เปิดตำนาน "ราชาแคคตัส" ภาค 3
   เปิดตำนาน “ราชาแคคตัส” ภาค 3 นี้ เป็นภาคจบของคุณปู่ขจี วสุธาร นะครับ

ใครที่เพิ่งเปิดมาเจอ สามารถไปย้อนอ่านภาค 1 และ 2 ได้ตามลิ้งค์ที่ให้มานี้นะครับ

เปิดตำนาน “ราชาแค๊คตัส” ภาค 1
https://www.pantown.com/board.php?id=43164&area=4&name=board25&topic=1&action=view

เปิดตำนาน “ราชาแคคตัส” ภาค 2
https://www.pantown.com/board.php?id=43164&area=4&name=board25&topic=2&action=view

เรื่องราวต่างๆในภาคนี้อาจไม่ปะติดปะต่อสักเท่าไหร่ แต่เป็นบทความที่เขียนโดยคุณปู่ขจี ได้ถูกนำมาตัดต่อไว้ในหนังสือแจกแก่ผู้มาร่วมพิธีศพ เมื่อปี 2530

โดย: cactus-old [27 ม.ค. 56 23:35] ( IP A:124.121.151.59 X: )
Add to Facebook  Add to Twitter  Add to Multiply  Add to Google  Add to Blogger  Add to Live
Counter : 22086 Pageviews
ความคิดเห็นที่ 1
   แคคตัสและไม้อวบน้ำต่างๆ ชนิด
โดย ขจี วสุธาร

เป็นที่น่ายินดีที่แคคตัสและไม้อวบน้ำอื่นๆ (ซัคคิวเลนท์) ที่มีวางขายอยู่ในปัจจุบันนี้มีมากสกุล (Genus) มากชนิด (species) ขึ้น ช่วยให้ผู้ที่สนใจกับไม้นี้สามารถเลือกหาไม้ที่มีรูปร่างลักษณะแปลกๆ ไปจากที่มีอยู่แต่ก่อนมาเลี้ยงไว้ได้ แม้จะทำให้เกิดความหมดเปลืองเพิ่มขึ้นกว่าเดิมบ้าง

หากท่านไม่มีมิตรสหายที่เล่นเลี้ยงไม้นี้อยู่ก่อน และเป็นผู้ที่ใจดีในเรื่องแจกจ่ายต้นไม้ (ขออภัย ไม่เหมือนกับผู้เขียนเรื่องนี้) เพราะในการเลี้ยงการสะสมไม้ประดับต่างๆ นั้น ผู้เลี้ยงย่อมต้องการสะสมพันธุ์ไม้ที่ตนชอบให้มีหลายสกุล หลายชนิด แต่ละชนิดต้องพยายามเลี้ยงให้งาม และยิ่งถ้าเรามีชนิดดีๆ แปลกๆ หายากๆ ที่คนอื่นเขายังไม่มีด้วยแล้ว หากจะทำให้หน้าของผู้เป็นเจ้าของบานไปกว่าปกติบ้างก็เป็นเรื่องที่พอจะเข้าใจและให้อภัยกันได้

โดย: cactus-old [27 ม.ค. 56 23:38] ( IP A:124.121.151.59 X: )
ความคิดเห็นที่ 2
   สำหรับการเล่นการเลี้ยงแคคตัสนั้น ขณะนี้มีผู้ให้คำแนะนำไว้มาก ตำราออกใหม่ๆ ก็มี ตามร้านขายแคคตัสบางร้านก็มีคู่มือวิธีเลี้ยงไม้นี้แจกแก่ลูกค้า ในวารสารไม้ประดับฉบับแรกประจำปี2519 ของสมาคมไม้ประดับแห่งประเทศไทย คุณวิเชฏฐ์ก็ได้เขียนแนะนำเกี่ยวกับการปลูกการเลี้ยงแคคตัสไว้โดยละเอียด ซึ่งยังคงมีพอหาอ่านได้

ที่จริงการเลี้ยงแคคตัสนี้เมื่อคิดดูง่ายๆ ก็เห็นว่าไม่น่าจะมีอะไรยาก ผู้เขียนได้เคยอ่านพบข้อความที่ผู้เชี่ยวชาญทางไม้ดอกไม้ประดับกล่าวถึงแคคตัสไว้ในวารสารไม้ประดับเล่มหนึ่งว่า “เป็นพันธุ์ไม้ที่เหมาะสำหรับนักเลี้ยงต้นไม้ที่ไม่ค่อยมีเวลารดน้ำ เพราะมีความทรหดอดทนพอใช้ ไม่ว่าจะเอาไปเลี้ยงไว้กลางแดดหรือในร่ม ข้อสำคัญเป็นโรคกลัวน้ำแฉะขัง”

โดย: cactus-old [27 ม.ค. 56 23:40] ( IP A:124.121.151.59 X: )
ความคิดเห็นที่ 3
   และในหนังสือไม้ดอกไม้ประดับเล่มหนึ่งก็มีกล่าวชมนักเล่นนักเลี้ยงแคคตัสว่า “คนที่เล่นพันธุ์ไม้แคคตัสนั้นเป็นคนขี้เกียจ หรือแคคตัสเป็นพันธุ์ไม้ของคนขี้เกียจ”
ซึ่งเมื่อได้ฟังคำชมเช่นนี้แล้ว ขอเพื่อนนักเล่นแคคตัสอย่าได้ไปลุ่มหลง เชื่อฟังมากนัก แล้วก็อย่าไปขี้เกียจเข้าจริงๆ หรือหันไปเล่นไม้อื่นเพราะอยากจะเป็นคนขยันกับเขาบ้าง

ถ้าท่านเลี้ยงแคคตัสไว้มากหน่อย ก็จะต้องใช้เวลารดน้ำมากหน่อย เพราะแคคตัสก็เป็นสิ่งมีชีวิต อาจมีหัวใจด้วยก็เป็นได้ ใครจะไปรู้ แต่ที่แน่ๆ ก็มีรากซึ่งจะกระจายออกหาน้ำกินเหมือนต้นไม้อื่นๆ ต้องการความเอาใจใส่ดูแล ทะนุถนอม จะไปปล่อยให้เทวดาท่านช่วยอุปถัมภ์เสียทีเดียวก็ไม่ถูกไม่ควร

โดย: cactus-old [27 ม.ค. 56 23:42] ( IP A:124.121.151.59 X: )
ความคิดเห็นที่ 4
   ได้กล่าวแล้วว่า ขณะนี้แคคตัสรูปร่างแปลกๆ กันไปมีให้เลือกเล่นได้เพิ่มขึ้นกว่าแต่ก่อน เพราะไม้ในวงศ์ Cactaceae นี้มีกว่า 300 สกุล มีชนิดราวๆ 5,000 ชนิด

รูปร่างลักษณะของไม้ในสกุลต่างๆ นั้นบางสกุลก็มีรูปร่างคล้ายๆ กัน แต่ก็มีอยู่มากมายหลายสกุล ที่มีรูปร่างผิดแผกกันไป ช่วยให้ผู้ที่เล่นเลี้ยงแคคตัสได้มีโอกาสเลือกได้ตามใจชอบ เช่นบางท่านอาจชอบแต่ชนิดที่เป็นหัวกลม โดดเดี่ยว ซึ่งผู้เขียนเคยพบอยู่หลายท่าน แต่แล้วก็มักจะปรากฏว่า ท่านที่ชอบแต่หัวกลมๆ ในตอนแรกเล่นนั้น ต่อไปเมื่อเล่นเมื่อเลี้ยงไปนานๆ เข้าโรคนิยมแคคตัสชักจะขึ้นสมองหรืออย่างไรไม่ทราบ มักจะหันไปชอบต้นแบบอื่นๆ ด้วย เช่นต้นที่เป็นหัวกลมเหมือนกัน แต่เมื่อเลี้ยงไปจะมีลูกมีหลานออกมายั้วเยี้ยอยู่ทั้งข้างๆ และบนหัว และออกมาเพิ่มเติมอยู่เรื่อยๆ ปกคลุมไปหมด จนในที่สุดชักจะมองหาต้นเดิมไม่เจอ ไม้หัวกลมที่กล่าวมาแล้ว จัดได้ว่าเป็นประเภทที่มีขนาดปานกลางและขนาดใหญ่

โดย: cactus-old [27 ม.ค. 56 23:46] ( IP A:124.121.151.59 X: )
ความคิดเห็นที่ 5
   แต่ก็มีประเภทหัวเล็กๆ ซึ่งแตกออกมาเป็นกอ ซึ่งกอนั้นจะใหญ่ขึ้นๆ จนแผ่ออกเต็มกระถาง นอกจากนั้นก็มี พวกที่แตกเป็นลำเล็กๆ เป็นกอ โดยแต่ละต้นจะดูเหมือนนิ้วมือ พุ่งออกมาทางโน้นทางนี้แลดูพัลวันไปหมด มีชื่อเล่นว่า “ นิ้ว ” หรือ “ ดรรชนี” ไม้พวกนี้มีหนาม มีสีต่างๆกันเหมาะที่จะเลี้ยงไว้ในกระถางแขวนและอาจเลี้ยงไว้ในห้องได้คราวละหลายๆ วัน นาน ๆ ก็เอาออกมารับแดดเสียบ้าง

แคคตัสอีกประเภทหนึ่งซึ่งได้เห็นกันมามาก เห็นจะเป็นประเภทที่เป็นลำสูง รูปร่างเข้าแบบกระบอง และอาจเป็นประเภทที่ทำให้เรียกแคคตัสกันในนามว่ากระบองเพชร ไม้พวกนี้มีรูปร่าง มีหนามแปลกๆ กันไปหลายแบบ ที่มีขน มีหนามขาวๆ และได้ชื่อเล่นว่า “คนแก่” ก็มีหลายต้น

นอกจากนี้ก็มีไม้พวกที่มีต้นเป็นแผ่นบางๆ บ้าง หนาๆ บ้าง รูปร่างยาวๆ รี ๆ ซึ่งทางไทยเราเรียกกันว่า “ต้นเสมา” เพราะรูปร่างคล้ายใบเสมา สำหรับไม้ในสกุลนี้ (Opuntia) เข้าใจว่าคงเคยเห็นกันมามากแล้ว

ท่านที่ไปเที่ยวต่างจังหวัดตามชายหาดบางแห่งจะเห็นต้นเสมาขึ้นอยู่เป็นดง บางต้นมีดอกสีแดงๆ ออกมาให้ชม ซึ่งเหมาะสมสำหรับจะชมอยู่ห่างๆ หน่อย อย่าบุกเข้าไปใกล้ๆ เพราะใบเสมานั้นมีหนามยาวและแหลมคม และสำหรับท่านที่ประสงค์จะไปยิงกระต่ายอะไรแถวๆ นั้นก็ควรจะสำรวจภูมิประเทศให้ดีเสียก่อน

โดย: cactus-old [27 ม.ค. 56 23:48] ( IP A:124.121.151.59 X: )
ความคิดเห็นที่ 6
   โอกาสนี้ขอนำข้อเขียนสั้นๆ เกี่ยวกับแคคตัสและซัคคิวเลนท์ บางสกุล บางชนิด พร้อมรูป ซึ่งเป็นผลงานของคุณขจี วสุธาร มาเผยแพร่ให้รู้จัก และเป็นความงดงามของไม้ประเภทนี้พอสังเขป

หมวกสังฆราช
AStrophytum myriostigma Lem. “Bishop’s Cap”

ไม้ต้นนี้มีทั้งที่เป็นหัวกลมและที่เป็นลำสูงขึ้นเล็กน้อย ผิวนั้นคลุมไปด้วยจุดเล็กๆ ซึ่งประกอบด้วยขนละเอียดสีขาว จึงแลดูเป็นจุดขาวๆ เล็กๆ เต็มต้นไปหมด แต่ไม่มีหนาม ดอกนั้นเป็นดอกขนาดใหญ่ รูปกรวย สีเหลือง สำหรับจำนวนพูกลีบของแต่ละต้นก็ผิดแผกกันไป ตั้งแต่ 3 ถึง 9 กลีบ (แต่ก่อนนั้นไม้ที่เลี้ยงๆ กันอยู่จะมีตั้งแต่ 4 ถึง 9 กลีบ แต่เมื่อเร็วๆ นี้ ทางญี่ปุ่นสามารถผสมจนได้ต้นที่มีเพียง 3 กลีบ) ต้นที่ถ่ายภาพมานี้มี 4 กลีบ รูปร่างเหมือนหมวกสังฆราช อันเป็นชื่อสามัญของไม้ต้นนี้
ต้น “หมวกสังฆราช” นี้เป็นไม้อีกต้นที่นักเล่นนิยมกันมาก มีถิ่นกำเนิดในเม็กซิโก ผู้พบคนแรกเป็นชาวฝรั่งเศษชื่อ Galeotti ไม้ต้นนี้ยังแยกพันธุ์ (varieties) ออกได้อย่างน้อยก็ 6-7 อย่าง เช่น columnare ซึ่งต้นเป็นลำสูง และ nudum ซึ่งบนลำต้นไม่มีจุดขาว
เป็นไม้ที่เลี้ยงง่าย ชอบแดด ขยายพันธุ์โดยเพาะเมล็ด

โดย: cactus-old [27 ม.ค. 56 23:50] ( IP A:124.121.151.59 X: )
ความคิดเห็นที่ 7
    ตะบองพ่อเฒ่า
Cephalocereus senilis (Haw.) Pfeiff. “Old Man Cactus)


ในต่างประเทศให้ชื่อสามัญไม้ต้นนี้ว่า “Old Man” หรือ “พ่อเฒ่า” เพราะลำต้นมักปกคลุมไปด้วยขน ซึ่งเป็นเส้นยาว สีขาวเหมือนเส้นผมที่หงอกขาวของผู้สูงอายุ
“พ่อเฒ่า” เป็นที่นิยนกันมากในบรรดานักเล่นแคคตัส และมักจะเลี้ยงกันไว้คู่กับ “แม่เฒ่า” (Mammillaria hahniana) ซึ่งได้นำมาแนะนำไว้ด้วยแล้ว
ไม้ต้นนี้มีถิ่นกำเนิดในเม็กซิโก เป็นไม้ลำต้นสูงประมาณ 6-10 ม. และที่สูงถึง 15 ม. ก็มี เป็นไม้เนื้ออ่อน แม้แต่มีดเล็กๆ ก็อาจตัดต้นใหญ่ๆ ให้ขาดได้โดยง่าย

สำหรับสันหรือพูกลีบรอบลำต้นนั้นมีประมาณ 20-30 กลีบ มีตุ่มหนามออกมาติดๆกันเป็นแถวบนแต่ละพูกลีบ จากตุ่มหนามนั้นมีหนามสั้นๆ ออกมา 1-5 เส้น และมีขนสีขาวยาวอีก 20-30 เส้น ในต้นที่มีอายุมากๆ ขนแถวโคนต้นจะร่วงไปเหลือแต่หนาม

สำหรับดอกของไม้ต้นนี้นั้น ศาสตราจารย์บอร์ก นักพฤษศาสตร์ชาวมอลตา กล่าวว่าจะออกดอกเมื่อต้นสูงราว 6 ม. ฉะนั้นเราจึงมีหวังน้อยเต็มทีที่จะได้เห็นไม้ที่เราเลี้ยงออกดอก ซึ่งมีสีแดง บานกลางคืน ยาวประมาณ 9 ซม. กว้างประมาณ 6 ซม. ขยายพันธุ์โดยเพาะเมล็ด

โดย: cactus-old [27 ม.ค. 56 23:52] ( IP A:124.121.151.59 X: )
ความคิดเห็นที่ 8
    แมม “แม่เฒ่า”
Mammillaria hahniana Werd. “Old Lady”


Mammillaria ต้นนี้เป็นไม้ที่สวยงามน่ารักต้นหนึ่ง มีถิ่นกำเนิดในเม็กซิโก ทางต่างประเทศให้ชื่อสามัญว่า “Old Lady” หรือ “แม่เฒ่า” เพราะลำต้นมีขนขาวออกมาคลุมอยู่เต็ม จนแทบมองไม่เห็นสีเขียวอ่อนที่อยู่ข้างใน

เมื่อยังเล็กจะเป็นหัวกลม เมื่อเจริญเติบโตขึ้นจะเป็นลำสูงเพียงเล็กน้อย มีหน่อมีลูกออกมารอบโคน จากตุ่มหนามเล็กๆ รอบๆ ต้นนั้นมีขนออกมารอบตุ่มหนาม 20-30 เส้น ซึ่งเป็นขนขาวยาว มีหนามกลางพุ่งออกมาตรงๆ สีขาวเหมือนกัน แต่ตอนปลายเป็นสีน้ำตาลและในร่องระหว่างตุ่มหนามยังมีปุยขาวออกมาอีก ดอกซึ่งมีขนาดกว้างประมาณ 8-15 มม. นั้นจะออกมาเป็นรูปวงแหวนอยู่ส่วนยอด สีแดงอมม่วง เป็นไม้ที่เลี้ยงง่าย ชอบดินโปร่งๆ ชอบแดด ขยายพันธุ์โดยเพาะเมล็ด

โดย: cactus-old [27 ม.ค. 56 23:54] ( IP A:124.121.151.59 X: )
ความคิดเห็นที่ 9
    คบเงิน
Cleistocactus strausii Backbg. “Silver Torch”

เป็นไม้ลำสูงที่สวยมากต้นหนึ่ง มีถิ่นกำเนิดในอาร์เจนตินาและโลบิเวีย ลำต้นนั้นจะใหญ่ถึง 3-5 ซม. มักจะแตกหน่อที่โคน
สำหรับจำนวนพูกลีบหรือสันซึ่งเป็นเนินสูงมีตุ่มหนามเป็นแนวลงมาจากยอดจนถึงโคนนั้นมีประมาณ 25 กลีบ ปกคลุมด้วยหนามซึ่งเป็นเส้นสีขาวแน่นทึบจนมองแทบไม่เห็นผิวของลำต้น และยังมีหนามสีเหลืองอ่อนซึ่งเป็นหนามกลางพุ่งออกมายาวกว่าที่เป็นขนขาวๆ นั้นด้วย

เมื่อเจริญเติบโตขึ้นสีหนามจะมีสีน้ำตาลแทรกแซมอยู่กับหนามซึ่งเป็นขนขาวๆ ดอกนั้นสีแดงอมม่วง ยาวประมาณ 8-9 ซม. ออกข้างๆ ลำต้น เป็นไม้ที่เลี้ยงง่าย ชอบแดด ชอบน้ำ ขยายพันธุ์โดยตัดชำและเพาะเมล็ด

โดย: cactus-old [27 ม.ค. 56 23:55] ( IP A:124.121.151.59 X: )
ความคิดเห็นที่ 10
    แมมโฉมฉาย
Mammillaria dealbata Dietr.


ไม้ต้นนี้มีถิ่นกำเนิดในเม็กซิโก ลำต้นเป็นหัวกลม เมื่อเติบโตขึ้นจะเป็นลำสูงเล็กน้อย เนินหนามเป็นรูปกรวย หนามกลางสีขาวปลายสีดำหรือน้ำตาลแก่ หนามข้างๆ สีขาวมีประมาณตุ่มหนามละ 20-25 เส้น ออกมาแผ่คลุมต้นซึ่งมีสีผิวสีเขียวอ่อน ทำให้แลดูลำต้นนั้นเป็นสีขาวอมเขียวตัดกับสีดำของหนามกลางซึ่งพุ่งตรงออกมา

ดอกเล็กสีแดงเข้ม ฝักเมล็ดสีแดงเมล็ดสีน้ำตาล ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด

โดย: cactus-old [27 ม.ค. 56 23:56] ( IP A:124.121.151.59 X: )
ความคิดเห็นที่ 11
    สมองเกลียวคลื่น
Echinofossulocactus lloydii Br.& R.


ชื่อสกุลของไม้ต้นนี้ออกจะยาวมากเป็นพิเศษ จึงได้มีผู้ตั้งชื่อใหม่ให้สั้นเข้าหน่อยว่า stenocactus ไม้นี้จึงมีชื่อสกุล 2 ชื่อ และมีผู้นิยมใช้กันอยู่ทั้ง 2 ชื่อ เป็นไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในเม็กซิโก ส่วนมากมีขนาดเล็กเมื่อโตเต็มที่เส้นผ่าศูนย์กลางลำต้นมักจะไม่เกิน 10 ซม. รูปทรงเป็นหัวกลมหรือรูปไข่ ไม่ใคร่มีลูกมีหน่อออกมาแม้เมื่อมีอายุมาก
แต่สำหรับพูกลีบนั้นไม้สกุลนี้มักมีมากกว่าไม้ในสกุลอื่น บางต้นมีเพียง 8-10 กลีบ แต่บางต้นบางชนิด (species) อาจมีถึง 50-100 กลีบ บนพูกลีบแต่ละกลีบอาจมีตุ่มหนามออกมาเพียง 1-2 ตุ่ม

ไม้สกุลนี้มีชื่อสามัญว่า“Brain Cactus” หรือ “ต้นมันสมอง” เพราะกลีบที่มีอยู่มากมายนั้นมีรูปเป็นเส้นโค้งเป็นคลื่น ดังจะเห็นได้ในภาพ ซึ่งมีลักษณะรูปคลื่นมันสมองที่เราเห็นในภาพทางการแพทย์

E.lloydii เมื่อโตเต็มที่ลำต้นอาจกว้างถึง12 ซม. ตุ่มหนามสีน้ำตาล มีขนฟูออกมาเมื่อไม้ยังเล็กอยู่ ดอกสีขาว ขยายพันธุ์โดยเพาะเมล็ด Britton และ Rose นักพฤกษศาสตร์ชาวอเมริกัน บันทึกไว้ว่า นาย F.E Lloyd พบไม้ต้นนี้ที่เมืองซาคาทีดัส ในเม็กซิโก เมื่อ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2451 และมาออกดอกที่กรุงวอชิงตันในปีเดียวกัน

โดย: cactus-old [27 ม.ค. 56 23:58] ( IP A:124.121.151.59 X: )
ความคิดเห็นที่ 12
    นิ้วนางรำ
Leuchtenbergia principis Hooker. “Agave cactus”

ไม้ในสกุล Leuchtenbergia principles ต้นนี้ สำหรับชื่อสกุล Leuchtenbergia นั้นมาจากชื่อของDuke of Leuchtenbergia หลานของนโปเลียนโบนาปาต และคำละติน “principles” นั้นแปลว่า “เจ้า”

มีถิ่นกำเนิดในภาคกลางและภาคเหนือของเม็กซิโก มีรูปร่างผิดแผกไปจากแคคตัสอื่นทั่วๆ ไป เพราะเนินหนามนั้นแทนที่จะออกมาเป็นตุ่มเป็นเนินสูงเหมือนต้นอื่นๆ กลับเป็นก้านสามเหลี่ยมยาว มีหนามออกมาจากตุ่มหนามตรงปลายก้านหรือเนินหนามนั้น

ชื่อสามัญของไม้ต้นนี้ในต่างประเทศคือ “อากาเวแคคตัส” (Agave cactus) เพราะก้านยาวที่พุ่งออกมาจากลำต้นเหมือนใบอากาเวนั่นเอง ทำให้แคคตัสต้นนี้แลดูคล้ายกับอากาเวต้นเล็กๆ

เมื่อยังเล็กอยู่ก้านหรือเนินหนามจะมีสีเขียวอ่อน เมื่อโตขึ้นจะเปลี่ยนเป็นสีเขียวอมเทา เป็นสีน้ำตาลแล้วจะแห้งแข็งเสียไป ส่วนหนามที่ออกมาจากปลายเนินหนามสั้น มีราว 6-10 เส้น คล้ายหนามกระดาษ ออกมาเป็นเส้นหยักๆ หยิกๆ โดยเฉพาะหนามกลางนั้นยาวและตรงกว่าหนามที่อยู่รอบข้าง

ดอกสีเหลือง ออกที่ปลายเนินหนาม เป็นดอกขนาดค่อนข้างใหญ่ มีกลิ่นหอม กว้างประมาณ 5 ซม.

โดย: cactus-old [27 ม.ค. 56 23:59] ( IP A:124.121.151.59 X: )
ความคิดเห็นที่ 13
    ผอบหนามพิกุล
Epithelatha micromris (Egelm) Br.& R. “Button Cactus”


ไม้นี้แต่ละต้นมีขนาด สีหนามและลำต้นผิดแผกกันไปมิได้เหมือนกันไปหมด ที่เป็นต้นเดียวก็มี ที่เป็นกอก็มี มีถิ่นกำเนิดในภาคตะวันตกของรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา และในภาคเหนือของเม็กซิโก

ส่วนยอดของไม้ต้นนี้บุ๋มลงเล็กน้อย เนินหนามเล็กมากสูงประมาณ 1 มม. เท่านั้น หนามสีขาวยาวประมาณ 2 มม. ดอกสีขาวและชมพู ขนาดประมาณ 6 มม. ฝักเมล็ดสีแดงขยายพันธุ์โดยเพาะเมล็ดหรือแยกหน่อไปชำ ดินปลูกควรเติมทรายให้มากหน่อยและรดน้ำให้น้อย

โดย: cactus-old [28 ม.ค. 56] ( IP A:124.121.151.59 X: )
ความคิดเห็นที่ 14
    ยิมโน “แมงมุม”
Gymnocalycium denudatum Pfeiff. Var paraguayensis “spider Cactus”


ไม้ต้นนี้มีถิ่นกำเนิดในปารากวัย ทางต่างประเทศตั้งชื่อสามัญว่า “spider Cactus” หรือ “แคคตัสแมงมุม” เพราะหนามสีน้ำตาลที่ออกมาจากตุ่มหนามซึ่งมีขนปุยขาวคลุมอยู่ด้วยนั้น เป็นหนามที่เป็นเส้นโค้งและแนบไปกับลำต้นแลดูเหมือนตัวแมงมุม ซึ่งมีขาออกมายุ่มย่าม

ลำต้นซึ่งเป็นหัวกลมนั้นผิวเป็นมัน สีเขียวแก่ ดอกสีขาวหรือชมพูอ่อน ควรเลี้ยงไว้ในที่แดดไม่จัดนัก ขยายพันธุ์โดยแยกหน่อหรือเพาะเมล็ด

โดย: cactus-old [28 ม.ค. 56] ( IP A:124.121.151.59 X: )
ความคิดเห็นที่ 15
    ยิมโน “หัวแดง”
Gymnocalycium mihanovichii Br & R var. friedrichii ‘Hiboton’ “Ruby Ball”, “Red Cap”


ไม้ต้นนี้ทางต่างประเทศมีชื่อสามัญว่า “Ruby Ball” และ “Red Cap” ทางเรามักเรียกกันว่า “ ยิมโนหัวแดง” นาย E.Watanabe ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องแคคตัสชาวญี่ปุ่นเป็นผู้ผสมจนได้ต้น Gymnocalycium สีแดงและสีอื่นๆ ขึ้นมา

และต่อมาก็ได้ขยายพันธุ์โดยวิธีตัดต่อได้ไม้เป็นจำนวนล้านๆ ต้น ส่งออกจำหน่ายทั่วโลก สำหรับยิมโนหัวแดงและสีอื่นๆ ส่วนมากจะกลายเป็นสีเหลืองคล้ำๆ ในเวลา 3-4 ปี

ไม้ต้นนี้ควรเลี้ยงไว้ในที่ที่มีแดดไม่จัดนัก เพราะถ้าอยู่กับแดดจัดแล้วสีจะซีด และกลับเป็นสีเหลืองหรือสีน้ำตาลเร็วกว่าเมื่อเลี้ยงไว้ในที่มีแดดรำไร และเพื่อเป็นการขยายพันธุ์ เมื่อไม้ที่เลี้ยงไว้มีลูกเล็กออกมาควรปลิดมาตัดต่อไว้

ตอที่ใช้นั้นควรเป็นตอที่เรียกกันว่า ตอสามเหลี่ยม Hylocereus Undotus หรือ Myrtillocactus geometrizans

โดย: cactus-old [28 ม.ค. 56] ( IP A:124.121.151.59 X: )
ความคิดเห็นที่ 16
    กระดูกเริงระบำ
Hatiora salicornioides (Haw.) Br & R. “Drunkard’s Dream” , “Dancing Bones”


สกุล Hatiora มีอีกชื่อหนึ่งว่า Hariota ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่Thomas Hariot นักพฤกษศาสตร์ชาวอังกฤษ สำหรับ H. salicornioides ต้นนี้ มีถิ่นกำเนิดในบราซิล ทางต่างประเทศให้ชื่อสามัญไว้สองชื่อคือ Drunkard’s Dream” แปลว่า “ฝันของขี้เมา” และ “Dancing Bones” แปลว่า “กระดูกเริงระบำ”

ที่เรียกกันว่า “ฝันของขี้เมา” นั้นผู้ตั้งคงเห็นปล้องของไม้ต้นนี้มีรูปร่างเหมือนขวด เลยยกให้เป็นขวดที่ขี้เมาอาจฝันถึง ส่วนที่เรียกว่า “กระดูกเริงระบำ” นั้นผู้ตั้งชื่อนี้คงเห็นรูปร่างกิ่งก้านสาขาของไม้ต้นนี้เหมือนท่อนกระดูกที่พุ่งไปทางโน้นทางนี้อยู่มากมาย ราวกับจะจับระบำรำฟ้อน

เมื่อพบไม้ต้นนี้ที่เมืองริโอเดอจาเนโร ในบราซิล ใน พ.ศ. 2458 Mr.Rose ได้บันทึกไว้ว่า “ไม้ต้นนี้เกาะอยู่กับลำต้นไม้ใหญ่ รากนั้นออกมายาวเป็นฝอยโอบลำต้นไม้ใหญ่ไว้ ในขั้นแรกนั้นต้นจะพุ่งขึ้นตรงๆ แล้วแผ่กระจายออกและในที่สุดก็จะห้อยย้อยลง ถึงตอนนั้นลำต้นจะยาวถึง 1 เมตรหรือกว่านั้น แตกกิ่งก้านสาขามากมาย ดอกสีเหลือง เล็ก”

ไม้ต้นนี้เหมาะสำหรับเลี้ยงไว้ในกระถางแขวน ขยายพันธุ์ได้ง่าย โดยตัดกิ่งไปชำ

โดย: cactus-old [28 ม.ค. 56] ( IP A:124.121.151.59 X: )
ความคิดเห็นที่ 17
    แมม “ไฉไล”
Mammillaria guelzowiana Werd.


Mammillaria ต้นนี้เป็นไม้ที่สวยน่ารักต้นหนึ่ง ดอกสีแดงนั้นมีขนาดใหญ่ถึง 5-6 ซม. จัดว่าใหญ่มากสำหรับไม้ในสกุล Mammillaria และอาจเป็นเพราะเหตุนี้ Backeberg นักพฤกษศาสตร์ชาวเยอรมันจึงย้ายไม้ต้นนี้จากสกุล Mammillaria มาไวในสกุล Krainzia ซึ่งเขาตั้งขึ้นมาใหม่ ไม้ต้นนี้จึงมีชื่อว่า Krainzia guelzowiana ด้วย

ขนสีขาว ซึ่งออกมาจากตุ่มหนามเป็นจำนวนมาก เป็นขนเส้นละเอียดอ่อน ออกมาเป็นฝอย แซมด้วยหนามกลางสีเหลืองหรือเหลืองอมน้ำตาล ปลายงอเป็นขอ เป็นไม้ที่ชอบแดดชอบน้ำ ขยายพันธุ์โดยเพาะเมล็ดและแยกหน่อมาชำ

โดย: cactus-old [28 ม.ค. 56] ( IP A:124.121.151.59 X: )
ความคิดเห็นที่ 18
    กรามเสือ
Faucaria tigrina (Haw.) Schwant. “Tiger’s Jaw” Ruschiodeae


ไม้ต้นนี้มีถิ่นกำเนิดที่เคพโพรวิ้นส์ในแอฟริกาใต้ ต้นสีเขียวอ่อนมีจุดขาวๆ บนกลีบหรือใบซึ่งออกมาซ้อนๆ กันเป็นคู่ๆ ตรงกันข้ามกัน กลีบนั้นตอนปลายแหลมงุ้ม ด้านในเป็นร่องโค้ง ขอบหยักมีฟันเป็นขนเส้นยาวเรียวออกมา กลีบคู่ที่อยู่ข้างในสุดหรือตรงกลางต้น แลดูเหมือนกับปากเสือ หรือเสือกำลังอ้าปาก

เป็นไม้ที่ชอบแดดชอบน้ำ เมื่อเลี้ยงไว้ในแดดกลีบจะมีสีเขียวอมแดง ขยายพันธ์ด้วยการเพาะเมล็ด

โดย: cactus-old [28 ม.ค. 56] ( IP A:124.121.151.59 X: )
ความคิดเห็นที่ 19
    ลิ้นวัว Liliaceae
Gasteria aenstrongii Schoenl
.

ไม้ต้นนี้มีถิ่นกำเนิดที่เคพโพรวิ้นส์ในแอฟริกาใต้ ไม้ในสกุล Gasteria นี้ ทางไทยเราเรียกกันว่า “ลิ้น” เพราะบางต้นมีใบออกมารูปร่างคล้ายลิ้น ทางต่างประเทศก็มีชื่อสามัญสำหรับไม้ในสกุลนี้ว่า “Ox’s Tongue” หรือ “ลิ้นวัว” สำหรับต้น G.armstrongii นี้เองก็มีใบรูปร่างคล้ายลิ้นหนาๆ ผิวสีเขียวแก่ออกมาเป็นคู่อยู่ตรงกันข้ามกัน ดังจะเห็นในภาพ สำหรับใบอ่อนที่ออกใหม่นั้นจะพุ่งตรงขึ้นมา ภายหลังจึงเอนแนบลงไปบนใบที่ออกมาก่อน ดอกของ “ลิ้น” ต้นนี้เป็นดอกเล็กๆ สีแดง ออกที่ก้านซึ่งพุ่งขึ้นจากยอดสูง 30 ซม. เศษ

“ลิ้น” ต้นนี้ควรเลี้ยงในที่ๆ แดดรำไร และดินควรผสมปุ๋ยหมักมากสักหน่อย ขยายพันธุ์โดยเพาะเมล็ด

โดย: cactus-old [28 ม.ค. 56] ( IP A:124.121.151.59 X: )
ความคิดเห็นที่ 20
    สลัดไดแล็คเทีย “ยอดพัด”
Euphorbia lacteal var.cristata Hort. Euphorbiaceae


ไม้ต้นนี้เป็นไม้ที่กลายพันธุ์ แทนที่จะเติบโตขึ้นเป็นลำสูงตามปกติ กลับมีลักษณะเป็นแผ่นแบนเป็นรูปพัดหรือหงอน เช่นเดียวกับในกรณีของต้น Monvillea spegazzinii f. cristata ซึ่งกลายพันธุ์ เปลี่ยนรูปร่างจากต้นสี่เหลี่ยมไปเป็นแผ่นแบนรูปพัด หรือคล้ายหงอนไก่

สำหรับต้น E.lactea ที่มิได้กลายพันธุ์นั้น ต้นเป็นลำสามเหลี่ยมและสี่เหลี่ยม บนกลีบมีหนามสั้นๆ ผิวสีเขียวแก่ รูปร่างเหมือนกับกิ่งของต้น

เมื่อเติบโตขึ้นไม้ต้นนี้จะแตกกิ่งก้านออกมา ขยายพันธุ์ได้ง่ายโดยตัดกิ่งไปชำ

โดย: cactus-old [28 ม.ค. 56] ( IP A:124.121.151.59 X: )
ความคิดเห็นที่ 21
    ม้าเวียน Liliaceae
Haworthia limifolia Marl.


“ม้าเวียน” ต้นนี้รูปของกลีบหรือใบผิดแผกไปจากกลีบของ “ม้าลาย” ซึ่งเป็นกลีบที่มีรูปเรียวยาว แต่สำหรับ “ม้าเวียน” นั้นมีกลีบเป็นรูปสามเหลี่ยม ตอนปลายเรียวแหลม ออกมาเวียนซ้อนๆกันอยู่ ผิวสีเขียวแก่ ทั้งด้านบนและด้านล่างของกลีบ มีร่องเล็กๆ ติดชิดกันเป็นแถวดังจะเห็นในภาพ สำหรับดอกนั้นอยู่บนก้าน ซึ่งออกมาจากซอกกลีบที่ยอดต้น เป็นดอกขาวเล็กๆ

“ม้า” ต้นนี้เมื่อโตขึ้นโดยเลี้ยงไว้ในกระถาง จะมีลูกมีหน่อออกมาริมๆ กระถาง แทนที่จะออกมาที่โคนต้นเหมือน “ม้า” ต้นอื่นๆ ช่วยให้สะดวกในการขยายพันธุ์โดยเอาลูกไปชำ

“ม้าเวียน” มีถิ่นกำเนิดในเคพโพรวิ้นส์แอฟริกาใต้ ควรเลี้ยงไว้ในที่ที่มีแสงรำไร

โดย: cactus-old [28 ม.ค. 56] ( IP A:124.121.151.59 X: )
ความคิดเห็นที่ 22
   เรื่องราวที่บันทึกไว้ก็มีเพียงเท่านี้ ครับ

ผม (cactus-old) เข้าใจว่า ไม้ที่ตั้งชื่อเป็นภาษาไทยแบบนี้คงมีอีกหลายชนิด มีข้อสังเกตว่าสมัยก่อนการตั้งชื่อมักจะดูจากลักษณะของต้นไม้จริงๆว่าดูคล้ายอะไรแล้วจึงตั้งชื่อให้พ้องโดยเลือกใช้ถ้อยคำที่สละสลวย สมัยนี้ไม่มีอย่างนี้แล้ว นิยมเรียกทับศัพท์ไปทั้งหมดหรือเกือบหมด ถึงแม้จะมีชื่อไทยใหม่ๆก็ยังไม่เพราะพริ้งเท่าภาษาสมัยก่อน

มีรูปเก่าๆบางรูปอยากนำมาลงให้ดูครับ

โดย: cactus-old [28 ม.ค. 56] ( IP A:124.121.121.199 X: )
ความคิดเห็นที่ 23
   อีกภาพครับ

โดย: cactus-old [28 ม.ค. 56] ( IP A:124.121.121.199 X: )
ความคิดเห็นที่ 24
   ซ้ายสุดคือคุณเปี๊ยก (อ.ทัศน์ วสุธาร)

โดย: cactus-old [28 ม.ค. 56] ( IP A:124.121.121.199 X: )
ความคิดเห็นที่ 25
   ขอปิดท้ายด้วยภาพนี้ครับ

ตลอดเวลาที่ผมตั้งใจถ่ายทอดเรื่องราวที่เป็นตำนานนี้ รู้สึกขอบคุณท่านทุกครั้งที่ได้ทิ้งมรดกทางความรู้อันล้ำค่าไว้ให้พวกเราได้เรียนรู้และใช้เป็นแนวทางในการเลี้ยงแคคตัส ถือว่าท่านเป็นครูผู้ยิ่งใหญ่จริงๆเพราะท่านไม่ได้ละโลกนี้ไปแต่ตัว ท่านคู่ควรแล้วกับคำว่า "ราชาแคคตัส" จริงๆครับ

โดย: cactus-old [28 ม.ค. 56] ( IP A:124.121.121.199 X: )
ความคิดเห็นที่ 26
   โปรดคอยติดตาม ราชาแคคตัสท่านต่อไปเร็วๆนี้นะครับ
ผมจะทยอยนำมาลงให้ได้อ่านในโอกาสต่อไปครับ

ขอบคุณพี่น้องทุกท่านที่ติดตามครับ

โดย: cactus-old [28 ม.ค. 56] ( IP A:124.121.121.199 X: )
ความคิดเห็นที่ 27
   รอดูครับบบ ;)))
โดย: aimuk [28 ม.ค. 56 10:11] ( IP A:161.200.118.51 X: )
ความคิดเห็นที่ 28
   ได้ความรู้มากครับ
โดย: robertocavalee@hotmail.com [7 เม.ย. 56 9:56] ( IP A:202.28.78.14 X: )
คลิก เพื่อเปลี่ยนกลับไปแสดงความคิดเห็นแบบเดิม

ชื่อไฟล์รูปห้ามมีอักขระพิเศษ เช่น (#),(<),(>),(&) เป็นต้นค่ะ
ชื่อ / e-mail :    แทรกไอคอนน่ารักๆในข้อความ
e-mail :
ส่งอีเมลทุกครั้งที่มีการตอบกระทู้       (ใส่ Email เมื่อต้องการให้ส่ง Email เมื่อมีคนมาโพสในกระทู้)


CAPTCHA code



คลิกที่นี่เพื่อกลับหน้าบ้าน