ความคิดเห็นที่ 2 การปรับปรุงพันธุ์พืชโดยวิธีชักนำให้เกิดการกลายพันธุ์ด้วยสารโคลชิซิน ในข้าวโพดหวาน ผักกาดขาวปลี คะน้า และหอมแดง
จักรกฤษณ์ ภารการ*, สุปาณี บุดดีคง, ยุพิน ไชยโต, วาสนา ไวจำปา, ชูเกีรติ ผาโสม ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ต.ขามเรียง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม 44150 โทร./โทรสาร (043) 54-247 E-mail: jagkrit.p@msu.ac.th
บทคัดย่อ
...................ระหว่างปีพ.ศ.2543-2545จักรกฤษณ์และคณะได้ทำการทดลองการปรับปรุงพันธุ์พืชโดยวิธีชักนำให้เกิดการกลายพันธุ์ด้วยสารโคลชิซิน ในข้าวโพดหวาน ผักกาดขาวปลี คะน้า และหอมแดง ที่ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ผลปรากฎว่า สารโคลชิซินไม่สามารถชักนำให้เกิด Polyploid ที่มีลักษณะดีเด่นกว่าพันธุ์เดิมในข้าวโพดหวานและผักกาดขาวปลี แต่สามารถชักนำให้เกิด Polyploid ที่มีลักษณะดีเด่นได้ในผักคะน้าและหอมแดง
....................จากผลการทดลองในข้าวโพดหวานพบว่า ต้นข้าวโพดหวานที่เกิดจากเมล็ดที่ถูกแช่ในสารละลาย โคลชิซิน 0.1-0.2% เป็นเวลา 1-6 ชั่วโมง จะให้ต้นข้าวโพดหวานที่เจริญเติบโตช้ากว่าปกติ, ใบขนาดเล็กกว่า, ฝักขนาดเล็กกว่า, จำนวนฝักต่อต้นน้อยกว่า, ลำต้นเตี้ยกว่าและระยะเวลาที่ใช้ ในการออกดอกช้ากว่าต้นปกติ (Diploid) ที่เมล็ดไม่ผ่านการแช่สารโคลชิซิน โดยจำนวนโครโมโซมข้าวโพดหวาน 2n = 2x = 20
.....................จากผลการทดลองในผักกาดขาวปลี ผลปรากฎว่า ความเข้มข้นของโคลชิซินที่ 0.25% แช่เมล็ดผักกาดขาวปลีนาน 6 ชั่วโมง จะมีอัตราการรอดชีวิต 7% แต่ที่ความเข้นข้น 0.25% หรือ0.5% แช่เมล็ดนาน 24 ชั่วโมง อัตราการรอดชีวิตจะเป็นศูนย์ เนื่องจากว่าอัตราการรอดชีวิตต่ำมาก โอกาสที่จะพบต้นที่กลายพันธุ์จึงมีน้อยลงไปด้วย การทดลองในผักกาดขาวปลีจึงไม่พบต้นที่กลายพันธุ์ หากตรวจนับจำนวนโครโมโซม ของผักกาดขาวปลีแล้วจะพบว่า 2n = 2x = 20
.....................จากผลการทดลองในผักคะน้าพบว่า สามารถชักนำใเกิดการกลายพันธุ์ได้สำเร็จโดยใช้สารโคลชิซินที่ความเข้มข้น 0.5% แช่เมล็ดนาน 24 ชั่วโมง จะได้ต้น Polyploid ที่มีลักษณะดีเด่นกว่าต้นปกติ (Diploid) ที่ไม่แช่สารโคลชิซิน คือ ใบจะมีสีเขียวเข้มกว่า ขนาดใบใหญ่กว่า จำนวนใบต่อต้นมากกว่าปกติ และออกดอกช้ากว่าปกติแต่สามารถติดเมล็ดได้ อย่างไรก็ดี ขณะนี้อยู่ระหว่างทดลองรุ่น F2 และกำลังขอจดทะเบียนพันธุ์พืชในชื่อ "คะน้าพันธุ์มมส." ต่อท่านอธิบดีกรมวิชาการเกษตร จำนวนโครโมโซมของคะน้า 2n = 2x = 18
......................จากผลการทดลองในหอมแดง ผลปรากฎว่า หอมแดงที่ถูกฉีดด้วยโคลชิซินความเข้มข้น 0.5% สองครั้งติดต่อกันแต่ฉีดคนละวัน จะให้ต้นคล้ายต้น Polyploid ที่มีลักษณะแตกต่างจากต้นปกติ (Diploid) ที่ไม่ฉีดสารโคลชิซินเลย กล่าวคือ ต้น Polyploid จะมีใบสีเขียวเข้มกว่า ขนาดหัวสะสมอาหารและใบใหญ่กว่า จากการตรวจนับจำนวนโครโมโซมพบว่า 2n = 2x = 16 และต้น Polyploid 2n = 4x = 32 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างทดลองรุ่น F4 และกำลังจะขอจดทะเบียนพันธุ์พืชในชื่อ "หอมแดงพันธุ์มมส." ต่อท่านอธิบดีกรมวิชาการเกษตรต่อไป
คำสำคัญ: โคลชิซิน, Polyploid, Diploid, ข้าวโพดหวาน, ผักกาดขาวปลี, คะน้า, หอมแดง |