WINGSOFSIAM.pantown.com
พ ศ 2557 <<
กลับไปหน้าแรก
กองทัพอากาศส่งเสริมเยาวชนสร้างหุ่นยนต์บิน ก้าวข้ามขั้นสู่วิศวกรรมอากาศยานขั้นสูง
กองทัพอากาศส่งเสริมเยาวชนสร้างหุ่นยนต์บิน ก้าวข้ามขั้นสู่วิศวกรรมอากาศยานขั้นสูง
จากความสำเร็จในการแข่งขันหุ่นยนต์บินครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งเป็นการแข่งขันที่ร่วมกันจัดขึ้นโดยความร่วมมือของกองทัพอากาศ บริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด สมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี พระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ) นับเป็นการเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้ประดิษฐ์หุ่นยนต์บินอัตโนมัติรวมถึงประดิษฐ์หุ่นยนต์บินแบบบังคับที่ใช้เทคโนโลยี เพื่อเข้าแข่งขันภายใต้หัวข้อ ภารกิจท้าทายวิศวกรรมอากาศยาน ซึ่งกำหนดจัดขึ้นเป็นครั้งที่สอง โดยการแข่งขันประดิษฐ์หุ่นยนต์บินอัตโนมัติ รอบคัดเลือกและรอบชิงชนะเลิศจะจัดในเดือนมีนาคม ๒๕๕๗
การแข่งขันนี้จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเตรียมความพร้อมให้นิสิต นักศึกษาไทย ก้าวเข้าสู่วิศวกรรมอากาศยานขั้นสูง ซึ่งโอกาสต่าง ๆ จะช่วยกระตุ้นความสนใจและสนับสนุนให้นิสิต นักศึกษาศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับหุ่นยนต์บินไร้คนขับเพื่อต่อยอดสู่อากาศยานไร้นักบิน โดยนอกจากกองทัพอากาศจะให้การสนับสนุนกิจกรรมในครั้งนี้แล้ว ยังจัดให้นักเรียนนายเรืออากาศ และนักเรียนจ่าอากาศ ตั้งทีมเข้าร่วมการแข่งขันเพื่อเป็นการพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ด้านวิศวกรรม และช่างเทคนิคของกองทัพอากาศ ให้ก้าวไปสู่เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ ตลอดจนการป้องกันประเทศ โดยสามารถนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ วิจัย และพัฒนาที่เกิดขึ้นมาพัฒนางานที่ต้องปฏิบัติและภารกิจของกองทัพอากาศได้ในอนาคต
ทีมชนะเลิศจะได้รับถ้วยเกียรติยศจาก พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ และเงินรางวัล ๑๒๐,๐๐๐.- บาท ในขณะที่ทีมรองชนะเลิศอันดับ ๑ จะได้รับเงินรางวัล จำนวน ๖๐,๐๐๐.- บาท นอกจากนี้ ยังมีรางวัลพิเศษสองรางวัลคือรางวัลระบบอัตโนมัติยอดเยี่ยม และรางวัลระบบขับเคลื่อนยอดเยี่ยม ซึ่งแต่ละทีมที่ได้รับรางวัลพิเศษทั้งสองรางวัลนี้จะได้รับเงินรางวัล ๓๐,๐๐๐.- บาท ตัวแทนจากทั้งสี่ทีมดังกล่าว จะมีโอกาสเข้าเยี่ยมชมและศึกษาดูงานเครื่องบินรบที่ใช้เทคโนโลยีอันทันสมัยสูงสุด ของกองทัพอากาศ เพื่อต่อยอดความคิดต่อไป
พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ กล่าวว่า กองทัพอากาศยินดีที่ได้มีส่วนร่วมในการจัดการแข่งขันหุ่นยนต์บิน ซึ่งจะเป็นการเผยแพร่วิทยาการด้านอากาศพลศาสตร์ วิศวกรรมอากาศยาน และคอมพิวเตอร์ ไปสู่นักเรียน นิสิต นักศึกษา อย่างเป็นรูปธรรม หากเยาวชนของชาติมีความรู้ ความสามารถและความใส่ใจในเทคโนโลยีการบินและคอมพิวเตอร์แล้ว ก็จะสามารถเป็นกำลังหลักที่สำคัญ ในการนำพาประเทศไปสู่การเป็นศูนย์กลางด้านการบินของภูมิภาค และรองรับต่อการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายเจฟฟรี่ ไนการ์ด รองประธานอาวุโส ฝ่ายปฏิบัติการหัวอ่านและบันทึกข้อมูลทั่วโลก บริษัทซีเกท เทคโนโลยี กล่าวว่า ซีเกท ยินดีที่ได้สนับสนุนการจัดการแข่งขันภารกิจท้าทายวิศวกรรมอากาศยานเป็นปีที่สองซึ่งนอกจากซีเกทจะให้การสนับสนุนในด้านงบประมาณในการจัดการแข่งขัน บริษัทฯยังช่วยตั้งโจทย์ซึ่งท้าทายศักยภาพของนิสิตนักศึกษาและช่วยยกระดับความชำนาญของพวกเขาด้วย ความหนาแน่นในการจัดเก็บข้อมูลมีความสำคัญในดิสก์ไดรฟ์ และเราหวังว่าการแข่งขันนี้จะช่วยสร้างไอเดียใหม่ ๆ และจุดประกายความสนใจของบรรดานิสิตนักศึกษา การแข่งขันหุ่นยนต์เหล่านี้จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจและก่อให้เกิดนักวิทยาศาสตร์ วิศวกรและ นักประดิษฐ์แห่งอนาคต นำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีในภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยอีกด้วย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ถวิดา มณีวรรณ์ นายกสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การแข่งขันหุ่นยนต์บินที่จัดขึ้นเป็นปีที่สองนี้ท้าทายความสามารถทางด้านการประดิษฐ์คิดค้นหุ่นยนต์ทางด้านอากาศยาน ที่มีทั้งการแข่งขันแบบขับเคลื่อนด้วย ผู้ควบคุมระยะไกลและอากาศยานแบบไร้คนขับอัตโนมัติ ซึ่งแต่ละทีมจะต้องใช้ความรู้และความสามารถในการบูรณาการความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อให้ได้อากาศยานหุ่นยนต์ที่มีความสามารถตามโจทย์ที่ตั้งไว้ ทางสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ แห่งประเทศไทยมีความยินดีที่ได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมที่เป็นประโยชน์เช่นนี้ และพร้อมสนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ อย่างเต็มความสามารถเพื่อให้การพัฒนาหุ่นยนต์ในประเทศไทยมีความเจริญก้าวหน้าต่อไป
รองศาสตราจารย์ ดร.ภูดิส ลักษณะเจริญ ประธานจัดการแข่งขัน เลขานุการสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย และหัวหน้าวิจัยสาขา Dynamics and Robotics แห่งศูนย์วิจัยวิศวกรรมคำนวณและทดสอบขั้นสูง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กล่าวว่า ความท้าทายของการแข่งขันในปีนี้คือการปฏิบัติการภายใต้สถานการณ์จำลองเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย การลาดตระเวนทางอากาศ การบินไปและกลับ รวมถึงการแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดโดยไม่คาดคิด ซึ่งแต่ละทีมจะทราบในวันแข่งขัน ขึ้นอยู่กับแต่ละทีมว่าจะแก้โจทย์ ได้ดีแค่ไหน ภายหลังการแข่งขัน สมาชิกในทีมทั้งสี่ทีมที่ได้รับรางวัลจะได้ไปเรียนรู้เทคโนโลยีจากกองทัพอากาศ หลังจากนั้น ทางผู้จัด จะพาสมาชิกของทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ จำนวน ๔ คนไปศึกษาเทคโนโลยีของประเทศญี่ปุ่นที่องค์การสำรวจอวกาศ JAXA ประเทศญี่ปุ่น
ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมการแข่งขันทางออนไลน์ได้ที่
https://www.tamech.com
ได้ตั้งแต่บัดนี้ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗
โดย: เจ้าบ้าน
[12 ก.พ. 57 10:34] ( IP A:119.46.176.222 X: )
คลิกที่นี่เพื่อกลับหน้าบ้าน