WINGSOFSIAM.pantown.com
พ ศ 2466 <<
กลับไปหน้าแรก
การบินเดินทางไปเยือนมณฑลฝ่ายเหนือเพื่อเปิดสนามบิน
การบินเดินทางไปเยือนมณฑลฝ่ายเหนือเพื่อเปิดสนามบิน
ภายหลังจากความสำเร็จในการบินเดินทางไปเยือนมณฑลภาคอีสานในปี ๒๔๖๔ ๒๔๖๖ คราวนี้ กรมอากาศยาน ได้จัดเครื่องบินทิ้งระเบิดแบบที่ ๑ (เบรเกต์ ๑๔) เดินทางไปเยือนมณฑลฝ่ายเหนือ
เริ่มต้นเมื่อ ๑๖ ๑๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๖ มณฑลพายัพ ได้จัดงานฉลองเปิดใช้สนามบินสุเทพ ซึ่งสร้างขึ้นบริเวณตีนดอยอ้อยช้าง (ปัจจุบันคือดอยสุเทพ) เป็นครั้งแรก (สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๔ ในสมัยเจ้าแก้วนวรัตน์เจ้าผู้ครองนครองค์สุดท้ายของเชียงใหม่) โดยกรมอากาศยาน จัดส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดแบบ เบร์เกต์ ๑๔ เป็นเครื่องบินทิ้งระเบิดและตรวจการณ์ปีกสองชั้นสองที่นั่งปีกและลำตัวบุผ้าสร้างในฝรั่งเศส แต่ประกอบในประเทศไทย ซึ่งเป็นเครื่องบินที่มีพิสัยบินไกลที่สุด สังกัดกองบินใหญ่ที่ ๒ ซึ่งเป็นกองบินที่ทำหน้าที่ตรวจการณ์และถ่ายภาพทำแผนที่ ๓ เครื่อง ชื่อ "เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ ๑", "จังหวัดเชียงใหม่ ๑" และ "เจ้าผู้ครองนครน่าน ๑" มี นายเรืออากาศตรี ขุนรณนภากาศ และ นายเรืออากาศตรีหลวงเทเวศอำนวยฤทธิ์ (ส่วนนักบินอีกนายไม่ทราบชื่อ) ทำการบินเดินทางจากสนามบินดอนเมือง เดินทางมาลงที่สนามบินสุเทพแห่งนี้เป็นปฐมฤกษ์ (ปัจจุบันคือท่าอากาศยานเชียงใหม่) เครื่องบินเครื่องนี้มีรูปหอยสังข์สีขาวและมีข้อความเขียนข้างลำตัวว่า จังหวัดเชียงใหม่ ๑ เป็นเครื่องบินที่ กรมอากาศยาน เขียนชื่อขึ้นตามที่เจ้านายฝ่ายเหนือข้าราชการตลอดจนพ่อค้าประชาชนชาวเชียงใหม่รวบรวมเงินได้ ๒๖,๗๐๐ บาทจัดซื้อมา และเขียนชื่อไว้เพื่อเป็นเกียรติและเป็นที่ระลึก นอกจากนี้ในวันดังกล่าวยังมีการจัดรวบรวมเงินได้อีกเพื่อสมทบทุนในการจัดซื้อเครื่องบินขับไล่แบบ สปัด ๗ ให้ทางราชการในราคา ๙,๐๐๐ บาท กำหนดชื่อเป็น จังหวัดเชียงใหม่ ๒ การที่มีเครื่องบินมาบินโชว์และลงที่เชียงใหม่ ในครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นครั้งแรกของภูมิภาคทางเหนือตอนบนแห่งนี้ และเป็นเรื่องตื่นเต้นของคนที่นี่มาก มีการจัดงานกันอย่างยิ่งใหญ่ที่สนามบินสุเทพไม่ต่างจากงานฤดูหนาวหรืองานประจำปีของจังหวัดเชียงใหม่ ฉลองกัน ๔ วัน ๔ คืน โดยมีผู้คนจำนวนมากมาเที่ยวในงานฉลองสนามบินและเครื่องบินในครั้งนี้
โดย: เจ้าบ้าน
[27 ก.พ. 55 16:12] ( IP A:119.46.176.222 X: )
ความคิดเห็นที่ 1
จากนั้นในวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๖ เครื่องบิน สามเครื่อง เดินทางมาลงที่สนามบินพระบาท ของจังหวัดลำปาง (ปัจจุบันคือท่าอากาศยานลำปาง) ถือเป็นปฐมฤกษ์ เปิดสนามบินลำปาง โดยมีการจัดงานฉลองยิ่งใหญ่เช่นเดียวกัน (ในอดีตสนามบินลำปางแห่งนี้เดิมเป็นสนามกีฬาและเป็นสนามฝึกซ้อมรบของทหารบกลำปางตั้งแต่ปี ๒๔๕๘ ) โอกาสนี้ เจ้าหญิงศรีนวล ณ ลำปาง (ธิดาเจ้าผู้ครองนครลำปาง) และคุณหญิงปรุง ราชเสนา (ภริยาข้าหลวงประจำจังหวัดลำปาง) ได้รับเชิญให้ขึ้นบินด้วย โดยเจ้าหญิงศรีนวล ณ ลำปาง ประทับกับเครื่อง เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ ๑ โดยมีนายเรืออากาศตรี ขุนรณนภากาศ เป็นนักบิน บินไปทางจังหวัดแพร่ ทำให้มีเจ้านายฝ่ายเหนือ ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน ร่วมบริจาคเงินรวบรวมเบื้องต้นได้ ๑๐,๐๐๐ บาท ภายหลังครบ ๒๖,๗๐๐ บาท ครบสร้างเครื่องบินเบรเกต์ ให้ทางราชการ ๑ เครื่อง กำหนดชื่อว่า จังหวัดลำปาง ๑ การเดินทางไปเยือนลำปางและเชียงใหม่ ครั้งแรกนี้ กรมอากาศยานยังได้ส่งเครื่องบินทั้ง ๓ เครื่อง เดินทางมาลงที่สนามบินอุตรดิตถ์ ซึ่งสร้างขึ้นบริเวณพื้นที่เทศบาลในปัจจุบัน ทิศเหนือติดถนนอินใจ ด้านหน้าติดถนนประชานิมิต ด้านหลังไปถึงคลองโพธิ์เดิม ถือเป็นปฐมฤกษ์ มีการเฉลิมฉลอง ๗ วัน ๗ คืน การบินเดินทางสู่เมืองต่างๆของกรมอากาศยานอันเนื่องมาจาก จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เสนาธิการทหารบก มีดำริให้กรมอากาศยานทดลองทำการบินขนส่งไปรษณีย์จากดอนเมืองไปยัง หัวเมืองต่างๆทั้งทางเหนือและทางอีสาน
โดย: เจ้าบ้าน
[27 ก.พ. 55 16:13] ( IP A:119.46.176.222 X: )
ความคิดเห็นที่ 2
ต้นปี พ.ศ. ๒๔๖๗ (๑ เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่) เจ้ามหาพรหมสุรธาดาฯ เจ้าผู้ครองนครน่าน ได้บริจาคทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ ซื้อเครื่องบินให้แก่กรมอากาศยาน จำนวน ๑ เครื่อง เจ้าผู้ครองนครน่าน ๑ เมื่อปี ๒๔๖๖ พระองค์มีพระประสงค์ใคร่จะชมเครื่องบินลำที่พระองค์ซื้อให้แก่ กรมอากาศยาน จึงได้นำความปรึกษากับอำมาตย์เอก คือพระวรไชยวุฒิกรณ์ ปลัดมณฑลว่าควรจะจัดสร้างสนามบินขึ้น ในนครน่านสักแห่งหนึ่ง เมื่อสร้างเสร็จแล้วจะได้ขอให้กรมอากาศยาน นำเครื่องบินที่พระองค์บริจาคทุนทรัพย์ซื้อให้มาบินลงเพื่อที่จะให้พระองค์และประชาชนได้ชมบ้าง เมื่อพระวรไชยวุฒิกรณ์ เห็นชอบด้วยจึงได้ออกตรวจสถานที่ที่จะสร้างสนามบิน และเห็นว่าที่ตำบลหัวเวียงเหนือ เป็นที่ราบกว้างขวางและเป็นป่าละเมาะไม่ยากแก่การถากถางนัก จึงได้เกณฑ์แรงงานราษฎรและใช้แรงงานราษฎรที่ไม่มีเงินค่ารัชชูปการ ทำการถากถางโค่นต้นไม้เพื่อสร้างสนามบินขึ้น โดยใช้เวลาในการสร้างประมาณ ๓ ปี เศษ จึงแล้วเสร็จ เป็นสนามบินธรรมดา ทางวิ่งเป็นดิน พอที่เครื่องบินสมัยนั้น จะทำการวิ่งขึ้น - ลงได้ และกรมอากาศยาน ได้นำเครื่องบินแบบเบรเกต์ ๑๔ จำนวน ๓ เครื่อง รวมทั้งเครื่องบินที่เจ้ามหาพรหมสุรธาดาฯ เจ้านครน่านได้บริจาคทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ซื้อให้ บินมาจากดอนเมือง ถึงสนามบินน่านสำเร็จและลงอย่างปลอดภัย มีการเฉลิมฉลองติดต่อกันหลายวันหลายคืน
รวบรวมโดย....พ.อ.อ.รัชต์ รัตนวิจารณ์
https://www.wingsofsiam.pantown.com
โดย: เจ้าบ้าน
[27 ก.พ. 55 16:14] ( IP A:119.46.176.222 X: )
คลิกที่นี่เพื่อกลับหน้าบ้าน