เครื่องบินพยาบาล
    “เครื่องบินพยาบาล”
๑๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๖๓ จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงแถลงให้ประชาชนทราบภายหลังจากทรงขึ้นดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารบก ความว่า “ การที่จะบำรุงกำลังทางอากาศนั้น นอกจากการจัดหาเครื่องบินแล้ว ยังมีการสำคัญอีกประการหนึ่งคือ การจัดสร้างสนามบินไว้เป็นพื้นที่ที่เครื่องบินจะขึ้นลงได้สะดวก ซึ่งจำจะต้องมีไว้ ทุกจังหวัด จังหวัดละหนึ่งแห่งเป็นอย่างน้อย ” จากนั้น พลเอกเจ้าพระยาบดินเดชานุชิต เสนาบดีกระทรวงกลาโหมได้ชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับการสร้างสนามบิน และความสำคัญในการซื้อเครื่องบินใช้งานในทางราชการ ให้อุปราชและสมุหเทศาภิบาลทราบ และเข้าใจ ความมุ่งหมายเมื่อมีการประชุมอุปราชและสมุหเทศาภิบาลในปี พ.ศ. ๒๔๖๓ ซึ่งอุปราชและสมุหเทศาภิบาลรับทราบและรับที่จะไปดำเนินการสร้างสนามบินขึ้นอย่างน้อยจังหวัดละ ๑ สนามบิน
๗ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๖๓ จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เสนาธิการทหารบก ทรงกล่าวในพิธีรับหน้าที่ มีข้อความตอนหนึ่งว่า “…สิ่งสำคัญของการป้องกันชาติบ้านเมืองของเราในขณะนี้ ตกเป็นหน้าที่ของ เครื่องบิน แล เรือดำน้ำ…”

โดย: เจ้าบ้าน [25 ม.ค. 55 14:21] ( IP A:119.46.176.222 X: )
Add to Facebook  Add to Twitter  Add to Multiply  Add to Google  Add to Blogger  Add to Live
ความคิดเห็นที่ 1
   พ.ศ. ๒๔๖๔ เจ้านายและประชาชนจากทั่วประเทศได้ร่วมใจกันบริจาคเงิน ซื้อเครื่องบินให้แก่ราชการ (กรมอากาศยาน) โดยมี เครื่องบินที่จัดซื้อให้ทางราชการ มากกว่า ๙๐ เครื่อง ในโอกาสสำคัญนี้ สมเด็จพระปิตุฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ทรงชักชวน พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายใน ออกเงินซื้อเครื่องบินแบบเบรเกต์ ๑๔ ใช้เป็นเครื่องบิน พยาบาลบรรทุกผู้โดยสารได้ ๔ คน และบรรทุกผู้บาดเจ็บอาการหนักได้ ๒ คน นับเป็นเครื่องบินพยาบาลเครื่องแรกๆ ของประเทศไทย กำหนดชื่อว่า "ขัติยะนารี ๑" ๒๗ มิถุนายน

พ.ศ. ๒๔๖๔ กรมอากาศยานทหารบกจัดส่งเครื่องบินเบรเกต์ ๑๔ จากกองบินใหญ่ทหารบกที่ ๓ นครราชสีมา พร้อมนายแพทย์ของกรมสาธารณะสุข ๑ คนและเวชภัณฑ์หนัก ๑๒๐ กิโลกรัม บินไปที่จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อช่วยเหลือประชาชน ชาวอำเภอวาริชำราบ ซึ่งเกิดไข้ทรพิษและอหิวาตกโรค การบินไปส่งแพทย์และเวชภัณฑ์ดังกล่าวใช้เวลา ๓ ชั่วโมง ๘ นาที ซึ่งหากเดินทางตามธรรมดาในสมัยนั้นจะต้องใช้เวลาประมาณครึ่งเดือน เป็นการใช้ประโยชน์จากเครื่องบินนอกเหนือจากการใช้ในงานสงครามเท่านั้น
นอกจากนี้ กระทรวงกลาโหม ได้ออกแจ้งความเรื่องรับเงินของสตรีชาวขอนแก่น เพื่อสร้างเครื่องบินพยาบาล เมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๖๗ ความว่า “...คุณหญิงพิศาลสารเกษตร เป็นประธานรวบรวมเงินได้สองหมื่นบาทเศษเป็นการพอเพียงแก่เครื่องบินพยาบาล ๑ เครื่อง ในขั้นต้นนี้ ได้ขนานนามและจารึกอักษรไว้ให้ปรากฏที่เครื่องบินนั้นว่า “หญิงจังหวัดขอนแก่น ๑” เพื่อเชิดชูเกียรติศักดิ์สตรีชาวจังหวัดขอนแก่นสืบไป...” ซึ่งนับว่า ประเทศของเรามีเครื่องบินที่ใช้ในกิจการพยาบาลเพิ่มขึ้นอีก ๑ เครื่อง

โดย: เจ้าบ้าน [25 ม.ค. 55 14:22] ( IP A:119.46.176.222 X: )
ความคิดเห็นที่ 2
   

โดย: เจ้าบ้าน [25 ม.ค. 55 14:23] ( IP A:119.46.176.222 X: )

คลิกที่นี่เพื่อกลับหน้าบ้าน