Gene-Pool-Aquarium.pantown.com
สาระน่ารู้กับ RoF <<
กลับไปหน้าแรก
ความรู้และข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับ ฟิชสปา (Fish Spa)
ชนิดของปลาที่นำมาใช้ในการบำบัด Fish therapy
ก่อนอื่นขอทำความเข้าใจก่อนครับว่า จริงๆแล้ว ปลาที่นำมาใช้ในการทำฟิชสปา มีชนิดที่เหมาะสมที่สุดเพียงชนิดเดียวครับคือ Garra rufa (Heckel, 1843) แต่เมื่อฟิชสปาระบาดเข้ามาในประเทศไทย และนักลงทุนพบว่า มันสามารถทำกำไรให้กับตัวเองได้มหาศาล แต่เมื่อไม่สามารถนำเข้า ปลาชนิดนี้มาได้ในตอนแรกจะทำไงดีล่ะ ง่ายมากๆครับ ก็แค่เอาปลาชนิดอื่นๆที่หาได้ในไทย แต่มีรูปร่างหน้าตาคล้ายๆกัน และมีพฤติกรรมการดูดอวัยวะ เช่นเท้าของคนมาใช้แทน แล้วก็หลอกครับ หลอกประชาชนว่า นี่แหละ การา รูฟา แค่นี้ก็หาเงินใส่กระเป๋าได้แล้วง่ายๆครับ และนี่แหละครับ คือปฐมบท หรือต้นกำเนิดทั้งหลายทั้งมวล ของการหลอกลวงซึ่งดำเนินมาเรื่อยๆ เปลี่ยนรูปแบบมากมายหลากหลายขึ้น จนมาถึงปัจจุบันนั่นเองครับ จำเอาไว้เลยว่า ปลาสปา ฟิชสปา หรือปลาที่มาทำสปา ไม่ได้หมายถึงปลาชนิดเดียว หรือปลาแบบเดียวในภาษาชาวบ้าน แต่มันหมายถึงกลุ่มปลาหลายชนิด ซึ่งแตกต่างทั้งรูปร่าง หน้า สีสัน พฤติกรรม คุณสมบัติ และที่สำคัญคือ ราคา ถ้ามีคนบอกว่า ขายปลาสปา ขายฟิชสปา ทำฟิชสปาพร้อมปลาสปา ฯลฯ โดยไม่สามารถให้ความชัดเจนในเรื่องชนิดของปลาได้หรือ สร้างความสับสนในเรื่องชนิดของปลา หรือ ปิดบังข้อมูลเรื่องปลา หรือ ตั้งชื่อปลาขึ้นมาเองดื้อๆ หรือ อ้างข้อมูลลอยๆ ก็รู้ไว้เลยครับว่า นั่นคือมิจฉาชีพแฝงตัวมาแน่นอน เพราะส่วนต่างของราคาปลาแต่ละชนิดนั้น ต่างกันมากนัก ซึ่งส่วนต่างขนาดนั้น สามารถฟันท่านให้หัวแบะได้ในขวานเดียว ดังนั้น จึงกลายเป็นว่า ในประเทศไทยของเรานี้ จึงมีปลามากมายหลายชนิด (species) ที่นำมาใช้ในการทำสปา ทั้งโดยการหลอกลวง ซึ่งไม่ควรยอมรับ และโดยอนุโลม ซึ่งเป็นสิ่งที่ยอมรับกันได้ ถ้าให้ข้อมูลกันตรงๆครับ ดังนั้นสิ่งสำคัญในการศึกษาเรื่องฟิชสปาในประเทศไทย จึงไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เลย ที่จะต้องทำความรู้จักกับปลามากมายหลายชนิด (ทั้งๆที่มันควรจะมีเพียงชนิดเดียวแท้ๆคือ การา รูฟา) ที่นำมาใช้ในการทำฟิชสปาแบบไทยๆกันครับ เพราะปลาแต่ละชนิดต่างก็มีราคา มีคุณสมบัติ และความหายากง่ายต่างกัน ถ้าไม่อยากโดนเอาเปรียบ ก็ต้องเสียเวลาทำความเข้าใจปลามากมายพวกนี้ด้วยครับ เปรียบเสมือนการสร้างภูมิคุ้มกันทางปัญญาให้กับตัวเราเอง ดังนั้น ในเมื่อเข้าใจความเป็นมาและเหตุผลข้างต้นแล้ว เรามาลองดูกันเลยครับว่า มีปลาชนิดใดบ้างแล้ว ที่ได้ถูกเลือกนำมาทำฟิชสปา เพราะมีคุณสมบัติดังกล่าวครับ แต่ ก่อนที่เราจะมารู้จักปลาแต่ละตัว เราควรอย่างยิ่งที่จะมีพื้นฐานเรื่องการเรียกชื่อปลากันก่อนครับ การเรียกชื่อปลา เป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะเป็นประตูด่านแรก ที่จะนำเราไปรู้จักปลาที่ถูกตัว การโดนหลอกด้วยชื่อผิดๆ การตั้งชื่อเอาเองเพื่อการค้าแบบไม่สุจริต เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ไวเทียมลมปากครับ แค่พูดออกมาสักชื่อหรือได้ยินได้ฟังมาสักหน่อย แล้วเราเชื่อหรือฟังโดยไม่มีพื้นฐานความรู้ใดๆเลย ย่อมง่ายแก่การโดนหลอก และการโดนหลอกจะนำมาซึ่งการเสียเงินมากมายโดยใช่เหตุครับ เพราะทุกวันนี้ มีมิจฉาชีพมากมาย พร้อมที่จะตั้งชื่อปลาอะไรก็ตามที่เค้าหามาได้ ด้วยชื่ออะไรก็ตามที่เค้าคิดขึ้นมาได้ เพื่อที่จะทำให้คุณซื้อมันเพื่อไปทำสปาได้โดยง่าย และจ่ายตังให้มากที่สุดครับ
โดย: RoF (เจ้าบ้าน
) [2 ต.ค. 52 18:54] ( IP A:202.149.25.241 X: )
ความคิดเห็นที่ 5
การที่เราจะรู้จักกับปลาแต่ละตัวนั้น สิ่งแรกที่เราต้องรู้จักก็คือ ชื่อ ของมันครับ คงไม่มีใครเถียงครับ แต่ชื่อของปลาแต่ละชนิดนั้น มีวิธีการเรียกมากมายหลายชื่อ ทั้งชื่อที่เป็นสากล ชื่อที่ไม่เป็นสากล และชื่อแบบตั้งกันเองเพื่อการค้า ดังนั้นก่อนที่เราจะไปทำความรู้จักกับปลาแต่ละตัวในอันดับต่อไป เราต้องเข้าใจเรื่อง ชื่อ ของปลาให้ได้ระดับหนึ่งก่อนครับ วิธีการเรียกชื่อปลาแบบสำคัญๆที่ควรรู้ มีดังนี้ครับ
ชื่อวิทยาศาสตร์ (Scientific name)
เรามาทำความเข้าใจแบบคร่าวๆกันนะครับ ชื่อวิทยาศาสตร์ คือชื่อที่ถูกต้องของปลาชนิดหนึ่งหรือสปีชีส์หนึ่งๆ ซึ่งมีเพียงชื่อเดียว เขียนและสะกดได้แบบเดียว เท่านั้นครับ โดยจะถูกตั้งชื่อโดยนักวิทยาศาสตร์ ที่เราเรียกกันว่า นักมีนวิทยา ที่มีความรู้เกี่ยวกับปลาชนิดนั้นๆ หรือค้นพบปลาชนิดนั้นก่อนคนอื่นและสามารถบอกได้ว่า มันเป็นปลาชนิดใหม่ก่อนใครๆ จากนั้นก็เขียนรายงานทางวิทยาศาสตร์ออกมา และนักวิทยาศาสตร์ส่วนรวมยอมรับการศึกษานั้น ก็จะมีสิทธิ์ได้ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ปลาตัวนั้นได้เพียงคนเดียวและชื่อเดียวครับ ชื่อดังกล่าวจะถูกใช้ไปตลอด จนกว่าจะมีนักมีนวิทยาท่านอื่นหาเหตุผลมาแย้งได้ว่า ปลาตัวนั้น ไม่ควรใช้ชื่อนี้แล้ว ควรเปลี่ยนไปใช้ชื่ออืนแทน โดยทำรายงานทางวิทยาศาสตร์ขึ้นมา และนักวิทยาศาสตร์ส่วนรวมยอมรับการศึกษานั้น ปลาตัวนั้น ก็จะถูกเปลี่ยนชื่อไปได้เช่นกันครับ ส่วนชื่อวิทยาศาสตร์ชื่อเก่า ก็จะถูกลดสถานะลงเป็น ชื่อพ้อง (synonym) ครับ ซึ่งก็อาจมีหลายชื่อเช่นกันขึ้นอยู่กับว่ามันถูกเปลี่ยนชื่อชนิด หรือ เปลี่ยนสกุล หรือเปลี่ยนทั้งสองชื่อไปบ่อยแค่ไหน ในปลาบางชนิดที่ใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ชื่อหนึ่งๆมาเป็นเวลานานมากๆ จนติดปาก แล้วจู่ๆก็ถูกเปลี่ยนสถานะลงไปเป็นชื่อพ้อง อาจได้รับความนิยมจนเรียกติดปากกันมากกว่าชื่อวิทยาศาสตร์ที่ถูกต้องซึ่งพึ่งเปลี่ยนไปในเวลาไม่นานครับ
จะเห็นได้ชัดเจนนะครับว่า ชื่อวิทยาศาสตร์ของปลานั้น ไม่ใช่ว่าชาวบ้าน คนขายปลา หรือคนทำฟิชสปาที่ไหนจะมาบัญญัติขึ้นมาง่ายๆด้วยตนเองครับ ต้องเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาอย่างลึกซึ้ง อย่างละเอียดเป็นสากล ถ้ามีใครสักคนทำเช่นนั้นขึ้นมาเองดื้อๆ ย่อมบ่งบอกชัดเจนครับว่า นอกจากจะไม่มีความรู้พื้นฐานเรื่องปลาแล้ว ก็อาจจะมีเจตนาไม่ซื่อ ในการทำธุรกิจเช่นกันครับ เรียกง่ายๆว่า หลอกขายปลานั่นเอง
ชื่อวิทยาศาสตร์นั้นจะใช้ภาษาละตินเท่านั้นครับ เพราะถือว่าเป็นภาษาที่ตายไปแล้ว ดิ้นไม่ได้เหมือนภาษาที่ใช้ๆกันอยู่ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา หลักๆแล้วชื่อวิทยาศาสตร์จะประกอบด้วย คำสองคำ เรียงต่อกันครับ คำแรก คือ ชื่อสกุล ของปลาคำที่สองคือ ชื่อชนิดของปลา ปลาหลายชนิดอยู่ในสกุลเดียวกัน ก็มีชื่อสกุลเหมือนกัน ปลาที่มีชื่อสกุลเหมือนกันแต่คนละชนิด ชื่อข้างหลังหรือชื่อชนิด ต้องไม่เหมือนกัน และปลาต่างสกุลกัน อาจมีชื่อข้างหลังหรือชื่อชนิดเหมือนกันก็ได้ครับ เหมือนกับคนเรานี่แหละครับ บางทีอาจชื่อจริงซ้ำกัน แต่คนละนามสกุลกันก็ได้มีมากมาย แต่คนที่นามสกุลเดียวกัน ก็ไม่ควรมีชื่อซ้ำกัน เพราะมันจะกลายเป็นคนๆเดียวกันถ้าคนอื่นได้ยิน งงมั้ยครับ ถ้างง มาดูตัวอย่างกันครับ เอา พระเอกของเราเป็นแบบ ละกันครับ การา รูฟา...
Garra rufa (Heckel, 1843)
จะเห็นว่า ชื่อวิทยาศาสตร์ ซึ่งประกอบด้วย ชื่อสกุลและชนิดนั้น ต้องพิมพ์ด้วยตัวพิมพ์เอนครับ
Garra คือ ชื่อสกุลของปลาตัวนี้ คำว่า สกุลของปลานั้น ไม่เหมือนกับคำว่า นามสกุล ของคนเรานะครับ คนเราที่นามสกุลเดียวกัน คือ เป็นพี่น้อง เป็นญาติหรือเป็นผู้สืบเชื้อสายต่อๆกันมา แต่สกุล ของปลาหมายถึง ลำดับทางวิวัฒนาการที่ใกล้เคียงกันครับ คือเป็นปลาคนละชนิดกันก็จริง แต่องค์ประกอบอื่นๆใกล้เคียงกันมากจนใกล้ชิดกันได้ในระดับสกุล ไม่ใช่ปลาในสกุลเดียวกันคือ เป็นพี่น้องครอกเดียวกัน หรือมีพ่อแม่เดียวกันหรือสืบสันดานต่อๆกันมาแต่ประการใดครับ
Rufa คือ ชื่อชนิดของปลาตัวนี้ คำว่าชนิด ก็บ่งบอกชัดเจนครับว่า มันเป็นปลาสปีชีส์ (species) เดียวกัน อธิบายง่ายๆว่า ปลาชนิดเดียวกัน คือปลาที่เหมือนกันมากๆในเกือบทุกรายละเอียด และอาศัยสืบพันธุ์อยู่ด้วยกันเป็นรุ่นๆต่อๆกันมานั่นเองครับ แต่คำว่าสปีชีส์จะสมบูรณ์ได้ ก็ต้องมีการรวมระหว่าง ชื่อสกุลและชนิดไว้ด้วยกันด้วยเหตุผลที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนะครับ
โดย: RoF (เจ้าบ้าน
) [2 ต.ค. 52 19:12] ( IP A:202.149.25.234 X: )
ความคิดเห็นที่ 7
(Heckel, 1843) คือ ชื่อของนักวิทยาศาสตร์ผู้บรรยายและตั้งชื่อปลาชนิดนี้พร้อมปีที่ทำการบรรยายเสร็จสิ้นและได้รับการยอมรับเป็นสากลครับ ปกติแล้วจะพบรูปแบบการเขียนชื่อผู้ค้นพบและบรรยายปลาชนิดนี้ต่อท้ายชื่อวิทยาศาสตร์ได้สองแบบคือ แบบมีวงเล็บล้อมรอบชื่อและปีที่พบ และแบบไม่มีวงเล็บครับ แบบมีวงเล็บนั้นหมายความว่า ผู้ค้นพบคนนี้แรกเริ่มเดิมที จัดปลาชนิดนี้ไว้ในสกุลอื่น ต่อมามีผู้เปลี่ยนแปลงเอาปลาชนิดนี้ไปอยู่ในสกุลอื่น และได้รับการยอมรับเป็นสากล ผู้ที่ทำการเปลี่ยนสกุลนั้น ก็ต้องคงชื่อของผู้ค้นพบคนแรกเอาไว้คงเดิมครับ เพียงแค่ใส่วงเล็บไว้ เพื่อบอกให้ทราบว่าโดนเปลี่ยนสกุลไปแล้วเท่านั้นเอง ส่วน ถ้าไม่มีวงเล็บล้อมรอบนั้น หมายความว่า ปลาตัวดังกล่าว ถูกจัดไว้ในสกุลไหนตั้งแต่วันค้นพบ มาจนถึงบัดนี้ ก็ยังอยู่ในสกุลเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆนั่นเองครับ
สำหรับปลาบางตัว ที่ยังไม่มีการบรรยายชื่อวิทยาศาสตร์ หรือตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ไว้ชัดเจน แต่พิจารณาเบื้องต้นแล้ว ทราบว่าน่าจะอยู่ในสกุลใด เราก็จะใช้คำว่า sp. (ซึ่งย่อมาจากคำว่า species) เอาไว้ท้ายชื่อสกุลที่เราคิดว่า มันน่าจะอยู่ในสกุลนี้ครับ ยกตัวอย่างเช่น ไปน้ำตกเอราวัน พบปลาดูดชนิดหนึ่ง เข้ามาดูดตามตัวเราเต็มเลย แปลกดี เวลาเราลงไปเล่นน้ำ เลยจิ๊กมาได้ตัวหนึ่ง ส่งไปให้นักวิทยาศาสตร์สักคนหนึ่งเพื่อถามว่า มันคือปลาอะไร พอนักวิทยาศาสตร์ดูแล้ว ปรากฏว่า ปลาตัวนี้ยังไม่มีการตั้งชื่อวิทยาศาสตร์แต่ประการใด แต่เขามีความรู้มากพอที่จะดูออกว่า มันจัดอยู่ในสกุล การา เค้าก็จะบอกเราว่า มันชื่อว่า Garra sp. นะครับ เป็นการบอกเราว่า ปลาตัวนี้ เป็นปลาในสกุล การา แต่ยังไม่ทราบชนิด หรืออาจจะยังไม่มีการตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจน หรือ เขามีความสามารถไม่พอที่จะระบุชนิดที่ชัดเจนได้เป็นต้นครับ ต่อมา เมื่อเราไปข้ามไปเที่ยวฝั่งพม่า กลับพบปลาดูดเข้าอีกเหมือนกัน รูปร่างหน้าตาคล้ายๆกับปลาที่เอราวันเลย เมื่อจิ๊กมาให้นักวิทยาศาสตร์จำแนกชื่อ ปลาตัวนี้ ก็อาจถูกเรียกว่า Garra sp. ได้เช่นกันครับ ถ้าเขาไม่สามารถแยกชนิดได้ชัดเจน ฉันใดก็ฉันนั้น เหมือนกับกรณีปลาจากเอราวันเป็นต้นครับ ดังนั้น คำว่า Garra sp. จึงไม่ใช่ชื่อวิทยาศาสตร์ที่สมบูรณ์นะครับ ปลาอะไรก็ตามที่นักวิทยาศาสตร์ยังไม่ได้ตั้งชื่อ และอยู่ในสกุล การา นั้น พร้อมที่จะถูกเรียกว่า Garra sp. ได้เสมอครับ ถ้าจะทำให้ชัดเจนมากขึ้นแบบชั่วคราว ก็บอกต่อท้ายสักนิดครับว่า มาจากที่ใด เช่น น้ำตกเอราวัน หรือ พม่า หรือที่อื่นๆ เป็นต้นครับ บางครั้งเราจะเจอการพิมพ์คำว่า spp. ต่อท้ายชื่อสกุล นั่นก็หมายความว่า เราพูดถึงปลาในสกุลการาหลายๆชนิดพร้อมๆกัน โดยไม่ระบุชนิดลงไปแน่นอนนั่นเองครับ เช่น Garra spp. ก็แปลว่า ปลาในสกุลการา ชนิดต่างๆ เป็นต้นครับ
ดังนั้น สรุปว่า ค่ำว่า sp. และ spp. นั้น ย่อมาจากคำว่า species โดยเป็นการละไว้ในฐานที่เข้าใจดังที่อธิบายไว้ข้างต้นเพื่อให้ชื่อวิทยาศาสตร์มีความสมบูรณ์ครับ ไม่ได้ย่อมาจากคำอื่นๆที่นักต้มตุ๋นหรือนักมั่วนิ่มบัญญัติขึ้นมาเอง เช่น สเปเชียล (special) หรืออย่างอื่นอย่างใดเลยครับ และยิ่งไปกว่านั้น เดี๋ยวนี้ มีนักต้มตุ๋นพยายามที่จะก่อให้เกิดความสับสนขึ้นมาให้จงได้ เพื่อการหลอกขายเป็นไปได้อย่างราบรื่น เช่น ตั้งชื่อปลาตัวใดตัวหนึ่งขึ้นมาง่ายๆว่าเป็น Garra rufa sp. โดยการนำคำว่า sp. มาต่อท้ายชื่อวิทยาศาสตร์ที่สมบูรณ์แล้วของปลาการา รูฟา ซึ่งผิดหลักเกณฑ์ของการตั้งชื่อวิทยาศาสตร์โดยสิ้นเชิง เพื่อสร้างความแตกต่าง ความสับสนให้กับผู้ซื้อ โดยพยายามให้เข้าใจว่า ปลาของเขาคือ การา รูฟา สเปเชียล หรือ การารูฟา ชนิดพิเศษ บ้าบอคอแตกอย่างไรก็ตาม โดยเอาปลาชนิดอื่นๆดังที่กล่าวไว้มาหลอกขายอีกเช่นกัน แต่ถ้าเมื่อใด ที่ทุกท่านทราบว่า ปลาแต่ละชนิด ชื่ออะไร มีรูปร่างหน้าตาอย่างไร แตกต่างกันอย่างไร ราคาขายควรจะเป็นเท่าไร และหลักการใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ที่แท้จริงแล้ว เป็นเช่นไร ถ้าท่านจับหลักเหล่านี้ได้ ก็จะไม่มีมิจฉาชีพตนใด มาหลอกลวงท่านอีกได้เลยแน่นอนครับ
โดย: RoF (เจ้าบ้าน
) [2 ต.ค. 52 19:46] ( IP A:202.149.25.235 X: )
ความคิดเห็นที่ 8
เมื่อเอาชื่อสกุลและชนิดมารวมกันเป็น Garra rufa ซึ่งอาจไม่ต้องต่อด้วยชื่อคนตั้งชื่อก็ได้ครับในการอ้างแบบสั้นๆ ก็จะเกิดเป็น ชื่อวิทยาศาสตร์ที่สมบูรณ์ขึ้นมา โดยชื่อวิทยาศาสตร์ที่สมบูรณ์แล้วของปลาชนิดใดๆ จะประกอบด้วยชื่อสกุล ตามด้วยชื่อชนิดนั่นเองครับ ซึ่งบ่งบอกถึง สปีชีส์ ของปลาชนิดนั้นๆได้ชัดเจนแน่นอน ดังนั้น โปรดทำความเข้าใจเลยครับว่า การา รูฟา คือปลาชนิดนี้ ชนิดเดียว เป็นชื่อเรียกที่เป็นสากลและถูกต้องที่สุดซึ่งอาจมีชื่ออื่นๆมากมายเช่นชื่อท้องถิ่น หรืออาจมีชื่อไทยๆในภายหลังก็ได้ครับ แต่ชื่อพวกนี้ดิ้นได้ตลอดเวลาครับ
บางครั้ง เราอาจพบชื่อวิทยาศาสตร์ ที่ประกอบไปด้วยคำ 3 คำ ต่อๆกัน เช่น ชื่อวิทยาศาสตร์ของปลานิล Oreochromis niloticus niloticus (Linnaeus, 1758) หมายความว่า ชื่อวิทยาศาสตร์นั้น บ่งบอกถึงปลาตัวนั้นๆ ลึกลงไปในระดับที่มากกว่าชนิด ซึ่งเราเรียกว่า ชนิดย่อย หรือ สับสปีชีส์ (subspecies) นั่นเองครับ ชนิดย่อยของปลานั้นมีความละเอียดมากกว่า ชนิด และเป็นการเรียกในระดับความละเอียดที่เป็นสากล เทียบเท่ากับความเป็นสากลของชนิด และชื่อวิทยาศาสตร์นั่นเองครับ นั่นคือ ต้องบัญญัติโดยนักวิทยาศาสตร์และมีรายงานการศึกษาที่ชัดเจนนั่นเอง
รูปแสดง การา รูฟา วัยอ่อน ขณะถอดสี
โดย: RoF (เจ้าบ้าน
) [4 ต.ค. 52 14:39] ( IP A:202.149.25.235 X: )
ความคิดเห็นที่ 10
ชื่อสามัญ (Common name)
ชื่อสามัญ คือ ชื่อปลาชนิดนั้น ในภาษาอังกฤษครับ ต่างจากชื่อวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นภาษาละติน ชื่อสามัญของปลานั้น อธิบายง่ายๆว่า มันก็ คือชื่อ ในระดับชาวบ้านเรียกครับ แต่เป็นชาวบ้านฝรั่งเท่านั้นเอง เหตุที่ต้องใช้ชื่อชาวบ้านฝรั่ง ก็เพราะว่า ภาษาอังกฤษนั้น เป็นภาษาสากล นั่นเองครับ ดังนั้น ชื่อสามัญจึงมีความชัดเจน ความสำคัญและความเป็นสากล รองลงมาจากชื่อวิทยาศาสตร์ เพราะยังไง ก็เกิดจากชาวบ้าน หรือ การเรียกต่อๆกันมาตั้งแต่บรรพกาล หรือ เร็วๆนี้ โดยไม่ต้องมีหลักเกณฑ์ตายตัวอะไรครับ อาจเป็นภาษาอังกฤษโดยตรง หรือเรียกทับศัพท์ชื่อวิทยาศาสตร์ไปเลย หรือ ใช้ภาษาท้องถิ่นดั้งเดิมของที่อื่น มาเขียนในแบบภาษาอังกฤษ ฯลฯ
เช่น ปลากัด ปลาไทยๆของเรานี่แหละครับ
มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Betta splendens Regan 1910
มีชื่อสามัญหลายชื่อ ว่า Siamese Fighting Fish , Betta , Plakat (ปลากัด) เป็นต้นครับ
ดังนั้น บางครั้ง ปลาชนิดเดียวกัน อาจมีชื่อสามัญหลายชื่อมากมาย และปลา คนละชนิดกัน แต่กลับมีชื่อสามัญเดียวกัน ก็ได้ครับ เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นมากมายเป็นปกติครับ
รูปแสดง การา เอสพี (พม่า)
โดย: RoF (เจ้าบ้าน
) [4 ต.ค. 52 14:40] ( IP A:202.149.25.235 X: )
ความคิดเห็นที่ 11
ชื่อไทย
อันนี้คงไม่ต้องบรรยายครับว่า มีความเละเทะแค่ไหน เพราะนิสัยคนไทยเรานี่เอง ปลาบางชนิดถูกเรียกชื่อไทยมานานแสนนานแล้ว เช่น ปลานกกระจอก Garra cambodgiensis (Tirant, 1883) เพาะพันธุ์ได้โดยคนไทยและถูกวางจำหน่ายในตลาดปลาสวยงามมานานแสนนาน ตัวละไม่กี่บาท แต่ โชคร้ายครับ ที่ปลานกกระจอก มีคุณสมบัติในการเข้ามาดูดคนได้เป็นฝูง พอฟิชสปาเข้ามาในประเทศไทยเท่านั้น คนไทยผู้ไม่ละอายฟ้าดินบางพวก ก็เลยเอาปลาชนิดนี้ มาตั้งชื่อใหม่ซะเลยดื้อๆ เช่น การ่ารูฟ่า สเปเชียล การ่า สเปเชียล การารูฟ่าลูกผสมปลาไทย ฯลฯ แล้วก็เปลี่ยนประวัติมันซะใหม่ด้วยครับ เพื่อความน่าเชื่อถือเช่น เพาะได้เองในไทยเจ้าเดียวในโลกบ้างล่ะ เป็นพันธุ์พิเศษที่เขาคิดค้นขึ้นมาเองบ้างล่ะ หรือว่า เอามาขายเป็น การารูฟา(ตัวจริง) เอาดื้อๆ เพียงเพื่อผลประโยชน์ทางการค้าเพียงอย่างเดียว ปลาไทยตัวนั้น ทั้งๆที่มันมีชื่อเรียกปกติมานานแสนนานแล้ว ก็กลับมีชื่อใหม่เพิ่มขึ้นไม่ซ้ำในแต่ละวันได้เช่นกันครับ เมื่อเราได้รู้ตรงนี้แล้ว ยังจะควรสนับสนุนพฤติกรรมเหล่านี้หรือไม่ ก็โปรดพิจารณากันเองครับ
โดย: RoF (เจ้าบ้าน
) [4 ต.ค. 52 14:47] ( IP A:202.149.25.225 X: )
ความคิดเห็นที่ 12
จบเรื่องชื่อกันแล้วนะครับ ต่อไปก็เริ่มเข้าเรื่องชนิดปลาที่นำมาทำสปากันในประเทศไทยแต่ละชนิดกันเลยครับ เพื่อความชัดเจน ผมขอแยกปลาที่นิยมนำมาทำฟิชสปาออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆนะครับ ดังนี้
ปลาที่เหมาะสมสำหรับการนำมาทำฟิชสปา(แบบไทยๆ)
เหตุผลที่ต้องบอกว่าแบบไทยๆ คงเข้าใจกันแล้วนะครับ ปลาที่เหมาะสมในการนำมาทำฟิชสปานั้น มีมากมายหลายชนิดครับ ไม่จำเป็นต้องเอาเฉพาะที่คนนิยมและปั่นราคากันอยู่ขณะนี้ก็ได้ แค่รู้หลักเกณฑ์การเลือกและคุณสมบัติของปลา เราก็ประยุกต์ได้แล้วมากมายดังที่เคยมีคนทำมาให้เราตามอยู่ ณ เวลานี้นั่นเองครับ อยากเป็นผู้นำบ้างหรือเปล่า? การเลือกปลา มีหลักเกณฑ์ง่ายๆดังนี้ครับ
โดย: RoF (เจ้าบ้าน
) [4 ต.ค. 52 14:51] ( IP A:202.149.25.225 X: )
ความคิดเห็นที่ 13
1. ต้องเป็นปลาที่อาศัยรวมกันเป็นฝูงใหญ่ๆและมีขนาดไม่ใหญ่จนเกินไป
คุณสมบัติข้อแรกนั้นสำคัญครับ เพราะว่า การนำมาทำฟิชสปานั้น เราไม่ใช้ปลาเพียงตัวเดียวแน่นอน และคงเป็นไปไม่ได้ ถ้าเอาปลาที่ไม่ชอบอยู่ร่วมกันเป็นฝูง หรือเป็นปลาที่มีขนาดใหญ่ มาใส่รวมกันเพื่อทำสปาแน่นอนครับ เพราะถ้ามันไม่ชอบรวมฝูง มันก็จะทะเลาะกันเองหรือไม่ก็เครียดจนไม่อยากจะมาสนใจเรา และถ้ามันมีขนาดใหญ่มากเกินไป มันก็คงดูไม่งามนักครับถึงแม้ว่ามันจะดูดเก่งก็ตาม โดยปกติปลาที่ทำฟิชสปาไม่ควรมีขนาดเกิน 3-4 นิ้วครับ รวมทั้งพวกการา ต่างๆด้วย ถ้ามันโตกว่านั้น ส่วนใหญ่อาจต้องปลดระวาง เพราะนอกจากมันจะขี้เกียจหาอาหารด้วยการดูดเท้าเราแล้ว ก็มักจะนอนนิ่งๆเสียมากกว่าครับ อีกทั้งแรงดูดก็อาจจะแรงเกินพอดีไป หรือไม่ก็ขนาดปลาที่ใหญ่อาจทำให้ดูน่ากลัว มากกว่าน่ารัก หรือน่าสัมผัส เป็นต้น ปลาเหล่านั้นก็ต้องปลดระวางไป
โดย: RoF (เจ้าบ้าน
) [4 ต.ค. 52 14:53] ( IP A:202.149.25.225 X: )
ความคิดเห็นที่ 14
2. ต้องมีปากแบบดูดและมีนิสัยชอบดูด
อันนี้ยิ่งสำคัญครับ ทำความเข้าใจง่ายๆตรงๆตัวครับว่า มันต้องดูด ไม่ใช่กัด การดูดคือการสร้างสูญญากาศด้วยปาก ส่วนการกัดคือ การงับด้วยขากรรไกร ปลาที่มีคุณสมบัติในการดูดนั้น เป็นมาตั้งแต่กำเนิดเลยครับ วิธีการสังเกตุง่ายๆคือ ดูที่ปากของมัน ปากของปลาที่สามารถดูดได้นั้น ต้องเป็นปากแบบ sucking mouth ครับ คือ มีเนื้อเยื่อที่ปากแผ่ออกเป็นแผ่นบางๆทั้งริมฝีปากบนและล่าง เพื่อสร้างสูญญากาศนั่นเองครับ นึกภาพตัวดูดที่เป็นแผ่นยางติดกระจกดูครับ หลักการคล้ายๆกันเลย ส่วนใหญ่ปลาที่มีปากแบบนี้มักจะมีนิสัย ชอบตอด ชอบดูดไปตามโขดหิน ขอนไม้ พื้นดินท้องน้ำ หรือวัสดุจมน้ำต่างๆครับ และกินอาหารประเภท พืช หรือซากพืชซากสัตว์ที่ตายแล้วหรือใกล้ตายครับ นอกจากการดูดแล้วยังไม่พอครับ ต้องสามารถขัด (graze) ได้อีกด้วย การดูดและขัดจะเกิดขึ้นไปพร้อมๆกันเป็นจังหวะครับ ซึ่งการทำงานในลักษณะแบบนี้ เป็นหัวใจหลักของการกำจัดเซลที่ตายแล้วให้กับผิวของเรา เปรียบเสมือนเราขัดเท้าด้วยตะไบที่มีชีวิตขนาดเล็กนับร้อยตะไบในเวลาเดียวกัน ย่อมละเอียดอ่อนนุ่มนวลกว่าการใช้ตะไบเหล็กแข็งๆที่ขัดด้วยมือคนแน่นอนครับ
โดย: RoF (เจ้าบ้าน
) [4 ต.ค. 52 14:54] ( IP A:202.149.25.225 X: )
ความคิดเห็นที่ 15
3. ต้องไม่มีฟันบนขากรรไกร
อันนี้ก็ยิ่งสำคัญครับ เป็นผลมาจากข้อ 2 ก็คือ ปลาที่มีปากแบบดูดนั้น มีทั้งปากแบบดูดที่มีฟันเรียงรายอยู่บนขากรรไกร กับ แบบที่ไม่มีฟันเลยสักซี่บนปากหรือแผ่นดูดดังกล่าว ในการทำฟิชสปานั้น เราไม่ต้องการให้ปลามากัดเราด้วยฟัน ให้เกิดบาดแผลเล็กๆจำนวนมาก ซึ่งอาจติดเชื้อได้ภายหลังครับ แต่เราต้องการการดูดด้วยริมฝีปากที่นุ่มนวลเท่านั้นครับ ปลากลุ่มที่ไม่มีฟันบนขากรรไกร จะเป็นปลาในกลุ่มที่เราเรียกกันว่า ไซปรินิดส์ (Order Cypriniformes) นั่นเองครับ
โดย: RoF (เจ้าบ้าน
) [4 ต.ค. 52 15:03] ( IP A:202.149.25.235 X: )
ความคิดเห็นที่ 16
4. ต้องมีความสามารถในการเข้ามาดูดอวัยวะของมนุษย์
อันนี้สำคัญที่สุดเลยครับ สปาปลาจริง สปาปลาปลอม จะไม่มีวันเกิดขึ้นได้เลย ถ้าไม่มีปลาที่สามารถเข้ามาดูดอวัยวะมนุษย์ได้จริงมั้ยครับ ดังนั้น คนมักง่าย มักจะเลือกแค่คุณสมบัติข้อนี้เพียงข้อเดียวเท่านั้น ก็พร้อมที่จะสูบเงินได้เลย แต่ความมักง่ายไม่ใช่สิ่งที่ดีครับ แนะนำว่า ให้ใช้หลักเกณฑ์ทุกๆข้อดีกว่าครับ ผลดีจะตกสู่ลูกค้าและตัวเราเองในระยะยาว ปลาที่มีความสามารถนี้ มีมากมายหลายร้อยสปีชีส์ครับ ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาด มหัศจรรย์เลย ที่ปลาจะแสดงพฤติกรรมแบบนี้ให้เห็น ทั้งนี้ ขึ้นกับปัจจัยหลายอย่างครับ เช่น ชนิดปลา ขนาดของปลา ขนาดของฝูงปลา วัยของปลา ตลอดจนสภาพแวดล้อมต่างๆที่เหมาะสม เป็นต้นครับ ค่อยๆเรียนรู้กันไป แล้วเราจะเป็นผู้นำได้เสมอ หลายคนยังมีคำถามว่า มันดูดคนได้จริงหรอ ซึ่งผมมักจะตอบไปว่า ทำให้มันไม่ดูดคน ยากกว่าทำให้มันดูดซะอีกครับ
โดย: RoF (เจ้าบ้าน
) [4 ต.ค. 52 15:06] ( IP A:202.149.25.225 X: )
ความคิดเห็นที่ 17
5. ควรมีคุณสมบัติในการบำบัดรักษาเป็นที่ยอมรับกันโดยสากล
มีเพียงชนิดเดียวเท่านั้นในเวลานี้ ที่ได้รับการยอมรับเป็นสากลสูงสุด ในเรื่องของคุณสมบัติดังกล่าวก็คือ Garra rufa นั่นเองครับ โดยสามารถผลิตเอนไซม์จำเพาะซึ่งมีชื่อว่า dithranol (anthralin) ในการบรรเทาอาการของโรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) และการา รูฟา ก็มีคุณสมบัติใน 4 ข้อแรกในระดับดีเลิศด้วยซ้ำไป เห็นมั้ยครับว่า คำว่าฟิชสปา มันควรจะจบลงที่ Garra rufa ตั้งแต่ต้นเพียงชนิดเดียวแล้ว แต่ในทางอนุโลมก็คือว่า ปลาที่มีคุณสมบัติตามข้อ 1-4 ในไทยก็มีอีกหลายชนิดครับ ซึ่งช่วยในแง่ของการกำจัดเซลผิวหนังที่ตายแล้ว หรือเนื้อตาย ซึ่งก็ส่งผลดีในการรักษาเรื่องของส้นเท้าแตก กลิ่นเท้า และกระตุ้นให้เกิดการสร้างเซลใหม่ และกระตุ้นการหมุนเวียนโลหิต ด้วยวิธีธรรมชาติครับ ถึงแม้ว่าจะไม่มีการปล่อยเอนไซม์ในการบำบัดโรคบางชนิดก็ตามที หรือปลาไทยเราอาจจะมีหรือมีเหนือกว่าก็เป็นได้ แต่ก็ยังไม่มีการศึกษาใดๆทั้งสิ้นครับ
โดย: RoF (เจ้าบ้าน
) [4 ต.ค. 52 15:10] ( IP A:202.149.25.235 X: )
ความคิดเห็นที่ 18
เรามาทำความรู้จักหน้าตาและข้อมูลของเอนไซม์พิเศษจากการารูฟา dithranol สักเล็กน้อยครับ
ชื่อพ้อง : 1,8-dihydroxy-9-anthrone; 1,8-dihydroxy-anthrone; anthra-derm; anthralin; dithranol; dithrocream; chrysodermol; cygnolin; derobin; psoriacide; psorin;
สูตรเคมี : C14H10O3
น้ำหนักโมเลกุล : 226.23
จุดหลอมเหลว : 17 oC
ความสามารถในการละลายน้ำ : <0.1 g/100 mL at20°C
การนำไปใช้ประโยชน์ : บรรเทารักษาโรคสะเก็ดเงิน (Antipsoriatic)
คุณสมบัติทางยา : ต้านเชื้อรา (Antifungal)
รูปแสดงโครงสร้างโมเลกุลของ dithranol
โดย: RoF (เจ้าบ้าน
) [4 ต.ค. 52 15:11] ( IP A:202.149.25.225 X: )
ความคิดเห็นที่ 19
มาถึงตรงนี้แล้ว ก็เท่ากับว่าทุกท่านก็ได้เรียนรู้พื้นฐานง่ายๆเกี่ยวกับปลาไปพอสมควรแล้วครับ ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่เราจะมารู้จักกับปลาแต่ละชนิดกันเลยครับ
ปลาในสกุลการา (Genus Garra)
Order: Cypriniformes
Family: Cyprinidae Minnows and Carps
Subfamily: Barbinae
Genus: Garra Fowler & Steinitz, 1956
ปลาในสกุลการา เป็นปลาในกลุ่มตะเพียน(ไซปรินิฟอร์ม) อาศัยอยู่ในแม่น้ำลำธาร หรือน้ำตก ชอบน้ำไหลเอื่อยๆ ไปจนถึงไหลแรง คุณภาพน้ำดี ออกซิเจนละลายน้ำปริมาณสูง ชอบน้ำเย็นเป็นส่วนใหญ่ครับ ปกติแล้วจะดำรงชีวิตอยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีอุณหภูมิไม่เกิน 28 องศาเซลเซียส (รวมทั้งการารูฟา) มีปากเป็นปากดูด โดยริมฝีปากบนล่างพัฒนาไปเป็นเยื่อบางๆแผ่ออกเป็นจานสำหรับสร้างสูญญากาศ (oral sucking discs) ไม่มีฟันบนขากรรไกร สามารถดูดติดกับวัสดุต่างๆในน้ำได้ ไม่ว่าจะเป็นกิ่งไม้ ขอนไม้ ก้อนหิน ดินพื้นท้องน้ำ หรือว่าตามตัวสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ดังนั้นจึงมีความสามารถพิเศษในการว่ายทวนน้ำ ตลอดจนการทรงตัวอยู่กับที่ในน้ำที่ไหลแรงจัด ด้วยการดูดเกาะ และคืบคลานทวนน้ำไปข้างหน้าอย่างช้าๆแต่มั่นคงได้อีกด้วยครับ เรียกการดำรงชีวิตและการหากินแบบนี้ว่า bottom dweller ส่วนอาหารการกินนั้น ปลากลุ่มนี้ดำรงชีวิตด้วยการกินซากพืช ซากสัตว์ ตะใคร่น้ำ สาหร่าย (algae grazers) สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังและสิ่งมีชีวิตเล็กๆ (aufwuchs) หรือแม้แต่สัตว์ที่ใกล้ตายเคลื่อนที่ไม่ได้เป็นอาหาร ปลาที่ดำรงชีวิตด้วยการกินซากพืชซากสัตว์แบบนี้เราเรียกว่า สคาเวนเจอร์ (scavenger) ครับ ปลาในสกุลการา ถูกนำมาเลี้ยงเป็นปลาสวยงามมานานแล้ว มากมายหลายชนิด ความนิยมหลักๆก็คือ นอกจากจะมีความหลากหลายของชนิดสูงมาก หลายชนิดมีสีสันลวดลายสวยงามแล้ว ยังนำมาใช้ในการกำจัดตะใคร่น้ำและเศษอาหารในตู้ปลาได้อีกด้วยครับ ด้วยเป็นปลาที่มีขนาดที่ไม่ใหญ่โตนัก ส่วนใหญ่โตเต็มที่ในธรรมชาติ ไม่เกิน 6-7 นิ้ว ส่วนในตู้เลี้ยงจะโตช้ามากและโตเต็มที่ได้น้อยกว่านั้นอีก ความเข้าใจผิดๆเกี่ยวกับปลาที่มีการกินอาหารลักษณะแบบนี้ก็คือ การที่ไปคิดกันเองว่า มันกินขี้ปลาเป็นอาหารครับ ซึ่งความจริงแล้ว ปลาพวกนี้ ไม่มีชนิดใดกินขี้ปลาเป็นอาหาร เพราะขี้ปลา ไม่เหลือสารอาหารใดๆที่จำเป็นสำหรับปลาอีกแล้ว อาจจะมีขี้ปลาบางชนิดเท่านั้น ที่อาจจะยังพอเหลือส่วนที่กินได้บ้างสำหรับปลาพวกนี้ แต่ก็น้อยมากที่จะเจอตัวที่เหมาะสม และถ้ามันเลือกได้ มันก็ไม่เลือกกินขี้ปลาเป็นอันดับแรกแน่นอนครับ หรือไม่มีทางยอมกินเลยแม้แต่น้อยจนอดตายไปเองด้วยซ้ำไป ดังนั้น การปลูกฝังโดยพ่อค้าปลาบางพวก ที่บอกว่า ซื้อไปใส่ไว้เพื่อกินขี้ปลา จะได้ไม่ต้องเปลี่ยนน้ำปลานั้น จึงเป็นการโฆษณาในลักษณะที่หลอกลวง สำหรับผู้เลี้ยงปลาที่มีความมักง่ายเป็นที่ตั้งเท่านั้นเองครับ มาในบัดนี้ เมื่อฟิชสปาเข้ามาในไทย ก็ยังมีการให้ความรู้ผิดๆแบบนี้กันอยู่เหมือนเดิม เพียงเพื่อผลประโยชน์ทางการค้าอีกเช่นเคย สำหรับการแพร่พันธุ์นั้น ปลาการา มักผสมพันธุ์เป็นฝูงใหญ่ๆในธรรมชาติและออกลูกเป็นไข่ แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า มันไม่สามารถขยายพันธุ์ได้ในตู้กระจกที่มีสภาพการเลี้ยงที่ไม่เหมาะสมครับ โดยเฉพาะในตู้สปา ซึ่งมีความหนาแน่นของปลาสูง ไม่มีการจัดสภาพแวดล้อมที่ใกล้เคียงธรรมชาติ ทำให้ปลาต้องแย่งกันกินอาหารอย่างหนัก มากกว่าที่จะเอาพลังงงานหรือ ความใส่ใจไปลงในเรื่องการขยายพันธุ์ แค่แย่งกันกินอาหารไปวันๆก็หมดแรงแล้วครับ อีกทั้งมันไม่สามารถจะเจริญเติบโตไปสู่วัยเจริญพันธุ์ได้ในสภาพการเลี้ยงแบบตู้สปาได้นั่นเองครับ เพราะส่วนใหญ่จะเข้าวัยเจริญพันธุ์ก็ที่ขนาดประมาณ 6 นิ้ว หรือมากกว่านั้น ซึ่งเป็นขนาดที่ไม่ใช้ในการทำสปา ดังนั้น คำถามที่ว่า ทำฟิชสปาแล้ว มันจะออกลูกในตู้เหมือนปลาหางนกยูงมั้ย คงไม่มีแล้วนะครับ เพราะอย่างน้อยๆ ปลาหางนกยูงก็ออกลูกเป็นตัวครับ ห่างไกลจากปลาในสกุลการามากมายนัก แต่ก็มีการาบางชนิดเป็นส่วนน้อย ที่สามารถออกลูกได้ในตู้เลี้ยงที่จัดสภาพการเลี้ยงให้เหมาะสมได้เองครับ เช่นมีการแต่งขอนไม้ ไม่น้ำ หิน กระแสน้ำ คุณภาพน้ำ แสง pH อุณหภูมิที่เหมาะสม โดยมันจะวางไข่บนใบไม้น้ำต่างๆ หนึ่งในนั้นก็คือ การา รูฟา นั่นเอง จะเห็นได้ว่า การา รูฟา ไม่ใช่ปลาหายากใกล้สูญพันธุ์อะไรแต่ประการใด ตรงข้าม กับเป็นปลาที่เลี้ยงง่ายเพาะง่ายครับ ไม่นานคนไทยก็ทำได้แน่นอนและราคาจะถูกมากๆด้วยเช่นกันครับ ปลาการาทุกชนิดนั้นทั้งใหม่และเก่าสามารถเพาะพันธุ์ได้และมีแนวโน้มว่าจะเพาะพันธุ์ได้ไม่ยากด้วยวิธีการผสมเทียมครับ
ปลาในสุกลการา แพร่กระจายในเขตกว้างขวางมาก ตั้งแต่ทวีปอาฟริกา ตะวันออกกลางมาจนถึงทวีปเอเชียเราครับ ปลาในสกุลการา นั้น ประกอบด้วยสมาชิกประมาณ 90 ชนิด (species) ที่ได้มีการบรรยายและตั้งชื่อไว้แล้วครับ และยังมีอีกมากมายหลายชนิดที่ยังไม่มีการศึกษาโดยละเอียด และตั้งชื่อวิทยาศาสตร์เอาไว้ เช่น การา เอสพี พม่า ชื่อดังนั่นเองครับ ไว้มาดูกันต่อไป ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ยังมีปลาการา รอเราอยู่มากมาย ให้เราจับมาทำสปาครับ พูดแบบนี้จะเป็นการชี้โพรงให้กระรอกหรือเปล่าก็ไม่รู้ ถึงไม่ชี้ ก็คงมองเห็นกันอยู่ดีครับ กระรอกทั้งหลาย ต่อไปเรามาทำความรู้จักปลาในสกุลการาแต่ละชนิดที่นิยมกันเลยครับ
โดย: RoF (เจ้าบ้าน
) [4 ต.ค. 52 15:52] ( IP A:202.149.25.225 X: )
ความคิดเห็นที่ 21
1 การา รูฟา
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Garra rufa (Heckel, 1843)
ชื่อพ้อง : Discognathus obtusus Heckel, 1843
Discognathus crenulatus Heckel, 1843
Discognathus rufus Heckel, 1843
Garra rufa crenulata (Heckel, 1843)
Garra rufa gymnothorax Berg, 1949
Garra rufusHeckel, 1843
ชื่อสามัญ : Gararufa , Doctor Garra
ชื่อไทย : การารูฟา
ถิ่นกำเนิดและแหล่งอาศัย : ตุรกี จอร์แดน ซีเรีย อิสราเอล อิหร่าน แม่น้ำโอรอนเตส และลุ่มน้ำไทกริสยูเฟรติส เป็นต้น ตามปกติแล้วในธรรมชาติ การา รูฟา จะอาศัยอยู่ในน้ำเย็นกว่าบ้านเราอีกครับคือ 15°C - 28°C แต่พอเริ่มมีการนำมาทำฟิชสปา ทางโน้น เขาก็ลองให้อยู่อุณหภูมิที่สูงขึ้น เพื่อความอุ่นสบายของผู้แช่และพบว่ามันสามารถอยู่ได้ในอุณหภูมิที่สูงถึง 38-40°C ได้เช่นกันโดยค่อยๆทำการปรับอุณหภูมิขึ้นอย่างช้าๆใช้ระยะเวลานานครับ จึงนำจุดตรงนี้มาเป็นจุดขายว่า เป็นปลาที่อาศัยในน้ำร้อนได้เท่านั้น ซึ่งจริงๆแล้วในธรรมชาตินั้น ไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไปครับ ส่วนใหญ่เกิดจากการปรับของมนุษย์นี่เองครับ
โดย: RoF (เจ้าบ้าน
) [4 ต.ค. 52 16:26] ( IP A:202.149.25.235 X: )
ความคิดเห็นที่ 22
รูปร่างลักษณะนิสัย : ปลาชนิดนี้ มีขนาดโตเต็มที่ได้ถึง 14 เซนติเมตรนะครับ เกือบครึ่งฟุตเลยทีเดียว ไม่ใช่ปลาที่จะตัวเล็กน่ารักตลอดไป แต่โชคดีครับที่มันโตช้ามาก และไม่โตในตู้เลี้ยงแคบๆครับ โดยปกติแล้ว การาเอสพี จากที่ต่างๆโดยเฉพาะพม่า ซึ่งเป็นปลาที่ยังไม่มีชื่อวิทยาศาสตร์ชัดเจนนั้น มักจะเอามาหลอกขายหรือหลอกปนในฟิชสปาว่าเป็นการารูฟาของแท้กันอย่างแพร่หลายครับไม่เว้นฟิชสปาที่มีชือเสียงมากๆก็ตามที แต่กลับมีพฤติกรรมหลอกขายปลาแบบนี้เช่นกัน ปลาชนิดนี้ มีลำตัวค่อนข้างป้อมสั้น ส่วนหัวโตและกลมมนกว่า เมื่อเทียบกับการาเอสพีพม่า ลำตัวมีเกล็ดสีเทา ในขณะที่พม่าเกล็ดจะออกสีน้ำตาลดำ จุดเด่นที่สำคัญของ การา รูฟา ที่ การา เอสพีพม่า ไม่มี ก็คือ การารูฟา จะมีแถบสีดำขนาดใหญ่ ชัดเจน คาดอยู่ที่บริเวณโคนหางดังรูปครับ นอกจากนั้นการารูฟาและการาเอสพีพม่าที่ขนาดเท่ากันนั้น รูฟา จะมีดวงตาขนาดที่เล็กกว่าเอสพีชัดเจนครับ เมื่อรูฟาโตขึ้นและอยู่ในสภาพที่ปราศจากความเครียด จะมีครีบหลังออกสีชมพูเรื่อๆ ในขณะที่เอสพีไม่มี
โดย: RoF (เจ้าบ้าน
) [4 ต.ค. 52 18:05] ( IP A:202.149.25.235 X: )
ความคิดเห็นที่ 24
การา รูฟา เป็นปลาสปาต้นตำหรับเพียงชนิดเดียว ที่นิยมใช้กันมานานมากในตุรกี โดยแหล่งที่มีชื่อเสียงมายาวนานนับร้อยปีมาจากแหล่งน้ำแร่ร้อน Kangal Sivas ตลอดจนมีงานวิจัยเกี่ยวกับปลาชนิดนี้ออกมามากมายครับ เช่น เรื่องความพิเศษในการปล่อยเอนไซม์ เป็นต้น ทางตุรกีจึงค่อนข้างหวงปลาชนิดนี้ของเขามาก โดยขอความร่วมมือห้ามนำเข้าส่งออกจากประเทศต่างๆมากมายรวมทั้งไทยด้วยครับ แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น ก็ยังหลุดรอดออกมาได้อยู่ดี และถูกนำมาเพาะขยายพันธุ์มากมายใน ญี่ปุ่น และอินโดนีเซีย สิงคโปร์ มากมาย เป็นต้นครับ แต่ก็ไม่แน่เหมือนกันครับว่า ถ้าได้มีการทำการศึกษาปลาในสกุล การา ชนิดอื่นๆ ก็อาจพบคุณสมบัติพิเศษแบบนี้หรืออาจเหนือกว่านี้ได้เช่นกันครับ อันนี้คงต้องรอชมกันต่อไปครับ ส่วนการารูฟาในประเทศไทยนั้น ก็นำเข้ามาจากหลายที่นั่นแหละครับ แล้วแต่ความสามารถของผู้นำเข้าแต่ละคน ส่วนฟิชสปาบางแห่งที่โลกทัศน์แคบ หรือ ไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะนำเข้าหรือหาปลาการารูฟาแท้ๆเข้ามาขายได้ ก็จะให้เหตุผลว่า ไม่สามารถนำเข้ามาได้ บ้างล่ะ ราคาแพงมากๆบ้างล่ะ ใช้ของพม่า ของไทย ดีกว่าบ้างล่ะ หรือไม่ก็เอาตัวอื่นมาหลอกเป็นการารูฟาเอาดื้อๆเลยก็มี จริงๆแล้วในประเทศไทยนั้น มีผู้นำเข้าการารูฟา เข้ามาจำหน่ายมากมายหลายเจ้า ในราคาย่อยเยามากๆครับ ไม่ใช่เรื่องยากเย็นเลย ที่มีอาชีพในด้านปลา จะสามารถทำได้ แต่คนในวงการสปานั้น ไม่เข้าใจ และมักจะหลงอยู่กับภาพลักษณ์ฟิชสปา หรูๆแต่เพียงเปลือกนอก โฆษณาเก่ง การตลาดดี แต่ความรู้ประสบการณ์ไม่ต่างจากท่านด้วยซ้ำ ในเรื่องปลา แค่เคยลองผิดลองถูกมาก่อนเราเท่านั้นเองครับ คนพวกนี้ก็แค่มาซื้อการารูฟา จากผู้นำเข้า หรือปลาสปาไทยๆต่างๆจากผู้เพาะเลี้ยง แล้วเอามาขายเอง หรือไม่ก็แอบอ้างต่างๆนาๆ จนถึงขั้นตั้งชื่อเอง หรือแอบอ้างว่าเพาะได้เองเจ้าเดียวในไทยด้วยซ้ำไป เหตุผลก็เพียงเพื่อฟันราคา และพยายามตะล่อมให้ท่านวางเงินมัดจำกะเค้าให้เร็วที่สุดเพียงเท่านั้นเองครับ ดังนั้นเราในฐานะผู้มีการศึกษา จึงไม่ควรโดนมิจฉาชีพพวกนี้หลอกเอาง่ายๆครับ ค่อยๆศึกษาหาข้อมูลดูก่อน อย่าพึ่งหลงเชื่อกับภาพลักษณ์หรูๆหรือการทุ่มโฆษณาด้วยตู้สปาสำเร็จรูปซึ่งมีคุณภาพต่ำ และจะก่อปัญหาสาหัสให้กับท่านภายหลังครับ เมื่อท่านมีความรู้ในทุกๆด้านแล้ว ท่าน เลือก ได้เสมอครับ
โดย: RoF (เจ้าบ้าน
) [4 ต.ค. 52 18:19] ( IP A:202.149.25.235 X: )
ความคิดเห็นที่ 25
การเลี้ยงในระบบฟิชสปา : รูฟา นั้นจากประสบการณ์ที่ได้เลี้ยงและสัมผัสมานาน จะพบชัดเจนเลยครับว่า เป็นปลาที่ปรับตัวให้เข้ากับคนได้เร็วที่สุด หรืออาจเรียกได้ว่าไม่กลัวคนเลย ลักษณะนิสัยและพฤติกรรมการดูดอวัยวะของมันดูเหมือนว่าจะถูกฝังอยู่ในสายเลือดของมันเลยก็ได้ครับ เห็นมือคนอยู่นอกตู้ ก็ยังว่ายเข้ามาตามตอดกระจกที่มือวาดผ่าน เอามือลงไป ก็กรูเข้ามาดูดทันที ลากมือไปทางไหน ก็ไม่ตกใจวูบวาบ ว่ายหนี แต่กลับว่ายตามมือกันเป็นฝูง อีกทั้งเมื่อตักออกมาใส่ภาชนะอื่นๆเช่นกาละมังทั้งฝูง แล้วเอามือจุ่มลงไปทันที ก็ไม่แสดงอาการตื่นตกใจหรือกระโดดหนี ตรงกันข้าม กลับเข้ามาตอดมือเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นครับ พฤติกรรมเหล่านี้ จะมากจะน้อยตามสถานการณ์ใดๆก็แล้วแต่ครับ แต่ก็เหนือกว่าการาชนิดอื่นๆในไทยแน่นอน เมื่อมันเป็นปลาที่เชื่องและไม่กลัวคน ในตู้เลี้ยงจึงแทบไม่จำเป็นต้องกลัวการกระโดดหนีของปลาออกนอกบ่อเลยเช่นกันครับ อาหารของการารูฟานั้น ส่วนใหญ่เราจะให้อาหารปลาที่เป็นสาหร่ายอัดเม็ด หรือ แอลจี้เวเฟอร์ (Algae wafer) แบบจม เพื่อรักษาคุณภาพน้ำในบ่อสปาให้ดีที่สุดครับ ไม่ควรใช้อาหารกุ้ง อาหารปลาเกรดต่ำอื่นๆ เพราะจำทำให้น้ำขุ่นและเสียได้ง่ายกว่ามาก การารูฟานั้น มีพฤติกรรมการกินอาหารหนักไปทางซากสัตว์ มากกว่าซากพืชครับ ดังนั้นเราอาจจะให้อาหารโปรตีนสูงเกรดดีๆ ซึ่งเป็นอาหารจมน้ำเสริมไปบ้างนะครับ ยี่ห้อที่มีคุณภาพ ก็ได้แก่ Hikari , Tetra , Ocean free เป็นต้นครับ จะเห็นได้ว่า การนำการา รูฟา และปลาชนิดอื่นๆมาทำฟิชสปานั้น จะให้มันกินแต่เศษเท้าของเราเพียงอย่างเดียวนั้นไม่พอครับ เป็นการทรมาณปลาอย่างยิ่ง เพราะปลาจะอดๆอยากๆ และมักจะกินกันเองเพราะความหิว ฟิชสปาชื่อดังหลายๆที่ กลับไม่เคยเข้าใจเรื่องตรงนี้เลยด้วยซ้ำครับ ปล่อยให้ปลาอดอยากหัวโตน่าสงสาร แต่กลับคุยโม้ว่าปลาของตนแข็งแรงสมบูรณ์ ส่วนบางที่ก็มักไม่บอกว่าควรให้อาหารมันอย่างไร เพราะถ้าปลาท่านผอมตายหรือกินกันเองจนจำนวนลดลง ท่านก็จะได้เสียเงินซื้อปลาเพิ่มจากเขาอีกนั่นเองครับ ส่วนเรื่องของคุณภาพน้ำนั้น แน่นอนว่าเราต้องทำให้ดีที่สุดอยู่แล้ว ซึ่งอ่านได้ในบทต่อไป แต่ความพิเศษของการารูฟาอีกอย่างก็คือ มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมได้ดีกว่าการาชนิดอื่นๆมากครับ ยิ่งเรื่องการช๊อคจากการตกใจหรือการปรับตัวไม่ทันก็แทบไม่พบ ยกเว้นแต่คุณภาพน้ำของเราจะแย่จริงๆเท่านั้นครับ ส่วนเรื่องอุณหภูมิของน้ำนั้น ก็มักมีผู้เข้าใจคลาดเคลื่อนมากมาย โดยเข้าใจว่า การารูฟา ต้องอยู่ในน้ำร้อนเท่านั้น ถ้าเอามาเลี้ยงในน้ำปกติ หรือในประเทศไทยจะตายและไม่สามารถดำรงชีวิตรอดได้ ซึ่งไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด แท้จริงแล้ว การารูฟา สามารถอาศัยอยู่ในน้ำอุณหภูมิปกติเหมือนปลาบ้านเราทั่วไปครับ ไม่เพียงเท่านั้น ประเทศอื่นๆที่สามารถนำพ่อแม่พันธุ์ออกมาจากตุรกีได้ ต่างก็เพาะขยายพันธุ์ส่งออกกันมานานแล้ว ในสภาพการเลี้ยงปกติเช่นกัน และอีกไม่นานประเทศไทยก็จะมีการเพาะขยายพันธุ์การารูฟาได้แน่นอนครับ ที่คนไทยยังไม่ค่อยเข้าใจกันก็เพราะว่า มันยังเป็นของใหม่อยู่สำหรับวงการสปาที่ไม่เคยเลี้ยงปลามาก่อนนั่นเอง
โดย: RoF (เจ้าบ้าน
) [4 ต.ค. 52 18:33] ( IP A:202.149.25.225 X: )
ความคิดเห็นที่ 26
2. การา เอสพี พม่า
ชื่อวิทยาศาสตร์(ชั่วคราว) : Garra sp. (Burma)
ชื่อสามัญ : Burmese algae eater
ชื่อไทย : ปลาอีมูดพม่า ปลาเลียหินพม่า
ถิ่นกำเนิดและแหล่งอาศัย : เป็นปลาที่มีถิ่นกำเนิดแถบชายแดนไทยติดกับพม่าครับ มีเยอะในฝั่งพม่ามากกว่าฝั่งไทย โดยจะพบตามน้ำตก และลำธารน้ำไหลต่างๆ คาดว่าคงเป็นชนิดใกล้เคียงกับที่พบในไทยครับ
โดย: RoF (เจ้าบ้าน
) [4 ต.ค. 52 18:36] ( IP A:202.149.25.235 X: )
ความคิดเห็นที่ 27
รูปร่างลักษณะนิสัย : ขนาดโตเต็มที่ประมาณ 15 เซนติเมตร หรืออาจจะโตได้มากกว่านั้นครับ ลักษณะรูปร่าง คล้ายการารูฟา ครับ แต่ส่วนหัวค่อนข้างแหลมกว่า ลำตัวเพรียวยาวกว่า รูฟา สีเกล็ดบนลำตัวจะออกสีน้ำตาลเข้มสลับเกล็ดสีดำ ในขณะที่รูฟา เป็นสีเทา และที่สำคัญ ไม่มีแถบดำบนโคนหางใดๆทั้งสิ้นครับ ซึ่งลักษณะแถบดำบนโคนหางนี้ ใช้ในการแยกชนิดแบบง่ายๆได้ชัดเจนที่สุดแล้วครับสำหรับทุกๆท่าน ดูรูปประกอบได้เลยครับ การา เอสพี พม่านั้น มีคุณสมบัติการดูดที่ดีที่สุดเหนือตัวอื่นๆที่กล่าวมาข้างต้น เรียกได้ว่า ใกล้เคียงกับรูฟา ทั้งแง่ของความทนทาน ความเชื่อง ไม่กลัวคน และจังหวะ น้ำหนักการดุด เรียกได้ว่าสูสีกันครับ ที่ต่างกันและยังไม่มีใครพิสูจน์ ก็คือเรื่อง เอ็นไซม์ในน้ำลายนั่นเองครับ
โดย: RoF (เจ้าบ้าน
) [4 ต.ค. 52 18:42] ( IP A:202.149.25.235 X: )
ความคิดเห็นที่ 28
มาถึงตรงนี้แล้ว คิดว่าทุกท่านคงรู้จักปลาสองชนิดนี้ดีขึ้น ตลอดจนสามารถแยกความแตกต่างระหว่างปลาสองชนิดนี้ได้ง่ายขึ้นแล้วนะครับ เมื่อเรามีความรู้แล้ว มิจฉาชีพจะมาในรูปแบบใดก็ตามทั้งที่ยกตัวอย่าง และไม่ได้ยกตัวอย่าง หรืออาจมีวิธีการใหม่ๆเกิดขึ้นเรื่อยๆ ก็ไม่มีทางถ่ายเงินในกระเป๋าของท่านออกไปได้ง่ายๆเหมือนแต่ก่อนแล้วนะครับ สำหรับท่านที่ควักเงินจ่ายไปแล้ว ลองไปมองดูในตู้สปาของท่านสักนิดนะครับว่า มีปลาอะไรบ้าง เหมือนกับที่พ่อค้าที่ขายท่านโฆษณาไว้จริงหรือไม่
โดย: RoF (เจ้าบ้าน
) [4 ต.ค. 52 18:46] ( IP A:202.149.25.235 X: )
ความคิดเห็นที่ 29
การเลี้ยงในระบบฟิชสปา : การาจากพม่านั้น ถือว่ามีคุณสมบัติในการเข้าหาคน และความทนทานรองลงมาจากการารูฟาเลยทีเดียวครับ โดยเป็นรองอยู่ไม่มากนัก เช่น มีการตื่นตกใจมากกว่า ไม่ยอมเข้าหาคนในสภาพแวดล้อมที่สว่างมาก แต่ถ้าได้อยู่ในที่ที่เหมาะสมแล้ว ก็พร้อมที่จะรุมเข้ามาทั้งฝูงแบบมืดฟ้ามัวดินเช่นกันครับ น้ำหนักการตอดก็ใกล้เคียงกัน ส่วนการเลี้ยงนั้น ไม่มีอะไรแตกต่างจากรูฟาครับ
โดย: RoF (เจ้าบ้าน
) [4 ต.ค. 52 18:49] ( IP A:202.149.25.225 X: )
ความคิดเห็นที่ 30
3. ปลานกกระจอก
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Garra cambodgiensis (Tirant, 1883)
ชื่อพ้อง : Cirrhina cambodgiensis Tirant, 1883
Garra parvifilum Fowler, 1939
Garra taeniata Smith, 1931
Garra taeniatops Fowler, 1935
ชื่อสามัญ : False Siamese algae eater , Stonelapping minnow
ชื่อไทย : นกกระจอก เลียหิน เลียหินแม่น้ำโขง อีมูดแม่น้ำโขง
ถิ่นกำเนิดและแหล่งอาศัย : มีถิ่นกำเนิดจากแม่น้ำโขง เจ้าพระยา และแม่น้ำในคาบสมุทรมาเลย์
โดย: RoF (เจ้าบ้าน
) [4 ต.ค. 52 18:53] ( IP A:202.149.25.225 X: )
ความคิดเห็นที่ 31
รูปร่างลักษณะนิสัย : ขนาดโตเต็มที่ประมาณ 15 เซนติเมตร นำมาเลี้ยงเป็นปลาสวยงามและวางจำหน่ายในท้องตลาดมานานมากๆแล้วครับ เพาะพันธุ์ได้ด้วยวิธีการผสมเทียม โดยนำมาใช้ดูดตะใคร่น้ำตามตู้ไม้น้ำหรือตู้ปลาขนาดเล็กต่างๆ ลักษณะลวดลายคล้ายปลาเล็บมือนางที่จะกล่าวถึงต่อไป แต่มีข้อแตกต่างคือ มีลำตัวอ้วนหนากว่า แถบสีดำบนลำตัวมีขนาดใหญ่กว่า มีแถบสีเหลืองจางๆอยู่ด้านบน ลำตัวหนากว่า ส่วนหัวสั้นกว่า ครีบต่างๆมีสีเหลืองค่อนข้างชัดเจน ส่วนเล็บมือนางจะลำตัวผอมบาง หัวเรียวแหลมเล็ก แถบสีดำขนาดเล็กบางกว่าลากผ่านไปจนสุดกลางครีบหางครับ ในขณะที่นกกระจอกลากไปสุดแค่โคนหาง
โดย: RoF (เจ้าบ้าน
) [4 ต.ค. 52 18:57] ( IP A:202.149.25.235 X: )
ความคิดเห็นที่ 32
การเลี้ยงในระบบฟิชสปา : ปลานกกระจอกนั้น จัดได้ว่ามีคุณสมบัติในการดูด และการนำปลาชนิดอื่นที่ด้อยกว่าเข้าดูดเป็นอันดับสามรองจากสองตัวแรกครับ แต่ด้วยราคาที่ถูกแสนถูก ไม่เกินตัวละ 5 บาทจึงเป็นที่นิยมใช้กันมาก และนิยมหลอกกันมากตามไปด้วย โดยสามารถเอาไปหลอกขายว่าเป็น ฟิชสปา หรือปลาสปา ง่ายๆคำเดียวครับ ตั้งราคา 15 บาท คนที่ไม่เข้าใจเรื่องปลาสปาว่ามันมีหลายชนิดมากมาย ก็ยอมซื้อไปใช้อย่างง่ายดาย แต่ไม่รู้ตัว่าซื้อแพงกว่าท้องตลาดไปถึง 3 เท่าตัวครับ ปลานกกระจอกนั้น ถึงแม้จะมีคุณสมบัติการเข้าดูดคนโดยไม่ต้องอาศัยตัวนำ และสามารถเป็นตัวนำปลาอื่นเข้าดูดได้นั้น แต่กลับมีข้อเสียบางอย่างคือ ตื่นตกใจง่ายมากครับ โดยเฉพาะในที่สว่าง อาจใช้เวลาปรับตัวนานหน่อย ส่วนการเข้าตอดก็น้ำหนักดีพอๆกัน แต่ว่ามักจะตื่นตกใจบ้างเวลาเราขยับตัวหรือขาเวลาลงแช่ หรือมีคนเดินผ่านไปมาวูบวาบ ให้เห็นครับ แต่ก็มักจะกลับเข้ามาตอดแทบจะทันทีเหมือนกัน ข้อเสียที่ต้องระวังอีกอย่างก็คือ มันเปราะบางและตายง่ายกว่าสองตัวแรกครับ ไม่ทนทานต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพน้ำเท่ากับสองตัวแรก อีกทั้งการตื่นตกใจง่ายของมัน จะทำให้มันชอบกระโดดออกจากตู้บ่อยๆ และเกิดอาการช๊อค เวลาเราย้ายที่มันด้วยกระชอน หรือการขนส่งบ้างพอสมควรครับ แต่โดยรวมแล้ว ทั้งคุณสมบัติราคา ปลานกกระจอกเลยกลายเป็นปลาสปาอันดับหนึ่งของฟิชสปาไทยไปโดยปริยายครับ อีกทั้งเป็นปลาที่เพาะขยายพันธุ์ในประเทศมานานแสนนานแล้วเช่นกัน พึ่งจะได้ลืมตาอ้าปากก็วันนี้นั่นเองครับ ส่วนการเลี้ยงนั้นก็ใช้วิธีเดียวกับการาชนิดอื่นๆครับ
โดย: RoF (เจ้าบ้าน
) [4 ต.ค. 52 19:00] ( IP A:202.149.25.225 X: )
ความคิดเห็นที่ 33
4. ปลามูดหน้านอพม่า
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Garra fuliginosa Fowler, 1934
ชื่อไทย : เลียหินพม่าหัวโหนก, เลียหินพม่าหน้านอ
ถิ่นกำเนิดและแหล่งอาศัย : เจ้าพระยาและแม่น้ำโขง แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำในคาบสมุทรมาเลย์
รูปร่างลักษณะนิสัย : ขนาดโตเต็มที่ประมาณ 18 เซนติเมตรถึงแม้มันจะชื่อพม่า แต่จริงๆแล้วมันมีถิ่นกำเนิดในไทยเช่นกันครับ เช่นแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งคงสาปสูญไปนานแล้วเพราะน้ำเน่า ทั้งยังพบในแม่น้ำโขงเช่นกัน แต่ปลาที่ยังจับได้เยอะคือจากฝั่งพม่าตามเคย ลักษณะเด่นชัดเจนคือ มีส่วนหน้าที่หักงอ ส่วนหัวโหนกเป็นสันครับ เกล็ดบนลำตัวเป็นสีดำคล้ำ เทา สลับขาวกระจายอยู่ทั่ว มีจุดสีดำขนาดใหญ่บริเวณโคนหาง ซึ่งทำให้ปลาชนิดนี้ตอนเล็กๆนั้น มองดูคล้ายกับ การารูฟา มากครับ จึงมีคนเอามาหลอกขายกันมากมายอีกเช่นกัน จุดสังเกตตอนเล็กๆก็คือ การาชนิดนี้จะพอมองออกครับว่าหน้ามันสั้นและหัก มีตุ่มเนื้อเล็กๆขึ้นบริเวณดังกล่าวชัดเจน ลำตัวจะอ้วนหนาบึกบึนกว่ารูฟาในขนาดเดียวกัน
โดย: RoF (เจ้าบ้าน
) [4 ต.ค. 52 19:05] ( IP A:202.149.25.235 X: )
ความคิดเห็นที่ 34
การเลี้ยงในระบบฟิชสปา : ปลาชนิดนี้ เป็น ปลาในสกุล การ่า ที่ตัวใหญ่มากครับ ขนาดโตเต็มที่ได้เกิน 18 เซนติเมตร ดังนั้น ปัญหาที่มักจะเกิดขึ้นก็คือ ถ้าตัวโตมันอาจจะตอดแรงเกินไป หรือดูไม่น่าแช่เท้าเท่าใดนัก ซึ่งถ้าได้มาในขนาดที่ใหญ่ ย่อมไม่เหมาะสมต่อการทำสปาแน่นอนครับ ถ้าปลามีขนาดเล็กไม่เกิน 3-4 นิ้ว ก็เป็นปลาสปาที่ดีตัวหนึ่งเช่นกันเพราะมันก็เป็นปลาที่โตช้าเหมือนเพื่อนๆนั่นเองครับ และที่สำคัญ มันมีคุณสมบัติต่างๆเหมือน การา เอสพี(พม่า) มากๆทั้งเรื่องความแข็งแรง ระดับความเป็นตัวนำการดูดและการปรับตัวให้เข้ากับคนก็ดีพอๆกัน ปลาชนิดนี้ไม่พบบ่อยในในฟิชสปา แต่ถ้ามีเข้ามาขนาดเล็กๆเมื่อใดในขณะที่ขาดแคลนปลาการาเอสพีพม่า ปลาตัวนี้ก็ไม่รอดถูกจับลงตู้ฟิชสปาแบบไทยๆเช่นกัน
โดย: RoF (เจ้าบ้าน
) [4 ต.ค. 52 19:06] ( IP A:202.149.25.235 X: )
ความคิดเห็นที่ 35
ปลาในสกุลอื่นๆ
ต่อมาเป็นปลาในสกุลอื่นๆ ที่นิยมและเหมาะสมในการนำมาทำฟิชสปาได้ดีเช่นกันครับ โดยยึดหลัก 4 ข้อเช่นเคย แต่ก็ยังมีคุณสมบัติในการทำสปาโดยรวมด้อยกว่าปลาในสกุล การา อยู่พอสมควร
1. ปลาน้ำผึ้ง
Order: Cypriniformes
Family: Gyrinocheilidae
Genus: Gyrinocheilus
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Gyrinocheilus aymonieri (Tirant, 1883)
ชื่อพ้อง : Gyrinocheilops kaznakoi(Berg, 1906)
Gyrinocheilus kaznakoiBerg, 1906
Gyrinocheilus kaznakoviBerg, 1906
Gyrinocheilus monchadskiiKrasyukova & Gusev, 1987
ชื่อสามัญ : Chinese algae eater , Siamese Gyrinochllid
ชื่อไทย : น้ำผึ้ง ผึ้ง ลูกผึ้ง อีดูด มูด ปากใต้ ยาลู่
ถิ่นกำเนิดและแหล่งอาศัย :พบกระจายอยู่ทั่วไปในแหล่งน้ำของประเทศไทยครับ เช่นเจ้าพระยา และแม่น้ำโขง มาเลเซียตลอดจนภาคใต้ขอประเทศจีน
โดย: RoF (เจ้าบ้าน
) [4 ต.ค. 52 19:08] ( IP A:202.149.25.235 X: )
ความคิดเห็นที่ 36
รูปร่างลักษณะนิสัย :ขนาดโตเต็มที่ถึง 28 เซนติเมตร ชอบอาศัยรวมกันเป็นฝูง มีรูปร่างเรียวทรงกระบอก แบนข้างเล็กน้อย ส่วนหัวค่อนข้างใหญ่ ตาเล็ก ปากอยู่ด้านล่างของจะงอยปาก มีสีพื้นลำตัวสีน้ำตาลเขียวมีลายแถบสีคล้ำพาดยาวตามลำตัวลักษณะแถบจะมองดูคล้ายโซ่ และมีจุดสีดำกระจายอยู่ทั่ว ตัวผู้เมื่อเจริญวัยขึ้นจะมีปุ่มคล้ายเม็ดสิวขึ้นตามหน้าและริมฝีปากบน มีลักษณะสำคัญ คือมีช่องเล็ก ๆ อยู่ด้านบนสุดของช่องเหงือก ริมฝีปาก มีลักษณะเป็นแผ่นดูดรูปกลมไม่มีฟัน ใช้ดูดกินตะไคร่น้ำตามพื้นหิน และ ทราย แล้วหายใจโดยใช้น้ำผ่านเข้าช่องเปิดด้านบนฝาปิดเหงือก แล้วออกมาทางด้านข้าง แทนที่จะใช้ปากสูบน้ำเข้าอย่างปลาทั่ว ๆ ไปครับ ซึ่งเป็นลักษณะเด่นประจำของปลาในสกุลนี้นั่นเอง หากินอยู่ตามท้องน้ำ พบได้ทั่วไปในแหล่งน้ำต่าง ๆ ทั้งแหล่งน้ำหลากและที่ราบลุ่ม กินอาหารจำพวกตะไคร่น้ำ ซากพืช ซากสัตว์ และสัตว์น้ำขนาดเล็กทั่วไปคล้ายปลาในสกุลการานั่นเอง
โดย: RoF (เจ้าบ้าน
) [4 ต.ค. 52 19:15] ( IP A:202.149.25.235 X: )
ความคิดเห็นที่ 38
การเลี้ยงในระบบฟิชสปา :
ปลาชนิดนี้ หลายคนชอบเรียกชื่อมันว่า ปลาสายน้ำผึ้ง ซึ่งผมก็ได้พยายามแนะนำว่า มันเป็นชื่อที่เพี้ยนไปแล้ว สายน้ำผึ้งมันเป็นชื่อของส้มชนิดหนึ่ง และโรงเรียนมัธยม แห่งหนึ่ง ชื่อโรงเรียนสายน้ำผึ้ง อยู่แถวสุขมวิท 22 ข้อดีของปลาน้ำผึ้งก็คือ มีปากดูดคล้ายกับปลาในสกุลการ่านั่นแหละครับ ไม่มีฟัน ราคาถูกมาก เทียบเท่านกกระจอก เพาะเลี้ยงได้ในประเทศไทยจำนวนมากด้วยวิธีการผสมเทียม หาซื้อง่าย มีสีสันสวยงามหลายสีตั้งแต่สีน้ำตาล สีเหลืองทอง สีส้ม หรือสีด่างๆฯลฯ นอกจากนั้นยังมีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมมากกว่านกกระจอกครับ แต่เรื่องความขี้กลัวแล้วก็พอๆกัน แต่ข้อเสียสำคัญของปลาน้ำผึ้งก็คือว่า มันไม่ชอบเข้ามาตอดเท้าคนก่อน หากไม่มีปลาการา เป็นตัวนำดูดครับ เรียกได้ว่าไม่สนใจเลยก็ว่าได้ ถ้ามีแต่เฉพาะพวกมัน แต่เมื่อใดก็ตามมันได้เห็นปลาการาเข้ามาดูดเท้าและเกิดการเลียนแบบพฤติกรรม ปลาน้ำผึ้งจะเป็นปลาที่เข้าตอดเท้าได้ดีมากๆชนิดหนึ่งเลยทีเดียวครับ แถมตอดได้หนุบหนับหนักหน่วงกว่า การา อีกต่างหาก จึงเป็นปลาที่หลายคนนิยมนำมาใช้ปนในสปาของตัวเองครับ ไม่ควรมองข้ามเลยจริงๆตัวนี้ ปลาน้ำผึ้งนั้นชอบกินอาหารจำพวกพืชมากกว่าเนื้อครับ ดังนั้น นอกจากเราจะใช้อาหารเม็ดสำเร็จรูปเหมือนการ่าตัวอื่นแล้ว มันยังชอบกินใบผักต่างๆ เช่น ผักกาดหอม ผักกาดขาว เป็นต้น ดังนั้นเราจึงสามารถใช้ใบผักพวกนี้ที่ปลอดสารพิษ นำมาเลี้ยงปลาในตู้สปาของเราได้ครับ นอกจากจะไม่ทำให้น้ำเน่าเสียได้ง่ายแล้ว ยังประหยัดและหาอาหารได้ง่ายอีกด้วย ซึ่งปลาการาตัวอื่นๆก็จะเข้ามากินบ้างเช่นกันครับ
โดย: RoF (เจ้าบ้าน
) [4 ต.ค. 52 19:22] ( IP A:202.149.25.225 X: )
ความคิดเห็นที่ 39
2. ปลาเล็บมือนาง
Order: Cypriniformes
Family: Cyprinidae
Genus: Crossocheilus
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Crossocheilus siamensis (Smith, 1931)
ชื่อพ้อง : Epalzeorhynchos siamensis Smith, 1931
Epalzeorhynchus siamensis Smith, 1931
ชื่อสามัญ : Siamese algae eater
ชื่อไทย : เล็บมือนาง , จิ้งจอก
ถิ่นกำเนิดและแหล่งอาศัย : แม่น้ำโขง เจ้าพระยา และคาบสมุทรมาเลย์
โดย: RoF (เจ้าบ้าน
) [4 ต.ค. 52 19:34] ( IP A:202.149.25.235 X: )
ความคิดเห็นที่ 40
รูปร่างลักษณะนิสัย : ขนาดโตเต็มที่ประมาณ 16 เซนติเมตร อาศัยรวมกันเป็นฝูง นิยมนำมาเลี้ยงในตู้ปลาขนาดเล็กเพื่อกำจัดตะใคร่น้ำครับเพราะมีนิสัยไม่ก้าวร้าว มีปากแบบดูด ไม่มีฟัน รูปร่างหน้าตาคล้ายปลานกระจอกมากจนสร้างความสับสนให้กับผู้เลี้ยงทุกยุคสมัย มาจนถึงยุคฟิชสปาก็ยังเหมือนเดิม แตกต่างกันตรงที่ ลำตัวเพรียวผอมยาวกว่า หน้าแหลมยาวกว่า แถบสีดำมองดูแคบและเข้มกว่า ไม่มีแถบเหลืองบนแถบดำ และแถบดำลากไปจนถึ่งครึ่งหนึ่งของแผ่นครีบหางครับ
การเลี้ยงในระบบฟิชสปา : เป็นปลาที่เข้ามาตอดคนได้ดีพอๆกับนกกระจอกครับ ความตื่นกลัวต่างๆก็พอๆกัน เรียกได้ว่าใช้แทนกันได้ แต่ข้อเสียที่น่ากลัวมากๆก็คือ ปลาเล็บมือนาง เป็นปลาที่เปราะบาง ออนแอกว่านกกระจอกมากครับ เรียกได้ว่า ไวต่อคุณภาพน้ำจนเกินไป ยิ่งถ้าตู้สปาของเราจัดการเรื่องคุณภาพน้ำได้ไม่ดีพอแล้ว ปลาเล็บมือนางจะค่อยๆตายจนหมด ไม่อาจมีชีวิตแก่งแย่งอาหารกับปลาชนิดอื่นๆในตู้เดียวกันได้แน่นอน อีกทั้งยังช๊อคง่ายอีกด้วยครับ ปลาเล็บมือนางจะกินพืชน้ำและสาหร่ายเป็นหลักครับ การให้อาหารก็ไม่ต่างจากการา และน้ำผึ้งเช่นกัน แต่เมื่อปลาเล็บมือนางเจริญเติบโตขึ้นได้ขนาดสัก 2 นิ้วจะแข็งแรงและทนทานพอที่จะใช้ในระบบสปาได้เช่นกันครับ แต่ตัวเล็กๆไม่แนะนำครับ
โดย: RoF (เจ้าบ้าน
) [4 ต.ค. 52 19:42] ( IP A:202.149.25.225 X: )
ความคิดเห็นที่ 41
หมายเหตุ : จริงๆแล้วปลาเล็บมือนาง ที่แท้จริง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Crossocheilus reticulatus (Fowler, 1934) แตกต่างจาก Crossocheilus siamensis (Smith, 1931) ตรงที่มีจุดดำขนาดใหญ่ที่โคนหาง มีลายสีคล้ำที่ขอบเกล็ดจนมองดูคล้ายๆตาข่ายคลุมตัว พบอาศัยอยู่ในแม่น้ำ แก่งหินต่างๆ มีอีกชื่อหนึ่งว่า" สร้อยดอกยาง " ครับ ส่วน Crossocheilus siamensis นั้น มีชื่อไทยว่า ปลาจิ้งจอก แต่ถูกเรียกว่า เล็บมือนาง ในตลาดปลามานาน และติดปากจนยากที่จะเปลี่ยนแปลง
โดย: RoF (เจ้าบ้าน
) [4 ต.ค. 52 19:44] ( IP A:202.149.25.235 X: )
ความคิดเห็นที่ 42
3 ปลากาแดง และกาแดงเผือก
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Epalzeorhynchos frenatum (Fowler, 1934)
ชื่อพ้อง : Epalzeorhynchos frenatus (Fowler, 1934)
Epalzeorhynchus frenatus (Fowler, 1934)
Labeo frenatus Fowler, 1934
ชื่อสามัญ : Rainbow shark , Redfin shark
ชื่อไทย : กาแดง, สร้อยหลอด
ถิ่นกำเนิดและแหล่งอาศัย : ในธรรมชาติพบในแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำโขงเป็นต้น
รูปร่างลักษณะนิสัย :ขนาดโตเต็มที่ประมาณ 15 เซนติเมตรโดยปลากาแดงจะมีลำตัวสีน้ำตาลอมเขียว โคนหางมีจุดสีดำ ครีบสีแดงเข้ม ส่วนปลากาแดงเผือกก็จะเป็น Albino ของปลากาแดงครับ ดวงตามีสีแดง ลำตัวสีเหลืองอ่อน ครีบสีแดง กินอาหารจำพวกสาหร่าย ซากพืชซากสัตว์ ตัวอ่อนแมลง สัตว์เล็กๆ และแพลงก์ตอนต่างๆ
การเลี้ยงในระบบฟิชสปา :
ปลาชนิดนี้ พบได้ทั่วไปในตลาดปลาสวยงามครับ เป็นปลาที่นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงามมานานมากๆแล้วมีหลายที่นำมาทำเป็นฟิชสปาเช่นกัน ข้อดีคือ หาง่าย ราคาถูก สีสันสวยงาม เก็บเศษของเสียตามพื้นได้ดี เนื่องจากกินเก่งกว่า ข้อเสียคือ บางคนคอมเมนต์มาว่า มันจิกแรงไปหน่อยครับ ถึงแม้ว่าจะไม่มีฟันและมีปากแบบดูดก็ตาม เพราะปากของมันไม่ได้เป็นปากดูดในลักษณะเดียวกันกับการาและน้ำผึ้งซึ่งแผ่ออกเป็นจานดูดครับ การเลี้ยงก็เหมือนๆปลาการาและน้ำผึ้งเช่นกันครับ
โดย: RoF (เจ้าบ้าน
) [4 ต.ค. 52 19:54] ( IP A:202.149.25.225 X: )
ความคิดเห็นที่ 43
4. ปลาทรงเครื่อง
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Epalzeorhynchos bicolor (Smith, 1931)
ชื่อพ้อง : Epalzeorhynchus bicolor (Smith, 1931)
Labeo bicolor Smith, 1931
ชื่อสามัญ : Redtail sharkminnow ,Red tailed shark ,Red-tailed labeo
ชื่อไทย : หางแดง ทรงเครื่อง ฉลามทรงเครื่อง ฉลามหางแดง
ถิ่นกำเนิดและแหล่งอาศัย : พบในประเทศไทย จากแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำโขง ปัจจุบันคาดว่าสูญพันธุ์ไปจากเจ้าพระยาแล้ว
รูปร่างลักษณะนิสัย : ขนาดโตเต็มที่ประมาณ 12 เซนติเมตร มีลำตัวสีดำหรือน้ำตาลเข้มหรือเทาเข้ม ครีบหางสีแดงจัดเป็นปลาสวยงามหาง่ายในท้องตลาด ลักษณะอื่นๆใกล้เคียงปลากาแดงทุกประการ
การเลี้ยงในระบบฟิชสปา : คุณสมบัติและการเลี้ยงไม่ต่างจากปลากาแดงครับ แต่ไม่ค่อยนิยมนำมาใช้ในฟิชสปาเนื่องจากมีราคาแพงกว่าและหายากกว่าปลากาแดงนั่นเอง
โดย: RoF (เจ้าบ้าน
) [4 ต.ค. 52 20:02] ( IP A:202.149.25.235 X: )
ความคิดเห็นที่ 45
อ่านเรื่องราวเข้มข้น ต่อได้ที่
ความรู้และข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับ ฟิชสปา (Fish Spa)ตอนที่2
https://www.pantown.com/board.php?id=2888&area=4&name=board6&topic=53&action=view
ขอบคุณครับ
โดย: RoF (เจ้าบ้าน
) [4 ต.ค. 52 21:22] ( IP A:202.149.25.234 X: )
คลิกที่นี่เพื่อกลับหน้าบ้าน