tidn1amulet-uthaithanee.pantown.com : ทิดหนึ่งพระเครื่อง,คนดนตรี
[ลูกบ้านSignIn][เจ้าบ้านSignIn]
ยินดีต้อนรับสู่เมืองอุทัยธานี
ประวัติสมเด็จพระวันรัตน(เฮง เขมจารี)
ประวัติ หลวงปู่พลอย วัดห้วยขานาง จ.อุทัยธานี
วัดห้วยขานาง(หลวงพ่อพลอย)ในปัจจุบัน
ประวัติหลวงพ่อเคลือบ วัดหนองกระดี่
ประวัติ พระราชอุทัยกวี (พุฒ สุทตฺตะเถระ) อดีตเจ้าคณะจังหวัดอุทัยธานี
พระครูอุทัยสังฆกิจ(หลวงพ่อรัง)วัดอมฤตวารี(หนองน้ำคัน)
หลวงพ่อเคน วัดดงเศรษฐี
ประวัติหลวงพ่อปลั่ง วัดห้วยรอบ
หลวงพ่อจู วัดดอนกลอย
วัตถุมงคลชุดหลวงพ่อพลอย
ให้บูชาวัตถุมงคลชุดหลวงพ่อสด,หลวงพ่อแอ๋ว,หลวงพ่อเคลือบ
ให้บูชาวัตถุมงคลคณาจารย์เมืองอุทัยธานี
พระเครื่องทั่วไป
ปรึกษา สนทนา เรื่องพระเครื่องเมืองอุทัยธานี




[63214]



   ประวัติหลวงพ่อจู วัดดอนกลอย

หลวงพ่อจู จันทปัญโญ
พระครูอุปพัทรธรรมคุณ หรือหลวงจู จันทปัญโญ นามเดิมว่า จู นามสกุล เยี่ยมสนธิ เป็นบุตรคนที่ 5 ของนายผึ้ง นางชวน เกิดที่บ้านหมู่ที่ 8 ตำบลทองหลาง อำเภอโนนไทย จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันอังคารขึ้น 12 ค่ำ เดือนอ้าย ปีเถาะ เอกศก จุลศักราช 1241 ตรงกับวันที่ 25 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2422 มีพี่น้องร่วมมารดาเดียวกัน 5 คน เป็นชาย 4 หญิง 1 พี่ชาย 3 คือ นายเทาหรือ (บุญ) นายแป้น นายดำ พี่หญิงคือ นางแตงโม ทุกท่านได้สิ้นชีพไปหมดแล้ว
เมื่อเป็นเด็กได้ศึกษาหนังสือไทยในสำนักวัดทองหลาง อันเป็นวัดประจำตำบลนั้น ภายใต้ความปกครองของพระอาจารย์จิตร ครั้นศึกษาภาษาไทยพออ่านออกเขียนได้คล่องแล้ว จึงศึกษาภาษาขอมเพิ่มเติมตามควรแก่สมัยนิยมในยุคนั้น พออายุได้ 17 ปี จึงลาออกจากวัดไปช่วยผู้ปกครองทางบ้าน ประกอบอาชีพกสิกรรมอยู่จนอายุ 20 ปี
อายุ 21 ปี ได้บรรพชาอุปสมบท ณ พัทธสีมา วัดทองหลาง อำเภอโนนลาว (บัดนี้เปลี่ยนเป็นโนนไทย) จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2442 สำเร็จญัตติเวลา 10.15 น. พระครุจันทร์ เจ้าคณะแขวง (บัดนี้เรียกว่าเจ้าคณะอำเภอ จำราชทินนามไม่ได้ ) เป็นพระอุปัชฌายะ พระปลัดจิตร เป็นกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์พลาย เป็นพระอนุสาวนาจารย์
พรรษาที่ 1 ได้ศึกษาพระธรรมวินัยอยู่ในสำนักพระอุปัชฌายะ ณ วัดทองหลาง
พรรษาที่ 2 ได้ย้ายไปอยู่วัดบางมูลนาค อำเภอบางมูลนาค จังหวัดพิจิตร ภายใต้ความปกครองของพระครูหวาด อดีตเจ้าคณะแขวง
พรรษาที่ 3 – 4 ย้ายไปอยู่วัดลาดยาว อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์
พรรษาที่ 5 ย้ายมาอยู่วัดโคกโค อำเภอทัพทัน จังหวัดอุทัยธานี และได้ศึกษาวิชาบาลีเบื้องต้น (สูตรสนธิ) ในสำนักพระสุมห์แก้ว เจ้าอาวาส
พรรษาที่ 7 ย้ายเข้าไปอยู่วัดดอนขวาง อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี และได้ศึกษาพระธรรมวินัย บุพพสิกขา) ในสำนักท่านเจ้าคุณสุนทรมุนี (ใจ) อดีตเจ้าคณะจังหวัดอุทัยธานี ครั้งยังดำรงฐานาเป็นที่พระปลัด ณ วัดทุ่งแก้ว (บัดนี้เปลี่ยนนามเป็นวัดมณีสถิต ฯ)
พรรษาที่ 9 ย้ายมาอยู่วัดดอนกลอย อำเภอหนองขาหย่าง ในความปกครองของพระสมุห์แก้ว (อาจารย์แก้ว) ซึ่งย้ายจากวัดเขาโคกโค มาเป็นเจ้าอาวาสวัดดอนกลอย เมื่อพระ อาจารย์แก้วลาเพศแล้ว ก็ได้รับตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสปกครองวัดนี้สืบมา
พรรษาที่ 13 พ.ศ. 2455 ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระสมุห์ฐานานุกรมของพระครูนิเวศน์ไพรวัน (จั่น) อดีตเจ้าคณะอำเภอหนองขาหย่าง (สมัยนั้นเรียกว่าเจ้าคณะแขวงหนองพลวง) ณ วัดท่าโพธิ์
พรรษาที่ 15 ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะหมวดดอนกลอย (บัดนี้เรียกเจ้าคณะตำบล) มีวัดในท้องที่ 3 ตำบล คือ ตำบลดอนกลอย ตำบลทุ่งพึ่ง ตำบลห้วยรอบ ขึ้นรวม 7 วัด มาภายหลังเพิ่มวัดทุ่งพึ่งใหม่ขึ้น เป็น 8 วัดด้วยกัน นับว่าเป็นหมวดที่มีวัดมากที่สุดของอำเภอนี้
พรรษาที่ 42 พ.ศ. 2484 ได้เลื้อนฐานะขึ้นเป็นที่พระปลัดฐานุกรมของพระครูอุปดิสธรรมนิเวธ (ถนอม) อดีตเจ้าคณะอำเภอหนองขาหย่าง วัดท่าโพธิ์
พรรษาที่ 45 พ.ศ. 2487 ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการสงฆ์อำเภอ องค์การสาธารณูปการ ได้รับนิตยภัตต์เดือนละ 30 บาท
พรรษาที่ 48 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร มีราชทินนามว่า “พระครูอุปพัทธธรรมคุณ”
ด้านบุคคลิภาพท่านเป็นผู้ที่ร่างสูงสันทัดมัดเกร็ง ผิวดำแดง มีพลานามัยที่แข็งแรงแคล่วคล่องว่องไวอยู่เสมอไม่ย่อท้อต่อการเดินทางไกลและเดินทางได้เร็วแม้จะตกอยู่ในวัยชรา ก็ยังนิยมการออกกำลังกาย ด้วยการทำกิจวัตต์กลางแจ้งที่มีการทำความสะอาดพื้นวัดเช่นปัดกวาดเป็นต้นเสมอ และมีความเป็นอยู่อย่างง่าย ๆ การขบฉันไม่นำความหนักใจแก่ผู้ปรนนิบัติวัตรฐากตามปรกติการฉันจังหัน มักชองฉันใบไม้และผักสด ๆ เป็นต้นว่า ใบมะตูม, ใบกะถิน, ผักทอดยอด, ยืนพื้นเสมอ สิ่งที่ใช้เป็นประจำ คือหมากกับใบชาที่จำวัดนิยมบนพื้นราบของกุฏิ ไม่นิยมใช้เตียง และตื่นจากจำวัดแต่ดึกออกทำกิจวัตต์ก่อนรุ่งเป็นนิตย์ มีอุปนิสัยชอบพึ่งตนเอง มักเกรงใจผู้อื่นอยู่เสมอ ท่านเป็นผู้ที่มีความยินดีพึ่งพอใจอยู่ในสถานะเดิม ไม่สู่กระตือรือร้นเปลี่ยนแปลงฐานะ เป็นอยู่ไปตามสิ่งแวดล้อมง่ายนัก มักอยู่ด้วยสันโดษอดทนเป็นปกตินิสัย ปฏิปทาข้อนี้ยอมปรากฏแก่สายตาของผู้ที่รู้จักมักคุ้น คงจะจำกันได้ว่า ป้านน้ำชาคู่ชีพที่ท่านใช้เป็นประจำ เป็นป้านที่แตกชำรุดขนาดต้องเอาลวดโยงไว้โดยรอบ ท่านยังชองใช้ชงฉันอย่างภูมิใจตลอดมาจนวาระสุดท้าย ไม่เคยได้เปลี่ยนแปลงทั้ง ๆ ที่ยังมีการชงน้ำชาใหม่ ๆ ที่มีผู้ศรัทธาถวายไว้มากใบก็ตาม แม้เครื่องสมณูปโภคอย่างอื่นเช่น เสื่อ, หมอน, ขันน้ำ, กระโถนเป็นต้น ก็ยินดีใช้ของบอนเก่าแก่ค่อนข้างชำรุดพอแก้ขัดไปได้ ไม่นิยมใช้ของใหม่ ทั้งนี้ ได้เคยเรียนถามท่านว่า “เหตุไฉน หลวงพ่อไม่ใช้ของใหม่ฉลองศรัทธาเจ้าภาพบ้าง? ท่านตอบว่า ที่ไม่ใช้ของใหม่ ๆ ดี ๆ ก็เพราะมีประสงค์จะสงวนสิ่งของเหล่านี้ไว้ใช้เป็นสงฆ์ เพื่อจะได้มีอายุมั่นคงไปนาน ๆ ส่วนตัวไม่จำเป็น เอาแต่พอใช้การไปได้ให้สะอาดเป็นพอใจแล้ว
ดังนั้น ภาวะความเป็นอยู่ของท่านจึงสะดวกง่ายดาย ไม่ต้องวุ่นวายเดือดร้อนเพราะความดิ้นรนมีประการต่าง ๆ เป็นเหตุ แม้ท่านจะเป็นอยู่ด้วยความสันโดษแต่ท่านก็หาได้เกียจคร้านดังที่บางคนเข้าใจไม่ พระคุณหลวงพ่ออุปพัทธฯ ก็เป็นผู้หนึ่งที่สันโดษมีความขยันเป็นลักษณะ แม้ว่าท่านจะอยู่ในสมณเพศ หมดความจำเป็นใน การครองชีพเช่นฆราวาสก็ตาม แต่ถึงอย่างนั้น ท่านก็ยังสนใจและส่งเสริมการสัมมาอาชีพในสาขาต่าง ๆ อาทิเช่น งานเกษตร, งานอุตสาหกรรมดินเผา, และการช่างประดิษฐ์ทางศิลปหัตกรมต่าง ๆ จะได้นำมาเสนอพอเป็นตัวอย่าง ดังต่อไปนี้
งานเกษตรกรรม ท่านได้จัดที่วางของวัดส่วนหนึ่งทางด้านหลังกุฏิ ทำเป็นสวนครัว โดยปลูกไม้ยืนต้นและพืชล้มลุกนา ๆ ชนิดตามฤดูกาล สำหรับไว้แก้ปัญหาอัตคัดขาดแคลนอันพึ่งมีขึ้นแก่บ้านและวัดในคราวจำเป็น คราวใดที่ผลิตผลทางสวนครัววัดสมบูรณ์พูนเกิด เช่น มะม่วง, ขนุน, ส้ม, กล้วย, มะละกอ, ฟักทอง เป็นต้น
งานอุตสาหกรรมดินเผา กระถางดินเผาที่ปลูกต้นไม้ทั้งหมด ได้ผลิตขึ้งโดยฝีมือของท่านเอง โดยได้จัดหน่วยอุตสาหกรรมย่อย ทำการปั้นและก่อเตาเผาขึ้นที่วัดดอนกลอย นอกจากกระถางก็เตาอั้งโล่แต่ไม่สู้มากนัก
งานช่างไม้ แม้เครื่องอุปกรณ์การศึกษา เช่น โต๊ะ เก้าอี้ครูโรงเรียนภาษาไทยในวัด ท่านได้จัดทำขึ้นโดยฝีมือของท่านเองทั้งสิ้น
งานประดิษฐ์ดอกไม้เพลิง ท่านมีความรอบรู้ในการทำดอกไม้เพลิง, ไฟพะเนียง, พลุ เป็นต้น สิ่งที่ลืมกันไม่ลงก็คือพลุของท่านซึ่งเป็นที่ทราบกันดี ในงานพระราชทานเพลิงศพพระเถระผู้ใหญ่ในจังหวัดนี้ ปรากฏว่า พลุของท่านโด่งดังกัมปนาทอยู่ในงานเป็นเยี่ยมเสมอแทบทุกคราวมา
อีกประการหนึ่งท่านมีนิสัยมัธยัสถ์ สิ่งของที่ชำรุดแล้วท่านยังนำกลับมาประดิษฐ์ซ่อมแซมขึ้นใหม่ เช่น ไม้กวาดที่ทำด้วยเส้นปอก้านตาล, ไม้กวาดที่ทำด้วยก้านและเปลือกผลมะพร้าว, กะลามะพร้าวขนาดใหญ่ ๆ ก็ทำกะจ่าตักแกง ที่ชิ้นเล็กรองลงมาก็ทำช้อน ที่ชิ้นเล็กกว่านั้นก็คัดเลือกไว้ทำจักรอะไหล่ตะเกียงลาน และทำลูกดุมในที่สุด นอกจากนี้ ยังแก้ไขทัพพีที่คอหักชำรุด โดยใช้กระดูกม้า, เขาควาย, ไม้แก่นต่อด้าม ทำให้เป็นของน่าดูและใช้การได้ดีต่อไป กับได้ทำมีดบางด้วยเศษเหล็ก, ทองเหลือง, สำหรับใช้ฝานผักผลไม้ โดยที่สุด เข็มเย็บผ้าขนาดต่าง ๆ ก็ทำขึ้นจากเศษเหล็ก, ทองแดง, ทองเหลือง, เข็มจักรเย็บผ้าก็ทำขึ้นจากเศษเหล็กกล้า, สิ่งประดิษฐ์ทั้งนี้ ท่านทำขึ้นแจกเป็นของขวัญแก่ผู้คุ้นเคยนับถือทั้งทางวัดและทางบ้าน ในยามที่บ้านเมืองอยู่ในสถานะสงคราม
งานเลขา ท่านเป็นผู้มีฝีมือเป็นนักจารหนังสือรูปหนึ่ง ในยุคหนังสือขอมปรากฏว่า คัมภีร์ลานจารึกพระธรรมเทศนาอักษรขอมโดยฝีมือของท่านมีอยู่ที่วัดดอนกลอยหลายคัมภีร์ด้วยกัน เช่น คัมภีร์มหาชาติเวสสันดรชาดก คัมภีร์พระปฐมสมโพธิ์, คัมภีร์โพธิ์ปักขิยธรรม, คัมภีร์ปถมสังคีติกถา เป็นต้น
ส่วนในด้านการปกครอง ที่พระคุณท่านได้ปฏิบัติมา ท่านยึดหลักยุติธรรมเป็นมูลฐาน โดยถือคุณธรรมเป็นอำนาจ ไม่กลับถืออำนาจเป็นธรรม เทิดความเป็นธรรมไว้ และคอยกดขี่อธรรม กล่าวคือเมื่อปรากฏว่าผู้ที่อยู่ภายใต้ปกครองมีความประพฤติผิดขนาดเหลือเตือนแล้ว ก็ขจัดข่มขี่โดยควรแก่โทษานุโทษ ส่วนผู้ที่มีความปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ก็ยกย่องส่งเสริมตามควรแก่ฐานานุรูปมิได้เลือกที่รักผลักที่ชัง โดยเห็นแก่หน้าที่หรือพวกจนออกหน้า ผู้ใดทำผิดก็ว่าไปตามผิด ใครถูกก็ว่าไปตามถูก
ลุพุทธศักราช 2498 พรรษาที่ 55 อันเป็นปัจฉิมาวสานกาล แม้ท่านจะชราภาพมากอยู่แล้วแต่ท่านก็ยังอุสาหะมุ่งมั่นฟันฝ่าภัยธรรมชาตินานาประการ อีกทั้งยังต้องอดทนพักแรมอยู่ในป่าดงอันแสนจะกันดารท่ามกลางเหมันตฤดูที่จะหาไม้มาบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะสงฆ์ให้ทันการเฉลิมฉลองพิธี 25 ศตวรรษและในที่สุดภาระกิจการจัดหาและเคลื่อนย้ายไม้ขนาดใหญ่จำนวนมากก็เสร็จสิ้นแต่ยังมิได้ทันดำเนินการงานสร้าง ด้วยความชราภาพตามธรรมดาของสังขารประกอบกับการตรากตรำงานหนักเช่นนั้นสรีระยนต์ของท่านก็เริ่มแปรปรวน มีอาพาธท้องร่วงกระเสาะกระแสะโดยลำดับมา ครั้นถึงวันขึ้น 6-7 ค่ำเดือน 4อาการอาพาธได้ทรุดหนักลงมาก ในวันขึ้น 7 ค่ำ ผู้เขียน(หลวงพ่อปลั่งวัดห้วยรอบ)ได้ไปเยี่ยมและถวายการพยาบาล ขณะที่ไปถึงเวลาใกล้เที่ยงท่านยังแข็งใจลุกขึ้นนั่งถ่ายได้และได้ทำการปลงปริกขารมีกัปปียภัณฑ์ส่วนท่านทั้งหมด อุทิศให้เป็นทุนบูรณสังฆิกเสนาสนะวัดดอนกลอย โดยมอบให้คณะกรรมการสำรวจทำบัญชีเก็บเป็นหลักฐานไว้ ทั้งนี้ท่านได้ปรารภทอดอาลัยในสังขารว่า “อาพาธครั้งนี้เป็นที่สุดในชีวิตของท่าน และจักไม่มีอาพาธครั้งใดที่หนักยิ่งกว่านี้อีก” ต่อมาไม่ช้าก็มีอาการเซื่องซึมลงและได้ขอร้องให้ท่านเอนลงนอนพัก หลังจากนั้นอาพาธก็พลันเปลี่ยนแปลงสำแดงอาการกระตุกแขนขวาเป็นระยะ ๆ นัยน์ตาชักค้างแข็ง แววขุ่นมัว(กระตุกสาวใย) น้ำตาพรากประจำหางตาใบหน้าเปลี่ยนสีซีด,นวล,เขียว,เหลืองสลับกันเวลา 15.00 น.เศษ พิษไข้กำเริบถึงขีดสุด(ขึ้นสมอง) ท่านมีอาการแน่วไปชั่วขณะแล้วกลับได้รู้สึกขึ้นมาอีกวาระหนึ่ง
อนึ่งก่อนที่ระบบความรู้สึกจะยุติลงด้วยพิษไข้ท่านได้สั่งความละล่ำละลักด้วยลิ้นชักจะแข็ง ต้องสำเหนียกฟังถึง 3 ครั้ง จึงจับใจความได้ว่าท่านขอมอบให้ช่วยเป็นธุระดำเนินงานของท่าน ให้ตลอดรอดฝั่งด้วย ดังนั้นจึงถวายความให้เบาใจว่า “หลวงพ่อขออย่าได้วิตกกังวล พวกผมขอรับเป็นธุระจักปฏิบัติตามที่ท่านขอร้องไปจนกว่าจะถึงที่สุดเต็มความสามารถ ขออย่าได้ประมาท จงวางใจให้สงบเถิด”ท่านได้กล่าวอนุโมทนาสาธุการเป็นปัจฉิมกถาว่า “สาธุ สาธุ” พร้อมด้วยยกมือทั้งสองข้างขึ้นประณมไว้กลางอก โดยมิได้ปริคำใดออกมาอีกเลย จนกระทั่งเวลาถึงวันอังคารขึ้น 8 ค่ำ ขึ้นเดือน 4 ตรงกับวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ2498 เวลา 15.00 น.ท่านได้มรณภาพลงด้วยอาการอันสงบ ท่ามกลางหอประชุมวัดดอนกลอย ศิริรวมอายุได้ 78 ปี 55 พรรษา
ปาฏิหาริย์และอิทธิวัตถุมงคล
ในฐานะที่ท่านเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวดอนกลอยและชุมชนใกล้เคียง ท่ามกลางสภาวะสงครามและความหวาดระแวงในยุคสมัยนั้น ชาวบ้านต่างก็ต้องการสิ่งยึดเหนี่ยวทางใจ ดังนั้นในสมัยหลวงพ่อท่านมีชีวิตอยู่ท่านก็ได้จัดทำวัตถุมงคลไว้จำนวนหนึ่งเพื่อสงเคราะห์แก่คณะศรัทธา เท่าที่สืบทราบในรายการหลัก ๆ มีดังต่อไปนี้
พระพิมพ์ดินเผา เป็นพระพิมพ์ชุดแรกและชุดเดียวของท่านที่ท่านสร้างและทำพิธีตามตำรับตำราของท่านพระบูรพาจารย์ไว้เป็นจำนวนมาก แต่พระของท่านจะมีขนาดเล็กกว่า แบบพิมพ์ก็ไม่คมชัดนักคงจะเกิดจากการถอดจากพระต้นแบบอีกที ในด้านเนื้อหาส่วนใหญ่จะดูหยาบ ๆ ฟูๆ แต่บางองค์ที่แก่ไฟเนื้อจะออกดำและแกร่ง ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งก็คือด้านหลังขององค์พระจะปรากฎรอยนิ้วมืออยู่ทั่วไป
แผ่นใบลานลงอักขระ
เป็นเครื่องรางที่หลวงพ่อท่านทำให้สูกศิษย์ในยุคต้น ๆ ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 หรืออาจจะก่อนหน้านั้นเสียด้วยซ้ำ ซึ่งท่านจะตัดใบลานจารอักขระแล้วปลุกเสกให้ โดยมีความกว้างประมาณ 1 ซม. ยาวประมาณ 2 นิ้ว มีรอยจารอักขระอยู่ 8-9 ตัว อ่านได้ใจความว่า “พุทธังอัด ธัมมังอุด สังฆังปิด”
ตะกรุดสาลิกา ของขลังอีกประการหนึ่งนั้นได้แก่ตะกรุดสาลิกา ซึ่งทำจากแผ่นเงินเล็ก ๆ จารอักขระแล้วม้วนเป็นตะกรุดเสร็จแล้วจึงทำการปลุกเสกอีกครั้ง มักจะใส่ตลับสีผึ้งหรือยาหม่องให้ ว่ากันว่าตะกรุดสาลิกาของท่านขลังนักในเรื่องเมตตามหานิยม แคล้วคลาดปลอดภัย และถ้าใครทำไม่ดี ผิดศีลผิดข้อห้าม ตะกรุดที่อยู่ในตลับยาหม่องจะหายไปเองได้อย่างอัศจรรย์
รูปถ่ายรุ่นแรก
และที่เป็นที่นิยมกันนักหนานั่นก็คือ รูปถ่ายหุ้มทองแดง ซึ่งจะเป็นรูปหลวงพ่อห่มเฉียงพาดสังฆาฏินั่งพับเพียบมือทั้งสองข้างวางที่เข่า ทางขวามือมีพัดยศตั้งอยู่ด้านข้างเป็นรูปอัดกระจกเลี่ยมขอบด้วยทองแดงมีห่วงเชื่อมสำหรับคล้องคอ และสันนิษฐานว่าน่าจะจัดสร้างในคราวที่ท่านได้ชั้นพระครูคือเมื่อประมาณปี 2490 นอกจากนี้ก็ยังมีตะกรุดเคียนเอว ผ้าเช็ดหน้า ผ้ายันต์ ซึ่งท่านจะทำให้เป็นรายบุคคลไม่มีมาตรฐานแน่นอนจึงมิได้นำมากล่าวด้วย ส่วนเหรียญรูปท่านครึ่งองค์นั้นทำแจกในวันพระราชทานเพลิงศพเมื่อปี พ.ศ.2500 ในเรื่องอภินิหารจากวัตถุมงคลของหลวงพ่อจูล้วนเป็นที่เชื่อถือกันมาช้านานของชาวบ้านดอนกลอยและบริเวณใกล้เคียง ดังจะยกตัวอย่างบางเหตุการณ์มาเป็นอุทาหรณ์ ดังนี้ประสบการณ์รูปถ่ายหลวงพ่อจู
รายแรกชื่อนางสาวมานิตย์เป็นชาวบ้านดอนกลอยครั้งหนึ่งเธอเคยคิดสั้น เนื่องจากผิดหวังจากความรักและรู้สึกเสียใจมาก จึงคิดฆ่าตัวตายด้วยการยิงตัวเองด้วยอาวุธปืน ลูกโม่ รีวอลโล่.22 หันปากกระบอกจ่อหัวตัวเองแล้วตัดสินใจลั่นไก ปรากฏว่าดินปืนไม่จุดระเบิดถึง 2 ครั้ง ด้วยความสงสัยว่า ลูกปืนมีปัญหารึเปล่าจึงหันปากกระบอกปืนไปทางอื่น แล้วลั่นไกเสียงดังโป้ง ดินปืนทำงานตามปกติ จึงหันปากกระบอกจ่อขมับตัวเองอีกครั้งแต่ผลปรากฏว่า แชะ แชะ ดินปืนไม่ทำงานเหมือนเดิม เป็นเวลาเดียวกันที่คุณแม่ของ นางสาวมานิตย์เข้ามาห้ามไว้พอดี การรอดชีวิตเพราะความขาดสติยั้งคิดในครั้งนี้เชื่อว่าเกิดจากอิทธิฤทธิ์จากรูปถ่ายหุ้มฝาบาตรของหลวงพ่อจูที่ห้อยคออยู่เพียงองค์เดียว เธอจึงมีชีวิตอยู่จนถึงปัจจุบัน และได้ถือเพศรักษาพรหมจรรย์ด้วยการบวชชี
อีกรายหนึ่งชื่อ นายฝน เกิดสุวรรณ ชาวบ้านดอนกลอย หมู่ 6 ได้เคยทดลองยิงห่อผ้าซึ่งภายในมีพระเครื่องต่าง ๆ ประมาณ 30 องค์ ห่อผ้าไว้ แล้วใช้ปืนแก๊ปบรรจุลูกตะกั่วประมาณ 20 – 30 ลูก โดยประมาณ ปรากฏว่ายิงออกกลุ่มลูกกระสุนประทะกับห่อพระกระจุยกระกระจายไปคนละทิศคนละทาง เมื่อยิงเสร็จแล้วนายฝนก็ไปดูผลงานให้แน่ใจอีกครั้ง แต่เมื่อมองไปยังบริเวณที่ห่อผ้าวางอยู่เขาถึงกับขนลุกทั้งตัวเพราะมีเพียงรูปถ่ายหลวงพ่อจูเพียงองค์เดียวเท่านั้น ที่อยู่รอดปลอดภัย จากกลุ่มลูกกระสุนนับสิบจึงเป็นที่หวงแหนยิ่งนัก
ประสบการณ์พระพิมพ์ดินเผาหลวงพ่อจู
อีกรายหนึ่งเป็นภรรยาของ จสอ. จอม เนียมคำ มีอาชีพค้าชาย อยู่ที่บ้านขุนจัด ในวันเกิดเหตุ คนร้ายทำทีว่าจะมาซื้อของ แต่ฝ่ายภรรยา สังเกตเห็นว่ามีพิรุธจึงไหวตัวจะหลบเข้าหลังร้าน คนร้ายจึงชักปืนลูกซองสั้น ยิงถูกบริเวณไหล่ซ้าย แต่ผลปรากฏว่า ความแรงของลูกปืน ไม่สามารถเข้าไปในผิวหนังของเธอได้ นอกจากจะทำให้เกิดรอยช้ำเป็นจ้ำ ๆ เท่านั้นเอง (ลงข่าว นสพ. ไทยรัฐด้วย)

ขอขอบพระคุณ ท่านฝุ่นดิน ที่เอื้อเฟื้อข้อมูล ขอบุญกุศลส่งผล
ให้ถึงพระนิพพานด้วยเทอญ

Pantown.com ใช้คุกกี้ (cookies) หรือไฟล์ข้อมูลขนาดเล็กเพื่อจดจำการเข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเรา จดจำความชอบและความสนใจเพื่อการแสดงผลให้สอดคล้องกับความชอบและความสนใจของผู้เข้าใช้งาน เพื่อเร่งความเร็วในการแสดงผลของข้อมูล เพื่อวิเคราะห์และนำเสนอโฆษณา รวมถึงเพื่อความสะดวกในการให้บริการต่างๆในเว็บไซต์ของเรา โดยคุกกี้นี้จะถูกดาวน์โหลดเก็บไว้ในอุปกรณ์ของผู้เข้าใช้งานเพื่อระบุอุปกรณ์การใช้งานของผู้เข้าใช้ แต่จะไม่ระบุตัวบุคคลผู้เข้าใช้งาน ทั้งนี้การวิเคราะห์อาจทำโดยบุคคลอื่นที่ให้บริการหรือได้ รับมอบหมายให้กระทำการแทนในนามของ Pantown.com เช่น Google Analytics เป็นต้น