การใช้ร่มชูชีพ ครั้งแรกของประเทศไทย
    “การใช้ร่มชูชีพ ครั้งแรกของประเทศไทย” ๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๐ นายร้อยตรี สงวน ทันด่วน ศิษย์การบินชั้นปฐม ได้ทำการฝึกบินที่สนามบินดอนเมือง ในขณะที่บินเลี้ยวทำวงแคบเกินไปจนเครื่องไม่มีกำลังฉุดพอ ได้เกิดอุบัติเหตุเครื่องบินแฉลบตกลงพื้นดิน เป็นเหตุให้เสียชีวิตทันที นับเป็นนักบินคนแรกที่เสียชีวิตจากอากาศยานอุบัติเหตุ และทางราชการได้มีประกาศยกย่องสรรเสริญ เพราะถือว่าเป็นการเสียชีวิตในขณะที่ปฏิบัติราชการด้วยความกล้าหาญและเสียสละ
๒๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๐ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงตัดสินพระทัย ประกาศสงคราม กับ ฝ่ายมหาอำนาจกลาง (ประเทศเยอรมนีและออสเตรีย- ฮังการี) ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท โดยกระทรวงกลาโหมประกาศรับสมัคร ทหารอาสาไปร่วมรบในสมรภูมิยุโรป ประเทศไทยจะเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ ๑ มีทหารอาสาสมัคร ในส่วนของ กองบินทหารบก รวม ๔๐๐ คน โดยมี นายพันเอก พระเฉลิมอากาศ เป็นผู้บังคับการกองทหารอาสาในส่วนกองบินทหารบก จากการไปราชการยุโรปคราวนี้ ทหารไทย ได้เรียนรู้วิชาการบินการช่างเครื่องยนต์มากมาย จากนั้นได้มีการซื้อเครื่องบิน เครื่องยนต์ และปืนกลอากาศ ตลอดจนสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการบิน กลับมาใช้ราชการจำนวนมาก ที่สำคัญคือ มีการสร้างเครื่องบินขึ้นใช้เองอีกจำนวนมากด้วยเช่นกัน
๑๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๖๙ นายเรือโท ทองพูล ชื่นสุวรรณ กับ นายสิบตรี ทองเจือ อ่างแก้ว ศิษย์การบินชั้นมัธยมได้นำเครื่องบิน นิเออปอรต์เดอลาจ ขึ้นทำการบิน ในระยะสูงประมาณ ๘๐๐ เมตร ที่สนามบินโคกกระเทียม เครื่องบินทั้งสองได้ชนกันกลางอากาศ เครื่องบินของ นายร้อยโท ทองพล ชื่นสุวรรณ ตกลงกระแทกพื้นนักบินเสียชีวิต ทันที ส่วนเครื่องบินของนายสิบตรี ทองเจือ อ่างแก้ว ควงสว่านลงปะทะยอดไม้ นักบินกระโดดออกจากเครื่องบินได้รับบาดเจ็บ นับเป็นการชนกันทางอากาศครั้งแรกในประเทศไทย
จากอุบัติเหตุทางอากาศ ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ทำให้ กรมอากาศยาน มีความคิดที่จะซื้อร่มชูชีพ มาใช้งานอย่างจริงจัง โดยในยุโรปนั้น ในห้วงเวลานี้เริ่มมีการใช้ร่มชูชีพกับอากาศยานมากขึ้น และมีความเชื่อมั่นในเรื่องความปลอดภัยมากขึ้น
๒๖ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๗๐ กรมอากาศยาน มีการจัดการประชุมถึงเรื่องร่มชูชีพที่ซื้อมา และได้มีการทดลองแล้วนั้น ได้ความว่าเป็นประโยชน์และวางข้อบังคับใช้แต่นั้นเป็นต้นมา
๑๕ พฤศจิกายน ๒๔๗๒ นายร้อยโท นาม พันธุ์นักรบ ผู้ช่วยผู้บังคับฝูงบินที่ ๔ ตำบลโคกกะเทียม จังหวัดลพบุรี นำเครื่องบิน นิเออปอรต์เดอลาจ ทำการบินผาดแผลงในระยะสูงประมาณ ๑,๐๐๐ เมตร เครื่องบินเกิดไฟไหม้ นักบินถูกไฟลวกและไม่สามารถบังคับเครื่องบินได้จึงตัดสินใจโดดร่มชูชีพออกจากเครื่องและปลอดภัย นับเป็นครั้งแรกที่มีนักบินโดดร่มออกจากเครื่องบิน
จากนั้น ในวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๒ กรมอากาศยาน จึงออกคำสั่งให้กองบินต่าง ๆ จัดการแก้ไขที่นั่งเครื่องบินทุกแบบ ทุกชนิด ให้ใช้ร่มชูชีพได้ทุกเครื่อง เว้นไว้แต่เครื่องบินนิเออปอรต์ ๒๓ ตารางเมตร
ปัจจุบัน ระบบร่มชูชีพซึ่งใช้กับอากาศยานของกองทัพอากาศ ได้พัฒนาก้าวล้ำออกไป ด้วยความปลอดภัยสูง โดยมีทั้งร่มชูชีพที่ติดตัวนักบินในการโดดออกจากเครื่องบิน และระบบที่มีความปลอดภัยสูงอย่างเก้าอี้ดีดตัว https://www.wingsofsiam.pantown.com
โดย: เจ้าบ้าน [10 ก.พ. 55 8:54] ( IP A:119.46.176.222 X: )
Add to Facebook  Add to Twitter  Add to Multiply  Add to Google  Add to Blogger  Add to Live

คลิกที่นี่เพื่อกลับหน้าบ้าน