ทัศนะของผู้ตัดสินสุนัขพันธุ์เยอรมันเชพเพอด
    บทความที่กำลังจะอ่านอยู่ ได้เขียนจากประสพการณ์ที่คลุกคลีอยู่กับวงการสุนัขมานานประมาณ 40 ปี และอยู่ในแวดวงการจัดประกวดอีกทั้งท่านยังเป็นกรรมการตัดสินมานานแล้ว เป็นเรื่องที่ท่านได้พบเห็นและเจอมา ซึ่งผมขออนุญาตคัดบทความนี้มาจากการเขียนของ คุณสถิตย์ อุชชิน ว่าการที่จะเข้ามาเป็นผู้ตัดสิน จำเป็นต้องมีคุณสมบัติและเรียนรู้ในสิ่งต่างๆ หลายประการด้วยกันคือ
1. ต้องเคยเป็นผู้เลี้ยงสุนัข พันธุ์เยอรมันเชพเพอด มาก่อน ผู้เลี้ยงสุนัขย่อมมีความเข้าใจ และรู้จิตใจของสุนัขดี เพราะสุนัขเป็นสัตว์ที่ใกล้ชิดคน เป็นเพื่อนที่ซื่อสัตย์ สามารถฝีกและใช้งานได้อย่างดี วงจรชีวิตของมันจะเปลี่ยนไปตามอายุความเติบโต เช่นรูปร่าง สุขภาพ นิสัย ผู้ที่เลี้ยงสุนัขจึงต้องเข้าใจในลักษณะต่างๆ ของสุนัขในแต่ละวัยและเพศได้ดี
2. ต้องเป็นผู้ผสมพันธุ์ และผ่านการเลี้ยงดูลูกสุนัขที่เกิดขึ้นจาก คอกของท่านมาก่อน การเป็นผู้ผสมพันธุ์จะทำให้เข้าใจในเรื่องต่างๆ ของวงจรสุนัขที่เริ่มเกิด จนกระทั่งเติบโตจนสามารถเข้าประกวด รวมทั้งรู้ถึงสายพันธุ์ของสุนัขตัวนั้น ที่เกี่ยวกับบรรพบุรุษของมัน
3. ต้องเป็นผู้ที่ผ่านการอบรม หลักสูตรการเป็นผู้ช่วยกรรมการตัดสินทั้งในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ผู้ที่เรียนรู้ในหลักสูตรดังกล่าว จะทำให้เป็นผู้ตัดสินที่สมบูรณ์แบบมีศักดิ์ศรีเป็นผู้ที่ทางสมาคมฯ รับรอง ซึ่งสามารถนำหลักการที่ได้อบรมมาไปตัดสินสุนัขอย่างมีหลักเกณฑ์ที่ถูกต้อง เช่น จะทราบถึงโครงสร้างลักษณะส่วนต่างๆ ของตัวสุนัข รวมทั้งการย่างก้าว การวิ่งและการรู้ถึงข้อดีและข้อเสีย (ชนิดรุนแรง ปานกลาง เล็กน้อย) ต่างๆ ที่จะนำไปประกอบการพิจารณาตัดสิน รวมทั้งสามารถทราบถึงระบบการตรวจสอบจิตประสาทและการต่อสู้ของสุนัข
4. ต้องผ่านงาน การเป็นผู้ช่วยกรรมการตัดสินมาก่อนในระยะแรกจึงเลื่อนขึ้นเป็นผู้ตัดสิน การที่ต้องปฏิบัติเช่นนี้ เป็นการฝึกและทดสอบเบื้องแรกว่า จะเป็นกรรมการที่ดีได้หรือไม่การตัดสินที่ถูกต้องมีความมั่นใจ มีความยุติธรรมเพียงใด ซึ่งเป็นการซ้อมให้มีความเคยชิน กล้าต่อการตัดสินซึ่งจะต้องรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว ในระยะเวลาต่อไป
5. ต้องเป็นผู้ที่มีส่วนใหญ่ของสมาชิก ให้ความเชื่อถือ มีบุคคลิกลักษณะที่ดี มีความประพฤติที่สังคมยอมรับ มีความสุจริตใจและยึดมั่นความยุติธรรมเป็นหลักใหญ่ ในเรื่องเครดิตส่วนตัว ผู้ตัดสินจะต้องเป็นเสมือนหนึ่งผู้พิพากษาที่จะตัดสินในความถูกต้อง เพราะเจ้าของสุนัขทุกท่านฝากความหวังไว้กับท่าน ที่จะต้องตัดสิน ตรงไปตรงมา มีหลักการและความสุจริตใจในความยุติธรรมเป็นที่ตั้ง การแพ้หรือชนะย่อมจะเกิดความสมหวังหรือผิดหวังขึ้น โยงไปถึงสถาบันที่จัดการประกวดด้วย ว่ามีการตัดสินถูกต้องเพียงใด
6. ต้องเป็นผู้ที่มีความเชื่อมั่นในตัวเอง มีการตัดสินใจแน่วแน่ ไม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่มีส่วนจะเบี่ยงเบนความถูกต้อง ในการตัดสินในสนามประกวด ผู้ตัดสินควรจะไม่คำนึงถึงตัวสุนัขที่กำลังตัดสินว่า เป็นของใคร และไม่ฟังเสียงเชียร์รอบข้างหรือเสียงแนะนำจากบุคคลอื่นๆ ทั้งสิ้น
7. ต้องเรียนรู้และทราบถึง กฏระเบียบข้อบังคับต่างๆ เป็นอย่างดีของการเป็นผู้ตัดสิน ในการประกวด จะมีข้อปลีกย่อยแตกต่างกันออกไป ใช้ในการตัดสินสุนัขแต่ละรุ่น และแต่ละเพศ การปฏิบัติขั้นตอนต่างๆ ในการตัดสินและความเหมาะสมในการพิจารณา เช่น การกำหนดรางวัล การรวมรุ่นรวมเพศ รวมทั้งในการพิจารณาแยกสุนัขที่ผิดกฏในการประกวด เช่น มีอัณฑะไม่ครบ ฟันขาด หรือสุนัขไม่ยอมเปิดปากให้ตรวจฟัน มีความดุร้ายที่จะทำร้าย มีจิตประสาทไม่มั่นคง และไม่ต่อสู้
โดย: frontier [20 มี.ค. 50 21:38] ( IP A:203.144.187.18 X: )
Add to Facebook  Add to Twitter  Add to Multiply  Add to Google  Add to Blogger  Add to Live
ความคิดเห็นที่ 1
    8.ต้องมีประสพการณ์และทันต่อเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น จากความไม่ถูกต้องของเจ้าของสุนัข ผู้จูงและผู้ชม ในการตัดสินบ่อยๆ ซึ่งมักจะพบว่าเจ้าของสุนัขมักจะอ้างถึงสุนัขของตัวที่ลงประกวดมีสาเหตุต่างๆ ก่อนนำมาประกวด ทำให้ในวันประกวดไม่ดีเพียงพอ หรือพยายามปิดบังส่วนเสีย เสริมแต่งให้มีส่วนดีเพิ่ม ไม่เป็นไปตามธรรมชาติ เช่นการย้อมสีขน ตัดขน หรือซอยขนที่ยาวออก ดัดหาง ปลอมแปลงอายุของสุนัข ส่วนผู้จูงสุนัขก็จะพยายามจูงสุนัขด้วยเทคนิคที่กลบเกลื่อนส่วนเสีย เช่นสุนัขวิ่งหัวตกก็มักจะดึงโซ่ให้ตึง และจูงสายรั้งสูงขึ้น เมื่อผู้ตัดสินพิจารณาในการวิ่งรอบสุดท้ายเพื่อจัดอันดับตามความเหมาะสมมีการสั่งให้วิ่งขึ้นไป 1 ตำแหน่ง แต่ผู้จูงพยายามวิ่งจูงสุนัขของตัวขึ้นหน้าไป 2 ตำแหน่ง ผิดจากคำสั่งของผู้ตัดสิน บางครั้งจะวิ่งแซงขึ้นหน้า โดยยังไม่ได้รับคำสั่งก็มี เพื่อพยายามจะอยู่ในอันดับต้นๆ
9. ต้องมีความอดทน และเสียสละ การเป็นกรรมการตัดสิน ดูเผินๆ จะเห็นว่าเป็นตำแหน่งอันทรงเกียรติและมีความสามารถ แต่ในบางครั้งท่านอาจจะเสียใจและเบื่อหน่ายเกิดขึ้นได้ ถ้าพิจารณากันแล้วจะกล่าวได้ว่า มีดีแค่เสมอตัว แต่ถ้าเกิดมีข้อผิดพลาดก็จะต้องเสียคน การถูกชมเชยดูจะไม่ปรากฏนัก แต่ในทางตำหนิ มีอยู่มากมายข้อหาเยอะแยะ ทั้งที่ได้ปฏิบัติอย่างดีที่สุดแล้วก็ตาม ท่านเจ้าของสุนัขที่ส่งเข้าประกวด หรือผู้ดูควรจะมีความเป็นกลาง ให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ตัดสินบ้าง เพราะเขาเสียสละเวลา กำลังกาย กำลังใจ รวมทั้งทุนทรัพย์มาปฏิบัติงานโดยไม่มีผลตอบแทนใด
นอกจากจะพยายามทำให้เกิด ความเป็นธรรมในทางที่ถูกต้อง ให้เกิดการพัฒนาสนับสนุนพันธุ์นี้ให้มีความเจริญก้าวหน้า และส่งเสริมให้มีการประกวดและการตัดสินเท่าเทียมประเทศอื่นๆ ผู้ตัดสินแต่ละท่านจะมีความคิดเป็นในหลักการใหญ่ๆ ในการตัดสินเหมือนกันหมด แต่ในความนิยมในลักษณะเด่นของแต่ละส่วนของตัวสุนัข ย่อมจะผิดแผกแตกต่างกันไปได้ ฉะนั้นแนวโน้มในการตัดสินของแต่ละท่านอาจจะไม่เหมือนกัน การตัดสินสุนัขที่จะทำให้เจ้าของสุนัขพอใจจะมีก็เพียงผู้ชนะที่ 1 เท่านั้น ตัวเข้าตำแหน่งที่ 3 ก็ว่าอย่างน้อยเขาควรจะได้ตำแหน่งที่ 2 ส่วนตัวที่ 2 ก็ว่าเขาควรจะเป็นที่ 1 บางครั้งเจ้าของสุนัขบางท่านที่เคยประกวดได้ที่ 1 ทำไมคราวนี้กลายเป็นที่ 2 ประเภทนี้ไม่รู้ว่ามีความคิดเห็น ว่าสุนัขเป็นรูป หรือแกะสลักหรืออย่างไร มันจึงคงทนความสวยงามได้ตลอดเวลา สุนัขเป็นสัตว์มีชีวิตจิตใจ และมีอารมณ์ การเปลี่ยนแปลงย่อมเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ในการประกวดสุนัขยุคนี้มักจะมีการตัดสินตำแหน่ง (Best in Show) ขึ้น ซึ่งไม่เห็นด้วยในการตัดสินประเภทนี้ ด้วยเหตุผลหลายประการดูจะมีผลเสียมากกว่าผลดี งานไหนก็งานนั้นเสียงครหาตลอดมาในเรื่องของการเป็นผู้มีน้ำใจนักกีฬา ของผู้ส่งสุนัขเข้าประกวด ที่จะยอมรับการตัดสินส่วนใหญ่จะมีอยู่มาก แต่ก็มีเป็นบางรายที่ไร้ความรับผิดชอบ ซึ่งทำลายกำลังใจของผู้ตัดสิน มีทั้งแสดงทีท่าไม่พอใจไม่ยอมรับผลของการตัดสิน ฉีกผลรับรองการตัดสินจุดประทัดด่าทออย่างเสียหายหยาบคาย อันไม่สามารถนำกล่าวได้.....
โดย: frontier [20 มี.ค. 50 22:06] ( IP A:203.144.187.18 X: )
ความคิดเห็นที่ 2
   
ดีมากๆกลยครับ คุณ frontier สำหรับบทความคิดเห็นของป๋าสถิตย์ อันเป็นที่เคารพและนับถือของพี่ๆน้องๆในวงการสุนัขเยอรมันเช็พเพอด และสุนัขพันธุ์อื่นๆรุ่นเดอะ ต่างก็นับถือท่านกันทั้งนั้นครับ

ผมเลยใคร่ขอเสริมบทความที่เพื่อนๆที่น่ารักของผมส่งมาให้ผมได้อ่านเป็นบางครั้ง บางคราวในเรื่องเกี่ยวกับมุมมองของกรรมการตัดสินสุนัข ในต่างประเทศ
ได้ไปอ่านพบและแปลส่งมาให้เสร็จ เนื่องจากคงเห็นว่าภาษาอังกฤษของผมไม่แข็งแรง ผมเลยถือโอกาสมานำเสนอให้เพื่อนๆ อ่านเล่นๆดูบ้างครับ

"The fundamental truth is that dog show judging is very subjective. What counts most (and what many exhibitors cverlook) is the whole package. The best dog does not necessarliy have the best chance of winning. The best package has the best chance, and the package has to include a quality dog that has been properly raised, conditioned, trained, groomed and handled.

(Pat Hastings,Tricks of the Trade,xvii,2002 Dogfolk Enterprises,Oregon U.S.A.)


" ความจริงขั้นพื้นฐานของการตัดสินในการประกวดสุนัข เป็นเรื่องของความคิดเห็นส่วนตัวของกรรมการเพียงผู้เดียว (subjective แปลว่า ซึ่งบางครั้งอาจไม่ยุติธรรมก็ได้) สิ่งที่มีส่วนทำให้สุนัขชนะในการประกวด(และเป็นสิ่งที่ผู้เข้าประกวดมองข้าม) ก็คือ องค์ประกอบทั้งหมดที่ดี ดังนั้นสุนัขที่ดีที่สุด จึงไม่จำเป็นต้องได้รับโอกาสที่ดีที่สุดในการชนะ หากแต่ต้องเป็นสุนัขที่มีองค์ประกอบที่ดีนั่นคือ สุนัขที่มีคุณภาพ ที่ได้รับการเลี้ยงดูอย่างเหมาะสม สภาพร่างกายที่สมบูรณ์ ได้รับการฝึกฝนมาอย่างดี ได้รับการตกแต่งขนให้สวยงาม และมีผู้จูงที่ดี"

แปลโดย : สุพัชชา เจนณะสมบัติ ( อาจารย์มนุษย์ศาสตร์ ภาควิชาภาษาตะวันออก มหาวิทยาลัย ม.ศ.ว. )
โดย: somchai [21 มี.ค. 50 9:50] ( IP A:202.139.223.18 X: )
ความคิดเห็นที่ 3
   
ผมได้รับ Mail จากพี่ที่ผมให้ความเคารพนับถือ ส่งมาให้ผมได้อ่านและช่วยดูบทความให้หน่อย ก่อนที่ท่านจะนำไปลงในนิตยสาร ผมดีใจมากที่ท่านให้เกียรติกับผมมาก
แต่แฮะ ๆ ผมผู้น้อยก็ได้แต่อ่านและเก็บเกี่ยวความรู้ความคิดเห็นจากท่านและเซฟบทความของท่านไว้ ก็ไม่คิดว่าวันนี้จะได้มีโอกาสนำมาบทความของท่านมาเผยแพร่ให้สำหรับเพื่อนๆได้อ่าน
ผมว่าบทความนี้ให้แง่คิดที่ดี ไม่มากไม่น้อยก็คงเป็นประโยชน์สะกิดใจกับผู้ที่ชื่นชอบการประกวดสุนัขได้ตระหนักกันบ้างครับ

เอาเป็นว่าเพื่อนๆลองอ่านกันดูนะครับ บทความของพี่ท่านนี้ คือ คุณธนา อัจฉริยะวรรณ ท่านเป็นประธานกรรมการตัดสินสุนัขของสมาคมพัฒนาพันธุ์สุนัขแห่งประเทศไทย และเป็นเลขานุการสมาคมฯ


สวัสดีครับ บทความนี้เป็นบทความชิ้นแรกที่ได้เขียนให้กับนิตยสารอาณาจักรสัตว์เลี้ยง ต้องขอขอบคุณ บก. ทีให้โอกาสผมได้แสดงความคิดเห็นในหนังสือของท่าน อย่างที่เคยเรียนให้ทราบในหนังสือฉบับก่อนๆ(ฉบับอื่น)ว่า ผมไม่ใช่เป็นนักเขียน ผมเป็นแค่กรรมการตัดสินสุนัข จึงไม่ค่อยอยากจะทำตัวเป็นคนรู้ทุกเรื่องหรือเก่งทุกอย่าง เพราะรู้สึกเหมือนกับเป็นการสร้างภาพให้ตัวเอง แต่ก็ยังมีผู้ใหญ่บางท่านที่พยายามผลักดันให้ผมเขียนอะไรๆจากประสบการณ์ที่ผ่านมาจากการได้ตัดสินสุนัขทั้งในและต่างประเทศมาให้น้องๆที่กำลังจะก้าวเข้ามาสู่วงการสุนัข และด้วยความเกรงใจ จึงไม่อาจปฏิเสธได้ เลยต้องกลายมาเป็นนักเขียนจำเป็นอีกแล้ว
ฉบับนี้เป็นฉบับแรกที่เขียนให้กับนิตยสารอาณาจักรสัตว์เลี้ยง จึงยังตั้งตัวไม่ถูกว่าจะเขียนเรื่องอะไรดี เพราะเขียนไปให้กับนิตยสารหลายฉบับ ก็วนไปวนมาจนตัวเองเริ่ม งง! ไม่รู้ว่าอะไรเขียนไปแล้วบ้าง กลัวจะกลายเป็นบทความประเภท “ฉายหนังเก่า” หรือ “วนเวียนซ้ำซาก” กับอีกทั้งไม่ได้เป็นนักเขียนอาชีพจึงไม่สามารถจะจัดระเบียบให้บทความได้อรรถรสน่าสนใจ จึงขอเขียนเป็นคำแนะนำให้กับน้องๆ ที่คิดว่าจะเป็น “บรีดเดอร์” ที่มีชื่อเสียงในอนาคตเป็นข้อๆ ดังต่อไปนี้

• เหตุผลสำคัญที่ทุกคนต้องกลายมาเป็นผู้เพาะพันธุ์และประกวดสุนัขนั้น เกิดมาจากพื้นฐานแห่งการมีความรักให้กับพวกเขา
• สิ่งสำคัญสำหรับผู้ที่คิดจะเป็น “บรีดเดอร์” ที่ยิ่งใหญ่ ก็คือ จงรู้จักถ่อมตน เปิดใจให้กว้างยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ไม่ต้องพูดมาก ทำอย่างเดียว
• หมาที่เราเพาะออกมา จะดีจะเลว ให้สังคมเป็นผู้ตัดสิน
• อย่าหลงละเลิงกับแค่มีชื่อหรือรูปภาพของหมา หรือ ตัวเองไปปรากฏใน “ด็อกแม็กกาซีน” หรือ มีชื่อติดอันดับ “ท็อปด็อก” เลยเริ่มออกอาการสติแตก สร้างภาพว่าหมาที่ตัวเองเพาะออกมามีคุณภาพล้ำเลิศประเสริฐศรี ทั้งๆที่ในสายพันธุ์ดังกล่าวไม่มีคู่แข่งในการประกวดซักตัวเลย
• ทำอย่างไรจึงจะ “บรีด” ให้ได้ลูกสุนัขที่ไม่ถึงกับต้องดีเลิศ แต่ทุกตัวมีคุณภาพใกล้เคียงกันและมีคุณลักษณะได้ใกล้เคียงกับมาตรฐานสายพันธุ์มากที่สุด หากนำไปประกวดก็จะได้เป็น “แชมเปี้ยน”ได้ทุกตัว ถึงแม้จะไม่ได้ถึงตำแหน่ง “เบสท์ อิน โชว์” ก็ตาม
• ธรรมชาติของมนุษย์เรามักจะไม่ค่อยจะยอมรับและชื่นชมในความสำเร็จของผู้อื่น ซึ่งมีนัยอีกอย่างก็คือ อาการ “อิจฉา” นั่นเอง แต่ก็พยายามเลี่ยงบาลีโดยให้เหตุผลเข้าข้างตัวเอง โดยเปลี่ยนจากอาการอิจฉาไปเป็นว่า “น่าหมั่นไส้แทน” ซึ่งทำให้ผู้รับฟังมีอารมณ์คล้อยตามว่า บุคคลที่ประสบความสำเร็จนั้นๆทำอะไร “โอ -เว่อร์” จนน่าหมั่นไส้ อันเนื่องมาจากการมี “อักคติ” ภายในใจนั่นเอง หากผู้ใดสามารถกำจัดสิ่งนี้ในใจลงไปได้ ผู้นั้นก็จะกลายเป็นผู้ที่มีใจกว้างยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่นและยอมรับเอาส่วนที่ดีๆของเขาเอามาประยุกต์ใช้ซึ่งอาจจะกลายมาเป็นความสำเร็จของตนเองได้ในอนาคต
• บางคนชอบโฆษณาสรรพคุณของหมาตัวที่จูงอยู่ ว่าหมาตัวนี้เคยได้ตำแหน่งมามากมายนับไม่ถ้วน คุณชอบมันไหม มันเป็นลูกเต้าเหล่าใคร เป็นต้น ผมเชื่อว่ากรรมการตัดสินส่วนใหญ่จะไม่สนใจ แถมอาจจะโกรธเอาเสียอีก จนบางครั้งแทบจะปรับให้หมาตัวนั้นแพ้ไปเลยก็มี เพราะการกระทำอันไม่สมควรของผู้จูงคนนั้น แต่ก็ต้องระงับอารมณ์ไว้เพราะมันไม่ใช่ความผิดของหมา
โดย: somchai [21 มี.ค. 50 10:26] ( IP A:202.139.223.18 X: )
ความคิดเห็นที่ 4
   
มาต่อกันเลยครับ

• หมาที่สวยจริงต้องสวยที่ความถูกต้องตรงตามมาตรฐานสายพันธุ์ ไม่ใช่สวยที่สภาพการตกแต่งจากภายนอก อุปกรณ์เสริมสวยไม่ใช่ตัวกำหนดมาตรฐานความถูกต้องแห่งสายพันธุ์ และจำเป็นต้องเป็นผู้ชนะเสมอไป
• บางครั้งหมาที่ชนะการประกวดบ่อยๆ ก็ไม่ได้หมายความว่าหมาตัวนั้นถูกต้องจนกลายเป็นมาตรฐานสายพันธุ์ หมาที่ประกวดไม่เคยชนะเลยแต่กลับเป็นพ่อแม่พันธุ์ที่ดีมีถมไป สาเหตุที่เขาไม่ชนะเพราะเจ้าของไม่มีความพร้อมทั้งเวลาและทุนทรัพย์ จึงไม่มีตำแหน่งใดๆ แต่หมาที่ชนะบ่อยๆส่วนใหญ่มีความพร้อมในเรื่องดังกล่าว เมื่อไม่มีคู่แข่งที่สมน้ำสมเนื้อก็เลยชนะบ่อย ซึ่งไม่ได้หมายความว่า หมาตัวนั้นสุดยอดจริง (กรรมการทุกคนที่เขามีจรรณยาบรรณก็คิดแบบนี้ทั้งนั้น)
• เป็นกรรมการต้องซื่อตรง อย่าให้ใครมากดดันในการทำหน้าที่ การตัดสินสุนัขเป็นงานที่มีเกียรติ คนที่นำสุนัขมาให้เราตัดสิน ถือว่าให้เกียรติเรา ฉะนั้น จงอย่าทำให้พวกเขาผิดหวังในตัวเรา [Judge คือ ผู้พิพากษา หากลำเอียงแล้ว สังคมนี้ก็อยู่ไม่ได้> กรรมการจะดีหรือไม่ดี ก็อยู่ที่ความประพฤติของเราเอง ไม่ได้ขึ้นอยู่ที่สีเสื้อที่คุณสรวมใส่ แต่งตัวดีแต่ตัดสินไม่ดี หัวโขนสมาคมฯ ก็ช่วยอะไรคุณไม่ได้ เหมือนหมาประกวดที่ Condition เยี่ยม แต่ Breed type ไม่ได้มาตรฐาน ก็เป็นของจริงไปไม่ได้
• จริงอยู่ ทุกครั้งย่อมต้องมีผู้ผิดหวังในคำตัดสินของเรา วิจารณ์เราด้วยอารมณ์ไปบ้าง ก็ให้ถือว่า ถ้ารักจะทำหน้าที่นี้แล้ว ก็ต้องอดทนอดกลั้น
• ใครอยากเป็นกรรมการตัดสินที่ดี ต้องเริ่มจากการเป็น “บรีดเดอร์” ที่ดีก่อน อย่าหลอกตัวเอง ง่ายๆแค่นี้เอง
• ถ้าเริ่มเห็น สัจจะธรรม แล้วว่า หมาของเราที่พยายามบอกใครๆว่า นี่แหละของจริงมาหลายปี มาวันนี้เห็นแล้วว่า สู้เขาไม่ได้จริงๆ คิดจะเปลี่ยนก็กลัวจะเสียฟอร์ม จึงจำใจต้องดันทุรัง หาสายอื่นมาผสมกับของตัวเองที่ยังมีข้อด้อยอยู่มาก แล้วก็ไม่ได้อะไรอีก ผมขอแนะนำว่า ล้มแล้วลุกมาสู้ใหม่ ลูกผู้ชายต้องยอมรับความจริง ขอสายเขามาเริ่มต้นใหม่เลยเพื่อร่นระยะทางแห่งความสำเร็จให้สั้นขึ้นน่าจะดีกว่า
• เพ็ดดีกรีสวย ถ้าจริงก็ดีไป แต่ถ้า เพ็ดดีกรีสวยเพราะปลอมแปลง ก็ลวงโลกครับท่าน

ที่ยกตัวอย่างมานี้ ยังเป็นส่วนน้อยนะครับ ที่จริงยังมีมากกว่านี้อีก แต่เอาเพียงแค่พอหอมปากหอมคอก็พอนะครับจะได้ไม่มีคนหมั่นไส้มากเกินไป
ทำอย่างไรเราถึงจะหนีปัญหาน้ำเน่ากันได้ล่ะครับ ผมมีวิธีการขจัดปัญหาที่ใช้กับตัวเองได้ผลมาเล่าสู่กันฟัง ซึ่งผมได้มาจากการอ่านบทความที่ “ฝรั่ง” ซึ่งผมยกย่องบุคคลทั้งหลายเหล่านั้นเป็นอาจารย์หมด ทั้งๆที่ไม่เคยได้คุยด้วยหรือแม้กระทั่งเคยเห็นหน้ากันเลย รวมทั้งประสบการณ์ในชีวิตมาเป็นส่วนประกอบ ดังนี้ครับ
เวลานำหมาลงประกวด ให้บอกกับตัวเองว่า ไม่ชนะก็แพ้ ชนะแล้วเป็นยังไง แพ้แล้วเป็นยังไง ตอบคำถามนี้ให้ได้แล้วคุณจะเป็น ผู้มีน้ำใจนักกีฬา ซึ่งคำพูดที่ผมได้ยินมาตั้งแต่เด็กๆ แต่ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้กล่าว คือ “รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย” ซึ่งเป็นคำพูดที่สั้นๆ แต่มีความหมายที่ลึกซึ้งมากๆ
ความหมายก็คือ “การแข่งขันสำหรับผมคือการแข่งขันกับตัวเอง” คู่ต่อสู้ในสนามคือ องประกอบ หรือ ตัวเปรียบเทียบเท่านั้น ถ้าเราไม่โกหกตัวเองเห็นว่าหมาของเราดีที่สุดและตรงกับมาตรฐานสายพันธุ์มากที่สุดซะ เราก็คงจะพอมีหนทางไปสู่ผู้มีน้ำใจนำกีฬาได้ไม่ยาก
ต่อไปเป็นคำถามว่าทำไมหมาของเราจึงแพ้เป็นประจำ จนทำให้เราหงุดหงิดจนกลายเป็นคนไม่มีน้ำใจนักกีฬาไปได้
1. หมาเราซื้อมาราคาเท่าไร เมื่อเทียบกับคู่แข่ง แล้วของเราต้องสู้เขาได้จริงไหม
2. หมาเราที่เอาไปผสมกับพ่อพันธุ์ที่คิดค่าผสมพันธุ์ราคาสูงเพราะสั่งซื้อมาด้วยราคาแสน แพง นะ แม่พันธุ์ของเรามีคุณสมบัติดีพอที่จะผลิตลูกสุนัขคุณภาพสุดยอดได้จริงหรือไม่
3. หมาของเราได้รับการดูแลเอาใจใส่ได้ดีเท่าคอกอื่นๆทีมีน้ำเลี้ยงดีหรือไม่
4. หมาเราได้รับการจูงโดย แฮนด์เล่อร์ ผู้มีประสบการณ์สูงพอหรือยัง (เวลาเขาจูงหมาเราประกวดแล้วแพ้ จะมีซักกี่คนที่จะรับผิดชอบความล้มเหลวของตัวเอง ก็โทษหมากันหมด ถ้าผมเป็นหมา ผมคงจะเกลียดคนพวกนี้มาก)
5. หมาเราถึงจะมีคุณภาพระดับแนวหน้าก็ตาม แต่ต้องไม่ลืมคำว่า “เหนือฟ้ายังมีฟ้า” นะ
6. เคยสำรวจข้อบกพร่องของหมาตัวเองกันบ้างหรือไม่ ส่วนใหญ่มักไม่ค่อยเห็นข้อบกพร่องของหมาตัวเอง แต่รู้ถึงข้อบกพร่องของหมาของคู่แข่งไปหมดทั้งๆที่ไม่เคยสัมผัสหมาตัวนั้นเลยซักครั้ง
7. นึกไม่ออกแล้วว่าจะเขียนอะไรอีก ขอจบแค่นี้แล้วกันครับ

สุดท้ายนี้ ผมขออวยพรให้ทุกท่านจงประสพแต่ความสุขตลอดปี 2550 ด้วยครับ


หวังว่าเพื่อนๆคงจะสนุกกับมุมมองของประธานกรรมการตัดสินสุนัขของประเทศไทยนะครับ
โดย: somchai [21 มี.ค. 50 10:28] ( IP A:202.139.223.18 X: )
ความคิดเห็นที่ 5
   ยอดเยี่ยมครับ
โดย: twicebirth [21 มี.ค. 50 11:38] ( IP A:124.121.91.42 X: )
ความคิดเห็นที่ 6
   ห่างมานาน มองไม่ออกแล้วว่าตัวไหนสวย ตัวไหนไม่สวย แต่ก็รักเชพเพอดเข้าเส้นอยู่แล้ว ใช่ครับที่คุณสถิตย์กล่าวไว้นั้นเป็น สเป็กครับ เป็นตัวอย่างว่ามีผู้ประสงค์สมัครเป็นกรรมการหลายคน เราก็เอาสเป็กนั้นมาเป็นเครื่องกรอง ว่ามีผู้ใดสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการตัดสิน เมื่อได้มาแล้วคนที่ได้รับการแต่งตั้งก็ต้องประพฤติตนอยู่ในบทบาทของการเป็นกรรมการที่ดี ย้ำ " ที่ดี " คือการครองตน( ความประพฤติ) การครองงาน (การตัดสิน รู้ชัดเจนในมาตรฐานประจำพันธ์ ข้อ เด่น ข้อด้อย รวมทั้งช่วงอายุที่จะมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านโครงสร้าง) และการครองคน ( ในที่นี้อาจมองไปถึงการทำตนให้เป็นที่ตัวอย่างแก่คนรุ่นหลัง หรือการเผยแพร่ความรู้ประสบการณ์) มาถึงวันที่การตัดสิน ความรู้ทางทฤษฎีที่ต้องแม่นอยู่แล้ว ก็จะต้องมาดูสภาพโดยรวม การแสดงออกของสุนัขในขณะที่ทำการประกวด โดยจะไม่นำผลในอดีตมาร่วมพิจารณา แต่อย่างไรก็ตามกรรมการแต่ละท่านก็มีสไตล์สุนัขที่ท่านชอบ แต่ไม่เป็นปัจจัยหลักในการนำมาตัดสินหรอกครับ เพราะแต่ละท่านได้รับการอบรมบ่มเพาะมาจากที่เดียวกันว่ามาตรฐานเชพเพอดเป็นอย่างไร ที่ดีเป็นอย่างไรทำไม ต้องเป็นอย่างนั้น ความยากลำบากในการตัดสินหากจำนวนสุนัขมาก และมาจากคอกเดียวกัน( พี่น้องกัน ) และก็จำนวนสุนัขที่ลงในรุ่นนั้น เพราะเราจะต้องจัดอันดับทุกตัวตั้งแต่ตัวแรกจนตัวสุดท้าย (การประกวดบางพันธ์จัดเฉพาะ อันดับที่มีรางวัลเท่านั้น ) และจะต้องมีเหตุผลในการจัดลำดับแบบนั้น ความเห็นส่วนตัวของผมหากถามความพึงพอใจในผลการตัดสินคนที่พอใจมีจำนวนน้อยกว่าคนที่ไม่พึงพอใจ ความรู้สึกที่ว่าอาจไม่ยุติธรรมก็อาจเกิดขึ้นได้ แต่ฐานะที่เคยได้ทำนั้นคงไม่เอาชื่อ ตำแหน่งหน้าที่การงาน และชื่อเสียงสมาคมไปหาผลประโยชน์หรอก แต่กรณีที่อาจถามว่ามีการผิดพลาดได้บ้างหรือไม่ ตอบได้เลยว่า มีบ้างครับ ผมจึงชอบที่ให้สมาคมพิจารณาการตัดสินเป็นแบบกลุ่ม เพราะจะได้พิจารณากันอย่างละเอียด แต่ก็จะมีผลในด้านความสิ้นเปลืองครับ ขอเรียนอีกครั้งเป็นความเห็นส่วนตัวนะครับ

โดย: ทิพชัย [22 มี.ค. 50 10:28] ( IP A:61.19.220.5 X: )

คลิกที่นี่เพื่อกลับหน้าบ้าน