ทีมวิจัยเยอรมันแย้ง "ตุตันคาเมน" สิ้นพระชนม์ด้วยโรคโลหิตจางไม่ใช่มาลาเรีย
|
ความคิดเห็นที่ 1 บรรยากาศการแถลงข่าวผลการพิสูจน์ดีเอ็นเอและซีทีสแกนพระศพของฟาโรห์ตุตันคาเมน ที่พิพิธภัณฑ์อียิปต์ เมื่อวันที่ 17 ก.พ.53 ซึ่งในครั้งนั้นนักวิทยาศาสตร์สรุปผลการตรวจดีเอ็นเอและซีทีสแกนว่าฟาโรห์พระองค์นี้สิ้นพระชนม์ด้วยโรคมาลาเรีย (ภาพจาก เอเอฟพี)
| โดย: แมวน้ำ [23 พ.ย. 53 11:37] ( IP A:124.120.220.16 X: ) |  |
ความคิดเห็นที่ 2 ปริศนาการสิ้นพระชนม์ของ "ตุตันคาเมน" ยังไม่จบสิ้น แม้นักวิทยาศาสตร์และโบราณคดีอียิปต์ ได้พิสูจน์ดีเอ็นเอและสรุปผลไปแล้วว่า ฟาโรห์หนุ่มแห่งอาณาจักรอียิปต์โบราณสิ้นพระชนม์ก่อนวัยอันควร ด้วยโรคมาลาเรีย ทว่าทีมนักวิจัยเยอรมันกลับพบร่องรอยโรคบางอย่างจากพระศพที่ขัดแย้งกับผลวิจัยเดิมโดยสิ้นเชิง ทีมนักวิจัยของสถาบันเวชศาสตร์เขตร้อน แบร์นฮาร์ด (Bernhard Nocht Institute for Tropical Medicine : BNITM) ในเมืองฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี เกิดความสงสัยในข้อสรุปของผลการศึกษาเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ถึงสาเหตุที่ทำให้ฟาโรห์ตุตันคาเมน (Tutankhamun) แห่งอาณาจักรอียิปต์โบราณต้องสิ้นพระชนม์ก่อนวัยอันควร จึงทำการพิสูจน์หาข้อเท็จจริงนี้อีกครั้งดังรายงานในเอเอฟพี
"พวกเราสงสัยในความน่าเชื่อถือของข้อมูลพันธุกรรม ที่มีการนำเสนอไว้ในผลการศึกษาดังกล่าว และความเป็นเหตุเป็นผลในบทสรุปของผู้เขียน" ทีมวิจัยระบุในวารสารเจอร์นัล ออฟ เดอะ อเมริกัน เมดิคัล แอซโซซิเอชัน (Journal of the American Medical Association) ซึ่งตีพิมพ์ทางออนไลน์เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. ที่ผ่านมา | โดย: แมวน้ำ [23 พ.ย. 53 11:39] ( IP A:124.120.220.16 X: ) |  |
ความคิดเห็นที่ 3 ในรายงานสรุปผลการวิจัยในครั้งนั้นของซาไฮ ฮาวาสส์ (Zahi Hawass) ผู้อำนวยการสภาโบราณสถานแห่งอียิปต์ (Supreme Council of Antiquities) และทีมวิจัย ได้พิสูจน์หาสาเหตุการสิ้นพระชนม์ของฟาโรห์ตุตันคาเมนด้วยเทคนิคการตรวจวิเคราะห์ดีเอ็นเอและการเอกซ์เรย์พระศพด้วยเครื่องซีทีสแกน (computerised tomography scan : CT scan) ผลการศึกษาดังกล่าวสรุปว่า พระองค์สิ้นพระชนม์ด้วยโรคมาลาเรีย เนื่องจากการติดเชื้อมาลาเรียส่งผลให้พระองค์มีอัตราการไหลของเลือดไปเลี้ยงกระดูกต่ำ ทำให้กระดูกเปราะบางหรือเสื่อมสภาพลง กอรปกับที่พระองค์ทรงประสบอุบัติเหตุล้มจนกระดูกขาหักมาก่อนหน้า ซึ่งเป็นการยืนยันว่าพระองค์มิได้ถูกลอบปลงพระชนม์ตามที่เข้าใจกันมาก่อนหน้านั้น ดังรายงานในไลฟ์ไซน์ด็อตคอม ทั้งนี้ ฟาโรห์ตุตันคาเมนสิ้นพระชนม์เมื่อ 1324 ปีก่อนคริสต์ศักราช ขณะมีพระชนมายุ 19 พรรษา หลังจากปกครองอาณาจักร์อียิปต์ได้ประมาณ 10 ปี ทว่าทีมนักวิจัยเยอรมันตั้งข้อสังเกตว่า ฟาโรห์หนุ่มแห่งไอยคุปต์พระองค์นี้ ทรงมีพระชันษามากเกินกว่าจะสิ้นพระชนม์ด้วยโรคมาลาเรีย ซึ่งผู้ใหญ่ส่วนมากมักมีการพัฒนาภูมิคุ้มกันให้ต้านทานต่อเชื้อปรสิตที่เป็นสาเหตุของโรค และนอกจากนั้นพระศพของพระองค์ยังปรากฏรอยโรคโลหิตจางชนิดซิกเคิลเซลล์ (sickle cell disease : SCD) ที่บริเวณนิ้วพระบาท | โดย: แมวน้ำ [23 พ.ย. 53 11:39] ( IP A:124.120.220.16 X: ) |  |
ความคิดเห็นที่ 4 โรคโลหิตจางชนิดซิกเคิลเซลล์ เป็นโรคทางพันธุกรรมที่ทำให้เม็ดเลือดแดงมีรูปร่างผิดปกติและทำงานบกพร่อง ซึ่งประชากรอียิปต์เป็นพาหะของโรคนี้สูงถึงร้อยละ 9-22 "ในพื้นที่ที่มีการระบาด โรคมาลาเรียในเด็กจะมีอาการรุนแรงและการเสียชีวิตจะเกิดกับเด็กเล็ก ขณะที่ผู้ใหญ่จะมีภูมิต้านทานบางส่วน (semi-immunity) และแสดงอาการของโรคไม่รุนแรงนัก" คริสเตียน ทิมมันน์ (Christian Timmann) ศาสตราจารย์ด้านเวชศาสตร์โมเลกุล หนึ่งในทีมวิจัยของเยอรมนีชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโรคมาลาเรีย ขณะที่ คริสเตียน เมเยอร์ (Christian Meyer) นักวิจัยอีกคนหนึ่งของทีมบอกว่า ในการยืนยันว่าเป็นโรคโลหิตจางชนิดซิกเคิลเซลล์ หรือมียีนของโรคนี้อยู่หรือไม่ สามารถทำได้ง่ายและใช้เวลาเพียง 60 นาทีเท่านั้น ซึ่งพวกเขาก็สงสัยว่าทำไมทีมนักวิจัยอียิปต์จึงไม่พิสูจน์เรื่องนี้ หากฟาโรห์ตุตันคามุนประชวรด้วยโรคโลหิตจางชนิดซิกเคิลเซลล์จริง จะสามารถอธิบายเกี่ยวกับภาวะกระดูกอ่อนแอของพระองค์ได้ และพระองค์สิ้นพระชนม์ด้วยภาวะแทรกซ้อน จากการที่กระดูกพระเพลาหักได้อย่างไร นักวิจัยอธิบายว่า ผู้ที่ป่วยเป็นโรคโลหิตจางชนิดนี้ จะมีเม็ดเลือดแดงผิดปกติ โดยมีรูปร่างคล้ายพระจันทร์เสี้ยว แทนที่จะมีลักษณะกลมเหมือนทั่วไป ซึ่งเม็ดเลือดแดงที่ผิดปกติจะจับกลุ่มกันเป็นก้อน มีผลไปขัดขวางการไหลของเลือดในเส้นเลือดฝอยและทำให้เส้นเลือดใหญ่อุดตันได้ ซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยถึงชีวิต | โดย: แมวน้ำ [23 พ.ย. 53 11:40] ( IP A:124.120.220.16 X: ) |  |
ความคิดเห็นที่ 5 "ยิ่งไปกว่านั้น หากฟาโรห์ตุตันคาเมน มียีนที่ทำให้ป่วยเป็นโรคซิกเคิลเซลล์จริง พระองค์จะไม่สิ้นพระชนม์ด้วยโรคมาลาเรีย เพราะผู้ที่เป็นโรคนี้จะไม่มีอาการป่วยอย่างรุนแรงจากโรคมาลาเรีย" เมเยอร์ อธิบาย ซึ่งทีมวิจัยเยอรมันยังได้เรียกร้องให้ทีมวิจัยอียิปต์ตรวจวิเคราะห์ดีเอ็นเอของฟาโรห์ตุตันคาเมนอย่างละเอียดอีกครั้งหนึ่ง อย่างไรก็ดี ยังมีนักวิจัยที่ไม่เห็นด้วยกับสมมติฐานและข้อสรุปของนักวิจัยเยอรมัน ทางด้าน โรเบิร์ต คอนโนลลี (Robert Connolly) นักมานุษยวิทยากายภาค มหาวิทยาลัยลิเวอร์พูล (University of Liverpool) ในสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นผู้ศึกษาพระศพของฟาโรห์ตุตันคาเมนและอยู่ในทีมวิจัยเดียวกับฮาวาสส์ โต้แย้งว่า ทีมวิจัยเยอรมันไม่มีหลักฐานทางด้านรังสีวิทยามาแสดงให้เห็นว่ากระดูกของพระองค์ไม่แข็งแรง และไม่มีหลักฐานจากการเอกซ์เรย์ที่บ่งบอกว่าพระองค์ทรงประชวรด้วยโรคซิกเคิลเซลล์หรือมีความผิดปกติใดๆ เกี่ยวกับเลือดอันเนื่องจากพันธุกรรม และเขายังปักใจเชื่อว่าพระองค์สิ้นพระชนม์หลังจากพลัดตกจากราชรถ เนื่องจากบริเวณหน้าอกของพระศพเกิดเป็นโพรงและกระดูกซี่โครงหักหลายซี่ | โดย: แมวน้ำ [23 พ.ย. 53 11:40] ( IP A:124.120.220.16 X: ) |  |
ความคิดเห็นที่ 7 ขอบคุณครับคุณแมวน้ำ ต่วย'ตูนพิเศษ เล่มเดือน ตค. 2553 ก็นำเสนอข่าวนี้เหมือนกันครับผม ^^
ใครอยากติดตามในหนังสือเพิ่มเติมก็ไปหาซื้อได้ตามร้านหนังสือเก่านะครับ เผื่อมีขาย 555+
https://www.penbunemag.com/upload_file/051010083503.jpg | โดย: Detectiveoat13 (เจ้าบ้าน ) [24 พ.ย. 53 19:04] ( IP A:182.53.192.126 X: ) |  |
ความคิดเห็นที่ 8 แล้วสรุปว่าทฤษฎีไหนได้รับการยอมรับในแง่วิชาการที่สุดครับ หรือยังกินกันไม่ลง? | โดย: Sundown [24 ก.พ. 54 22:32] ( IP A:58.9.157.40 X: ) |  |
ความคิดเห็นที่ 9 ถ้าถามผม ตอนนี้คงต้องยกให้ "มาลาเรีย" ครับเพราะ Hawass ออกมาเสนอเอง แต่เรื่องโลหิตจาง Hawass ไม่ออกมาแสดงความเห็นใดๆทั้งสิ้น
เข้าใจใช่ไหมครับ คุณ Sundown  | โดย: Detectiveoat13 (เจ้าบ้าน ) [25 ก.พ. 54 17:43] ( IP A:125.27.64.219 X: ) |  |
|