ความคิดเห็นที่ 1 หลักการใช้ยาและสารเคมีในการรักษาโรคปลา (ตอนที่ 2) สวัสดีครับ เพื่อนๆพี่ๆน้องๆ ชาว ไทยครอสบรีดทุกท่าน ไม่ได้เจอกันหลายเล่มเลยนะครับ ผมกราบขอโทษทุกท่านไว้ ณ. ที่นี้ด้วยนะครับ ที่หายไป ไม่มีข้อแก้ตัวใดๆครับ และก็หวังว่า ปลาสุดที่รักของทุกท่านคงจะสบายดีกันถ้วนหน้านะครับ เล่มล่าสุดที่ลงไปรู้สึกจะเป็น การ ถามตอบ ปัญหา ในเวปไซด์ https://www.genepoolaquarium.com/ คัดมาบางคำถามคำตอบที่ดูน่าสนใจ สงสัยตรงไหนเข้าไปอ่าน และถามเพิ่มเติมได้นะครับ มาฉบับนี้เป็นเรื่องราวต่อจาก เล่มก่อนหน้านั้นครับ คือเรื่อง การใช้ยาและสารเคมีในการรักษาโรคปลาหมอสี เนื้อหาในส่วนนี้ก็จะเป็นหลักการกว้างๆ ในการใช้ยาและสารเคมีให้ถูกต้อง ถูกวิธี ว่าอะไรควรใช้ไม่ควรใช้ อะไรควรทำในสถานการณ์แบบไหน ตลอดจนเป็นการปูพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการรักษาปลาครับ เรามาดูพร้อมๆกันเลยครับ การแช่ยาในการรักษาโรคปลา ในการรักษาปลาด้วยการแช่ยานั้น มีข้อคำนึงดังนี้ครับ - ควรละลายยาหรือสารเคมี ในภาชนะขนาดเล็ก ให้ละลายเป็นเนื้อเดียวกับน้ำให้มากที่สุดก่อน แล้วค่อย เทลงไปในแทงก์ที่ปลาอาศัยอยู่ครับ การทำแบบนี้จะทำให้ตัวยาไม่ตกตะกอนตามพื้นตู้ และละลายกระจายตัวในน้ำได้ทั่วถึงครับ - ยาและสารเคมีหลายชนิด สามารถทำลายแบคทีเรียที่มีประโยชน์ในระบบกรองได้ครับ ดังนั้น เราควรปิดระบบกรองเสียก่อน เช่น กรองข้าง กรองนอก กรองล่าง กรองบน ฯลฯ และหันมาใช้กรองฟองน้ำในระหว่างการรักษาปลา เราไม่ต้องกลัวน้ำเสียครับ เพราะระหว่างการรักษา เราต้องมีการเปลี่ยนถ่ายน้ำและยาอยู่เสมอๆอยู่แล้ว การเปลี่ยนถ่ายน้ำและยาในระหว่างการรักษานั้น นอกจากจะเป็นการช่วยรักษาคุณภาพน้ำ โดยถ่ายเทของเสียออกจากตู้แล้ว ยังเป็นการเปลี่ยนเอายาที่หมดอายุออกไป เพื่อใส่ยาใหม่ที่ออกฤทธิ์ได้เต็มที่ลงไป อีกทั้งเป็นการลดปริมาณเชื้อโรคในน้ำได้เป็นอย่างดีครับ - การแช่ด้วยยานั้น เป็นวิธีการที่ง่าย และได้ผลสำหรับโรคหลายๆชนิดครับ โดยเฉพาะโรคที่เกิดจากการติดเชื้อภายนอกร่างกาย แต่มีข้อจำกัดคือ ค่อนข้างเปลืองยา โดยเฉพาะในบ่อใหญ่ๆ และยาจะสูญเสียไปกับสิ่งแวดล้อมได้ง่ายมากๆครับ ทั้งจากสารอินทรีย์ และสารเคมีต่างๆที่มีอยู่มากมายในน้ำ ที่จะเป็นตัวลดประสิทธิภาพของยาลงไป อีกทั้งโรคที่เกิดจากการติดเชื้อภายในร่างกาย มักจะใช้วิธีการแช่ไม่ค่อยได้ผล ดังนั้น การจะเลือกใช้วิธีแช่ ต้องคำนึงถึงความเป็นไปได้ในการใช้งานจริงๆด้วยครับ ทั้งในแง่ความคุ้มค่า และความยากง่ายในการจัดการ เช่น ถ้ามีปลาหลายๆตัว และป่วยเพียงตัวเดียว ก็แยกมาแช่ ระยะสั้นด้วยความเข้มข้นสูง บ่อยๆ ไม่จำเป็นต้องใส่ยาไปทั้งตู้ หรือ ถ้ามีตู้พยาบาลก็แยกไปเลยครับ เป็นต้น ซึ่งจำได้ว่าเคยให้ไอเดียกันไปบ้างแล้วในบทความแรกๆ อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญคือ ปริมาณการใช้ยา และหน่วยในการวัดปริมาณยาสำหรับการรักษาด้วยวิธีการแช่ หลายคนยังไม่เข้าใจอยู่ โดยเฉพาะมือใหม่ เรามาเคลียร์ตรงนี้กันดีกว่าครับ หน่วยที่ใช้ในการใช้ยากับสัตว์น้ำในการแช่ยา 1. ppm (ส่วนในล้านส่วน, Part Per Million) คำว่า ppm เพื่อนๆทุกคนคงเคยได้ยินบ่อย หลายๆคนก็ยังไม่เข้าใจครับว่ามันหมายความว่าอย่างไร ppm แปลตามตัวว่า ส่วนในล้านส่วน เป็นหน่วยของความเข้มข้นของสารเคมีหรือยา ที่ใช้ในการรักษาโรคในสัตว์น้ำ ด้วยวิธีการแช่ครับ คำว่าส่วนในล้านส่วนนั้น หมายความง่ายๆว่า ถ้าเราจะใส่ยา 1 ppm ก็หมายความว่า เราใส่ยาไป 1 ส่วน ในน้ำ 1 ล้านส่วนครับ คำว่า ส่วน นั้น จะหมายถึงหน่วยวัดใดๆก็ได้ เช่น น้ำหนัก สำหรับยาที่เป็นของแข็ง หรือ ปริมาตร สำหรับยาที่เป็นของเหลว ยกตัวอย่างง่ายๆนะครับ ใส่ยาปฏิชีวนะ 30 ppm ก็หมายความว่า -ใส่ยาปฏิชีวนะ 30 ส่วนในน้ำ 1 ล้านส่วน หรือ - ใส่ยาปฏิชีวนะ 30 มิลลิกรัม ในน้ำ 1 ล้านมิลลิกรัม (น้ำ หนัก 1 กรัม มีปริมาตร 1 cc.) หรือ - ใส่ยาปฏิชีวนะ 30 มิลลิกรัม ในน้ำ 1 ลิตร (น้ำ หนัก 1 ล้านมิลลิกรัม มีปริมาตร 1 ลิตร) หรือ ใส่ฟอร์มาลีน 20 ppm ก็หมายความว่า - ใส่ฟอร์มาลีน 20 ส่วน ในน้ำ 1 ล้านส่วน หรือ - ใส่ฟอร์มาลีน 20 cc ในน้ำ 1 ล้าน cc หรือ - ใส่ฟอร์มาลีน 20 cc ในน้ำ 1 ลูกบาศก์เมตร (น้ำ 1 ล้าน cc = 1 ลูกบาศก์เมตร = 1 ตัน) ผมจะสรุปให้อีกครั้งในหน่วยที่จำได้ง่ายๆ และใช้กันบ่อยๆนะครับ คือ 1 ppm เท่ากับ - 1 มิลลิกรัม ในน้ำ 1 ลิตร - 1 กรัม ในน้ำ 1 ตัน (1 ลูกบาศก์เมตร) - 1 มิลลิลิตร (cc) ในน้ำ 1 ตัน - 1.6 ลิตรของยาในรูปสารละลาย หรือ 1.6 กิโลกรัมของยาในรูปของแข็ง ในบ่อ 1 ไร่ ลึก 1 เมตร เป็นต้น ครับ ลองไปปรับใช้กันดู ให้เหมาะสมกับสถานที่เลี้ยงของเรา ไม่ว่าจะเป็นตู้ อ่าง บ่อปูน หรือบ่อดินก็แล้วแต่ครับ 2. ppt (ส่วนในพันส่วน, Part Per Throusand) ppt หรือ ส่วนในพันส่วน ก็เป็นหน่วยที่ใหญ่ขึ้นมาอีกระดับ จากหน่วย ppm ครับ สำหรับสารเคมีที่เราจะใช้หน่วยนี้ มักเป็นสารเคมีที่มีอันตรายต่อปลาน้อย และต้องใช้ในปริมาณมาก จึงจะส่งผลต่อปลาและสภาพแวดล้อมได้ เช่น เกลือ เป็นต้น และหน่วย ppt ก็เป็นหน่วยสากล ในการใช้วัดความเค็มของน้ำทะเลครับ (น้ำทะเลมีความเค็ม 30-35 ppt) ยกตัวอย่างเช่น ใส่เกลือ 1 ppt หมายความว่า - ใส่เกลือ 1 ส่วน ในน้ำ 1000 ส่วน หรือ - ใส่เกลือ 1 กรัม ในน้ำ 1000 กรัม หรือ - ใส่เกลือ 1 กรัม ในน้ำ 1000 cc (1 ลิตร) หรือ - ใส่เกลือ 1 กิโลกรัม ในน้ำ 1 ตัน เป็นต้นครับ 3. เปอร์เซ็นต์ (Percent) เป็นหน่วยที่ใหญ่ ขึ้นมาอีกระดับจาก ppt ครับ เปอร์เซ็นต์ ก็แปลว่า ส่วนในร้อยส่วนนั่นเอง คำๆนี้ ทุกคนคงรู้จักกันดีนะครับ ยกตัวอย่างเช่น ใส่เกลือ 1 เปอร์เซ็นต์ ก็หมายความว่า - ใส่เกลือ 1 ส่วน ในน้ำ 100 ส่วน หรือ - ใส่เกลือ 1 กรัม ในน้ำ 100 กรัม หรือ - ใส่เกลือ 1 กรัม ในน้ำ 100 cc หรือ - ใส่เกลือ 10 กรัม ในน้ำ 1 ลิตร หรือ - ใส่เกลือ 10 กิโลกรัม ในน้ำ 1 ตัน เป็นต้นครับ มาถึงตรงนี้แล้ว เพื่อนๆพอเข้าใจหรือเปล่าครับ ดังนั้น เมื่อเราทราบถึงความหมายที่แท้จริงแบบนี้แล้ว เราจะเปลี่ยนหน่วยยังไงก็ไม่งงแล้วล่ะครับ ขอแค่มีพื้นฐานด้านการคำนวณเพียงเล็กน้อยก็พอแล้วครับ การผสมยาในอาหาร ดังที่เราทราบกันดีนะครับ ว่ามีโรคหลายโรคที่เกิดจากการติดเชื้อภายในร่างกาย เช่น ทางเดินอาหาร ในช่องท้อง ไต ระบบสืบพันธุ์ หรือ ติดเชื้อในระบบเลือด จริงอยู่ ถึงแม้การแช่ปลาด้วยยา จะได้ผลเช่นกัน เพราะปลาสามารถดูดซึมยาเข้าทางเหงือกได้ และเข้าไปสู่กระแสเลือดไหลเวียนไปยังอวัยวะต่างๆ แต่การผสมอาหารให้ปลากินนั้น สามารถออกฤทธิ์ในทางเดินอาหารได้โดยตรง อีกทั้งยังเกิดการย่อยสลายตัวยาให้อยู่ในรูปที่ออกฤทธิ์ได้ง่ายขึ้นด้วยครับ ยากลุ่มที่จะผสมให้ปลากินนั้น คือ ยาปฏิชีวนะชนิดต่างๆ ครับ การผสมอาหารให้ปลากินนั้น มีข้อจำกัดอยู่อย่างหนึ่งคือ ถ้าปลาป่วยมากๆแล้ว ปลาก็มักจะไม่กินอาหารตามไปด้วยครับ ซึ่งทำให้เราไม่สามารถใช้วิธีนี้ได้ นอกจากนั้น ยังต้องอาศัยเวลาและความชำนาญในการผสมอาหารกับยาด้วยครับ แต่วิธีการผสมยากับอาหารก็มีข้อดีมากมายครับ คือ - สามารถถูกดูดซึมโดยร่างกายปลาได้โดยตรง โดยไม่สูญเสียประสิทธิภาพของยาไปกับสิ่งแวดล้อม ทำให้การรักษาได้ผลดีขึ้น โดยเฉพาะการติดเชื้อภายใน - ประหยัดปริมาณยาที่ใช้ เนื่องจากปลาจะได้รับยาเข้าไปโดยตรง ไม่ผ่านสิ่งแวดล้อม - ยาที่ใช้จะส่งผลกระทบต่อแบคทีเรียในระบบกรอง และสภาพแวดล้อมในตู้น้อยกว่ามาก เช่น สีน้ำ ฟองที่จะเกิดขึ้นจากขบวนการออกซิเดชั่น เป็นต้น - หน่วยของยาที่ให้โดยการผสมอาหาร - ให้เป็นน้ำหนักยา ต่อ น้ำหนักของสัตว์น้ำ เช่น ให้ยา 30 มิลลิกรัมต่อปลาหนัก 1 กิโลกรัม เป็นต้น วิธีนี้ เราต้องมีการชั่งน้ำหนักสัตว์น้ำ หรือ กะน้ำหนักได้อย่างแม่นยำก่อนใช้ครับ เรามักจะใช้สำหรับ ปลาที่เลี้ยงไว้จำนวนน้อยๆ หรือ เพียงตัวเดียวในตู้ ไม่เหมาะกับปลาจำนวนมากๆ และมีขนาดต่างๆกัน เพราะจะทำให้ค่าคลาดเคลื่อนสูงครับ - ให้เป็นน้ำหนักของยาต่อกิโลกรัมต่ออาหารของสัตว์น้ำ เช่น ผสมยา 10 กรัม ต่ออาหารหนัก 1 กิโลกรัม วิธีนี้ จะมีข้อดีคือ จะสามารถใหักับปลาหลายๆตัวได้ในเวลาเดียวกัน และไม่ต้องจับปลาขึ้นมาชั่งน้ำหนักด้วยครับ เหมาะสำหรับปลาที่ป่วยพร้อมๆกันหลายๆตัวในบ่อ หรือ หลายๆตู้ เพราะผสมยาเพียงครั้งเดียว ก็ใช้ได้ทุกตัว การฉีดยา การฉีดยานั้น ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่นิยมใช้กันนะครับ แต่เราต้องมีความชำนาญในการจับปลา และฉีดยาพอสมควร ไม่เหมาะกับปลาที่ป่วยรวมกันหลายๆตัว หรือปลาที่มีขนาดเล็กเกิน 6 นิ้วนะครับ แต่ก็มีข้อดีต่างๆมากมายครับเช่น - ปลาได้รับยาโดยตรง ไม่สูญเสียไปกับสิ่งแวดล้อม ประหยัดปริมาณยา - ใช้ได้ผลดีกับการติดเชื้อภายในร่างกาย - ปลาที่ป่วยหนักไม่กินอาหาร ก็สามารถรับยาได้โดยตรงด้วยวิธีการนี้ครับ - ไม่ส่งผลกระทบต่อระบบกรอง และสิ่งแวดล้อมภายในที่เลี้ยง ตำแหน่งที่เรานิยมใช้ฉีดยา มีสองตำแหน่งครับ คือ บริเวณกล้ามเนื้อตรงหลัง การฉีดตรงนี้ จะค่อนข้างปลอดภัยต่อตัวปลา แต่อาจมีข้อเสียคือ ปลาต้องใช้เวลาดูดซึมยาก่อนแพร่กระจายไปยังระบบต่างๆในร่างกาย ตำแหน่งที่สองคือ ช่องท้อง วิธีการฉีดแบบนี้ ต้องอาศัยความชำนาญพอสมควรครับ ถ้าไม่แน่ใจก็ไม่ควรเสี่ยงทำแบบนี้ เพราะอาจโดนอวัยวะภายในที่สำคัญ หรือสูญเสียยาไปกับทางเดินอาหารส่วนปลายซึ่งไม่มีการดูดซึมแล้วก็ได้ครับ แต่ก็มีข้อดีคือ ออกฤทธิ์ได้เร็วกว่าวิธีแรก พอสมควร หน่วยของการให้ยาด้วยวิธีการฉีด ส่วนใหญ่แล้ว เราจะใช้เป็นปริมาณยาต่อหน้ำหนักของสัตว์น้ำ เช่น ฉีดยากานามัยซิน 20 มิลลิกรัม ต่อปลาหนัก 1 กิโลกรัมเป็นต้นครับ สำหรับวันนี้ ผมขอจบบทความตอนที่สองไว้แค่นี้ก่อนนะครับ หวังว่ามันคงมีประโยชน์ และสร้างความกระจ่างในข้อสงสัยได้บ้างพอสมควร อีกทั้งยังสามารถนำไปใช้ในสถานการณ์จริงๆได้ แล้วพบกันใหม่ในเล่มหน้านะครับ ขอบคุณครับ
|