ความคิดเห็นที่ 1 ฟังลูก..ด้วยหัวใจ สังเกตสัญญาณ ..ขอความช่วยเหลือจาก...ลูก ช่วยลูกแก้ปัญหา.....อย่างถูกวิธี
เมื่อลูกพบปัญหาและอุปสรรคใด ๆ ก็ตาม แม่ต้องเป็นหลักใจให้ลูกได้ยึด เมื่อความรู้สึกของลูกล้มเหลว..แม่ต้องเป็คนกอบเกื้อเอื้อหนุนให้ลูกยืนขึ้นมาให้ได้
ถ้าลูกปกป้องตัวเองไม่ได้..แม่ต้องชี้แนะแนว แล้วให้ลูกลองลุกขึ้นมาปกป้องตนเองก่อน ต่อเมื่อไม่ได้จริง ๆ แม่นั่นแหละที่จะเข้าไปจับมือลูก ให้ลงมือทำไปพร้อม ๆ กัน จนกว่าความมั่นใจของลูกจะกลับฟื้นคืนมา
_______________________
ลูกเป็นเด็กหลังห้อง แม่ที่น่ารักท่านหนึ่งปรึกษาว่า ลูกชายอายุ 6 ขวบกว่า เรียนอยู่ชั้น ป.1 ตอนเปิดภาคเรียนลูกนั่งเรียนอยู่กลางห้อง แต่เพราะลูกไปตีเพื่อน จึงถูกย้ายกลายเป็นเด็กหลังห้องมาโดยตลอด แม่ไม่อยากมีเรื่องราวจึงปล่อยไปเพราะคิดว่านั่งตรงไหนก็ได้..ไม่เป็นไร
แต่ที่เป็นปัญหา คือ.. ลูกไม่ยอมเขียน ไม่ยอมจดข้อความที่ครูเขียนบนกระดาน ทำงานที่ครูมอบหมายเสร็จหลังเพื่อนทุกครั้ง บางครั้งนั่งทำงานจนข้ามคาบเรียนไปวิชาอื่น ครูมาจี้พร้อมบอกว่าถ้าไม่ทำงานที่ครูสั่ง จะให้กลับไปเรียนอนุบาล 3 ลูกจึงทำยอมทำจนเสร็จ..เป็นอย่างนี้ประจำ
ตอนนี้..ลูกกลายเป็นคนผิดประจำห้อง บางครั้งเล่นกับเพื่อน ด้วยความซน ก็อาจมีกระทบกระทั่งเพื่อนบ้าง ตอนเย็นไปรับลูก จะมีเพื่อน ๆ ของลูกมาฟ้องแม่ประจำว่า ลูกทำเพื่อนคนนี้บ้าง คนโน้น
ครูเล่าให้ฟังว่า.. เวลาอยู่ในห้องลูกจะชอบนั่งเหลาดินสอ หรือหั่นยางลบเป็นประจำ จนทำให้แม่เครียด เพราะตอนนี้ลูกกลายเป็นตัวตลกของห้องไปแล้ว..สงสารลูกมาก ตอนนี้กลุ้มมากเลย
แต่ตอนอยู่บ้าน ลูกชอบอ่านหนังสือ..อ่านได้ เขียนได้ พอแม่อ่านหนังสือนิทานลูกจะวิ่งเข้ามาหาทันที ให้เล่นเกมพวกเชาว์ปัญญา วาดรูประบายสีลูกก็จะนั่งได้เป็นชั่งโมงเลย บางครั้งจะมาขอเล่นเองด้วย ลูกชอบภาษาอังกฤษมาก..ดูแล้วไม่น่าจะเป็นเด็กสมาธิสั้น
เรื่องนี้..คนที่น่าเห็นใจที่สุด คือ ลูกชาย ลูกกำลังส่งสัญญาณว่า ขอที่คืน การที่ลูกเคยเป็นเด็กกลางห้อง แต่ต้องกลายเป็นเด็กหลังห้อง..ลูกไม่เข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้นหรอก อย่าลืมนะว่าลูกอายุแค่ 6 ปีเท่านั้น..จะให้มาเข้าใจอย่างที่ผู้ใหญ่เข้าใจ..ไม่ได้
เรื่องนี้ลูกยังเล็กจึงดูแล และปกป้องตัวเองไม่ได้ แม่ต้องเป็นคนดูแลและปกป้องลูก แต่ต้องทำอย่างไม่เสียกิริยา..เรียกร้องอย่างพอเหมาะ พอควร..ด้วยเหตุ ด้วยผล ที่สำคัญ คือ จะทำอะไรก็ตาม ต้องทำอย่างพ้นจากอารมณ์ขุ่น ปราศจากอารมณ์เคือง
เด็กทุกคนอยากเป็น เด็กในสายตา ทั้งนั้น ไม่ว่าจะในสายตาครู หรือสายตาพ่อแม่ ยิ่งเด็กวัยประถม..อายุ 6 - 12 ปีนี่นะ รักครู มาก ๆ ครูให้ทำอะไร เด็กแทบจะถวายหัวทำให้ เพียงเพื่อเอาอกเอาใจครู อยากเป็นคนที่ครูรัก อยากเป็น เด็กในสายตาครู .. การที่ครูให้เด็กไปอยู่หลังห้อง จึงเป็นการทำร้ายเด็กอย่างรุนแรงโดยที่ครูไม่รู้ตัว
จริง ๆ แล้ว.. ครูควรเป็น ผู้จัดการห้องเรียน เป็นคนดูแลกฏกติกาของห้องเรียน เป็นคนที่ต้องอบรมบ่มสอนเด็ก เมื่อเด็กทำผิดคิดพลาด ครูต้องสอนด้วยท่าทีที่สุภาพ อย่างเข้าอกเข้าใจ ให้โอกาสและอยู่ข้างเด็กทุกคน ไม่ใช่ไล่เด็กที่ทำผิดคิดพลาดให้ไปไกล ๆ ตัว
นี่คือจุดที่น่าห่วงใยครูไทยทั่วประเทศ เด็กเรียนดี เด็กเรียบร้อยมักเป็น เด็กในสายตา ของครูตลอดมา เพราะครูส่วนใหญ่ รักเด็กที่เรียนดี รักเด็กที่เรียบร้อย..อยากสอนแต่เด็กเก่ง ๆ ที่มีทุนทางชีวิตดีอยู่แล้ว ซึ่งเด็กกลุ่มนี้ ครูไม่จำเป็นต้องพะเน้าพนอมาก..เพียงให้ความสนใจในระยะที่พอสมควร เด็กกลุ่มนี้ก็ไปได้ เรียนได้ และเรียนดีแล้ว เพราะมีความพร้อมเป็นพื้น และครูส่วนใหญ่นี่แหละ มักปฏิเสธที่จะสอนเด็กเรียนช้า เด็กที่มีปัญหาพฤติกรรม เมื่อปฏิเสธแล้วก็เลยดูแลอย่างห่างเหินเมินหมาง ทั้ง ๆ ที่ควรจะดูแลอย่างใกล้ชิด ดูแลอย่างละเอียดถี่ถ้วนด้วยความเมตตา อย่างรักใคร่ ด้วยความใยดี ทำทุกวิถีทางในเชิงบวก ให้เด็กที่ทีความพร่อง ให้มีความพร้อม เพื่อที่จะสร้างทุนทางชีวิตให้เด็กมมากขึ้น และให้ดีพอ ๆ กับเด็กกลุ่มที่เก่ง กลุ่มที่ดี เด็กที่ถูกหมายหัวว่า เรียนไม่ดี เกเร ขี้เกียจ และพฤติกรรมไม่ดีในสายตาครูจึงเป็น เด็กนอกสายตาของครูตลอดมา..
แม่คงต้องขอพบและพูดคุยกับครู ว่า.. 1. ขอที่คืนให้ลูกเถิด..อย่าทำร้ายเด็กอย่างนี้เลย ลูกส่งสัญญาณมานานแล้วว่า ไม่ยอมรับการสูญเสีย ที่นั่งของตน สัญญาณที่ชัดเจนแสดงออกผ่านพฤติกรรมที่ ไม่ธรรมดา เช่น ไม่ยอมเขียน ไม่ยอมจดข้อความที่ครูเขียนบนกระดาน ทำงานที่ครูมอบหมายเสร็จหลังเพื่อน ทำงานช้า ชอบนั่งเหลาดินสอ หรือหั่นยางลบ
เรื่องอย่างนี้.. ครูแก้ไขได้โดยให้เด็กอยู่ใกล้ ๆ ตัว ไม่ใช่ผลักเด็กออกจากอก ครูต้องให้เด็กอยู่ในสายตา ให้เด็กมาเป็นผู้ช่วยหยิบนั่น ทำนี่ ดูแลเพื่อน ๆ ในบางเรื่อง..หรือทำอะไรก็ได้ที่ต้องอยู่ใกล้ ๆ ครู
เมื่อเด็กได้ที่นั่งคืน ได้ใกล้ชิดครู ได้ช่วยเหลือครู ได้ดูแลเพื่อนและกลับมาเป็น เด็กในสายตาครู เด็กจะดีขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์
2.ขอร้องครูอย่าขู่เด็กเป็นอันขาด ลองนึกดูดี ๆ นะว่า ถ้าคนที่เราไม่รู้จักมาบอกให้เราไปห่าง ๆ เราอาจจะแปล๊บ ๆ ที่ความรู้สึก แล้วก็จางคลายหายไป เพราะคน ๆ นั้นมีค่าเพียง คนที่ไม่รู้จัก แต่ถ้าคนที่เรารัก มาไล่ให้เราไปห่าง ๆ นี้ มันสุดแสนจะเจ็บปวดนะ เจ็บปวดมากด้วย เพราะเขามีค่าแห่งการเป็น คนที่รัก
ส่วนเรื่องแก้ไขพฤติกรรมที่เล่นกับเพื่อนแรงไปนั้น เชื่อว่า เมื่อเด็กกลับมาเป็นคนในสายตาครูเมื่อไหร่..เมื่อนั้นพฤติกรรมนี้จะค่อย ๆ ลดลงและหายไป โดยที่ครูต้องสร้างกติกาว่า เล่นกับเพื่อนได้..แต่ต้องทำตามกติกา 3 ข้อ คือ 1.การเล่นนั้นต้องไม่ทำร้ายตัวเอง..ไม่ทำให้ตัวเองได้รับความเจ็บปวดหรือเสียหาย 2.การเล่นนั้นต้องไม่ทำร้ายคนอื่น..ไม่ทำให้คนอื่นได้รับความเจ็บปวดหรือเสียหาย 3.การเล่นนั้นต้องไม่ทำร้ายสิ่งของ..ไม่ทำให้สิ่งของได้รับความเสียหาย
ที่สำคัญที่สุด คือ.. ต้องรีบดึงพฤติกรรมของลูกออกจากการนั่งเหลาดินสอ หรือหั่นยางลบโดยเร็ว..อย่าให้ลูกอยู่ในภาวะอย่างนี้นาน ๆ ..มันไม่ดี
พฤติกรรมอย่างนี้ แสดงให้เห็นว่า ลูกกำลังเครียด ซึ่งความเครียดนอกจากจะทำให้สมองเด็กเรียนรู้ช้าหรือเรียนรู้ไม่ได้แล้ว ยังทำร้ายจิตใจ และการสนใจใฝ่รู้ของเด็กอย่างรุนแรง แม่ต้องบอกให้ครูเบี่ยงเบน ดึงความสนใจของเด็กออกมาให้ได้ ให้ทำกิจกรรมใด ๆ ก็ได้ที่ไม่ทำให้ลูกต้องมานั่งเจ่าจุก..เครียดและเคว้งคว้างทางความรู้สึก อยู่อย่างนี้
ขอย้ำว่า.. เด็กวัยนี้ รักครู มาก ดังนั้นครูจึงต้องใช้ความรักมาแก้ปัญหา ไม่ใช่ตำหนิ กล่าวโทษ หรือบ่นก่นว่าเด็ก เพราะจะยิ่งทำให้เด็กรู้สึกผิด..จึงแสดงออกด้วยการไม่ทำอะไรเลย..อย่างนี้ไง
แม่สอนเสมอว่า.. เมื่อลูกพบปัญหาและอุปสรรคใด ๆ ก็ตาม แม่ต้องเป็นหลักใจให้ลูกได้ยึด เมื่อความรู้สึกของลูกล้มเหลว..แม่ต้องเป็คนกอบเกื้อเอื้อหนุนให้ลูกยืนขึ้นมาให้ได้
ถ้าลูกปกป้องตัวเองไม่ได้..แม่ต้องชี้แนะแนว แล้วให้ลูกลองลุกขึ้นมาปกป้องตนเองก่อน ต่อเมื่อไม่ได้จริง ๆ แม่นั่นแหละที่จะเข้าไปจับมือลูก ให้ลงมือทำไปพร้อม ๆ กัน จนกว่าความมั่นใจของลูกจะกลับฟื้นคืนมา
แม่สอนลูกจึงรู้ แม่ทำให้ดูลูกจึงเห็น..แล้วทำด้วยตัวเองเป็นอย่างคำแม่สอนสั่งให้อยู่อย่างมีความสุข รักแม่เป็นที่สุด
| โดย: เจ้าบ้าน [16 ต.ค. 56 1:34] ( IP A:115.87.164.117 X: ) |  |
|