอื่นๆก็ดี ต้องขออนุญาตเจ้าของเวบและบทความดังกล่าวด้วยนะครับ หากมีข้อมูลใดผิดพลาดหรือขาดตกไปขอให้พี่ๆช่วยกรุณาแก้ไขแต่งเติมให้ครบถ้วนถูกต้องด้วยนะครับ

สิ่งที่ผมจะกล่าวต่อไปนี้ก็คือเรื่องของพื้นฐานการเลี้ยงปลาสวยงามน้ำจืดเบื้องต้น ซึ่งผมเชื่อว่ายังมีหลายท่านที่อยากจะเลี้ยงปลาน้ำจืดแต่ยังไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นตรงไหน เพื่อเป็นการไม่เสียเวลา เรามาเริ่มกันเลยดีกว่าครับ

การเลี้ยงปลาสวยงามเท่าที่ผมศึกษามามีปัจจัยที่สำคัญอยู่ 5 ประการนะครับ
คือ
1.ที่อยู่อาศัย
2.สภาพแวดล้อม
3.ระบบกรอง
4.อุณหภูมิ
5.อาหาร

ที่อยู่อาศัย
ขึ้นชื่อว่าปลา ก็ต้องอาศัยอยู่ในน้ำนะครับ เพราะฉะนั้น คุณภาพน้ำจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการเลี้ยงปลา น้ำที่เราจะใช้นำมาเลี้ยงปลานั้นควรเป็นน้ำสะอาดและปราศจากคลอรีน ค่า Ph ควรอยู่ที่ระหว่าง 6.5-7.5 (แล้วแต่ชนิดปลา) โดยสามารถหาได้จาก
1.น้ำประปา นำมาพักทิ้งเอาไว้ซัก 2 คืน หรือ 1 คืน(กรณีที่มีการให้ออกซิเจนตลอดเวลา) เพื่อให้คลอรีนระเหยออกไปหมด จึงสามารถนำมาใช้ได้
2 .ใช้น้ำกรองผ่านเครื่องกรองคลอรีน วิธีนี้สามารถนำน้ำที่ได้มาใช้ได้ทันที
นอกจากนี้แล้วเรื่องความสะอาดของน้ำถือเป็นเรื่องสำคัญ จึงควรเปลี่ยนถ่ายน้ำ ทุกๆ 4-7 วัน หรืออย่างต่ำ ควรถ่ายน้ำอาทิตย์ละครั้ง ครั้งละ 30% เป็นประจำจะช่วยให้ปลาแข็งแรงและสุขภาพดีเสมอครับ และหลังเปลี่ยนน้ำอาจใส่เกลือสักเล็กน้อย เพื่อกระตุ้นกระบวนการแลกเปลี่ยนแร่ธาตุกับน้ำได้ดีขึ้น
ศึกษาเรื่องการใส่เกลือ >> https://www.pantown.com/board.php?id=2888&area=4&name=board17&topic=690&action=view
หมายเหตุ* ตามท้องตลาดมักจะมีสารเคมีที่มีสรรพคุณในการ กำจัดคลอรีนในน้ำ,ปรับสภาพให้น้ำใส,ฆ่าเชื้อโรค ฯลฯ ซึ่งสารเคมีเหล่านี้บางยี่ห้อสามารถทำได้ตามสรรพคุณจริง แต่เมื่อใช้กับปลาในระยะยาว จะสะสมในตัวปลา หรือเกิดภาวะไตล้มเหลว ซึ่งทำให้ปลาตายได้ จึงไม่ควรซื้อมาใช้ “เด็ดขาด”ไม่ว่าเจ้าของร้านจะโอ้อวดว่าดียังไงก็ตามแต่ ขอให้ตระหนักไว้เสมอว่า “คุณภาพน้ำที่ดีขึ้นอยู่กับระบบกรอง” และ "หากไม่มีความจำเป็นไม่ต้องใช้สารเคมีใดๆกับปลาเด็ดขาด นอกจากกรณีปลาป่วยเท่านั้น" (ขอยืม 2 ประโยคนี้นะครับพี่ RoF)
โดย: เอก (kaikem121 ) [14 พ.ย. 51 21:29] ( IP A:58.9.172.197 X: )
Add to Facebook  Add to Twitter  Add to Multiply  Add to Google  Add to Blogger  Add to Live
ความคิดเห็นที่ 1
    สภาพแวดล้อม
ในที่นี้หมายถึงทุกๆอย่างรอบตัวปลา ตั้งแต่ขนาดตู้ ค่าของน้ำ แทงค์เมท ไปจนถึงขนาดของกรวดปูพื้นตู้ปลา ทั้งนี้ควรคำนึงถึงสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติ และอุปนิสัยต่างๆของปลาที่จะเลี้ยงก่อนลงมือจัดสภาพแวดล้อมต่างๆภายในตู้ให้ใกล้เคียงกับธรรมชาติของปลาชนิดนั้นๆมากที่สุด เพื่อให้ปลาที่เราเลี้ยงไม่เครียด และ สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุข
หมายเหตุ* การแต่งตู้-ปูกรวดจะทำให้ทำความสะอาดตู้ได้ยากขึ้นและเกิดการหมักหมมภายในตู้ได้ง่าย เพื่อป้องกันการสะสมของของเสียจากปลา จึงควรเปลี่ยนถ่ายน้ำอย่างสม่ำเสมอด้วยครับ

ระบบกรอง
อย่างที่ได้กล่าวไปในขั้นต้นแล้ว คือ “คุณภาพน้ำที่ดีขึ้นอยู่กับระบบกรอง” ระบบกรองจึงเป็นส่วนสำคัญอีกอย่างภายในตู้ ซึ่งมีหน้าที่หลัก คือ ช่วยลดของเสียจากน้ำและเพิ่มออกซิเจนในน้ำ ซึ่งเครื่องกรองมีอยู่หลายชนิดด้วยกัน ทั้ง กรองในตู้(ใต้กรวด,ข้าง,มุม),กรองนอกตู้(บน,ล่าง,กรองถัง),กรองแขวน,กรองกล่อง,กรองฟองน้ำ ฯลฯ แต่ส่วนใหญ่แล้วจะใช้หลักการคล้ายๆกัน คือ ให้น้ำภายในตู้ไหลผ่านสับสเตรท(สารกรอง)ต่างๆ ภายในเครื่องกรอง เมื่อน้ำเกิดการเคลื่อนที่ผ่านหรือกระทบกับสับสเตรทจะเกิดฟองอากาศเล็กๆขึ้น กระบวนการนี้เองที่ทำให้น้ำแลกเปลี่ยนออกซิเจนได้ ระหว่างที่น้ำผ่านสับเสตรทต่างๆนั้น จะมีแบคทีเรียซึ่งอาศัยอยู่ตามสับสเตรททำหน้าที่ย่อยสลายของเสียในรูป แอมโมเนีย ให้เปลี่ยนรูปไปเรื่อยๆจนกลายเป็นไนเตรท เมื่อผ่านกระบวนการทั้งหมดแล้วเครื่องกรองก็จะปั้มน้ำที่ผ่านการกรองมาเรียบร้อยกลับสู่ตู้ หมุนเวียนกันตลอดเวลา ซึ่งประสิทธิภาพการกรองของเครื่องกรองแต่ละชนิด อาจไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับชนิดของสับสเตรทที่ใช้ในการกรองครับ

ข้อมูลเพิ่มเติม
การให้อากาศในตู้ปลา >> https://www.pantown.com/board.php?id=2888&area=4&name=board6&topic=1&action=view

หน้าตาของระบบกรองต่างๆ และอุปกรณ์อื่นๆ >> https://topicstock.pantip.com/jatujak/topicstock/J3002392/J3002392.html

สับสเตรทต่างๆ >>
https://www.pantown.com/board.php?id=2888&area=4&name=board6&topic=21&action=view

ระบบกรองชีวภาพในตู้ปลา >> https://www.siamensis.org/article/1-3/30.html

อุณหภูมิ
โดยปกติปลาในเขตร้อนชอบอยู่ในน้ำที่มีอุณหภูมิระหว่าง 25 – 30 องศาเซลเซียส และปลาไม่สามารถทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างทันทีทันใด ฉะนั้นจึงไม่ควรนำปลาจากที่หนึ่งไปปล่อยยังอีกที่หนึ่งที่มีอุณหภูมิแตกต่างกันมาก จึงควรมีการปรับอุณหภูมิในถุง หรือ ภาชนะที่ใส่ปลาก่อนทำการปล่อยปลา โดยปกติไม่ควรเปลี่ยนแปลงเกิน 3 องศาเซลเซียส ช่วงฤดูหนาวปลามักจะอ่อนแอและป่วยง่าย จึงควรระมัดระวังป้องกัน โดยหาอุปกรณ์ใช้ควบคุมอุณหภูมิมาติดตั้ง เรียกว่า ฮีตเตอร์ ซึ่งมีขายทั่วไปตามร้านขายอุปกรณ์ปลาสวยงามทั่วไป ควรตั้งให้อุณหภูมิอยู่ที่ 28 องศาเซลเซียสจะเหมาะสมที่สุดครับ
โดย: เอก (kaikem121 ) [14 พ.ย. 51 21:30] ( IP A:58.9.172.197 X: )
ความคิดเห็นที่ 2
    อาหาร

เนื่องจากตามธรรมชาติที่ปลาต้องหาอาหารกินเองนั้นปลาต้องใช้ทั้งพลังงานและความอดทนกว่าจะหาเหยื่อได้ในแต่ละครั้ง และไม่ได้กินอิ่มท้องตลอดเวลาอย่างที่เราเลี้ยงนะครับ จึงควรให้อาหารพอประมาณ และอาหารที่ขับถ่ายได้ง่ายบ้าง เช่น อาหารเม็ด เป็นต้น ซึ่งการให้อาหารปลาสวยงามนั้น ควรคำนึงถึงความครบถ้วนของสารอาหารที่ปลาจะได้รับนะครับ และให้แต่พอดี อย่ามากเกินไป ให้ถือคติว่า “อดดีกว่าอิ่ม” จะปลอดภัยกว่าครับ มื้อนี้มันกินไม่ทันเขา มื้อต่อๆไปมันก็ต้องแย่งกับชาวบ้านเค้ามั่งละครับ อาจให้เพียง เช้า-เย็น หากให้อาหารปลามากเกินไปจะมีแต่ผลเสียคืออาหารเหลือและเน่าเสีย ทำให้น้ำเน่าเร็ว หรือถึงปลากินหมด แต่ของเสียที่มันขับถ่ายออกมานั้นก็เท่ากับที่กินเข้าไปแหละครับ จะทำให้น้ำในตู้เสีย(อีกแล้ว) สุขภาพปลาก็จะทรุดโทรมได้ง่ายครับ ทำให้เราต้องเปลี่ยน-ถ่ายน้ำบ่อยขึ้นครับ

ส่วนการให้อาหารสด นั้นควรทำความสะอาดให้ดีก่อนให้ โดยการนำไปแช่ในสารละลายด่างทับทิมหรือแช่ในน้ำเกลือเข้มข้น เพื่อฆ่าเชื้อโรคเสียก่อนเพื่อป้องกันการติดโรคจากอาหาร หากเป็นสัตว์ที่มีเงี่ยงแหลมคม เช่น
กุ้งฝอยก็ควรเด็ด(กรี)ออกเสียก่อน เพื่อป้องกันการถูกทิ่มตำและโรคในทางเดินอาหารได้

ทั้งหมดที่ผมกล่าวมานั้น เป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นสำหรับท่านที่ต้องการจะเริ่มเลี้ยงปลาเท่านั้นนะครับ ไม่ใช่หลักตายตัวแต่อย่างใด ยังมีความรู้อีกหลายๆอย่างที่จำเป็นต้องรู้ ก่อนที่จะเริ่มเลี้ยงผมอยากให้ศึกษาชนิดและข้อมูลของปลาที่จะเลี้ยงให้ดีเสียก่อน ซึ่งขึ้นอยู่กับการค้นคว้าของแต่ละท่าน ในบอร์ดแห่งนี้ยังมีความรู้อีกหลายอย่างรอให้ท่านค้นคว้าอยู่ และหวังว่ากระทู้นี้จะเป็นประโยชน์และสามารถช่วยเป็นจุดเริ่มต้นให้เพื่อนๆหลายๆคน เก็บเกี่ยวประสบการณ์ในการเลี้ยงปลาต่อไปครับ

ขอขอบคุณ
พี่ต้นและเพื่อนๆพี่ ในบอร์ด Genepool ที่ให้ความรู้ และเจ้าของบทความที่ผมนำมาอ้างอิงทุกอันครับ
https://www.genepoolaquarium.com
https://www.pantip.com ห้องจตุจักร
https://www.siamensis.org
โดย: เอก (kaikem121 ) [14 พ.ย. 51 21:31] ( IP A:58.9.172.197 X: )
ความคิดเห็นที่ 3
   ตามมาอ่านครับพี่ ขอบคุณครับ
โดย: Red B [15 พ.ย. 51 10:10] ( IP A:58.9.73.25 X: )
ความคิดเห็นที่ 4
   นิดนึงครับ..พี่ๆท่านใดมีอะไรจะเสริมหรือแนะนำเชิญได้เลยนะครับ

เพราะที่ผมเขียนไปอาจยังไม่ละเอียดพอครับ

ขอบคุณครับ
โดย: เอก (kaikem121 ) [15 พ.ย. 51 11:38] ( IP A:58.9.171.62 X: )
ความคิดเห็นที่ 5
   เป็นสิ่งที่ดีครับ การได้ทราบพื้นฐานก่อนปฏิบัติเป็นสิ่งที่ควรทำครับ
โดย: chitrasit [28 เม.ย. 52 17:11] ( IP A:203.153.163.34 X: )

คลิกที่นี่เพื่อกลับหน้าบ้าน