บริพัตร และ ประชาธิปก เครื่องบินที่ออกแบบสร้างเองของไทย
    “บริพัตร” และ “ประชาธิปก” เครื่องบินที่ออกแบบสร้างเองของไทย
พ.ศ. ๒๔๖๗ เป็นครั้งแรก ที่กรมอากาศยาน ส่งนายทหารช่างอากาศ ไปศึกษาวิชาการช่างที่สหรัฐอเมริกา ตามคำเชิญของกองทัพบกสหรัฐฯ ภายหลังการเยือนกรมอากาศยาน ของพลจัตวา วิลเลียม มิตเชลล์ รองผู้บังคับการกรมอากาศยาน สหรัฐอเมริกา
กรมอากาศยาน ส่ง นายพันตรี หลวงเวชยันต์รังสฤษฎ์ (มุนี มหาสันทนะ) และ นายพันตรี หลวงเนรมิตไพชยนต์ (เซี้ยง ศุษิลวรณ์) ไปศึกษาวิชาวิศวกรรมอากาศยานในแผนกวิศวกรรม กองบินทหารบกสหรัฐฯ นับเป็นก้าวแรกที่ กรมอากาศยาน จะได้เรียนรู้เทคนิคการออกแบบและการซ่อมสร้างเครื่องบิน นอกเหนือจากที่ได้เรียนรู้จากฝรั่งเศส เท่านั้น
๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๐ นายพันโทหลวงพระเวชยันต์รังสฤษฎ์ ขณะดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยผู้อำนวยการกองโรงงานกรมอากาศยาน และรั้งตำแหน่งผู้บังคับฝูงกองโรงงานอากาศยาน (ต่อมาคือ พลอากาศโท มุนี มหาสันทนะ เวชยันตรังสฤษฏ์ ผู้บัญชาการทหารอากาศคนแรก) ได้คิดดัดแปรงเครื่องบินแบบ เบร์เกต์ ๑๔ ซึ่งกรมอากาศยาน สามารถสร้างขึ้นใช้ราชการเองได้แล้ว ให้เป็นเครื่องบินแบบใหม่ โดยกำหนดใช้เครื่องยนต์ ขนาด ๔๐๐ – ๕๐๐ แรงม้า ตามดำริของ เจ้ากรมอากาศยาน ที่ประสงค์ให้ทดลองออกแบบสร้างเครื่องบินที่สามารถใช้เครื่องยนต์จากอังกฤษ เยอรมัน สหรัฐอเมริกา หรือแหล่งเครื่องยนต์ อื่น ๆ ที่มิใช่ฝรั่งเศส เนื่องมาจาก เครื่องยนต์เลอโรน ที่ซื้อจากฝรั่งเศส เริ่มมีราคาที่แพงและเหมือนการถูกเอาเปรียบ นายพันโทหลวงพระเวชยันต์รังสฤษฎ์ ได้เลือกใช้เครื่องยนต์ลูกสูบดาวระบายความร้อนด้วยอากาศ แบบจูปิเตอร์ ขนาด ๔๕๐ แรงม้า ของอังกฤษ และเครื่องยนต์ลูกสูบเรียงระบายความร้อนด้วยของเหลวแบบ BMW VI ขนาด ๖๖๐ แรงม้า ของเยอรมนี กระทั่งวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๐ นายร้อยเอก จ่าง นิตินันทน์ ได้ทำการทดลองเครื่องบินเครื่องนี้ใช้การได้เรียบร้อย
ครั้นวันที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๐ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตร การซ่อมสร้างเครื่องบิน ที่ กรมอากาศยานดอนเมือง นายพันโทหลวงพระเวชยันต์รังสฤษฎ์ หัวหน้า กองเทคนิค กรมอากาศยาน ได้ขอพระราชทานชื่อให้กับเครื่องบินที่ออกแบบใหม่ ทรงทอดพระเนตร และทรงพระราชทานชื่อว่า “บริพัตร” ตามพระนามของ จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เพื่อเป็นเกียรติ และถือเป็นเครื่องบินแบบแรกที่ออกแบบและสร้างเองโดยคนไทย (ปัจจุบันกำหนดชื่อเป็น “เครื่องบินทิ้งระเบิดแบบที่ ๒” หรือ บ.ท.๒)

โดย: เจ้าบ้าน [13 ก.พ. 55 9:08] ( IP A:119.46.176.222 X: )
Add to Facebook  Add to Twitter  Add to Multiply  Add to Google  Add to Blogger  Add to Live
ความคิดเห็นที่ 1
   บริพัตร รุ่นใช้เครื่องยนต์ จูปิเตอร์

โดย: เจ้าบ้าน [13 ก.พ. 55 9:09] ( IP A:119.46.176.222 X: )
ความคิดเห็นที่ 2
   บริพัตร รุ่นใช้เครื่องยนต์ บีเอ็มดับบลิว

โดย: เจ้าบ้าน [13 ก.พ. 55 9:09] ( IP A:119.46.176.222 X: )
ความคิดเห็นที่ 3
   ๒๒ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๗๒ กรมอากาศยาน ส่งเครื่องบินแบบ บริพัตร รุ่นเครื่องยนต์ จูปิเตอร์ ๒ เครื่อง (หมายเลข ๒ และ ๓) และ รุ่นเครื่องยนต์ บีเอ็มดับบลิว ๑ เครื่อง (หมายเลข ๑) เดินทางไปเชื่อมสัมพันธไมตรีกับอินเดีย ในนามรัฐบาลไทย ตามคำเชิญของรัฐบาลอินเดีย ในเส้นทาง ดอนเมือง – ย่างกุ้ง – อัคยับ – กัลกัตตา – อัลละฮาบัค – เดลี โดยคณะประกอบด้วย
เครื่องบินบริพัตรหมายเลข ๑ (เครื่องยนต์ บีเอ็มดับบลิว ๕๐๐ แรงม้า) เป็นเครื่องนำ มี
นายพันโท หลวงเนรมิตไพชยนต์ (เซี้ยง ศุษิลวรณ์) หัวหน้าคณะ
นายร้อยเอก จ่าง นิตินันท์ (นายพันตรี หลวงแสนพลเทพ) นักบิน
เครื่องบินบริพัตรหมายเลข ๒ (เครื่องยนต์ จูปิเตอร์ ๔๕๐ แรงม้า) เป็นเครื่องตามขวา มี
นายร้อยเอก กฤษณ์ บูรณะสัมฤทธิ์ (นายพันตรี หลวงอัมพรไพศาล) นักบิน
นายสิบเอก สีนวล มากพานิช ช่างเครื่อง
เครื่องบินบริพัตรหมายเลข ๓ (เครื่องยนต์ จูปิเตอร์ ๔๕๐ แรงม้า) เป็นเครื่องตามซ้าย มี
นายร้อยโท กิ่ง ผลานุสนธิ์ (นาวาอากาศเอก หลวงล่าฟ้าเริงรณ) นักบิน
นายสิบตรี ชื่น เมฆพยม ช่างเครื่อง
นอกจากนี้ กรมอากาศยาน ยังส่ง นายร้อยเอก หลวงถลกนภากาศ (มนต์ สิงหเสนร) เป็นผู้ควบคุมนำชิ้นส่วนอะไหล่เดินทางภาคพื้นดิน ไปไว้ในตำบลต่างๆ ที่เครื่องบินจะแวะพักระหว่างทาง คณะฯออกเดินทางโดยรถไฟจากกรุงเทพฯ ไปยังปีนัง ในวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๔๗๒ แล้วโดยสารเรือต่อไปยัง ย่างกุ้ง อัคยับ กัลกัตตา แล้วเดินทางโดยรถไฟไปยังอัลละฮาบัค และเดลี โดยกำหนดถึง เดลี ในราววันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๔๗๒

โดย: เจ้าบ้าน [13 ก.พ. 55 9:11] ( IP A:119.46.176.222 X: )
ความคิดเห็นที่ 5
   เวลา ๐๗๐๐ ของวันอาทิตย์ที่ ๒๒ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๗๒ เครื่องบินทั้งสามเครื่อง ออกเดินทางจากสนามบินดอนเมือง บินเลี้ยวขวาเวียนรอบสนามบิน ๑ รอบ เพื่ออำลา จากนั้นเกาะหมู่แล้วมุ่งหน้าเข้าสู่ พระนคร กระทำประทักษิณพระนคร ๑ รอบ อำลาประชาชนชาวไทย แล้วมุ่งหน้าไปทางย่างกุ้ง
เวลา ๑๐๔๕ มีรายงานว่า เครื่องบินหมายเลข ๑ เครื่องยนต์ขัดข้อง ลงฉุกเฉินในป่าลึก เข้าใจว่าเป็นพื้นที่จังหวัดอุทัยธานี ขณะนั้น เสนาบดีกระทรวงกลาโหม ยังประทับอยู่ที่ดอนเมือง จึงโปรดให้โทรเลขถึงผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี และตาก ขอให้ช่วยค้นหาเครื่องบินและนักบิน และให้นำแพทย์ไปด้วยเพื่อช่วยเหลือนักบินและผู้โดยสาร



ครั้งเช้าวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๔๗๒ มีโทรเลขรายงานว่า พระยาศรีมหาเกษตร ผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี ออกเดินทางไปค้นหา และพบนายร้อยเอก จ่าง นิตินันทน์ ปลอดภัย เดินดั้นด้นออกจากป่าจากที่เครื่องบินตก ไปพักอยู่ที่บ้านหนองกี่ ท้องที่อำเภอทัพทัน จังหวัดอุทัยธานี ส่วนนายพันโท หลวงเนรมิตไพชยนต์ เครื่องบินได้หักบีบทับลำตัวท่อนบนถึงแก่กรรมทันที จึงจัดการนำศพไปไว้ที่จังหวัดอุทัยธานี เครื่องบินยังคงอยู่ในป่าทึบ บริเวณดงหนองนกเงือก ตำบลพรวงสองนาง อำเภอทัพทัน จังหวัดอุทัยธานี (ห่างจากเขาลำพยน ประมาณ ๖ กิโลเมตร)
สาเหตุที่เครื่องบินตก พบว่า เกิดจาก ท่อทางเดินของน้ำหล่อเครื่องยนต์ชำรุดตรงรอยต่อ ทำให้เคลื่อนหลุดออกจากกัน เพราะความสั่นสเทือนของเครื่องยนต์และความไม่มั่นคงของท่อประกอบกัน เมื่อน้ำรั่วออกจนหมด จึงไม่สามารถหล่อเลี้ยงถึงลูกสูบ เครื่องยนต์จึงร้อนจัด บางชิ้นส่วนไหม้และละลาย
ศพของหลวงเนรมิตไพชยนต์ กรมอากาศยานได้จัดให้ นายพันตรี หลวงเทวัญอำนวยเดช ไปรับมาโดยทางเรือ ถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๔๗๒ และได้จัดการบำเพ็ญกุศลตามประเพณี

โดย: เจ้าบ้าน [13 ก.พ. 55 9:13] ( IP A:119.46.176.222 X: )
ความคิดเห็นที่ 6
   พ.ศ. ๒๔๗๒ หลังจากมีการสร้างเครื่องบินทิ้งระเบิดแบบ "บริพัตร" สร้างออกมาสำเร็จ เมื่อปี ๒๔๗๐ นายพันโทหลวงเนรมิตไพชยนต์ (เซี้ยง ศุษิลวรณ์) ผู้บังคับฝูงโรงงานอากาศยานที่ ๑ กรมอากาศยาน ได้ออกแบบเครื่องบินขับไล่แบบให้กองโรงงานกรมอากาศยานสร้างขึ้นเป็นผลสำเร็จอีกแบบหนึ่ง มีการใช้ชื่อตามที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ได้พระราชทานชื่อเอาไว้แล้วว่า "ประชาธิปก" นับว่าเป็นเครื่องบินแบบที่สองที่คนไทยได้ออกแบบและสร้างขึ้นมาใช้เอง (ปัจจุบันกำหนดชื่อว่า “เครื่องบินขับไล่แบบที่ ๕” หรือ บ.ข.๕)
แต่นายพันโทหลวงเนรมิตไพชยนต์ ผู้ออกแบบ ได้เสียชีวิตเมื่อเครื่องบิน บริพัตร รุ่นใช้เครื่องยนต์ บีเอ็มดับบลิว ตก ขณะเดินทางไปเยือนอินเดีย ในปี ๒๔๗๒ เสียก่อน โครงการต่างๆ จึงหยุดลงเพราะไม่มีผู้สานต่อ

โดย: เจ้าบ้าน [13 ก.พ. 55 9:13] ( IP A:119.46.176.222 X: )
ความคิดเห็นที่ 7
   https://wingsofsiam.pantown.com/

โดย: เจ้าบ้าน [13 ก.พ. 55 9:15] ( IP A:119.46.176.222 X: )
ความคิดเห็นที่ 8
   
๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๓ กรมอากาศยาน ส่งเครื่องบินแบบบริพัตร จำนวน ๓ เครื่อง ไปเยือนรัฐบาลอินโดจีนฝรั่งเศส ณ เมืองฮานอย เป็นครั้งที่สอง เพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรี ให้ทันวันที่ ๑ มกราคม ๒๔๗๓ ซึ่งเป็นวันขึ้นปีใหม่ของฝรั่ง โดยใช้เส้นทางเดิมกับครั้งแรก คือ ดอนเมือง – นครราชสีมา – ร้อยเอ็ด – นครพนม – วินท์ – ฮานอย ครั้งนี้ คณะเดินทางประกอบด้วย
เครื่องที่ ๑ นายพลตรี พระยาเฉลิมอากาศ เจ้ากรมอากาศยาน เป็นผู้ควบคุม
นายพันตรี หลวงแสนพลเทพ (จ่าง นิตินันทน์) เป็นนักบิน
เครื่องที่ ๒ นายพันตรี หลวงอัมพรไพศาล (กฤษณ์ บูรณสัมฤทธิ์) เป็นผู้นักบิน
นายพันโท พระภาษาศรีรัตน์ เป็นล่าม
เครื่องที่ ๓ นายร้อยเอก กิ่ง ผลานุสนธิ์(นาวาอากาศเอก หลวงล่าฟ้าเริงรุณ) เป็นนักบิน
นายสิบเอก สีนวล มากพานิช (เรืออากาศโท สีมวล มากพานิช) เป็นช่างเครื่อง



คณะเดินทางถึงสนามบินบักไมต์ เมืองไฮฟอง โดยสวัสดิภาพ ในวันที่ ๑ มกราคม ๒๔๗๓ เพื่อส่งความสุข และวางพวงมาลาที่อนุสาวรีย์ทหารฯ ณ เมืองไฮฟอง และเดินทางกลับถึงดอนเมือง เมื่อวันที่ ๖ มกราคม ๒๔๗๓ โดยสวัสดิภาพ

โดย: เจ้าบ้าน [29 ก.พ. 55 9:42] ( IP A:119.46.176.222 X: )

คลิกที่นี่เพื่อกลับหน้าบ้าน