onninn.pantown.com
บทความดีๆ <<
กลับไปหน้าแรก
# โรคสมาธิสั้น คืออะไร? #
# โรคสมาธิสั้น คืออะไร? #
บทความเกี่ยวกับโรคสมาธิสั้น จากชมรมจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นแห่งประเทศไทยครับ และติดตามแนวทางการดูแลรักษาเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น ในตอนต่อไปครับ # หมอมินรักษ์โลก
โรคสมาธิสั้นเป็นความผิดปกติชนิดหนึ่งที่เด็กมีพฤติกรรมในการคงสมาธิ และพฤติกรรมซน อยู่นิ่งไม่ได้ และหุนหันพลันแล่น ที่ไม่เหมาะสมกับอายุและระดับพัฒนาการ มีอาการต่อเนื่องนานไม่ต่ำกว่า 6 เดือน และเริ่มมีอาการตั้งแต่อายุก่อน 12 ปี การวิจัยในประเทศไทยพบโรคนี้ได้ร้อยละ 5-8 ของเด็กวัยเรียน พบในทุกเศรษฐานะ สังคม และระดับการศึกษา
อาการประกอบด้วย
1. สมาธิสั้น (Inattention)
2. ซนมาก อยู่ไม่นิ่ง (Hyperactivity)
3. หุนหันพลันแล่น (Impulsivity)
อาการเกิดก่อนอายุ 12 ปี และรุนแรงจนมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันและการเรียน มีปัญหาการปรับตัว สังเกตอาการเหล่านี้ได้ใน 2 สถานการณ์ขึ้นไป เช่น ที่บ้าน ที่โรงเรียน หรือห้องตรวจ เป็นต้น ส่งผลให้เกิดผลเสียต่อชีวิตในสังคม การเรียน การอาชีพ และต่อการงาน
จะสังเกตได้อย่างไรว่าเด็กเป็นโรคสมาธิสั้น
โรคสมาธิสั้น ประกอบด้วยอาการหลัก 3 แบบ คือ สมาธิสั้น ซนมาก อยู่ไม่นิ่ง และหุนหันพลันแล่น ขาดความสามารถในการควบคุมตนเอง หากเด็กมีอาการสมาธิสั้นที่มีลักษณะต่อไปนี้รวมกันมากกว่า 6 ข้อ ให้สงสัยว่าอาจจะเป็นโรค ได้แก่
ไม่สามารถทำงานที่ครูหรือพ่อแม่สั่งจนสำเร็จ
ไม่มีสมาธิในขณะทำงานหรือเล่น
ดูเหมือนไม่ค่อยฟังเวลาพูดด้วย
ไม่สามารถตั้งใจฟัง และเก็บรายละเอียดได้ ทำให้ทำงานผิดพลาดบ่อยๆ
ไม่ค่อยเป็นระเบียบ
มีปัญหาหรือพยายามหลีกเลี่ยงงานที่ต้องใช้ความคิดหรือสมาธิ
วอกแวกง่าย
ทำของใช้ส่วนตัวหรือของใช้ที่จำเป็นสำหรับงานหรือการเรียนหายอยู่บ่อยๆ
ขี้ลืมบ่อยๆ
หากเด็กมีอาการซน (hyperactivity) และขาดความสามารถในการควบคุมตนเอง (Impulsivity) ที่มีลักษณะต่อไปนี้รวมกันมากกว่า 6 ข้อ ให้สงสัยว่าอาจจะเป็นโรค ได้แก่
ยุกยิก อยู่ไม่สุข
นั่งไม่ติดที่ ลุกเดินบ่อยๆ ขณะอยู่ที่บ้านหรือในห้องเรียน
ชอบวิ่ง หรือปีนป่ายสิ่งต่างๆ มากเกินควร
พูดมาก พูดไม่หยุด
เล่นเสียงดัง
ตื่นตัวตลอดเวลา หรือดูตื่นเต้นง่าย
ชอบโพล่งคำตอบเวลาครูหรือพ่อแม่ถามโดยที่ยังฟังคำถามไม่จบ
รอคอยไม่เป็น
ชอบขัดจังหวะหรือสอดแทรกเวลาผู้อื่นกำลังพูดอยู่
ทำอะไรโดยไม่ยั้งคิด (ลงมือทำโดยไม่ทันอ่านหรือฟังคำสั่งให้เข้าใจ พูด ซื้อของโดยไม่ยั้งคิด)
มักขาดความอดทน (การรอคนอื่น ขับรถเร็ว ต้องการไปให้เร็วกว่าคนอื่น)
มักไม่ชอบงานหรือกิจกรรมที่เป็นไปอย่างช้าๆ หรือต้องทำให้เป็นระบบ
มักอดทนสิ่งยั่วเย้าได้ยาก แม้จะรู้ว่าทำแล้วเสี่ยงที่จะเกิดปัญหา
อาการหุนหันพลันแล่นหรือขาดความยับยั้งชั่งใจในโรคสมาธิสั้น
ในการกระทำสิ่งต่างๆ โดยที่ยังไม่คิดไตร่ตรองให้รอบคอบ หรือไม่ทันคิดถึงผลเสียที่ตามมา ขาดความระมัดระวัง สามารถพบได้ในเด็กเล็กที่ขาดประสบการณ์ แต่เมื่อเกิดการเรียนรู้ พฤติกรรมเหล่านี้จะลดลง แต่ในเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นจะพบพฤติกรรมดังกล่าวได้บ่อยและนานกว่าเด็กอื่นที่อายุเท่ากันชัดเจน จะเห็นความไม่รอบคอบ ขี้ลืม ทำของหาย รอคอยให้ถึงคิวไม่ได้นาน พูดโพล่งหรือพูดแทรกเวลาที่คนอื่นกำลังคุยกัน และหลายครั้งที่ทำผิดพลาด ความที่อยากจะเอาตัวเองออกจากเหตุการณ์นั้นๆ จึงพบว่าเด็กหลายคนเลือกใช้การโกหกที่รวดเร็ว โดยมิได้คิดถึงผลที่จะตามมาทีหลัง
ซนแบบไหน จึงจะสงสัยว่าเป็นโรคสมาธิสั้น
เด็กซุกซนมากกว่าผู้ใหญ่ ผู้ชายซนมากกว่าผู้หญิงตั้งแต่เด็ก ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่ความซุกซนในเด็กปกติก็ยังเล่นได้นาน ต่อเนื่อง หลากหลายอย่าง และแบ่งเวลาเล่นกับเวลาเรียนได้ โดยดูจากความสามารถในด้านต่างๆ ที่เพิ่มขึ้น และเมื่อโตขึ้นก็จะเห็นว่าความซุกซนหายไป ในครอบครัวที่มิได้เข้มงวดกับมารยาท กฎเกณฑ์ กติกาทางสังคม ปล่อยเด็กให้เล่นจนขาดวินัย ไม่อยู่ในกติกา ไม่รู้จักการรักษาเวลาที่เหมาะสม เด็กจะมีลักษณะคล้ายกับเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นที่ซนมากๆ จนไม่สนใจในการเรียน ไม่ทำตามคำสั่ง เป็นต้น
แต่ความซุกซน อยู่ไม่นิ่งของโรคสมาธิสั้น จะมีความรุนแรงมากพอจนทำอะไรด้วยตัวเองลำบาก ซนจนไปทำลายสิ่งของ ขัดขวางการเรียนรู้ หรือมีปัญหาในการเข้าสังคม
เด็กซุกซนทุกคนไม่ได้เป็นโรคสมาธิสั้น
เด็กซุกซนทุกคนมิได้เป็นโรคสมาธิสั้น เด็กที่รับประทานยากันชัก หรือยารักษาโรคภูมิแพ้จะพบอาการซุกซนได้เพิ่มขึ้น เด็กที่เรี่ยวแรงมากถ้าไม่ได้รับการฝึกฝนที่เหมาะกับวัย จะทำให้พลังงานที่มีอยู่ในตัวมิได้ระบายออกในทางที่เหมาะสม เช่น ว่ายน้ำ เล่นฟุตบอล บาสเกตบอล เป็นต้น แต่ในทางตรงข้าม ครอบครัวที่มิได้เข้มงวดกับมารยาท กฎเกณฑ์ กติกาทางสังคม เด็กที่ขาดการดูแลใกล้ชิด ขาดการฝึกฝน และฝึกสอนว่าความพอดีควรอยู่ที่ใด ปล่อยเด็กให้เล่นจนขาดวินัย ไม่อยู่ในกติกา ไม่รู้จักการรักษาเวลาที่เหมาะสม พฤติกรรมนั้นจะออกมาในรูปแบบของการเล่นที่ก้าวร้าวรุนแรง ทำลายร้าง ทำข้าวของเสียหาย ทำร้ายคนได้ หรือซนมากจนไม่สนใจในการเรียน ไม่ทำตามคำสั่ง โดยมิได้เกิดจากโรคสมาธิสั้น
ความบกพร่องของสมองในโรคสมาธิสั้น
การทำงานของสมองในส่วนการบริหารจัดการ (executive function) เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของสมองส่วนหน้า ประกอบด้วย 4 งานหลัก คือ 1. การจดจำว่าจะต้องทำงาน 2. การบอกตนเองว่าต้องทำงานนั้น 3. พื้นอารมณ์ที่จะต้องทำงานนั้นๆ 4. การวางแผนและแก้ปัญหา ซึ่งทั้งหมดส่งผลให้ทำงานสำเร็จ
โรคสมาธิสั้นจะมีความบกพร่องในการทำงานของสมองส่วนนี้ ทำให้เด็กสมาธิสั้นมีปัญหาทำงานไม่ทันเวลาหรือเรียกว่ามี Time blindness มีความสามารถในการบริหารจัดการตนเองได้ต่ำกว่าเด็กปกติประมาณร้อยละ 30 นั่นหมายความว่า ถ้าเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นอายุ 10 ปี จะมีความสามารถเทียบเท่าอายุ 7 ปี
สาเหตุของโรคสมาธิสั้น
โรคสมาธิสั้นเกิดจากความบกพร่องของสารเคมีที่สำคัญบางตัวในสมอง โดยมีกรรมพันธุ์เป็นปัจจัยที่สำคัญประมาณร้อยละ 30-40 ของเด็กสมาธิสั้น จะมีคนในครอบครัวคนใดคนหนึ่งมีปัญหาอย่างเดียวกัน มารดาที่ขาดสารอาหาร ดื่มสุรา สูบบุหรี่ หรือได้รับสารพิษบางชนิด (เช่น ตะกั่ว) ในระหว่างการตั้งครรภ์ จะมีโอกาสมีลูกเป็นโรคสมาธิสั้นสูงขึ้น ปัจจัยจากการเลี้ยงดูหรือสิ่งแวดล้อมเป็นเพียงปัจจัยเสริมที่ทำให้อาการ หรือความผิดปกติให้ดีขึ้นหรือแย่ลง
ไม่พบหลักฐานจากงานวิจัยว่าการบริโภคน้ำตาลหรือชอกโกแล็ตมากเกินไป การขาดวิตามิน สีผสมอาหาร โรคภูมิแพ้ เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคสมาธิสั้น
โดย: เจ้าบ้าน
[20 มิ.ย. 56 23:34] ( IP A:58.9.97.161 X: )
คลิก เพื่อเปลี่ยนกลับไปแสดงความคิดเห็นแบบเดิม
ชื่อไฟล์รูปห้ามมีอักขระพิเศษ เช่น (#),(<),(>),(&) เป็นต้นค่ะ
ชื่อ / e-mail :
แทรกไอคอนน่ารักๆในข้อความ
e-mail :
ส่งอีเมลทุกครั้งที่มีการตอบกระทู้
(ใส่ Email เมื่อต้องการให้ส่ง Email เมื่อมีคนมาโพสในกระทู้)
คลิกที่นี่เพื่อกลับหน้าบ้าน