ความคิดเห็นที่ 17 ความแตกต่างระหว่าง Garra rufa และ Garra sp. สปาฟิชยอดนิยมในประเทศไทย สวัสดีครับเพื่อนๆสมาชิกชาวอควาบิททุกท่าน เจอกันกับ RoF เป็นประจำเช่นเคยนะครับเกือบทุกฉบับ(ถ้าเขียนให้ทัน) มาฉบับนี้เรามีเรื่องน่าสนใจเกี่ยวกับปลามาฝากเช่นเคยครับ แต่ปลาตัวนี้ หรือ กลุ่มนี้ นอกจากจะสามารถนำมาเลี้ยงเป็นปลาสวยงามเหมือนแต่ก่อนแล้ว ยังสามารถนำมาใช้งานอย่างอื่นได้อย่างน่าทึ่งอีกด้วย บางท่านคงเคยเห็นธุรกิจสปา รูปแบบใหม่ที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อนหรือคิดว่าจะมีได้ ก็คือ การใช้ปลามาทำสปาให้กับมนุษย์ โดยหย่อนเท้าลงไปให้ปลาดูดตอดผิวหนัง ซึ่งเริ่มพบเห็นได้เยอะขึ้นเรื่อยๆสวนกระแสเศรษฐกิจในขณะนี้ ปรากฏการณ์แบบนี้ เรียกว่า การบูม ครับ ใช่แล้วครับ ตอนนี้ ธุรกิจดังกล่าว ที่มีชื่อว่า Fish spa กำลังได้รับความสนใจจากคนไทยผู้ประกอบกิจการสปา หรืออยากจะประกอบกิจการสปา ตลอดจนได้รับความนิยมสูงมากๆสำหรับผู้นิยมใช้บริการสปา ซึ่งทั้งสองส่วนล้วมีจำนวนมากมายทุกหัวระแหงในประเทศไทย ตรอก ซอกซอย หมู่บ้านต่างๆ กลางเมือง ไกลเมืองหรือชนบท ไม่มีที่ไหนที่ไม่มีธุรกิจสปาเข้าไปถึงครับ เมื่อ ฟิชสปา ซึ่งยังจัดว่าเป็นของใหม่ในประเทศไทยถูกได้รับความสนใจจากกลุ่มคนทั้งสองฝ่ายมากมาย ธุรกิจการทำฟิชสปา ก็เจริญรุ่งเรืองตามไปด้วยเช่นกันครับ ต่างถือกำเนิดผุดขึ้นมามากมายเป็นเงาตามตัว แต่ในความเป็นจริงที่ไม่มีใครปฏิเสธไม่ได้ครับ สิ่งใดที่เป็นธุรกิจ เป็นเงินมหาศาล เป็นหนทางหรือจังหวะที่จะกอบโกยเข้ากระเป๋าให้ได้มากและเร็วที่สุด การหลอกลวงต้มตุ๋น หรือการบิดเบื่อนข้อมูล เพื่อให้ได้มาซึ่งเงินในกระเป๋าของท่านย่อมเกิดขึ้นตามมาเป็นธรรมดา โดยอาศัยจุดอ่อนที่สำคัญมากๆ ของคนที่อยู่ในวงการธุรกิจสปาก็คือ ความที่ไม่เคยมีความรู้ในเรื่องปลา และการเลี้ยงปลามาก่อนนั่นเองครับ จึงทำให้คนเหล่านั้น อาศัยจุดตรงนี้หาประโยชน์จากความไม่รู้ด้วยการกระทำที่ไม่ซื่อตรงนัก ดังนั้นครับ มาในฉบับนี้ เรามาสลัด ความไม่รู้ ทิ้งกันไปได้แล้วครับ เลิกตกเป็นเหยื่อของคนเหล่านี้กันเสียที เมื่อใดที่เรามีความรู้แล้ว นอกจากเราจะไม่โดนหลอก เรายังสามารถตอกคนพวกนี้ให้หน้าหงายกลับไปได้เลยครับว่า ไปสู่ที่ชอบๆเถิด อย่ามาหลอกหลอนกันอีกเลย สาธุ สำหรับบทความนี้ เราจะขอเจาะลึกเฉพาะเรื่องของปลา 2 ชนิดยอดนิยมก่อนนะครับ ส่วนในโอกาสต่อๆไป ผมจะมาลงรายละเอียดปลาชนิดอื่นๆ และตีแผ่การทำฟิชสปา หรือที่ผมเรียกง่ายๆว่า การเลี้ยงปลาดูดเท้า การเรียกแบบนี้ แสดงว่า มันก็คือการเลี้ยงปลารูปแบบหนึ่งครับ ไม่ได้ยากเย็น หรือวิเศษ พิศดารอะไรมาจากไหนเลย ใครๆก็ทำได้ครับ ไม่จำเป็นต้องไปลองผิดลองถูก แค่มีความรู้เรื่องการเลี้ยงปลามาบ้างก็เข้าใจแล้วครับ ก็แค่การเลี้ยง ปลาดูดกระจกที่เราคุ้นเคยกันดี ให้มาดูดเท้าเราแทนเท่านั้นเอง เรามาเริ่มกันในเรื่องปลายอดนิยมที่สุด ในการทำฟิชสปาในขณะนี้ครับ ชื่อดังกล่าวเป็นชื่อติดหูไปแล้วสำหรับคนในวงการ นั่นก็คือ Garra rufa และ Garra sp. (พม่า) นั่นเองครับ ก่อนอื่น ขอเกริ่นถึงปลาชนิดอื่นๆที่นิยม หรือ สามารถ นำมาทำฟิชสปากันก่อนสักเล็กน้อยครับ หลักการคิดง่ายๆครับ คือปลาที่มีพฤติกรรมการเข้ามาตอด มาดูด อวัยวะของมนุษย์ ย่อมสามารถนำมาทำฟิชสปาได้เสมอ แต่จะเหมาะสม หรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งครับ บางที่ไม่คิดถึงเรื่องความเหมาะสมเลย ขอแค่ต้นทุนถูกประหยัดไว้ก่อนก็พอ บางที่ก็ไม่เข้าใจอะไรเลยและโดนคนขายหลอกฝังหัวมาอีกที บางที่ก็คำนึงถึงลูกค้าเป็นหลัก เป็นต้นครับ ปลาที่มีพฤติกรรมดังกล่าว ก็เช่น กลุ่มปลามีฟัน พวกลูกปลานิล (Oreochromis niloticus) และลูกปลาในกลุ่มปลาหมอสีชนิดต่างๆ ปลาอินซิกนิส (Semaprochilodus insignis) ส่วนกลุ่มปลาไม่มีฟัน จะอยู่ในกลุ่มไซปรินิดส์ ฟัน (Order Crpriniformes) ทั้งสิ้น เช่น ปลาน้ำผึ้งดำและปลาน้ำผึ้งทอง (Gyrinocheilus aymonieri) ปลากาแดงและปลากาแดงเผือก (Epalzeorhynchos frenatum) ปลาทรงเครื่อง (Epalzeorhynchos bicolor) ปลาเล็บมือนาง (Crossocheilus siamensis)และปลาในสกุลการ่าชนิดอื่นๆที่นิยมเลี้ยงกันเป็นปลาดูดตู้มาช้านาน เช่น ปลานกกระจอก (Garra cambodgiensis) (หรือมีชื่อพ้องว่า Garra taeniata) เป็นต้นครับ ซึ่งปลาเหล่านี้ ไม่ใช่ปลาแปลกใหม่หายากหาเย็นอะไรนะครับ เป็นปลาสวยงามที่วางขายในท้องตลาดมานานแล้ว ล้วนแล้วแต่เกิดจากการเพาะพันธุ์ของเกษตรกรไทยทั้งสิ้น(ยกเว้นอินซิกนิส) ทั้งจากการผสมเทียมด้วยการฉีดฮอร์โมน และการเพาะเลียนแบบธรรมชาติครับ และปลาที่เอ่ยชื่อมาเหล่านี้ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นประชากรปลาส่วนใหญ่ ในตู้สปา ที่แพร่ระบาดไปทั่วไปประเทศไทยในขณะนี้ครับ หาใช่ปลาแปลก วิเศษ หรือปลาที่ค้นพบใหม่ หรือปลาที่เพาะพันธุ์ได้ใหม่ ฯลฯ อย่างที่ผู้ขายโม้เอาไว้แต่อย่างใด ผมได้ยินแม้แต่เรื่องโม้กระจายขนาดที่ว่า มีเจ้ารับทำสปาฟิชเจ้าใหญ่เจ้าหนึ่ง ได้บอกกับลูกค้าของเขาว่า ปลาของเขา คือ การ่า รูฟ่า ที่นำเข้ามาจากนอก เอามาผสมข้ามพันธุ์กับปลาไทย เกิดเป็น การ่าพันธุ์ใหม่ ชื่อ การ่า สเปเชี่ยล (คงมั่วมาจาก การ่า เอสพีซึ่งจะกล่าวต่อไป) มีความวิเศษในการดูดสูงสุดและเขามีเพียงเจ้าเดียว แต่พอผมเห็นปลาทั้งตู้ ปรากฏว่า เป็นปลา นกกระจอก และปลาเล็บมือนาง ไปได้ไง งงอยู่เหมือนกัน จะเห็นได้ว่า การค้าขายนั้น หลอกกันได้ทุกสเตป ทุกรูปแบบครับ นี่ยังไม่รวมเรื่องระบบสปาเลยนะครับ น่ากลัวจริงๆ เราก็ได้ทราบกันแล้วถึงความฮิตและแรง ของปลาสปาฟิชตลอดจนปลาชนิดอื่นๆคร่าวๆกันแล้วนะครับ คราวนี้เรามาดูพระเอกตัวสำคัญของวงการกันบ้างครับ สำหรับคนที่เข้ามาสนใจและศึกษาเรื่องเกี่ยวกับฟิชสปา ต้องรู้จักชื่อนี้กันทุกคนครับ Garra rufa (อ่านว่า การา รูฟา) นั่นเองครับ แต่ก่อนอื่นอีกนั่นแหละครับ เรามาปูพื้นฐานง่ายๆเกี่ยวกับชื่อปลา กันก่อนครับ การตั้งชื่อของปลาที่เป็นสากลที่สุด และยอมรับในหมู่นักวิทยาศาสตร์ ถือเป็นชื่อที่ถูกต้อง ชัดเจนที่สุด และมีเพียงชื่อเดียว สำหรับปลาแต่ละชนิด เราเรียกชื่อนั้นว่า ชื่อวิทยาศาสตร์ครับ ชื่อวิทยาศาสตร์นั้นจะใช้ภาษาละตินเท่านั้นครับ เพราะถือว่าเป็นภาษาที่ตายไปแล้ว ดิ้นไม่ได้เหมือนภาษาที่ใช้ๆกันอยู่ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา หลักๆแล้วชื่อวิทยาศาสตร์จะประกอบด้วย คำสองคำ เรียงต่อกันครับ คำแรก คือ ชื่อสกุล ของปลาคำที่สองคือ ชื่อชนิดของปลา ปลาหลายชนิดอยู่ในสกุลเดียวกัน ก็มีชื่อสกุลเหมือนกัน ปลาที่มีชื่อสกุลเหมือนกันแต่คนละชนิด ชื่อข้างหลังหรือชื่อชนิด ต้องไม่เหมือนกัน และปลาต่างสกุลกัน อาจมีชื่อข้างหลังหรือชื่อชนิดเหมือนกันก็ได้ครับ งงมั้ยครับ ถ้างง มาดูตัวอย่างกันครับ เอา พระเอกของเราเป็นแบบ ละกันครับ การา รูฟา... Garra rufa (Heckel, 1843) จะเห็นว่า ชื่อวิทยาศาสตร์ ซึ่งประกอบด้วย ชื่อสกุลและชนิดนั้น ต้องพิมพ์ด้วยตัวพิมพ์เอนครับ Garra คือ ชื่อสกุลของปลาตัวนี้ คำว่า สกุลของปลานั้น ไม่เหมือนกับคำว่า นามสกุล ของคนเรานะครับ คนเราที่นามสกุลเดียวกัน คือ เป็นพี่น้อง เป็นญาติหรือเป็นผู้สืบเชื้อสายต่อๆกันมา แต่สกุล ของปลาหมายถึง ลำดับทางวิวัฒนาการที่ใกล้เคียงกันครับ คือเป็นปลาคนละชนิดกันก็จริง แต่องค์ประกอบอื่นๆใกล้เคียงกันมากจนใกล้ชิดกันได้ในระดับสกุล ไม่ใช่ปลาในสกุลเดียวกันคือ เป็นพี่น้องครอกเดียวกัน หรือมีพ่อแม่เดียวกันหรือสืบสันดานต่อๆกันมาแต่ประการใดครับ Rufa คือ ชื่อชนิดของปลาตัวนี้ คำว่าชนิด ก็บ่งบอกชัดเจนครับว่า มันเป็นปลาสปีชีส์ (species) เดียวกัน อธิบายง่ายๆว่า ปลาชนิดเดียวกัน คือปลาที่เหมือนกันมากๆในเกือบทุกรายละเอียด และอาศัยสืบพันธุ์อยู่ด้วยกันเป็นรุ่นๆต่อๆกันมานั่นเองครับ แต่คำว่าสปีชีส์จะสมบูรณ์ได้ ก็ต้องมีการรวมระหว่าง ชื่อสกุลและชนิดไว้ด้วยกันด้วยเหตุผลที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนะครับ (Heckel, 1843) คือ ชื่อของนักวิทยาศาสตร์ผู้บรรยายและตั้งชื่อปลาชนิดนี้พร้อมปีที่ทำการบรรยายเสร็จสิ้นและได้รับการยอมรับเป็นสากลครับ สำหรับปลาบางตัว ที่ยังไม่มีการบรรยายชื่อวิทยาศาสตร์ หรือตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ไว้ชัดเจน แต่พิจารณาเบื้องต้นแล้ว ทราบว่าน่าจะอยู่ในสกุลใด เราก็จะใช้คำว่า sp. (ซึ่งย่อมาจากคำว่า species) เอาไว้ท้ายชื่อสกุลที่เราคิดว่า มันน่าจะอยู่ในสกุลนี้ครับ ยกตัวอย่างเช่น ไปน้ำตกเอราวัน พบปลาดูดชนิดหนึ่ง เข้ามาดูดตามตัวเราเต็มเลย แปลกดี เวลาเราลงไปเล่นน้ำ เลยจิ๊กมาได้ตัวหนึ่ง ส่งไปให้นักวิทยาศาสตร์สักคนหนึ่งเพื่อถามว่า มันคือปลาอะไร พอนักวิทยาศาสตร์ดูแล้ว ปรากฏว่า ปลาตัวนี้ยังไม่มีการตั้งชื่อวิทยาศาสตร์แต่ประการใด แต่เขามีความรู้มากพอที่จะดูออกว่า มันจัดอยู่ในสกุล การา เค้าก็จะบอกเราว่า มันชื่อว่า Garra sp. นะครับ เป็นการบอกเราว่า ปลาตัวนี้ เป็นปลาในสกุล การา แต่ยังไม่ทราบชนิด หรืออาจจะยังไม่มีการตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจน หรือ เขามีความสามารถไม่พอที่จะระบุชนิดที่ชัดเจนได้เป็นต้นครับ ต่อมา เมื่อเราไปข้ามไปเที่ยวฝั่งพม่า กลับพบปลาดูดเข้าอีกเหมือนกัน รูปร่างหน้าตาคล้ายๆกับปลาที่เอราวันเลย เมื่อจิ๊กมาให้นักวิทยาศาสตร์จำแนกชื่อ ปลาตัวนี้ ก็อาจถูกเรียกว่า Garra sp. ได้เช่นกันครับ ถ้าเขาไม่สามารถแยกชนิดได้ชัดเจน ฉันใดก็ฉันนั้น เหมือนกับกรณีปลาจากเอราวันเป็นต้นครับ ดังนั้น คำว่า Garra sp. จึงไม่ใช่ชื่อวิทยาศาสตร์ที่สมบูรณ์นะครับ ปลาอะไรก็ตามที่นักวิทยาศาสตร์ยังไม่ได้ตั้งชื่อ และอยู่ในสกุล การา นั้น พร้อมที่จะถูกเรียกว่า Garra sp. ได้เสมอครับ ถ้าจะทำให้ชัดเจนมากขึ้นแบบชั่วคราว ก็บอกต่อท้ายสักนิดครับว่า มาจากที่ใด เช่น น้ำตกเอราวัน หรือ พม่า หรือที่อื่นๆ เป็นต้นครับ ดังนั้น สรุปว่า ค่ำว่า sp. นั้น ย่อมาจากคำว่า species โดยเป็นการละไว้ในฐานที่เข้าใจดังที่อธิบายไว้ข้างต้นเพื่อให้ชื่อวิทยาศาสตร์มีความสมบูรณ์ครับ ไม่ได้ย่อมาจากคำอื่นๆที่นักต้มตุ๋นหรือนักมั่วนิ่มบัญญัติขึ้นมาเอง เช่น สเปเชียล (special) หรืออย่างอื่นอย่างใดเลยครับ และยิ่งไปกว่านั้น เดี๋ยวนี้ มีนักต้มตุ๋นพยายามที่จะก่อให้เกิดความสับสนขึ้นมาให้จงได้ เพื่อการหลอกขายเป็นไปได้อย่างราบรื่น เช่น ตั้งชื่อปลาตัวใดตัวหนึ่งขึ้นมาง่ายๆว่าเป็น Garra rufa sp. โดยการนำคำว่า sp. มาต่อท้ายชื่อวิทยาศาสตร์ที่สมบูรณ์แล้วของปลาการา รูฟา ซึ่งผิดหลักเกณฑ์ของการตั้งชื่อวิทยาศาสตร์โดยสิ้นเชิง เพื่อสร้างความแตกต่าง ความสับสนให้กับผู้ซื้อ โดยพยายามให้เข้าใจว่า ปลาของเขาคือ การา รูฟา สเปเชียล หรือ การารูฟา ชนิดพิเศษ บ้าบอคอแตกอย่างไรก็ตาม โดยเอาปลาชนิดอื่นๆดังที่กล่าวไว้มาหลอกขายอีกเช่นกัน แต่ถ้าเมื่อใด ที่ทุกท่านทราบว่า ปลาแต่ละชนิด ชื่ออะไร มีรูปร่างหน้าตาอย่างไร แตกต่างกันอย่างไร ราคาขายควรจะเป็นเท่าไร และหลักการใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ที่แท้จริงแล้ว เป็นเช่นไร ถ้าท่านจับหลักเหล่านี้ได้ ก็จะไม่มีมิจฉาชีพตนใด มาหลอกลวงท่านอีกได้เลยแน่นอนครับ ดังนั้น เมื่อเอาชื่อสกุลและชนิดมารวมกันเป็น Garra rufa ซึ่งอาจไม่ต้องต่อด้วยชื่อคนตั้งชื่อก็ได้ครับในการอ้างแบบสั้นๆ ก็จะเกิดเป็น ชื่อวิทยาศาสตร์ที่สมบูรณ์ขึ้นมา โดยชื่อวิทยาศาสตร์ที่สมบูรณ์แล้วของปลาชนิดใดๆ จะประกอบด้วยชื่อสกุล ตามด้วยชื่อชนิดนั่นเองครับ ซึ่งบ่งบอกถึง สปีชีส์ ของปลาชนิดนั้นๆได้ชัดเจนแน่นอน ดังนั้น โปรดทำความเข้าใจเลยครับว่า การา รูฟา คือปลาชนิดนี้ ชนิดเดียว เป็นชื่อเรียกที่เป็นสากลและถูกต้องที่สุดซึ่งอาจมีชื่ออื่นๆมากมายเช่นชื่อท้องถิ่น หรืออาจมีชื่อไทยๆในภายหลังก็ได้ครับ แต่ชื่อพวกนี้ดิ้นได้ตลอดเวลาครับ ดังนั้น เมื่อมีพ่อค้าสักเจ้า มาบอกท่านว่า ปลาดูดเท้าในตู้ของเค้าคือ การา รูฟา แต่พอเรามองแล้วในตู้ กลับปนไปด้วย ปลาน้ำผึ้งบ้างล่ะ ปลากาแดง ปลานกกระจอก เล็บมือนางบ้างล่ะ ก็จงมั่นใจได้เลยครับว่า ท่านถูกหลอกแน่นอน เพราะคำว่า การา รูฟา ไม่ได้แปลว่า ปลาสปา (fish spa) แต่ประการใดครับ มันคือชื่อปลาชนิดหนึ่งชนิดเดียวเท่านั้นครับ เรื่องนี้ซีเรียสครับ เพราะ การา รูฟา ราคาแพงจัด และมีคุณสมบัติพิเศษที่ได้รับการศึกษามาแล้วจากต่างประเทศ ซึ่งตัวอื่นไม่ใช่และไม่มี แค่ส่วนต่างตรงนี้ หลอกนิดเดียว พ่อค้าหรือผู้รับทำสปา ก็ได้กำไรมหาศาลแล้วล่ะครับ การแก้ตัวขั้นต่อไปของพ่อค้าเหล่านี้ ที่ฟังดูดีที่สุด ก็คือ ใส่ปลาพวกนี้ลงไปเพื่อให้ระบบนิเวศน์ในตู้สมบูรณ์ เพราะปลาพวกนี้มันคอยกินขี้ปลาบ้างล่ะ คอยกินเศษอาหารบ้างล่ะ กินขยะบ้างล่ะ ดูดตะใคร่บ้างล่ะ ซึ่งขอทำความกระจ่างไว้ ณ.ตรงนี้เลยครับว่า ไม่มีปลาชนิดใดในโลกนี้เท่าที่ผมรู้จัก กินขี้ปลาเป็นอาหารหลักหรือแม้แต่อาหารเสริมครับถ้าไม่อดอยากจริงๆ และที่สำคัญ ปลาในสกุล การา รวมทั้ง การา รูฟา เป็นปลาที่มีพฤติกรรมการกินอาหารจำพวก ซากพืช ซากสัตว์ สาหร่าย ตะใคร่น้ำ อยู่แล้วโดยธรรมชาติครับ ดังนั้น การาทุกชนิด จะกินทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นตะใคร่น้ำในตู้ เศษอาหาร เศษซากปลาตายต่างๆ ตลอดจนเนื้อตายของผิวหนังคนด้วยเช่นกัน สรุปว่า แค่ การา ตัวเดียวในตู้ มันก็ทำหน้าที่ของมันครบถ้วนอยู่แล้วครับ แล้วทีนี้ เขาจะปนปลาอื่นๆราคาถูกๆลงไปทำไมล่ะครับ ถ้าไม่ใช่เพราะมันทำให้เงินในกระเป๋าของท่านถ่ายไปกระเป๋าของเขาได้มากขึ้น ลองพิจารณาดูเองครับ อย่างที่เกริ่นไว้ข้างต้นแล้วครับว่า เวลานี้ ปลาสปาในบ้านเรา ที่นิยมสูงสุดและได้ยินติดหูกันทั่วไป มีสองชนิดคือ การา รูฟา และ การา เอสพี (พม่า) ราคาต่างกันลิบลับ คุณสมบัติอาจต่างกันบ้าง และที่สำคัญ รูปร่างหน้าตา ดันเหมือนกันมาก จนเอามาใช้แทนกัน หรือ ตบตากันได้อย่างสบายๆครับ บทความในฉบับนี้จะบ่งบอกถึงความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างปลาสองชนิดนี้กันก่อนละกันครับ ในโอกาสต่อๆไปเราค่อยมาเจาะลึกกันในแต่ละตัวแต่ละชนิดกันจนหมดเปลือกอีกทีหนึ่ง เรามาทำความรู้จักกับ พระเอกของเรากันเลยครับ การา รูฟา แบบคร่าวๆ ชื่อวิทยาศาสตร์ : Garra rufa (Heckel, 1843) ชื่อสามัญ : Gararufa ชื่อไทย : การารูฟา (จะเห็นว่า ไม่ว่าชื่อภาษาอังกฤษหรือชื่อไทย ต่างก็เรียกทับศัพท์จากชื่อวิทยาศาสตร์กันหมดครับ) ถิ่นกำเนิด : ประเทศแถบยูเรเซีย เช่น ตุรกี จอร์แดน ซีเรีย แม่น้ำโอรอนเตส และลุ่มน้ำไทกริสยูเฟรติส เป็นต้น รูปร่างลักษณะ : ปลาชนิดนี้ มีขนาดโตเต็มที่ได้ถึง 14 เซนติเมตรนะครับ เกือบครึ่งฟุตเลยทีเดียว ไม่ใช่ปลาที่จะตัวเล็กน่ารักตลอดไป แต่โชคดีครับที่มันโตช้ามาก และไม่โตในตู้เลี้ยงแคบๆครับ ปลาชนิดนี้ มีลำตัวค่อนข้างป้อมสั้น ส่วนหัวโตและกลมมนกว่า เมื่อเทียบกับการาเอสพีพม่า ลำตัวมีเกล็ดสีเทา ในขณะที่พม่าเกล็ดจะออกสีน้ำตาลดำ จุดเด่นที่สำคัญของ การา รูฟา ที่ การา เอสพีพม่า ไม่มี ก็คือ การารูฟา จะมีแถบสีดำขนาดใหญ่ ชัดเจน คาดอยู่ที่บริเวณโคนหางดังรูปครับ ตามปกติแล้วในธรรมชาติ การา รูฟา จะอาศัยอยู่ในน้ำเย็นกว่าบ้านเราอีกครับคือ 15°C - 28°C แต่พอเริ่มมีการนำมาทำฟิชสปา ทางโน้น เขาก็ลองให้อยู่อุณหภูมิที่สูงขึ้น เพื่อความอุ่นสบายของผู้แช่และพบว่ามันสามารถอยู่ได้ในอุณหภูมิที่สูงถึง 38-40°C ได้เช่นกันโดยค่อยๆทำการปรับอุณหภูมิขึ้นอย่างช้าๆใช้ระยะเวลานานครับ จึงนำจุดตรงนี้มาเป็นจุดขายว่า เป็นปลาที่อาศัยในน้ำร้อนได้ ซึ่งจริงๆแล้วในธรรมชาตินั้น ไม่ได้เป็นเช่นนั้นครับ เกิดจากการปรับของมนุษย์นี่เองครับ การา รูฟา เป็นปลาสปาต้นตำหรับเพียงชนิดเดียว ที่นิยมใช้กันมานานมากในตุรกี ตลอดจนมีงานวิจัยเกี่ยวกับปลาชนิดนี้ออกมามากมายครับ เช่น เรื่องความพิเศษในการปล่อยเอนไซม์ เป็นต้น ทางตุรกีจึงค่อนข้างหวงปลาชนิดนี้ของเขามาก โดยขอความร่วมมือห้ามนำเข้าส่งออกจากประเทศต่างๆมากมายรวมทั้งไทยด้วยครับ แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น ก็ยังหลุดรอดออกมาได้อยู่ดี และถูกนำมาเพาะขยายพันธุ์มากมายใน ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ เป็นต้นครับ แต่ก็ไม่แน่เหมือนกันครับว่า ถ้าได้มีการทำการศึกษาปลาในสกุล การา ชนิดอื่นๆ ก็อาจพบคุณสมบัติพิเศษแบบนี้หรืออาจเหนือกว่านี้ได้เช่นกันครับ อันนี้คงต้องรอชมกันต่อไปครับ ต่อไปเรามาทำความรู้จักกับ พระรองกันครับ การา เอสพี พม่า นั่นเองครับ ชื่อวิทยาศาสตร์(ชั่วคราว) : Garra sp. (Burma) ชื่อสามัญ : Burmese algae eater ชื่อไทย : ปลาอีมูดพม่า ปลาเลียหินพม่า ถิ่นกำเนิด : เป็นปลาที่มีถิ่นกำเนิดแถบชายแดนไทยติดกับพม่าครับ มีเยอะในฝั่งพม่ามากกว่าฝั่งไทย โดยจะพบตามน้ำตก และลำธารน้ำไหลต่างๆ คาดว่าคงเป็นชนิดใกล้เคียงกับที่พบในไทยครับ รูปร่างลักษณะ : ขนาดโตเต็มที่ประมาณ 15 เซนติเมตร หรืออาจจะโตได้มากกว่านั้นครับ ลักษณะรูปร่าง คล้ายการารูฟา ครับ แต่ส่วนหัวค่อนข้างแหลมกว่า ลำตัวเพรียวยาวกว่า รูฟา สีเกล็ดบนลำตัวจะออกสีน้ำตาลเข้มสลับเกล็ดสีดำ ในขณะที่รูฟา เป็นสีเทา และที่สำคัญ ไม่มีแถบดำบนโคนหางใดๆทั้งสิ้นครับ ซึ่งลักษณะแถบดำบนโคนหางนี้ ใช้ในการแยกชนิดแบบง่ายๆได้ชัดเจนที่สุดแล้วครับสำหรับทุกๆท่าน ดูรูปประกอบได้เลยครับ การา เอสพี พม่านั้น มีคุณสมบัติการดูดที่ดีที่สุดเหนือตัวอื่นๆที่กล่าวมาข้างต้น เรียกได้ว่า ใกล้เคียงกับรูฟา ทั้งแง่ของความทนทาน ความเชื่อง ไม่กลัวคน และจังหวะ น้ำหนักการดุด เรียกได้ว่าสูสีกันครับ ที่ต่างกันและยังไม่มีใครพิสูจน์ ก็คือเรื่อง เอ็นไซม์ในน้ำลายนั่นเองครับ มาถึงตรงนี้แล้ว คิดว่าทุกท่านคงรู้จักปลาสองชนิดนี้ดีขึ้น ตลอดจนสามารถแยกความแตกต่างระหว่างปลาสองชนิดนี้ได้ง่ายขึ้นแล้วนะครับ เมื่อเรามีความรู้แล้ว มิจฉาชีพจะมาในรูปแบบใดก็ตามทั้งที่ยกตัวอย่าง และไม่ได้ยกตัวอย่าง หรืออาจมีวิธีการใหม่ๆเกิดขึ้นเรื่อยๆ ก็ไม่มีทางถ่ายเงินในกระเป๋าของท่านออกไปได้ง่ายๆเหมือนแต่ก่อนแล้วนะครับ สำหรับท่านที่ควักเงินจ่ายไปแล้ว ลองไปมองดูในตู้สปาของท่านสักนิดนะครับว่า มีปลาอะไรบ้าง เหมือนกับที่พ่อค้าที่ขายท่านโฆษณาไว้จริงหรือไม่ โอกาสหน้าผมจะลงข้อมูลทุกๆด้านของฟิชสปาอย่างละเอียดอีกครั้งนะครับ บทความนี้ที่ใช้เวลาเขียนเพียง 2-3 ชั่วโมงหยุดๆ พิมพ์ๆ ก็ขอจบลงตรงย่อหน้านี้ละกันครับ และถ้าหากท่าน อยากมีความรู้เรื่องปลาทุกชนิดเพิ่มเติมในทุกๆแง่มุม อย่าลืม https://www.genepoolaquarium.com นะครับ มีความสุขกับสปาปลาครับ สวัสดีครับ |