วิสามัญฆาตกรรม
แนะการทำสำนวนคดีวิสามัญฆาตกรรม
โดย พ.ต.ท.สมศักดิ์ ณ โมรา รอง ผกก.กลุ่มงานสอบสวน ภ.จว.สงขลา
***************************
คำว่าวิสามัญฆาตกรรม เดิมอยู่ใน พ.ร.บ.ชันสูตรพลิกศพ พ.ศ.2457 ต่อมาเมื่อมี ป.วิอาญา
พ.ศ.2477 ไม่มีคำดังกล่าว และจนกระทั่ง ป.วิอาญา ฉ.21 พ.ศ.2542 ก็ไม่มีคำว่าวิสามัญฆาตกรรม
แต่นักกฎหมายยังคงใช้กันติดปาก ซึ่งหมายถึงคดีฆาตกรรมที่ผู้ตายได้ถูกเจ้าพนักงานฆ่า โดยอ้าง
ว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ และการตายของผู้ตายที่อยู่ในความควบคุมของพนักงานซึ่งอ้างว่า
ปฏิบัติราชการตามหน้าที่
แยกเป็น 2 กรณี คือ
1.ความตายเกิดขึ้นโดยการกระทำของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ซึ่งมีสาระสำคัญ 3 ประการ คือ
1.1 เจ้าพนักงานเป็นคนฆ่า
1.2 เจ้าพนักงานมีเจตนาฆ่า
1.3 อ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่
2.ตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่
ซึ่งมีสาระสำคัญคือ
2.1 ถูกฆ่าตายโดยเจตนา หรือฆ่าตัวตาย หรือตายด้วยอุบัติ ก็ได้
2.2 ผู้ทำให้ตายไม่ใช่เจ้าพนักงาน
2.3 ผู้ตายได้ถึงแก่ความตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่
ซึ่งจะต้องมีการชันสูตรพลิกตาม ป.วิอาญา ม.150 (แก้ไขฉบับล่าสุด ฉ.21 พ.ศ.2542)
สาเหตุมีการแก้ไขเนื่องจากกระแสสังคมในคดีโจ ด่านช้าง เพื่อถ่วงดุลย์เจ้าพนักงานตำรวจ โดยมีพนักงานอัยการ,ฝ่ายปกครอง,แพทย์ และญาติของผู้ตายร่วมชันสูตรพลิกศพด้วย(ญาติ ไม่มีก็ไม่เป็นไร แต่ พงส.,แพทย์,อัยการ,ฝ่ายปกครอง ไม่ได้ร่วมด้วยการชันสูตรพลิกศพก็ไม่ชอบ และเป็นหน้าที่ของ พงส.ต้องแจ้งผู้มีหน้าที่ชันสูตรพลิกศพ ณ สถานที่พบศพห้ามเคลื่อนย้ายจนกว่าจะชันสูตรพลิกศพเสร็จสิ้น)
จากนั้นก็ทำสำนวนชันสูตรพลิกศพภายใน 30 วัน ส่งพนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องต่อศาลให้ไต่สวน ซึ่งอัยการก็ต้องยื่นคำร้องต่อศาลใน 30 วันนับแต่รับสำนวนจาก พงส. เพื่อให้ศาลทำการไต่สวน และมีคำสั่งว่า ผู้ตายเป็นใคร ตายที่ไหน เมื่อใด เหตุและพฤติการณ์ที่ตาย ถ้าตายโดยคนทำร้ายให้กล่าวว่าใครเป็นผู้ทำร้าย (คำสั่งของศาลเป็นที่สุด)
เมื่อศาลมีคำสั่งแล้วส่งสำนวนไต่สวนของศาลให้อัยการเพื่อส่งต่อให้ พงส. สำนวนไต่สวน-
นี้ก็จะรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสำนวนคดีฆาตกรรม ซึ่งหากไม่รวมเข้าไปส่วนหนึ่งของสำนวนคดีอาญาดังกล่าวอัยการก็ไม่สามารถจะมีความเห็นสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องได้
สรุปขั้นตอนการสอบสวนคดีวิสามัญฆาตกรรม
1.พงส.รับแจ้งเหตุ ต้องรีบประสานแจ้งผู้มีหน้าที่ชันสูตรพลิกศพและญาติผู้ตายมาร่วม
ชันสูตรพลิกศพยังที่เกิดเหตุ
2.แจ้ง วท.ร่วมตรวจที่เกิดเหตุ,ตรวจที่เกิดเหตุ(ทำบันทึกการตรวจและแผนที่),เก็บพยานหลักฐานเช่นเดียวกับคดีอาญาทั่วไป ตรวจสอบว่าเป็นกรณี 1 หรือ 2 ถ้ากรณี 1 ตรวจสอบเบื้องต้นว่าเจ้าพนักงานคนใดเป็นผู้ทำให้ตาย
3.ทำการสอบสวนไปพร้อมกันระหว่างสำนวนชันสูตรพลิกศพ และสำนวนคดีอาญา(ฆาตกรรม)
4.ถ้ามีคดีที่ผู้ตายต้องหาคดีอาญาด้วยก็ต้องทำสำนวนการสอบสวนคดีที่ 3
5.ใน 30 วันสรุปสำนวนชันสูตรพลิกศพ (ขยายได้ 2 ครั้ง ครั้งละ 15 วัน ระบุเหตุผลการขายในสำนวน) แล้งส่งพนักงานอัยการ
6.คดีอาญาที่เจ้าพนักงานถูกกล่าวหาว่าฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาก็สอบสวนปตามปกติ เรียกมาแจ้งข้อกล่าวหาโดยปล่อยตัวไปไม่ต้องควบคุม รอจนกว่าคดีไต่สวนชันสูตรพลิกศพเสร็จนำมาเข้ารวมสำนวนแล้วจึงสรุปความเห็นสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง
7.สำหรับคดีที่ 3 ที่ผู้ตายเป็นผู้ต้องหา(ถ้ามี) หรือสำนวนการสอบสวนคดีเดิมที่ผู้ตายอาจมีหมายจับหรือค้างระหว่างการสอบสวนก็นำใบรายงานชันสูตรพลิกศพก็สรุปสำนวนไปได้เลยโดยมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องเนื่องจากความตายของผู้ต้องหา
***********************