![]() |
| ![]() ![]() ![]() |
tidn1amulet-uthaithanee.pantown.com : ทิดหนึ่งพระเครื่อง,คนดนตรี | [ลูกบ้านSignIn][เจ้าบ้านSignIn] |
   พระอุปกิตธรรมสาร หลวงพ่อปลั่ง วัดห้วยรอบ
ตำแหน่งหน้าที่การงาน พ.ศ.2475 เป็นผู้รักษาการเจ้าอาวาสวัดโพธิ์ศรีศรัทธาธรรมและสอน นักธรรมตรี โท ณ สำนักเรียนวัดศรีสิทธการาม พ.ศ.2480 เป็นครูสอนบาลี ไวยากรณ์และครูสอนธรรมบท ครูสอนนักธรรม เอก ในสำนักเรียนวัดพิชัยปุรณาราม พ.ศ.2482 (กรกฎาคม) เป็นเจ้าอาวาสวัดห้วยรอบ อำเภอหนองขาหย่าง จังหวัดอุทัยธานี พ.ศ.2482 เป็นผู้ช่วยเจ้าคณะอำเภอหนองขาหย่าง และเป็นครูสอนประจำ สำนักเรียนวัดห้วยรอบ เป็นเจ้าอาวาสและต้องไปสอนซ่อม นักเรียนธรรมบาลีที่วัดพิชัยปุรณารามอีก 1 ปี พ.ศ.2482 (ตุลาคม 8) เป็นกรรมการสงฆ์จังหวัดอุทัยธานี ฝ่ายองค์การศึกษา จังหวัดอุทัยธานี พ.ศ.2485 เป็นผู้รั้งตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอหนองขาหย่าง เป็นพระอุปัชฌาย์ ประจำอำเภอหนองขาหย่าง พ.ศ.2487 เป็นคณะกรรมการตรวจนักธรรมตรีสนามหลวงและเป็น กรรมการบาลีสนามหลวงจังหวัดอุทัยธานี พ.ศ.2489 (มีนาคม 1)ได้รับสัญญาบัตร มีราชทินนามว่า พระครูอุปกิต ธรรมปฏิเวช พ.ศ.2500 (ธันวาคม 5) ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้น สามัญที่ พระอุปกิตธรรมสาร ภาระทางศาสนกิจ พระเดชพระคุณหลวงพ่อ ได้ปฏิบัติภารกิจทางศาสนาอย่างเคร่งครัดและดียิ่ง เป็นไปตามระเบียบแบบแผนของมหาเถรสมาคมอย่างดี เป็นแบบอย่างที่ดีกับคณะสงฆ์โดยทั่วไป ทำนุบำรุงถาวรวัตถุและสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ศาลาการเปรียญที่ก่อสร้างใหม่ ท่านก็ไม่ใช้ชื่อว่าศาลาการเปรียญ เพราะถ้าใช้ชื่อนั้นแล้วจะเป็นของวัดไม่มีใครกล้าใช้สอยไปในทางอื่น ท่านจึงให้ชื่อว่าอาคารเอนกประสงค์ คือท่านมีความประสงค์ที่จะให้ใช้ได้ทั่วไปทั้งหน่วยงานราชการและกลุ่มชาวบ้าน ประชาชน หลวงพ่อไม่มีนโยบายให้ชาวบ้านออกไปบอกบุญเรี่ยไรนอกวัด แม้กระทั่งที่จะออกไปบอกบุญโดยกั้นที่ถนนทางสาธารณะต่าง ๆ ก็ไม่ยอมให้ออกไป เพราะผิดระเบียบ ท่านจะทำและพัฒนาตามกำลังศรัทธาของชาวบ้านหรือบุคคลอื่นที่จะมาทำบุญทอดผ้าป่าหรือกฐินเท่านั้น ดังนั้นการก่อสร้างต่าง ๆ เช่น โบสถ์ ศาลา บางครั้งจึงช้าไปบ้าง ท่านจะรอให้มีปัจจัยพอเสียก่อนจึงจะลงมือทำเป็นต้น หลวงพ่อท่านมีความรู้กว้างขวาง โดยเฉพาะวิชาช่าง ท่านเป็นสถาปนิก เป็นนักออกแบบชั้นยอด ท่านมีความรู้ความสามารถเกี่ยวกับการออกแบบการก่อสร้างต่าง ๆ เช่น ศาลาการเปรียญ หอประชุม กุฏิ เมรุ ท่านจะออกแบบเองทั้งสิ้น ผลงานชิ้นเอกที่ท่านร่วมออกแบบคือการสร้างมณฑปบนยอดเขาสะแกกรัง ท่านได้แสดงถึงความเป็นอัจฉริยะทางช่างและการออกแบบอย่างยิ่ง คือลวดลายดอกประจำยามบนเพดานของมณฑปที่จะให้เป็นรูปลอยนูนออกมาจากพื้น ปรากฏว่าช่างผู้สร้างไม่สามารถทำได้ แต่หลวงพ่อสามารถออกแบบให้ช่างทำให้มีดอกประจำยามลอยนูนออกมาจากพื้นได้ ไม่ผิดเพี้ยนกับช่างมืออาชีพ อีกสิ่งหนึ่งคือท่านสามารถแกะดวงตราประทับในการสอบธรรมสนามหลวงของมหาเถรสมาคมจากงาช้าง ท่านทำได้ประณีตสวยงามไม่แพ้มืออาชีพ แม้ท่าจะประดิษฐ์ด้วยมือท่านเองก็ตาม รวมถึงการเขียนยันต์บนแผ่นทองแดงให้กับวัดและหน่วยงานต่าง ๆ เช่นกรมการศาสนา มหาเถรสมาคม วัดต่าง ๆ ที่รู้จักฝีมือท่านได้ส่งมาให้ท่านเขียนปีหนึ่ง ๆ มีจำนวนไม่น้อย ท่านบอกว่าการเขียนยันต์นี้เขียนยาก ต้องมีความรู้อักขระภาษาขอมอยู่ด้วยเป็นงานที่ละเอียดประณีตอย่างยิ่ง การเขียนต้องใช้สมาธิ ความตั้งใจ ความอดทน เพราะเมื่อใช้เหล็กแหลมลากเส้นออกไปแล้วจะต้องลากไปเรื่อย ๆ จะยกมือหรือหยุดไม่ได้ เมื่อลากจบเส้นแล้วจะต้องมาร่วมบรรจบกันกับเส้นแรก แสดงว่าท่านมีความรู้ความสามารถจนได้รับวามไว้วางใจจากหน่วยงานต่าง ๆ และผู้รู้จักคุ้นเคยเป็นอย่างดี ท่านเป็นนักข่าว นักประชาสัมพันธ์ นักเทศน์ที่ยากจะหาใครเปรียบได้ในยุคเดียวกัน หลวงพ่อเป็นพระที่รู้เท่าทันกับเหตุการณ์ของโลก เพราะเป็นนักฟังข่าวจากวิทยุกระจายเสียง จากโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ ท่านเป็นพระที่บุกเบิกรุ่นแรก หรือองค์แรกในชนบทห่างไกล ท่านนำสื่อวิทยุมาใช้ในวัดตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะนั้นความเจริญในด้านข่าวสารมีน้อยมาก โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์มีน้อย วิทยุก็ยังมีไม่แพร่หลาย หลวงพ่อเป็นพระที่มีความคิดที่ก้าวไกล ได้ซื้อวิทยุมาใช้ที่วัดเครื่องหนึ่งเพื่อใช้เปิดฟังข่าว พอตกค่ำเลิกงานแล้ว ชาวบ้านจะมารวมตัวกันที่วัดเพื่อรอฟังข่าว และมาเป็นเพื่อนเสวนากับท่าน จึงเป็นที่ตื่นตาตื่นใจกับชาวบ้านเป็นอย่างยิ่งที่มีของใหม่ คือวิทยุมาให้ฟังข่าว ทำให้รู้เท่าทันกับเหตุการณ์ของโลก ผู้ที่ไม่ได้มาฟัง ท่านก็จะสรุปในรอบสัปดาห์ว่ามีข่าวอะไรที่น่าสนใจบ้าง มาเล่าสู่ให้ชาวบ้านฟังตอนท่านเทศน์ระหว่างพระฉันข้าวในวันพระทุกวันพระ นอกจากนี้ท่านยังเป็นพระธรรมทูตชุดแรกของจังหวัดอุทัยธานี ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระธรรมทูตชุดแรก ที่จะออกไปเทศน์สอนโปรดประชาชนตามอำเภอต่าง ๆ ตามนโยบายของกรมการศาสนาและมหาเถรสมาคม ท่านจึงเป็นชุดบุกเบิกและทำงานได้ผลดีมาก ท่านจึงเป็นที่รู้จักและเคารพจากประชาชนทั่วไป การเทศน์สอนพุทธศาสนิกชนท่านจะใชัหลักธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นหลักในการสอน และสอดแทรกอุทาหรณ์สอนใจ อุปมาอุปไมยเปรียบเทียบให้มองเห็นชัดเจนยิ่งขึ้น ดังนั้นผู้ฟังจะไม่เบื่อและมีอารมณ์ร่วมกับท่านไปด้วย ท่านยังเป็นศิลปินมีความรู้ในการฟังดนตรีไทยได้เป็นอย่างดี เมื่อดนตรีไทยไปบรรเลง ท่าจะสนใจฟังและสามารถวิจารณ์การบรรเลงของวงได้ว่าเล่นเป็นอย่างไร แม้แต่วิทยุกระจายเสียงท่านก็ยังนำมาวิจารณ์ได้อย่างมีเหตุผล แสดงว่าท่านมีสุนทรีย์ในการฟังที่ดีเยี่ยม ท่านเคยเล่าว่าเมื่อตอนเล็ก ๆ ท่านเคยหัดเล่นดนตรีไทย ติดตามวงไปเล่นตามที่ต่าง ๆ ท่านจึงมีความรู้ นับว่าท่านเป็นศิลปินท่านหนึ่งที่มองเห็นคุณค่าของดนตรีได้อย่างถ่องแท้ทีเดียว
สำหรับทางด้านเครื่องรางของขลังนั้น ท่านไม่ค่อยจะสนับสนุนนัก นอกจากเฉพาะบางโอกาสสำคัญ ๆ เท่านั้นที่ท่านจะอนุญาตให้สร้างได้เป็นครั้งคราวไป แต่การอนุเคราะห์สงเคราะห์สำหรับวัดต่าง ๆที่ได้นิมนต์ท่านไปนั่งในพิธีพุทธาภิเษกท่านก็ไม่ขัด ซึ่งเป็นที่ทราบดีกันว่าในพิธีพุทธาภิเษกของวัดบวรฯทุก ๆ รุ่นนั้นจะต้องนิมนต์ท่านไปด้วย(บางคราวมีผู้เล่าว่าเห็นท่านไปนั่งปรกในพระอุโบสถวัดบวรฯ ในตอนกลางคืนทั้งคืน แต่ตอนเช้าท่านก็ยังฉันอยู่ที่วัดห้วยรอบ) มีชาวอุทัยธานีหลายกลุ่มที่ไปกราบนมัสการหลวงพ่อคูณวัดบ้านไร่ หลวงพ่อคูณถามว่า มึงมาจากไหน พอหลวงพ่อคูณทราบก็พูดกับผู้ที่ไปหาว่า ของดีเมืองอุทัยก็มีอยู่แล้ว ทำไมพวกมึงไม่ไปหาหลวงพ่อปลั่งวัดห้วยรอบ หลวงพ่อเสน่ห์ วัดสว่างอารมณ์ นั่นแหละของดี ไม่ต้องเลยมาหากูดอก ดังนั้นเครื่องรางของขลังของหลวงพ่อปลั่ง จึงเป็นที่เคารพสักการะของบรรดาศิษย์และพุทธศาสนิกชนทั่วไป อภินิหารที่ปรากฏเป็นที่ประจักษ์ทั้งในแวดวงของชาวบ้าน วงการทหาร ตำรวจ หมู่ข้าราชการทั่วไป แม้ชื่อเสียงของท่านจะไม่โด่งดังเหมือนเช่นเกจิอาจารย์บางท่านก็ตาม แต่ใครรู้ใครทราบกิตติศัพท์แล้วต้องติดตามมาหาเครื่องรางของขลังจากวัดห้วยรอบมิขาด เป็นต้นว่า ตะกรุด มีดหมอ พระสมเด็จ พระปิดตา รูปเหมือน เป็นต้น โดยส่วนตัวของ ทิดหนึ่ง เอง มีความสนิทสนมกับท่านพอสมควรตั้งแต่ยังเด็ก เพราะทิดหนึ่งเกิดที่บ้านห้วยรอบ ถึงแม้จะย้ายมาอยู่อำเภอหนองฉางแต่เสาร์อาทิตย์ หากมีเวลาจะขี่รถจักรยานไปบ้านยาย ที่ห้วยรอบเสมอ งานบุญใหญ่ ก็จะไปทำบุญกับหลวงพ่ออยู่เป็นนิจ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านยังเป็นพระอุปัชฌาย์ของทิดหนึ่งตอนบวชด้วย ในสมัยเด็ก ๆ ทิดหนึ่งและน้องชาย ได้ไปกราบท่านอยู่บ่อยครั้ง ไปขอพระเครื่องจากท่านบ้าง ท่านก็อนุเคราะห์มอบให้เรื่อยมา ท่านจะถามอยู่บ่อย ๆ ว่า ลูกใคร(แม้กระทั่งโตแล้ว) เราก็จะบอกว่า ผมหลานยายสวิง ลูกคนโน้นคนนี้ ท่านก็จะนึกได้ ไถ่ถามสารทุกข์สุกดิบกันอย่างเป็นกันเอง ทางด้านวิชาอาคมนั้นเคยสอบถามท่าน ๆ ท่านก็บอกอยู่บ้างเหมือนกัน เช่น เวลาท่านท่องคาถาบทหนึ่ง จำได้ตอนนั้นทิดหนึ่งยังบวชเป็นพระอยู่นำของไปให้ท่านช่วยเมตตาปลุกเสกให้ เมื่อท่านท่องเสร็จ ท่านก็จะบอกว่านี่เป็นคาถาหลวงพ่อพลอย วัดห้วยขานางนะหรือตอนที่ทิดหนึ่งวาดรูปหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า ขนาดสูง 2 เมตรเขียนยันต์เองเสร็จแล้วก็นำไปให้ท่านช่วยปลุกเสก ท่านเห็นยันต์ก็ชมว่าสวยดี แต่จะให้เสกท่านบอกว่าเสกไม่ได้เพราะเป็นครูบาอาจารย์ ลูกศิษย์จะเสกครูได้อย่างไร แต่ท่านก็เมตตาประพรมน้ำมนต์ให้ ตอนนั้นทิดหนึ่งก็ไม่ได้ซักถามท่านเท่าใดนักว่าท่านเรียนวิชาจากหลวงปู่ศุขหรือไม่อย่างไร แต่ลูกประคำที่ท่านแขวนท่านเองบอกว่าเป็นของหลวงปู่ศุข วัดปากคลอง ซึ่งดูเก่ามาก เครื่องรางอีกอย่างที่เป็นที่หวงแหนกันมากของหลวงพ่อปลั่งคือ ตะกรุดเนื้อตะกั่ว ซึ่งขณะท่านยังแข็งแรงท่านบอกว่าต้องเขียนเองจารยันต์เอง และต้องจุดเทียนเขียนเท่านั้น จึงเขียนได้ไม่มากนัก มีประสบการณ์มากมายจากผู้ที่ได้รับและนำติดตัว และเรื่องเล่าของตะกรุดของหลวงพ่อปลั่งนี่เองที่มีปาฎิหารย์ที่ท่านต้องได้รับนิมนต์ไปปลุกเสกวัตถุมงคลของวัดบวรฯ หรือนิมนต์ให้ท่านจารอักขระบนแผ่นโลหะที่จะนำไปทำพิธีที่วัดบวรฯทุกรุ่นก็ว่าได้ วัตถุมงคลที่เป็นที่นิยม และแสวงหาในหมู่ลูกศิษย์อย่างมากก็คือ เหรียญรุ่นแรก 2502 ออกโดยกรมการศาสนาเนื่องในโอกาสที่ท่านได้รับพระราชทานเป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ(2500) มีจำนวนน้อย เพราะปั๊มออกมาไม่กี่เหรียญบล็อกก็เริ่มแตก จึงหายากมาก ปกติพลวงพ่อจะมีสุขภาพพลานามัยสมบูรณ์ดี สามารถรับกิจนิมนต์ได้ตลอดเวลา แต่ในช่วงระยะหลังท่านเป็นต่อมลูกหมากโตและได้ทำการผ่าตัดจากโรงพยาบาลก็ทุเลาไปบ้างเป็นบางช่วงบางเวลา ตอนหลังก็มีอาการอ่อนเพลียทางวัดนำท่านส่งโรงพยาบาลปากน้ำโพ แพทย์นำเข้าห้อง ไอซียู อยู่ระยะเวลาหนึ่งและอนุญาตให้กลับวัดได้ อาการท่านรู้สึกจะดีขึ้น แต่ยังต้องให้อาหารทางสายยางอยู่ เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2542 ตอนเช้าผู้เฝ้าพยาบาลก็ให้อาหารท่านได้มากพอสมควร แต่กำลังท่านรู้สึกว่าจะอ่อนลงมาก เมื่อเวลา 14.00 น. พระเดชพระคุณหลวงพ่อก็มรณภาพด้วยอาการสงบ สิริรวมอายุได้ 90 ปี 3 เดือนเศษ นับเป็นการสูญเสียบุคลากรทางวงการสงฆ์ของจังหวัดอุทัยธานีครั้งหนึ่งเลยทีเดียว |