ประวัติศาสตร์ (กำลังจะ) ซ้ำรอย กรณีเขาพระวิหาร
   ประวัติศาสตร์ (กำลังจะ) ซ้ำรอย

รั้วที่ดีสร้างเพื่อนบ้านที่ดี Good fences make good neighbors เป็นถ้อยคำที่มาจากกลอนบทหนึ่ง ในกลอนนั้นบรรยายถึงผู้ชายกับเพื่อนบ้านที่คุยกันถึงเรื่องที่พัง ผู้ชายก็บอกว่ารั้วนั้นไม่ต้องซ่อมก็ได้ เพราะบ้านของเขาไม่ได้มีอะไรนอกจากต้นแอปเปิ้ลและต้นสน แต่อีกฝ่ายก็ยืนยันจะซ่อมรั้วเพราะในความคิดของเพื่อนบ้านนั้น “รั้วที่ดีย่อมสร้างเพื่อนบ้านที่ดี” (เพราะอย่างน้อยก็ทำให้เกิดความเคารพในสิทธิของกันและกัน) พรมแดนจึงทำหน้าที่เป็นทั้งสะพานเชื่อมและรั้วกั้น ในทางระหว่างประเทศ เขตแดนมีความหมายไม่ใช่แต่เพียงทางกายภาพ คือ ประโยชน์จากทรัพยากรพื้นที่ทำกิน แต่ยังให้ความหมายเชิงสัญลักษณ์ที่บ่งบอกว่าเราคือใคร เราแตกต่างจากคนอื่นอย่างไร ความคิดเช่นนี้พัฒนาขึ้นมาเป็นรากเหง้าทางวัฒนธรรมซึ่งผูกพันคนที่อยู่ในเขตแดนเดียวกัน เกิดความรู้สึกปลอดภัยที่ได้อยู่ในดินแดนของเรา และยิ่งไปกว่านั้นคือแสดงถึงอำนาจ ความแข็งแกร่ง ในแอฟริกา อดีตเคยมีอาณาจักรเกิดขึ้นมากมาย เวลาผ่านไปอาณาจักรก็ล่มสลาย มีชาติตะวันตกเข้ามายึดครอง เกิดพรมแดนที่ลากขึ้นมาใหม่ พอประเทศได้รับเอกราชก็มีความคิดที่จะทวงดินแดนตั้งแต่สมัยก่อนคืน (irredentism) แต่ท้ายที่สุดก็เป็นเพียงความพยายาม เพราะไม่มีใครยอมทำลายความมั่นคงและเสถียรภาพด้วยการให้ดินแดนของตน

บทเรียนจากปราสาทพระวิหาร
บทเรียนจากปราสาทพระวิหารทำให้เรารู้จักตัวเราและเพื่อนบ้านของเราดีขึ้น ตามที่ศาลโลกได้บรรยายไว้ในคำตัดสินกรณีปราสาทพระวิหาร สนธิสัญญาพรมแดนปี 1904 กำหนดให้สันปันน้ำตลอดแนวเป็นพรมแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา ซึ่งในยุคนั้นยังเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส เมื่อมีสนธิสัญญาแล้วก็เกิดการทำแผนที่ขึ้นมารองรับ ไทยในขณะนั้นไม่เชี่ยวชาญด้านเทคนิคและให้เจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสเป็นผู้ดำเนินการ แต่แผนที่ที่ทำมาไม่สอดคล้องกับแนวสันปันน้ำที่ได้ตกลงกันไว้จนทำให้ปราสาทพระวิหารเข้าไปอยู่ในดินแดนกัมพูชา

เมื่อศาลโลกต้องตัดสินในคดีนี้ จึงพิจารณาเพียงว่าไทยมีการยอมรับอำนาจอธิปไตยของกัมพูชาเหนือปราสาทหรือไม่ ผลปรากฏ คือ เมื่อมีการสื่อสาร ส่งแผนที่ (ที่ไม่ถูกต้อง) มายังประเทศไทย ฝ่ายไทยนิ่งเฉยทั้งที่มีโอกาสประท้วงข้อผิดพลาดและการมีธงชาติฝรั่งเศสในพื้นที่นั้น รวมถึงยังขอสำเนาแผนที่เพิ่ม อันทำให้เชื่อได้ว่าไทยยอมรับอธิปไตยของกัมพูชาเหนือตัวปราสาท ไม่ว่าอีกฝ่ายจะมีเจตนาบิดเบือนสนธิสัญญาซึ่งตกลงกันแล้วหรือไม่ก็ตาม แต่การที่ไทยนิ่งเฉยก่อตัวเป็นสภาพของการยอมรับจนเกิดกฎหมายปิดปาก (estoppel) กลายเป็นเส้นแดนซึ่งคลาดเคลื่อนจากที่เคยตกลงกันไว้พาให้ปราสาทพระวิหารไปอยู่ในเขตของกัมพูชา ไทยไม่สามารถเปลี่ยนจุดยืนจากอย่างหนึ่งไปเป็นอีกอย่างหนึ่งได้ แม้จะอ้างว่าการนิ่งเฉยนั้นไม่ได้เป็นการยอมรับ แต่มาจากความเข้าใจผิดคิดว่าเส้นที่ปรากฏในแผนที่ตรงกับแนวสันปันน้ำซึ่งกำหนดไว้ในสนธิสัญญา 1904 และไทยยังไม่ได้ยอมรับแผนที่อย่างเป็นทางการโดยคณะกรรมการร่วมสยามฝรั่งเศสด้วยซ้ำ เพราะคณะกรรมการหมดวาระไปก่อนที่แผนที่จะทำเสร็จ ไม่รู้จะเรียกว่าความเลินเล่อ รู้ไม่ทัน หรือความโชคร้ายของประเทศไทยดี แต่เหตุการณ์ในอดีตได้สอนให้เรารู้จักเท่าทันคนอื่นและรักษาสิทธิ์ในส่วนที่คิดว่าเป็นของเราหรือแม้แต่ที่คิดว่ายังต้องรอการตกลงกันในอนาคต

ความจริงบนพื้นดิน
เมื่อมีข้อโต้เถียงเหนือหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร เรามักนึกถึงการครอบครองปรปักษ์ซึ่งแสดงการครอบครอบตามจริงบนพื้นดิน ตามกฎหมายระหว่างประเทศนั้น การครอบครองปรปักษ์จะพิจารณาอ้างอิง 4 หลักเกณฑ์ คือ 1.การครอบครองนั้นเป็นไปโดยรัฐด้วยเจตนาที่จะแสดงอธิปไตย 2.การครอบครองนั้นเป็นไปโดยสงบและปราศจากการคัดค้าน 3.การครอบครอบเป็นไปอย่างเปิดเผย และ 4. มีระยะเวลายาวนานเพียงพอ แต่กฎหมายระหว่างประเทศจะมีผลต่อประเทศในทางคำตัดสินไม่ได้เลย ถ้าประเทศนั้นๆไม่พาตัวเองไปยอมรับอำนาจของศาลโลก

ในกรณีที่เกิดข้อพิพาทระหว่างประเทศ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศจะมีบทบาทในการเป็นผู้ตัดสินได้ก็ต่อเมื่อ
1. รัฐจะต้องแสดงความยินยอมโดยการยื่นเป็นข้อตกลงพิเศษ (special agreement หรือ compromise) ตาม Article 36(1)ธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ
2. สนธิสัญญาระบุให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศมีเขตอำนาจในการระงับข้อพิพาทอันเกิดจากการตีความและปฏิบัติตามสนธิสัญญานั้น (compromissory clause) ตาม Article 36(1)ธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ
3. รัฐแถลงยอมรับเขตอำนาจบังคับของศาลไว้ล่วงหน้าแล้ว ซึ่งเป็นการยอมรับเขตอำนาจโดยบังคับ (compulsory jurisdiction) ไม่ต้องยื่นข้อตกลงพิเศษตามข้อหนึ่งเพื่อแสดงความยอมรับเขตอำนาจของศาลอีกแล้ว ตาม Article36(2) ธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ
Article 36 ในธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ แสดงให้เห็นว่ารัฐสามารถเลือกที่จะใช้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเป็นวิธีระงับข้อพิพาทหรือไม่ก็ได้ แต่การจะนำคดีขึ้นสู่ศาลจะต้องตั้งอยู่บนความยินยอม (consent)ของคู่กรณีทั้งสองฝ่าย ในกรณีปราสาทพระวิหาร ไทยจำต้องขึ้นศาลเพราะมีการแถลงยอมรับอำนาจบังคับของศาลล่วงหน้าตาม Article 36(2) อย่างไรก็ตามเราไม่ได้ต่ออายุการแถลงยอมรับเขตอำนาจบังคับของศาลอีกภายหลังคดีปราสาทพระวิหาร คู่กรณีจึงไม่สามารถอ้างเขตอำนาจของศาลในส่วนนี้ได้อีกแล้วหากจะนำคดีอธิปไตยเหนือพื้นที่ทับซ้อนขึ้นสู่ศาลโลก หรือก็คือกัมพูชาไม่สามารถนำคดีขึ้นสู่ศาลฝ่ายเดียวได้แต่ต้องอาศัยความยินยอมของฝ่ายไทยซึ่งจัดทำขึ้นเป็นข้อตกลงพิเศษด้วย หากรัฐประสงค์จะระงับข้อพิพาทโดยวิธีการอื่น รัฐก็อาจปฏิเสธไม่ยอมรับเขตอำนาจของศาลได้

ดังนั้น จึงขอร้องว่าหากตระหนักถึงความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต กรุณาอย่าลงนามทำข้อตกลงยอมรับอำนาจของศาลโลกต่อกรณีนี้ เพราะคำพิพากษาของศาลเป็นที่สิ้นสุด ไม่มีการอุทธรณ์ตาม Article 60 หากเสียไปแล้วจะเรียกกลับคืนก็เป็นไปได้ยาก

ส่วนใครจะส่งเรื่องไปให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาเดิมกรณีปราสาทพระวิหารนั้นก็มีสิทธิที่จะทำได้เช่นเดียวกันตาม Article 60 แต่การตีความอย่างไรเสียก็เป็นเพียงอธิบายคำตัดสินเดิมโดยไม่มีผลต่อพื้นที่ที่อยู่นอกเหนือขอบเขตคำพิพากษา ซึ่งในตอนนั้นกัมพูชาได้ขอให้ศาลโลกตัดสินใน 2 ประเด็นคือให้ประเทศไทยถอนทหารออกจากปราสาทและให้กัมพูชาเป็นฝ่ายที่มีอำนาจอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหาร

สิ่งที่เราทำได้ในขณะนี้คือการแสวงหามิตรประเทศและรักษาสิทธิ์เหนือพื้นที่ การตอบโต้ในทางกฎหมายระหว่างประเทศสามารถทำได้ในหลายมิติ เช่น ท่าทีทางการทูต นโยบายการค้าและการให้สิทธิพิเศษต่างๆ กรณีที่อีกฝ่ายหนึ่งทำผิดกฎหมายมาก่อน อาจมีการยกระดับการตอบโต้ให้สูงขึ้นได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้กำลังเสมอไป

ในหลายๆกรณีกฎหมายระหว่างประเทศก็ไม่มีความแน่นอน จนกระทั่งมีผู้ตั้งคำถามว่าแท้จริงแล้วมีสิ่งที่เรียกว่ากฎหมายระหว่างประเทศหรือไม่ เพราะไม่มีกลไกที่บังคับให้เป็นไปตามกฎหมาย ไม่มีตำรวจ การขึ้นศาลจะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อมีความยินยอมของคู่ความทั้งสองฝ่ายเท่านั้น ซึ่งเป็นลักษณะที่แตกต่างจากกฎหมายภายในประเทศ กฎหมายระหว่างประเทศจึงขึ้นอยู่กับปฏิกิริยาและท่าทีของประชาคมโลก การจัดการของรัฐต้องอาศัยความรู้เท่าทัน ศิลปะ และการสร้างดุลอำนาจต่อรอง

มีละครเก่าอยู่เรื่องหนึ่งชื่อว่า “เก็บแผ่นดิน” ได้สะท้อนคุณค่าของแผ่นดินในหมู่คนที่ไม่มีแผ่นดินอย่างน่าประทับใจ ในขณะที่เรายังมีแผ่นดินอยู่ก็ขอให้ทุกคนทำสิ่งดีๆเพื่อแผ่นดินและรักษาแผ่นดินของเราไว้ตามกำลังและความสามารถของตน


สมิตา หมวดทอง (พี่นุ้ย)
MA. International Boundaries, University of Durham
MA. Speech Communication, Portland State University
E-mail: nuienglish@hotmail.com

โดย: nuienglish@hotmail.com (เจ้าบ้าน ) [22 เม.ย. 54 11:35] ( IP A:124.121.146.173 X: )
Add to Facebook  Add to Twitter  Add to Multiply  Add to Google  Add to Blogger  Add to Live

คลิกที่นี่เพื่อกลับหน้าบ้าน