บทที่ 1 กำเนิดการบินในสยาม
    “ ครบรอบ ๑๐๐ ปี การบินของบุพการีทหารอากาศ”
โดย...พ.อ.อ.รัชต์ รัตนวิจารณ์


ในโอกาสที่ ปี ๒๕๕๕ คือปีหน้านี้ จะเป็นปีครบรอบ ๑๐๐ ปี ที่นายพันตรี หลวงศักดิ์ศัลยาวุธ (หรือ พลอากาศโท พระยาเฉลิมอากาศ) ซึ่งภายหลังได้รับการยกย่องว่าเป็น บุพการีทหารอากาศ ได้เป็นคนไทย ที่ทำการบินในลักษณะ “นักบิน” เป็นคนแรก และกลับมาพัฒนากิจการการบินของชาติไทย ทั้งในทางทหารและการบินเชิงพานิชย์ จนเจริญรุ่งเรืองเป็นที่ประจักษ์อยู่แล้วนั้น ในโอกาสสำคัญดังกล่าวนี้ “กองทัพอากาศ” ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านการบินที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย จึงวางแผนที่จะจัดกิจกรรมที่สำคัญมากมาย ในตลอดปี ๒๕๕๕ เลยก็ว่าได้ครับ อาทิ การจัดนิทรรศการการบิน การแสดงการบิน รวมถึงการแสดงการบินผาดแผลงของฝูงบินผาดแผลงที่มีชื่อเสียงของโลก การตกแต่งสีเครื่องหมายพิเศษ ครบ ๑๐๐ ปี ที่เครื่องบินรบทุกแบบของกองทัพอากาศ (อันนี้ ไม่รู้ว่าหน่วยงานอื่นจะเอาไปจัดทำด้วยหรือเปล่า) จัดทำหนังสือ “๔ แผ่นดินราชวงศ์จักรี ๑๐๐ ปีการบินของบุพการีทหารอากาศ” จัดทำของที่ระลึกมากมายหลายแบบ รวมถึงแสตมป์ และกิจกรรมอีกมากมาย การจัดตั้งฝูงบินผาดแผลง ภายใต้ชื่อ BLUE PHOENIX เนื่องในโอกาส “วันครบรอบ ๑๐๐ ปี การบินของบุพการีทหารอากาศ” โดยจะเริ่มแสดงการบิน ณ ที่ตั้งดอนเมือง และกองบินต่างจังหวัด ตั้งแต่ต้นปี พ.ศ.๒๕๕๕ เป็นต้นไป ทั้งนี้เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์การจัดงาน“วันครบรอบ ๑๐๐ ปี การบินของบุพการีทหารอากาศ” ใน ๒ ก.ค.๕๕ และเพื่อให้สาธารณชนทั่วไปได้รับทราบและภูมิใจในศักยภาพกำลังทางอากาศของ ทอ. โดยขณะนี้ได้มีการจัดประกวดออกแบบลวดลายและตราสัญลักษณ์ฝูงบิน ผู้สนใจติดตามรายละเอียดใน “ข่าวทหารอากาศ” หรือที่ https://www.rtaf.mi.th ครับ......ความคืบหน้าและกิจกรรมต่างๆ ผมจะได้นำมาเสนอเป็นประจำอย่างต่อเนื่องควบคู่กับเรื่องราวและเหตุการณ์ที่สำคัญ ตลอด ๑๐๐ ปี ในคอลัมน์นี้ หรือสามารถอ่านย้อนหลังหรืออ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.wingsofsiam.pantown.com โดยผมได้จัดในรูปเหตุการณ์ทางการบินต่างๆ ในประเทศไทย เป็น คอลัมน์ปี พ.ศ. ตั้งแต่ก่อนปี ๒๔๕๓ จนถึงปัจจุบัน ครับ สนใจเข้าไปหาข้อมูล หรือนำไปใช้ประโยชน์เพื่อการประชาสัมพันธ์หรือเผยแพร่ได้ครับ

โดย: เจ้าบ้าน [27 ธ.ค. 54 10:55] ( IP A:119.46.176.222 X: )
Add to Facebook  Add to Twitter  Add to Multiply  Add to Google  Add to Blogger  Add to Live
ความคิดเห็นที่ 2
    ตอนที่ ๑ กำเนิดการบินในสยาม
ความจริงแล้ว ความคิดด้านการบินอยู่บนฟ้าของไทย มีมาตั้งแต่ สมัยรัชการของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ คือก่อนที่พี่น้องตระกูลไรท์จะทำการบินสำเร็จเสียอีกครับ โดยเมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๔๒ ประเทศสยาม เป็น ๑ ใน ๓๒ ชาติ ที่ลงนามในปฏิญญาบัลลูน ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ผู้แทนผู้มีอํานาจเต็มของรัฐซึ่งเข้าร่วมการประชุมสันติภาพระหว่างประเทศ ณ กรุ งเฮก ๓๒ ชาติ ที่ได้รับมอบอํานาจโดยถูกต้องเพื่อการนั้นจากรัฐบาลของตนซึ่งตระหนักถึงหลักการที่ ปรากฏในปฏิญญาแห่ งกรุงเซนต์ปีเตอร์ สเบิร์ก เมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน (๑๑ ธันวาคม) พ.ศ. ๒๔๑๑ เกี่ยวกับเรื่องการห้ามการยิงขีปนาวุธและวัตถุ ระเบิดจากบัลลูนและวิธีการใหม่อื่น ๆ ที่มีลักษณะเดียวกันเป็นเวลาห้าปี จากนั้นการบินครั้งแรกของโลกกำเนิดขึ้นเมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๔๔๖ โดยสองพี่น้องตระกูลไรท์ (Wilbur & Orville Wright) สร้างเครื่องบินชื่อ “ฟลายเออร์ (Flyer)” และทำการบินเป็นครั้งแรกเป็นผลสำเร็จ ที่เมืองคิตตี้ฮอว์ค รัฐนอร์ธคาโรไลน่า สหรัฐอเมริกา โดยบินอยู่ในอากาศได้นานถึง ๑๒ วินาที เป็นระยะทาง ๑๒๐ ฟุต ที่ระยะสูงประมาณ ๒๐ ฟุต ดังเป็นที่ทราบกันอยู่แล้ว
ครั้นวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๕๓ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติ เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๖ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์กำเนิดการบินในภูมิภาคนี้ ได้เกิดขึ้นเมื่อพฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๓ เมื่อนาย Charles van den born (ชาร์ล ว็อง แด็ง บอร์น) นักบินชาวเบลเยี่ยม นำเครื่องบินปีกสองชั้นแบบ Henri Farman IV (อ็องรี ฟาร์ม็อง ๔) ชื่อ “Wanda” ทำการแสดงการบินเป็นครั้งแรกที่ไซ่ง่อน อินโดจีน

โดย: เจ้าบ้าน [27 ธ.ค. 54 11:08] ( IP A:119.46.176.222 X: )
ความคิดเห็นที่ 3
   ในปีเดียวกันนั้น คือวันที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๓ (อย่างเพิ่งงงและสับสนบ่นผมนะครับ ในสมัยนั้นเรายังนับให้วันที่ ๑ เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ ในต่างประเทศ อาจจะเอาวันเดือนปี กลับมาแปลเป็นภาษาไทย กลายเป็น ปี ๒๔๕๔ แต่ความเป็นจริงมันคนละปีครับ กองทัพอากาศยืนยันว่า คือ ปี ๒๔๕๓ ครับ) บริษัทการบินแห่งตะวันออกไกล (Societe d’Aviation d’Extreme Orient) โดยนายคาร์ล ออฟเฟอร์ (Karl Offer) ได้นำเครื่องบินปีกสองชั้นแบบ Henri Farman IV (อ็องรี ฟาร์ม็อง ๔) ชื่อ “Wanda” โดยมีนาย Charles van den born (ชาร์ล ว็อง แด็ง บอร์น) ชาวเบลเยี่ยม เป็นนักบิน (กองทัพอากาศ และราชบัณฑิตยสถานได้ตรวจสอบแล้ว การออกเสียงเรียกชื่อที่ถูกต้องเป็นแบบในวงเล็บครับ) ได้มาทำการแสดงการบินเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยการเก็บเงินค่าเข้าชมและโฆษณาขายเครื่องบินแบบนี้ในสยาม เป็นครั้งแรก ให้ชาวไทยได้รู้จักกับเครื่องบินที่สนามม้าสระปทุม (ราชกรีฑาสโมสร) โดยในวันแรกของการแสดงการบินในครั้งนี้ผู้จัดงานต้องการให้คนไทยขึ้นเครื่องบินเพื่อเก็บเงินนอกจากการเสียบัตรเข้าชมแล้ว ซึ่งทางฝ่ายไทย ได้คัดเลือกให้ พันตรี หลวงศักดิ์ศัลยาวุธ (สุณี สุวรรณประทีป) เป็นคนสามัญชนคนไทยคนแรกขึ้นบินกับนักบินนายนี้ เพื่อแสดงให้เห็นว่าปลอดภัยดี หลังจากนั้นจึงมีคนไทยจำนวนมากซื้อบัตรราคา ๕๐ บาทเพื่อขึ้นทำการบินด้วยต่อหลายคน การแสดงการบินมีตั้งแต่วันที่ ๓๑ มกราคม จนถึง ๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๕๓ (ประเทศไทยได้มีการจัดการแสดงการบิน ครบรอบ ๑๐๐ ปีการบินแห่งราชอาณาจักรไทย ไปเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ที่ท่าอากาศยานดอนเมือง ครับ) และเนื่องจากได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นอย่างมาก จึงมีการแสดงการบินเพิ่มเติมอีก ๑ วัน ในวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๔๕๓

โดย: เจ้าบ้าน [27 ธ.ค. 54 11:09] ( IP A:119.46.176.222 X: )
ความคิดเห็นที่ 4
    โดยเหตุการณ์สำคัญครั้งหนึ่ง เกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๕๓ ระหว่างที่มีการแสดงการบินที่สนามม้าสระปทุมในวันนี้ นายพลเอก พระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ กรมหลวงพิศณุโลกประชานาถ เสนาธิการทหารบก และ นายพลโท พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ผู้รั้งจเรทหารช่าง ได้เสด็จขึ้นทำการบินกับนักบิน เบลเยี่ยม ด้วยและเหตุนี้จึงมีความปรารถนาที่จะให้มีเครื่องบินในประเทศไทยบ้าง ซึ่งภายหลัง เสนาธิการทหารบก ท่านนี้ ได้รับการยกย่องเป็น “พระบิดาของกองทัพอากาศ” และ “พระบิดาแห่งการบินของประเทศไทย” ครับ จากนั้นเมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๕๓ Charles Van den Born ได้ไปเปิดทำการแสดงการบินที่ฮ่องกง (ในช่วงเวลานี้ ต่างประเทศ นับเป็นปี ๒๔๕๔) และฮ่องกงได้จัดงานครบ ๑๐๐ ปี ไปเรียบร้อยแล้ว มีของที่ระลึก มีการแสดงการบิน พอสมควร
ต้นปี พ.ศ.๒๔๕๔ อันเนื่องมาจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งขึ้นครองสิริราชย์สมบัติเข้าสู่ปีที่ ๒ ในรัชกาลที่ ๖ แห่งราชวงศ์จักรี ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะทำนุบำรุงกิจการทหารในด้านการป้องกันประเทศอย่างจริงจังและกว้างขวางยิ่งขึ้น และภายหลังจากที่พลเอก พระบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช เสนาบดีกระทรวงกลาโหม เสด็จไปยุโรป ได้ทรงทราบข่าวว่าประเทศฝรั่งเศสกำลังปรับปรุงกิจการการทหารอย่างกว้างขวางกว่าประเทศอื่นๆ เมื่อเสด็จกลับมาแล้วได้ทรงปรึกษากับ พลเอก สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ กรมหลวงพิศณุโลกประชานารถ ถึงความจำเป็นต้องมีเครื่องบินไว้ใช้ป้องกันประเทศเหมือนอารยะประเทศ ที่เขากำลังเร่งดำเนินการอยู่ ด้วยเหตุเหล่านี้ กระทรวงกลาโหมจึงได้ดำริจะจัดตั้งกิจการบินขึ้นเป็นแผนกหนึ่งของกองทัพบก ตั้งแต่นั้นมาและได้ทำการคัดเลือกผู้ที่สมัครไปศึกษาวิชาการบิน ณ ประเทศฝรั่งเศส


โดย: เจ้าบ้าน [27 ธ.ค. 54 11:11] ( IP A:119.46.176.222 X: )
ความคิดเห็นที่ 6
    ต้นปี พ.ศ.๒๔๕๔ อันเนื่องมาจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งขึ้นครองสิริราชย์สมบัติเข้าสู่ปีที่ ๒ ในรัชกาลที่ ๖ แห่งราชวงศ์จักรี ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะทำนุบำรุงกิจการทหารในด้านการป้องกันประเทศอย่างจริงจังและกว้างขวางยิ่งขึ้น และภายหลังจากที่พลเอก พระบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช เสนาบดีกระทรวงกลาโหม เสด็จไปยุโรป ได้ทรงทราบข่าวว่าประเทศฝรั่งเศสกำลังปรับปรุงกิจการการทหารอย่างกว้างขวางกว่าประเทศอื่นๆ เมื่อเสด็จกลับมาแล้วได้ทรงปรึกษากับ พลเอก สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ กรมหลวงพิศณุโลกประชานารถ ถึงความจำเป็นต้องมีเครื่องบินไว้ใช้ป้องกันประเทศเหมือนอารยะประเทศ ที่เขากำลังเร่งดำเนินการอยู่ ด้วยเหตุเหล่านี้ กระทรวงกลาโหมจึงได้ดำริจะจัดตั้งกิจการบินขึ้นเป็นแผนกหนึ่งของกองทัพบก ตั้งแต่นั้นมาและได้ทำการคัดเลือกผู้ที่สมัครไปศึกษาวิชาการบิน ณ ประเทศฝรั่งเศส

๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๔ กระทรวงกลาโหมออกคำสั่งที่ ๒๑๑/๒๑๗๑๕ เพื่อให้นายทหารสามนาย ภายหลังจากที่คัดเลือกแล้วไปเข้าเรียนโรงเรียนการบินและศึกษาวิชาการบินและการช่างอากาศในประเทศฝรั่งเศส โดยมี นายพลโท กรมหมื่นกำแพงเพ็ชร์อัครโยธิน ผู้รั้งจเรทหารช่าง เป็นผู้จัดส่งนายทหารเพื่อไปศึกษา ประกอบด้วย
๑.นายพันตรี หลวงศักดิ์ศัลยาวุธ (สุณี สุวรรณประทีป) ผู้บังคับการกองพันพิเศษ กองพลที่ ๕
๒.นายร้อยเอก หลวงอาวุธสิขิกร (หลง สิน - ศุข) ผู้รั้งผู้บังคับการกองพันพิเศษ กองพลที่ ๙
๓.นายร้อยโท ทิพย์ เกตุทัต ผู้บังคับกองร้อยที่ ๓ โรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยม


๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๕๔ นายทหารทั้งสามออกเดินทางจากประเทศไทยด้วยเรือนวนตุง ไปลงเรือ Ernest Simon ที่สิงคโปร์ พร้อมกับ หม่อมเจ้าไตรทศประพันธ์ (พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ) ซึ่งจะเสด็จออกไปทรงรับตำแหน่งอัคราชทูตพิเศษประจำกรุงวอชิงตัน ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา

๒๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๔ นายทหารทั้งสามท่านเดินทางถึงกรุงปารีส ของฝรั่งเศส โดยมี นายพลโท หม่อมเจ้าบวรเดช อัคราชทูตพิเศษประจำกรุงปารีส เสด็จมารอรับที่สถานีรถไฟ และจัดการหาที่พัก พร้อมจ้างครูฝรั่งเศสมาสอนภาษาให้

๑๐ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๕๔ นายแพทย์ฝรั่งเศสตรวจร่างกาย ๓ นายทหารไทย ปรากฏว่ามีร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ พร้อมเข้ารับการศึกษาวิชาการบิน โดย นายร้อยเอกหลวงอาวุธสิขิกร และนายร้อยโททิพย์ เกตุทัต เข้ารับการศึกษาในโรงเรียนการบินของบริษัทนิเออปอร์ต ส่วนนายพันตรีหลวงศักดิ์ศัลยาวุธ เข้ารับการศึกษาในโรงเรียนการบินที่ตำบลวิลลา ดูเบลย์

โดย: เจ้าบ้าน [27 ธ.ค. 54 11:16] ( IP A:119.46.176.222 X: )
ความคิดเห็นที่ 7
    ๙ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๕ พันตรี หลวงศักดิ์ศัลยาวุธ,ร้อยเอก หลวงอาวุธสิขิกรและร้อยโท ทิพย์ เกตุทัต ภายหลังเดินทางมาถึงฝรั่งเศส ได้เริ่มเรียนภาษาฝรั่งเศส พร้อมกับเข้าฝึกในโรงเรียนการบินทั้งทางทหารและพลเรือน ในเมืองวิลลาคูเบล์ย และมูรเมอลอง

๒ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๕๕ นายพันตรี หลวงศักดิ์ศัลยาวุธ ได้เริ่มการศึกษาและฝึกการบินหลักสูตรของสโมสรการบินพลเรือนฝรั่งเศส ด้วยเครื่องบินเบร์เกต์ ชนิดปีก ๒ ชั้น ที่สนามบินตำบลวิลลาคูเบลย์ ส่วน นายพันตรี หลวงอาวุธสิขิกร (ได้รับพระราชทานเลื่อนยศเป็น พันตรี เมื่อวันที่ ๑๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๕ ) ได้เริ่มการศึกษาและฝึกการบินด้วยเครื่องบินนิเออร์ปอร์ต ชนิดปีกชั้นเดียว ที่สนามบินตำบลมูลเมอะลอง เลอะกรังค์

๒๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๕๕ นายร้อยเอก ทิพย์ เกตุทัต (ได้รับพระราชทานเลื่อนยศเป็น ร้อยเอก เมื่อวันที่ ๑๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๕ ) ได้เริ่มการศึกษาและฝึกการบินด้วยเครื่องบินนิเออร์ปอร์ต ชนิดปีก ชั้นเดียว ที่สนามบินตำบลมูลเมอะลอง เลอะกรังค์

๑๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๕๕ ในระหว่างการฝึกบินของ นายพันตรีหลวงอาวุธสิขิกรที่ประเทศฝรั่งเศส ปรากฏว่าเครื่องบินได้แฉลบตกลงในระยะสูงประมาณ ๑๕ เมตร นายพันตรีหลวงอาวุธสิขิกร ได้รับบาดเจ็บที่นิ้วกลางมือขวาถูกหลอดแก้วสำหรับตรวจน้ำมันบาดขาดไปถึงโคนเล็บ ต้องพักรักษาตัวอยู่หลายวัน

โดย: เจ้าบ้าน [27 ธ.ค. 54 11:18] ( IP A:119.46.176.222 X: )
ความคิดเห็นที่ 8
    ๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๕ นายพันตรี หลวงศักดิ์ ศัลยาวุธ สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรของสโมสรการบินฝรั่งเศส ณ สนามบินตำบลวิลลาคูเบลย์ ซึ่งถือเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับการฝึกบินและทำการบินเครื่องบิน และเป็นนักบินอย่างสมบูรณ์แบบ

ตุลาคม พ.ศ.๒๔๕๕ มีการจัดการแสดงการบินและประกวดเครื่องบินแบบต่าง ๆ ทั้งของชาวฝรั่งเศส และชาวต่างชาติ ณ กรุงปารีส นายทหารทั้งสามท่านจึงได้มีโอกาสเห็นความก้าวหน้าทางเครื่องบินและเครื่องอุปกรณ์การบินต่าง ๆ มากมาย

โดย: เจ้าบ้าน [27 ธ.ค. 54 11:19] ( IP A:119.46.176.222 X: )
ความคิดเห็นที่ 9
    พ.ศ. ๒๔๕๕ ขณะที่นายทหารทั้งสามท่านที่ถูกส่งไปเรียนวิชาการบินอยู่นั้น กระทรวงกลาโหมได้สั่งซื้อเครื่องบินเพื่อนำกลับมาใช้ในกิจการทางทหารของไทยเป็นชุดแรกจำนวน ๔ เครื่อง**ประกอบด้วย
๑. นิเออปอรต์ (Nieuport IIN) ชนิดปีกชั้นเดียวใช้เครื่องยนต์ โนม ๕๐ แรงม้า ๒ เครื่อง
๒. นิเออปอรต์ (Nieuport IVG) ชนิดปีกชั้นเดียวใช้เครื่องยนต์ โนม ๒๘ แรงม้า ๑ เครื่อง
๓. เบร์เกต์ ๓ (Breguet III) ชนิดปีกสองชั้นใช้เครื่องยนต์โนม ๗๐ แรงม้า ๑ เครื่อง
(** หมายเหตุของผู้รวบรวม…."เอกสารและหนังสือหลายฉบับทั้งของไทยและต่างประเทศรวมทั้งของกองทัพอากาศไทยระบุว่า การจัดซื้อเครื่องบินครั้งแรกในประเทศไทยจัดซื้อพร้อมกันทั้งหมด ๗ เครื่องและ เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ซื้อให้อีก ๑ เครื่อง แต่ในบันทึกของกรมสารบรรณกองทัพอากาศในหนังสือ "ตำนานกองทัพอากาศ ประจำปีพุทธศักราช ๒๔๕๔ - ๒๔๖๓" ที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์ของกองทัพอากาศ ระบุว่าจัดซื้อสองครั้ง ดังรายละเอียดที่กล่าว" )

๒๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๕๕ เวลา ๑๖๐๐ เศษ ตามเวลาท้องถิ่น ตำบลวิลาคูเบล ประเทศฝรั่งเศส ร้อยเอก ทิพย์ เกตุทัต ประสบอุบัติเหตุขณะฝึกการบินครั้งที่ ๖ เครื่องบินชนกับเครื่องบินของมองซิเออโคลาโด โดยมี มองซิเออแยกแดลคาเซ เป็นผู้โดยสาร กลางอากาศที่ระยะสูง ๓๐ เมตร ตกลงสู่พื้นดินได้รับบาดเจ็บต้องเข้ารับการรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลเมืองแวร์ชายส์ เป็นเวลา ๓ เดือนเศษ โดยมีแผลที่ดั่งจมูก ๑ แห่ง หน้าผากสองแห่ง ที่หน้าใต้ตาข้างซ้าย ๑ แห่ง ใต้คาง ๑ แห่ง กระดูกตรงข้อมือซ้ายหัก ๑ ท่อน พักรักษาตัวและออกจากโรงพยาบาลในวันที่ ๒๙ เดือนเดียวกัน แต่อย่างไรก็ตามท่านก็สามารถเข้าศึกษาวิชาการบินต่อจนจบหลักสูตรในวันที่ ๒๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๖

๕ มกราคม พ.ศ.๒๔๕๕ นายพันตรี หลวงศักดิ์ศัลยาวุธ พร้อมด้วย นายพันตรี หลวงอาวุธสิขิกร ได้เดินทางไปเบอรลิน เพื่อตรวจรับเครื่องโทรศัพท์ที่กระทรวงกลาโหมสั่งซื้อจากประเทศเยอรมนี ทั้งสองท่านเดินทางถึงกรุงเบอรลินในวันที่ ๖ มกราคม จากนั้นได้ถือโอกาสไปชมโรงงานสร้างเครื่องบินและโรงเรียนการบินของบริษัทแห่งหนึ่ง ในประเทศเยอรมนี จากนั้นจึงเดินทางกลับกรุงปารีส ในวันที่ ๒๑ มกราคม พ.ศ.๒๔๕๕

๒๙ มีนาคม พ.ศ.๒๔๕๕ นายพันตรี หลวงศักดิ์ศัลยาวุธ ได้ไปดูการแข่งขันเครื่องบินน้ำที่รัฐโมนาโค และเดินทางกลับกรุงปารีส ในวันที่ ๑๙ เมษายน พ.ศ.๒๔๕๖

โดย: เจ้าบ้าน [27 ธ.ค. 54 11:21] ( IP A:119.46.176.222 X: )
ความคิดเห็นที่ 10
    ๒๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๖ นายร้อยเอก ทิพย์ เกตุทัต สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรของสโมสร การบินพลเรือนแห่งประเทศฝรั่งเศส

๑๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๕๖ รัฐบาลไทย จัดให้นายทหารทั้งสามท่านไปดูกิจการบินทหารที่ประเทศอังกฤษ ในความอำนวยการของ นายพันเอก พระสารสาสน์พลขันธ์ (เยรินี)

โดย: เจ้าบ้าน [27 ธ.ค. 54 11:23] ( IP A:119.46.176.222 X: )
ความคิดเห็นที่ 11
    ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๕๖ นายพันโท หลวงศักดิ์ศัลยาวุธ สำเร็จวิชาการบินหลักสูตรการบินไกลระยะทาง ๒๐๐ กิโลเมตร ของกองทัพบกฝรั่งเศส (ได้รับพระราชทานเลื่อนยศเป็น พันโท เมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๖ )

๓๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๕๖ นายพันโท หลวงศักดิ์ศัลยาวุธ สอบการบินรูปทรงสามเหลี่ยมในระยะทาง ๓๐๐ กิโลเมตร และการบินเพดานบินสูงในคราวเดียวกัน แต่ขณะทำการบินเครื่องยนต์เกิดขัดข้องเนื่องจากก้านสูบขาด จำต้องลงโดยความจำเป็น และเมื่อแก้ไขแล้วจึงได้วิ่งขึ้นไปใหม่ แต่ยังไม่ทันได้ระยะสูงก็ต้องเลี้ยวหลบยอดไม้ เครื่องเสียการทรงตัวจึงแฉลบตกลงมาชำรุด นายพันโทหลวงศักดิ์ศัลยาวุธ ปลอดภัย การสอบจึงเลื่อนออกไปก่อน

โดย: เจ้าบ้าน [27 ธ.ค. 54 11:25] ( IP A:119.46.176.222 X: )
ความคิดเห็นที่ 12
    ๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๕๖ นายพันโท หลวงศักดิ์ศัลยาวุธ สำเร็จการศึกษาการบินตามหลักสูตรของกองทัพบกฝรั่งเศส
โดย: เจ้าบ้าน [27 ธ.ค. 54 11:26] ( IP A:119.46.176.222 X: )
ความคิดเห็นที่ 13
    ๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๕๖ นายพันตรี หลวงอาวุธสิขิกร สำเร็จการศึกษาการบินตามหลักสูตรของสโมสรการบินฝรั่งเศส

มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๕๖ กระทรวงกลาโหมได้ทำการสั่งซื้อเครื่องบินเพิ่มอีก ๓ เครื่องเป็นรุ่นที่สอง หลังจากที่ซื้อมาแล้วครั้งหนึ่งในปี พ.ศ. ๒๔๕๕ รวมทั้งในครั้งนี้ได้มีการจัดซื้อเครื่องยนต์เปล่าอีกหลายเครื่องเพื่อนำไปเป็นเครื่องยนต์สำรองด้วย ในครั้งที่สองนี้มีการซื้อเครื่องบินประกอบด้วย
๑. นิเออร์ปอร์ต (Nieuport IVG) ชนิดปีกชั้นเดียวใช้เครื่องยนต์ โนม ๒๘ แรงม้า ๑ เครื่อง
๒. เบร์เกต์ ๓ (Breguet III) ชนิดปีกสองชั้นใช้เครื่องยนต์ซัมป์ซองคองตองอุนเน ๑๓๐ แรงม้า
๑ เครื่อง
๓. เบร์เกต์ ๓ (Breguet III) ชนิดปีกสองชั้นรุ่นใช้เครื่องยนต์โนม ๕๐ แรงม้า ๑ เครื่อง
ในการจัดซื้อครั้งที่สองนี้ เจ้าพระยาอภัยภูเบศ ฝากกระทรวงกลาโหมซื้อ**เครื่องบินหนึ่งเครื่อง ซึ่งภายหลังได้น้อมเกล้าฯถวาย พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว (ในวันที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๗ ) ซึ่งได้พระราชทานให้กระทรวงกลาโหมนำไปใช้ราชการในกิจการแผนกการบิน คือ
๑.เบร์เกต์ ๓ ชนิดปีกสองชั้นรุ่นใช้เครื่องยนต์โนม ๑๐๐ แรงม้า ๑ เครื่อง
(** หมายเหตุของผู้รวบรวม…."บันทึกของกรมสารบรรณกองทัพอากาศในหนังสือ "ตำนานกองทัพอากาศ ประจำปีพุทธศักราช ๒๔๕๔ - ๒๔๖๓" ที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์ของกองทัพอากาศ ระบุว่าจัดซื้อครั้งที่สองนั้น เจ้าพระยาอภัยภูเบศ ฝากกระทรวงกลาโหมซื้อ มิได้ระบุว่าซื้อให้กระทรวงกลาโหม" )

๑๒ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๔๖ ๓ เดือนเศษ ภายหลังจากนายพันโท หลวงศักดิ์ศัลยาวุธ,พันตรี หลวงอาวุธสิขิกรและร้อยเอก ทิพย์ เกตุทัต จบวิชาการบินแต่ยังอาศัยอยู่ในฝรั่งเศส เพื่อเดินทางไปดูงานการบิน และตรวจรับเครื่องบินที่กระทรวงกลาโหมสั่งซื้อ ในวันนี้ได้เดินทางออกจากฝรั่งเศส เพื่อกลับประเทศไทย โดยทั้งสามท่านจะแวะดูงานการบินในเยอรมนี รัสเซีย ไซบีเรีย และญี่ปุ่น

๑๕ กันยายน พ.ศ.๒๔๕๖ นายพันโท หลวงศักดิ์ศัลยาวุธ,พันตรี หลวงอาวุธสิขิกรและร้อยเอก ทิพย์ เกตุทัต แวะดูงานการบินรัสเซีย ที่กรุงเปโตรกราก นครหลวงของรัสเซีย และได้ไปดูเครื่องบินและอากาศนาวาที่กัตชินา

๒๔ กันยายน พ.ศ.๒๔๕๖ นายพันโท หลวงศักดิ์ศัลยาวุธ,พันตรี หลวงอาวุธสิขิกรและร้อยเอก ทิพย์ เกตุทัต แวะดูงานการบินที่สนามบินคอร์ปปุสนี

โดย: เจ้าบ้าน [27 ธ.ค. 54 11:28] ( IP A:119.46.176.222 X: )
ความคิดเห็นที่ 14
    ๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๖ นายพันโท หลวงศักดิ์ศัลยาวุธ,พันตรี หลวงอาวุธสิขิกรและร้อยเอก ทิพย์ เกตุทัต เดินทางกลับถึงประเทศไทย ภายหลังทั้งสามท่านดูงานกิจการ ด้านการบินต่างๆผ่านทางประเทศเยอรมนี รัสเซีย ไซบีเรีย กรุงโตเกียว เซี้ยงไฮ้ และไซ่ง่อน

โดย: เจ้าบ้าน [27 ธ.ค. 54 11:29] ( IP A:119.46.176.222 X: )

คลิกที่นี่เพื่อกลับหน้าบ้าน