ชมที่พฤติกรรม ไม่ใช่ชมที่ตัวบุคคล..
   ชมที่พฤติกรรม ไม่ใช่ชมที่ตัวบุคคล..
ชมตามเรื่องจริง..ไม่ใช่พร่ำเพรื่อชม..
สอนลูกให้รู้จักการล้ม แล้วลุกใหม่ ความพยายาม ความมุ่งมั่น.. ที่จะฟันฝ่าอุปสรรค

ความสำเร็จ..อยู่ไม่ไกล..แน่นอน
______________

ชมว่าลูกเก่งดีไหม?

วันนี้หลานสาวของผมได้รับรางวัลเป็นกระดาษเขียนคำชมจากครูว่า

"ฉลาดที่สุดของสัปดาห์นี้"

คำถามที่น่าสนใจคือ การชมเช่นนี้ เป็นผลดีกับเด็กในระยะยาวหรือไม่? หรือว่าอาจจะเป็นผลเสียกันแน่?
ผมเดาว่าเหตุผลหนึ่งที่อยู่เบื้องหลังการชมเด็กว่าเก่งนั้น คือ
เชื่อว่าการชมจะทำให้เด็กมั่นใจในตัวเองและกล้าหรือชอบที่จะทำสิ่งนั้นมากขึ้น
เมื่อทำสิ่งนั้นบ่อยขึ้นแล้วก็จะทำมันได้ดี
แต่มันเป็นอย่างนั้นจริงๆหรือ?

ก่อนที่จะตอบคำถามนั้นนะครับ เราคงต้องมาถามตัวเองกันก่อนว่าการที่เด็กคนหนึ่งจะโตขึ้นไปเป็นผู้ใหญ่ที่ ประสบความสำเร็จนั้นมีอะไรบ้าง?

คำถามนี้เป็นคำถามที่กว้างและคำตอบก็ซับซ้อน
แต่ปัจจัยสำคัญปัจจัยสองปัจจัยที่โดดเด่นออกมาจากงานวิจัยคือ
หนึ่ง ความสามารถในการควบคุมตัวเอง (วินัยต่อตัวเอง) และ
สอง ความพยายามอย่างไม่ลดละ

หัวข้อของเราในวันนี้จะเกี่ยวข้องกับ ปัจจัยที่สองคือ ความพยายามอย่างไม่ลดละ

ความพยายามอย่างไม่ลดละในทีนี้ จะหมายถึงการที่เด็กกล้าลองผิดลองถูก ไม่กลัวความล้มเหลว
ผิดพลาดล้มเหลวแล้วก็ลุกขึ้นใหม่ เรียนรู้จากความผิดพลาดเดิม ทำใหม่ พยายามใหม่
ตลอดหลายปีที่เด็กเติบโต เด็กก็จะเรียนรู้จากความผิดพลาดได้มากและเร็ว
กล้าที่จะทำสิ่งที่คนอื่นไม่เคยลองมาก่อน ทำให้พบสิ่งที่คนอื่นไม่เคยรู้หรือทำมาก่อน
คนที่มีลักษณะเช่นนี้จะมีโอกาสประสบความสำเร็จในชีวิตมากกว่า

คำถามคือ เราจะสร้างลักษณะเช่นนี้ให้เกิดขึ้นมาในเด็กได้อย่างไร? ชมว่าเก่งจะช่วยไหม?

จากงานวิจัยพบว่า วิธีที่ดีที่สุดคือ ชมที่ความพยายาม ไม่ใช่ ชมความเก่ง
การชมของผู้ใหญ่ในมุมมองของเด็กจะหมายถึงความสำเร็จ ถ้าทำให้ผู้ใหญ่ชมได้ นั่นคือความสำเร็จ

เมื่อผู้ใหญ่ชมเด็กว่า หนูเก่งมาก หนูเก่งที่สุด หนูเก่งกว่าคนอื่น แม่มั่นใจว่าลูกทำได้เพราะลูกแม่เก่งที่สุด
แม่ภูมิใจที่ลูกสอบได้เกรด 4 แม่รู้ว่าลูกแม่เก่ง ขนาดไม่พยายามลูกยังทำได้เลย ฯลฯ

สิ่งที่เกิดขึ้นโดยไม่ตั้งใจคือ แม่จะบอกลูกว่าที่ลูกสอบได้ ที่ลูกทำสำเร็จนั้น เกิดขึ้นจากความสามารถภายในของลูก
ลูกเก่งลูกจึงทำได้ แม่ภูมิใจเพราะลูกเก่ง(จากภายใน) แม่รักเพราะความเป็นคนเก่ง (จากภายใน) ของลูก
ยิ่งถ้าชมว่า ลูกไม่ต้องพยายามมากยังทำได้เลย ลูกก็จะยิ่งผูกความสำเร็จไว้กับความเก่งจากภายในของตัวเอง

ในช่วงเล็กๆอาจจะไม่มีปัญหาอะไร เพราะสังคมของเด็กยังเล็ก ยังไม่เจอคนมาก วิชาก็อาจจะยังไม่ยากมาก
แต่เมื่อโตขึ้น สังคมใหญ่ขึ้น เจอคนเก่งมากขึ้น วิชายากขึ้น
เด็กที่เคย "ไม่ต้องพยายามมากก็ทำได้" จะเริ่มเกิดปัญหา เพราะวิชาของผู้ใหญ่มักต้องใช้ความพยายาม

ผู้ใหญ่อย่างเรารู้ดีว่า ในชีวิตจริงเรารู้ว่า การผิดพลาด การล้มเป็นเรื่องธรรมชาติ ไม่มีใครสามารถชนะได้ตลอด
แต่เด็กที่ผูกความสำเร็จไว้กับความสามารถภายใน ผูกไว้กับความเป็นตัวตน เมื่อใดที่เขาล้มมันจะหมายถึงว่า "ฉันไม่เก่ง"
หรืออาจพาลไปถึง แม่รักเพราะฉันเก่ง ฉันล้มคือฉันไม่เก่งแล้ว ฉันทำให้แม่หมดความภูมิใจ แม่ไม่รักฉันแล้ว
หรือถ้าผูกทุกอย่างไว้ที่ความสำเร็จมากเกินไป อาจลามไปถึงขั้นฆ่าตัวตายเพราะเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้

เมื่อเด็กผูกความสำเร็จไว้กับความเก่ง เด็กจะไม่กล้าทำอะไรที่ยาก ไม่กล้าทำอะไรที่ใหม่ เพราะเสี่ยงที่จะกลายเป็น "คนไม่เก่ง"
เมื่อไม่กล้าทำของยาก ไม่กล้าทำของใหม่ ไม่กล้าทำในสิ่งที่ไม่รู้ การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆจึงเกิดขึ้นได้ช้าหรือไม่เกิดขึ้น

ในทางตรงกันข้าม การที่เราชมเด็กที่ความขยัน เช่น ลูกทำได้เพราะลูกพยายามมากกว่าคนอื่น เพราะลูกขยัน
เด็กจะเรียนรู้ที่จะผูกความสำเร็จไว้กับความขยัน ยิ่งขยันยิ่งทำได้ดี ฉันสำเร็จเพราะฉันขยัน
ถ้าอยากได้ความสำเร็จก็ต้องขยันมากกว่านี้ เรียนรู้มากกว่านี้
เด็กจะไม่กลัวความผิดพลาด ไม่กลัวล้ม การล้มไม่ได้แปลว่าไม่เก่ง แต่แปลว่าพยายามไม่พอ ต้องพยายามากกว่านี้
เด็กจะมีทัศนคติที่ดีต่อการล้ม นั่นคือ การล้มเป็นโอกาสที่จะได้เรียนของใหม่ เป็นโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในระดับถัดไป

ดังนั้น เรามาชมลูกหลานว่าขยันกันนะครับ ชื่นชมความพยายามไม่ใช่ความเก่ง
สอนให้ลูกหลานสนุกกับการล้มแล้วลุกใหม่
อย่าสอนให้แข่งกับคนอื่น (เหนือฟ้ายังมีฟ้า) เพราะมีโอกาสที่วันนึงไปเจอคนเก่งแล้วทำให้รู้สึกว่าตัวเองไม่เก่ง
แต่สอนให้แข่งกับตัวเอง ทำตัวเองให้เก่งกว่าเมื่อวาน

เพราะสุดท้ายแล้ว เต่าที่เดินหน้าอย่างต่อเนื่องก็ยังชนะกระต่ายที่วิ่งแล้วหยุดอยู่ดี
จริงไหมครับ?






โดย: เจ้าบ้าน [16 ต.ค. 56 1:33] ( IP A:115.87.164.117 X: )
Add to Facebook  Add to Twitter  Add to Multiply  Add to Google  Add to Blogger  Add to Live
คลิก เพื่อเปลี่ยนกลับไปแสดงความคิดเห็นแบบเดิม

ชื่อไฟล์รูปห้ามมีอักขระพิเศษ เช่น (#),(<),(>),(&) เป็นต้นค่ะ
ชื่อ / e-mail :    แทรกไอคอนน่ารักๆในข้อความ
e-mail :
ส่งอีเมลทุกครั้งที่มีการตอบกระทู้       (ใส่ Email เมื่อต้องการให้ส่ง Email เมื่อมีคนมาโพสในกระทู้)


CAPTCHA code



คลิกที่นี่เพื่อกลับหน้าบ้าน