onninn.pantown.com
บทความดีๆ <<
กลับไปหน้าแรก
#สอนลูกให้โกรธเป็น
#สอนลูกให้โกรธเป็น
หลังจากเมื่อวานไปเจอบทความเกี่ยวข้องกับความโกรธ(ใครยังไม่ได้อ่าน ขอแนะนำให้ไปอ่านด้วยนะคะ ดีมากๆค่ะ) เลยได้ไอเดียว่าน่าจะเขียนเรื่องเกี่ยวกับการจัดการอารมณ์โกรธ เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่ลองนำไปใช้กับลูกๆดู
ความโกรธนั้นเป็นอารมณ์ธรรมชาติค่ะ หมายความว่า เป็นของธรรมดา เกิดโดยอัตโนมัติ บังคับกันไม่ได้ แต่สิ่งที่หมอเห็นบ่อยๆในการทำงานก็คือ ผู้ดูแลมักบอกเด็กๆว่าห้ามโกรธ ห้ามโมโห (บางคนมีแถม..ถ้าไม่หยุดโมโห แม่จะตี 555..ตกลงใครโมโหกันแน่นะ??)
ซึ่งหัวใจสำคัญของการจัดการความโกรธนั้น คือ เราไม่ได้ห้ามความโกรธนะคะ แต่เราต้องสอนให้ลูกควบคุมมัน และ ระบายมันออกมาอย่างเหมาะสม (เหมือนสอนลูกให้ค่อยๆผายลม หรือ ค่อยๆเรอ นั่นแหละค่ะ)
เรื่องที่หมอมักชวนเด็กๆคุยเกี่ยวกับความโกรธ ในขณะที่เด็กอารมณ์ปกติ ได้แก่
1.เวลาคนเราโกรธ ร่างกายของเราจะแสดงออกอย่างไร เช่น หัวใจเต้นแรง หายใจเร็วและตื้นขึ้น หน้าแดง ตาขวาง คิ้วขมวด เพื่อให้เด็กฝึกสังเกตตัวเองให้เป็นเมื่อมีอารมณ์โกรธจริงๆ
2.มีวิธีอย่างไรให้หายโกรธบ้าง และวิธีไหนได้ผลสำหรับเค้า ไม่ว่าจะเป็น หายใจเข้าออกช้าๆนับ 1-10 ไปจนถึง 1-100 ฟังเพลง นอนหลับ ตุ๊ยท้อง&ตีเข่าตุ๊กตากระต่าย(แบบเนเน่จัง ในการ์ตูนเรื่อง เครยอนชินจัง) หรือ ให้ลูกกับคู่ขัดแย้งยุติการอภิปราย แล้วพัก 5 นาที (แบบที่สภาผู้แทนราษฎรชอบใช้) ซึ่งวิธีไหนได้ผลสำหรับแต่ละคนก็ต้องลองนำไปใช้ดูก่อนค่ะ
ดังนั้น ในการเตรียมตัวลูกเพื่อฝึกจัดการกับความโกรธ หมอก็อยากให้คุณพ่อคุณแม่ลองนำไปคุยกับลูกไว้ก่อนได้เลยค่ะ
ส่วนสิ่งที่หมออยากแนะนำคุณพ่อคุณแม่ คือ
1.ควรสอนลูกให้จัดการกับความโกรธในขณะที่เขายังโกรธไม่มาก เพราะความโกรธในระดับต่ำๆนั้นเป็นวัตถุดิบชั้นดีที่ลูกจะได้ฝึกจัดการกับอารมณ์ด้านลบของตัวเองค่ะ
ดังนั้นในขณะที่ลูกยังโกรธไม่รุนแรงนัก ให้ช่วยเตือนลูกให้รู้ตัวว่าตอนนี้เค้ากำลังโกรธ โดยอาจพูดดังนี้ "ดูสิลูก แม่เห็นหนูหน้าแดง หายใจก็เร็ว หนูกำลังโกรธใช่มั๊ยคะ"
ข้อนี้เป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพราะจะไม่มีใครที่สามารถจัดการกับอารมณ์โกรธได้ ถ้าเค้าไม่รู้ว่าเค้ากำลังโกรธ
2.อย่าได้ไปพยายามสอนลูกให้จัดการความโกรธในขณะที่เขาโกรธแบบสุดๆ หรือ ในระดับที่เขาคุมตัวเองไม่ได้แล้ว เพราะมันสายไปแล้วค่ะ ไม่ว่าใครก็ตามที่โกรธจนหน้ามืดตามัวแล้ว สิ่งเดียวที่คุณควรทำ คือ "หนี" ค่ะ ดังนั้นจงอย่าปล่อยให้ลูกโกรธสุดๆแล้วค่อยมาจัดการนะคะ
3.เมื่อลูกเริ่มรู้ตัวว่ากำลังโกรธ คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยบรรเทาความโกรธให้ลูกในเบื้องต้น ได้ด้วยน้ำเสียงเย็นๆ(ไม่ด่าซ้ำ ไม่ตวาด ไม่รีบเดินหนี) ถ้าเป็นไปได้ใช้ภาษากายร่วมด้วย เช่น ดึงลูกมากอด ลูบหลัง โดยทั้งหมดนี้คุณพ่อคุณแม่จะทำได้ดีก็ต่อเมื่อจัดการอารมณ์ตัวเองให้สงบได้ก่อนค่ะ
4.เมื่อลูกสงบลงในระดับที่พอคุมตัวเองได้แล้ว ให้ช่วยเตือนให้ลูกลองใช้วิธีจัดการกับความโกรธที่ได้เตรียมไว้ พูดถึงเรื่องวิธีจัดการนี้ มีหลากหลายมากค่ะดังที่หมอได้ยกตัวอย่างไว้ด้านบน แต่ยังไงคุณพ่อคุณแม่ก็ลองช่วยคิดหาวิธีอื่นกับลูกเพิ่มเติมก็ได้ค่ะ (ล่าสุดหมอตั้มเล่าให้ฟังว่า มีเด็กที่ดูแลอยู่ เวลาโกรธเค้าจะไปแปรงฟัน ตอนนี้ฟันขาวสะอาด ส่งประกวดได้เลยค่ะ)
5.ถ้าเค้าโกรธรุนแรงถึงขั้นอาละวาด คือ ทำร้ายตัวเอง(ข่วน ทึ้งผม เอาหัวโขกกำแพง ) ทำร้ายคนอื่น(ตี หยิก ถีบ เตะ) หรือทำลายข้าวของ(ขว้างของ ล้มโต๊ะ ฉีก ทำลาย) ตรงนี้ต้องหยุดพฤติกรรมรุนแรงนั้นๆก่อนค่ะ โดยบอกลูกด้วยน้ำเสียงที่หนักแน่นว่า "แม่รู้ว่าหนูโกรธ แต่หนูเขวี้ยงของ/ตีแม่/เอาหัวโขกพื้น แบบนี้ไม่ได้ค่ะ" แล้วกอดลูกไว้ให้แน่นพอในระดับที่ลูกจะสะบัดออกไปทำพฤติกรรมนั้นๆซ้ำอีกไม่ได้ จุดประสงค์เพื่อช่วยจำกัดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ในขณะที่เค้ายังควบคุมตัวเองไม่ได้ แต่การกอดลูกนี้จะใช้ได้กับเด็กเล็ก (อายุไม่เกิน 6 ปี) เท่านั้นนะคะ หากลูกโตกว่านั้นแม่อาจต้องใช้วิธีอื่น เช่น จับมือแทน หาคนมาช่วย หรือ หนี ค่ะ
6.การจัดการกับอารมณ์ เป็นคนละเรื่องกับ การจัดการกับปัญหา และเป็นเรื่องที่ด่วนกว่า เช่น ลูกอาละวาดเมื่อแม่บอกให้หยุดเล่นเกม สิ่งที่คุณแม่ต้องทำก่อนในตอนนั้น คือ จัดการกับอารมณ์ลูก เมื่ออารมณ์สงบแล้ว ถึงจะเป็นเวลาคุยกันเรื่องกติกาในการเล่นเกมหรือการลงโทษค่ะ ตรงนี้สำคัญมาก เพราะถ้าคุณแม่พยายามอธิบายเหตุผลร้อยแปด ในเวลาที่ลูกกำลังหน้ามืดไปด้วยความโกรธ ก็จะไม่ต่างอะไรกับการราดเชื้อเพลิงเข้าในกองไฟเลยค่ะ
สิ่งสำคัญที่สุด คือ คุณพ่อคุณแม่และทุกคนในบ้าน ก็ต้องเป็นแบบอย่างในการจัดการกับความโกรธโดยใช้วิธีนี้ด้วยค่ะ และข้อนี้เองที่มักทำให้การคุมอารมณ์โกรธของลูกไม่สำเร็จ เพราะลูกก็ไม่เคยเห็นคุณพ่อคุณแม่คุมอารมณ์ตัวเองได้เลย
ดังนั้น เมื่อใดก็ตามที่คุณแม่โกรธลูกมาก แต่เลือกที่จะบอกลูกว่า "ตอนนี้แม่โกรธหนูมากเลย เดี๋ยวขอแม่ไปพักดื่มน้ำซักแก้ว แล้วแม่จะกลับมาคุยกับหนูต่อนะจ๊ะ" เมื่อนั้นลูกจะเริ่มคุ้นเคยกับวิธีการนี้ และรู้สึกแอบชื่นชมคุณ อยากจะทำให้ได้เหมือนคุณ
ถ้าเป็นไปได้ กิจกรรมหนึ่งที่หมอแนะนำให้ทำคือ การคอยเตือนสติกันในครอบครัวเมื่อเห็นว่ามีใครโกรธ เนื่องจาก มีความเป็นไปได้ว่า ในบางครั้งคุณพ่อคุณแม่เองก็อาจไม่รู้ตัวว่ากำลังโกรธ
การเปิดโอกาสให้สมาชิกคนอื่นในบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือลูกๆสามารถเตือนเราได้นั้น จะเป็นสิ่งที่เด็กๆชอบมาก นอกจากเค้าจะคอยจ้องจับผิดเราแล้ว เค้าก็จะยังคอยระมัดระวังตัวเองเพื่อไม่ให้ตัวเองหลุดและโดนเอาคืน ซึ่งจะส่งผลให้สมาชิกทุกคนในบ้านคุมอารมณ์ตัวเองได้ดีขึ้นไปพร้อมๆกันค่ะ
หมอก้อย
โดย: เจ้าบ้าน
[8 เม.ย. 57 15:51] ( IP A:115.87.148.190 X: )
คลิก เพื่อเปลี่ยนกลับไปแสดงความคิดเห็นแบบเดิม
ชื่อไฟล์รูปห้ามมีอักขระพิเศษ เช่น (#),(<),(>),(&) เป็นต้นค่ะ
ชื่อ / e-mail :
แทรกไอคอนน่ารักๆในข้อความ
e-mail :
ส่งอีเมลทุกครั้งที่มีการตอบกระทู้
(ใส่ Email เมื่อต้องการให้ส่ง Email เมื่อมีคนมาโพสในกระทู้)
คลิกที่นี่เพื่อกลับหน้าบ้าน