มติชน - เขาพระวิหาร ผ่านมุมมองกฎหมายระหว่างประเทศ กรณีการระงับข้อพิพาท
   เขาพระวิหาร ผ่านมุมมองกฎหมายระหว่างประเทศ กรณีการระงับข้อพิพาท
มติชน วัน อังคาร ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2551 00:05 น.

โดย สมิตา หมวดทอง MA. International Boundaries, University of Durham, UK MA. Speech Communication, Portland State University, US E-mail : nuienglish@hotmail.com

ในปี 1962 ศาลโลกตัดสินให้อธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชาในขณะที่ประเทศไทยเป็นฝ่ายแพ้คดี เนื่องจากการเพิกเฉย (acquiescence) ไม่คัดค้านแผนที่ของฝรั่งเศสที่ระบุให้ปราสาทพระวิหารอยู่ในดินแดนของกัมพูชาเหนือพื้นที่ดังกล่าว


45 ปีต่อมา ประเด็นเขาพระวิหารได้กลายเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอีกครั้ง หลังอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศลงนามในแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา แม้อำนาจอธิปไตยเหนือตัวปราสาทจะเป็นที่ยุติ


แต่ยังคงมีข้อกังขาว่าประเทศไทยจะเสียอำนาจอธิปไตยเหนือพื้นที่ทับซ้อน ซ้ำรอยประวัติศาสตร์ที่เคยเกิดในปี 1962 หรือไม่




บทเรียนจากคดีปราสาทพระวิหาร


ประเด็นเขตอำนาจของศาลโลก




ในกรณีที่เกิดข้อพิพาทระหว่างประเทศ (contentious cases) ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศจะมีบทบาทในการเป็นผู้ตัดสินได้ก็ต่อเมื่อ


1.รัฐจะต้องแสดงความยินยอมโดยการยื่นเป็นข้อตกลงพิเศษ (special agreement หรือ compromise) ตาม Article 36 (1) ธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ


2.สนธิสัญญาระบุให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศมีเขตอำนาจในการระงับข้อพิพาทอันเกิดจากการตีความและปฏิบัติตามสนธิสัญญานั้น (compromissory clause) ตาม Artcle 36 (1) ธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ


3.รัฐแถลงยอมรับเขตอำนาจบังคับของศาลไว้ล่วงหน้าแล้ว ซึ่งเป็นการยอมรับเขตอำนาจโดยบังคับ (compulsory jurisdiction) ไม่ต้องยื่นข้อตกลงพิเศษตามข้อหนึ่ง เพื่อแสดงความยอมรับเขตอำนาจของศาลอีกแล้ว ตาม Article 36 (2) ธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ


Article 36 ในธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศแสดงให้เห็นว่า รัฐสามารถเลือกที่จะใช้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเป็นวิธีระงับข้อพิพาทหรือไม่ก็ได้


แต่การจะนำคดีขึ้นสู่ศาลจะต้องตั้งอยู่บนความยินยอม (consent) ของคู่กรณีทั้งสองฝ่าย


และคำตัดสินของศาลถือเป็นที่สิ้นสุด ไม่มีการอุทธรณ์ตาม Article 60


ดังนั้น หากรัฐประสงค์จะระงับข้อพิพาทโดยวิธีการอื่น รัฐก็อาจปฏิเสธไม่ยอมรับเขตอำนาจของศาลได้


ในคดีปราสาทพระวิหาร ปี ค.ศ.1962 ประเทศไทยได้ทำข้อคัดค้านในชั้นต้น (preliminary objection) ว่าศาลไม่มีเขตอำนาจพิพากษาเหนือคดีได้ ขณะที่กัมพูชาอ้างว่าไทยได้ยอมรับเขตอำนาจบังคับของศาลล่วงหน้าตาม Article 36(2)


ไทยโต้แย้งข้ออ้างของกัมพูชาโดยยกคำตัดสินของศาล เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 1959 ในคดี Aerial Case of 27 July 1955 ระหว่างอิสราเอลและบัลแกเรียที่ระบุว่า ศาลไม่มีเขตอำนาจที่จะพิพากษาคดี ก่อนจะมีการก่อตั้งองค์การสหประชาชาติและศาลยุติธรรมระหว่างประเทศหรือศาลโลกปัจจุบัน (International Court of Justice หรือ ICJ) ขึ้นมาทดแทนองค์การสันนิบาตชาติและศาลโลกเดิม (Permanent Court of International Justice หรือ PCIJ)


ประเทศบัลแกเรียได้แถลงยอมรับเขตอำนาจบังคับของศาลโลกเดิมในปี 1921 อิสราเอลจึงอ้างว่าการแถลงยอมรับดังกล่าวนั้น หมายถึงการยอมรับเขตอำนาจบังคับของศาลโลกปัจจุบันที่ตั้งขึ้นมาทดแทนด้วยตาม Article 36(5) ธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ


ในท้ายที่สุดศาลปฏิเสธคำกล่าวอ้างของอิสราเอลและยืนตามข้อคัดค้านในชั้นต้นของบัลแกเรีย ที่ว่าศาลไม่มีเขตอำนาจในการตัดสินด้วยมูลเหตุที่ว่า คำแถลงยอมรับเขตอำนาจบังคับของศาลโลกเดิมจะสามารถสืบทอดสู่ศาลโลกปัจจุบันตาม Article 36 (5) ได้ก็ต่อเมื่อประเทศนั้นลงนามเป็นภาคีของศาลโลกปัจจุบันในระยะเวลาก่อน หรือ ณ วันที่ศาลโลกเดิมสิ้นสุด


ในคดีดังกล่าว ประเทศบัลแกเรียตกลงเป็นภาคีของศาลโลกปัจจุบันในวันที่ 14 ธันวาคม 1955 นับเป็นเวลา 9 ปี ภายหลังการสิ้นสุดของศาลโลกเดิม คำแถลงยอมรับเขตอำนาจบังคับของศาลโลกเดิมจึงถือว่าสิ้นสภาพไปตั้งแต่วันที่ 19 เมษายน 1946 ซึ่งเป็นวันที่ศาลโลกเดิมยุติบทบาทลง


ตามคำคัดค้านในชั้นต้นของคดีปราสาทพระวิหาร ประเทศไทยอ้างว่าตนอยู่ในสถานะเดียวกันกับบัลแกเรีย ไทยตกลงเป็นภาคีของศาลโลกปัจจุบันในวันที่ 16 ธันวาคม 1946 เป็นเวลา 8 เดือนหลังการสิ้นสุดของศาลโลกเดิม จึงควรถือว่าคำแถลงยอมรับเขตอำนาจของศาลสิ้นสภาพไปในวันที่ศาลโลกเดิมยุติบทบาทเช่นเดียวกัน


ดังนั้น การที่รัฐบาลไทยประกาศต่ออายุเพื่อยอมรับเขตอำนาจของศาลต่อมาในวันที่ 20 พฤษภาคม 1950 จึงถือว่าไม่มีผล เพราะเป็นการต่ออายุสิ่งที่สิ้นสภาพไปแล้ว


ในกรณีนี้ ศาลปฏิเสธข้อคัดค้านข้างต้นของไทย โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งเจตนา ทั้งนี้ เพราะประเทศไทย ณ เวลานั้นตระหนักดีว่าศาลโลกเดิมได้สิ้นสุดลงไปแล้วตั้งแต่ปี 1946 จึงน่าเชื่อได้ว่าคำแถลงต่ออายุปี 1950 ไม่สามารถตีความเป็นอื่นใดไปได้นอกจากยอมรับเขตอำนาจบังคับของศาลโลกปัจจุบันซึ่งปรากฏอยู่ในขณะนั้น


การยอมรับเขตอำนาจของศาลนำไปสู่การพิจารณาความและความสูญเสียของฝ่ายไทยในที่สุด


เป็นไปได้ว่าหากไทยสามารถเลือกใช้วิธีอื่นๆ ในการระงับข้อพิพาท ประเทศก็น่าจะได้รับประโยชน์มากกว่านี้


อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมิได้ต่ออายุการแถลงยอมรับเขตอำนาจบังคับของศาลอีกภายหลังคดีปราสาทพระวิหาร คู่กรณีจึงไม่สามารถอ้างเขตอำนาจของศาลในส่วนนี้ได้อีกแล้ว หากจะนำคดีอธิปไตยเหนือพื้นที่ทับซ้อนขึ้นสู่ศาลโลก


หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง กัมพูชาไม่สามารถนำคดีขึ้นสู่ศาลฝ่ายเดียวได้ แต่ต้องอาศัยความยินยอมของฝ่ายไทยซึ่งจัดทำขึ้นเป็นข้อตกลงพิเศษด้วย


การระงับข้อพิพาทในประเทศอื่นๆ


ประเด็นการแย่งชิงอธิปไตยเหนือพื้นที่ทับซ้อนไม่ใช่เรื่องใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทวีปแอฟริกา ซึ่งใช้หลักฐานทางพรมแดนที่ประเทศผู้ล่าอาณานิคมทิ้งไว้หลังจากรัฐต่างๆ ในแอฟริกาได้รับเอกราช พรมแดนเหล่านั้นได้รับการกำหนดไว้อย่างคร่าวๆ ไม่สัมพันธ์กับสภาพทางภูมิศาสตร์ หรืออาจไม่มีหลักฐานระบุไว้เลย


ในการนี้ ประเทศจึงอาจระงับข้อพิพาทโดยเลือกใช้วิธีทางการทูตเพื่อให้เกิดผลซึ่งทั้งสองฝ่ายพอใจ (win-win) แทนที่จะปล่อยให้เป็นสถานการณ์ซึ่งอีกฝ่ายหนึ่งได้แต่อีกฝ่ายหนึ่งเสีย (zero-sum)


บางประเทศใช้วิธีทางศาล ซึ่งแม้ในหลักการจะมีผลผูกพันและเป็นที่สิ้นสุด แต่ก็ไม่มีสิ่งใดการันตีได้ว่าประเทศจะปฏิบัติตามคำตัดสิน


ดังเช่น คดีข้อพิพาทพรมแดนระหว่างไนจีเรียและแคเมอรูน ตามที่ Srulevitch (2004) ได้เขียนไว้ในบทความ Non-Compliance with International Court Of Justice (การไม่ปฏิบัติตามคำตัดสินของศาลโลก)


บางประเทศเลือกระงับข้อพิพาทโดยใช้กำลัง เช่น ประเทศโมร็อกโกใช้กำลังทหารเพื่อสนับสนุนการอ้างอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดน Western Sahara การใช้กำลังทหารเป็นการละเมิด Article2(4) ตามกฎบัตรสหประชาชาติ ทั้งยังนำไปสู่การปฏิเสธผลทางกฎหมายที่เกิดขึ้นรวมถึงการคว่ำบาตรทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองต่อประเทศผู้ใช้กำลัง เว้นแต่ว่าการใช้กำลังนั้นจะเป็นไปเพื่อการป้องกันตนเองหรือเป็นการใช้กำลังภายใต้การอนุมัติของ Security Council


อย่างไรก็ตาม ท่าทีของประชาคมโลกในหลายกรณีก็ยากที่จะหาเหตุผลทางกฎหมายมารองรับ เช่น นานาชาติยอมรับการที่อินเดียใช้กำลังบุกยึดเมือง Goa ภายใต้การปกครองของโปรตุเกสในปี 1961


หรือแม้แต่การยอมรับ ไม่คัดค้านการใช้กำลังทหารของสหรัฐอเมริกาในโคโซโวและในอิรัก โดยปราศจากการอนุมัติของ Security Council จนนำไปสู่การยอมรับผลทางกฎหมายของการกระทำที่อาจไม่ถูกต้อง (ex facto ius oritur) เกิดภาวะไร้ระเบียบและสนับสนุนให้รัฐต่างใช้กำลังตามใจตน


ปฏิกิริยาและท่าทีของประชาคมโลกต่อรัฐหนึ่งรัฐใดขึ้นอยู่กับสถานะอำนาจการต่อรอง และบทบาทในเวทีการเมืองระหว่างประเทศของรัฐนั้นอีกด้วย


ดังนั้น การทูต การเจรจา ศิลปะการต่อรอง และการทหาร จึงถือเป็นกระบวนการที่มีความสำคัญแต่ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นคือเป้าหมาย หากประเทศรวมถึงผู้ปฏิบัติราชการยึดมั่นในเจตนารมณ์ที่จะปกป้องผลประโยชน์ของชาติแล้ว ก็ย่อมจะพัฒนา สร้างสรรค์วิธีการอันจะนำไปสู่การบรรลุจุดมุ่งหมายในที่สุด

หน้า 6

โดย: เจ้าบ้าน [21 ม.ค. 52 12:59] ( IP A:124.121.42.75 X: )
Add to Facebook  Add to Twitter  Add to Multiply  Add to Google  Add to Blogger  Add to Live

คลิกที่นี่เพื่อกลับหน้าบ้าน