พระที่นั่งอนันตสมาคม
พระที่นั่งอนันตสมาคม อาคารหินอ่อนศิลปะสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก เริ่มก่อสร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 ด้วยทรงมีพระราชประสงค์ที่จะสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่รับรองแขกเมือง และใช้สำหรับประชุมปรึกษาราชการแผ่นดิน ภายหลังจากที่สร้างพระที่นั่งอัมพรสถานในเขตพระราชวังดุสิตเสร็จแล้วในปี พ.ศ.2449 โดยทรงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เป็นแม่กองจัดการก่อสร้าง ให้นายมาริโอ ตามานโญ (Mario Tamagno) สถาปนิกชาวอิตาลีเป็นนายช่างออกแบบ และนายอันนิบาลเล ริกอตติ (Annibale Rigotti) เป็นสถาปนิก
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินวางศิลาฤกษ์ในวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2451 พร้อมทั้งพระราชทานชื่อพระที่นั่งว่า "พระที่นั่งอนันตสมาคม" ซึ่งเป็นชื่อพระที่นั่งองค์หนึ่งภายในพระอภิเนาว์นิเวศน์ พระบรมมหาราชวังที่สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ด้วยสภาพที่ทรุดโทรมยากแก่การบูรณะจึงได้รื้อลง
พระที่นั่งอนันตสมาคม เป็นพระที่นั่งที่สร้างขึ้นตามสถาปัตยกรรมแบบอิตาเลียนเรอเนสซองส์ (Italian Renaissance) และแบบนีโอคลาสสิก (Neo Classic) ภายนอกประดับด้วยหินอ่อนซึ่งสั่งมาจากเมืองคาราร่า (Carara) ประเทศอิตาลี องค์พระที่นั่งเป็นอาคารหินอ่อนสองชั้น มีโดมสูงใหญ่อยู่ตรงกลาง และมีโดมเล็กๆ โดยรอบอีก 6 โดม ส่วนกว้างขององค์พระที่นั่งประมาณ 47.49 เมตร ส่วนยาวประมาณ 112.50 เมตร และส่วนสูงประมาณ 47.49 เมตร ชั้นบนเป็นห้องโถงขนาดใหญ่ แบ่งเป็นท้องพระโรงหน้าและท้องพระโรงหลัง บนเพดานโดมของพระที่นั่ง มีภาพเขียนสีปูนเปียกขนาดใหญ่ที่สวยงามจำนวน 6 ภาพ แสดงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของพระบรมราชจักรีวงศ์ ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 6 เป็นฝีมือการวาดของศาสตราจารย์ แกลิเลโอ คินี (Galileo Chini) และนายซี.ริโกลี (Mr. C. Riguli) มีแนวทางการวาดภาพการใช้สีแสงเงาตามแบบจิตรกรรมตะวันตกที่ดูมีมิติ แตกต่างกับจิตรกรรมไทยดั้งเดิมที่เน้นการเขียนลายเส้นสวยๆ ให้สีแบนๆ
การก่อสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม ได้ดำเนินการจนสำเร็จบริบูรณ์ในสมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อปี พ.ศ.2458 รวมใช้เวลาในการก่อสร้างทั้งสิ้น 8 ปี งบประมาณค่าก่อสร้างตามราคาในสมัยนั้นคิดเป็นเงิน 15 ล้านบาท
ช่วงแรก พระที่นั่งอนันตสมาคมนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้สอยในฐานะเป็นท้องพระโรงของพระราชวังดุสิต เช่น เป็นมงคลสถานจัดงานพระราชพิธี หรืองานพระราชทานเลี้ยงในวโรกาสสำคัญต่างๆ ครั้นเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ.2475 แล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้พระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นที่ประชุมรัฐสภาของชาติ
ต่อมาภายหลัง แม้ว่าจะมีการก่อสร้างห้องประชุมของรัฐสภาขึ้นใหม่ที่บริเวณถนนอู่ทองในแล้ว รัฐสภาก็ยังได้รับพระราชทานพระมหากรุณาให้ใช้พระที่นั่งอนันตสมาคมต่อไปในฐานะอาคารรัฐสภาของชาติ ทุกคราวที่มีรัฐพิธีเปิดสมัยประชุมสภา พระราชพิธีฉลองรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ทุกวันที่ 10 ธันวาคมของทุกปี นอกจากนี้ รัฐสภาก็ได้ใช้พระที่นั่งอนันตสมาคม เป็นสถานที่จัดงานพระราชพิธีและรัฐพิธีเสมอมา
พระที่นั่งอนันตสมาคม ตั้งเด่นสง่างามอยู่ปลายถนนราชดำเนิน เขตดุสิต ในอาณาบริเวณเดียวกับพระที่นั่งวิมานเมฆ ใกล้กับพระบรมรูปทรงม้า สวนอัมพร และสวนสัตว์ดุสิต ส่วนมากเรามักจะมองเห็นด้านหน้าของพระที่นั่ง จากทางลานพระบรมรูปทรงม้า แต่ประตูทางเข้าชมจะอยู่ด้านหลัง ซึ่งจะเข้าได้จากทางถนนอู่ทองใน ตรงข้ามสวนสัตว์ดุสิต หรือทางถนนราชวิถี คือเข้าผ่านทางพระที่นั่งวิมานเมฆแล้วเดินชมพระที่นั่งอื่นมาเรื่อยๆ
********************************************
วังสระปทุม
วังสระปทุม ปัจจุบันตั้งอยู่บริเวณถนนพระรามที่ 1 และถนนพญาไท ติดกับศูนย์การค้าสยาม ดิสคัฟเวอรี่ เซ็นเตอร์ กรุงเทพมหานคร แต่เดิม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) พระราชทานที่ดินผืนนี้ให้สร้างเป็นวังที่ประทับของ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ (สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก) พระราชโอรสที่ประสูติแต่ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี (พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) แต่ยังมิทันได้มีการสร้างวังขึ้น เนื่องจากสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์ได้เสด็จไปศึกษาต่อยังต่างประเทศเสียก่อน
ต่อมาเมื่อรัชกาลที่ 5 เสด็จสวรรคต สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวีจึงมีพระประสงค์ที่จะเสด็จออกมาประทับนอกพระบรมมหาราชวัง จึงทรงเริ่มสร้างวังขึ้น ณ ที่ดินที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์ได้รับพระราชทาน สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวีทรงควบคุมผังการก่อสร้างด้วยพระองค์เอง เนื่องจากทรงมีความรู้เรื่องทิศทางลมและฤดูกาลเป็นอย่างดี จนเมื่อแล้วเสร็จ เรียกกันว่า วังสระปทุม (เนื่องจากอยู่ใกล้กับวัดปทุมวนารามหรือวัดสระปทุม) จึงได้เสด็จมาประทับที่นี่เป็นการถาวรตลอดพระชนม์ชีพ
บริเวณโดยรอบพระตำหนักในสมัยนั้นเดิมเป็นที่สวน สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวีโปรดให้ปลูกพืชผักหลายชนิด เช่น กล้วย มะม่วง ขนุน เป็นต้น โดยทรงนำผลผลิตต่างๆ ที่ได้นั้นสำหรับตั้งโต๊ะเสวย รวมทั้งพระราชทานไปยังวังเจ้านายต่างๆ ส่วนที่เหลือ เช่น ใบตอง เชือกกล้วย กล้วยสุก ก็ทรงนำออกจำหน่ายได้รายได้ปีหนึ่งๆ เป็นเงินหลายร้อยบาท โดยทรงนำใช้จ่ายสำหรับเลี้ยงดูข้าราชบริพารและบำรุงรักษาวังสระปทุม
หลังจากที่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) เสด็จขึ้นครองราชย์ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ ก็เสด็จนิวัติกลับประเทศไทย จึงได้เสด็จมาประทับกับพระราชชนนีที่วังสระปทุม โดยสร้างพระตำหนักขึ้นอีกหลังหนึ่งเพื่อใช้เป็นที่ประทับ
ระหว่างนั้นวังสระปทุมในปี พ.ศ.2463 ได้ถูกใช้เป็นสถานที่จัดงานอภิเษกสมรสระหว่างสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์และ นางสาวสังวาลย์ ตะละภัฏ (สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) มีพระโอรสและพระธิดารวม 3 พระองค์ คือ หม่อมเจ้าหญิงกัลยาณิวัฒนา มหิดล (สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์) หม่อมเจ้าอานันทมหิดล มหิดล (พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล) และ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลเดช (พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช)
ในปี พ.ศ.2472 สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์เสด็จทิวงคตด้วยโรคพระอาการบวมน้ำที่พระปับผาสะ (ปอด) ณ วังสระปทุม แต่วังสระปทุมก็ยังคงเป็นที่ประทับของสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี หม่อมสังวาลย์ และพระโอรส - พระธิดาทั้ง 3 พระองค์ ก่อนที่หม่อมสังวาลย์จะนำเสด็จพระโอรส - พระธิดาไปทรงศึกษาต่อยังต่างประเทศในปี พ.ศ.2475
สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าทรงเป็นประธานประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ณ พระตำหนักใหญ่ วังสระปทุม แต่เหตุการณ์เกิดผันแปรเมื่อ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ทรงสละราชสมบัติในปี พ.ศ.2477 โดยมิได้ทรงแต่งตั้งองค์รัชทายาท พระองค์เจ้าอานันมหิดลซึ่งเป็นเชื้อพระบรมวงศ์ลำดับพระองค์ที่ 1 ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ (พ.ศ.2467) จึงเสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ต่อมา แต่อีก 12 ปีให้หลัง พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล (รัชกาลที่ 8) ก็เสด็จสวรรคตอย่างกะทันหัน โดยทรงต้องพระแสงปืนที่พระกระหม่อม ณ พระที่นั่งบรมพิมาน พระราชอนุชาคือ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุยเดช จึงทรงสืบราชสมบัติต่อมา แต่เสด็จฯ ไปประทับที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต มิได้ประทับที่วังสระปทุมเหมือนแต่ก่อน
อย่างไรก็ตาม วังสระปทุมก็ยังถูกใช้เป็นที่ประทับของ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า และเป็นสถานที่จัดพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสระหว่าง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในปี พ.ศ.2493 อีกด้วย จนกระทั่งในปี พ.ศ.2498 สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ก็เสด็จสวรรคต ณ วังสระปทุม วังสระปทุมจึงถูกใช้เป็นสถานที่ประทับของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีต่อมา
สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีประทับที่วังสระปทุมเรื่อยมาจนเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ.2538 ณ วังสระปทุม หลังจากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานวังสระปทุมให้เป็นที่ประทับของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จนถึงปัจจุบัน
ปัจจุบันวังสระปทุมตั้งอยู่ในเขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร โดยอาณาเขตทางด้านทิศเหนือติดคลองแสนแสบ ทิศตะวันออกติดคลองอรชร ริมวัดปทุมวนาราม ทิศใต้ติดถนนพระรามที่ 1 และทิศตะวันตกติดถนนพญาไท พื้นที่ของวังแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นพื้นที่ประทับของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และส่วนที่ 2 เป็นที่ตั้งของห้างสรรพสินค้าต่างๆ คือ ศูนย์การค้าสยาม ดิสคัฟเวอรี่ เซ็นเตอร์, สยาม เซ็นเตอร์ และสยาม พารากอน
สำหรับส่วนที่ประทับ ประกอบด้วยพระตำหนักและเรือนต่างๆ ดังนี้
พระตำหนักใหญ่ เป็นพระตำหนัก 2 ชั้น ก่ออิฐถือปูน ทาสีเหลืองทั่วพระตำหนัก มีลักษณะเด่นอยู่ที่ฝาผนังใกล้เพดานชั้นบนซึ่งเป็นปูนปั้นรูปดอกไม้ พระตำหนักองค์นี้ตั้งอยู่เกือบใจกลางของวังสระปทุม ได้รับพระราชทานผังการก่อสร้างพระตำหนักจากสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เพื่อใช้เป็นพระตำหนักที่ประทับถวารของพระองค์เอง ปัจจุบันได้ปรับปรุงพระตำหนักองค์นี้ทำเป็น พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เพื่อจัดแสดงเรื่องราวและวัตถุสิ่งของต่างๆ ที่เกี่ยวกับสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
พระตำหนักเขียว เป็นพระตำหนักแรกที่สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าทรงสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่ประทับภายในวังสระปทุม ก่อนที่จะสร้างพระตำหนักใหญ่ ตั้งอยู่บริเวณริมคลองแสนแสบ เป็นพระตำหนักก่ออิฐถือปูน ทาสีเขียว ต่อมาเมื่อสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เสด็จไปประทับที่พระตำหนักใหญ่แล้ว พระตำหนักเขียวนี้ก็ได้ใช้เป็นที่ประทับของพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายหญิงหลายพระองค์ เช่น พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี และสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เป็นต้น
พระตำหนักใหม่ สร้างขึ้นเมื่อสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์ เสด็จกลับจากทรงศึกษาในต่างประเทศ เพื่อทรงใช้เป็นที่ประทับถาวร ณ วังสระปทุม มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบอังกฤษ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงสงขลานครินทร์ และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเสด็จสวรรคต ณ พระตำหนักองค์นี้
เรือนข้าราชบริพาร เป็นที่พับของบรรดาข้าราชบริพารในวังสระปทุม สร้างขึ้น 2 ครั้ง โดยครั้งแรกสร้างขึ้นพร้อมกับพระตำหนักใหญ่ เป็นเรือนไม้ชั้นเดียว ทาสีเขียว บริเวณขอบเชิงชายและช่องลมเป็นไม้ฉลุลาย ส่วนครั้งที่ 2 เป็นเรือนก่ออิฐ 2 ชั้น สร้างขึ้นพร้อมการสร้างพระตำหนักใหม่
********************************************
สะพานมัฆวานรังสรรค์
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) มีพระราชประสงค์จะสร้างถนนขนาดใหญ่ขึ้นกลางพระนคร จากบริเวณสนามหลวงไปจนถึงพระที่นั่งอนันตสมาคม เป็นถนนแบบฝรั่งที่เรียกว่า "Avenue" ซึ่งมีอยู่หลายแห่งในยุโรป ก็จำเป็นที่จะต้องมีการสร้างสะพานข้ามคลองผดุงกรุงเกษมในช่วงที่ถนนตัดผ่านไปพร้อมกัน
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้เริ่มดำเนินการออกแบบและก่อสร้างถนนกับสะพานในปี พ.ศ.2443 ใช้เวลาในการก่อสร้างอยู่ 3 ปีก็สำเร็จ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงเสด็จฯ ไปทรงประกอบพิธีเปิดถนนและสะพานในวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ.2446 แล้วพระราชทานนามให้ถนนเส้นนี้ว่า "ราชดำเนิน" คือ "เส้นทางเสด็จฯ ของพระราชา" และสะพานนี้ว่า "มัฆวานรังสรรค์" คือ "พระอินทร์เป็นผู้สร้าง"
ชื่อสะพานมัฆวานรังสรรค์นี้เป็นชื่อที่คล้องจองกับสะพานข้ามคลองผดุงกรุงเกษมอีก 4 สะพาน ซึ่งเป็นสะพานในชุดเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามให้มีความหมายคล้ายกัน คือ "สะพานที่เทวดาเป็นผู้สร้าง" อันได้แก่ สะพานเทเวศรนฤมิตร สะพานวิศสุกรรมนฤมาณ สะพานมัฆวานรังสรรค์ สะพานเทวกรรมรังรักษ์ และสะพานจตุรพักตร์รังสฤษดิ์
สะพานมัฆวานรังสรรค์ ตั้งอยู่ที่ถนนราชดำเนินนอก บริเวณที่ตัดผ่านคลองผดุงกรุงเกษม ข้างสำนักงานองค์การสหประชาชาติ และโรงเรียนมัธยมวัดมกุฎกษัตริย์ เป็นสะพานข้ามคลองผดุงกรุงเกษมที่เชื่อมระหว่างถนนราชดำเนินนอกกับถนนราชดำเนินกลาง ออกแบบโดย มาริโอ ตามานโญ นายช่างชาวอิตาลี จึงมีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบอิตาลีผสมสเปน มีลักษณะเป็นสะพานโครงเหล็ก พื้นเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ราวสะพานเป็นเหล็กหล่อทำลวดลายสวยงาม ที่กลางราวสะพานด้านนอกประดับดวงตรารูปเศียรช้างเอราวัณ หัวมุมสะพานทั้ง 4 มุม มีเสาไฟหินอ่อนส่วนบนเป็นโลหะสลักลวดลาย นับเป็นสะพานที่สวยงามและโอ่อ่าที่สุดของกรุงเทพมหานครในยุคนั้น
ภายหลังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันมีพระราชดำริให้ทางกรุงเทพมหานครซ่อมแซมสะพานมัฆวานรังสรรค์และสร้างสะพานคู่ขนานสะพานเดิมขึ้นอีก 2 สะพาน เพื่อความสวยงามและความคล่องตัวของการจราจร โดยสะพานใหม่มีระดับความสูงน้อยกว่าสะพานมัฆวานรังสรรค์ มีความกว้างสะพานละ 15.00 เมตร ผิวจราจร 10.00 เมตร ขนาด 3 ช่องทางจราจร มีความยาวสะพานละ 22.00 เมตร
การก่อสร้างเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ.2537 ทำพิธีเปิดการจราจรในวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2537 รวมงบประมาณที่ใช้ในการก่อสร้างทั้งสิ้น 40 ล้านบาท และใช้งบประมาณตกแต่งศิลปกรรมอีกจำนวน 3.6 ล้านบาท
********************************************
อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ แห่งนี้ ตั้งอยู่บริเวณจุดบรรจบกันของถนนพหลโยธิน ถนนราชวิถี และถนนพญาไท เป็นจุดเริ่มต้นกิโลเมตรที่ 0 ของถนนพหลโยธิน สร้างเสร็จในปี พ.ศ.2485 เพื่อเป็นที่ระลึกถึง กรณีพิพาทอินโดจีน หรือ สงครามฝรั่งเศส-ไทย ที่เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2484
ย้อนกลับไปเมื่อสมัยรัชกาลที่ 5 ยุคแห่งการล่าอาณานิคมของมหาอำนาจตะวันตก ฝรั่งเศสได้ใช้ปืนบีบบังคับจนไทยต้องยอมเสียดินแดนฝั่งขวาของแม่น้ำโขงคือลาว และกัมพูชาในเวลาต่อมา ให้กับฝรั่งเศสเพื่อปกป้องดินแดนส่วนใหญ่ของประเทศเอาไว้
8 ตุลาคม พ.ศ.2483 ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นิสิตและนักศึกษาไทยได้ร่วมกันเดินขบวนให้รัฐบาลเรียกร้องดินแดนฝั่งขวาของแม่น้ำโขงคืนจากฝรั่งเศส รัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงคราม จึงได้ส่งกองทัพข้ามแม่น้ำโขงไปโจมตีประเทศลาวและกัมพูชา ซึ่งขณะนั้นเป็นส่วนหนึ่งของ อินโดจีนฝรั่งเศส
17 มกราคม พ.ศ.2484 กองทัพเรือไทยกับเรือรบฝรั่งเศสปะทะกันอย่างหนักที่เกาะช้าง เรียกว่า ยุทธนาวีเกาะช้าง แต่สงครามสิ้นสุดลงโดยมีญี่ปุ่นเข้ามาเป็นตัวกลางในการเจรจาสงบศึก ไทยกับฝรั่งเศสได้ลงนามในอนุสัญญาสันติภาพที่กรุงโตเกียว เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ.2484 ทำให้ไทยได้ดินแดนฝั่งขวาของแม่น้ำโขงบางส่วนกลับคืนมา จนตั้งเป็นจังหวัดใหม่ได้ 4 จังหวัด คือ จังหวัดนครจัมปาศักดิ์ จังหวัดลานช้าง จังหวัดพิบูลสงคราม และจังหวัดพระตะบอง รวมเป็นพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 24,039 ตารางกิโลเมตร แต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลงในปี พ.ศ.2488 ฝ่ายญี่ปุ่นที่รัฐบาลไทยเข้าร่วมด้วยเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ และฝ่ายสัมพันธมิตรที่ฝรั่งเศสเข้าร่วมเป็นฝ่ายชนะ ไทยจึงต้องคืนดินแดนเหล่านั้นกลับไปให้ฝรั่งเศสอีกครั้ง
สงครามฝรั่งเศส-ไทย ในครั้งนั้นทำให้ไทยต้องสูญเสียวีรชนผู้กล้าทั้งทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจ และพลเรือน ไปเป็นจำนวนมาก รัฐบาลจึงคิดสร้างอนุสาวรีย์บรรจุอัฐิของผู้เสียชีวิต เพื่อเป็นเกียรติและเทิดทูนความดีของวีรชนผู้เสียสละชีวิตไม่ให้ถูกลืมเลือนไป
อนุสาวรีย์นี้คิดและออกแบบโดย หม่อมหลวงปุ่น มาลากุล มี พล.อ.ต.พระเวชยันตร์รังสฤษดิ์ (รัฐมนตรีกระทรวงเกษตราธิการในสมัยนั้น) เป็นประธานกรรมการดำเนินงาน มีศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นหัวหน้าช่างปั้น มีนายแช่ม แดงชมภู นายบุญเจือ (สิทธิเดช) แสงหิรัญ นายพิมานมูล ประมุข และนายสุข อยู่มั่น เป็นช่างปั้น รวมค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง 550,000 บาท
หม่อมหลวงปุ่นออกแบบโดยใช้ดาบปลายปืน 5 เล่ม ซึ่งเป็นอาวุธประจำกายทหาร จัดตั้งเป็นกลีบแบบลูกมะเฟือง ปลายดาบชี้ขึ้นบน ส่วนคมของดาบหันออก ตัวอนุสาวรีย์ก่อสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กประดับหินอ่อน มีความสูงประมาณ 50 เมตร ส่วนที่ฐานเป็น 5 เหลี่ยม มีรูปหล่อวีรชนขนาดสองเท่าของคนธรรมดา ประกอบด้วยนักรบจาก 5 เหล่า คือ ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจ และพลเรือน ประดับอยู่ด้านละราย
ใต้ฐานเป็นห้องโถงใหญ่ ใช้เก็บลูกกระสุนปืนใหญ่ที่บรรจุอัฐิทหารซึ่งเสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนั้น ส่วนด้านนอกของผนังห้องโถงมีแผ่นทองแดงจารึกนามของผู้เสียชีวิตเหล่านั้น รายนามผู้ที่ได้รับการจารึกไว้ มีทั้งสิ้น 160 คน เป็นทหารบก 94 คน ทหารเรือ 41 คน ทหารอากาศ 13 คน และตำรวจสนาม 12 คน แต่ภายหลังได้เพิ่มรายชื่อของวีรชนที่เสียชีวิตในเหตุการณ์สำคัญอื่นๆ อีก จนถึงปัจจุบันแผ่นทองแดงจารึกรายนามผู้เสียชีวิตเพื่อชาติจากสงครามต่างๆ ตั้งแต่ พ.ศ.2484 - 2497 มีทั้งสิ้น 801 รายชื่อ
พล.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นผู้วางศิลาฤกษ์อนุสาวรีย์แห่งนี้เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2484 และจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นผู้กระทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2485
ทุกวันที่ 3 กุมภาพันธ์ของทุกปี ซึ่งเป็น "วันทหารผ่านศึก" องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก และครอบครัวทหารผ่านศึก ทหารนอกประจำการ และผู้ที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ในการรักษาความมั่นคงของชาติ จะร่วมกันจัดพิธีวางพวงมาลาที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อเป็นการแสดงความคารวะต่อดวงวิญญาณของเหล่านักรบผู้กล้า และยังมีพิธีสวนสนามที่ลานอเนกประสงค์ กองพันทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ด้วย
คำขวัญประจำอนุสาวรีย์แห่งนี้ แสดงถึงความเสียสละเพื่อประเทศชาติ อย่างไม่เกรงกลัวต่อความตาย ว่า ใครจะได้จารึกชื่อในอนุสาวรีย์ก่อนกัน