อยากทราบประวัติพระนางTiy ค่ะ
   อยากทราบประวัติของพระนางค่ะ เคยค้นแล้วเจอแค่ชื่อพ่อแม่
ไม่ก็ขึ้นมาเป็นตัวอะไรก็ไม่รู้ รบกวนช่วยหน่อยนะคะ
โดย: MTT [3 ต.ค. 54 19:54] ( IP A:58.11.182.49 X: )
Add to Facebook  Add to Twitter  Add to Multiply  Add to Google  Add to Blogger  Add to Live
ความคิดเห็นที่ 3
   สวัสดีครับคุณมุก หายไปนานเลย ^^

ตอนนี้เรียน ม.3 แล้วใช่ไหมครับ?

ขอบคุณสำหรับคำถามนะครับ พอดีประวัติเกี่ยวกับพระนาง Tiy (จริงๆแล้วมีหลาย Tiy แต่ผมเดาว่าต้องเป็น Tiy ซึ่งเป็นมเหสีของฟาโรห์ Amenhotep III) เคยลงตีพิมพ์ในนิตยสาร "ต่วย'ตูนพิเศษ" เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2551 น่ะครับ (จะ 3 ปีแล้ว) ก็เลยขอ Copy เนื้อหามาแปะไว้เลยแล้วกันนะครับ ^^

พระนางไทยีอภิเษกสมรสกับฟาโรห์อเมนโฮเทปที่ ๓ ในปีที่ ๒ ของการครองราชย์ของพระองค์ แต่เนื่องด้วยนางไม่ได้มีเชื้อสายของกษัตริย์ ทำให้พระองค์ต้องทำการบันทึกถึงการแต่งงานครั้งนี้เอาไว้ในจารึกรูปด้วงสคารับ (Scarab) เพื่อแสดงให้ประชาชนทราบว่า สตรีผู้นี้ (พระนางไทยี) เป็นมเหสีของพระองค์จริงๆ และเพื่อสร้างสิทธิโดยชอบธรรมในการขึ้นครองราชย์ต่อไปของโอรสของพระองค์กับพระนางไทยีด้วย

ข้อความสำคัญในจารึกด้วงสคารับนั้นเขียนไว้ว่า “อเมนโฮเทป ผู้ปกครองเมืองธีบส์ (Thebes) และไทยี มเหสีองค์สำคัญของกษัตริย์ บิดาของนางมีนามว่ายูยา (Yuya) มารดาของนางมีนามว่าธูยู (Thuyu) นางเป็นมเหสีของกษัตริย์ผู้เต็มไปด้วยอำนาจ...”

ถึงแม้จะบอกว่าพระนางไทยีไม่ได้มีเชื้อสายของกษัตริย์ แต่ก็ใช่ว่านางจะมีฐานะต่ำต้อย นางเป็นถึงธิดาของชนชั้นสูงจากเมืองอัคห์มิม (Akhmim) ซึ่งตั้งอยู่บริเวณอียิปต์บนไม่ห่างจากเมืองอไบดอส (Abydos) มากนัก เป็นไปได้ว่าบิดาและมารดาของพระนางไทยีจะมีความเกี่ยวพันโดยตรงกับพระนางมุตเอ็มวีอาร์ (Mutemwia) มเหสีของฟาโรห์ทุตโมซิสที่ ๔ (Tuthmosis IV) จึงทำให้ไม่น่าแปลกใจที่ทำไมฟาโรห์อเมนโฮเทปที่ ๓ ซึ่งเป็นโอรสของฟาโรห์ทุตโมซิสที่ ๔ ถึงได้มาเจอกับพระนางไทยีได้

ในปี ค.ศ. ๑๙๐๕ ธีโอดอร์ เดวิส (Theodore Davis) ได้ค้นพบสุสานแห่งหนึ่งในหุบผากษัตริย์ ซึ่งต่อมาได้ตั้งเป็นสุสานรหัส KV๔๖ ในสุสานแห่งนี้แม้จะเป็นสุสานสั้นๆแต่ก็เต็มเปี่ยมไปด้วยของมากมายที่ยังไม่ได้ถูกขโมยจัดการกวาดเอาไป (จริงๆคาดว่าโดนขโมยไป ๑ ครั้งแล้ว โดยโดนเจาะเข้ามาถึง ๓ ครั้ง) เรียกได้ว่าเป็นสุสานที่สมบูรณ์ที่สุดที่ค้นพบในขณะนั้น (สุสานของฟาโรห์ตุตันคาเมน (Tutankhamun) ที่ว่ามีสมบัติหลงเหลืออยู่ในนั้นถึง ๕,๐๐๐ รายการนั้นขุดพบเจอหลังจาก KV๔๖ ถึง ๑๗ ปี คือค้นพบปี ค.ศ. ๑๙๒๒) เจ้าของสุสานแห่งนี้คือบิดาและมารดาของพระนางไทยี ใช่แล้วครับ พวกเขาคือ ยูยา และ ธูยู นั่นเองครับ

ยูยา เป็นเสนาบดีในรัชสมัยของฟาโรห์ทุตโมซิสที่ ๔ และต่อเนื่องมาจนถึงสมัยของฟาโรห์อเมนโฮเทปที่ ๓ เขายังดำรงตำแหน่งเป็นนักบวชแห่งเมืองเฮอร์มอนทีส (Hermonthis) (เมืองบริเวณด้านทิศใต้ของเมืองธีบส์) อีกด้วย ขณะที่ธูยูผู้เป็นภริยานั้น สืบเชื้อสายมาจากชาวอียิปต์โดยตรง แต่คาดกันว่ายูยานั้นพื้นเพเดิมเป็นชาวอินโด-ยูโรเปียน (Indo-European) ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยที่คอยทำงานรับใช้กองทหารม้าของอียิปต์

สุสานของยูยาและธูยูในหุบผากษัตริย์นั้น มีทั้งโลงศพของทั้งคู่รวมทั้งข้าวของมากมาย โบราณวัตถุชิ้นสำคัญและงดงามดูจะหนีไม่พ้นหน้ากากชุบทองคำของยูยาและธูยู ซึ่งสวยงามไม่แพ้ของฟาโรห์ตุตันคาเมนเลยทีเดียว ที่น่าสนใจคือโลงศพของยูยานั้น ไม่มีการจารึกถึงความสัมพันธ์ของเขาและพระนางไทยีเลย ทั้งๆที่เป็นบิดาและธิดากันแท้ๆ ตรงข้ามกับโลงศพของธูยู ที่มีการจารึกความสัมพันธ์ของนางกับเชื้อพระวงศ์เอาไว้อย่างเต็มที่ เป็นที่น่าคิดว่า ถ้าเราไม่มีตัวด้วงสคารับบันทึกพระนามของบิดาและมารดาของพระนางไทยีเอาไว้นั้น เราคงไม่คิดว่ายูยาเป็นบิดาของนางเป็นแน่

ราชินีไทยี เป็นราชินีที่ทรงอำนาจที่สุดในยุคนั้น เราจะพบจารึกรูปของพระนางยืนคู่กับสวามีได้บ่อยมาก ไม่ว่าจะตามผนังวิหาร ผนังสุสาน หรือแม้กระทั่งบรรดาข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ที่เด่นชัดที่สุดคือ รูปปั้นของฟาโรห์อเมนโฮเทปที่ ๓ และราชินีไทยีขนาดมหึมาที่เดิมเคยตั้งอยู่ที่วิหารประกอบพิธีศพของพระองค์ แต่ปัจจุบันมาตั้งไว้ที่พิพิธภัณฑ์ไคโรแล้ว รูปปั้นนี้แสดงฟาโรห์และราชินีในขนาดที่เท่ากัน และที่ขาของทั้งสองยังแสดงรูปปั้นเล็กๆของพระธิดาทั้ง ๓ ยืนอยู่คนละมุมอีกด้วย

แม้ว่าราชินีไทยีจะมีบทบาทสำคัญมากในรัชสมัยของฟาโรห์อเมนโฮเทปที่ ๓ แต่อย่างไรก็ตาม พระนางไม่ได้ดำรงตำแหน่ง มเหสีของเทพแห่งอามุน (God’s Wife of Amun) ดังเช่นมเหสีในยุคแรกๆของราชวงศ์ที่ ๑๘ เป็นไปได้ว่าเหล่าเชื้อพระวงศ์ในช่วงนี้ เริ่มนับถือเทพอามุนลดน้อยลง จึงไม่น่าแปลกใจที่เราไม่ค่อยพบจารึกรูปพระนางไทยีในวิหารของเทพอามุนที่คาร์นัก (Karnak) มากนัก แต่นางดูเหมือนจะมีความเกี่ยวข้องกับเทพีมาอัต (Maat) และเทพีฮาเทอร์ (Hathor) มากกว่า
โดย: Detectiveoat13 (เจ้าบ้าน ) [3 ต.ค. 54 21:11] ( IP A:182.53.194.236 X: )
ความคิดเห็นที่ 4
    ฟาโรห์อเมนโฮเทปที่ ๓ สิ้นพระชนม์ไปก่อนราชินีไทยีประมาณ ๘ ปี คาดว่านางสิ้นพระชนม์ตอนอายุประมาณ ๕๕ ปี ไม่มีใครทราบแน่ชัดว่าสุสานเดิมของพระนางนั้นอยู่ที่ใด แต่เราพอมีหลักฐานเกี่ยวกับพระนางอยู่บ้างคือ เศษผมของพระนาง ซึ่งอยู่ในโลงศพเล็กๆ ที่จารึกพระนามไทยีเอาไว้ โดยที่โลงศพเล็กๆนี้อยู่ปะปนกับบรรดาข้าวของเครื่องใช้ของฟาโรห์ตุตันคาเมน นอกจากนั้นเรายังพบเศษโลงศพหิน (Sarcophagus) ของพระนางในสุสานที่เมืองอมาน่า (Amarna) และพบสถูปชุบทองคำของนางอยู่ในสุสานรหัส KV๕๕ ในหุบผากษัตริย์ ซึ่งเป็นสุสานที่มีรูปแบบของศิลปะแบบอมาน่า ดูเหมือนว่าบรรดาข้าวของของนางจะกระจัดกระจายไปทั่ว ทำให้นักอียิปต์วิทยาสรุปว่า นางน่าจะเคยถูกฝังไว้ที่เมืองอมาน่า และถูกนำมาฝังใหม่ในช่วงของฟาโรห์ตุตันคาเมน และถูกย้ายพระศพอีกครั้งในช่วงปลายของอาณาจักรใหม่ หลักฐานชิ้นสำคัญที่สุดที่แสดงถึงการมีตัวตนของพระนางนั่นก็คือ ตัวมัมมี่ของพระนางเองครับ

มัมมี่ที่ว่านี้เป็นมัมมี่สตรีผมยาวพบในสุสานของฟาโรห์อเมนโฮเทปที่ ๒ (Amenhotep II) รหัสหลุม KV๓๕ ซึ่งในห้องห้องหนึ่งมีมัมมี่ซ่อนเอาไว้ถึง ๓ ร่าง หนึ่งในนั้นเป็นสตรีที่ถูกเรียกว่า สตรีผู้อาวุโสกว่า (Elder Lady) ซึ่งนักอียิปต์วิทยาลงความเห็นกันว่า นางคือพระนางไทยีครับ สภาพมัมมี่ของนางนั้น นางนำแขนซ้ายมาพาดไว้ที่อก แขนขวาเหยียดตรงข้างลำตัว ซึ่งเป็นลักษณะที่พบบ่อยในงานศิลปะสำหรับเหล่าสตรีในสมัยราชวงศ์ที่ ๑๘ แต่ว่าไม่ค่อยพบบ่อยนักในสภาพของมัมมี่ครับ

พระนางไทยีกับฟาโรห์อเมนโฮเทปที่ ๓ นั้นมีโอรสด้วยกัน ๒ คนและธิดาอีก ๔ คน (บ้างก็ว่าธิดา ๕ คน) โอรสทั้ง ๒ นั้นมีพระนามว่า ทุตโมส (Tuthmose) และอเมนโฮเทป (Amenhotep) (อเมนโฮเทปคนนี้คือ ว่าที่ฟาโรห์องค์ต่อไป ฟาโรห์อเมนโฮเทปที่ ๔ (Amenhotep IV) หรือที่เรารู้จักกันว่า ฟาโรห์นอกรีต อัคเคนาเตน (Akhenaten) นั่นเองครับ) ส่วนธิดาทั้ง ๔ มีพระนามว่า ซิทอามุน (Sitamun) เฮนุตทาเนบ (Henuttaneb) ไอซิส (Isis) และ เนเบทาห์ (Nebetah) การที่มีนักวิชาการบางท่านกล่าวว่า น่าจะมีธิดาอีกองค์หนึ่งนั้น เป็นเพราะว่าได้มีการค้นพบสุสานที่อมาน่า สุสานนี้ได้จารึกรูปสลักของราชินีไทยียืนอยู่กับเด็กหญิงคนหนึ่ง ซึ่งมีจารึกเขียนไว้ถึงเด็กคนนี้ว่าเป็น ธิดาของกษัตริย์ นามของนางคือ บาเคทาเทน (Baketaten) อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มีการจารึกชื่อบิดาและมารดาของเด็กหญิงคนนี้เอาไว้ แต่ถ้าจะวิเคราะห์จากการที่เด็กหญิงคนนี้ยืนอยู่กับราชินีไทยี ก็อาจจะพอสรุปได้ว่าไทยีเป็นมารดาของนาง

แม้ว่ารูปสลักนั้นจะไม่ได้จารึกเอาไว้ว่า มันถูกบันทึกไว้ในช่วงปีไหน แต่มันก็พอจะสรุปได้ว่า น่าจะเป็นสมัยอมาน่า คือหลังจากที่ฟาโรห์อเมนโฮเทปที่ ๓ สิ้นพระชนม์ไปแล้วหลายปี แต่ปัญหาคือเราไม่ทราบว่าคำว่าหลายปีนั้นคือกี่ปี ถ้าดูจากรูปเด็กหญิงที่ถูกจารึกเอาไว้ น่าจะประมาณอายุได้คือ ๔-๕ ขวบ ซึ่งถ้ามองอย่างนี้ก็เป็นไปได้ยากที่ บาเคทาเทน คนนี้จะเป็นธิดาของฟาโรห์อเมนโฮเทปที่ ๓ แต่ถ้าดูจากศิลปะโดยรวมของราชวงศ์ที่ ๑๘ แห่งราชอาณาจักรใหม่ ซึ่งมักจะจารึกภาพเกินจริงในเรื่องวัยและอายุเสมอ ทำให้นักวิชาการคาดกันว่า บาเคทาเทนในรูปนี้ น่าจะมีอายุประมาณ ๑๔-๑๕ ปี แสดงว่า นางอาจจะเป็นธิดาของฟาโรห์อเมนโฮเทปที่ ๓ ก็เป็นได้


สำหรับในส่วนของพระนาง Tiy ก็ขอจบลงตรงนี้นะครับ เข้าใจว่าบรรยายอย่างเดียวโดยไม่มีรูปอาจจะไม่เห็นภาพ แต่ขออนุญาตให้ลองใช้ Keyword ต่างๆหาภาพใน Google ดูเองนะครับ เพราะตอนนี้เนื้อที่บอร์ดใกล้เต็มแล้วครับ cry

ถ้าสนใจอ่านแบบเต็มๆ พร้อมรูปก็ลองไปหาหนังสือ ต่วย'ตูนพิเศษ ฉบับเดือน พฤศจิกายน 2551 มาอ่านได้ครับ (อาจจะหายากหน่อย) หน้าปกเป็นแบบนี้ครับผม ^^

โดย: Detectiveoat13 (เจ้าบ้าน ) [3 ต.ค. 54 21:11] ( IP A:182.53.194.236 X: )
ความคิดเห็นที่ 5
   ใช่ค่ะ!ตอนนี้อยู่ม.3แล้วค่ะ! ฮ่าๆ! ไม่ได้หายไปไหนหรอกค่ะ
แต่มาคอยตามอ่านกระทู้ของคนอื่่นๆไม่ได้ตั้งกระทู้เองน่ะค่ะ
ขอบคุณสำหรับข้อมูลค่ะ =)!
โดย: MTT [4 ต.ค. 54 17:10] ( IP A:58.9.224.48 X: )


คลิก เพื่อเปลี่ยนกลับไปแสดงความคิดเห็นแบบเดิม

ชื่อไฟล์รูปห้ามมีอักขระพิเศษ เช่น (#),(<),(>),(&) เป็นต้นค่ะ
ชื่อ / e-mail :    แทรกไอคอนน่ารักๆในข้อความ
e-mail :
ส่งอีเมลทุกครั้งที่มีการตอบกระทู้       (ใส่ Email เมื่อต้องการให้ส่ง Email เมื่อมีคนมาโพสในกระทู้)


CAPTCHA code



คลิกที่นี่เพื่อกลับหน้าบ้าน