ECGH.pantown.com : ชมรมมัคคุเทศก์ภาษาสเปน
[ลูกบ้านSignIn][เจ้าบ้านSignIn]

   ทับทิม

ทับทิม (Ruby)หรือ มณี ,รัตนราช,ปัทมราช เป็นรัตนชาติชนิดหนึ่ง จัดอยู่ในตระกูลคอรันดัม(Corundum)เช่นเดียวกับบุษราคัม,ไพลิน,เขียวส่องและFancy shappire มีความแข็งรองจากเพชร เป็นที่นิยมนำมาทำเป็นเครื่องประดับมาก เพราะมีสีสวยและมีความแข็งแกร่งเปล่งประกายจับตา เป็นที่นิยมมากกว่าอัญมณีสีแดงชนิดอื่นๆ มนุษย์รู้จักทับทิมมานาน กษัตริย์มักนำมาประดับมงกุฏและสวมใส่ออกขณะรบ เป็นที่แพร่หลายมากๆในชมพูทวีป ทับทิมในภาษาสันสกฤตโบราณคือ "ratanraj" หมายถึงเจ้าแห่งอัญมณีทั้งปวง จนทับทิมถูกขนานนามว่าอัญมณีแห่งราชา ในประเทศไทยนั้นถือว่าทับทิมเป็นอัญมณีหนึ่งในนพรัตน์ โดยธรรมชาตินั้นทับทิมมักมีเนื้อขุ่น ตำหนิมากบางชิ้นทึบแสงดูไม่สวยงามดังนั้นทับทิมในท้องตลาดส่วนใหญ่ผ่านการเพิ่มคุณภาพด้วยความร้อนมาแทบทั้งสิ้น สีที่นับว่าหายากและราคาแพงมหาศาลคือ สีแดงสดแบบเลือดนกพิราบเนื้อใสสะอาดสมบูรณ์แบบทั้งสัดส่วนและประกายขนาด 3-4กะรัตอาจจะมีราคาสูงกว่า 7 หลัก ถ้าสูงกะรัตกว่านี้จะหายากมากๆราคาอาจถึง 8หลักเลยทีเดียว สีแดงอมชมพูก็เป็นที่นิยมอย่างมากส่วนใหญ่มาจากพม่า มีราคาสูงมาก นอกจากนั้นทับทิมยังมีการเกิดปรากฏการณ์สตาร์ มีลักษณะสาแหรกเนดาว 6 แฉกอยู่กลางพลอย ชนิดนี้ก็มีราคาสูงจะเจียระไนทรงหลังเต่า หลังเบี้ยแต่ควรระวังของปลอม ปัจจุบันมีการทำ "ดาวปลอม"ด้วยการดิฟิวชั่น ข้อสังเกตคือของธรรมชาติจะไม่มีเส้นแฉกดาวคมชัดและเห็นยาวไม่จนถึงก้น ลักษณะขาดาวอาจเลือนๆและดูเหมือนอยู่ลึกลงไปในพลอย ก้นพลอยอาจไม่มีการเจียระไนแต่โกลนไว้เฉยๆก็ได้ ทับทิมที่มีความงาม ประกายดีและสะอาดจะถูกเจีนระไนแบบเหลี่ยมประกาย ส่วนที่มีตำหนิมักเจียระไนแบบหลังเต่าหรือหลังเบี้ย

ทับทิมกินบ่เซี่ยง

เป็นทับทิมที่มีลักษณะเหมือนมีสีขาวปนพาดผ่าน แทรกอยู่กับทับทิมสีแดง ชาวเหนือถือเป็นสิริมงคล อนึ่งคำว่า"กินบ่เซี่ยง"หมายความว่ากินไม่หมดนั่นเอง

การเลือกซื้อทับทิม

เลือกชิ้นที่มีตำหนิภายในให้น้อยที่สุด ไร้รอยร้าวแตกมาถึงภายนอก ไม่ควรเลือกทับทิมที่มีตำหนิสีแตกต่างจากสีเนื้อพลอยเช่น ผลึกสีดำ,ฝ้าสีขาว,เหลือบหิน สีของทับทิมคุณภาพดีจะไม่มืด แลดูคล้ำไม่มีประกายไฟ ควรเลือกที่มีสีเต็มทั่วทั้งเม็ดพลอย ประกายไฟดี ส่วนสีจะเป็นแดงเข้มสด,แดงสด,แดงอมชมพู,เดงอมสมแล้วแต่ความชื่นชอบ แต่สีแดงเข้มจะมีมูลค่าสูงที่สุด การเจียระไนสมส่วนเหมาะกับการนำไปใช้งาน ที่สำคัญที่สุดเลือกที่เหมาะกับสุขภาพของกระเป่าสตางค์ของคุณเอง การดูแลระวังการกระทบกระแทกแบบรุนแรง การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิอย่างรวดเร็วและกรดเบส ควรทำความสะอาดด้วยผ้านุ่มไม่เก็บไว้รวมกับอัญมณีที่แข็งกว่า เช่นเพชร ควรระวังพลอยชนิดอื่นที่มีการค้าในนามทับทิม เช่น บัลลาสรูบี้ ทับทิมบ่อใหม่ อย่าง Spinel ที่มีสีแดงเหมือนกันมากแต่ทับทิมนั้นป็นพลอยหักเหคู่มีเฉดสีที่ต่างออกไปเมื่อมองจากทิศทางตรงข้ามแกนแสง ต่างจากสปิเนล ที่เป็นพลอยหักเหเดี่ยว มองจากมุมใดก็มีสีไม่เปลี่ยนไป


องค์ประกอบทางเคมี (Chemical composition): อะลูมิเนียมออกไซด์ (Al2O3, Aluminium oxide)

ระบบผลึก (Crystal system): ไตรโกนอล (Trigonal)

ค่าความแข็ง (Hardness): 9

สี (Colour): แดง, แดงม่วง, แดงเข้ม, แดงชมพู เนื่องจากธาตุโครเมียม แหล่งที่พบ (Localities): ไทย, พม่า(แหล่ง Mokokมีคุณภาพสีที่ดี), กัมพูชา, เวียดนาม(สวยงามแต่ปริมาณน้อย), ปากีสถาน, อัฟกานิสถาน, ศรีลังกา, แทนซาเนีย

********************************************

ไพลิน

แซฟไฟร์ (อังกฤษ: Sapphire) เป็นพลอยตระกูลคอรันดัม มีหลายสี แต่โดยทั่วไปมักหมายถึงเฉพาะที่มีสีน้ำเงิน ในประเทศไทย เดิมเรียกว่า นิลกาฬ แต่ปัจจุบันนิยมเรียกว่า ไพลิน ตามชื่อของแหล่งกำเนิดจากเหมืองพลอย ในจังหวัดไพลิน ประเทศกัมพูชา ที่ในช่วงหนึ่งมีการนำเข้ามาในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก
แซฟไฟร์จัดเป็นแร่ในประเภท (Species) คอรันดัม (Corundum) เช่นเดียวกับทับทิม (Ruby) ซึ่งพลอยคอรันดัมนี้เป็นพลอยที่มีความแข็งรองลงมาจากเพชร จึงทำให้แซฟไฟร์ เหมาะอย่างยิ่งที่จะนำไปทำเครื่องประดับ
ชาวเปอร์เซียโบราณเชื่อกันว่าแซฟไฟร์ คือ "หินที่มาจากฟ้า" เนื่องจากพวกเขาเชื่อว่าโลก ตั้งอยู่บน แซฟไฟร์ ขนาดมหึมา จึงทำให้สะท้อนแสงแดด ออกไปสู่ท้องฟ้ามีสีน้ำเงิน ตามตำนานกล่าวว่า แซฟไฟร์เป็นพลอยของกษัตริย์ที่ใช้สวมใส่เพื่อป้องกันภยันตราย ทำให้เชื่อกันว่าผู้ที่สวมใสแซฟไฟร์จะมีชีวิตที่สดใส มีพลังในการดำรงชีวิต และแซฟไฟร์นี้สามารถปกป้องอันตรายแก่ผู้ที่สวมใส่ได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังถือเอาแซฟไฟร์นี้เป็นสัญลักษณ์ของความจริงใจ และมั่นคงอีกด้วย
ปัจจุบันหากพูดถึงแซฟไฟร์ คำเดียวจะหมายถึง Blue Sapphire หรือ ไพลิน มาจากภาษาเปอร์เชีย "Saffir" หรือจากภาษากรีก "Sappheiros" แปลว่า สีน้ำเงิน หรือจากภาษาสันสกฤต "sanipriya" (Sani = Saturn, priyah = precious) แปลว่าของมีค่าของเทพแซทเทิร์น (ในเทพปกรณัมโรมัน)
ในสมัยโบราณ จะเรียกพลอยคอรันดัมที่มีสีน้ำเงินว่าแซฟไฟร์ แต่ในความเป็นจริงพลอยคอรันดัมมีได้หลากสี เช่น สีเหลือง, ชมพู, ม่วง, เขียว เป็นต้น ดังนั้นหากเราต้องการจะเรียกพลอยคอรันดัมชนิดอื่นที่ไม่ใช่ไพลิน (Blue Sapphire) เราจะต้องระบุสีด้วย เช่น Yellow Sapphire (บุษราคัม), Green Sapphire (เขียวส่อง), Pink Sapphire (พลอยแซปไฟร์สีชมพู) เป็นต้น
ในปัจจุบันแซฟไฟร์ส่วนใหญ่มักผ่านการปรับปรุงคุณภาพด้วยความร้อนหรือที่เราเรียกกันว่าการเผา แต่ก็ได้รับการยอมรับกันโดยทั่วไปในตลาดพลอย เพราะการเผาจะทำให้สีดีของแซฟไฟร์ดีขึ้นและอยู่คงทนถาวร
แซฟไฟร์เป็นพลอยประจำเดือนเกิดของผู้ที่เกิดเดือนกันยายน และแซฟไฟร์ยังถือเป็นสัญญลักษณ์ที่คู่รักนิยมมอบเป็นของขวัญให้แก่กันในโอกาสครบรอบการแต่งงานในปีที่ 5, 15, 23 และ ปีที่ 45 แซฟไฟร์ได้รับความนิยมในหมู่คนทั่วไปทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ

การจำแนกประเภท แร่ อัญมณี

สูตรเคมี Al2O3

คุณสมบัติ สี ทุกสี ยกเว้นสีแดง

ระบบแบบผลึก ระบบสามแกนราบ เฮกซะโกนาล

Cleavage ไม่มี

ค่าความแข็ง 9.0

ความเงา วาวแบบแก้ว

สีผงละเอียด ขาว

ความถ่วงจำเพาะ 3.95-4.03

จุดหลอมเหลว 2030 - 2050 °C

********************************************

หยก

หยก...อัญมณีแห่งโชคลาภ รายงานโดย :สถาบันอัญมณีศาสตร์แห่งสหรัฐอเมริกา (จีไอเอ):

คนจีนเชื่อกันว่า หยกคือสัญลักษณ์ของความดีงาม ปัญญา และความยุติธรรม และยังเป็นสัญลักษณ์ของเพศหญิงตามตำราหยินหยางของชาวจีน แต่มีอะไรที่น่ารู้ไปกว่านั้น
ในบรรดาอัญมณีที่นิยมสวมใส่เพื่อเสริมดวงชะตาโชคลาภนั้น ไม่มีอะไรจะเด่นไปกว่า “หยก” อัญมณีสีเขียวจากสวรรค์ คนทั่วไปมักเข้าใจว่า หยกคือหินที่มีเพียงสีเขียวสีเดียว แต่แท้ที่จริงแล้วหยกมีหลายสี และยังแบ่งได้เป็นสองประเภท ซึ่งจะแบ่งตามองค์ประกอบของแร่ธาตุ ประเภทที่หนึ่ง คือ เจไดต์ (Jadeite) ซึ่งเป็นหยกที่หายาก แหล่งที่พบมากที่สุดคือประเทศพม่า ประกอบด้วยแร่ธาตุทางเคมี เช่น โซเดียม อะลูมิเนียม ซิลิกา เป็นต้น ประเภทที่สอง คือ เนฟไฟรต์ (Nephrite) พบได้จากประเทศแคนาดา ซึ่งเป็นประเทศที่มีเนฟไฟรต์คุณภาพดีที่สุด และอีกหลายประเทศ เช่น กัวเตมาลา จีน และนิวซีแลนด์
แร่ธาตุทางเคมีจะประกอบไปด้วย แคลเซียม แมกนีเซียม ซิลิกา เป็นต้น หยกทั้งสองประเภทนี้ยังเป็นหยกมีความแข็งแรงและมีเนื้อที่ละเอียด สามารถนำไปแกะขึ้นรูปได้ดี โดยมากหยกสีเขียวเป็นหยกที่นิยมมากที่สุด ยิ่งเขียวใสเหมือนมรกตยิ่งมีราคาแพง บางชิ้นอาจจะมีราคาหลายล้านบาทเลยทีเดียว นอกจากสีเขียวแล้ว หยกยังมีอีกหลายสีเช่น สีขาว สีเหลือง สีน้ำตาล สีส้ม สีม่วง หรือสีดำ ซึ่งก็สามารถนำมาทำเป็นเครื่องประดับที่ให้ความสวยงามได้ไม่แพ้กัน
อย่างไรก็ตาม ยังมีหินสีเขียวอีกหลายชนิดที่ดูเหมือนหรือคล้ายกับหยก และถูกนำมาใช้ทางการค้าแทน โดยที่คนทั่วไปเข้าใจว่าเป็นหยก ซึ่งแท้จริงแล้วนั้นคือความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง หินเหล่านี้ได้แก่ “มอว์ ซิต ซิต (Maw-Sit-Sit)” พบได้ที่ประเทศพม่า มีลักษณะสีเขียวเจิดจ้า ซึ่งดูคล้ายกันกับเจไดต์ “เซอร์เพนทีน (Serpentine)” หรือที่ได้ยินทางการค้าว่า “โคเรียน เจด (Korean Jade)” หรือ “โคเรีย เจด (Korea Jade)” พบได้ที่ประเทศเกาหลีเหนือ มีลักษณะสีเขียวออกเหลือง มีความแข็ง (Toughness) ใกล้เคียงกับเนฟไฟรต์และดูคล้ายกับเจไดต์ นิยมนำมาแกะสลัก “คริสโซเพรส แคลเซดนี (Chrysoprase Chalcedony)” หรือถูกเรียกว่า “ควีนส์แลนด์ เจด (Queensland Jade)” พบได้ที่ควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย มีลักษณะสีเขียวอมเหลือง “แคลิฟอร์ไนต์ ไอโดเครส (Californite Idocrase)” พบได้ที่แคลิฟอร์เนีย มีลักษณะสีเหลืองอมเขียว ซึ่งถูกเรียกทางการค้าว่า “แคลิฟอร์เนีย เจด” หรือ “ไอโดเครส” ซึ่งเป็นชื่อที่รู้จักกันโดยทั่วไป และ “ไฮโดรกรอสซูลาร์ การ์เนต (Hydrogrossular Garnet)” หรือ “แอฟริกัน เจด (African Jade)” มีลักษณะสีเขียว จนถึงเขียวอมน้ำเงิน
หยกในภาษาอังกฤษซึ่งเรียกว่า “jade” นั้นมาจากศัพท์ภาษาสเปนอันมีความหมายว่า “หินสีข้าง” ซึ่งมาจากความเชื่อโบราณของชาวสเปนว่า หินชนิดนี้จะช่วยรักษาโรคไตได้ อัญมณีชนิดนี้เป็นที่รู้จักและเป็นส่วนสำคัญของประวัติศาสตร์โลกมานานกว่า 7,000 ปี มีการค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีว่า ชนเผ่ามายา แอซแทค และอัลเมกส์ ในทวีปอเมริกากลางจะนำหยกมาทำเป็นอาวุธ เช่น ขวานและหัวธนู ชนเผ่าเมารีในนิวซีแลนด์ก็นิยมนำหยกมาทำเป็นอาวุธและเครื่องประดับเช่นกัน
ในสมัยอียิปต์โบราณเชื่อกันว่า หยกคือหินแห่งความรัก ความสงบ และความสมดุล ในหลายประเทศเชื่อกันว่า หยกคือหินแห่งความโชคดี หรือเครื่องรางป้องกันภัย แต่ทวีปที่มีความผูกพันกับหยกมากที่สุดก็คงหนีไม่พ้นทวีปเอเชีย ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากอารยธรรมจีน เชื่อกันว่าหยกคือสัญลักษณ์ของความดีงาม ปัญญา และความยุติธรรม และยังเป็นสัญลักษณ์ของเพศหญิงตามตำราหยินหยางของชาวจีนอีกด้วย
ความเชื่อที่ว่า หยกคืออัญมณีจากสวรรค์ที่จะนำโชคลาภ อาจจะไม่ใช่คำกล่าวเลื่อนลอยเสียทีเดียว หากนึกถึงการเสาะหาหยกจากธรรมชาติมาครอบครอง เหมืองหยกในแต่ละที่นั้นมักจะอยู่ในชนบทห่างไกลความเจริญ จะเดินทางไปถึงก็แสนยากลำบาก ซ้ำร้ายเมื่อไปถึงเหมืองก็จะเจอแต่ก้อนหินสีน้ำตาล ผู้เชี่ยวชาญทางด้านอัญมณีศาสตร์ยังบอกว่า การค้นพบหยกต้องอาศัยโชคล้วนๆ เพราะภายนอกของก้อนหยกจะเป็นสีน้ำตาล ซึ่งจะต้องฝานผิวด้านนอกให้เห็นด้านในจึงจะทราบได้ว่าเป็นหยกหรือไม่ และยิ่งไปกว่านั้น ก็ยังไม่สามารถบอกถึงคุณลักษณะของหยกได้จนกว่าจะผ่าหินทั้งก้อน การดูจากภายนอกจะเดาไม่ออก โชคร้ายก็จะไม่พบอะไรเลย
การเลือกซื้อหยกนั้นไม่ใช่เพียงจับแล้วรู้สึกเย็นเพียงอย่างเดียว จะต้องดูองค์ประกอบสามประการ คือ ประการที่หนึ่ง สี (Color) ประการที่สอง ความโปร่งแสง (Translucency) และประการที่สาม เนื้ออัญมณี (Texture)
หยกที่ดีเมื่อส่องกับไฟแล้วควรจะมีความโปร่งแสง มีเนื้อหินสุกใสเป็นประกาย สีสด และมีความเข้มเท่ากันตลอดทั้งเม็ด หยกที่ดีจะต้องเป็นหยกเนื้อธรรมชาติ แต่หยกที่ซื้อขายตามท้องตลาดทั่วไปก็ยังมีอีกมากมายที่ผ่านการปรับปรุงคุณลักษณะเพื่อให้สวยงามขึ้น เช่น หยกที่ผ่านการปรับปรุงโดยเคลือบขี้ผึ้งบางๆ บนผิวหยก หยกที่ผ่านการปรับปรุงคุณลักษณะโดยการฟอกเพื่อเอาคราบต่างๆ ออก และเคลือบด้วยสารโพลีเมอร์หรือขี้ผึ้ง หรือหยกที่ฟอกแล้วนำมาย้อมสีและทำการเคลือบสารโพลีเมอร์หรือขี้ผึ้งซ้ำ
การเคลือบสารโพลีเมอร์หรือขี้ผึ้ง ทำให้หยกดูเงางามและเหนียวคล้ายกับหยกคุณภาพดี ความนิยมในหยกทำให้พ่อค้าหัวใสบางคนเอาหินหรือวัสดุชนิดอื่น อย่างหินสบู่ คาร์เนเลียน อเวนทูริน ควอตซ์ หรือแก้ว มาหลอกขายว่าเป็นหยก ดังนั้นหากเจอหยกที่ถูกใจแล้วก็ควรจะให้ผู้เชี่ยวชาญด้านอัญมณีศาสตร์ตรวจสอบ หรือเลือกซื้อหยกที่มีใบรับรองจากสถาบันที่น่าเชื่อถือ เพื่อให้แน่ใจว่าได้หยกของแท้สวยงามสมราคาและคุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไปจริงๆ

Pantown.com ใช้คุกกี้ (cookies) หรือไฟล์ข้อมูลขนาดเล็กเพื่อจดจำการเข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเรา จดจำความชอบและความสนใจเพื่อการแสดงผลให้สอดคล้องกับความชอบและความสนใจของผู้เข้าใช้งาน เพื่อเร่งความเร็วในการแสดงผลของข้อมูล เพื่อวิเคราะห์และนำเสนอโฆษณา รวมถึงเพื่อความสะดวกในการให้บริการต่างๆในเว็บไซต์ของเรา โดยคุกกี้นี้จะถูกดาวน์โหลดเก็บไว้ในอุปกรณ์ของผู้เข้าใช้งานเพื่อระบุอุปกรณ์การใช้งานของผู้เข้าใช้ แต่จะไม่ระบุตัวบุคคลผู้เข้าใช้งาน ทั้งนี้การวิเคราะห์อาจทำโดยบุคคลอื่นที่ให้บริการหรือได้ รับมอบหมายให้กระทำการแทนในนามของ Pantown.com เช่น Google Analytics เป็นต้น