#เมื่อลูกลงสนาม(เด็กเล่น)
   #เมื่อลูกลงสนาม(เด็กเล่น)

เมื่อเร็วๆนี้ เพื่อนของหมอคนหนึ่งประสบเหตุการณ์ที่เชื่อว่า คนเป็นพ่อแม่ หรือแม้แต่ใครก็ตามที่เคยมีโอกาสได้เลี้ยงเด็กเล็ก ต้องเคยพบ นั่นคือ การพาลูก/หลานไปในที่สาธารณะ แล้วโดนรังแก

สถานที่เกิดเหตุที่มักพบได้บ่อย ก็คือ สนามเด็กเล่น หรือที่ใดก็ตามที่เป็นที่รวมของเด็กๆจำนวนมาก

สาเหตุที่เด็กๆรังแกกัน ทั้งที่หลายคนไม่เคยรู้จักกันมาก่อน คือ

1.เด็กๆยังไม่รู้จักการเล่นด้วยกันอย่างเหมาะสม
ส่วนมากเด็กในกลุ่มนี้จะมีอายุน้อย ยังไม่ได้เข้าโรงเรียนหรือเพิ่งเข้าใหม่ๆ จึงยังไม่มีโอกาสได้ปรับตัวในการเล่นกับคนอื่น ไม่รู้จักการแบ่งปัน ไม่รู้จักการผลัดกันเล่น ไม่รู้จักอดทนรอคอย หรือแม้กระทั่งยังไม่รู้สึกอยากเล่นกับคนอื่น
ซึ่งพฤติกรรมทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นได้เมื่อเด็กมีพัฒนาการที่มากขึ้นด้วยตัวเอง และการสอนของผู้ใหญ่ ซึ่งต้องการความสม่ำเสมอ รวมไปถึงเด็กต้องมีโอกาสฝึกฝนทักษะการเล่นกับผู้อื่นอย่างเหมาะสมด้วยค่ะ

2.เด็กมีปัญหาด้านอารมณ์หรือการควบคุมตัวเองบางอย่าง
เด็กในกลุ่มนี้อาจมีอายุเท่าไหร่ก็ได้ บางคนอาจจะรู้ว่ารังแกเพื่อน/น้องนั้นไม่ถูกต้อง แต่มีเหตุการณ์บางอย่างกระตุ้นให้เด็กโมโหและคุมตัวเองได้น้อย ซึ่งถ้าผู้ดูแลไม่ได้อยู่ใกล้ๆคอยช่วยเตือน เด็กก็อาจเผลอรังแกคนอื่นได้ค่ะ
แม้ว่าเด็กในข้อนี้จะมีข้อจำกัดที่น่าเห็นใจ แต่หากผู้ใหญ่คอยสอน และอยู่ใกล้ๆเสมอเมื่อเด็กอยู่ในที่ที่มีเด็กจำนวนมาก เพื่อช่วยสังเกตสิ่งกระตุ้นที่อาจส่งผลให้เด็กฟิวส์ขาดและคอยเตือนสติ รวมไปถึงจัดการเมื่อเกิดปัญหา เด็กในกลุ่มนี้ก็สามารถพัฒนาทักษะในการเล่นกับคนอื่นได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม หากลูกของคุณพ่อคุณแม่ได้ไปรังแกเด็กคนอื่น ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม หมอขอแนะนำว่า

1. ต้องให้ลูกขอโทษเด็กที่เป็นคู่กรณี ข้อนี้สำคัญที่สุดในการปลูกฝังให้ลูกรู้จักยอมรับผิดค่ะ แม้ว่าเด็กคนนั้นอาจมาแย่งของเล่นก่อน แต่หากจบลงที่ลูกของคุณไปตีเขา ลูกของคุณก็ควรขอโทษในส่วนที่ตัวเองทำ นั่นคือ ตีคนอื่น (แต่ไม่ได้แปลว่าลูกของคุณเป็นคนผิดในเหตุการณ์นี้นะคะ) รวมทั้งคุณพ่อคุณแม่ก็ควรขอโทษคุณพ่อคุณแม่ของเด็กคู่กรณีด้วยค่ะ เพื่อเป็นการแสดงความจริงใจว่า เราเองก็เสียใจและไม่ได้อยากให้ลูกของเราไปตีใคร

2. ถ้าเหตุการณ์ไม่รุนแรง และจบไปแล้วด้วยดี (พ่อแม่2ฝั่ง ไม่ฮึ่มๆใส่กัน) ถ้าจะเล่นด้วยกันตรงนั้นต่อ ต้องตั้งกติกากับลูกว่า จะไม่เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นอีก ถ้าเกิดขึ้นอีกครั้ง พ่อแม่จะพากลับทันที และถ้าเกิดซ้ำก็พาเด็กกลับจริงๆค่ะ รวมถึงถ้าเหตุการณ์ที่เกิดนั้นรุนแรงก็อาจต้องพากลับตั้งแต่แรกเลย เพื่อให้ลูกสงบสติอารมณ์และเรียนรู้ว่าถ้ามาเล่นกับเพื่อนแล้วทะเลาะกันก็จะไม่ได้เล่นอีก

3. ถ้าลูกโตพอที่จะพูดคุยสื่อสารได้ดีแล้ว กลับไปคุยเรื่องนี้กับลูกของคุณที่บ้าน ด้วยท่าทีที่เป็นมิตร ถามลูกว่า "ที่สนามเด็กเล่นเมื่อกี๊ มันเกิดอะไรขึ้นจ๊ะ" เพื่อให้ลูกรู้สึกว่าเราพร้อมที่จะรับฟังเขา และส่วนใหญ่เรื่องที่ลูกเล่ามาก็มักจะมีปัจจัยในส่วนของเด็กคู่กรณีมากระตุ้นอารมณ์อยู่บ้าง ตรงนี้ก็จะเป็นโอกาสให้คุณสอนลูกให้จัดการกับอารมณ์ หรือใช้วิธีแก้ปัญหาแบบอื่นที่ไม่จบลงด้วยความรุนแรงค่ะ

ส่วนคุณพ่อคุณแม่ของเด็กฝ่ายถูกกระทำ หมอคิดว่า สิ่งที่คุณสามารถนำเหตุการณ์นี้ไปสอนลูกได้คือ

1. สอนวิธีป้องกันตัวเองอย่างเหมาะสมให้ลูก หมอคิดว่าเด็กๆไม่จำเป็นต้องยอมให้เพื่อนรังแก แล้วทำได้แต่วิ่งไปฟ้องครูหรือพ่อแม่ เพราะนั่นเป็นวิธีที่สร้างความรู้สึกต้องพึ่งพาคนอื่นให้เขา และอาจทำให้เขารู้สึกไม่ปลอดภัยเมื่อพ่อแม่หรือครูไม่อยู่ ซึ่งการที่เด็กจะสามารถป้องกันตัวเองหรือจัดการกับคนที่มารังแกได้นั้น สัมพันธ์กับความรู้สึกภาคภูมิใจในตัวเอง (self esteem)ด้วยค่ะ

เรื่องความรู้สึกภาคภูมิใจในตนเองนี้ หมอและหมอตั้มเคยเขียนไว้แล้วใน
#ความภาคภูมิใจในตนเอง_รากฐานสำคัญของชีวิต https://www.facebook.com/photo.php?fbid=271035769744464&set=a.257974647717243.1073741829.257704944410880&type=1&relevant_count=1 และ
#บันได้5ขั้นสู่ความภาคภูมิใจในตนเอง https://www.facebook.com/photo.php?fbid=271350146379693&set=a.257974647717243.1073741829.257704944410880&type=1&relevant_count=1

วิธีป้องกันตัวเองที่เหมาะสม เช่น เมื่อเพื่อนมาแย่งของ เด็กอาจจะกำของไว้แน่นแล้วดันเพื่อนออก พร้อมกับตะโกนดังๆว่า เราเล่นอยู่นะ อย่าแย่งสิ ซึ่งถ้าคุณพ่อคุณแม่จะสอนทักษะแบบนี้ ต้องระวังนิดหนึ่งค่ะ ว่าลูกเราไม่ได้เป็นเด็กเจ้าอารมณ์อยู่แล้ว ซึ่งในเหตุการณ์จริงอาจจะทำรุนแรงเกินกว่าเหตุได้

2. ชวนลูกคุยว่า "ลูกเห็นมั๊ย เพื่อนเค้าเล่นกับหนูแรง มาตีหนู หนูก็เจ็บ เลยไม่อยากเล่นด้วย ลูกดูไว้เป็นตัวอย่างนะจ๊ะ ว่าการเล่นกันแรงๆนั้นไม่มีใครชอบ" ซึ่งคือการสอนลูกด้วยเหตุการณ์จริงที่เขามีประสบการณ์ตรงนั่นเองค่ะ

3. แม้ว่าคุณพ่อคุณแม่อาจจะรู้สึกขุ่นเคืองใจอยู่บ้างที่ลูกอันเป็นที่รักของเราโดนรังแก แต่ถ้าไม่ยากเกินไป การให้อภัยของคุณจะเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกเห็นว่า เมื่อเหตุการณ์นั้นจบลงไปแล้ว เราเพียงคิดหาวิธีป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก แล้วเราก็จะเลิกคิดถึงเรื่องนั้นให้ใจของเราขุ่นมัว ประโยคทำนองว่า "ช่างมันเถอะลูก" ที่ลูกได้ยินมาตั้งแต่เล็ก จะมีผลต่อวิธีคิดของลูก ให้รู้จักปล่อยวางในตอนโตค่ะ

สุดท้ายนี้ หมอคิดว่า สิ่งสำคัญที่สุดในการพาลูกไปเล่นในที่สาธารณะ ได้แก่ การคอยดูแลลูกไม่ให้คลาดสายตา เพื่อที่เราจะสามารถระมัดระวังไม่ให้ลูกทำสิ่งที่ไม่เหมาะสม รวมทั้งป้องกันอันตรายอื่นๆอีกมากมายที่อาจเกิดกับลูกได้ในสังคมปัจจุบันค่ะ
โดย: เจ้าบ้าน [20 ส.ค. 57 21:37] ( IP A:58.11.59.12 X: )
Add to Facebook  Add to Twitter  Add to Multiply  Add to Google  Add to Blogger  Add to Live
รายละเอียด :
ชื่อ / e-mail :    แทรกไอคอนน่ารักๆในข้อความ
e-mail :
ส่งอีเมลทุกครั้งที่มีการตอบกระทู้       (ใส่ Email เมื่อต้องการให้ส่ง Email เมื่อมีคนมาโพสในกระทู้)
รูปประกอบ :
.jpg .bmp .gif < 100K
จัดตำแหน่งรูป :
ชิดซ้าย
กึ่งกลาง
ชิดขวา
เสียงประกอบ : .wav .mp3 .wma .ogg < 300K
คลิปวีดีโอ (Youtube) :
ตัวอย่าง : http://www.youtube.com/watch?v=k_ufqno7NaE


CAPTCHA code



คลิกที่นี่เพื่อกลับหน้าบ้าน