เปิดตำนาน "ราชาแคคตัส" ภาค 1
   ก่อนหน้า นี้ผมเคยเขียนเรื่อง 4 จตุรเทพแห่งวงการแคคตัสไปแล้ว แต่คราวนี้อยากจะเขียนถึงคนรุ่นเก่าไปกว่านั้นอีก บางท่านก็เป็นรุ่นพ่อและรุ่นปู่ของผมไปแล้ว จึงขอใช้หัวข้อในคราวนี้ว่าเปิดตำนาน....

ทุกวันนี้คนที่หันมานิยมเลี้ยง กระบองเพชรและไม้อวบน้ำกันมากขึ้น แต่จะมีกี่คนที่ได้เคยรู้ถึงความเป็นมาหรือเรื่องราวของคนรุ่นเก่าก่อนที่ ถือได้ว่าเป็นผู้บุกเบิกวงการกระบองเพชรในยุคแรกๆ และแต่ละท่านก็มีเอกลักษณ์และแนวทางเป็นของตนเองที่แตกต่างกันไป ซึ่งคนรุ่นใหม่บางคนอาจไม่เคยรู้จักหรือเคยได้ทราบเรื่องราวเหล่านี้มาก่อน

โดย: cactus-old [23 ม.ค. 56 22:52] ( IP A:110.169.150.117 X: )
Add to Facebook  Add to Twitter  Add to Multiply  Add to Google  Add to Blogger  Add to Live
Counter : 910 Pageviews
ความคิดเห็นที่ 1
   ผมมีเหตุผลและแรงบันดาลใจหลายประการที่จะเขียน และเรียบเรียงเรื่องนี้ไว้ให้เป็นความรู้ต่อๆกันไป เกรงว่าเรื่องราวเหล่านี้จะสูญหายไปเมื่อเวลาผ่านไป แต่ต้องขอออกตัวไว้ ณ ที่นี้ก่อน ว่าข้อมูลตลอดจนรูปภาพต่างๆต่างๆที่ได้มานั้นอาจไม่สมบูรณ์และการถ่ายทอดทางภาษาอาจไม่ดีพอ แต่ทุกอย่างที่เขียนไว้จะพยายามไม่เปลี่ยนแปลงหรือบิดเบือนจากข้อเท็จจริงที่ได้รับมา และผมตั้งใจเขียนบทความนี้ขึ้นด้วยความเคารพต่อราชาแคคตัสทุกท่าน ซึ่งผมได้ขออนุญาตจากทายาทของท่านเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

...เหตุผลประการแรกของผม คือต้องการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของการปลูกเลี้ยงกระบองเพชรในยุคแรกๆของไทยเรา
...ประการที่ 2 คือสื่อให้เห็นถึงแนวคิดและจุดประสงค์ของการเลี้ยงกระบองเพชรของคนรุ่นเก่าว่าเป็นอย่างไร
...ประการที่ 3 เผยแพร่ความรู้และเทคนิคของการเลี้ยงในสมัยก่อน
ประการที่ 4 เพื่อให้คนรุ่นใหม่หรือผู้ที่เริ่มเลี้ยงกระบองเพชรได้มีแนวคิดและจุดยืนเป็นของตนเองในการเลี้ยงและพัฒนาสายพันธุ์ต่อๆไป
...ประการสุดท้าย เพื่อให้เราทั้งหลายได้รู้สึกสำนึกในบุญคุณที่บรรพบุรุษแห่งวงการ กระบองเพชรได้ถ่ายทอดและทิ้งมรดกทางความรู้และประสบการณ์ส่วนตัวของท่านไว้ให้เราได้ศึกษาและเรียนรู้เป็นแนวทางมาจนถึงทุกวันนี้

ตัวผมเองอยู่มาเกินครึ่งคนเข้าไปแม้จะมีประสบการณ์ทางการเลี้ยงอยู่บ้าง แต่ไม่บังอาจเทียบได้แม้เศษเสี้ยวหนึ่งของท่านเหล่านี้แม้แต่น้อย ทำได้อย่างมากเพียงเขียนเรื่องราวจากประสบการณ์เล็กน้อยและอาจเป็นได้เพียงผู้ให้คำแนะนำเล็กๆน้อยๆ แก่พี่น้องเราเท่านั้น

โดย: cactus-old [23 ม.ค. 56 22:54] ( IP A:110.169.150.117 X: )
ความคิดเห็นที่ 2
   ท่านแรกที่ผมจะเขียนถึงคือ คุณปู่ขจี วสุธาร เป็นหนึ่งในราชาแคคตัส บิดาของอาจารย์ทัศน์ วสุธาร แห่งสวนสวยขจีในปัจจุบัน ท่านเป็นผู้เลี้ยงกระบองเพชรในรุ่นแรกๆของเมืองไทย มีประสบการณ์มากมายและยังได้เขียนบทความเกี่ยวกับกระบองเพชรไว้ให้เป็นมรดก แก่คนรุ่นหลัง ท่านมีจิตวิญญาณในการเป็นครูที่ดี ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้ถ่ายทอดมาสู่อาจารย์ทัศน์ (ซึ่งผมเรียกท่านว่าคุณลุงเปี๊ยก )ซึ่งเป็นทายาทรุ่นต่อมาด้วย

เมื่อผมไปเยี่ยมท่านในคราวหลังนี้ได้เอ่ยถึงเจตนาที่ผมจะขอนำเรื่องราวต่างๆที่เป็นตำนานของสวน “สวยขจี” มาเผยแพร่ ซึ่งท่านและอาจารย์หญิงผู้เป็นภรรยาก็ยินดีอนุญาตพร้อมทั้งให้ยืมหนังสือที่ มีคุณค่ามากเล่มหนึ่งให้ผมมาด้วย ซึ่งผมจะนำเสนอโดยไม่ตัดทอนข้อความแม้แต่น้อย เพื่อพี่น้องจะได้เรียนรู้ ไปพร้อมๆกันเท่าๆกับผม เมื่อจบแล้วผมจึงจะสรุปและแสดงความคิดเห็นไว้ในภาคผนวกภายหลัง

โดย: cactus-old [23 ม.ค. 56 22:57] ( IP A:110.169.150.117 X: )
ความคิดเห็นที่ 3
   กลอนวรรคสุดท้ายในรูปข้างบน ที่ขาดหายไปเขียนไว้ว่า

“ จะเชิดชูให้งามเด่นเหมือนเช่นเคย ”
โดย: cactus-old [23 ม.ค. 56 22:58] ( IP A:110.169.150.117 X: )
ความคิดเห็นที่ 4
   เนื่องจากเนื้อหาและเรื่องราวต่างๆค่อนข้างยาว ผมจึงจะขอนำเสนอเป็นตอนๆไปเท่าที่ผมจะมีเวลา แต่จะกำกับไว้ว่าเป็นตอนที่เท่าไหร่ไว้ให้นะครับ ท่านที่สนใจก็คอยติดตามเป็นระยะๆได้ตามความสะดวกของแต่ละท่านนะครับ
โดย: cactus-old [23 ม.ค. 56 22:58] ( IP A:110.169.150.117 X: )
ความคิดเห็นที่ 5
   มาเริ่มกันเลยนะครับจากหนังสือที่ท่านได้เขียนไว้ชื่อ
แคคตัส และ ซัคคิวเลนท์
โดย (ขจี วสุธาร)


สำหรับ เรื่องแคคตัสที่จะเขียนต่อไปนี้ใคร่ขอให้เป็นเพียงการพูดคุยกัน หรือเป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการเลี้ยงไม้นี้อย่างคร่าวๆ มิได้เป็นตำรับตำราอะไร พอจะมีประโยชน์บ้างสำหรับผู้ที่ไม่เคยเลี้ยงไม้นี้มาก่อน สำหรับผู้ได้เล่นได้เลี้ยงไม้นี้มาแล้ว หากจะพลิกเลยไปอ่านเรื่องอื่นๆ ก็จะไม่ต้องเสียประโยชน์เสียเวลาแต่อย่างไร

โดย: cactus-old [23 ม.ค. 56 23:01] ( IP A:110.169.150.117 X: )
ความคิดเห็นที่ 6
   เป็นที่น่าสังเกตอยู่อย่างหนึ่งว่า สำหรับผู้ที่มาชอบมาหลงเล่นแคคตัสและซัคคิวเลนท์นั้น มีอยู่เป็นจำนวนมากที่มาชอบมารักไม้นี้แบบรักแรกพบ คือพอพบปุ๊บก็รักปั๊บเอาทีเดียว แต่สำหรับผู้ที่ไม่ชอบไม้นี้แล้ว ส่วนมากจะสงสัยว่าทำไมถึงมีคนไปหลงไปเลี้ยงไม้นี้เข้าได้ เพราะท่านเองมองดูเท่าไรๆ ก็ไม่เห็นจะสวยที่ตรงไหน แลดูแห้งแล้ง หนามก็เท่านั้น เรื่องมันก็คงเข้าแบบลางเนื้อชอบลางยา คนหนึ่งชอบอย่างนี้ อีกคนหนึ่งชอบอย่างโน้น จะให้ไปชอบเหมือนกันหมดได้อย่างไร ที่จริงเขาก็ได้มีการจัดแบ่งพรรคแบ่งพวกที่มีอาการเกี่ยวกับประสาทอะไรนิด หน่อยไว้ถึง 500 จำพวกแล้วไม่ใช่หรือ นักเล่นแคคตัสก็คงจะพออนุเคราะห์เข้าอยู่ในจำพวกหนึ่งใน 500 จำพวกนี้โดยไม่มีข้อโต้แย้ง

สำหรับผู้เขียนเอง เมื่อมานึกทบทวนถึงความหลังในการเล่นการเลี้ยงต้นไม้ต่างๆ มาสัก 20 ปีแล้ว โดยเฉพาะสำหรับแคคตัสและซัคคิวเลนท์นั้นได้เริ่มต้นมาจนถึงบัดนี้ก็ 10 กว่าปี บางคราวก็อดนึกสงสัยไม่ได้ว่าทำไมเราถึงมาเล่นมาเลี้ยงแคคตัสอยู่ได้นานๆ ก่อนหน้านี้เมื่อเล่นไม้ประเภทที่เลี้ยงไว้อวดใบ เล่นอยู่ได้ปีสองปีก็เลิกไป แต่ทำไมถึงมาติดอกติดใจกับแคคตัสและซัคคิวเลนท์อยู่ได้ตั้งนานอย่างนี้

โดย: cactus-old [23 ม.ค. 56 23:02] ( IP A:110.169.150.117 X: )
ความคิดเห็นที่ 7
   ที่ว่าสงสัยนี้ที่จริงก็ไม่ใช่แต่ตัวเองจะสงสัย เพื่อนๆ บางคนเมื่อทราบว่าผู้เขียนเล่นแคคตัสอยู่ยังอดสงสัยอดถามไม่ได้ว่า ผู้เขียนเล่นแคคตัสไปทำไม เห็นมันสวยงามอย่างไรหรือ หนามก็เท่านั้น เวลาจะปลูกจะเปลี่ยนกระถางทำอย่างไร หนามไม่ตำมือเอาแย่ไปหรือ และยังแถมถามอะไรๆ ที่ไม่อยากให้ถามอีกมาก ซึ่งจะพออนุโลมเอาได้ว่าบางท่านก็ถามด้วยความหวังดีต่อความปลอดภัยของร่างกายผู้เล่น แต่บางท่านก็ถามในทำนองสงสัยในด้านสุขภาพจิตใจ เป็นเชิงว่าผู้ขียนยังสบายดีอยู่หรืออย่างไร ถึงได้เห็นผิดเป็นชอบมาเล่นมาเลี้ยงไม้มีหนามรูปร่างพิลึกๆ อย่างนี้ แม้ท่านผู้ใหญ่ซึ่งเป็นญาติที่สนิทและใกล้ชิดที่สุดของผู้เขียน เมื่อท่านยังอยู่ก็ยังเคยแสดงความสงสัยโดยบ่นกับคนอื่นพอให้ได้ยินอยู่ว่า ไม่รู้ว่าเขาจะเล่นไปทำไม เห็นมีอยู่ไม่กี่ต้นที่แลดูสวยดี แต่ส่วนมากดูแล้วดูอีกก็ไม่เห็นจะสวยตรงไหน ถ้าไปเจอเข้าตามทางเดินก็คงเหยียบแบนไปเลย แต่เจ้าของเขาอุตส่าห์เดินวนไปเวียนมาชมแล้วชมอีกอย่างกับจะสวยจะตาย แล้วลงท้ายก็กลับมาเอร็ดอร่อยกับมะม่วงกับชมพู่จากต้นที่ฉันเล่นฉันเลี้ยง ฉันปลูกเอาไว้ให้ ยังไงก็อย่ามาตัดของฉันทิ้งเสียล่ะ เห็นบ่นๆ อยู่ด้วยว่าเงาต้นมะม่วงไปทับแคคตัสของเขา ทำให้ไม้เขาได้แดดไม่เต็มที่

ที่จริง ถ้าจะพูดไปแล้ว การเล่นแคคตัสนี่ก็เหมือนๆ กับการเล่นอะไรอื่นอีกหลายอย่าง ซึ่งบางทีก็เห็นมีผู้ถามกันอยู่บ้างเหมือนกันว่าเล่นไปทำไม เป็นต้นว่า การเล่นม้า เล่นแสตมป์ เล่นไพ่ เล่นบิลเลียด เล่นการเมือง ฯลฯ ซึ่งบางอย่างก็เล่นควบกันไปได้ด้วย เช่น เล่นไพ่ เลิกจากไพ่ก็เล่นแคคตัส และสำหรับการเล่นบางอย่างนั้นก็มีผู้แนะนำว่า เมื่อจะเล่นก็ให้เล่นโดยระมัดระวังไว้ด้วย เพราะดีไม่ดีอ้ายสิ่งที่เล่นนั้นมันอาจหันมาแว้งเล่นเอาตัวผู้เล่นแย่ไปบ้าง ก็ได้ ซึ่งผู้เขียนก็ไม่แน่ใจว่าจะจริงอย่างเขาว่าหรือไม่ เพราะตัวเองก็ไม่สู้จะกล้าไปถามนักเล่นบางประเภทดังที่ได้นำมายกไว้เป็น ตัวอย่างนั้น เกรงว่าบางท่านอาจไม่เพียงแต่หาว่าไม่ใช่ธุระกงการอะไรของผู้เขียน ซึ่งในบางกรณีก็เป็นญาติมิตรกันอยู่ด้วย ยังอาจมีปฏิกิริยาตอบแทนมาในทางที่อาจเป็นภยันตรายต่อจิตใจหรือร่างกายของ ผู้ถามอีกด้วยก็เป็นได้ ฉะนั้นจึงควรพิจารณากันแต่ในด้านการเล่นแคคตัสจะปลอดภัยกว่า เพราะการเล่นแคคตัสไม่เห็นจะเป็นภัยแก่ใครมากนัก เว้นแต่ในบางครั้งอาจถูกหนามตำเอาบ้าง ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดา แม้แต่กุหลาบที่เขาเห็นว่าดอกมันสวยนั้นก็ยังมีหนาม และหากจะถูกหนามตำเอาบ้างเราก็จะได้มีเวลาเอาแหนบหรือไม่ก็เอาปลายเล็บนิ้ว หัวแม่มือกับปลายเล็บนิ้วชี้มาใช้แทนแหนบ ตั้งสมาธิให้ดี ค่อยๆ ดึงเอาหนามออกเสีย เพลินดีออก

โดย: cactus-old [23 ม.ค. 56 23:04] ( IP A:110.169.150.117 X: )
ความคิดเห็นที่ 8
   สำหรับการเล่นแคคตัสนี้ก็จัดได้ว่าเป็นการเล่นที่ ผู้เล่นควรต้องระมัดระวังตัวไว้บ้าง ทั้งนี้มิได้หมายถึงการระวังไม่ให้หนามตำเอา แต่ต้องระวังอย่าเผลอให้แคคตัสเล่นเอาเราเข้าบ้าง หรือหากจะยอมให้มันเล่นเอาเราก็ปล่อยให้เล่นเอาแต่เพียงเบาะๆ เป็นต้น เมื่อเริ่มเล่นเริ่มสะสมเราอาจตกลงใจไว้ให้เด็ดขาด เหมือนบางอย่างที่ผู้เขียนเองเคยตกลงใจไว้ตอนเล่นใหม่ๆ ว่า ข้าพเจ้าจะไปตลาดนัดซื้อไม้มาอย่างมากก็อาทิตย์ละ 10 บาท 15 บาท (ตอนนั้นเงินยังแพงกว่าเดี๋ยวนี้) และในอาทิตย์แรกๆ ก็ทำได้เช่นนี้จริงๆ อาทิตย์แรก 15 บาทได้มา 6-7 ต้น อาทิตย์ต่อมา 15 บาทได้มา 3-4 ต้น พออาทิตย์ต่อๆ มาชักจะยุ่งแล้วซิ บางที 15 บาทได้มาต้นเดียว และในบางทีอาทิตย์ต่อๆ มา ถ้าจะหยิบไม้ที่อยากจะได้กลับมาบ้านแล้วผู้ขายก็ไม่ยอมให้เราจ่ายเพียง 15 บาท เจ้าแคคตัสชักจะหวนมาเล่นเอาเราเข้าแล้ว จึงควรจะตกลงใจไว้ก่อนด้วยว่าจะยอมให้มาเล่นเอาเราเข้าแค่ไหน

ผู้เขียนยังได้เคยถามเพื่อนๆ ที่เล่นแคคตัสด้วยว่าทำไมถึงมาเล่นแคคตัสเข้า และคำตอบที่ได้รับมักจะเป็นไปในทำนองที่ว่า ได้หันมาเล่นแคคตัสเข้าเพราะเห็นเป็นรูปเป็นร่างลักษณะของแต่ละต้นนั้นแปลกๆ กันไป มีความสวยงามสะดุดตาอย่างประหลาด บางต้นก็มีหนามแหลมพุ่งออกมาอย่างแน่นทึบแทบจะมองไม่เห็นผิวของลำต้น หนามนั้นก็มีสีต่างๆ กันไป มีทั้งสีเหลือง สีน้ำตาล สีดำ สีขาว ฯลฯ ลักษณะของหนามของไม้แต่ละต้นแต่ละชนิดก็ยังผิดแผกกันไปอีก หนามของบางต้นก็กลมยาวพุ่งออกมา บางต้นไม่พุ่งออกมา แต่กลับเอนราบแนบสนิทไปกับลำต้น นอกจากนั้นบางต้นปลายหนามเป็นรูปขอหรือเบ็ดตกปลา บางต้นหนามแทนที่จะกลมกลับแบนไป หนามของบางต้นก็ออกมาเป็นฝอยปกคลุมไปทั่วลำต้น บางต้นหนามก็โผล่ออกมาจากเนินหนามแต่ละเนินมีสีต่างๆกัน หนามอันกลางของไม้บางชนิดอาจยาวพุ่งออกมาอย่างสง่าผ่าเผย แวดล้อมไปด้วยบริวารซึ่งเป็นหนามสั้นๆ แถมบางต้นยังมีปุยมีขนขาวๆ ออกมาคลุมตามร่องของเนินหนามและบนเนินหนามเอง ทำให้แลดูขาวโพลนไปหมดทั้งสิ้น แม้แต่ปุยและขนขาวๆ นั้นก็ยังมีลักษณะแปลกๆกันไป ที่อ่อนนุ่มน่วมเนี่ยมไปหมดก็มี ที่มองดูเหมือนกับจะนุ่มน่วมนิ่ม แต่พอเอานิ้วจี้ลงไปก็ต้องสะดุ้งก็มี ขนขาวนั้นมีทั้งที่สั้นที่ยาว ที่หยาบและที่ละเอียด ฯลฯ ที่เป็นสีเงิน สีทอง เท่าที่พูดมานี้คงพอจะเห็นได้แล้วว่า แคคตัสเป็นไม้ที่ลำพังตัวต้นของมันเองก็มีส่วนประกอบต่างๆ ที่แลดูสวยงาม เป็นศิลป์ ชวนให้มอง และยิ่งเวลามันออกดอกด้วยแล้ว ยังนึกไม่ออกเลยว่าจะอธิบายอย่างไรถึงจะพอให้ท่านนึกเดาความงามของมันให้ ใกล้เคียงกับความเป็นจริงเข้าไปได้สักหน่อย แต่ตอนนี้มาพูดแต่เรื่องต้นกันก่อนดีกว่า ดังได้กล่าวมาแล้วว่าแคคตัสเป็นไม้ที่เลี้ยงไว้ดูได้ทั้งต้นและดอก ไม่สู้จะเหมือนกับไม้บางประเภทที่มีดอกสวยๆ งามๆ แต่ในยามที่ยังไม่มีดอกออกมาให้ชมและมีแต่ต้นให้มองแล้วรู้สึกว่ารูปร่างของ ตัวต้นออกจะไม่ใคร่เอาไหน บางทียังมีรากออกมายั้วเยี้ยเกะกะเพ่นพ่าน เหมือนอย่างกับจะเชิญชวนให้มีการประกวด “รากงาม” กันขึ้นมาบ้าง

เมื่อพูดถึง “รากงาม” แล้วชวนให้นึกไปถึงเรื่องหนามของแคคตัสขึ้นมาอีก เพราะคงมีหลายท่านที่ยังนึกไม่ออกว่าจะมีอะไรสวยงามเกี่ยวกับหนามซึ่งน่าจะ แลดูน่ากลัวมากกว่า ดีไม่ดีท่านกลับจะเหมาเอาว่าผู้ที่ชอบหนามอาจมีความคิดความอ่านที่ไม่สู้จะ เป็นปกติเสียอีกด้วย

โดย: cactus-old [23 ม.ค. 56 23:06] ( IP A:110.169.150.117 X: )
ความคิดเห็นที่ 9
   ได้กล่าวถึงหนามของแคคตัสใว้แล้วว่ามีรูปร่าง สีสันอย่างไรบ้าง มาตอนนี้มาลองคิดลองเดากันดูบ้างว่าทำไมแคคตัสถึงได้มีหนาม มีมาแต่เมื่อไร แต่ดั้งเดิมทีเดียวหรือในระยะแรกที่เขาว่าสร้างโลกขึ้นได้ 7-8 วันนั้นได้สร้างให้แคคตัสมีหนามเสียเลยที่เดียวหรือเปล่า หรือจะได้วิวัฒนาการเกิดมีหนามขึ้นเมื่อกี่ล้านปีมาแล้ว คงจะไม่พลอยไปมีข้อเกี่ยวโยงอย่างไรกับบางคนที่ยอมรับว่าได้สืบเชื้อสายมา จากลิงด้วยดอก

เท่าที่ทราบมาแคคตัสทีมีหนามใหญ่ๆ และออกมาหนาแน่นแทบจะปิดจะบังตัวต้นไว้หมดนั้นมักจะเป็นแคคตัสที่มีถิ่น กำเนิดอยู่ในส่วนของทะเลทรายที่ร้อนจัด ธรรมชาติจึงให้มีหนามไว้ป้องกันและทุเลาจากความร้อนจากแสงแดดซึ่งออกจะ แรงกล้าเป็นพิเศษในแถบนั้น และทั้งที่มีหนามคอยบังไว้ให้แล้ว แคคตัสตามแถบนั้นยังมีผิวที่กร้าน มีสีสันเข้มจัดผิดกับไม้ที่เลี้ยงที่เพาะกันไว้เองตามรัง คงจะเข้าทำนองเดียวกับความแตกต่างระหว่างผิวของคนในโซนร้อนกับโซนหนาว

พูดถึงวิวัฒนาการเกี่ยวกับหนามแคคตัสแล้วใคร่จะขอนำคำหรือความคิดเห็นของ พล. ท. เซอร์โอลิเวอร์ลีส นักเล่นแคคตัสชาวอังกฤษมาลงไว้ในที่นี้ด้วย ท่านกล่าวไว้ในคำนำหนังสือ “แคคตัสและซัคคิวเลนท์อื่นๆ” ว่า

“.....แต่ดั้งเดิมทีเดียวนั้นแคคตัสและซัคคิวเลนท์อื่นๆ เติบโตงอกงามอยู่ตามป่าในโซนร้อนและมีลำต้นที่แตกก้านสาขา มีใบเหมือนไม้อื่นๆ แต่ในปัจจุบันไม้นั้นส่วนมากกลับมีต้นป็นลำสูงหรือเป็นก้อนกลม ไม่มีกิ่งไม่มีใบ ทั้งนี้ก็เพื่อจะได้ตุนน้ำในตัวมันไว้ใช้ได้นานๆ เป็นผลจากการเปลี่ยนสภาพของสิ่งแวดล้อมในระยะเวลานับพันๆ ปีที่โลกได้วิวัฒนาการมา โดยในระหว่างนี้ได้เกิดมีมหาสมุทรและทิวเขาขึ้นมาบนผิวโลก ส่วนมากอยู่ทางแถบทิศตะวันตกของทวีปต่างๆ ทำให้ลมฝนมิอาจพัดพาเข้าไปถึงแหล่งที่อยู่ทางด้านตะวันออกของทิวเขาเหล่า นั้นได้ เป็นเหตุให้พื้นที่ในแถบนั้นกลับแห้งแล้งเป็นทะเลทราย พืชพันธุ์ต่างๆ ในแถบนั้นจึงต้องเปลี่ยนแปรรูปร่างของมันให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมอันทุรกันดาร เพื่อจะคงอยู่ได้ต่อไป

โดย: cactus-old [23 ม.ค. 56 23:08] ( IP A:110.169.150.117 X: )
ความคิดเห็นที่ 10
   เรื่องนี้ฟังๆ ดูแล้วก็ออกน่าสนใจ อยากเห็นว่าเทือกเถาเหล่ากอของแคคตัสแต่ดั้งเดิมนั้นมีรูปร่างเป็นอย่างไร มีกิ่งมีใบออกมาอย่างไร แต่เขาก็ว่าเป็นเรื่องที่ได้เปลี่ยนแปรมาในระยะเวลานับพันๆ ปี มานึกอีกทีตัวเราเองก็มีระยะเวลาที่จะอยู่ได้เพียงสิบๆ ปี เวลานี้ก็อยู่มาได้ออกจะหลายสิบปีเข้าไปแล้วซิ เอาแค่มองๆ ดูๆ ต้นแคคตัสที่ได้วิวัฒนาการมีหนามขึ้นมาแล้วเรื่อยๆ ไปก่อนเห็นจะดีกว่าเป็นแน่

ทีนี้สำหรับผู้ที่ถลำเข้ามาเล่นแคคตัสและซัคคิวเลนท์อื่นๆ เข้าแล้ว สิ่งแรกที่ควรคำนึง เห็นจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับวิธีเลี้ยงไม้นี้ คือควรทราบไว้บ้างว่ามันชอบอะไรไม่ชอบอะไร ซึ่งก็ไม่มีอะไรมาก แต่ที่แล้วๆ มาผู้เขียนเคยได้ยินบางท่านบ่นว่าเคยเล่นเคยเลี้ยงมาแล้ว มันโตช้าเหลือเกิน เอาละไม่ค่อยจะโตก็ไม่ว่า แต่พอรดน้ำให้มากไปหน่อย กลับเน่าตายเสียอีก เอาใจยาก เลยเลิกเล่นให้หมดเรื่องหมดราวไปเสียเลย

ที่จริงแคคตัสและซัคคิวเลนท์ก็ไม่ใช่อะไรอื่น เป็นต้นไม้กับเขาอยู่ด้วยเหมือนกัน ถ้าเราเลี้ยงต้นไม้อื่นๆ ได้ ก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องยากเย็นอะไรหากเราจะมาเลี้ยงแคคตัสดูบ้าง เพียงแต่ควรจะศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับความต้องการเพื่อความอยู่ดีกินดีของ ไม้ประเภทนี้ไว้ อย่างน้อยก็ควรสืบสวนดูบ้างว่าแคคตัสและซัคคิวเลนท์นี่ถิ่นฐานบ้านเกิดของมันเป็นอย่างไร มันชอบอะไรบ้างไม่ชอบอะไรบ้าง เพราะต้นไม้นั้นมีหลายอย่างหลายชนิด วิธีการเลี้ยงของแต่ละชนิดก็มีผิดแผกกันไปบ้าง อย่าไปดูถูกหรือไปคิดว่าขึ้นชื่อว่าต้นไม้แล้วก็ย่อมต้องเอาปลูกกับดินแล้ว รดน้ำให้มันก็จะค่อยๆ เจริญเติบโตไปเอง ถึงเรื่องมันน่าจะเท่านั้นดูก็สะดวกดายง่ายดี แต่เท่าที่ปรากฏแล้วเรื่องมันมักจะไม่เท่านั้น ไม้ที่เราหามาเลี้ยงนั้นพอเลี้ยงไปๆ บางที่ก็กลับโทรมไปๆ และในไม่ช้าก็ไม่จำเป็นต้องไปเลี้ยงไปรดน้ำมันอีก

โดย: cactus-old [23 ม.ค. 56 23:10] ( IP A:110.169.150.117 X: )
ความคิดเห็นที่ 12
   เท่าที่ยกตัวอย่างมานี้ก็เป็นกรณีที่รดน้ำมากไป มีบางท่านที่ซื้อแคคตัสมา ก็ถามไถ่ผู้ขายเสียก่อนว่าควรเลี้ยงควรบำรุงอย่างไรให้น้ำบ่อยแค่ไหน ทางผู้ขายก็คงตอบไปเท่าที่ต่างคนต่างมีความรู้ความชำนาญในเรื่องนี้ บางคนก็บอกว่าเวลาอากาศร้อนๆ รดน้ำบ่อยๆ ก็ได้ เวลารดก็รดให้โชก แต่บางคนก็เห็นว่าแคคตัสเป็นไม้ที่เหมาะสำหรับคนขี้เกียจรดน้ำ จะเลี่ยงแนะนำไปว่าเรื่องรดน้ำกับแคคตัสนี้ไม่ต้องเป็นห่วง ไว้หลายๆ วันรดทีก็ได้ และเวลารดก็ควรรดแต่น้อย เพราะทางเมืองฝรั่งแถวยุโรปซึ่งมีอากาศหนาวเย็น การรดน้ำแคคตัสจะมารดมากๆ บ่อยๆ เหมือนกับที่เรารดให้กับไม้ที่เลี้ยง (นอกห้อง) ในเมืองไทยไม่ได้ และถ้าจะเปรียบเทียบผลจากการรดน้ำมากกับการรดน้ำน้อยแล้ว สำหรับแคคตัสนั้นหากรดน้ำน้อยยังมีหวังจะช่วยให้มันมีชีวิตต่อไปได้นานกว่า ที่จะรดน้ำมากไป เพราะแคคตัสที่ได้รับน้ำน้อยไปนั้นแม้จะไม่ใคร่เจริญเติบโตกับเขา นานๆ เข้าจะค่อยๆ แห้งไปบ้าง แต่ก็ยังมีชีวิตอยู่ได้ยืนนานกว่าต้นที่ได้รับน้ำมากไป พวกนักเล่นแคคตัสจึงมักจะกล่าวกันว่าสำหรับการเลี้ยงแคคตัสนั้น อันตรายจากการรดน้ำมากไปนั้นก็มากกว่าการรดน้ำน้อยไป ควรรดเมื่อเห็นว่าดินจะแห้งแล้ว และหากไม่แน่ใจว่าจะแห้งหรือยัง ก็งดไว้ก่อนไว้รดวันรุ่งขึ้นดีกว่า

ท่านที่บังเอิญได้อ่านมาถึงตอนนี้คง จะพอทราบบ้างแล้วว่าควรจะเลี้ยงแคคตัสอย่างไร เพราะได้ทราบแล้วว่าแคคตัสเป็นไม้ที่ชอบสายลมกับแสงแดด ไม่ชอบอยู่ในห้องในหับและไม่ชอบให้รดน้ำมากเกินไป แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่ชอบน้ำเสียเลย เพราะถ้าขาดน้ำไปมันก็จะไม่เจริญเติบโตเท่าที่ควร ผู้เขียนได้เคยฟังคำปรับทุกข์จากผู้เล่นแคคตัสบ่อยๆ ว่า แคคตัสนี้เลี้ยงยาก ไม่ค่อยจะรู้จักโตกับเขาเลี้ยงไว้ตั้ง 5-6 เดือนก็ไม่ค่อยเห็นมันค่อยโตขึ้นบ้างเลย ซึ่งอาจเป็นเพราะท่านไปคอยด้อมๆ มองๆ มันอยู่ทุกวันจนชินตาไปเลย ไม่ใคร่รู้สึกว่ามันก็ได้แอบโตขึ้นบ้างแล้ว

โดย: cactus-old [23 ม.ค. 56 23:12] ( IP A:110.169.150.117 X: )
ความคิดเห็นที่ 13
   เกี่ยวกับการที่จะรดน้ำมากหรือน้อย จะรดบ่อยแค่ไหนนั้น เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับสถานที่ที่เราจัดตั้งไม้ไว้ว่าไม้ได้รับแดดมากน้อย เพียงไร และเนื่องจากแคคตัสส่วนมากชอบแดด เราก็ควรจัดตั้งกระถางไว้ในที่ที่อย่างน้อยก็มีแดดให้สักครึ่งวัน แม้ไม่ได้รับแดดมากแต่ดินที่ใช้ปลูกนั้นร่วนซุยทำให้แห้งได้เร็ว ซึ่งเหมาะสำหรับใช้ปลุกแคคตัสก็ต้องรดน้ำกันบ่อยหน่อย แต่ถ้าหากไม้อยู่ในแดดแล้วดินที่ใช้ปลูกนั้นแน่นแข็งไป ไม่แห้งง่ายๆ การรดน้ำก็ต้องให้ห่างไปบ้าง หรือถ้าจะให้ดีก็ควรเปลี่ยนดินเสียใหม่เพื่อให้น้ำไหลออกไปได้ง่ายๆ จึงเป็นเรื่องที่ท่านจะต้องสังเกตและหาความรู้ความชำนาญไปเองด้วย จะกำหนดให้แน่นอนไม่ได้ว่าจะควรรดทุกวันหรือกี่วันครั้ง เลี้ยงไปสังเกตไป ศึกษาไปว่าเลี้ยงอย่างไรไม้ถึงจะเจริญเติบโต แตกหน่อแตกหนามออกมาสดสวย ซึ่งถือได้ว่าเป็นรางวัลแก่ความสนใจที่เราให้กับแคคตัส ดีไม่ดีพอมีดอกออกมาในตอนที่เพิ่งแรกเล่นก็จะได้กะเร่อกะร่า ยกกระถางต้นที่ออกดอกยิ้มแก้มตุ่ยไปอวดบ้านโน้นทีบ้านนี้ที แถมยังยกไปอวดเพื่อนๆ ทีที่ทำงาน ครึ้มอกครึ้มใจไปได้คราวละวันสองวัน

เรื่องรดน้ำนี้ ผู้ดูแลสวนแคคตัสและซัคคิวเลนท์ของสมาคมแคคตัสและซัคคิวเลนท์ของสหรัฐเคยกล่าวไว้ว่า
“ น่าประหลาดที่ยังมีนักเล่นจำนวนมาก ซึ่งรวมทั้งท่านสมาชิกเก่าแก่ของสมาคมบางท่านอีกด้วย ที่ไม่ทราบว่าทั้งแคคตัสและซัคคิวเลนท์นั้นเป็นไม้ที่ต้องการน้ำเพื่อความ เจริญเติบโต มีอยู่บ่อยเหลือเกินที่นักเล่นบางท่านชอบคุยว่า ปกติจะรดน้ำให้ไม้ของตนสักหนึ่งช้อนชา หรือรดโดยใช้หลอดยาหยอดตา ทางสวนของเราเองนั้นคอยแนะนำลูกค้าอยู่เสมอว่า เมื่อรดน้ำก็ควรรดให้เต็มที่ แต่ผู้ฟังมักจะไม่เชื่อจนกว่าจะได้เห็นกับตาว่าเรารดน้ำให้ไม้ของเราอย่างไร หากเรารดน้ำเพียงเล็กน้อย น้ำก็ไปชุ่มไปเปียกอยู่แถวหน้าดินหน้ากระถาง พอที่จะเลี้ยงรากที่อยู่แถวหน้าดินเท่านั้น นอกจากนั้นการที่ดินเปียกไม่ทั่วนั้นอาจทำให้เกิดสารบางอย่างที่เป็นอันตน รายต่อไม้ ฉะนั้นเมื่อท่านรดน้ำจงรดให้โชคจนน้ำไหลออกทางรูที่ก้นกระถาง การรดน้ำเช่นนี้จะช่วยให้สารที่จะเป็นอันตรายแก่ไม้นั้นไหลตามออกมาด้วย และเมื่อรดแล้วก็คอยให้ดินใกล้จะแห้งจึงค่อยรดอีก น้ำที่รดลงไปนั้นส่วนหนึ่งจะระเหยไปในอากาศ และถ้าขณะที่รดนั้นอยู่ในระยะที่ไม้กำลังเจริญเติบโต ไม้นั้นจะดูดเอาน้ำเข้าไปในต้นเป็นจำนวนไม่น้อย หากดินในกระถางเปียกชุ่มอยู่เป็นเวลานานเกินไปแล้ว ก็แปลว่ารากของไม้ในกระถางนั้นดูดน้ำไม่ใคร่ได้ หรืออยู่ในสภาพที่ไม่สมบูรณ์ ถ้าเป็นเช่นนี้ควรรดน้ำให้ห่างหน่อย สำหรับไม้ที่ขึ้นอยู่ในทะเลทรายนั้น รากมักจะอยู่หน้าๆ ดิน เพื่อจะได้ดูดได้รับน้ำซึ่งมีอยู่ไม่มาก แต่สำหรับไม้ที่เราเลี้ยงไว้แล้วควรพยายามเลี้ยงให้รากมันแตกออกมาเต็ม กระถาง มีไม้จำนวนมากที่เสียไปเพราะได้น้ำน้อยเกินไป แต่ทั้งนี้ต้องให้ดินปลูกนั้นโปร่ง น้ำไหลผ่านได้สะดวก และไม่รดน้ำบ่อยเกินไปจนทำให้ดินเปียกชุ่มอยู่ตลอดเวลา”
โดย: cactus-old [23 ม.ค. 56 23:14] ( IP A:110.169.150.117 X: )
ความคิดเห็นที่ 14
   พูดเรื่องรดน้ำมาก็ออกจะมากเกินไปแล้ว ทีนี่มาคุยเรื่องดินปลูกกันดีกว่า
เรื่องดินผสมสำหรับปลูกแคคตัสและซัคคิวเลนท์นี่ก็จัดได้ว่าเป็นเรื่องน่าสนุกอีก เรื่องหนึ่ง สำหรับพวกนักเล่นไม้นี้ด้วยกัน บางท่านก็หวงสูตรผสมดินเสียราวกับจะเป็นสูตรระเบิดปรมาณู แต่เท่าที่ผู้เขียนได้เคยสังเกตมามักปรากฏว่านักเล่นแคคตัสที่เลี้ยงไม้ได้ งามๆ นั้นต่างคนก็ผสมดินโดยมีสูตรผิดแผกกันไป 10 คนก็ 10 อย่าง ไม่เหมือนกันไปทีเดียว แต่ผลที่ได้รับก็ดูไม่สูงไม่ต่ำไปกว่ากันเท่าใด ทั้งๆ ที่คนหนึ่งอาจบอกว่าดินของฉันต้องใส่อ้ายโน่นอ้ายนี่เท่านั้นส่วน เท่านี้ส่วน ไม้ฉันถึงได้งาม แต่แล้วอีกคนหนึ่งอาจบอกว่าดินของฉันไม่ใช่อย่างนั้นแฮะ ขืนใช้ยังงั้นไม้ฉันคงตายหมด มันต้องผสมอ้ายนี่อีกหน่อยหนึ่งแล้วเติมอ้ายโน่นอีกนิดหนึ่ง แล้วก็เถียงกันไปเถียงกันมาตามประสาของพวกที่เป็นโรคแคคตัสขึ้นสมอง แต่สำหรับเรื่องดินนี้ ผู้เขียนเห็นว่าข้อสำคัญมันอยู่ที่ว่าดินที่ใช้ปลูกนั้น เมื่อผสมแล้วจะต้องมีลักษณะโปร่ง น้ำไหลผ่านไปได้ง่าย ไม่เปียกและอุ้มน้ำอยู่ตลอดเวลา เพราะจะทำให้ไม้ไม่งาม ดีไม่ดีพาลจะตายเอาเสียด้วย เดี๋ยวจะว่าไม่บอก ฉะนั้นจึงไม่ควรที่จะใช้ดินเหนียวและควรปนทรายเข้าไปให้มากๆ เติมถ่านเติมใบไม้ผุเข้าไปด้วย เพราะส่วนประกอบเหล่านี้จะช่วยให้ดินโปร่ง เหมาะสำหรับไม้ประเภทแคคตัสและซัคคิวเลนท์ ผู้เขียนเองก็ได้ตั้งสูตรผสมไว้แยะอยู่ ดินที่ใช้แต่ก่อนๆ ก็มาจากแหล่งแปลกๆ แต่แล้วลงท้ายดินที่ใช้ในปัจจุบันก็เป็นดินธรรมดาๆ ขุดจากในบ้านแล้วเอามาตากแห้งไว้ ดีไม่ดีถ้ามีฝนก็ปล่อยให้ฝนช่วยชะเสียบ้าง แล้วจึงทุบให้มันป่นๆ หน่อยเพื่อสะดวกในการผสมกับของอื่นๆ แล้วก็ปรากฏว่าเลี้ยงไม้ได้พองามกับเขาเหมือนกัน ฉะนั้นผู้เขียนจึงเห็นว่าใครๆ ที่สนใจหน่อยก็ผสมไว้ใช้เองได้ หรือจะตั้งเป็นสูตรไว้หน่อยก็คงมี ดิน 2 ส่วน ทรายหยาบ 3 ส่วน ถ่านป่น 1 ส่วน แล้วเติมปูนขาวเล็กน้อย กับกระดูกเผาป่นบ้าง เท่านี้ก็รับรองว่าใช้ได้ดีทีเดียว และในกรณีที่ปลูกซัคคิวเลนท์ จะเติมดินให้มากกว่านี้อีกหน่อยก็ได้ ต่อไปถ้าจะคิดพลิกแพลงทดลองเติมปุ๋ยเทศบาลลงไปบ้าง กากกาแฟบ้าง ขี้เลื่อยบ้าง แกลบคั่วบ้างก็ได้เหมือนกัน ทดลองไปสังเกตดูว่าไม้ของเราชักจะงามขึ้นหรืองามลง ไม่ช้าก็จะเก่ง และเมื่อเก่งขึ้นๆ จนใกล้จะขึ้นถึงสมองแล้วก็จะตั้งสูตรต่างๆ ขึ้น ได้มากมายแบบผู้เขียนไปเหมือนกัน

โดย: cactus-old [23 ม.ค. 56 23:15] ( IP A:110.169.150.117 X: )
ความคิดเห็นที่ 15
   เรื่องการปลูกการเลี้ยงแคคตัสและซัคคิวเลนท์ดู ก็น่าจะจบลงได้แล้ว เพราะได้แนะนำเกี่ยวกับการเลี้ยงไม้นี้ไว้มากพอดู แต่รู้สึกว่ายังมีเรื่องสำคัญเกี่ยวกับการเลี้ยงไม้นี้อยู่อีกเรื่องหนึ่ง คือ เกี่ยวกับการใช้ปุ๋ย

มีผู้ถามบ่อยๆ ว่าเลี้ยงแคคตัสกับซัคคิวเลนท์นี่ใช้ปุ๋ยด้วยหรือเปล่า ใช้ปุ๋ยอะไรจำเป็นไหม ควรไหมที่จะใช้ปุ๋ยช่วยบำรุงเพื่อให้ไม้เจริญเติบโตขึ้น ซึ่งผู้ถูกถามก็จะอึกๆ อักๆ อยู่สักหน่อยเพราะตัวเองก็ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้ ไม่ใคร่แน่ใจว่าจะตอบอย่างไรดี เพราะเรื่องปุ๋ยกับแคคตัสนี่เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมากในบรรดานักเล่นแคคตัสทั้งในและนอกประเทศ ท่านที่เห็นว่าไม่ควรใช้ปุ๋ยก็มีเหตุผลต่างๆ มาชี้แจง ซึ่งฟังดูแล้วก็น่าเชื่อน่าฟังอยู่ค่อนข้างมากทีเดียวเป็นต้นว่า “ คุณก็รู้อยู่แล้วว่าแคคตัสเป็นไม้ทะเลทราย ถิ่นกำเนิดของมันอยู่ในที่แห้งแล้ง อย่าว่าแต่จะหาปุ๋ยกินเลย แม้แต่น้ำก็ยังไม่ค่อยจะมีให้กินกับเขา หากคุณเอามาเลี้ยงมาบำเรอคอยให้ปุ๋ยอยู่เรื่อยๆ แล้วไม้มันก็จะเจริญเร็วเกินไปอาจเติบโตขึ้นอย่างผิดเพศผิดพันธุ์ พวกที่ตามธรรมชาติควรจะมีรูปร่างผอมๆ สะโอดสะองพอได้อาหารดีๆ เข้าก็แปลงรูปเป็นโอ่งเป็นไห ผิดจากพันธุ์เดิมไป ดีไม่ดีหากเครื่องย่อยไม่คุ้นกับอาหารดีๆ ทำหน้าที่ให้ไม่เรียบร้อยก็อาจทำให้ไม้อ้วนเผละ เผลอไผลไปหน่อยก็อาจเละไปได้ แล้วอย่าว่าไม่บอก”

สำหรับท่านที่เห็น ว่าไม่ควรใช้ปุ๋ยกับแคคตัสด้วยเหตุผลดังที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ก็จัดได้ว่า เป็นนักเล่นแคคตัสที่มีอุดมคติอันสูงส่ง ต้องการรักษารูปร่างลักษณะของแคคตัสในแต่ละสกุลแต่ละชนิดให้ยืนยงคงอยู่แทบ จะว่าชั่วฟ้าดินหรือไม่ก็ตัวเองสลายไปเลยทีเดียว แต่ก็มีอยู่หลายท่านที่ไม่เห็นด้วย กลับหาว่าท่านที่ไม่ใช้ปุ๋ยน่ะออกจะมีอุดมคติที่แห้งแล้งล้าสมัยไปสักหน่อย สมัยนี้เรื่องปุ๋ยจะสำคัญอย่างไรก็มักจะได้ยินได้ฟังกันอยู่แทบทุกวี่ทุกวัน ไหนจะได้ยินคำแนะนำให้ใช้ปุ๋ยเพื่อปรับดินให้เหมาะสมกับการเพาะปลูกพืช พันธุ์ต่างๆ เพื่อเพิ่มผลผลิตหรือผลิตผลไม้อะไรต่างๆ อย่างไรแน่ก็ชักจะไม่ใคร่แน่ใจ แล้วการใช้ปุ๋ยยังได้ยินมาว่ามีประโยชน์มากหลาย ถ้าไม่ลองแล้วทำไมถึงจะได้รู้ เผื่อเมื่อเอามาใช้กับแคคตัสเข้าแล้วจะช่วยแคคตัสของเราให้เติบโตแตกหน่อแตก ลูกแตกหลานออกมายุ่บยั่บทันตาเห็น ก็จะเป็นที่น่าชื่นชมสำหรับนักเล่นแคคตัสเสียกว่าจะได้เก็บเกี่ยวข้าวสักปี ละ 2-3ครั้ง เสียอีก และอีกประการหนึ่งเมื่อไม่ใช้ปุ๋ย ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยอนินทรีย์ แคคตัสก็มักจะตีหน้าตายนิ่งเฉยทำเป็นทองไม่รู้ร้อนอยู่กับกระถาง เดือนหนึ่งก็แล้วสองเดือนก็แล้ว มามองดูที่ไรก็เห็นเฉยๆ อยู่ ไม่ค่อยจะยอมเคลื่อนไหวกระดิกกระเดี้ยเติบโตขึ้นบ้างเสียเลย
โดย: cactus-old [23 ม.ค. 56 23:18] ( IP A:110.169.150.117 X: )
ความคิดเห็นที่ 16
   สำหรับเรื่องปุ๋ยนี้ เท่าที่ได้ผ่านๆ ตำรับตำราของต่างประเทศมารู้สึกว่าเขานิยมให้ใช้ปุ๋ยซึ่งจัดอยู่ในประเภท ปุ๋ยอินทรีย์ จะเล่มไหนก็เล่มนั้น มักจะแนะนำให้เอาใบไม้ผุมาใช้ผสมกับดินกับทรายที่ใช้ปลูกแคคตัสไว้ด้วย แต่เขาจะไม่เอ่ยถึงหรือแนะนำให้ใช้ปุ๋ยอนินทรีย์หรือปุ๋ยวิทยาศาสตร์อย่าง ที่ผู้ที่ถามมาในเรื่องปุ๋ยมักจะสนใจอยากทราบว่า ควรจะเอาปุ๋ยวิทยาศาสตร์นั้นมาใช้เหมือนอย่างที่เห็นใครๆ เขาใช้กับไม้อื่นอยู่หรือไม่ ฉะนั้นก่อนที่จะพูดถึงปุ๋ยอนินทรีย์หรือที่เราเรียกว่าปุ๋ยวิทยาศาสตร์ ผู้เขียนเห็นควรจะพูดถึงพวกปุ๋ยอินทรีย์ ทั้งประเภทที่มาจากพืชและจากมูลสัตว์ หรือที่เราเรียกกันว่าปุ๋ยคอก ว่าจะควรนำมาใช้ผสมเข้าไปกับดินที่เราเอามาใช้ปลูกกันเพียงไร และดังได้รับไว้แต่แรกแล้วว่าตนเองไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องปุ๋ย เพียงแต่คอยศึกษาคอยสังเกต และทดลองดูบ้าง ในตอนนี้จึงเห็นควรได้นำความคิดความเห็นของผู้ที่ได้ทดลองกันมาแล้วมาเล่า สู่กันฟัง เพื่อท่านที่สนใจเรื่องนี้จะได้ทราบได้พิจารณาแล้วนำไปทดลองกันดูบ้าง
โดย: cactus-old [23 ม.ค. 56 23:19] ( IP A:110.169.150.117 X: )
ความคิดเห็นที่ 17
   ข้อความต่อไปนี้เก็บมาจากคำบอกเล่าและประสบการณ์ของนาย บี. เอส.วิลเลี่ยมส์ เกี่ยวกับการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งเขาได้เขียนลงในวารสารแคคตัสของสมาคมแคคตัสของประเทศอังกฤษ
“ ผู้ที่ได้มีโอกาสได้ฟังคุณโบดเด้อร์พูดถึงเรื่องการใช้ปุ๋ยกับแคคตัสในที่ ประชุมของสมาคมเมื่อคราวก่อนคงจะจำได้ว่าคุณโบดเด้อร์เห็นสมควรอย่างยิ่งที่ จะใช้ปุ๋ยเพื่อปลูกแคคตัสในสกุลแมมมิลลาเรียให้เจริญเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ไป และบรรดาท่านที่เคยเห็นไม้ที่เขาปลูกเขาเลี้ยงไว้ก็ย่อมทราบดีว่าเขาสามารถ เลี้ยงไม้สกุลนี้ได้งามเพียงไร สำหรับเรื่องปุ๋ยนี้พวกนักเล่นในประเทศเยอรมันเองก็แนะนำให้ใช้ปุ๋ยคอก (มูลโค) และปุ๋ยจากพืชจากใบไม้หมัก ผสมกับดินปลูก และเรื่องความสำเร็จของนักเล่นแคคตัสเยอรมันในการเลี้ยงแคคตัสนี้ย่อมเป็น ที่ทราบกันอยู่ทั่วไปแล้ว”

“ เมื่อมาคำนึงถึงคำแนะนำของคุณโบดเด้อร์และนักเล่นแคคตัสเยอรมันในเรื่องการ ใช้ปุ๋ยนี้เข้าแล้ว ผมก็เริ่มคิดขึ้นมาบ้างว่าการที่เราจะคงใช้วิธีเลี้ยงไม้แบบปล่อยให้มัน “ตายอดตายอยาก “ โดยใช้ดินปลูกซึ่งมีแต่ดินเผา อิฐและทรายมากกว่าดินนั้น จะเป็นสูตรผสมดินที่ดีที่สุด สำหรับมาใช้ปลูกแคคตัสหรือไม่”

“ แปลกอยู่เรื่องปุ๋ยนี้ หากเราจะเอาไปพูดไปปรึกษากับนักเลี้ยงแคคตัสมือเก่าๆ ที่เชี่ยวชาญการเลี้ยงไม้นี้แล้ว ท่านก็จะทักท้วงทันทีว่า อย่า อย่า อย่าไปใช้ปุ๋ยเข้า แต่เมื่อมานึกดูอีกทีผมก็เข้าใจว่าตัวท่านผู้เชี่ยวชาญนั้นเองคงไม่เคยทดลองใช้ปุ๋ยมาก่อนเลย เพียงแต่ท่านเคยอ่านพบว่าไม่ควรใช้ปุ๋ยเพราะกลัวว่าเมื่อรากไม้ไปเจอเอาปุ๋ย เข้าแล้วมันจะเปื่อยเน่าไป แต่นั่นแหละมันจะเปื่อยจะเน่าไปจริงๆ หรือ เท่าที่ผมได้ทดลองมาแล้วปรากฏว่านอกจากจะไม่เน่าไปแล้ว ไม้นั้นยังกลับเจริญเติบโตขึ้นเสียอีก ผมจึงเห็นว่าสำหรับพวกที่รักไม้นี้อยู่ด้วยกันแล้ว เราควรมาช่วยกันคิดหาวิธีที่จะปลูกจะเลี้ยงมันให้เจริญเติบโตให้เต็มที่เท่า ที่เราจะสามารถกระทำได้ และการที่เราจะทำเช่นนี้นั้นผมเห็นว่าเป็นสิ่งหนึ่งที่ควรกระทำเป็นอย่างยิ่ง”
โดย: cactus-old [23 ม.ค. 56 23:20] ( IP A:110.169.150.117 X: )
ความคิดเห็นที่ 18
   เมื่อได้ตกลงใจว่าจะลองใช้ปุ๋ยดูบ้างแล้ว ปัญหาก็ตามมาว่าสมควรจะใช้ปุ๋ยอะไรและจะผสมปุ๋ยนั้นเข้าไปกับดินปลูกโดยให้ มีส่วนสัดอย่างไร ในตอนนั้นผมไม่มีปุ๋ยมูลโคที่ผุเปื่อยไปแล้วสัก 3-4 ปี แต่ในสวนผมยังพอมีปุ๋ยที่ได้มาจากโรงฆ่าสัตว์เมื่อ 2 ปีมาแล้ว และในตอนที่ผมซื้อมันมานั้น ทางโรงฆ่าสัตว์เองก็ได้เก็บเอาไว้สักปีกว่ามาแล้ว เป็นอันว่าผมจะต้องใช้ปุ๋ยเท่าที่มีอยู่แล้วนี้แหละ มาผสมกับดินปลูก รู้สึกว่าออกจะเป็นปุ๋ยที่แรง มีไนโตรเจนมาก ผู้ที่ขายปุ๋ยนี้ให้ผมนั้นเป็นเจ้าของร้านค้าเนื้อ เขาบอกผมว่าปุ๋ยนี้ได้มาจากมูลม้ามูลไก่ และแถมยังมีเลือดมีเครื่องในของสัตว์ต่างๆ ชนิดปนอยู่อีกด้วย พูดสั้นๆ ก็ว่าเป็นปุ๋ยที่ได้มาจากสิ่งต่างๆ ที่ทางโรงฆ่าสัตว์เขาโละทิ้งแล้ว ก็มีมูลม้ามูลไก่ผสมผเสเข้าไปด้วย และในตอนนี้ส่วนประกอบต่างๆ ดังกล่าวก็ได้ผุได้สลายตัวมาเป็นปุ๋ย ซึ่งแลดูเป็นสีดำๆ เวลาถูกน้ำเข้าก็แลดูเกือบจะเป็นดินไปแล้ว

ในที่สุดผมก็จัดส่วนผสม ดินปลูกขึ้นโดยใช้ปุ๋ยดังกล่าวปนเข้าไปหนึ่งในสาม ก่อนที่จะนำมาผสมผมก็เอาปุ๋ยนี้ตากแห้งไว้ แล้วใช้ตะแกรงซึ่งมีตาห่างขนาด ¼นิ้ว ร่อน ส่วนดินปลูกที่ยังเหลืออีกสองในสามนั้น ผมใช้ดินปนกับทรายและปูนจากเศษอิฐในการก่อสร้าง (ถ้าจะเอาง่ายๆ เราจะใช้ปูนขาวหรือเปลือกไข่ป่นแทนก็พอได้ ใส่แต่เล็กน้อยเท่านั้น)

เมื่อนึกจะทดลองใช้ปุ๋ยผสมกับดินปลูกเช่นนี้แล้ว และโดยที่ใจก็นึกเชื่ออยู่เดิมที่ว่าจะต้องได้ผลดีเป็นแน่ ผมจึงตกลงใจที่เปลี่ยนกระถางเปลี่ยนดินไม้ของผมทั้งหมดโดยหันมาใช้ดินผสม ปุ๋ยดังกล่าวนั้นเสียทีเดียวเลย ผมเริ่มดำเนินการไปตามนี้ตั้งแต่กลางเดือนเมษายน โดยใช้เวลาว่างเท่าที่พอหาได้ จนเปลี่ยนกระถางได้หมดตอนกลางเดือนพฤษภาคม วิธีการของผมก็คือต้นไม้เก่าออกจากกระถางและพยายามเอาดินเก่าออกให้มากที่ สุดโดยเขย่าและล้าง พยายามให้รากเสียหายแต่น้อยที่สุด
โดย: cactus-old [23 ม.ค. 56 23:23] ( IP A:110.169.150.117 X: )
ความคิดเห็นที่ 19
   ฉะนั้นเมื่อ เสร็จกรรมวิธีนี้แล้วไม้ของผมจึงต้องเริ่มต้นชีวิตใหม่ในดินผสมที่คิดขึ้นมา ใหม่ๆ นี้ โดยในตอนที่ปลูกนั้นผมปลูกลงไปโดยใช้ดินที่ผสมไว้แห้งๆ พอปลูกแล้วก็ยังไม่รดน้ำ เพียงแต่ใช้น้ำฉีดพ่นไปบนต้นทุกวันอยู่สัก 2 อาทิตย์ แล้วจึงได้รดน้ำให้เป็นครั้งแรก เพราะคิดว่าหลังจากสองอาทิตย์ไปแล้วไม้คงอยู่ในสภาพที่พร้อมที่จะรับน้ำ “
“ หลังจากนั้นไม้ก็เริ่มฟื้นตัวและไม่ช้าก็เห็นได้ชัดว่าผลของดินปลูกที่มี ปุ๋ยปนอยู่ด้วยนั้นทำให้ไม้เจริญเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว กระทั่งผิวของไม้บางชนิดแลดูสดใสขึ้นอย่างผิดหูผิดตา จนมีบางท่านที่มาเห็นเข้ากล่าวว่า ดูเหมือนอย่างกับว่ามีใครเอาน้ำมันชักเงาไปถูไปขัดไว้”

“ นับแต่นั้นมาจนบัดนี้ก็เป็นเวลาสามเดือนแล้ว รู้สึกว่าการทดลองได้ผลดีมาก เพราะไม้ทั้งหมด (ยกเว้นที่ยังทำเฉยอยู่ 2 ต้น) ซึ่งตั้งแต่เลี้ยงมันมาก็ไม่ใคร่จะเจริญเติบโตกับเขา แต่มาในตอนนี้กลับเจริญเติบโตขึ้นรวดเร็วกว่าสมัยที่ใช้วิธีเลี้ยงแบบปล่อย ให้ “ตายอดตายอยาก” นั้นมากมาย

พูดถึงเรื่องดอก ในตอนนี้ไม้ชนิดต่างๆ ก็ให้ดอกมากกว่าแต่ก่อน แต่สำหรับเรื่องดอกนี้ ถ้าจะให้แน่อาจต้องคอยดูไปอีกสักปีหนึ่งก่อน เพราะเป็นไปได้ที่ไม้บางชนิดอาจได้เตรียมพร้อมจะมีดอกมาตั้งแต่ฤดูออกดอก ก่อนที่จะเปลี่ยนกระถางแล้ว”
โดย: cactus-old [23 ม.ค. 56 23:24] ( IP A:110.169.150.117 X: )
ความคิดเห็นที่ 20
   หลังจากนั้นอีก 1 ปี นายวิลเลี่ยมส์ได้เล่าเพิ่มเติมในเรื่องนี้อีก ซึ่งจะขอนำแต่บางตอนที่น่าสนใจและฟังดูไม่เป็นวิชาการจนเกินไปมาเล่าต่อ อย่างไรก็ตามใคร่ขอให้ท่านที่สนใจเรื่องการใช้ปุ๋ยกับแคคตัสได้คำนึงถึงสภาพ สถานที่ที่นายวิลเลี่ยมส์เลี้ยงไม้ของเขาอยู่ในประเทศอังกฤษไว้ด้วยว่า ที่นั่นอากาศหนาวเย็นกว่าในเมืองเรา อากาศในหน้าหนาวของเราซึ่งบางปีก็มีหนาวอยู่ไม่กี่วันก็เห็นจะพอกับหน้าร้อน ของเขาและเขาเลี้ยงไม้ไว้ในเรือนกระจกและต้องใช้เครื่องปรับอุณหภูมิภายใน เรือนต้นไม้นั้น เพื่อมิให้อุณหภูมิลดลงไปต่ำกว่า 5 องศาเซลเซียส(40 องศาฟาเรนไฮท์) ในฤดูหนาว ส่วนในฤดูร้อนนั่นเห็นนายวิลเลี่ยมส์เขาว่าอุณหภูมิในเรือนต้นไม้อาจสูงถึง 30 องศาเซลเซียส (84 องศาฟาเรนไฮท์)

นายวิลเลี่ยมส์เล่าต่อไปว่า ทีแรกเมื่อเปลี่ยนกระถางเปลี่ยนดินโดยใช้ปุ๋ยปนเข้าไปด้วยแล้วเขาก็ออกหวาดๆ อยู่ ชักจะไม่ใคร่แน่ใจว่าเมื่อฤดูหนาวมาถึงไม้จะเป็นอย่างไรบ้าง เพราะมีผู้ให้ข้อสังเกตหรือประมาทไว้ว่า ไว้ดูเมื่อฤดูหนาวมาถึงเถิด ไม้ที่ปลูกกับปุ๋ยจะต้องเน่าต้องเสียไป แต่เมื่อฤดูหนาวมาถึงเข้าจริงกลับปรากฏว่าไม้ยังคงเจริญงอกงามอยู่ต่อไป จึงทำให้เขามั่นใจยิ่งขึ้นว่าที่เขาตัดสินใจมาใช้ปุ๋ยนั้นเป็นการตัดสินใจ ที่ถูกต้องแล้ว และเมื่อฤดูหนาวผ่านไปเข้าฤดูใบไม้ผลิ เขาก็เสียไม้ไปเพียง 2ต้น ซึ่งก็ไม่แปลกอะไร เพราะทุกฤดูหนาวเขาก็เคยมีไม้ตายไปต้นสองต้นอยู่แล้ว

ต่อจากนั้นเขาก็เก็บข้อความที่เขาบันทึกไว้ในวันที่ในเดือนต่างๆ เมื่อเขาเห็นไม้ต้นไหนออกดอก มีดอกตูมโผล่ออกมาเมื่อไร บานเมื่อไร ต้นละกี่ดอก ไม้ต้นนั้นเปลี่ยนดินไว้ตั้งแต่เมื่อไร ฯลฯ เขาจดบันทึกไว้โดยละเอียด ซึ่งน่าจะเป็นตัวอย่างให้ท่านที่สนใจเรื่องลี้ยงไม้จะคิดและปฏิบัติตามบ้าง เพื่อเพิ่มพูนความรู้ความชำนาญ
โดย: cactus-old [23 ม.ค. 56 23:25] ( IP A:110.169.150.117 X: )
ความคิดเห็นที่ 21
   ตัวผู้เขียนเองก็ยังพยายามปลุกใจตัวเองให้เอาเรื่องเอาราว คอยบันทึกคอยจดให้จริงจังอย่างนั้นบ้าง แต่ก็รู้สึกว่ายังออกจะไกลต่อความสำเร็จอยู่ ในชั้นนี้จะเอาแต่แนะนำกันต่อๆ ไปก่อนดีกว่า แต่นี่ก็ชักจะออกนอกเรื่องไปอีกแล้ว จะขอวกกลับเข้าหาประสบการณ์ของนายวิลเลี่ยมส์ใหม่อีก โดยเริ่มจากตอนที่เขาออกตัวว่า
“ ผมออกเกรงว่าจะได้แจงรายละเอียดไว้มากเกินไป ผมเองก็ออกเบื่อที่จะไปนั่งนับดอก นับอะไรนั่น แค่ก็พอจะยืนยันได้ว่าในเรือนกระจกเล็กๆ ของผมนั้นในปีนี้มีดอกบานอยู่สะพรั่งนับเป็นร้อยๆ ทีเดียว ผมเชื่อว่าที่ไม้ออกดอกกันมากนั้นคงเป็นเพราะ (1) ตอนนี้ผมหันมาเลือกเลี้ยงไม้สกุลที่ให้ดอกมาก (2) ผมให้ไม้ได้พักตัวหลังจาก (3) ใช้ปุ๋ย ซึ่งผมเห็นว่าเหตุประการหลังนี้เป็นประการที่สำคัญอย่างยิ่ง”

“ ผมเคยได้ยินท่านสมาชิกในสมาคมแคคตัสของเรานี้หลายท่านกล่าวว่า การใช้ปุ๋ยกับแคคตัสนั้นเป็นการกระทำที่ผิดธรรมชาติ ซึ่งเรื่องนี้ผมต้องขอค้านไว้สักหน่อยเพราะผมเห็นว่าไม่มีใครในเมืองเราที่ จะสามารถเลี้ยงแคคตัสตามธรรมชาติได้จริงๆ เอาละ แม้จะสมมุติเอาว่าเราสามารถหาดินจากทะเลทรายหรือจากภูเขาที่มีแคคตัสขึ้น อยู่มาใช้ปลูกแคคตัสของเราที่นี่ แต่ส่วนมากแล้วเราก็ยังจะต้องมีเรือนต้นไม้ มีกระจกมาปกป้องไม้ของเราไว้อย่างไม่ถูกธรรมชาติ ยิ่งกว่านั้นเราจะไม่สามารถปรับสิ่งแวดล้อมไม้ที่เราเลี้ยง เป็นต้นความกดของอากาศ ความชื้นหรือความแห้งแล้ง ให้เหมือนกับสภาพในถิ่นกำเนิดของแคคตัสได้ ก็เพราะอย่างนี้แหละผมถึงเห็นว่าเราควรทำทุกสิ่งที่จะช่วยให้ไม้ของเราเจริญ เติบโต ออกดอกออกช่อให้เราได้ชม เพราะไม้จะเจริญเติบโต จะออกดอกออกช่อได้ก็ต่อเมื่อตัวต้นไม้นั้นอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์”

“ ยังมีอีกข้อหนึ่งที่ผมอยากจะกล่าวไว้เสียด้วย ผมได้เคยพูดถึงไม้บางต้นว่า เพราะได้ปุ๋ยนี่เองจึงได้เจริญเติบโตขึ้นและมีหนามแข็งใหญ่ขึ้นกว่าแต่ก่อน แต่ปรากฏว่าเรื่องมันไม่จริงเช่นนั้นอยู่เสมอไป เพราะมีไม้หลายต้นเหมือนกันที่ปุ๋ยไม่ได้ไปช่วยกระตุ้นให้เติบโต หรือช่วยให้หนามแข็ง หรือใหญ่ยาวขึ้นกว่าแต่ก่อน ไม้สกุลแมมมิลลาเรียหลายชนิดคงมีหนามอยู่ในขนาดเดิม แม้จะเติบโตขึ้นเร็วกว่าแต่ก่อน และออกดอกมากขึ้นด้วย กล่าวโดยทั่วๆ ไปแล้วไม้ในสกุลอื่นอีกหลายชนิดจะมีหนามงามขึ้นกว่าแต่ก่อน แต่ก็มีบางชนิดที่ดูเฉยๆ อยู่ เรื่องผลของการใช้ปุ๋ยกับแคคตัสจึงเป็นเรื่องที่น่าจะได้ศึกษาทดลองค้นคว้า กันต่อไป และผู้ที่จะค้นคว้าในเรื่องนี้ได้อย่างเหมาะสมนั่นควรจะเป็นผู้ที่เลี้ยงแค คตัสไว้เป็นจำนวนมาก และมีเวลาพอที่จะศึกษาและทดลองไปได้มากกว่าตัวผมเอง”

โดย: cactus-old [23 ม.ค. 56 23:26] ( IP A:110.169.150.117 X: )
ความคิดเห็นที่ 22
   “ เท่าที่ได้เล่าถึงประสบการณ์ของผมเกี่ยวกับการใช้ปุ๋ยแคคตัสแล้วนี้คงจะพอ ช่วยให้ท่านนอนใจได้ว่า หากท่านหันมาทดลองใช้ปุ๋ยกับแคคตัสของท่านเข้าแล้วบ้างท่านก็ไม่ต้องกลัวว่า การใช้ปุ๋ยจะทำให้ไม้ของท่านต้องตายจากไป ผมรู้สึกแน่ใจว่าท่านจะพอใจกับผลที่ได้รับเมื่อได้เห็นไม้ของท่านสมบูรณ์ ขึ้น มีดอกมากขึ้น เมื่อเทียบกับไม้ที่แลดูปราศจากชีวิตชีวา ดังที่เราจะได้เห็นกันอยู่บ่อยๆ โดยที่ผู้เลี้ยงสมัครที่จะปล่อยให้มันค่อยๆ อดค่อยๆ ตายไป เพราะเอาไปใส่กระถางไว้กับเศษอิฐและดินเผา”

ได้นำความคิดเห็นและคำแนะนำในเรื่องการใช้ปุ๋ยกับแคคตัสของนักเล่นแคคตัสชาว อังกฤษ คือนายวิลเลี่ยมส์มาแล้ว คราวนี้จะขอนำความคิดเห็นของนักแคคตัสผู้ยิ่งใหญ่ผู้หนึ่งคือ ดร. ฟรังส์ บั๊กสโบม ชาวออสเตรีย เป็นศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัยกราซ ประเทศออสเตรีย และเป็นผู้ที่ได้เล่นได้ทดลองได้ค้นคว้าในเรื่องแคคตัสมา 30 ปีแล้ว แต่ก็มีบางตอนในข้อคิดเห็นของท่านเกี่ยวกับการใช้ปุ๋ยกับแคคตัสซึ่งออกจะ ขัดๆ กับความคิดเห็นของคุณวิลเลี่ยมส์อยู่บ้าง จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจน่าทราบไว้ด้วย หากเราจะศึกษาเรื่องการใช้ปุ๋ยกับแคคตัสให้กว้างขวางออกไปอีกสักหน่อย
โดย: cactus-old [23 ม.ค. 56 23:28] ( IP A:110.169.150.117 X: )
ความคิดเห็นที่ 23
   ดร.บั๊กสโบม กล่าวไว้ในหนังสือเรื่อง “ การเลี้ยงแคคตัสตามหลักชีววิทยา” ตอนที่เขาพูดถึงการใช้ปุ๋ยว่า

“ ความคิดที่ว่า ไม่ควรใช้ปุ๋ยกับแคตัส นั้นเป็นความคิดที่ออกจะเหลวไหลไร้สาระและปัจจุบันนี้ก็ไม่มีใคร่มีใครคิด เช่นนั้นกันแล้ว จริงอยู่การใช้ปุ๋ยอาจมีผลร้ายได้ แต่ผลร้ายที่เกิดขึ้นนั้นก็มักจะเกิดขึ้นจากการใช้โดยไม่ถูกวิธี หากเรามีความรู้ทางชีววิทยาดีขึ้นแล้วความรู้นั้นจะช่วยให้เราไม่ใช้ปุ๋ยไป อย่างผิดๆ”

“ แคคตัสนั้นต้องการธาตุต่างๆ ที่จะมาช่วยบำรุงให้เจริญเติบโตอยู่มาก โดยเฉพาะโปแตสเซี่ยมและฟอสฟอรัส แต่สำหรับไนโตรเจนนั้นไม้นี้ต้องการเพียงเล็กน้อย”

“ ไนโตรเจนเป็นธาตุที่พืชต้องการเพื่อสร้างความเจริญเติบโต และเป็นธาตุที่ช่วยให้ธาตุอื่นๆ ที่ช่วยเสริมสร้างความเจริญแก่ต้นไม้อยู่ด้วยนั้นยิ่งมีกำลังแรงขึ้น แต่หากเราใช้ไนโตรเจนมากเกินไปแล้วก็จะทำให้ไม้นี้โตเร็วเกินไปจนแลดูอวบๆ เขียวๆ ไม่แข็งแรง เพราะเซลล์ของไม้นั้นจะใหญ่ขึ้นกว่าปกติ ผนังของเซลจะอ่อนแอ ผลก็คือไม้จะเป็นโรคได้ง่ายและจะไม่ใคร่ให้ดอก”

“ ส่วนฟอสฟอรัสนั้นเป็นธาตุที่ช่วยให้ไม้ออกดอกผลและให้เมล็ด”

“ โปแตสเซียมเป็นธาตุที่ไม้จำเป็นต้องใช้เพื่อรับอาหารมาบำรุงต้น ธาตุนี้จะช่วยเพิ่มความต้านทานของไม้”

“ นอกจากนั้นยังมีธาตุที่เป็นอื่นๆ อีก ซึ่งมีความสำคัญลดหลั่นกันลงไป พอจะสรุปได้ว่าแคคตัสต้องการดินซึ่งมีธาตุที่เป็นอาหารของต้นไม้อยู่เป็น จำนวนสูง มีธาตุฟอสฟอรัสและโปแตสเซียมอยู่มากแต่ไนโตรเจนเพียงเล็กน้อย เพราะเหตุนี้เอง ปุ๋ยที่มีใช้กันอยู่ ซึ่งเป็นปุ๋ยสำหรับใช้กับไม้ใบ จึงไม่เหมาะที่จะนำมาใช้กับแคคตัส”

“ อีกประการหนึ่ง แคคตัสที่จะสามารถรับประโยชน์จากปุ๋ยได้นั้นต้องเป็นแคคตัสที่กำลังเจริญ เติบโตและได้รับแสงแดดอย่างเพียงพอ การที่จะใช้ปุ๋ยกับไม้ที่ไม่สมบูรณ์นั้นอาจทำให้เกิดผลร้าย ก่อนที่จะใช้ปุ๋ยจึงควรต้องหาทางแก้หาทางบำรุงให้ไม้นั้นอยู่ในสภาพที่ สมบูรณ์เสียก่อน”

ฟัง ดร.บั๊กสโบม ว่าไว้อย่างนี้แล้ว รู้สึกว่าออกจะขัดๆ กับที่คุณวิลเลี่ยมส์ได้แนะนำไว้อยู่สักหน่อย เพราะปุ๋ยที่คุณวิลเลี่ยมส์ใช้นั้นมีไนโตรเจนสูงกว่าฟอสฟอรัสและโปแตสเซี่ยม การใช้ปุ๋ยที่มีไนโตรเจนมากอาจทำให้ไม้เจริญเติบโตขึ้นรวดเร็วก็จริง แต่ก็น่าเกรงว่าไม้ที่เติบโตขึ้นโดยรวดเร็วนั้นจะไม่แข็งแรง ไม่มีความต้านทานต่อโรค ดูจะเป็นไม้ที่โตอย่างฉุๆ เปราะ มีสีเขียวสดไปกว่าที่ควรจะเป็นสำหรับแคคตัส
โดย: cactus-old [23 ม.ค. 56 23:28] ( IP A:110.169.150.117 X: )
ความคิดเห็นที่ 24
   พอจะสรุปความคิดเห็นของ ดร. บั๊กสโบม ศาสตราจารย์ชาวออสเตรียเกี่ยวกับการใช้ปุ๋ยกับแคคตัสได้ว่า จะใช้ปุ๋ยกับแคคตัสก็ใช้เถิด แต่ต้องระวังอย่าให้ปุ๋ยนั้นมีไนโตรเจนมากเกินไป เพราะจะทำให้แคคตัสโตเร็วกว่าที่ควรและไม่แข็งแรง จะเป็นโรคได้ง่าย

มีข้อน่าสังเกตอยู่อย่างหนึ่งว่า คุณวิลเลี่ยมส์ได้พูดถึงแต่ปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งเป็นปุ๋ยที่แกเอามาผสมเข้ากับดินที่ใช้ปลูก ไม่ใช้ปุ๋ยน้ำหรือปุ๋ยที่เป็นผงแล้วเอามาละลายน้ำรดต้นไม้เป็นครั้งเป็น คราวอย่างที่ ดร.บั๊กสโบม พูดถึง

สำหรับเรื่องปุ๋ยนี้ ส่วนมากของผู้ที่ถามมามักจะหมายถึงปุ๋ยอนินทรีย์หรือบางทีก็เรียกว่าปุ๋ย วิทยาศาสตร์ ซึ่งมีขายเป็นขวดเป็นกระป๋อง สะดวกต่อการหามาใช้ โดยท่านที่ถามมาไม่แน่ใจว่าควรจะทำปุ๋ยดังกล่าวมาใช้กับแคคตัสเหมือนอย่าง ที่เห็นเขาใช้กับไม้ใบ กับกล้วยไม้หรือไม่

เรื่องการใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์นี้ทางนักเล่นเมืองเราก็นิยมใช้กันอยู่มาก แต่แทนที่จะใช้กันอย่างเต็มที่ตามที่ทางผู้ผลิตปุ๋ยเขาสั่งหรือกะให้ใช้ เรามักจะมัชฌิมาปฏิปทา ลดมาใช้กันเพียง 1 ใน 2 หรือ 1 ใน 4 เช่น ถ้าเขาให้ใช้ปุ๋ย 4 ช้อนชา ผสมกับน้ำ 10 ลิตร เราก็ลดจำนวนปุ๋ยลงเสีย ใช้เพียง 1 หรือ 2 ช้อนชา ต่อน้ำ 10 ลิตร แต่อาจรดให้บ่อยขึ้นหน่อย สัก 10 วัน หรือ 2 อาทิตย์ต่อครั้ง และควรใช้ปุ๋ยที่มีไนโตรเจนน้อย ผู้เขียนเองเคยใช้ปุ๋ยในแบบนี้มาบ้างและได้รับผลดีพอสมควร

เรื่องเกี่ยวกับการใช้ปุ๋ยกับแคคตัสและซัคคิวเลนท์ เท่าที่เขียนมานี่ดูก็ออกจะยืดยาวเกินสมควร พอจะสรุปได้อีกทีว่าควรใช้ปุ๋ยกับแคคตัส และปุ๋ยที่ใช้ควรมีไนโตรเจนต่ำ หรือเลขตัวหน้าของเลข 3 ตัวในสูตรปุ๋ยวิทยาศาสตร์น้อยกว่าตัวหลังๆ แล้วเวลาใช้ก็อย่าไปใช้ให้บ่อยเกินไปนัก อย่าลืมว่าแคคตัสก็ไม่พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด รู้จักยุบหนอพองหนอกับเขาเหมือนกัน

เรื่องแคคตัสและซัคคิวเลนท์เป็นอันยุติลงเพียงนี้ ขอให้แคคตัสและซัคคิวเลนท์ของท่าน (ถ้ามี) จงเจริญงอกงามยิ่งๆ ขึ้นไป เทอญ

โดย: cactus-old [23 ม.ค. 56 23:29] ( IP A:110.169.150.117 X: )
ความคิดเห็นที่ 25
   ตกลงผมก็จบภาค1ไว้เพียงเท่านี้ ใครอ่านแล้วมีความคิดเห็นอย่างไร ช่วยแสดงให้โลกได้ประจักษ์ด้วย

ผมอยากรู้เหมือนกันว่าใครจะมีความรู้สึกอะไรเหมือนกับผมสักเรื่องสองเรื่องไหม

การซื้อไม้มาเลี้ยงสักต้นไม่ใช่เรื่องยากนัก แต่การจะเป็นนักเลงกระบองเพชรตัวจริงนั้นผมว่ายากยิ่งนัก

เมื่ออ่านเรื่องนี้แล้วทำให้ผมได้คิดว่า ประสบการณ์นั้นซื้อมาได้ด้วยเวลา เงินไม่อาจซื้อประสบการณ์ได้
คนที่ไม่ลงมือปฏิบัติแม้จะอ่านมามากเพียงใดก็จะขาดประสบการณ์
คนที่ขาดประสบการณ์ก็จะสอนอะไรใครไม่ได้

ทุกอย่างที่คุณปู่ขจีท่านได้ถ่ายทอดไว้นั้นกระจ่างชัดเจนและเข้าใจง่ายสามารถนำมาปฏิบัติและเดินตามได้เป็นอย่างดี

ผมหวังว่าเรื่องราวเหล่านี้คงพอทำให้พวกเราซึ่งเป็นรุ่นหลานเหลนทั้งหลายที่ ยังไม่รู้ว่าจะเริ่มเดินทางอย่างไรไปกับไม้หนาม อาจพอสร้างจุดยืนเล็กๆให้กับเราได้บ้างว่าจะก้าวต่อไปอย่างไร

ขอบคุณคุณปู่ขจีด้วยความเคารพอย่างสูง มา ณ ที่นี้ด้วยครับ

ขอบ คุณคุณลุงเปี๊๊ยก, อาจารย์หญิง, น้องตาล, น้องเอ๋ (และน้องกล้วยที่ผมยังระลึกถึงอยู่เสมอ) ด้วยเช่นกันครับที่ต้อนรับผม และน้องๆเป็นอย่างดีทุกครั้งที่ไปเยี่ยมครับ
โดย: cactus-old [23 ม.ค. 56 23:30] ( IP A:110.169.150.117 X: )
ความคิดเห็นที่ 26
   เป็นประโยชน์ และมีสาระความรู้มาก ๆ ครับ อาจารย์โอ่ง :)))
โดย: aimuk [25 ม.ค. 56 22:00] ( IP A:101.109.182.127 X: )
ความคิดเห็นที่ 27
   ขอบคุณอ.โอ่ง สำหรับสิ่งดีดีที่นำมาให้อ่านค่ะ
โดย: CS นนท์ [27 ม.ค. 56 7:59] ( IP A:125.24.22.76 X: )
ความคิดเห็นที่ 28
   คุณขจี วสุธาร ท่านเป็นครูของผมในด้านการปลูกไม้เชิงวิชาการ ซึ่งขณะนั้นอยู่ที่ถนนสุโขทัย เขตดุสิตหรือบางซื่อไม่แน่ใจ มีการเก็บข้อมูลเป็นระบบที่ป้ายปักชื่อ ยังชอบใจที่คุณขจีและภรรยาร่วมกันทุบอิฐมอญผสมดิน flower
โดย: MONT [17 ก.พ. 56 19:52] ( IP A:171.100.11.43 X: )
ความคิดเห็นที่ 29
   เหมือนได้อ่านหนังสือหลายเล่มรวมกัน มีประโยชน์ต่อคนรุ่นหลังมากครับ
โดย: พนิำพะนแฟอฟสำำ๑้นะทฟรสใแนท [7 เม.ย. 56 9:34] ( IP A:202.28.78.14 X: )
ความคิดเห็นที่ 30
   น่าสนใจมากเลยค่ะกำลังศึกษาอยู่ พอดีต้นที่บ้านมันอ่อนปลวกเปียกสงสัยน้ำเยอะไป น่าสงสารเลยรีบมาหาข้อมูล
โดย: หนูนา [24 เม.ย. 56 9:06] ( IP A:1.179.150.98 X: )
ความคิดเห็นที่ 31
   

ขอบคุณสำหรับข้อมูลความรู้ต่างๆ ค่ะ เป็นประโยชน์มากๆนะคะ :-) 

โดย: ณัฐรุจา ขันติกุล [11 มี.ค. 57 20:40] ( IP A:1.47.170.108 X: )
ความคิดเห็นที่ 32
   

ขอขอบพระคุณอ. โอ่งที่ได้นำบทความดี ๆ มาลงให้ได้อ่านกันครับ มีประโยชน์มากครับ

ขอระลึกถึงคุณปู่ขจี วสุธาร และครอบครัวท่านทุกๆ ท่าน ที่ได้อนุญาตให้นำบทความดี ๆ นี้มาแบ่งปันกันครับ

ขออนุญาตนำไปเผยแผ่ในเพจ ให้คนอื่น ๆ ที่สนใจได้อ่านกันครับ

ขอขอบพระคุณอย่างสูงครับ

 

โดย: Parinya H. [4 มี.ค. 59 22:08] ( IP A:58.8.151.12 X: )
คลิก เพื่อเปลี่ยนกลับไปแสดงความคิดเห็นแบบเดิม

ชื่อไฟล์รูปห้ามมีอักขระพิเศษ เช่น (#),(<),(>),(&) เป็นต้นค่ะ
ชื่อ / e-mail :    แทรกไอคอนน่ารักๆในข้อความ
e-mail :
ส่งอีเมลทุกครั้งที่มีการตอบกระทู้       (ใส่ Email เมื่อต้องการให้ส่ง Email เมื่อมีคนมาโพสในกระทู้)


CAPTCHA code



คลิกที่นี่เพื่อกลับหน้าบ้าน