ป้าวิคะ ของเล่นที่เห็นตอนงานวัดไร่ขิง หาซื้อได้ที่ไหนคะ
   เพิ่งกลับมาจากแข่งกีฬาที่เชียงใหม่ พยายามหาซื้อของเล่นที่เหมาะจะไว้ฝึกอ่าคะ ของเล่นแบบที่ป้าวิใช้ฝึกหาซื้อได้ที่ไหนคะ หรือควรเป็นของเล่นแบบไหนหรือคะ เพราะเท่าที่เดินหา เจอแต่แบบที่ไม่ค่อยถูกใจ (คนฝึก) เท่าไหร่อ่าค่ะ
โดย: Pongo [24 ต.ค. 48 22:51] ( IP A:161.200.255.163 X: )
Add to Facebook  Add to Twitter  Add to Multiply  Add to Google  Add to Blogger  Add to Live
ความคิดเห็นที่ 1
   หนูลองเอาของต่างๆที่มีในบ้าน มาลองเล่นกับเขาดูก่อนค่ะ สังเกตว่าเขาชอบอะไรมากที่สุด หรือถ้าไม่ชอบของเล่น ก็ใช้ของกินก่อนก็ได้ ควรเริ่มฝึก โดยให้ รางวัล เป็นสิ่งที่ "ถูกใจหมาที่สุด" ไม่ใช่ ถูกใจคนฝึก ค่ะ

ของเล่น หมาที่ มักเป็นที่ ถูกอกถูกใจหมาทั่วๆไป มากที่สุด มักจะเป็น ลูกบอล ค่ะ เพราะมันกลิ้งได้เอง เมื่อหมาวิ่งไล่ ไปโดนเข้า ก็กลิ้งหนีได้อีก เป็นการกระตุ้นสัญชาติญาณ(นักล่า) ระดับพื้นฐานที่สุดแล้ว หมาบางตัวจะยิ่งถูกกระตุ้นมากขึ้นเมื่อตะปบโดน หรืองับลูกบอลแล้ว มีเสียงปี๊บๆ น่าตื่นเต้นเหมือนจับเหยื่อได้แล้วมันมีเสียงร้อง บางตัวที่มีแรงขับสูงมากในตัวเองอยู่แล้ว ก็ไม่สนใจว่าของเล่นจะมีเสียงหรือไม่ ขอให้มีการเคลื่อนไหว ก็ตื่นเต้นเต็มที่แล้ว

ของเล่นประเภท เป็นยางบีบแล้วมีเสียง เห็นมีขายตามร้านขายอุปกรณ์สัตว์เลี้ยงใหญ่ๆ เช่นร้านมนูญ หรือ Tong's Pet Shop แถวฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต ค่ะ แต่ แบบชิ้นที่เห็นนั่น ซื้อจากงาน Pet Expo

ปกติ เริ่มฝึกหมาแรกๆ เราพยายามเอาของต่างๆ หลายๆแบบ มาเล่นกับหมาก่อน เช่น ขว้างของเล่นออกไป(ต้องให้หมาเห็นของที่เราขว้าง) แล้ววิ่งไปเก็บ ทำท่าแย่งกับหมา แรกๆหมาอาจจะไม่สนใจ เราก็ลองเล่นคนเดียว ทำท่าทางทำเสียง พยายามทำให้ดูน่าสนุก ปกติหมามักจะมีอารมณ์ร่วมนึกสนุกไปกับเรา ก็จะมาร่วมวงวิ่งแย่งของเล่นกับเราด้วย

และของที่จะเล่นแบบนี้ได้น่าสนุกที่สุดก็คือลูกบอลกลมๆเกลี้ยงๆธรรมดาๆนี่แหละค่ะ เพราะขว้างออกไปแล้ว มันไม่ไปตกปุ๊ ลงเฉยๆ แต่มันวิ่งต่อได้ ถ้าคนฝึก ขี้เกียจวิ่งไปแย่งกับหมา ก็เจาะรูร้อยเชือกลูกบอล ให้เชือกยาวพอที่ขว้างลูกบอลออกไปได้ไกลตัวสักหน่อย แล้วพอหมาวิ่งไปถึงลูกบอล ก็กระตุกเชือกให้ลูกบอลกลิ้งหนีหมาต่ออีก
โดย: ป้าวิ [24 ต.ค. 48 23:40] ( IP A:203.172.116.244 X: )
ความคิดเห็นที่ 2
   ตอนนี้ ลองฝึกโดยให้อาหารอยู่ รู้สึกว่า ฝึกให้ focus ยากกว่าฝึกอย่างอื่นซะอีก
แหะๆ คือว่า มันมองเหมือนกัน แต่มันมอง "อาหารในมือเรา" ไม่ค่อยจะมองตาเราเท่าไหร่เลย ซึ่งมันไม่ถูกต้องหรือป่าวคะ หรือไม่เป็นไร
เพราะว่าเวลาสั่ง ส่วนใหญ่ต้องใช้สัญญาณมือช่วยอยู่ มันถึงทำตามอ่าค่ะ
โดย: Pongo [25 ต.ค. 48 22:00] ( IP A:161.200.255.163 X: )
ความคิดเห็นที่ 3
   คุณสมบัติสำคัญ ของคนที่จะฝึกหมาได้ดีนั้นคือ ต้องใจเย็นๆ ค่ะ

การฝึกให้หมามี โฟกัส หรือ การมีใจจดจ่อกับสิ่งหนึ่งสิ่งใด ตามที่เราต้องการ เปรียบเหมือน การฝึกให้หมามีสมาธิ ซึ่งเป็น พื้นฐานในการเรียนรู้ ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ ได้ อย่างมีประสิทธิภาพ สูงสุด

จะเห็นว่า โรงเรียนเด็กเล็กสมัยใหม่นี่ ก็มักจะมีการให้เด็ก ฝึกนั่งสมาธิที่โรงเรียนกันทุกวัน เพื่อให้เด็กเคยชินกับการรวมรวมความคิดให้นิ่ง เพื่อเตรียมเด็กให้พร้อมที่จะรับการเรียนการสอน

การฝึก โฟกัสให้หมา เป้าหมายหลัก คือ ต้องการให้หมา มีใจเป็นสมาธิ จดใจจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ดังนั้นเมื่อเริ่มฝึก ไม่จำเป็นที่ จะต้องให้หมา มองตา เรา เพียงให้หมา มีความสนใจกับอะไรก็ได้เป็นพิเศษ (เช่นในคนจะใช้วิธีเพ่งเทียน หรือภาวนา หรือตามลมหายใจเข้า-ออก ฯลฯ) และที่สำคัญอีกข้อหนึ่งคือ สิ่งที่หมาสนใจเป็นพิเศษนั้นต้องอยู่ที่เรา

ดังนั้น ถ้าหมา มองอาหารในมือเรา ก็ถูกต้องแล้ว เราต้องพยายามทำให้อาหารนั้น น่าสนใจให้นานที่สุด เมื่อสังเกตว่า หมาอยากได้มากที่สุด (อาจจะน้ำลายไหลเป็นสาย หรือหุบปากแล้วแลบลิ้นเลียริมฝีปาก กลืนน้ำลาย) จึงให้หมากิน ระหว่างการฝึกอาจมีการเลื่อนตำแหน่งมือที่ถืออาหารล่อให้หมามองตามไปมาช้าๆ ไปด้วยก็ได้

ทำแบบนี้ซ้ำๆต่อไป หมาจะเริ่มมีสมาธินิ่งขึ้นเรื่อยๆ ทำแต่ละครั้ง อย่าซ้ำซากมากเป็นเวลานานจนหมาเบื่อ ครั้งละ 3-4 รอบก่อนก็พอ

เมื่อหมาเริ่มมีสมาธิแน่วแน่กับอาหารในมือเราพอสมควรแล้ว ต่อไปจึงค่อยยืดเวลาให้หมาโฟกัสนานขึ้น แม้หมาแสดงอาการอยากได้ที่สุด(ที่เคยให้เขาได้กิน) ก็ยังไม่ให้กิน มาถึงจุดนี้ หมาจะเริ่มมองตาเรา (ด้วยความสงสัยว่า ทำไมไม่ให้กินสักที) ทันทีที่หมาสบตา เราปุ๊บ สั่ง ว่า "มอง" แล้ว ให้หมากินทันที หมาจะเริ่มเรียนรู้ว่า การที่เขา สบตาเรา ..กับคำพูด "มอง"...และ การได้กิน ว่า ทั้ง สามสิ่งนี้มีความสัมพันธ์กัน
โดย: ป้าวิ [26 ต.ค. 48 9:15] ( IP A:203.172.116.224 X: )
ความคิดเห็นที่ 4
   แล้ว ตอนที่มันมอง บางทีมันก็กำลังนั่ง บางทีมันก็กำลังหมอบอยู่ มันจะไม่สับสนกับคำสั่งที่จะสอนต่อไปว่าให้นั่งหรือหมอบหรอคะป้าวิ??
โดย: Pongo [26 ต.ค. 48 13:30] ( IP A:161.200.255.163 X: )
ความคิดเห็นที่ 5
   หมาเขาคิดอะไรตรงไปตรงมาไม่ซับซ้อนค่ะ เมื่อเราทำให้เขามีสมาธิกับอะไร เขาก็จะมีสมาธิอยู่แต่ที่นั่นที่เดียว...ถ้าเราชี้นำเขาอย่างถูกวิธีนะคะ ต่อไป เมื่อฝึกนั่ง หมอบ ยืน หรือแม้แต่ เดินชิด ถ้าเขามีสมาธิแน่วแน่อยู่ที่เรา เขาก็จะทำตามคำสั่งนั้นๆได้ดีขึ้น และนานขึ้น

ถ้ายังจำได้ หมาตัวที่ตาเจี๊ยบแกเอาไปฝึกให้ดูที่วัดไร่ขิงตัวนั้น จะเห็นว่าเขามีโฟกัสไปที่ของเล่นอย่างแน่วแน่มากๆ แม้จะเป็นหมาขี้กลัว ระแวงเข้าขั้นประสาทอ่อน แต่การมีสมาธิ ทำให้เขาเดินเข้าไปในฝูงคน และมีคนเดินผ่านไปมาในระยะกระชั้นชิดได้อย่างสบาย โดยเขาไม่ว่อกแว่กหรือแสดงอาการประสาทอ่อนให้เห็นเลย ดูตาของหมาที่มีสมาธิ จะมองเขม็งเต็มตา ไม่ล่อกแล่ก

ที่จะสับสนน่าจะเป็นเจ้าของหรือคนฝึกมากกว่า แนะนำให้เจ้าของฝึกทำสมาธิด้วยค่ะ อิอิ

โดย: ป้าวิ [26 ต.ค. 48 21:29] ( IP A:203.172.116.210 X: )
ความคิดเห็นที่ 6
   แล้วถ้าหมาไม่ประสาทอ่อน แต่ประสาทรับประทานล่ะทำไงอ่ะป้า
โดย: ตาเฉิ่ม (The Expert) [26 ต.ค. 48 21:55] ( IP A:58.64.100.123 X: )
ความคิดเห็นที่ 7
   เหอๆ ท่าทางคนฝึกเองจะประสาทด้วยแหละค่า อิอิ เพราะเดี๋ยวก็จะเปิดเทอมอีกแล้ว แย่จังเลย
ตอนนี้มันก็จ้องเหมือนกันนะคะ แต่แค่ช่วงสั้นๆ พอได้ของกินเสร็จก็หันไปทางอื่นอีก -_-! (ขี้โกงง่ะ) ต้องเรียกให้มันมอง หรือไม่ก็เอาของกินไปล่อใกล้ๆ ถึงหันมาสนใจ แต่บางที ขนาดเอาของกินไปจ่อที่ปากแล้ว มันก็ยังไม่สนใจก็มี แต่พอจะเลิกฝึก เทอาหารลงจาน คราวนี้ จ้องเขม็งเลย (อะไรของมันเนี่ย คนฝึก งง จริงๆ) ก็เลยยังไม่ให้กิน หยิบอาหารมาฝึกต่อ (555 โกงมันกลับคืนมั่ง)
สงสัยอีกนานเลย กว่าจะฝึกอย่างอื่นต่อได้ เพราะยอมรับว่า บางทีคนฝึกก็งงๆเองเหมือนกัน ว่าสั่งแบบนี้ หมาจะเข้าใจผิดหรือป่าว ดังนั้น สรุปว่า ไม่ว่ามันจะอยู่ท่าไหน ขอให้มันมองเรา(หรืออาหารในมือ)ก็พอ ก็ให้มันกินเลยช่ายมั้ยคะ อิอิ แต่จะแก้ยังไง ถ้ามันขี้โกง กินแล้วก็หันไปทางอื่นเลย จะทำอย่างไรดีคะ (รู้สึกว่าตัวเองถามเยอะไปหรือป่าวเนี่ย)
โดย: Pongo [26 ต.ค. 48 22:34] ( IP A:161.200.255.163 X: )
ความคิดเห็นที่ 8
   วันนี้ต้องออกไปธุระทั้งวัน แต่เป็นห่วงนักเรียน เลยแวะเข้ามาดูก่อน ว่าที่ตอบๆอะไรไปนี่ ยังมีอะไรสงสัยอีกมั้ย อือมมม.....ก็อย่างที่บอกมานานแล้ว เรื่อง การฝึกหมา เนี่ย ก่อนอื่น ต้อง รู้หมา...รู้เรา ให้ทะลุเสียก่อน จึงจะลงมือฝึกได้ตลอดรอดฝั่ง และอีกอย่างที่บอกเสมอว่า ต้อง ใจเย็นๆ เรื่องแบบนี้ ไม่ใช่วันสองวันจะทำได้เลย หมาบางตัวอาจทำได้เร็ว บางตัวอาจทำได้ช้า ขึ้นอยู่กับทั้งตัวหมาและคนฝึกด้วย

ตามที่เล่ามา หมาของหนู แสดงออกชัดเจนว่า ไม่มีสมาธิกับอะไรเลย นอกจาก อาหารที่อยู่ในชาม (โชคดีที่ยังสนใจอะไรจริงจังอยู่บ้าง) เมื่อรู้อย่างนั้นแล้ว ก็ ใช้โอกาสก่อนจะให้อาหารแต่ละมื้อ ในการฝึก ถืออาหารทั้งชามนั่นแหละ แล้ว ให้เขาโฟกัสที่ชามอาหาร หรือเอาอาหารใส่ถุงพลาสติคใสที่ถือง่ายๆมองเห็นชัดๆเปิดปากถุงเตรียมไว้(ให้หยิบง่ายๆเมื่อจะให้รางวัล) แสดงให้เขารู้ว่า อาหารอยู่ในถุงนี้นะ

อย่าเอาของกินไปล่อใกล้ๆ หรือไปจ่อปาก ไม่ต้องเรียก ให้ยืนหรือนั่งในท่าปกติของเรา อย่าเข้าไปหาหมา ต้อง ให้หมาเข้ามาสนใจกับอาหารที่เราต้วยตัวเขาเอง ถ้าเขาสนใจอย่างอื่น ก็รออยู่เฉยๆ จนเขาหันมามองเอง ครั้งแรกๆ รีบให้อาหารเป็นรางวัลทันทีที่เขามอง ครั้งต่อไปจึงค่อยยืดเวลาให้เขามองนานขึ้นอย่างที่บอกมาแล้ว ควรลดอาหารมื้อก่อนหน้าหน้าการฝึกสักหน่อย ให้หมามีความอยากกินอาหารมากขึ้น จะช่วยให้หมาสนใจอาหารดีขึ้น

แต่ถ้าใจร้อน คงจะต้องใช้วิธีฝึกแบบดั้งเดิม ที่วันเดียวก็ทำได้ เช่นการสั่งซ้ำๆๆแล้วใช้การดึง การกดตัว หรือกระตุกโซ่ ให้หมาทำท่าที่ต้องการ ซึ่ง หมาไม่ได้เรียนรู้ จากการสื่อด้วยความเข้าใจ แต่เรียนรู้จากการถูกกระทำ

เป็นคำตอบที่ว่า...ทำไมหมาถึงทำบ้าง ไม่ทำบ้าง เพราะหมาไม่เข้าใจคำสั่งจริงๆ แต่มักรอให้คนฝึกทำท่าว่าจะลงมือ จึงจะทำ และการออกคำสั่งซ้ำไปเรื่อยๆๆจนกว่าหมาจะทำ ก็จะทำให้หมาเคยชินและเข้าใจว่า คำสั่งนั้นต้องมี 3-4-5 คำ (ถ้าสั่งคำเดียว หมาจะไม่มั่นใจว่าเป็นคำสั่งจึงยังไม่ทำ)

ในรูปจะเห็นลูกหมาสองตัวโฟกัสที่ของเล่น ก่อนที่จะให้เขาได้เล่น

โดย: ป้าวิ [27 ต.ค. 48 7:34] ( IP A:203.172.116.229 X: )
ความคิดเห็นที่ 9
   ขอบคุณค่า ป้าวิ กระจ่างขึ้นอีกเยอะเลยค่ะ
โดย: Pongo [28 ต.ค. 48 2:46] ( IP A:61.91.213.220 X: )
ความคิดเห็นที่ 10
   เอาเป็นว่าเราคุยกันเรื่อง Attention กันแลกเปลี่ยนความรู้กัน คือผมก็ไม่ใช่ผู้รู้อะไรหรอก เรียกว่าใฝ่รู้ซะมากกว่า หมาคุณเท่าที่อ่านดูจากกระทู้ก่อนๆ พอจะจำได้ว่าอายุ ราวๆ 8-9 เดือน อันดับแรกคุณต้องสอนบทเรียนง่ายๆให้กับหมาก่อน คือ 1. หมานั่งข้างหน้าคุณแล้วมองหน้าคุณ 2. หมานั่งคุณยืนอยู่ข้างๆแล้วหมามองหน้าคุณ 3.หมายืนแล้วคุณยืนอยู่ข้างๆแล้วหมามองหน้าคุณ ทั้ง 3 อย่างคุณไม่เคลื่อนไหวและหมาก็ไม่เคลื่อนไหว แต่หมาต้อง Attention & Focus อยู่ที่คุณตลอดเวลา มันจะง่ายสำหรับหมา และตัวคุณ

เมื่อหมาเข้าใจที่จะมองคุณสนใจคุณเป็นจุดเดียวดีแล้ว ค่อยเริ่มที่จะเคลื่อนไหว โดยคุณให้หมายืนคุณยืนอยู่ข้างๆหมามองหน้าคุณ คุณกระทำโดยย่ำเท้าอยู่กับที่ หรือวิ่งอยู่กับที่ แต่หมาต้องมองหน้าคุณ เมื่อหมามันเข้าใจดีคุณค่อยเคลื่อนไหวจริง โดยเคลื่อนไหวอย่างช้าๆ

จริงๆแล้วการฝึก เชื่อฟังคำสั่ง โดยการใช้ของเล่น หรือ อาหาร มันแล้วแต่หมา หมาบางตัวมันชอบอาหาร มากกว่าของเล่น ส่วนหมาบางตัวมันชอบของเล่นมากกว่าอาหาร ผู้ฝึกต้องรู้ว่าจะใช้อะไรเป็นรางวัลกับหมา

ที่ว่าแรกๆมันมองดี ก็เปรียบเหมือนว่าหมานะมันอยู่ในช่วงที่กำลัง peakคุณก็ฝึกมันอยู่ในช่วงเวลานั้นละครับ ถ้าอาการเริ่มเบาลงคุณก็กระตุ้นมันด้วยอาหาร หรือของเล่นให้มันกลับมา Peak อีก

น้องใหม่ GSD
โดย: [5 เม.ย. 47>
โดย: tent [29 ต.ค. 48 4:53] ( IP A:58.8.128.87 X: )
ความคิดเห็นที่ 11
   การเริ่มฝึก พอดีผมพึงจะได้ลูกหมามาตัวหนึ่ง ผมจะเล่าให้ฟังว่าผมเริ่มฝึกมันยังไงเป็นตอนๆไป นะครับ ผมได้ลูกหมามาตอนอายุ 6 อาิทิตย์ รับมาเมื่อวันศุกร์ที่ 6/2/47 สิ่งที่ผมเริ่มต้นในการฝึกเจ้าลูกหมาของผมก็คือ การฝึกให้อยู่้ในกรง 2-3 วันแรกมันร้องแทบเป็นแทบตาย แต่ตอนนี้สบาย เรียบร้อยแล้วครับนอนสบายใจเฉิบในกรง นานๆจะฉี่ในกรงสักครั้ง เรื่องอึ หมดห่วงไปเลยครับไม่มีสักครั้งเดียว ทำไมผมถึงเลี้ยงหมาในกรง เพราะเมื่อหมาอยู่ในกรงต้องมีคนปล่อยๆ คือ คนที่จะฝึกเจ้าลูกหมาตัวนี้ เมื่อลูกหมาเห็นเราทุกครั้งแปลว่าจะได้ออกไปจากกรงมันจะดีใจมาก ตื่นเต้นมากที่เห็นผู้ฝึก ดังนั้นในทางจิตวิทยาลูกหมาจะดีใจทุกครั้งที่เห็นเรา เมื่อออกมาก็ได้ไปฉี่ ไปอึ ไปกิน ไปเล่นเมื่อทำเป็นประจำก็จะกลายเป็นความเคยชิืน จากความเคยชินก็จะกลายเป็นนิสัยประจำตัว คือ เมื่อเห็นเราก็จะมีความสุขทุกครั้ง ยิ่งลูกหมาได้นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ การได้ออกจากกรงการเล่น การกิน จะยิ่งมีพลังมากของความต้องการมากกว่าปกติ ยิ่งมันโตขึ้นพลังของมันก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

แต่ตอนปล่อยออกมาผมจะเล่นกับลูกหมาทุกครั้ง ๆละไม่นาน ประมาณ 3-4 นาที แล้วจะเลิกเล่นเอากลับเข้ากรง การเล่นก็เล่นด้วยของเล่นที่มันชอบ ส่วนใหญ่ผมจะให้มันเล่นเก็บของ ไล่กวดของเล่น เป็นส่วนใหญ่ เพราะการเล่นแบบนี้จะเป็นการพัฒนาแรงขับไล่ล่าไปในตัว แต่ผมจะเล่นในระยะสั้นๆ โดยดูจากการเล่นเมื่อมาถึงจุดเกือบจะสูงสุดของความต้องการของการเล่น ผมจะหยุดไม่เล่นอีกดังนั้นความต้องการของการเล่นจะยังมีอยู่ตลอดในตัวลูกหมา เมื่อมันโตมากขึ้นมันจะเป็นหมาที่ติดของเล่นจะง่ายสำหรับการฝึกมากขึ้น

โดย น้องใหม่GSD
โดย: [13 ก.พ. 47 11:52>
โดย: tent [29 ต.ค. 48 4:54] ( IP A:58.8.128.87 X: )
ความคิดเห็นที่ 12
   การฝึกเดินในสายจูง หรือนอกสายจูง เป็นการฝึกที่แสนจะยากประเภทหนึ่งในขั้นตอน การฝึกเชื่อฟังคำสั่ง ถ้าคุณเคยเห็นสุนัขที่ได้ฝึกมาเป็นอย่างดีในขั้นตอน การฝึกเชื่อฟังคำสั่ง การเดินชิดข้างนี่นะครับมันแสนจะน่าดูเป็นสิ่งที่น่าชมเป็นอย่างยิ่ง ก่อนที่คุณจะเริ่มฝึกการเดินชิดข้างทั้งในสาย หรือนอกสายจูง คุณต้องฝึกให้สุนัขรู้จักมองที่หน้าของคุณก่อนเป็นอันดับแรก เรียกว่า eye contact ซึ่งจะเป็นบทเรียนอันดับแรกของสุนัขที่จะเริ่มฝึกในขั้นตอน การฝึกเชื่อฟังคำสั่ง เริ่มที่ให้สุนัขนั่งข้างหน้าแล้วมองตาคุณ สนใจแต่คุณเป็นอันดับแรก ต่อไปคุณก็ฝึกให้เขานั่งข้างๆ แล้วมองตาคุณ สนใจแต่คุณเป็นอันดับต่อไป เมื่อสุนัขให้ความสนใจที่จะมองแต่ตาของคุณไม่ว่าจะเป็นทางด้านหน้า หรือด้านข้าง คุณถึงค่อยจะเริ่มมาฝึกการเดินชิดข้าง เวลาฝึกสุนัขๆต้องอยู่ในสายจูงตลอดเวลา (แนะนำให้ใช้สายจูง ยาวประมาณ 70 ซม. ไม่มีห่วงมือจับที่ปลาย หาสายที่มีน้ำหนักเบาๆ) เมื่อเริ่มฝึกที่จะฝึกหาแนวกำแพงรั้วบ้านเป็นหลัก ให้แนวกำแพงอยู่ด้านซ้ายมือของคุณๆยืนสุนัขนั่ง ให้กำแพงอยู่ห่างสุนัขสัก 50 ซม.(แนวกำแพงจะเป็นอุปกรณ์ธรรมชาติที่ช่วยให้สุนัขอยู่ชิดคุณตลอดเวลาโดยที่คุณไม่ต้องไปดึงหรือกระชากสายจูง) สุันัขต้องจ้องมองตาของคุณอยู่ตลอดเวลา ออกคำสั่ง ชิด คุณเดินเป็นเส้นตรง ไม่ช้าและไม่เร็วจนเกินไป เดินไป 2-3 เมตรโดยที่สุนัขเดินตามและยังจดจ้องมองคุณอยู่ตลอดเวลาในขณะที่คุณเดิน เมื่อถึงเป้าหมาย 2-3 เมตรให้หยุด เมื่อหยุดสุนัขต้องนั่ง (ระยะทางการเดินให้ฝึกจากสั้นๆเข้าไว้อย่าฝึกยาวจนเกินไป) ถ้าสุนัขทำได้ดีให้เล่นบอล หรือให้ขนมแก่สุนัข แล้วค่อยเริ่มฝึกใหม่อีก 2-3 ครั้ง ถ้าสุนัขทำได้ดีให้หยุดการฝึกในทันที และเล่นกับสุนัขด้วยความสนุกสนาน ต้องฝึกการเดินชิดในสายจูง จนสามารถเดินเลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา กลับหลังหัน กึ่งกลับหลังหัน โดยที่สุนัขจดจ้องมองมายังผู้ฝึกตลอดเวลา แล้วค่อยมาฝึกแบบไม่มีสายจูง

การฝึกสุนัขผู้ฝึกต้องวางแผนมาก่อนแล้วว่าจะฝึกอะไร การฝึกต้องไม่ใช้เวลายาวนานเกินไปครั้ง แค่ 5-10 นาที ก็พอแล้ว อาทิตย์หนึ่ง 2-3 ครั้งก็เพียงพอแล้วครับ

ทดลองดูนะครับ

โดย น้องใหม่ GSD
โดย: [14 ม.ค. 47 13:20>
โดย: tent [29 ต.ค. 48 4:54] ( IP A:58.8.128.87 X: )
ความคิดเห็นที่ 13
   เรื่องตะกละนี่ ควรจะเป็นเรื่องที่คนเลี้ยงหมา โดยเฉพาะคนที่อยากฝึกหมา ชื่นชอบมากๆ สมควรที่จะรักษาความตะกละของเขาไว้ให้คงอยู่ให้นานที่สุดด้วยซ้ำไป

ส่วนการควบคุมหมาให้สงบ ก่อนให้เขากิน มีหลายวิธี แล้วแต่หมาและเจ้าของค่ะ แต่หลักการเดิมๆ คือ ทำดีให้รางวัล เช่นเมื่อสั่งเขานั่ง พอเขานั่งแล้วก็ต้องให้เขากินสักคำ ชมเขาบ้าง

การฝึกตรงนี้ พอจะวางชาม ต้องสั่งนั่งและอีกมือจับปลอกคอให้แน่นอย่าให้เขาเข้ามาที่ชามได้ พอวางชามลงแล้ว รอให้เขาสงบก่อน ค่อยปล่อยปลอกคอพร้อมคำสั่ง"กิน" แรกๆ พอเขาสงบลงปั๊บ ก็สั่ง"กิน"ได้ทันที ต่อไปก็ค่อยให้เขานิ่งนานขึ้นๆ

ถ้ายังดิ้นตูมตาม ไม่ยอมสงบ ก็ไม่ปล่อยให้กิน ควรฝึกในสายจูง จะบังคับง่ายกว่า เมื่อวางชามอาหารลง ถ้าเขากระโจนใส่ชามอาหาร ให้กระตุกสายจูงพร้อมสั่ง"ไม่" ให้หมากระดอนกลับมาอย่างเร็ว แล้วสั่ง"นั่ง" ถ้าเขานั่งลงตามสั่งให้ชมเชยแล้วสั่ง"กิน"พร้อมปล่อยหมาออกไปที่ชามได้

วิธีใช้สายจูง อย่าดึงไว้ตลอด ให้กระตุกอย่างแรงแล้วหย่อนสายตามปกติทันที ถ้าหมากระโจนออกไปอีกก็กระตุกอย่างแรงอีก พร้อมคำสั่ง ที่บอกไว้ข้างบน

ครั้งแรกๆ เมื่อหมานั่งลงตามสั่งก็ควรอนุญาตให้เขากินทันที แล้วค่อยๆยืดเวลาทีละน้อย ต่อไป ก็ให้หมาสบตาก่อน จึงให้กิน เจ้าของต้องอ่านอาการหมาให้ออก ในช่วงฝึก อย่าไปกดดันหมามากเกินไป เช่นตอนนั่งรอ ต้องสั่ง"กิน" ก่อนที่หมาจะหมดความอดทน แล้วหลุดจากท่านั่งเสียเอง อย่างที่เคยบอกไว้ข้อก่อนนี้ ว่าในช่วงเริ่มฝึกนี้ ต้องจับตาดูหมาให้ดี อย่าปล่อยให้หมาลุกเองโดยเราไม่สั่งเป็นอันขาด

ความจริง ท่าต่างๆที่อยากฝึกเขา เอามาฝึกตอนก่อนอาหารได้หมดแหละค่ะ ตั้งแต่ท่าเบสิค คือเดินชิด มองหน้า(ที่จริงมองชามอาหารที่ถือไว้) ถือชามอาหารในมือขวา เดินไปมาเรื่อยๆ เตรียมหยิบอาหารให้มีอยู่ในมือซ้ายตลอดเวลา ด้วยความเร็วปกติ ไม่ต้องหันไปมองหมา หมาจะวิ่งตามกระโดดโลดเต้นก็ช่างเขา เมื่อไรที่เขาหยุดโดดและเดินมาชิดข้างๆเรา เราก็พูดคำสั่ง"ชิด" แล้วส่งอาหารให้กินทันที เมื่อเห็นว่าเขาทำท่าที่เราต้องการ

ถ้าเขาออกห่างไป เราก็หยุดให้อาหาร ไม่ต้องเรียกเขามาหา เดินต่อไปเรื่อยๆ พอเขาเข้ามาได้ระยะที่เหมาะสม ก็ให้เขากิน..ต่อเนื่องไปอีก ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ

ไม่นานเขาจะเริ่มเดินชิดข้าง และคอยมองเพื่อรอรับอาหารจากมือเรา เราก็เริ่มรอให้เขาสบตาเราก่อนจึงให้อาหาร ถ้ามองแต่มือ หรือชามอาหาร ก็ยังไม่ให้กิน พอสบตาปุ๊บยืนอาหารปั๊บ ไม่นาน เขาจะคอยมองหน้าเพื่อหาโอกาสสบตาเราตลอดเวลา เพราะอยากกินอาหาร

นี่แหละคือข้อดีของหมาตะกละ

ส่วนเรื่องกินมูมมาม จะให้กินให้เรียบร้อยนั้น ป้าวิเห็นว่าจะเป็นการฝืนธรรมชาติหมามากไปมังคะ เขากินอย่างนั้น ก็ไม่ได้ทำให้เราลำบากเดือดร้อนอะไร เราต้องปรับตัวเข้าหาหมาบ้าง อะไรทนได้ก็ทนๆแกบ้างเถอะค่ะ
โดย: ป้าวิ [16 มิ.ย. 47 10:35>
โดย: tent [29 ต.ค. 48 4:54] ( IP A:58.8.128.87 X: )
ความคิดเห็นที่ 14
   ตอนนั้นอายุประมาณ สามเดือนค่ะ ตอนนี้ก็กำลังฝึกให้เล่นกับกิน ให้เก่งๆก่อน เอาออกมาฝึกวันละ 4-5-6 ครั้ง ครั้งละ 3-5 นาที เล่นกับกินล้วนๆ กำลังฟันร่วงกราวๆ คงเกือบหมดปากแล้วละค่ะ เดือนหน้าน่าจะเริ่มสอน เรื่องการสื่อกัน ได้เสียที

หมาที่เล่นเก่ง กัดเก่ง อย่าได้ไปดุหรือผลักไสเขาเป็นอันขาดเชียวนะคะ ดีที่สุดให้ใช้หนังนิ่มๆ หรือกระสอบ ตัดเป็นผืน กว้างสัก 50 ซม. เอามาสะบัดเบาๆล่อให้เขาไล่งับ งับได้ก็ชมเขา แล้วยื้อกับเขาเบาๆ ให้เขาดึงไปได้บ้าง เราดึงกลับมาบ้าง สักพักก็ปล่อยให้เขาได้ผ้าไปบ้าง เล่นกันแบบนี้ พอให้หมาสนุกมากๆ ก้อเลิกเล่น เก็บผ้า เก็บหมา อย่าให้หมาได้เล่นผ้าเองเป็นอันขาด

พอถึงเวลากิน ก็เตรียมอาหารไว้เท่ากับ 1 มื้อ เอาอาหารถือใส่มือ เรียกหมามาหา ให้หมาดมอาหาร แล้วก็เริ่ม เดินชิดได้แล้วค่ะ สักก้าว สองก้าว ถ้าหมาดมแล้วไม่ได้กินสักที ก็จะพยายามมองหน้าเรา(เพื่อถามว่า ทำไมไม่ให้กินสักทีวะ) พอหมาสบตาคนปั๊บ ก็ชมเขาแล้วให้กินอาหารปุ๊บ ระหว่างนี้ไม่ต้องหยุดเดิน

ทุกครั้ง ที่หมาเข้ามาเดินชิดตัวเรา ในระยะที่เราพอใจที่สุด ก็พูดคำสั่ง"ชิด" ชมหมา ให้กินอาหาร ทำซ้ำไปเรื่อยๆ จนอาหารหมดมื้อ หรือจนเราขี้เกียจทำ ก็เอาชามอาหารมาให้เขากินได้เลย

ทุกเวลาที่เอาหมาออกมาเล่น เป็นเวลาทอง ที่จะสอนให้เขาทำอะไรก็ได้ โดยให้เขาฝึกสังเกตความสัมพันธ์ของกิริยาของเขาเอง กับเสียงของเรา ที่เปล่งออกมา ในเวลาที่เขาทำท่านั้น เช่น เมื่อหมา"กำลังวิ่งเข้ามาหา"เรา ก็พูดคำว่า"มานี่" ทุกครั้ง และเมื่อหมาเข้ามาถึงก็พูดคำว่า"มานี่"และชมเขา+ให้รางวัล หมาจะเข้าใจคำสั่ง"มานี่"อย่างรวดเร็ว และเข้าใจอย่างชัดเจน ไม่สับสน

เวลาหมากำลังนั่งลง พอก้นหมาแตะพื้น เราก็พูดคำว่า "นั่ง" ทุกครั้ง แล้วชม+ให้รางวัล ทำซ้ำๆแบบนี้บ่อยๆ หมาจะเข้าใจเช่นเดียวกัน และอีกหลายคำสั่ง ที่เราสามารถใช้กิริยาอาการของเขาเอง สอนให้เขาเข้าใจความหมายของคำสั่งที่เราต้องการสื่อได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องดึงโซ่ กระตุกคอ กดก้น ฯลฯ

อย่าปล่อยให้หมาวิ่งเล่นสะเปะสะปะทั้งวัน ต้องสอนให้เป็นพลเมืองหมาที่ดีมาตั้งแต่ยังเล็กๆ ต้องสอนให้รู้จักมีระเบียบวินัย ปล่อยเล่นและเก็บเป็นเวลา อย่าเอาของเล่นทิ้งไว้ให้หมาเล่นเอง หมาต้องได้เล่นของเล่นกับเราเท่านั้น หาวิธีเล่น ที่ดูว่าหมาสนุกและชอบที่สุด เล่นกับเขา เพื่อให้เขา"ติด" ของเล่นนั้นให้มากที่สุด

ใครมีอะไรเพิ่มเติม หรือมีวิธีอื่นๆ ที่ใช้ได้ผลดี ก็มาเล่าสู่กันฟัง เอาไว้เป็นทางเลือก สำหรับคนที่อยากฝึกหมาเองค่ะ
โดย: ป้าวิ [22 ก.ย. 47 16:55>
โดย: tent [29 ต.ค. 48 4:55] ( IP A:58.8.128.87 X: )
ความคิดเห็นที่ 15
   หมามันเป็นสิ่งมีชีวิต ไม่ใช่หุ่นยนต์หรือเครื่องจักรกล ที่เราจะบอกได้ว่า รุ่นนี้ ตัวนี้เป็นอย่างไร ทำขึ้นมาเพื่ออะไร มีฟังชั่นการทำงานอย่างไร วิธีควบคุมใช้งานอย่างไร แต่ละรุ่นจะมีปัญหาอะไรบ้าง และถ้าขัดข้อง จะแก้ไขปัญหาต่างๆอย่างไร และทำเป็นคู่มือประจำรุ่นเอาไว้ เปิดหาข้อมูลกันได้ง่ายๆ

แม้แต่เครื่องจักรกลเอง แค่อ่านคู่มือ ก็ยังไม่เข้าใจอยู่ดี ต้องทดลองใช้งานจริงพร้อมเปิดคู่มือ กว่าจะใช้งานได้คล่องก็ไม่ใช่แค่วันสองวัน

หมาเป็นสิ่งมีชีวิต มีความคิดเป็นของตัวเอง มีจิตใจและสมอง เหมือนเราๆท่านๆทั้งหลายนี่แหละ แต่หมามันดีกว่าคน ตรงที่มันคิดอะไรตรงไปตรงมา เป็นเหตุเป็นผลมากกว่าคน

คนบางคนที่คิดตรงไปตรงมา(ได้เหมือนหมา)จึงสามารถหาวิธีทำความเข้าใจกับพฤติกรรม และหาวิธีสื่อกับหมาได้สำเร็จ จนเขียนเป็นตำรา ออกมาให้คนอื่นๆได้เอาไปทำตาม สำเร็จมั่งไม่สำเร็จมั่ง ขึ้นอยู่กับคน..ไม่ได้ขึ้นอยู่กับหมาสักเท่าไหร่

คนเลี้ยงหมา ไม่ว่าหมาแบบไหน พันธุ์ไหน คุณสมบัติข้อแรกที่สำคัญที่สุด คือ ต้องเป็น คนรักหมาด้วยความจริงใจ

เรื่องของ"ความรัก"นี่ก็ต้องพูดกันอีกยาวมาก เพราะความรักที่แท้จริง มันไม่มีเหตุผล เทียบได้กับการเลี้ยงลูก ก็ต้องรักลูกด้วยความจริงใจรักที่ตัวเขาจริงๆ ไม่ใช่รักเพราะ เป็นลูกเรา รักเพราะลูกเรามันหน้าตาน่ารัก หรือรักเพราะลูกเรามันเรียนเก่ง ฯลฯ
โดย: ป้าวิ [4 ส.ค. 47 8:12>
โดย: tent [29 ต.ค. 48 4:55] ( IP A:58.8.128.87 X: )
ความคิดเห็นที่ 16
   **การฝึกที่ถูกต้องมี 3 ขั้นตอนดังนี้ :
------------------------------------
1. The Learning Phase
2. The Correction Phase
3. The Distraction Phase


1. The Learning Phase
.....สอนให้หมารู้ ความหมายของคำสั่งเราโดยใช้การกระตุ้น หมายความว่า เราสอนโดยใช้ อาหารหรือของเล่นหลอกล่อให้หมา ทำตามที่เราต้องการในแต่ละแบบฝึกหัด

2. The Correction Phase
.....สอนให้หมารู้ว่า การไม่ทำตามคำสั่ง (ในกรณีที่ หมาเข้าใจคำสั่งได้ดีแล้ว) จะถูกลงโทษ

3. The Distraction Phase
.....การจะสอนหมาในที่ ที่มีสิ่งรบกวน ควรจะเริ่มต้นในที่ ที่คุ้นเคย ( เช่น การเริ่มต้นให้มีคนแปลกหน้าเดินผ่านไปผ่านมาระหว่างการฝึก ควรจะเริ่มต้นฝึกในที่ ที่เคยฝึกอยู่ประจำ) และเราจะเพิ่มสิ่งรบกวนมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงระดับที่ สามารถทำได้ในสวนสาธารณะ ที่มีหมาตัวอื่นอยู่ด้วย

..........ในชั้นเรียนที่สอนเจ้าของสุนัขในการฝึกขั้นตอน Learning มีการสอนที่ค่อนข้างเหมาะสม แต่มักจะมีข้อผิดพลาดในขั้นตอน Correction และ Distraction ในชั้นเรียนที่เน้นการสอนสุนัขโดยใช้ Clicker และใช้ Chock collar ในการ Correction และไปฝึกในสถานที่ ที่มีสุนัขอื่นอยู่เยอะ มันเหมือนเป็นการข้ามขั้นตอนเกินไป สุนัขควรจะเรียนรู้ ไปทีละขั้นตอน การจะเริ่มให้มีการ Correction หรือ Distraction นั้น ควรจะเริ่มเมื่อ สุนัข เข้าสู่วัยที่เหมาะสมแล้ว ในช่วงอายุ 6- 8 เดือน
โดย: tent [29 ต.ค. 48 6:42] ( IP A:58.8.128.87 X: )
ความคิดเห็นที่ 17
   1. The Learning Phase
.....สอนให้หมารู้ ความหมายของคำสั่งเราโดยใช้การกระตุ้น หมายความว่า เราสอนโดยใช้ อาหารหรือของเล่นหลอกล่อให้หมา ทำตามที่เราต้องการในแต่ละแบบฝึกหัด

https://www.pantown.com/board.php?id=7500&name=board2&topic=1&action=view

https://www.pantown.com/board.php?id=7500&name=board2&topic=7&action=view

https://www.pantown.com/board.php?id=7500&name=board2&topic=10&action=view

https://www.pantown.com/board.php?id=322&name=board1&topic=438&action=view

https://www.pantown.com/board.php?id=322&name=board1&topic=439&action=view

https://www.pantown.com/board.php?id=7500&name=board13&topic=1&action=view
โดย: tent [29 ต.ค. 48 7:01] ( IP A:58.8.128.87 X: )

คลิกที่นี่เพื่อกลับหน้าบ้าน