watprayathum.pantown.com : วัดพระยาทำ
[ลูกบ้านSignIn][เจ้าบ้านSignIn]

   โบราณสถาน โบราณวัตถุ วัดพระยาทำวรวิหาร

พระอุโบสถ

เป็นพระอุโบสถสมัยอยุธยาตอนปลาย เพราะฐานของพระอุโบสถบ่งบอกลักษณะอยู่ ฐานมีลักษณะตกท้องช้างหรือหย่อนท้องสำเภา แต่ทว่าลักษณะดังกล่าวก็เป็นเพียงลักษณะของสถาปัตยกรรมเพียงสิ่งหนึ่งเท่านั้น ลักษณะสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยาตอนปลายยังมีลักษณะพิเศษอื่น ๆ อีกหลายอย่าง จึงไม่สามารถยืนยันได้แน่นอนว่าเป็นสมัยอยุธยาตอนปลายได้ชัดเจนนัก เพราะไม่สามารถยึดถือได้จากลักษณะของหลังคาและโครงสร้างหลังคา ลักษณะของหลังคาไม่เหลือร่องรอยของสถาปัตยกรรมอยุธยาเลย โครงสร้างก็ไม่สามารถมองเห็นได้ แต่เท่าที่สังเกตจากโครงสร้างที่ยื่นออกมาจากหน้าบันที่เป็นส่วนของไขรา ไม่มีลักษณะของโครงสร้าง เช่น การวางขื่น วางแปเลย จึงเชื่อแน่ว่า พระอุโบสถหลังนี้ ถ้าเป็นสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยา ก็คงได้รับการซ่อมแซมบูรณปฏิสังขรณ์มาหลายยุคหลายสมัยแล้ว

ผังพื้นมีลักษณะสี่เหลี่ยมผืนผ้า จำนวน ๗ ห้อง หรือ ๗ ช่วงเสา มีมุขหน้าหลังด้านละ ๑ ช่วงเสา ผังพื้นมีลักษณะธรรมดาเหมือนพระอุโบสถโดยทั่วไป มีบันไดทางขึ้นลง ตรงด้านข้างของมุข มุขละ ๒ บันได ฐานของพระอุโบสถ มีลักษณะตกท้องช้างเพียงเล็กน้อย ชนิดฐานสิงห์ แต่ไม่สมบูรณ์ เพราะตรงมุขไม่มีเท้าสิงห์อยู่เลย ส่วนฐานของมุขหน้าหลังเป็นชนิดฐานบัวคว่ำบัวหงาย พื้นที่สำหรับทำสังฆกรรมมีประตูทางเข้าออกด้านละ ๒ ประตู หน้าต่างด้านละ ๗ หน้าต่าง ซุ้มประตูและหน้าต่างเป็นแบบซุ้มบันแถลง ๒ ชั้น ส่วนหลังคานั้นเป็นชนิด ๒ ซ้อน จำนวนพื้นหลังคา ๓ ตับ ตับที่ ๓ มีคันทวยรับ เครื่องปิดเครื่องมุงหลังคาเป็นชนิดเครื่องลำยอง ช่อฟ้าชนิดปากนก ตัวลำยองตรงนาคสะดุ้งนั้นเป็นลักษณะพิเศษ เพราะมีนาคสะดุ้งถึง ๒ ครั้ง แล้วจึงเป็นงวงไอยรา การแบ่งจังหวะของใบระกาแบ่งได้สวยงามทีเดียว มีไม้ร้อยยึดแต่ละใบยังสมบูรณ์มาก หางหงส์เป็นชนิดเอนออก ไม่ตั้งฉาก ตับที่ ๒ และตับที่ ๓ ตัวลำยองมีงวงไอยราด้วย เครื่องลำยองนี้เป็นชนิดปิดกระจกสี

การตกแต่งส่วนหน้าบันเป็นลวดลายแกะไม้รูปพระนารายณ์ทรงช้างเอราวัณ มีฉัตรทอง ๕ ชั้นอยู่เบื้องบน ช่างแกะสลักนับว่ามีฝีมือมาก แต่การแกะการผูกลายประกอบไม่ได้จังหวะ และไม่สวยงาม คล้ายใช้ช่างคนละฝีมือทำ ใต้หน้าบันมีกระจังฐานพระชนิดเรียบไม่ยกเก็จ มีกระจังประดับทั้งด้านบนและด้านล่าง ตอนล่างของกระจังฐานพระ ไม่มีการประดับด้วยลายสาหร่ายรวงผึ้ง แต่เป็นลายชนิดพิเศษไม่เหนือนกับพระอุโบสถหลังอื่น

ฝาผนังภายในมีจิตรกรรมฝาผนังเพียงเล็กน้อย ที่ผนังด้านหลังของพระประธาน ส่วนผนังด้านอื่นเป็นลายดอกไม้ร่วง วางจังหวะห่าง ๆ กัน บานประตูหน้าต่างด้านในเป็นรูปทวารบาลที่มีฝีมือพอใช้ได้

เจดีย์ย่อไม้สิบหก

ด้านหน้าข้างซ้ายของพระอุโบสถ ปรากฏว่ามีเจดีย์เหลี่ยม ชนิดย่อไม้สิบหกอยู่ ๒ องค์ ทั้ง ๒ องค์ในสภาพปัจจุบันมีลักษณะเหมือนกันมาก โดยปกติปรางค์หรือเจดีย์นั้นจะแบ่งสัดส่วนออกเป็น ๓ ส่วน คือ ส่วนฐาน ส่วนเรือนธาตุ และส่วนยอด ส่วนยอดของเจดีย์ทั้ง ๒ องค์นี้ ชำรุดหมด และมีการซ่อมจนไม่อยู่ในลักษณะของสถาปัตยกรรม องค์หน้าเหลือบัวกลุ่มอยู่เพียง ๒ ชั้น และทั้ง ๒ ชั้น ได้สร้างขึ้นใหม่ ตอนล่างของส่วนยอดยังมีบัวถลา และคอฐานยอดที่สมบูรณ์ ตั้งแต่บังลังก์จนถึงส่วนล่างขององค์ระฆังยังอยู่ในลักษณะที่สมบูรณ์และสวยงาม ตามมุมของย่อไม้มีลายปั้นปูนประดับจนถึงบัวปากฐานส่วนฐานจะมีฐานสิงห์ซ้อนกัน ๒ ชั้น ฐานสิงห์นั้นเป็นองค์ประกอบของสถาปัตยกรรมที่สำคัญมาก สำหรับเจดีย์ทั้ง ๒ องค์นี้ ฐานสิงห์มีส่วนสัดและลายละเอียดที่งดงามมาก ตั้งแต่หน้ากระดานบน เส้นลวด บัวหงาย เส้นลวด ท้องไม้ เส้นลวด บัวหลังสิงห์ เท้าสิงห์ และเส้นลวดอันเป็นส่วนล่างสุด ความสวยงามของฐานสิงห์ของเจดีย์นี้ คือส่วนของเท้าสิงห์ เพราะมีสัดส่วนและกาบตรงแข้งสิงห์ที่มีความสวยงามเทียบได้กับเท้าสิงห์ของฐานสิงห์ที่หอไตร วัดศาลาปูน อยุธยา ซึ่งนับว่าเป็นฐานสิงห์สมัยอยุธยาที่สวยงามและสมบูรณ์แบบมาก ฐานล่างลงมาเป็นฐานหน้ากระดานมีหลักฐานรูปแบบ แต่ดูไม่ออกว่าเป็นกระบี่หรือมารแบก ล่างสุดเป็นฐานเขียงเรียบ ๆ

Pantown.com ใช้คุกกี้ (cookies) หรือไฟล์ข้อมูลขนาดเล็กเพื่อจดจำการเข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเรา จดจำความชอบและความสนใจเพื่อการแสดงผลให้สอดคล้องกับความชอบและความสนใจของผู้เข้าใช้งาน เพื่อเร่งความเร็วในการแสดงผลของข้อมูล เพื่อวิเคราะห์และนำเสนอโฆษณา รวมถึงเพื่อความสะดวกในการให้บริการต่างๆในเว็บไซต์ของเรา โดยคุกกี้นี้จะถูกดาวน์โหลดเก็บไว้ในอุปกรณ์ของผู้เข้าใช้งานเพื่อระบุอุปกรณ์การใช้งานของผู้เข้าใช้ แต่จะไม่ระบุตัวบุคคลผู้เข้าใช้งาน ทั้งนี้การวิเคราะห์อาจทำโดยบุคคลอื่นที่ให้บริการหรือได้ รับมอบหมายให้กระทำการแทนในนามของ Pantown.com เช่น Google Analytics เป็นต้น