เจดีย์พญาครุฑ (เจดีย์ยักษ์)
เจดีย์ยักษ์
สถาปัตยกรรมที่นับว่าเป็นชิ้นเอกของกรุงรัตนโกสินทร์ ดังได้กล่าวมาแล้วในตอนต้นของบทความนี้คือ สถาปัตยกรรมที่อยู่ด้านขวาของหน้าพระอุโบสถ คืออยู่ตรงแนวกับถนนเข้าวัด ในความเป็นจริงยังไม่สามารถระบุได้ว่าสถาปัตยกรรมชิ้นนี้เป็นอะไร ตามเอกสารของวัดเรียกสถาปัตยกรรมชิ้นนี้ว่า เจดีย์ยักษ์ แต่จากคำบอกเล่าของพระสงฆ์ผู้มีอายุของวัดนี้ เรียกว่า กุฎยักษ์ และจากความเห็นของ น ณ. ปากน้ำ เรียกว่า หอระฆัง ตามหลักฐานของวัดและจากการเรียกของพระสงฆ์นั้นจะมีคำว่า ยักษ์ ก็คงเนื่องจากสถาปัตยกรรมชิ้นนี้มีรูปปั้นยักษ์ประดับอยู่ตรงส่วนฐาน ส่วนจากความเห็นที่ว่าเป็นหอระฆังนั้น เราต้องพิจารณาดูลักษณะประกอบด้วย ตามสภาพปัจจุบันเมื่อพิจารณาดูสถาปัตยกรรมนี้ จะมีลักษณะเป็นหอระฆังแน่นอน แต่เมื่อได้พิจารณาถึงสภาพในปัจจุบันแล้วไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นหอระฆัง เพราะไม่มีร่องรอยของพื้นชั้นที่ ๒ ไม่มีร่องรยของบันไดทางขึ้น และตรงส่วนบนสุด ซึ่งเป็นการก่ออิฐ เป็นโครงสร้างห้องกลมนั้น ไม่มีร่องรอยของการวางคานเป็นกากบาทสำหรับแขวนระฆังเลย รวมทั้งห้องภายในก็มีลักษณะกลม มีรัศมีที่แคบมากด้วย
ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของสถาปัตยกรรมชิ้นนี้ เป็นแบบก่ออิฐถือปูน ส่วนฐานเป็นช่องโค้งแหลมทั้ง ๔ ด้าน โดยวิธีก่ออิฐเหลื่อมกัน กรอบของช่องโค้งนี้ มีรูปครุฑเหยียบนาคทั้ง ๔ ช่อง ช่องละตัว เป็นครุฑ ๔ ตัว นาคที่ถูกเหยียบ ๘ ตัว ตรงมุมล่างติดพื้นดินจะมีรูปปั้นยักษ์ยืนประจำทั้ง ๔ มุม มุมละ ๔ ตน ระดับสะเอวขอวครุฑที่เป็นหน้ากระดานนั้น ตรงมุมจะมีรูปเทพพนมตั้งประดับ มุมละ ๑ องค์ เหนือศีรษะของครุฑจะเป็นส่วนของเรีอนธาตุ ในแต่ละด้านของเรือนธาตุ จะมีช่องโค้งแหลมเหมือนช่องที่ส่วนฐาน กรอบของซุ้มจะเป็นรูปมกรคาบอะไรสักอย่างหนึ่ง ที่ไม่อาจบอกได้เพราะบุบสลายหมดแล้ว แต่ตามหลักฐานของวัดว่า มีคชสารอีก ๘ ตัว อาจจะเป็นส่วนที่ถูกคาบนี้ก็ได้
ส่วนยอดที่อยู่เหนือเรือนธาตุขึ้นไปจะเป็นลักษณะของเจดีย์เหลี่ยมย่อไม้สิบสอง โดยมีฐานสิงห์ ๑ ชั้น แล้วจึงถึงบัวปากฐานก่อนที่จะถึงองค์ระฆัง ซึ่งคงเหลืออยู่เพียงบังลังก์เท่านั้น แต่ส่วนยอดที่หายไปก็คงหนีไม่พ้นประเพณีของสถาปัตยกรรม เช่นบัวกลุ่ม ๓ ๗ ชั้น แล้วจึงเป็นปลี ลูกแก้ว ปลียอด และเม็ดน้ำค้างที่อยู่บนสุด หรืออีกแบบหนึ่งที่ไม่มีลูกแก้ว แต่เป็นปลีตลอดจนถึงเม็ดน้ำค้างทีเดียว
การประดับตกแต่ง โดยส่วนรวมทั้งองค์จะประดับไปด้วยกระเบื้องแตก กระเบื้องสี เครื่องถ้วย เป็นลวดลายต่าง ๆ ทั้งของสถาปัตยกรรมและเสื้อผ้าทรงครุฑ ยักษ์ และองค์ประกอบอื่น ๆ ด้วย