มนุษย์กับสภาวะแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ
มนุษย์ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศและใช้ประโยชน์จากสภาวะแวดล้อม ทั้งในด้านที่เป็นวัตถุดิบและการนำมาแปรรูปเพื่อเป็นปัจจัย 4 ในการดำรงชีวิต ขณะเดียวกันกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และความเจริญของสังคมมนุษย์ ทำให้สภาวะแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วมากเกินกว่าระดับการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ
กิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ กำลังบุกรุกทำลายองค์ประกอบทางธรรมชาติอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ มนุษย์ทำให้ อากาศ ดิน และน้ำ เสื่อมคุณภาพ ทำลายป่าต้นน้ำ ลำธาร ทำลายสัตว์หลายชนิดจนสูญพันธุ์ มนุษย์ได้ละเลยกฎพื้นฐานของระบบนิเวศอย่างสิ้นเชิง ซึ่งในที่สุดก่อให้เกิดสภาพปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆ มากมายในขณะนี้การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่เฉพาะในประเทศไทย ทั้งนี้มีปัจจัย 2 ประการ คือ
1. การเพิ่มจำนวนประชากรของคนและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ทำให้ต้องขยายการใช้พื้นที่เป็นแหล่งที่อยู่ ขยายแหล่งการทำเกษตรกรรม โดยใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เนื่องจากต้องการผลผลิตจำนวนมากและรวดเร็ว
2. ความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่นำมาใช้ในกิจกรรรมต่างๆ โดยขาดความระมัดระวังรอบคอบ ทำให้ปริมาณทรัพยากรธรรมชาติลดลงและสภาวะแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปมากโดยที่มนุษย์ไม่ได้ตั้งใจ เช่น การใช้สารเคมีเพื่อส่งเสริมผลผลิตทางการเกษตร การบุกเบิกพื้นที่เพื่อขยายตัวทางอุตสาหกรรม การทำเหมือง การสร้างเขื่อน การใช้เครื่องจักรต่างๆ ฯลฯ
กิจการเหล่านี้ต้องใช้ทรัพยากรอย่างมาก ถ้าไม่มีการวางแผนที่รอบคอมและรัดกุมย่อมจะก่อให้เกิดปัญหาสภาวะแวดล้อมเสื่อมโทรม ที่สำคัญ ได้แก่ ปัญหามลภาวะ (pollution) เป็นต้น

ทรัพยากรแหล่งน้ำ น้ำเป็นทรัพยากรที่สำคัญยิ่งต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตทั้งมวล มนุษย์ได้ใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำในธรรมชาติเพื่อการบริโภค อุปโภค การอุตสาหกรรม การคมนาคม การเกษตรกรรม การประมง ฯลฯ ในปัจจุบันแหล่งน้ำตามธรรมชาติลดน้อยลงไปมาก โดยเฉพาะตามเมืองใหญ่ๆ เพราะมีการดัดแปลงสภาพไปใช้ในกิจการอื่นๆ แหล่งน้ำที่เหลืออยู่หลายแห่งก็เปลี่ยนสภาพเป็นทางระบายน้ำ น้ำจึงมีสภาพเน่าเสีย มีสีดำ มีกลิ่นเหม็นน่ารังเกียจ มีสารที่เป็นพิษหรือเชื้อโรคปนอยู่หรือมีอุณหภูมิผิดไปจากธรรมชาติ ทำให้เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำนั้นทั้งทางตรงและทางอ้อม สภาวะดังกล่าวเป็น มลภาวะของน้ำ (water pollution)
นอกจากนี้น้ำเสียยังเป็นแหล่งรวมจุลินทรีย์หลายชนิด ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ทำให้มีการติดต่อถึงกัน และอาจลุกลามไปถึงขั้นเป็นโรคระบาดได้ เช่น อหิวาตกโรค ไทฟอยด์ เป็นต้น น้ำทิ้งบางประเภท อาจทำให้อุณหภูมิของน้ำเปลี่ยนไป เช่น น้ำทิ้งจากโรงไฟฟ้า น้ำเสียจากโรงงานบางประเภท ทำให้สภาพกรด-เบสของแหล่งน้ำนั้นเปลี่ยนไปตามปกติน้ำในธรรมชาติจะมีออกซิเจนละลายปนอยู่ด้วยเสมอโดยประมาณ 8 มิลลิกรัมต่อลิตร หรือ 8 ส่วนในล้านส่วน (ppm) ปริมาณของออกซิเจนที่ละลายอยู่ในน้ำจะเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา สาเหตุสำคัญที่ทำให้ปริมาณของออกซิเจนนี้เปลี่ยนได้ง่าย คือ อินทรีย์สารและอุณหภูมิ ปริมาณออกซิเจนในแหล่งน้ำจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะบอกถึงคุณภาพของแหล่งน้ำนั้น เช่น ปริมาณออกซิเจนที่ละลายอยู่ในน้ำ (dissolved oxygen) หรือเรียกย่อๆ ว่า DO มีหน่วยเป็นมิลลิกรัม/ลิตร โดยทั่วไปค่า DO ต่ำกว่า 3 มิลลิกรัม/ลิตร จัดเป็นน้ำเสียปัญหาใหญ่ของมลภาวะของน้ำ คือ น้ำทิ้งจากแหล่งต่างๆ
การแก้ไขปัญหานี้จึงควรจัดการให้มีระบบบำบัด ตัวอย่างเช่น โรงงานบำบัดน้ำเสียห้วยขวางของการเคหะแห่งชาติ ที่กำจัดน้ำทิ้งจากอาคารในชุมชนห้วยขวาง ที่มีประชากรอาศัยอยู่ประมาณ 30,000 คน น้ำทิ้งที่บำบัดมีประมาณ 3,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน
การใช้ที่ดิน ดินเป็นแหล่งที่สำคัญแหล่งหนึ่งสำหรับการเจริญเติบโตของพืชซึ่งเป็นผู้ผลิตและเป็นแหล่งธาตุอาหารสำคัญที่จะถ่ายทอดไปสู่ผู้บริโภคในระดับต่อๆ ไปได้ ดินเกิดจากการผุพังทับถมของหินและแร่ ดินจึงมีแร่ธาตุต่างๆ ที่จำเป็นอยู่เพียงพอ การใช้ที่ดินอย่างไม่ถูกต้องจะทำให้ดินสูญเสียหน้าดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ของแร่ธาตุ และเกิดการพังทลายของดิน ปัญหาต่างๆ ที่เกิดกับดินหรือ มลภาวะของดิน (soil pollution) จะส่งผลกระทบไปถึงสิ่งมีชีวิตอื่นๆ อย่างมากปัญหาใหญ่ของมลภาวะของดินที่ทุกคนเห็นชัดเจน คือ ขยะจากแหล่งต่างๆ ซึ่งมีทั้งอินทรียสารที่สามารถย่อยสลายได้ และสิ่งที่ย่อยสลายได้ยาก เช่น กระป๋อง เศษโลหะ ซากรถยนต์ และพวกที่ไม่สามารถสลายตัวได้ เช่น พลาสติกต่าง เป็นปัญหาสำคัญมากในเมืองใหญ่ๆ เช่น กรุงเทพมหานครมีขยะมูลฝอยเยอะมากแต่การกำจัดขยะนั้นสามารถทำได้เพียงปริมาณหนึ่งในสี่เท่านั้น
ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า ป่าไม้เป็นแหล่งที่อยู่ของสังคมพืชและสัตว์นานาชนิด การทำลายป่าทำให้พื้นที่ป่าตามธรรมชาติถูกตัดแยกออกเป็นส่วนๆ จึงก่อให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อความเป็นอยู่และการดำรงชีวิต สัตว์ป่าที่อาศัยอยู่ก็จะขาดแหล่งที่อยู่ ขาดแหล่งอาหาร ทำให้เกิดการผสมพันธุ์กันภายในสปีชีส์มากขึ้น ทำให้ลดความหลากหลายลง หรือสูญหายไปจากบริเวณนั้น หรืออาจถึงขั้นวิกฤต ทำให้สัตว์ป่าสูญพันธุ์ เนื่องจากไม่มีป่าเป็นที่อยู่อาศัย ตัวอย่างเช่น เสือโคร่ง คาดว่าปัจจุบันนี้เหลืออยู่ในป่าของประเทศไทยประมาณ 102 ตัว มีพื้นที่ป่าที่อาศัยอยู่ได้ประมาณร้อยละ 32.8
แม้จะมีการกำหนดเนื้อที่ป่าอย่างดีแล้วก็ตาม แต่ปริมาณเนื้อที่ป่าก็ยังลดลงอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการสูญพันธุ์ของพืชและสัตว์ป่าด้วย โดยสาเหตุมาจากการล่าสัตว์ป่าบางชนิดเพื่อเอาหนัง ขน เขา หรือส่วนของร่างกายมาประดิษฐ์เป็นเครื่องใช้ เครื่องประดับ หรือล่าเพื่อเป็นเกมกีฬาของคนบางกลุ่ม การเก็บผลผลิตจากป่าที่มากเกินความจำเป็น เป็นต้น
ปัญหาอุณหภูมิของโลกเปลี่ยนแปลง การลดลงของป่าไม้ ยังมีผลกระทบต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ต่อสภาวะแวดล้อม ที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ทำให้ปริมาณก๊าซ CO2 ในบรรยากาศเพิ่มขึ้น และทำให้อุณหภูมิของโลกเปลี่ยนแปลงก๊าซ CO2 ในชั้นบรรยากาศจะดูดซับรังสีคลื่นยาวและคลื่นสั้นที่สะท้อนกลับจากโลกสู่อวกาศ เมื่อก๊าซ CO2 เพิ่มขึ้น ก็จะทำให้ชั้นบรรยากาศดูดพลังงานแสงที่สะท้อนกลับมาทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น เรียกปรากฏการณ์ที่อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นว่า ปรากฏการณ์ผลกระทบจากเรือนกระจก (greenhouse effect)
ตัวการสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น คือการใช้สารคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (chlorofluorocarbon) เรียกย่อว่า ซีเอฟซี (CFC) ซึ่งใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องทำความเย็น ท่อไอเสียของรถยนตร์ เครื่องบิน เป็นต้น ก๊าซเหล่านี้เมื่อลอยสู่ชั้นบรรยากาศ จะไปทำลายก๊าซโอโซนตามธรรมชาติที่มีอยู่ในบรรยากาศ โดยปกติก๊าซโอโซนจะดูดซับรังสีอัลตราไวโอเลตไม่ให้ส่องผ่านมายังโลกมากเกินไป เมื่อก๊าซโอโซนถูกทำลายให้ลดน้อยลง จะทำให้รังสีอัลตราไวโอเลตส่องผ่านมายังโลกมากเกินไป ทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นอีกทางด้วย