ความรู้และข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับ ฟิชสปา (Fish Spa)ตอนที่2
   ต่อเนื่องมาจากตอนแรกครับ

https://www.pantown.com/board.php?id=2888&area=4&name=board6&topic=52&action=view

ปลาที่ไม่เหมาะสมสำหรับการนำมาทำฟิชสปา

ตอนนี้เราก็ได้รู้จักรายละเอียดของปลาที่เหมาะสมสำหรับการนำมาทำฟิชสปาแบบไทยๆกันแล้วนะครับ แต่ก็ยังมีฟิชสปาแบบไทยๆอีกจำพวกหนึ่ง ที่เน้นความมักง่ายเข้าว่า ขอให้ลงทุนต่ำที่สุด หาปลาง่ายๆ ถูกๆตายก็เปลี่ยนใหม่ โดยยึดกฏข้อ 4 ในการเลือกปลาเพียงข้อเดียวเท่านั้นครับ ปลาเหล่านี้มีชนิดใดบ้าง เรามาดูกัน
1. ปลานิล
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Oreochromis niloticus niloticus (Linnaeus, 1758)
ชื่อพ้อง : Tilapia nilotious (Linnaeus, 1758)
Tilapia nilotica nilotica (Linnaeus, 1758)
Tilapia nilotica (Linnaeus, 1758)
Tilapia calciati Gianferrari, 1924
Sarotherodon niloticus (Linnaeus, 1758)
Perca nilotica Linnaeus, 1758
Oreochromis niloticus (Linnaeus, 1758)
Oreochromis nilotics (Linnaeus, 1758)
Oreochromis nilotica (Linnaeus, 1758)
Chromis niloticus (Linnaeus, 1758)
Chromis nilotica (Linnaeus, 1758) Chromis guentheri Steindachner, 1864
ชื่อสามัญ : Nile tilapia
ชื่อไทย : ปลานิล
การแพร่กระจาย : ทวีปอาฟริกาอาศัยอยู่ทั้งน้ำจืด น้ำกร่อย แต่สามารถปรับตัวให้อยู่ในทะเลได้เช่นกัน
ขนาดโตเต็มที่ : 60 เซนติเมตร
ปลานิลจัดอยู่ในอันดับเพอซิฟอร์ม (Order Perciformes) ครอบครัวซิคลิดดี้ (Family Cichlidae) หรือเรียกกันว่าพวก ซิคลิด เป็นปลากลุ่มที่มีฟันบนขากรรไกรครับ คงไม่มีใครไม่รู้จักปลาชนิดนี้ครับ ปลาต่างถิ่นอันดับต้นๆที่เข้ามายึดน่านน้ำไทยไว้หมดแล้วแทบทุกตารางเมตร ไม่เว้นแม้แต่ในทะเล ดังนั้น มันจึงเป็นปลาที่ราคาถูกแสนถูก หาง่าย ปลาพวกนี้กินง่ายอยู่ง่าย อดทน กินได้ทุกอย่าง ทั้งพืช สัตว์ ซากพืชซากสัตว์ แพลงค์ตอน รวมทั้งการการตอดตะใคร่น้ำตามขอบบ่อ จึงมีคนนำปลานิลขนาดเล็กมาใช้ในการทำฟิชสปามากมายครับ มากจนนึกไม่ถึงเลยทีเดียว แต่ข้อเสียที่อันตรายของปลานิลก็คือ มันเป็นปลาที่มีฟัน ดังนั้น ในการเข้ามาตอด มันจะใช้การกัด แทนที่จะใช้การตะไบ เหมือนปลาในกลุ่มที่ไม่มีฟันและมีปากดูดครับ บาดผลที่เกิดจากการกัด อาจก่อให้เกิดการอักเสบ และติดเชื้อภายหลังได้ ในต่างประเทศไม่นิยมไม่ได้รับการยอมเป็นอย่างยิ่งครับ เรียกได้ว่า เป็นปลาสปามักง่ายแบบไทยๆอันดับหนึ่งเลยทีเดียว

โดย: RoF (เจ้าบ้าน ) [4 ต.ค. 52 20:16] ( IP A:202.149.25.225 X: )
Add to Facebook  Add to Twitter  Add to Multiply  Add to Google  Add to Blogger  Add to Live
ความคิดเห็นที่ 1
   2. ปลาหมอครอสบรีด


ฟลาเวอร์ฮอร์น หรือ กัมฟา Cichlasoma spp. ปลาหมอครอสบรีดเท็กซัสแดง Herichthys spp.
เศษซากจากการปั่นราคาในยุคหัวโหนก มุกเยอะ เฟื่องฟู ไม่มีนักเลี้ยงปลาคนไหนไม่รู้จักปลาพวกนี้ครับ พอหมดยุค ใครๆก็เพาะได้ ปั่นราคาไม่ขึ้น ก็ไม่รู้จะเอาไปทำอะไรกัน ปล่อยทิ้งแม่น้ำก็ทำแล้ว สร้างความฉิบหายให้ระบบนิเวศน์ของเราไปตั้งเท่าไร เอามาขายหลอกเด็กถูกๆก็ทำแล้ว ก็เหลือสปาฟิชที่เข้ามาใหม่ในไทยนี่แหละครับ เป็นหมูรายต่อไป ว่าแล้ว ก็เอาลูกปลาเล็กๆ เกรดต่ำๆ ขายไม่ออก มาทำฟิชสปานี่แหละครับ ง่ายดี ข้อเสียเหมือนปลานิลทุกประการครับ เพราะเป็นปลาในกลุ่ม ซิคลิดเหมือนกัน เผลอๆ ฟันอาจจะน่ากลัวกว่าปลานิลด้วยซ้ำไปครับ เพราะพวกนี้เกิดจากการผสมพันธุ์จากปลาหมอซิคลิดหลายชนิดครับ เพื่อสร้างลักษณะแปลกใหม่ทางลัดป้อนตลาด บางครั้งก็มั่วซะจนหาต้นสายกลับไปไม่ได้แล้ว การกัดของมันสร้างบาดแผลให้กับผิวหนังของเราได้อย่างรุนแรง จนอดคิดไม่ได้ว่า ทำไมคนไทยบางพวกจึงได้มักง่ายกันขนาดนี้หนอ

โดย: RoF (เจ้าบ้าน ) [4 ต.ค. 52 20:40] ( IP A:202.149.25.234 X: )
ความคิดเห็นที่ 2
   3. ปลาหมูในสกุลโบเทีย ซินครอสซัส และยาซูฮิโคตาเกีย (Botia spp. , Syncrossus spp. & Yasuhikotakia spp. )
ปัจจุบันนี้ ปลาหมูในสกุลโบเทีย หลายชนิดของไทยและเพื่อนบ้าน ถูกเปลี่ยนสกุลใหม่ไปเป็นสกุล Yasuhikotakia อ่านว่า ยาชูฮิโคตาเกีย และ ซินครอสซัส (Syncrossus) โดยนักมีนวิทยาชื่อ Maurice Kottelat แต่ก็ไม่ได้รับความนิยมเท่าไรสำหรับคนไทย เพราะมันอ่านยาก เขียนยาก จำยาก อีกทั้งนักวิทยาศาสตร์ชาวไทยหลายคน มีความเห็นว่า ไม่มีความจำเป็นเพียงพอที่จะต้องไปเปลี่ยนชื่อสกุลปลาพวกนั้น ก็เลยเรียกติดปากกันว่า โบเทีย กันเป็นส่วนใหญ่ครับ ปลาในกลุ่มนี้ถูกจัดในกลุ่มไซปรินิดส์ (Order Cypriniformes) เช่นเดียวกับปลาในสกุลการานั่นแหละครับ จึงบ่งบอกได้ชัดเจนว่า มันไม่มีฟันบนขากรรไกร แต่มันถูกจัดอยู่คนละครอบครัวกับปลาการาครับ โดยปลาหมูจัดอยู่ในครอบครัว โคบิไทดี้ (Family Cobitidae) ปลาในครอบครัวนี้ ดำรงชีวิตคล้ายๆกับปลาในสกุลการาครับ คืออาศัยอยู่ในน้ำเชี่ยว ออกซิเจนสูง และหากินตามพื้น (bottom dweller) เหมือนๆกับปลาการาเช่นกัน ต่างกันที่มันเป็นปลากินเนื้อ และกินซากสัตว์ครับ ไม่ใช่ปลากินพืชเป็นหลัก ของชอบคือ แมลงน้ำ ตัวอ่อนแมลง สัตว์ตัวเล็กๆที่อาศัยพื้นท้องน้ำ สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังขนาดเล็กเช่น ลูกกุ้ง และ หอยน้ำจืดขนาดเล็กครับ
ปลาในสกุลโบเทีย มีชื่อไทยง่ายๆ (หมูๆ) ว่า ปลาหมู ครับ หลายคนคงรู้จัก ปลาหมูในประเทศไทย และเพื่อนบ้านใกล้เคียงมีหลายสิบชนิดครับ สาเหตุที่คนไทยเรียกปลาชนิดนี้ว่าปลาหมู เป็นชื่อเรียกที่เหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับปลากลุ่มนี้ครับ เพราะปลาหมู มีอวัยวะพิเศษชิ้นหนึ่งซึ่งเรียกว่า สับออบิทอลสปายน์ (suborbital spine) อวัยวะชิ้นนี้นั้น เป็นกระดูกแข็งๆแหลมคมมากๆ (razor-sharp spines) ที่วางซ่อนอยู่ใต้ดวงตาของปลาทั้งสองข้างครับ ปลาหมูสามารถกางกระดูกแหลมๆอันนี้ออกมาเพื่อป้องกันตัวยามตกใจ หรือเวลาโดนรุกราน มองดูคล้ายๆ เขี้ยวหมูป่า ยังไงอย่างงั้น นอกจากจะมีความแหลมคมมากเป็นพิเศษแล้ว ยังมีพิษที่ทำให้ปวดแผลมากอีกด้วยครับ ถ้าเราถูกมันตำหรือยักเอา มีอยู่ช่วงหนึ่งครับ ที่ปลาในสกุลการ่า และปลาปากดูดทั้งหลายขาดแคลนจนสปาชื่อดังแห่งหนึ่ง ไม่สามารถหาปลาเหล่านั้นมาได้ แล้วจะทำยังไงล่ะครับ เงินก็อยากได้ ปลาก็หาไม่ได้ ปกติก็หลอกขายของอยู่แล้ว จะหลอกต่อไปคงไม่เป็นไร ก็เลยเอาปลาหมูลายเมฆพม่า ตัวจิ๋วๆซึ่งส่งมาพร้อมกับการา เอสพีพม่า พอดิบพอดี เอามาขายเป็นปลาสปาให้ลูกค้าซะเลย เนื่องจาก เป็นปลาอาศัยพื้นท้องน้ำเหมือนการา และรูปร่างปลาหมูขนาดเล็กชนิดที่มีสีคล้ำๆนั้น มองด้านบนหรือแม้แต่มองด้านข้างโดยผู้ที่ไม่มีความรู้เรื่องปลา ก็ไม่อาจดูออกว่า ปลาอะไรเป็นอะไร ดูคล้ายๆกันไปหมดครับ ปลาหมูนอกจากจะมีเขี้ยวแหลมคม มีพิษแล้ว ยังมีจงอยปากแหลมๆซึ่งใช้ในการจิกกินเนื้อหอยได้อีก ไม่ได้มีปากแบบดูดเหมือนปลาตัวอื่นๆนะครับ รู้อย่างนี้แล้ว ใครที่โชคร้าย ได้ปลาพวกนี้ไปก็ควรรีบๆตักออกนะครับ ก่อนจะโดนลูกค้าฟ้องร้องครับ ไม่คุ้มเลยจริงๆ ดังนั้นเรามารู้จักพวกมันกันดีกว่าครับ

โดย: RoF (เจ้าบ้าน ) [4 ต.ค. 52 20:52] ( IP A:202.149.25.234 X: )
ความคิดเห็นที่ 3
   ปลาหมูที่พบเห็นบ่อยๆในตลาดปลาสวยงามของเรามีหลายชนิดครับ แต่ชนิดที่สามารถนำหลอกขายทำสปาฟิชกันได้ต้องเป็นชนิดที่พบง่าย และราคาถูกเป็นหลัก ลองมาทำความรู้จักกันคร่าวๆก็พอครับ เช่น

ปลาหมูหางแดง
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Yasuhikotakia modesta (Bleeker, 1864)
ชื่อพ้อง (synonym) : Botia modesta, Botia rubrippinis
ชื่อสามัญ : Red-finned Loach, Blue Botia, Redtail Botia
ชื่อไทย : ปลาหมูขาว, ปลาหมูหางแดง, ปลาหมูหางเหลือง , หมูเหลือง , หมูมัน
การแพร่กระจาย : เวียดนาม กัมพูชา ลาว และไทย
ขนาดโตเต็มที่ : 25 เซนติเมตร

โดย: RoF (เจ้าบ้าน ) [4 ต.ค. 52 20:58] ( IP A:202.149.25.234 X: )
ความคิดเห็นที่ 4
   ปลาหมูลาย
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Syncrossus helodes (Suavage, 1876)
ชื่อพ้อง : Botia helodes (Suavage, 1876)
ชื่อสามัญ : Banded Tiger loach, Tiger Botia
ชื่อไทย : หมูลาย , หมูข้างลาย, หมูท่อก
การแพร่กระจาย : เวียดนาม ไทย ลาว กัมพูชา และตอนเหนือของคาบสมุทรมาเลย์
ขนาดโตเต็มที่ : 30 เซนติเมตร

โดย: RoF (เจ้าบ้าน ) [4 ต.ค. 52 20:59] ( IP A:202.149.25.234 X: )
ความคิดเห็นที่ 5
   ปลาหมูม้าลายอินเดีย
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Botia striata (Gunther, 1868)
ชื่อพ้อง : Botia striatus, Botia striata kolhapurensis
ชื่อสามัญ : Zebra loach, Candystripe loach
ชื่อไทย : หมูอินเดีย หมูม้าลาย
การแพร่กระจาย : ลำธารบนภูเขาของรัฐ Maharashtra และภูเขาทางตะวันตกในอินเดีย
ขนาดโตเต็มที่ : 10 เซนติเมตร

โดย: RoF (เจ้าบ้าน ) [4 ต.ค. 52 21:02] ( IP A:202.149.25.241 X: )
ความคิดเห็นที่ 6
   ปลาหมูลายเมฆพม่า
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Botia kubotai Kottelat, 2004
ชื่อสามัญ : Polka-Dot Loach, Marble Loach, Cloud Botia, Angelicus Loach, Botia "Angelicus", Burmese Border Loach
ชื่อไทย : หมูลายเมฆ หมูลายเมฆพม่า
การแพร่ะกระจาย: ชายแดนไทยและพม่า
ขนาดโตเต็มที่ : 8-13 เซนติเมตร

โดย: RoF (เจ้าบ้าน ) [4 ต.ค. 52 21:10] ( IP A:202.149.25.241 X: )
ความคิดเห็นที่ 7
   ปลาหมูค้อ
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Yasuhikotakia morleti (Tirant, 1885)
ชื่อสามัญ : Skunk loach, Hora's loach.
ชื่อพ้อง : Botia morleti, Botia horae
ชื่อไทย : หมูค้อ หมูคอก หมูก้อ
การแพร่กระจาย : กัมพูชา ลาว และไทย
ขนาดโตเต็มที่ : 10 เซนติเมตร

โดย: RoF (เจ้าบ้าน ) [4 ต.ค. 52 21:18] ( IP A:202.149.25.234 X: )
ความคิดเห็นที่ 8
   ปลาหมูโยโย่
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Botia almorhae (Gray, 1831)
ชื่อพ้อง : Botia lohachata
ชื่อสามัญ : Yoyo Loach, Almorha Loach, Pakistani Loach, Reticulated loach
ชื่อไทย : หมูโยโย่
การแพร่กระจาย : อินเดีย เนปาล บังคลาเทศ
ขนาดโตเต็มที่ : 15 เซนติมตร

โดย: RoF (เจ้าบ้าน ) [4 ต.ค. 52 21:19] ( IP A:202.149.25.241 X: )
ความคิดเห็นที่ 9
   ปลาหมูสัก
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Yasuhikotakia lecontei (Fowler, 1937)
ชื่อสามัญ : Silver Loach, Yellow-finned Loach.
ชื่อพ้อง : Botia lecontei (Fowler, 1937)
ชื่อไทย : หมูสัก
การแพร่กระจาย : เวียดนาม กัมพูชา ลาว ไทย
ขนาดโตเต็มที่ : 15 เซนติเมตร

โดย: RoF (เจ้าบ้าน ) [4 ต.ค. 52 21:23] ( IP A:202.149.25.241 X: )
ความคิดเห็นที่ 10
   หมูม้าลายทองพม่า
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Botia histrionica (Blyth, 1860)
ชื่อสามัญ : Burmese Loach, Golden Zebra Loach, Silver Striped Loach
ชื่อไทย : หมูพม่า หมูอินเดีย หมูม้าลายทองพม่า
การแพร่กระจาย : อินเดีย พม่า ไทย
ขนาดโตเต็มที่ : 13 เซนติเมตร

โดย: RoF (เจ้าบ้าน ) [4 ต.ค. 52 21:34] ( IP A:202.149.25.234 X: )
ความคิดเห็นที่ 11
   4. ปลาแฟนซีคาร์พ (Cyprinus carpio carpio Linnaeus, 1758) และปลาทอง (Carassius auratus (Linnaeus, 1758))
ปลาคาร์พ และปลาทอง มีถิ่นกำเนิดจากประเทศจีนครับ ดำรงชีวิตด้วยการกินอาหารที่หลากหลายตามพื้นท้องน้ำ และกลางน้ำ เช่นพวก ซากพืชซากสัตว์ พืชน้ำ ตัวอ่อนแมลง สัตว์น้ำขนาดเล็กฯลฯ ปลาคาร์พและปลาทอง ต่างก็จัดอยู่ในกลุ่มไซปรินิดส์ (Order Cypriniformes) เช่นกันครับ บ่งบอกได้ชัดเจนว่า มันไม่มีฟันบนขากรรไกร แต่ปากของปลาพวกนี้ ไม่ได้เป็นปากปลาแบบดูดแต่ประการใด เหมือนปลาในกลุ่มแรก นอกจากนั้น ยังเป็นปลาที่กินอาหารเยอะ ขี้ปลาและของเสียเยอะ ตลอดจนขับเมือกออกมาเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน ที่สำคัญคือสามารถเคี้ยวกินปลาการา ขนาดเล็กๆ ในตู้เดียวกันได้อย่างง่ายดาย โดยเฉพาะปลาคาร์พครับ เหตุผลง่ายๆที่มีสปาบางเจ้านำปลาพวกนี้มาใส่ในตู้สปา ก็คือ ต้องการให้ปลามันดูเยอะๆแน่นๆตู้เข้าไว้เพียงอย่างเดียวครับ ถึงแม้ว่าปลาพวกนี้ จะเข้ามาตอดเราก็ตาม แต่ข้อเสียของมัน ตลอดจนคุณสมบัติของมันถือว่า ไม่เหมาะสมสำหรับการนำมาทำฟิชสปาเท่าใดนักครับ บางเจ้าหนักกว่านั้น คือ ใช้ลูกปลาคาร์พเหยื่อสีเงิน เกรดต่ำ หรือที่ในตลาดปลาเรียกว่า ปลาไน นำมาหลอกเป็นการ่า กันเลยก็มี ปลาก็หาง่าย ราคาถูก เปลี่ยนชื่อซะหน่อยก็ขายง่าย ได้ราคาแพงหลายเท่า ฮิตตามกระแสไปวันๆก็พอ...

โดย: RoF (เจ้าบ้าน ) [4 ต.ค. 52 21:45] ( IP A:202.149.25.241 X: )
ความคิดเห็นที่ 12
   5. ปลาในกลุ่มออกลูกเป็นตัว (livebearer)
จัดอยู่ในอันดับไซปริโนดอนทิฟอร์ม(Order Cyprinodontiformes) มีลักษณะเด่นคือ ขยายพันธุ์ได้ง่ายมาก เพราะผสมพันธุ์ง่าย บ่อย และออกลูกเป็นตัวครับ ปลาในกลุ่มนี้ คนไทยน้อยคนที่ไม่รู้จักครับ เอ่ยชื่อมาย่อมมีคนรู้จักแน่นอน อย่างน้อย 1 ชนิด เช่น
ปลาหางนกยูง Poecilia reticulata Peters, 1859
ปลาสอดหางดาบ Xiphophorus hellerii Heckel, 1848
ปลามอลลี่ Poecilia sphenops Valenciennes, 1846
ปลาเซลฟินมอลลี่ Poecilia velifera (Regan, 1914)
ปลาแพลตตี้ Xiphophorus maculatus (Günther, 1866)
ปลาวาเรียตัส Xiphophorus variatus (Meek, 1904)
ปลาในกลุ่มนี้มีถิ่นกำเนิดจากอเมริกาใต้ก็จริง แต่ก็เข้ามาในประเทศไทยเป็นปลาสวยงามนานแล้ว เกษตรกรของเราเพาะเลี้ยงได้มากมายมหาศาล จนสามารถส่งกลับออกไปขายต่างประเทศได้แล้วมานานแสนนาน ราคาปลาพวกนี้จึงถูกมากๆ จนมีเกรดที่นำมาทำเป็นปลาเหยื่อ หรือปลาคัดทิ้ง ลองนึกภาพ บ่อช้อนปลาตามงานวัดได้ป่าวครับ ที่เอาปลาสีๆตัวเล็กๆมาใส่ให้คนช้อนด้วยกระชอนกระดาษกันนั่นแหละครับ เพราะมันราคาถูกมาก หาง่าย ดังนั้น สปามักง่ายบางแห่ง ก็มักจะเอาปลาพวกในยัดใส่ตู้สปาของเค้าด้วย เพื่อให้มันดูแน่น มีปลาเยอะ สีสวยๆ น่านั่ง ปลาพวกนี้ถึงแม้ว่าจะเข้าตอดคนจริง แต่ก็ไม่ได้มีปากแบบดูด แถมยังมีฟันซี่เล็กๆบนขากรรไกรอีกด้วยครับ เห็นตัวเล็กๆอย่างงั้นก็เถอะครับ การเอาปลาพวกนี้มาปนนั้น ไม่มีเหตุผลอื่นใดมากไปกว่าต้องการลดต้นทุน หรือหาปลาสปาดีๆไม่ได้นั่นเองครับ

โดย: RoF (เจ้าบ้าน ) [4 ต.ค. 52 22:11] ( IP A:202.149.25.225 X: )
ความคิดเห็นที่ 13
   โรคปลาและการป้องกันดูแลรักษา
ในการทำฟิชสปานั้น ก็คือการเลี้ยงปลารูปแบบหนึ่งครับ ผมขอเรียกมันง่ายๆเลยว่า มันคือการเลี้ยงปลาดูดเท้า เพราะอยากให้คนเข้าใจว่า มันมีชีวิต ไม่ใช่เป็นเครื่องมือในการทำสปาเพียงอย่างเดียว ดังนั้น เราต้องใส่ใจในความมีชีวิตของมันด้วยครับ ซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดพอสมควร โดยเฉพาะเรื่องโรคปลา ปลาสปาทุกชนิดถึงแม้ว่าเลี้ยงในสภาพปกติ โดยจัดสภาพแวดล้อมในตู้ให้ใกล้เคียงธรรมชาติที่สุด และอัตราความหนาแน่นที่เหมาะสมที่สุด ยังหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย ที่ปลาจะป่วยเป็นโรคต่างๆได้ แต่ในเมื่อเรานำมาเลี้ยงในระบบสปา ซึ่งมีความแตกต่างจากในธรรมชาติอย่างยิ่งยวด ทั้งความหนาแน่นสูง อุณหภูมิที่สูงและเปลี่ยนแปลงบ่อย การเลี้ยงในสภาพตู้ปลาโล่งๆที่ไม่เหมือนธรรมชาติที่เขาอาศัยอยู่เลยแม้แต่น้อยนั้น ย่อมทำให้โอกาสที่ปลาจะเกิดโรคนั้นสูงขึ้นตามไปด้วยครับ เนื่องจากปัจจัยหลายๆอย่าง ทั้งคุณภาพน้ำ และความเครียดของปลา และยิ่งในตู้สปาที่ไม่มีการวางระบบบำบัดน้ำที่ดี และไม่มีการทำความสะอาดร่างกายผู้ใช้ก่อนลงให้ดีพอ เช่น ใช้แค่ผ้าเช็ด ย่อมทำให้คุณภาพน้ำแย่ลงไปอีกและเพิ่มโอกาสการเกิดโรคต่างๆหลายเท่าตัว

โดย: RoF (เจ้าบ้าน ) [4 ต.ค. 52 22:13] ( IP A:202.149.25.225 X: )
ความคิดเห็นที่ 14
   หัวใจสำคัญในการป้องกันรักษาโรคปลาในการทำฟิชสปานั้น ก็คือ เราจะไม่มีการใส่ยาและสารเคมีใดๆลงไปในบ่อสปาของเราเด็ดขาดครับ ไม่ว่าจะเป็นยาปฏิชีวนะของปลา ของคน หรือสารเคมีและยาสำหรับปลาใดๆ เหตุผลก็คือ ข้อแรก ในการใช้ยาปฏิชีวนะกับคนนั้น เราจะไม่มีการใช้พร่ำเพรื่อโดยเด็ดขาด อีกทั้งต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์ และเภสัชกร ไม่ใช่ว่าใครก็สามารถให้ยาปฏิชีวนะกับคนได้ครับ เพราะถ้าเกิดการแพ้ยา หรือการดื้อยาตามมา มันยากนักที่คนทำธุรกิจฟิชสปาทั่วไปจะแก้ไขหรือรับผิดชอบได้ ส่วนยาที่ใช้สำหรับปลานั้นเป็นยาและสารเคมีที่คุณภาพต่ำกว่าที่ใช้กับคน ส่วนใหญ่มีผลข้างเคียงต่อคน และยิ่งกว่านั้น บางตัวยังเป็นสารก่อมะเร็งขั้นรุนแรง เช่น ยาเหลืองญี่ปุ่น และ มาลาไคท์กรีน เป็นต้น การที่เราเอายาต่างๆใส่ลงไปในอ่างสปา แล้วให้คนลงไปแช่นั้น คนก็จะได้รับยาและสารเคมีดังกล่าวโดยตรงครับ ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายมาก ไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง ผิดหลักสุขลักษณะของสปา ผมมองต่อไปว่า เมื่อใด ที่มีผู้ได้รับอันตรายจากการใช้ยาและสารเคมีในสปา ฟ้องร้องกันเกิดขึ้นจนตีประเด็นเป็นเรื่องราวใหญ่โต เมื่อนั้น ฟิชสปาในไทยจะถูกมองว่าเป็นสิ่งที่สกปรก ไม่ควรทำ ไม่ควรใช้บริการ และเมื่อใด ที่กระทรวงสาธารณะสุข หรือแพทย์ออกมาให้ข้อมูลซ้ำแล้วล่ะก็ เมื่อนั้น สปาปลาของไทยอาจถึงคราวอวสานได้ครับ ดังนั้น เราควรทำให้ถูกต้องเสียแต่เนิ่นๆดีกว่า โดยการไม่ใช้ยาและสารเคมีใดๆลงในตู้ปลาสปาของเรานะครับ และหมั่นรักษาความสะอาดอยู่เสมอด้วยครับ

โดย: RoF (เจ้าบ้าน ) [4 ต.ค. 52 22:24] ( IP A:202.149.25.225 X: )
ความคิดเห็นที่ 15
   ในการรักษาโรคปลานั้น เนื่องจากเราไม่สามารถทำได้ในตู้สปาของเราแล้ว ดังนั้น เราจะมีวิธีการป้องกันโรคได้อย่างไร การเกิดโรคปลานั้น ประกอบด้วยปัจจัย 3 อย่าง ก็คือ ตัวปลา สิ่งแวดล้อม และเชื้อโรค ครับ
ตัวของปลาเอง ปลาที่แข็งแรง สุขภาพดี ก็จะมีภูมิต้านทานโรคได้ดีตามไปด้วยครับ ถึงแม้ว่า ปลาตัวดังกล่าวจะถูกจับมาอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ดี เอื้ออำนวยต่อการเกิดโรคและขยายพันธุ์ของเชื้อโรคต่างๆก็ตาม จะเห็นได้ว่า ปลาแต่ละตัวนั้น ถึงแม้จะอยู่ในที่เลี้ยงเดียวกัน ก็อาจไม่จำเป็นต้องป่วยพร้อมๆกันหมดทุกตัว บางตัวตายเร็ว บางตัวตายช้าต่างกัน ความแตกต่างอันนี้ก็เกิดจากปัจจัยในเรื่องตัวปลานั่นเองครับ ดังนั้น การเลือกซื้อปลา ก็ควรดูตรงจุดนี้ด้วยนะครับ ปลาที่อ้วนท้วนแข็งแรง กระฉับกระเฉง ว่ายน้ำปกติ ไม่แสดงอาการแปลกๆเช่น หัวโตตัวลีบ ว่ายน้ำลอยหัว ว่ายสะบัดๆผิดจังหวะ หรือมีปรสิตหรือสิ่งผิดปกติเกาะตามตัวเช่น จุดขาวๆ มีบาดแผลบวมช้ำเลือด มีอาการเปื่อยยุ่ย ขับเมือกมากผิดปกติเป็นต้น ที่เจอบ่อยๆพวกนี้ก็ไม่ควรนำมาใช้ครับ

โดย: RoF (เจ้าบ้าน ) [4 ต.ค. 52 22:28] ( IP A:202.149.25.225 X: )
ความคิดเห็นที่ 16
   สิ่งแวดล้อม ในที่นี้ก็คือสถานที่เลี้ยงหรือทำฟิชสปาของเราครับ สิ่งแวดล้อมนั้น แบ่งได้ง่ายๆสองแบบก็คือ ดี และไม่ดี สิ่งแวดล้อมที่ดี ก็หมายถึงสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการดำรงชีวิตของปลา มากกว่า การดำรงชีวิตของเชื้อโรคครับ ยิ่งมากเท่าไรยิ่งดี ส่วนสิ่งแวดล้อมไม่ดีก็หมายถึงในทางตรงกันข้ามกัน สิ่งแวดล้อมสำหรับปลานั้น ก็หมายถึง คุณภาพน้ำ ซึ่งส่งผลโดยตรงมาจากระบบกรองระบบบำบัดน้ำและระบบฆ่าเชื้อโรค ระบบที่ดี ก็จะกำจัดของเสียและลดเชื้อโรคได้ดีตามไปด้วย ตลอดจนอุณหภูมิควรจะคงที่ ไม่แกว่งเกิน 5 องศาเซลเซียสในแต่ละวันครับ สำหรับอุณหภูมิที่ใช้ในสปาส่วนใหญ่ก็ควรอยู่ที่ 30 องศาเซลเซียส กำลังดีสำหรับทั้งคนและปลา ดังนั้น ในการลงทุนครั้งแรก ก็ควรทำในเรื่องสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมถูกต้องไปเลย เพื่อตัดปัญหาที่จะตามมาครับ

โดย: RoF (เจ้าบ้าน ) [4 ต.ค. 52 22:31] ( IP A:202.149.25.235 X: )
ความคิดเห็นที่ 17
   เชื้อโรค ก่อนอื่นเลยครับ อยากให้เราทำความเข้าใจกันก่อนว่า ไม่มีที่ใดที่ไม่มีเชื้อโรค และการกำจัดเชื้อโรคให้หมดไป 100 เปอร์เซนต์ในสภาพการเลี้ยงปลาหรือทำตู้ฟิชสปานั้น เป็นไปไม่ได้ครับ ต่อให้ใส่ยาดีแค่ไหนลงไปก็ตาม ดังนั้น ประเด็นสำคัญ จึงไม่ใช่อยู่ที่ว่า เราจะทำอย่างไรจึงจะกำจัดเชื้อโรคไปให้หมดร้อยเปอร์เซนต์ แต่เราควรกำจัดให้ได้มากที่สุดบนพื้นฐานของความเป็นไปได้และความเหมาะสมต่อทั้งตัวปลาเอง และผู้ใช้บริการสปาของเราครับ นอกจากการลดเชื้อโรคแล้ว การที่เราไปใส่ใจในปัจจัย 2 ข้อแรกให้ดีขึ้น หรืออยู่ในระดับที่สมดุลกันทั้ง 3 ข้ออย่างที่ควรจะเป็น จึงจะเป็นแนวทางที่ถูกต้องสำหรับการป้องกันรวมทั้งการรักษาโรคปลาใดๆก็ตามครับ

โดย: RoF (เจ้าบ้าน ) [4 ต.ค. 52 22:34] ( IP A:202.149.25.235 X: )
ความคิดเห็นที่ 18
   เมื่อเกิดโรคและความผิดปกติขึ้นควรทำอย่างไร
เมื่อปลาเป็นโรคใดๆก็ตามจนถึงจุดๆหนึ่ง มันก็จะแสดงอาการผิดปกติออกมา ซึ่งเราเรียกว่า อาการของโรคให้เราเห็นครับ สิ่งที่เราควรทำก็คือ การแยกปลาตัวที่ป่วยออกมา ไปรักษาในตู้ต่างหากที่เราเรียกว่า ตู้พยาบาล ซึ่งควรมีไว้ประจำสปาของเราครับ ไม่ควรปล่อยไว้ให้มันป่วยหนักจนตายแล้วค่อยตักทิ้ง เพราะการทำเช่นนั้น ไม่เป็นผลดีต่อคุณภาพน้ำ และอาจเป็นการเพิ่มปริมาณเชื้อโดยที่เราไม่ได้ตั้งใจ
ตู้พยาบาลปลานั้น พูดไปก็ลำบากใจครับ เพราะมันต้องมีขนาดเท่ากันหรือใหญ่กว่าตู้สปาของเราที่เรามีอยู่ จึงจะสามารถรับกับสถานการณ์ขั้นรุนแรงสูงสุด นั่นก็คือ การป่วยหมดทั้งบ่อได้ครับ ซึ่งก็ต้องเป็นการลงทุนอีก แต่ผมแนะนำว่า ควรมีไว้สักขนาดประมาณ 2 ฟุต ก็พอครับ ระบบกรองใช้กรองฟองน้ำต่อกับปัมพ์ลมสักอันเตรียมไว้ก็พอ เมื่อปลาตัวใดแสดงอาการ ก็อย่านอนใจ รีบตักมาเลี้ยงพยาบาลไว้ก่อนในตู้นี้ แล้วดูอาการเพื่อวิเคราะห์หาการรักษาที่ถูกต้องต่อไป

โดย: RoF (เจ้าบ้าน ) [4 ต.ค. 52 22:38] ( IP A:202.149.25.225 X: )
ความคิดเห็นที่ 19
   โรคที่พบบ่อยๆ
1. โรคจุดขาว หรือ โรคอิ๊ค
โรคจุดขาวนั้น เกิดจาก ปรสิตชนิดหนึ่ง ที่มีชื่อว่า Ichthyophthirius multifiliis ปรสิตชนิดนี้อยู่ในกลุ่ม ciliated protozoan คือมีขนรอบๆเซลล์ของมัน เราจะเรียกชื่อโรคที่เกิดจากเชื้อตัวนี้สั้นๆ ง่ายๆว่า อิ๊ค (Ich, Ick) หรือ โรคจุดขาว (white spot disease) นั่นเองครับ เชื้ออิ๊คนี่ มีขนาดประมาณ 0.5-1 มม. เลยทีเดียว ซึ่งเป็นขนาดที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่าชัดเจนครับ ซึ่งระยะดังกล่าวที่มองเห็นได้นี่ เป็นระยะโตเต็มวัยของเชื้ออิ๊ค ซึ่งจะพบอยู่บนร่างกายของปลาแทบทุกส่วนเลยครับ มักจะเกิดในฤดูหนาว ฤดูฝน และช่วงอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย
อาการของปลาที่เป็นโรค
เชื้ออิ๊คนั้น เมื่อโตเต็มวัยจะเข้าเจาะทำลายเนื้อเยื่อปลาโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นผิวหนังในทุกส่วน ครีบ ดวงตา และซี่เหงือก ดังนั้น อาการที่ปลาจะแสดงออกมาก็คือ การหายใจหอบ ถี่ขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน หรือ แสดงอาการลอยหัว ขึ้นมาหายใจเหนือผิวน้ำ เนื่องจากเหงือกถูกทำลายไป ทำให้มีพื้นที่ผิวในการแลกเปลี่ยนก๊าซน้อยลง ผลคือทำให้ปลาต้องหายใจถี่ขึ้นและต้องการอากาศมากขึ้นนั่นเอง นอกจากนั้นยังบาดเจ็บจากบาดแผลที่เกิดจากปรสิตเล่นงานโดยตรงด้วยครับ ปลาจะมีอาการซึม สีซีด ตอบสนองต่อสิ่งรอบข้างน้อยลง ไม่สนใจอาหาร ไม่กระตือรือร้นในแบบที่เคยเป็น ปลาจะแสดงอาการว่ายน้ำสั่นๆ สะบัดๆ ชอบเอาตัวถูกับพื้นตู้ หรือวัสดุต่างๆภายในตู้บ่อยผิดสังเกตุ เนื่องจากพยายามขจัดอิ๊คให้หลุดออกไปนั่นเอง เมื่อปลามีอาการหนักขึ้น เชื้อเจริญมากขึ้น เราจะสามารถมองเห็นเป็นจุดขาวๆ คล้ายผงแป้ง กระจายอยู่ทั่วตัวได้อย่างชัดเจน

โดย: RoF (เจ้าบ้าน ) [4 ต.ค. 52 22:44] ( IP A:202.149.25.235 X: )
ความคิดเห็นที่ 21
   วิธีการรักษา
สำหรับการรักษานั้นแบ่งได้สองแบบครับ ก็คือ รักษาในตู้สปาเลย หรือ แยกรักษา เนื่องจากโรคจุดขาวนั้น เวลาเกิดขึ้น ก็จะเกิดกับปลาทุกตัวแทบจะพร้อมๆกันทั้งตู้ครับ ดังนั้น การย้ายที่อาจเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยสำหรับบางท่าน เราจึงต้องทำการรักษาในตู้สปานั่นแหละครับ แบบแรกคือ การรักษาในตู้ฟิชสปาของเราเลย การรักษาจะไม่มีการใช้ยาและสารเคมีใดๆดังที่บอกไปข้างต้นครับ แต่เราใช้การปรับสภาพแวดล้อมให้เชื้ออ่อนแอลง และกำจัดตัวอ่อนของเชื้อครับ ก่อนอื่นก็ปิดบริการตู้ดังกล่าวก่อน และเริ่มทำการรักษาโดยการเพิ่มอุณหภูมิน้ำให้สูงขึ้นประมาณ 32 องศาเซลเซียสและรักษาให้คงที่ไว้ตลอด 24 ชั่วโมง เช่นการปิดฝาตู้ด้วยแผ่นอครuลิค หรือ ฟิวเจอร์บอร์ดเป็นต้น การทำเช่นนี้จะทำให้เชื้ออ่อนแอและอายุสั้นลงครับ ต่อไปก็คือการเปลี่ยนถ่ายน้ำบ่อยๆ หรือการเปิดโอเวอร์โฟลว์ ให้ได้วันละประมาณ 20-30 เปอร์เซนต์ และซักใยแก้วเช้าเย็น วิธีการนี้จะเป็นการลดปริมาณตัวอ่อนของเชื้อได้ครับ ดังนั้น เมื่อเราทำทั้งสองอย่างร่วมกัน ก็จะเป็นการลดความแข็งแรงและปริมาณของเชื้อไปพร้อมๆกันด้วยครับ ทำจนกว่าปลาจะหายป่วยครับ

แบบที่สอง ก็คือการใช้ยาและสารเคมีช่วย แน่นอนว่า ย่อมได้ผลดีกว่าแบบแรก แต่คุณต้องย้ายปลาทั้งหมดไปยังตู้พยาบาลที่เหมาะสม ขนาดพอๆกันหรือใหญ่กว่าครับ นอกจากเราจะใช้พื้นฐานการรักษาเหมือนข้อแรกแล้ว เราจะใช้ยาช่วยด้วยเพื่อการรักษาที่ดีขึ้น ยาที่เหมาะสมที่สุดมีชื่อว่า RoF anti Ich & Fungus ครับ เนื่องจากเป็นยาที่ไม่มีมาลาไคท์กรีนและฟอร์มาลีนซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งเจือปนครับ วิธีการใช้มีบอกไว้ข้างขวดและในเวปที่แนะนำไว้ชัดเจน

โดย: RoF (เจ้าบ้าน ) [8 ต.ค. 52 21:28] ( IP A:125.24.35.69 X: )
ความคิดเห็นที่ 22
   2 โรคจากแบคทีเรีย
“แบคทีเรียมีอยู่ทุกที” ทุกๆท่านคงเคยได้ยินประโยคนี้กันมาบ้างครับ ดังนั้น เมื่อใดที่ปลาเราเกิดบาดแผล จากอะไรก็ตาม อ่อนแอจากอะไรก็ตาม แบคทีเรีย ย่อมเข้าเล่นงานได้ทุกเวลา ทั้งภายนอกร่างกายและหนักหน่อยก็เข้าสู่ระบบภายในร่างกายครับ จะเห็นได้ว่า เป็นโรคที่พร้อมจะเกิดได้ทุกที่ ทุกเวลา ทุกฤดู ถ้าปลาเราอ่อนแอ สภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม บางทีจะแนะนำให้ลูกค้าสปาของเขา ใส่ยาปฏิชีวนะกันไว้เลยตลอดเวลา เช่น ทีซีมัยซิน คอลแรมเฟนิคอล เตทตร้าซัยคลิน ฯลฯ เพื่อลดปัญหาปลาป่วยที่เกิดขึ้นตลอดเวลา เนื่องจากระบบกรอง ระบบฆ่าเชื้อโรค หรือตู้สปาสำเร็จรูปของเขานั้น ไม่อาจทำให้คุณภาพน้ำ และสภาพแวดล้อมดีพอที่จะไม่ทำให้ปลาป่วยได้ ผลที่ตามมาก็อย่างที่อธิบายไปแล้วข้างต้นครับว่า เราไม่มีสิทธิ์จะให้ลูกค้าเราแช่ยาปฏิชีวนะ เพราะเราไม่ใช่แพทย์หรือเภสัชกรครับ นอกจากนั้น การใส่ยาปฏิชีวนะในตู้เลี้ยงยังเป็นการทำลายจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ในระบบกรองชีวภาพของเราด้วยครับ

โดย: RoF (เจ้าบ้าน ) [8 ต.ค. 52 21:36] ( IP A:125.24.35.69 X: )
ความคิดเห็นที่ 23
   อาการของโรคจากแบคทีเรีย หลักๆแล้ว ปลาก็จะแสดงอาการเปื่อย ยุ่ย ช้ำเลือด ตกเลือด บวมแดง อักเสบ มีเมือกขาวขุ่นตามตัว หรืออาจจะแสดงอาการหนักๆเช่นท้องบวม เกล็ดตั้ง ตาโปน เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่ก็เกิดจากแบคทีเรียหรือการแทรกซ้อนของแบคทีเรียกันทั้งนั้นครับ เราต้องแยกปลาดังกล่าวมารักษาในตู้พยาบาล แล้วทำการแช่ยาปฏิชีวนะ เช่น ออกซีเตทตร้าซัยคลิน เตทตร้าซัยคลิน หรือ อิริโธมัยซิน ในอัตราส่วน 30 มิลลิกรัม ต่อลิตร และ เกลือแกง 0.5 กรัม ต่อลิตร แช่ไว้โดยเปลี่ยนน้ำและยา 30 เปอร์เซนต์ทุกๆสามวัน จนกว่าปลาจะหายดี และพักปลาไว้สัก 1 อาทิตย์ เพื่อให้หมดฤทธิ์ยา แล้วจึงนำปลากลับลงสู่ตู้สปาของเราได้ครับ จะเป็นวิธีการที่ถูกต้องและเหมาะสมที่สุด

โดย: RoF (เจ้าบ้าน ) [8 ต.ค. 52 21:39] ( IP A:125.24.35.69 X: )
ความคิดเห็นที่ 24
   3.อาการจากเชื้ออื่นๆ
ส่วนใหญ่ ก็เช่น พยาธิและโปรโตซัวร์ภายในร่างกาย ปรสิตพวกนี้ก็มีอยู่ในตัวปลาอยู่แล้วเป็นส่วนใหญ่ครับ อาการคือผอมหัวโต ขี้เป็นเส้นขาว กินอาหารน้อย จะแสดงอาหารหนัก ก็ต่อเมื่อปัจจัยอีกสองข้อ ลดลงในทางที่ไม่ดี บางครั้ง การเป็นโรคพวกนี้ อาจจะรักษายาก ไม่คุ้มค่า บางท่านจึงเลือกที่จะกำจัดปลาทิ้งไป หรือแยกไว้โดยการทำการรักษาพอเป็นพิธี การรักษาจะทำได้โดยการแช่ด้วย ยาเมโทรนิดาโซล 20 มกต่อลิตร ร่วมกับมีเบนดาโซล 20 มก ต่อลิตร เปลี่ยนน้ำและยา 50 เปอร์เซนต์ ในเวลา 3 วัน ทำสองครั้งแล้วดูอาการครับ พยายามให้อาหารปลาทีละน้อย เพื่อฟื้นปลาให้แข็งแรง
ส่วนอาการจากเชื้อไวรัสนั้น พบได้บ้างครับ อาการคล้ายๆกันคือ ผอมหัวโต ตัวลีบ หรืออาจมีเนื้องอกต่างๆเกิดขึ้นตามร่างกาย เป็นโรคที่รักษาไม่หายด้วยยาครับ วิธีการที่พอทำได้ ก็คือการแยกปลาดังกล่าวออกให้เร็วที่สุด จากตู้สปาของเรา ไปแยกเลี้ยงให้ดีที่สุด ทั้งสภาพแวดล้อม อาหาร แล้วหวังให้มันหายเป็นปกติครับ แต่ก็ไม่ควรปล่อยกลับตู้นะครับเพราะไวรัสนั้น เก็บอาการได้ดีและไม่หายไปไหนครับ โรคที่เกิดขึ้นในปลานั้นส่วนใหญ่แล้วจะไม่สามารถติดต่อไปยังคนได้ครับ ยกเว้นโรคที่เกิดจากเชื้อโรคบางตัว เช่น เชื้อในสกุลไมโคแบคทีเรียม (Mycobacterium) ซึ่งทำให้เกิดโรคซึ่งเรียกกันว่าว่า โรควัณโรคปลา อาการหลักๆก็คือมีลำตัวผอมลีบผิดปกติ หัวโต อ่อนแอ ว่ายน้ำ ผิดปกติ ท้องบวมป่องผิดปกติหรืออาจมีอาการเกล็ดตั้งร่วมด้วย แต่อาการแบบนี้ก็อาจเกิดขึ้นจากเชื้อโรคและสาเหตุอื่นๆได้เช่นกัน จึงยากที่จะวิเคราะห์ได้ด้วยสายตาว่า ปลาติดเชื้อโรคตัวนี้หรือเปล่ากันแน่ ดังนั้น เมื่อพบปลาอาการแบบนี้ที่ใด ก็เอาออก และหลีกเลี่ยงการเข้าใช้บริการครับ ส่วนโรคติดต่ออื่นๆในคน ก็จะติดต่อผ่านน้ำโดยตรงอยู่แล้วครับ ซึ่งจะมีความเสี่ยงสูง ในสปาที่ไม่มีระบบบำบัดที่ดีพอ เช่นพวกตู้สปาสำเร็จรูปที่โหมโฆษณากันอยู่นั่นเอง

โดย: RoF (เจ้าบ้าน ) [8 ต.ค. 52 22:19] ( IP A:125.24.35.69 X: )
ความคิดเห็นที่ 25
   การวางระบบ สถานที่
ในการที่จะทำฟิชสปาขึ้นมาสักแห่งนั้น การหาสถานที่ที่ดี จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับธุรกิจของเราครับ ทั้งในแง่ของการคุ้มทุน กำไร ความสะดวกสบายในการจัดการขณะทำธุรกิจ ตลอดจนความยากง่ายและความสะดวก ตลอดจนความสมบูรณ์ในการวางระบบ ในบทนี้ ผมจะกล่าวเฉพาะเกี่ยวกับเรื่องการวางระบบก่อนนะครับ
การเลือกสถานที่สำหรับวางระบบสปาแบบสมบูรณ์
ในการทำระบบสปาที่สมบูรณ์นั้น หลักๆแล้วจะประกอบไปด้วย 4 ส่วนดังนี้ครับ
1. ตู้ปลา แทงก์ใส่ปลา หรือ บ่อปลา ซึ่งอาจจะทำจากวัสดุต่างๆได้มากมาย ที่นิยมกันสูงสุดก็คือ กระจกหนา 4 หุนขึ้นไปครับ จะเป็นแบบที่ดูสวยงาม หรูหรา และจัดการง่ายที่สุด ส่วนแบบอื่นที่ใช้กันก็เช่น บ่อปูน ซึ่งต้องลงทุนก่อสร้างแบบถาวรเคลื่อนย้ายไม่ได้ น้ำหนักมาก และต้องระวังเรื่องการรั่วซึมเป็นอย่างยิ่ง ส่วนอ่างไฟเบอร์ และอ่างพลาสติก ก็ได้รับความนิยมตามมา ซึ่งมีข้อดีคือ ราคาถูก น้ำหนักเบา เคลื่อนย้ายได้สะดวกครับ

โดย: RoF (เจ้าบ้าน ) [10 ต.ค. 52 10:57] ( IP A:58.9.137.217 X: )
ความคิดเห็นที่ 26
   2. เก้าอี้นั่งและเฟอร์นิเจอร์ประกอบตู้ ในการทำฟิชสปานั้น ไม่จำเป็นเลยที่จะต้องใช้เฟอร์นิเจอร์รูปแบบสำเร็จรูป หรือตายตัวครับ ขึ้นอยู่กับการออกแบบของผู้รับเหมามากกว่า แต่หลักๆแล้ว ควรใช้ไม้จริง หรือไม้ที่มีความทนทานต่อความชื้นสูง ไม่ควรใช้ไม้อัด โครงสร้างต้องแข็งแรง และเหมาะสมกับขนาดของบ่อ และผู้ใช้บริการครับ ส่วนเฟอร์นิเจอร์ประกอบ ก็แล้วแต่ความต้องการของเรา เน้นที่คุณสมบัติใกล้เคียงกับที่นั่งครับ

โดย: RoF (เจ้าบ้าน ) [10 ต.ค. 52 11:04] ( IP A:58.9.137.217 X: )
ความคิดเห็นที่ 27
   จะไปจำกัดอยู่แค่เฟอร์นิเจอร์ไม้อัดจากตู้สปาสำเร็จรูปอยู่ทำไม?

โดย: RoF (เจ้าบ้าน ) [10 ต.ค. 52 11:08] ( IP A:58.9.137.217 X: )
ความคิดเห็นที่ 28
   3.ระบบบำบัดน้ำ ระบบกรองและฆ่าเชื้อโรค ในส่วนนี้ จะประกอบไปด้วย ถังสำหรับกรองน้ำหมุนเวียน สำหรับการกรองแบบกายภาพและชีวภาพ ถังจ่ายน้ำและควบคุมน้ำระบบโอเวอร์โฟลว์ เครื่องยูวี และโอโซน สำหรับการฆ่าเชื้อโรคและสลายสารพิษต่างๆในน้ำ ตลอดจนเครื่องกรองคลอลีนและสารพิษจากน้ำประปา เช่นเดียวกับตู้ปลาครับ ระบบพวกนี้เราสามารถดัดแปลงใช้วัสดุอะไรก็ได้ให้เหมาะสมตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นถังกรองทั้งแบบทำเองหรือแบบมียี่ห้อ หรือบ่อปูน หรือ ตู้กระจกก็ได้เช่นกันครับ เพียงแต่ต้องมีปริมาตรที่เหมาะสม และมีกลไกการกรองที่มีประสิทธิภาพมากพอซึ่งจะกล่าวต่อไป

โดย: RoF (เจ้าบ้าน ) [10 ต.ค. 52 11:12] ( IP A:58.9.137.217 X: )
ความคิดเห็นที่ 29
   4.สถานที่สำหรับลูกค้าล้างเท้าก่อนหย่อนลงตู้ การที่จะรักษาคุณภาพน้ำในตู้สปาของเราให้สะอาดและปลอดเชื้อมากที่สุด ก่อนที่ลูกค้าจะเอาเท้าลงแช่ ต้องมีการล้างเท้าด้วยสบูและน้ำเปล่าจนสะอาดนะครับ การใช้แค่ผ้าขนหนูเช็ดเท้าซ้ำๆกันหลายคนก่อนลงตู้เป็นวิธีการที่ไม่ควรทำอย่างยิ่งครับ

โดย: RoF (เจ้าบ้าน ) [10 ต.ค. 52 11:18] ( IP A:58.9.137.217 X: )
ความคิดเห็นที่ 30
   เมื่อ เราเข้าใจส่วนประกอบโดยคร่าวๆแล้วว่าการวางระบบสปาแบบสมบูรณ์ต้องประกอบไปด้วยอะไรบ้าง เราก็ต้องหาสถานที่สำหรับวางส่วนประกอบเหล่านั้นให้เหมาะสมต่อการใช้งานและทำงานครับ
สถานที่สำหรับวางตู้ปลาหรือบ่อปลานั้นนั้น ต้องเป็นพื้นที่ราบเรียบ แข็งแรงมั่นคง ได้ระนาบ เช่นเดียวกับ การวางเฟอร์นิเจอร์ซึ่งอยู่ในตำแหน่งเดียวกัน ส่วนระบบกรองและบำบัดนั้น สามารถดัดแปลงได้ตามสถานการณ์หน้างานแล้วแต่เราจะประยุติครับ ไม่ว่าจะเป็นกรองใต้เก้าอี้ กรองถัง กรองสุญญากาศ ใดๆก็ตาม ขอแค่เราเข้าใจหลักการของการกรองที่แท้จริง เราก็จะวางระบบได้ถูกต้องเหมาะสมไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใดๆก็ตาม ส่วนที่ล้างเท้านั้น ก็วางหรือสร้างในที่ที่เข้าออกได้สะดวกก่อนถึงตู้สปาของเราครับ หรือแล้วแต่ความสะดวกก็ได้ แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น สถานที่สำหรับสร้างฟิชสปาของเรา ควรอย่างยิ่งที่จะต้องมี ท่อน้ำประปาอย่างน้อยๆ 1 เส้น ตลอดจนท่อระบายน้ำหรือทางระบายน้ำอย่างน้อยๆ 1 ทางครับ เพื่อเติมความสมบูรณ์ของระบบโอเวอร์โฟลว์ซึ่งเป็นอีกระบบหนึ่งซึ่งช่วยรักษาคุณภาพน้ำได้เป็นอย่างดี ตลอดจนง่ายต่อการเปลี่ยนถ่ายน้ำ หรือการเติมน้ำในระบบ หรือการใช้งานในด้านอื่นๆอีกด้วยครับ ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ฟิชสปาแบบสำเร็จรูปที่ซ่อนทุกอย่างเอาไว้ใต้เก้าอี้ จะทำให้ประสิทธิภาพของระบบต่างๆลดลงไปด้วยตามสัดส่วน เนื่องจากใช้หลักการเดียวกัน วัสดุกรองเดียวกัน การฆ่าเชื้อแบบเดียวกัน แต่กลับลดขนาดทุกอย่างลงไปเพียงเพื่อลดค่าใช้จ่าย หรือให้ดูสวยงามทันสมัย ยัดเก็บในที่แคบๆได้ ก็ย่อมต้องสูญเสียประสิทธิภาพอย่างที่ควรจะเป็นไปโดยปริยาย อีกทั้งยังไม่สามารถติดตั้งระบบโอเวอร์โฟลว์ได้อีกด้วยครับ

โดย: RoF (เจ้าบ้าน ) [10 ต.ค. 52 11:21] ( IP A:58.9.137.217 X: )
ความคิดเห็นที่ 32
   การวางระบบฟิชสปาแบบสมบูรณ์
ในข้างต้นเราก็ได้พอทราบกันแล้วนะครับว่า การวางระบบฟิชสปาแบบสมบูรณ์ควรประกอบไปด้วยส่วนต่างๆอย่างไรบ้าง ทุกอย่างจะเชื่อมต่อสัมพันธ์กันเป็นชิ้นงานเดียวกันครับ ต่อไปเรามาดูรายละเอียดของแต่ละส่วนกันครับ
1 สถานที่สำหรับใส่ปลา
หรือเรียกง่ายๆว่าอ่างปลา อ่างปลาหรือบ่อปลาของเราก็เป็นที่เดียวกับที่ๆลูกค้าของเราเอาเท้าหย่อนลงไปนั่นเองครับ ดังนั้น ในมุมมองหลักๆแล้ว ควรต้องสวยงาม สะอาด น่าแช่ ไม่มีสายยาง หรือท่อลากเกะกะอยู่ในบ่อ ผิวเรียบสะอาด ไม่มีอันตรายต่อคนและปลา มีความแข็งแรงต่อการเหยียบและชน สำหรับบ่อปลาที่นิยมกันที่สุดคือ นิยมสร้างด้วยกระจกหรือเรียกง่ายๆว่าตู้ปลานั่นเองครับ ขนาดของตู้ปลานั้น จริงๆแล้ว ไม่กำหนดตายตัว สามารถออกแบบได้ตามความเหมาะสมครับ แต่ความหนาของกระจกควรเป็นตั้งแต่ 4 หุนเป็นต้นไป จะมีความแข็งแรงและปลอดภัยมากในระดับที่หายห่วงครับ จะเหยียบจะชนก็ไม่แตกง่ายๆแน่นอนโดยขนาดที่นิยมกัน จะมีความยาวโดยประมาณดังนี้
ที่ความกว้าง 60 เซนติเมตรสามารถนั่งได้ด้านเดียวของตู้ปลา
ความยาว 80 เซนติเมตร นั่งได้ 1 ท่าน
ความยาว 120 เซนติเมตรนั่งได้ 2 ท่าน
ความยาว 160 เซนติเมตรนั่งได้ 3 ท่าน
ความยาว 200 เซนติเมตรนั่งได้ 4 ท่าน
ส่วนที่ความกว้างของตู้ 80-100 เซนติเมตรจะสามารถนั่งได้ทั้งสองฝั่งของตู้ปลาครับ

โดย: RoF (เจ้าบ้าน ) [10 ต.ค. 52 11:26] ( IP A:58.9.137.217 X: )
ความคิดเห็นที่ 33
   ความสูงของตู้ปลาในขนาดของคนไทย จะอยู่ที่ 45 เซนติเมตร ส่วนชาวตะวันตกหรือฝรั่งจะใช้ที่เกินกว่านั้นเล็กน้อย หรือใช้ความสูงจากที่นั่งแทนก็ได้ครับ แนะนำว่าควรทำบรรยากาศในตู้ให้มืดๆครึ้มๆหน่อย ด้วยการติดฟิล์มดำที่พื้นตู้ด้านนอก ก่อนวางลงบนแผ่นโฟมกันกระแทกครับ จะทำให้ปลาที่เราจะนำมาเลี้ยงเป็นฟิชสปานั้น มีความตื่นกลัวลดลงมาก ผลก็คือจะทำให้มันปรับตัวได้เร็วและเข้ามาดูดเราได้เร็วขึ้นนั่นเองครับ หรือจะดัดแปลงด้วยกระเบื้องหรืออะไรก็ได้ครับ ให้บรรยากาศดูครี้มๆมืดๆไว้ก็พอครับ สภาพแวดล้อมภายในตู้ต้องโล่ง ไม่ควรปูหินทราย หรือสิ่งประดับอื่นๆไว้ในตู้สปาครับ อีกทั้งไม่ควรมีท่อน้ำ สายยางส่งน้ำ วางโยง ยื่นเกะกะภายในตู้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการออกแบบครับ ผู้ที่มีความชำนาญจะสามารถวางระบบโดยซ่อนสิ่งต่างๆเหล่านี้ไว้ได้อย่างสวยงามครับ สิ่งสำคัญอีกอย่างก็คือ ในทางน้ำออกและทางน้ำข้าวของตู้ปลา ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใดก็ตาม ควรมีตะแกรงตาถี่ปิดกั้นเอาไว้เสมอครับ เพื่อกันปลามุดเข้าไปในท่อหรือในระบบกรอง เพราะปลาพวกนี้อย่างที่เรารู้กันแล้วครับว่า มันเป็นนักว่ายทวนน้ำมืออาชีพ ขนาดน้ำตกไหลแรงๆมันยังปีนได้ครับ ด้วยการใช้ปากยืดและค่อยๆคืบคลานไป ตลอดจนมีพละกำลังและรูปร่างที่เหมาะสมในการว่ายทวนน้ำได้อีกด้วยครับ ไม่งั้นอาจจะไปพบพวกมันบางตัวตายอยู่ในระบบกรองก็เป็นได้ครับ

โดย: RoF (เจ้าบ้าน ) [10 ต.ค. 52 11:29] ( IP A:58.9.137.217 X: )
ความคิดเห็นที่ 34
   ส่วนในแบบตู้สปาสำเร็จรูปนั้น จะกั้นพื้นที่ส่วนหนึ่งของตู้กระจกไว้สำหรับทำระบบกรองเพื่อซ่อนไว้ใต้ที่นั่ง ลองนึกภาพตู้ปลาตู้ใหญ่ๆ ที่แบ่งช่องไว้กรองน้ำข้างๆตู้นั่นแหละครับ หลักการเดียวกันไม่มีอะไรแตกต่าง แต่แตกต่างอยู่ที่การออกแบบเล็กน้อยครับ ระบบกรองแบบนี้มีข้อเสียคือ ค่อนข้างเล็กเมื่อเทียบกับปริมาตรน้ำในตู้ อีกทั้งยังทำความสะอาดได้ยาก เพราะต้องเปิดเก้าอี้ออก ทำให้ใช้บริการไม่ได้ และบางคนก็จะไม่เปิดต่อหน้าลูกค้าเพราะกลัวคนอื่นรู้ความลับว่ากรองยังไง ผลของการใช้งานยากเช่นนี้ทำให้ตู้สปาของเขา ไม่สามารถทำความสะอาดได้ในระหว่างการใช้งาน ผลก็คือตู้สปาต้องทนรับความสกปรก และความเน่าของเท้าคนและขี้ปลาไปตลอดทั้งวันโดยไม่สามารถจัดการอะไรได้เลยครับ ซึ่งแตกต่างจากการแยกระบบกรองไว้ต่างหาก เพราะนอกจากจะมีขนาดซึ่งกำหนดได้อิสระอย่างเหมาะสมแล้ว ยังสามารถทำความสะอาด เปลี่ยนน้ำและจัดการคุณภาพน้ำได้โดยที่ลูกค้าไม่รู้ตัวครับซึ่งจะกล่าวต่อไป

โดย: RoF (เจ้าบ้าน ) [10 ต.ค. 52 11:32] ( IP A:58.9.137.217 X: )
ความคิดเห็นที่ 35
   ที่นั่งและเฟอร์นิเจอร์ประกอบ
เช่นเดียวกันครับ เราสามารถออกแบบได้ไม่จำกัดไม่ตายตัว ขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้ออกแบบและผู้วางระบบครับ ไม่ว่าจะเป็นโซฟา เก้าอี้น๊อคดาว เก้าอี้สำเร็จรูปใดๆก็ตาม แต่ที่นิยมกันก็คือ เป็นเฟอร์นิเจอร์ไม้ครับ เฟอร์นิเจอร์ไม้นั้น หลักๆแล้วต้องใช้ไม้ที่มีความทนทาน ทนชื้น ยิ่งทนยิ่งแพง ก็ยิ่งดี เช่นพวกไม้แดง ไม้เคียน และไม้เต็งเป็นต้น แต่ราคาแพงหูดับเอาเรื่องครับ ดังนั้น ถ้าจะลดต้นทุนตรงนั้น ก็หันมาใช้ไม้อื่นๆในเกรดรองลงมา ขอให้เป็นเนื้อไม้จริง ไม่ใช่ไม้อัดก็พอครับ ส่วนผู้ที่คิดจะซื้อตู้สปาปลาแบบสำเร็จรูป ก็ให้พิจารณาเนื้อไม้ให้ดีๆนะครับ ถ้าเป็นไม้อัดมาล่ะก็แนะนำว่าอย่าซื้อเด็ดขาดครับ เพราะอายุการใช้งานปกติก็สั้นมากอยู่แล้ว ยิ่งถ้าใกล้น้ำโดนน้ำ โดนความชื้นแบบนี้ ไม่นานก็เห็ดขึ้นครับ เปื่อยจนรับสภาพไม่ได้แน่นอน ตู้สปาสำเร็จรูปที่ท่านซื้อมาแพงโอเวอร์อยู่แล้ว ก็จะอายุสั้นลงอย่างน่าตกใจ

โดย: RoF (เจ้าบ้าน ) [10 ต.ค. 52 11:35] ( IP A:58.9.137.217 X: )
ความคิดเห็นที่ 36
   ส่วนการออกแบบนั้น ก็แล้วแต่เราจะดีไซน์ โดยยึดหลักการที่ว่าต้องแข็งแรงทนทานและรับน้ำหนักได้ดี เพราะอย่าลืมว่า ต้องมีการสอดตู้สปาบางส่วนเข้าใต้เก้าอี้ของเราเพื่อความสวยงาม ดังนั้นจะมีคานรับน้ำหนักของที่นั่งของเราบางส่วนที่ต้องลดลง และดัดแปลงไปไว้ส่วนอื่นเพื่อคงความแข็งแรงของเฟอร์นิเจอร์เอาไว้นั่นเองครับ ด้านบนของเฟอร์นิเจอร์ ควรเปิดออกได้เพื่อง่ายแก่การทำงาน หรือบางที่ที่ใช้เป็นตู้สำเร็จรูป ก็จะเอาระบบกรองเล็กๆ ยุวีเล็กๆ(ไม่มีโอโซน) ซ่อนเอาไว้ในส่วนตรงนี้นั่นเองครับ ลองเลือกเอาว่าจะเอาแบบไหนก็ได้ครับแล้วแต่ความสะดวก ประสิทธิภาพของกรองอยู่ที่การออกแบบและการจัดการของเราครับ ถ้ากรองดี เราอาจไม่ต้องทำอะไรมาก ให้ระบบมันจัดการของมันเองก็ช่วยได้เยอะแล้ว ส่วนถ้าเราจำเป็นเหลือเกินที่ต้องใช้ระบบกรองซ่อนใต้เก้าอี้ เราก็ต้องรักษาความสะอาดของคนลงใช้ให้มากขึ้น หาทางเปลี่ยนน้ำให้บ่อยขึ้น พยายามช้อนสิ่งสกปรกออกให้บ่อยขึ้น ฯลฯ นั่นเองครับ ซึ่งบางครั้งมันก็เป็นข้อจำกัดที่แทบจะทำไม่ได้ ในการใช้งานจริง

โดย: RoF (เจ้าบ้าน ) [10 ต.ค. 52 11:38] ( IP A:58.9.137.217 X: )
ความคิดเห็นที่ 38
   พบกับความรู้อันเข้มข้นต่อไปได้เลยครับ
ใน
ความรู้และข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับ ฟิชสปา (Fish Spa)ตอนที่3

https://www.pantown.com/board.php?id=2888&area=4&name=board6&topic=54&action=view

โดย: RoF (เจ้าบ้าน ) [15 ต.ค. 52 16:15] ( IP A:58.9.142.27 X: )

คลิกที่นี่เพื่อกลับหน้าบ้าน