มติชนรายวัน- เขาพระวิหาร ผ่านมุมมองกฎหมายระหว่างประเทศ
   เขาพระวิหาร ผ่านมุมมองกฎหมายระหว่างประเทศ
โดย สมิตา หมวดทอง MA.International Boundaries, University of Durham, UK MA. Speech Communication, Portland State University,US มติชนรายวัน วันที่ 02 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11071

ประเด็นที่ถกเถียงในเรื่องเขาพระวิหาร ต้องแยกการพิจารณาออกเป็นสองกรณี คือ

อำนาจอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหาร

กับพื้นที่ทับซ้อนซึ่งอยู่นอกเหนือตัวปราสาท

อำนาจอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหาร

หากมองในกรณีแรก คงจะต้องยอมรับว่าอำนาจอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารเป็นของประเทศกัมพูชาโดยสมบูรณ์ ตามคำตัดสินของศาลโลก (International Court of Justice) ในปี 1962 เนื่องจากการนิ่งเฉย (acquiescence) และการยอมรับ (recognition) ของฝ่ายไทย

ซึ่งการได้มาและการสูญเสียดินแดนของสองประเทศในลักษณะนี้เกิดขึ้นมาจากการที่ประเทศหนึ่ง

เช่น รัฐ A สร้างเงื่อนไขที่จะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งหรือรัฐ B เกิดความเสี่ยงอันจะนำไปสู่การเสียกรรมสิทธิ์เหนือดินแดน (risks of prejudice) ความเสี่ยงดังกล่าวอาจจะเป็นไปด้วยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ และอาจพัฒนาขึ้นโดยการที่รัฐ A รุกเข้าไปบริหารพื้นที่ส่วนนั้นโดยการเก็บภาษี ตั้งสถาบันทางราชการ หรือเป็นความเสี่ยงทางด้านเอกสาร เช่น สนธิสัญญา แผนที่ และจดหมายเหตุของทางราชการ โดยตามกฎหมายระหว่างประเทศ รัฐ B จะต้องตอบโต้หรือประท้วงต่อความเสี่ยงดังกล่าว เพื่อแสดงการปฏิเสธข้ออ้างของรัฐ A ที่หวังจะได้กรรมสิทธิ์เหนือดินแดน

ในกรณีของไทยและกัมพูชา ความเสี่ยงที่ยังผลให้เกิดการสูญเสียดินแดนของฝ่ายไทยคือ แผนที่ในปี 1907 (Annex I map) ซึ่งเบี่ยงเบนไม่เป็นไปตามสนธิสัญญาพรมแดนปี 1904 ที่กำหนดให้สันปันน้ำเป็นแนวเขตแดน

โดยแผนที่ในปี 1907 รวมปราสาทเขาพระวิหารไว้เป็นส่วนหนึ่งของดินแดนกัมพูชา (ซึ่งในขณะนั้น อยู่ภายใต้การปกครองของประเทศอาณานิคม คือ ฝรั่งเศส) ประเทศไทยกลับนิ่งเฉย ทั้งที่มีโอกาสประท้วงหลายปี เช่น ในการสำรวจภาคพื้นดินในปี 1934-1935 Franco-Siamese Settlement Agreement 17 ตุลาคม 1946 และการที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จเยี่ยมเขาพระวิหารในฐานะเป็นนายกราชบัณฑิตยสถานแห่งประเทศสยาม โดยได้รับพระบรมราชานุญาต ทรงได้รับการต้อนรับอย่างเป็นทางการจากข้าหลวงใหญ่ฝรั่งเศส โดยมีธงชาติฝรั่งเศสชักไว้ อันแสดงถึงอำนาจอธิปไตยของฝรั่งเศสเหนือดินแดน และพระองค์ยังทรงส่งรูปถ่ายดังกล่าวไปให้แก่ข้าหลวงใหญ่ฝรั่งเศส

ยิ่งไปกว่านั้นการที่ประเทศไทยขอสำเนาแผนที่ข้างต้นเพิ่มยังถือเป็นการยอมรับความถูกต้องของแผนที่ อันทำให้เชื่อได้ว่าประเทศไทยยอมรับแผนที่ที่ระบุให้ปราสาทพระวิหารอยู่ในดินแดนของกัมพูชา มิได้ให้ความสำคัญกับแนวสันปันน้ำ

ซึ่งเมื่อกัมพูชาเป็นเอกราช แนวพรมแดนข้างต้นที่ฝรั่งเศสวาดไว้ในแผนที่จึงมีผลต่อการตีความสนธิสัญญาในปี 1904 และได้กลายเป็นเส้นเขตแดนของไทยกับกัมพูชา อันเป็นไปตามกฎหมายจารีตที่ให้ยอมรับเขตแดนอย่างที่เป็นอยู่ ในขณะที่ประเทศที่เคยเป็นอาณานิยมนั้นๆ ได้รับเอกราช (Uti Possidetis Juris)

เมื่อการเพิกเฉยและการยอมรับนำไปสู่กฎหมายปิดปาก (estoppel) ที่ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถเรียกร้องกรรมสิทธิ์ เหนือปราสาทพระวิหาร ในประเด็นนี้อาจมีผู้ถกเถียงว่าเจตนาทุจริต เช่นการโกง ตั้งใจทำแผนที่ผิดๆ ทำให้เราเสียดินแดนอย่างนี้ก็หมายความว่ากฎหมายกลับเรื่องผิดให้เป็นถูกได้ และขัดกับข้อที่ว่าไม่มีผลทางกฎหมายอันใด ที่ตั้งอยู่บนการกระทำที่ผิดกฎหมาย (exinjuria ius non oritur)

เช่น อินโดนีเซียไม่สามารถใช้กำลังทางทหารบุกรุกพื้นที่และประกาศอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนติมอร์ตะวันออกได้ แต่ว่าในกรณีพรมแดน หลักการที่รัฐต่างต้องเคารพคือ หากสิ่งใดที่คงอยู่จริงและคงอยู่มาเป็นระยะนาน จะต้องถูกเปลี่ยนเป็นให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ (a state of things which aetually existed and has existed for a long tirne should be changed as little as possible) หรือ quieta non movere กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือการยอมรับการคงอยู่และเป็นที่สิ้นสุดของพรมแดน (continuity and finality)

ดังเช่น ในกรณีปราสาทพระวิหาร ประเทศไทยไม่สามารถกลับมาเรียกร้อง หรือเปลี่ยนท่าทีในสิ่งที่ตนเองเคยยอมรับ หรือนิ่งเฉยได้ ในคำตัดสินเมื่อปี 1962 Sir Fitzmaurice กล่าวไว้ว่า "it (estoppel) might prevent what in fact be true" (กฎหมายปิดปากอาจทำให้สิ่งที่ถูกต้องไร้ผล)

ซึ่งตรงนี้ไม่ควรมองว่ากฎหมายปิดปากนำไปสู่การกลับผิดเป็นถูก หากแต่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการกระทำโดยสุจริต (good faith) รัฐไม่สามารถเปลี่ยนจุดยืนจากอย่างหนึ่งเป็นอย่างหนึ่งได้ เมื่อมีการยอมรับทั้งโดยตรงและยอมรับจากการเพิกเฉย หลักการคงอยู่และเป็นที่สิ้นสุดป้องกันข้อขัดแย้งระหว่างประเทศที่รัฐอาจอ้างมูลเหตุต่างๆ เพื่อเปลี่ยนแปลงเส้นเขตแดน จนนำไปสู่การใช้กำลังหรือสงครามในที่สุด

ปราสาทพระวิหารจึงอยู่ภายใต้อธิปไตยของกัมพูชาตามเหตุผลที่อธิบายในข้างต้น ไม่ใช่ตามที่มีผู้กล่าวอ้างว่า เขานั้นมีปราสาทหินจากยุคอาณาจักรเขมร

และเมื่อฝ่ายไทยแสดงความยินยอมให้ศาลโลกตัดสิน คำตัดสินจึงมีผลผูกพันตาม Article 60 และ 61 ใน International Court of Justice Statute ที่ว่าคำตัดสินของศาลถือเป็นที่สิ้นสุดและไม่มีการอุทธรณ์

แต่ประเทศสมาชิกอาจยื่นขอให้มีการทบทวนคำตัดสินได้ภายใน 10 ปี หากพบข้อมูลหรือพฤติการณ์ใหม่ซึ่งทั้งประเทศคู่กรณีและศาลไม่ทราบมาก่อน

พื้นที่ทับซ้อนซึ่งอยู่นอกเหนือตัวปราสาท

ในกรณีข้อพิพาท Gulf of Main ระหว่างสหรัฐอเมริกาและแคนาดา คำตัดสินของศาลระบุว่า การตกลงหรือเจรจาใดๆ ของเจ้าหน้าที่ระดับล่างไม่สามารถอ้างเป็นมูลเหตุอันนำไปสู่การได้มาซึ่งดินแดน แต่หากเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูง ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงจะมีผลผูกพันต่อรัฐ ดังเช่นในข้อพิพาท Eastern Greenland ระหว่างประเทศนอร์เวย์และเดนมาร์ก แม้ศาลจะไม่ได้รับว่าคำประกาศ Ihlen Declaration ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของนอร์เวย์ ยืนยันอธิปไตยของเดนมาร์ก เหนือกรีนแลนด์ แต่ก็ถือเป็นการแสดงเจตจำนงของทางฝ่ายนอร์เวย์ ที่จะไม่อ้างสิทธิเหนือดินแดนดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม การลงนามในแถลงการณ์ร่วมระหว่างไทยกัมพูชาจะเป็น risks of prejudice ที่จะทำให้ประเทศไทยเสียดินแดนหรือไม่ จะต้องดุที่เจตนาด้วย

ตัวอย่างเช่น ในกรณีข้อพิพาทระหว่างประเทศเบอคินาฟาโซและมาลี คำประกาศของผู้นำประเทศมาลี เกี่ยวกับการกำหนดเขตแดนไม่ถือว่ามีผลทางกฎหมาย เพราะคำประกาศดังกล่าว อยู่ในบริบทของการเจรจาทางการทูต อันเป็นไปเพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศโดยไม่หวังสร้างข้อผูกพันทางกฎหมาย

อีกประเด็นหนึ่งคือ เส้นพรมแดนมีอยู่ 2 ประเภท ได้แก่ เส้นที่เป็นเขตแดนระหว่างประเทศตามกฎหมาย (de jure line) และเส้นปฏิบัติการ (de faeto line) ซึ่งพัฒนาขึ้นเพื่อความสะดวกในการจัดการทางการเมืองและเศรษฐกิจเท่านั้น หากมีความชัดเจนว่าข้อตกลงและแผนที่หมายถึงเส้นปฏิบัติการก็จะไม่มีผลต่อเขตแดนและการสูยเสียดินแดน

ซึ่งหากเป็นไปดังนี้ ฝ่ายไทยอาจป้องกันตนเองจากการถูกกฎหมายปิดปากด้วยการสื่อสารให้ฝ่ายกัมพูชารับรู้ในเจตนาดังกล่าว อันแสดงถึงการไม่ยอมรับว่าแถลงการณ์ร่วมมีผลต่อการกำหนดเขตแดน

อนึ่ง การประท้วงใดๆ ที่จะมีผลในทางกฎหมายระหว่างประเทศเกี่ยวกับพรมแดน จะต้องกระทำโดยผู้แทนระดับสูงของรัฐ ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบต่อกรณีนั้นๆ

การประท้วงที่มาจากบุคคลธรรมดา เจ้าหน้าที่ระดับล่างที่ไม่ได้กระทำในนามของรัฐจะไม่มีน้ำหนักในแง่กฎหมาย ดังที่ปรากฏในคำตัดสินข้อพิพาท Alaskan Boundary Dispute ระหว่างประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกา

ยิ่งไปกว่านั้นหากมีสนธิสัญญาระหว่างประเทศขึ้นแล้ว รัฐจำต้องยินยอมดำเนินการตามข้อผูกพันระหว่างประเทศนั้น และไม่สามารถอ้างกฎหมายภายในเพื่อจะไม่ปฏิบัติตามสนธิสัญญาระหว่างประเทศได้ดังที่ระบุไว้ Article 27 ของ Vienna Convention on the Law of Treaties ที่ไทยเป็นประเทศสมาชิกและมีสถานะเป็นกฎหมายจารีตระหว่างประเทศ

ในบทกลอน Manding Wall กวี Robert Frost ได้กล่าวไว้ว่า "Good Fences Make Good Neighbors" (รั้วที่ดีสร้างเพื่อนบ้านที่ดี) ดังนั้น ในยามที่ไม่มีรั้วหรือรั้วได้รับการสร้างขึ้นมาอย่างไม่ระมัดระวัง ท้ายที่สุดอาจต้องจบลงด้วยความขัดแย้ง และความสูญเสียที่ตามมา

หน้า 7

โดย: เจ้าบ้าน [21 ม.ค. 52 12:57] ( IP A:124.121.42.75 X: )
Add to Facebook  Add to Twitter  Add to Multiply  Add to Google  Add to Blogger  Add to Live
ความคิดเห็นที่ 1
   กลุ่มเพื่อน 5.63 โรงเรียนอุตรดิตถ์ ขอแสดงความยินดีกับชาวบึงกาฬ ที่อำเภอบึงกาฬได้รับการยกฐานะเป็นจังหวัดบึงกาฬ จังหวัดที่ 77 ของไทย จังหวัดบึงกาฬ 8 อำเภอ คือ อ.บึงกาฬ อ.เซกา อ.โซ่พิสัย อ.พรเจริญ อ.ปากคาด อ.บึงโขงหลง อ.ศรีวิไล และ อ.บุ่งคล้า

โดย: กลุ่มเพื่อน 5.63 โรงเรียนอุตรดิตถ์ [7 ส.ค. 53 7:50] ( IP A:210.246.186.9 X: )

คลิกที่นี่เพื่อกลับหน้าบ้าน