ความคิดเห็นที่ 1 จากงานวิจัยของ ม.ขอนแก่น นะครับ
การทดลองนี้ได้ทำการทดลองที่ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตรศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่นโดยเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม 2536 ถึงเดือนตุลาคม 2539 เพื่อศึกษาอิทธิพลของแร่ธาตุอาหาร น้ำตาล และสารควบคุมการเจริญเติบโต ที่มีผลต่อการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ และการสกัดน้ำมันหอมระเหยของมะลิลาในสภาพปลอดเชื้อ ใช้แผนการทดลองแบบ Factorial in CRD จำนวน 5 ซ้ำ โดยแบ่งการทดลองออกเป็น 4 ส่วน คือ 1) อิทธิพลของแร่ธาตุอาหารร่วมกับน้ำตาล 2) อิทธิพลของสารควบคุมการเจริญเติบโต 3) อิทธิพลของแร่ธาตุอาหารร่วมกับน้ำตาล และสารควบคุมการเจริญเติบโต 4) สารสกัดน้ำมันหอมระเหย ผลการทดลองพบว่า สูตรอาหาร MS ที่เติมน้ำตาลซูโครสและกาแลคโตส 10 กรัมต่อลิตร เนื้อเยื่อกิ่งสามารถจะพัฒนาให้เกิดยอดได้ 10 และ 9 ยอด ตามลำดับ สำหรับอิทธิพลของสารควบคุมการเจริญเติบโต สูตรอาหาร MS ที่เติม Kinetin ความเข้มข้น 20 มิลลิกรัมต่อลิตร ร่วมกับ IAA ความเข้มข้น 0.1 มิลลิกรัมต่อลิตร จะชักนำให้กิ่งมะลิลาเกิดยอดได้ 6 ยอด และสูตรอาหาร MS ที่เติม Kinetin ความเข้มข้น 3 มิลลิกรัมต่อลิตร ร่วมกับ 2,4-D ความเข้มข้น 3 มิลลิกรัมต่อลิตร จะพัฒนาให้แคลลัสมะลิลาเพิ่มน้ำหนักได้ดีที่สุด (2.87 กรัม) ส่วนการศึกษาอิทธิพลของแร่ธาตุอาหารร่วมกับน้ำตาล และสารควบคุมการเจริญเติบโต พบว่าสูตรอาหาร MS ที่เติมน้ำตาลซูโครส 10 กรัมต่อลิตร และไม่มีสารควบคุมการเจริญเติบโตร่วมด้วย จะสามารถพัฒนากิ่งให้เกิดยอดได้ดีที่สุด (10 ยอด) สูตรอาหาร MS ดัดแปลงที่ไม่มีแอมโมเนียมไนเตรทที่เติมน้ำตาลซูโครส 10 กรัมต่อลิตร ร่วมกับ BA ความเข้มข้น 5 มิลลิกรัมต่อลิตร และสูตรอาหาร MS ที่เติมน้ำตาลซูโครส 60 กรัมต่อลิตร ร่วมกับ BA ความเข้มข้น 3 มิลลิกรัมต่อลิตร จะชักนำให้แคลลัสมะลิลาเพิ่มน้ำหนักได้ดี (0.9 และ 0.9 กรัมตามลำดับ) |