ECGH.pantown.com : ชมรมมัคคุเทศก์ภาษาสเปน
[ลูกบ้านSignIn][เจ้าบ้านSignIn]

   วัดปทุมวนาราม

ถ้าจะพูดถึงแหล่งที่มีห้างสรรพสินค้ามารวมกันอยู่มากที่สุดในกรุงเทพฯ ฉันว่าคงต้องยกให้ย่านสยามสแควร์ เพราะลองนับๆ ดูแล้วแถวนี้มีห้างสรรพสินค้าอยู่เกือบสิบแห่งทีเดียว ไม่ว่าจะเป็น สยามสแควร์ สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ สยามพารากอน เซ็นทรัลเวิลด์ พลาซ่า เกษรพลาซ่า อัมรินทร์ พลาซ่า และอื่นๆ อีกมากมาย แน่นอนว่าจำนวนของคนที่เดินทางผ่านไปมาในย่านนี้ก็ต้องยิ่งมากทวีคูณเข้าไปอีก

แต่ในวงล้อมของห้างสรรพสินค้าป่าคอนกรีต ความจอแจของผู้คนโดยเฉพาะเด็กแนวสายเดี่ยว รวมไปถึงรถราที่หนาแน่นทั้งหลายนี้ มีสถานที่อยู่แห่งหนึ่งที่ดูเหมือนจะอยู่เหนือความพลุกพล่านทั้งหมด และยังคงความสงบอยู่ได้อย่างไม่น่าเชื่อ ที่แห่งนั้นก็คือ "วัดปทุมวนาราม" นั่นเอง ฉันเคยได้ยินชื่อเสียงของวัดปทุมวนารามมานานแล้วว่าเป็นวัดกลางเมืองที่มักจะมีผู้คนมานั่งสมาธิปฏิบัติธรรมกันมาก ก็ให้สงสัยยิ่งนักว่าจะมีความสงบได้จริงหรือในสิ่งแวดล้อมเช่นนี้ คราวนี้จึงต้องมาพิสูจน์ด้วยตนเอง
ลงจากรถไฟฟ้าสถานีสยาม ฉันก็เดินตรงเข้ามายังวัดปทุมวนาราม พร้อมกับนึกถึงประวัติของวัดที่รู้มาว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงมีพระราชประสงค์ให้จัดทำรมณียสถาน หรือพูดง่ายๆ ก็คือสถานตากอากาศที่อยู่นอกพระนคร โดยทรงมีนาหลวงอยู่บริเวณทุ่งพญาไท ริมคลองบางกะปิ ซึ่งเป็นที่ลุ่มต่ำมีน้ำขังตลอดเวลาและมีบัวขึ้นอยู่ทั่วไป บริเวณดังกล่าวเป็นที่อยู่ของชาวล้านช้าง หรือชาวลาวที่ถูกกวาดต้อนเข้ามาตั้งแต่สมัยกบฏเจ้าอนุวงศ์

ในการก่อสร้างครั้งนั้น ได้มีการจ้างชาวจีนมาขุดลอกสระ 2 สระเชื่อมต่อกัน สระทางด้านเหนือเรียกว่าสระใน เป็นเขตหวงห้ามส่วนพระองค์และฝ่ายใน ส่วนทางด้านใต้เรียกว่าสระนอก ทรงอนุญาตให้ข้าราชการและราษฎรทั่วไปมาเล่นเรือกันได้ และภายในสระทั้งสองนั้นก็ปลูกบัวพันธุ์ต่างๆ ไว้ ไม่ว่าจะเป็นบัวสาย บัวผัน บัวเผื่อน บัวหลวง ฯลฯ ออกดอกงดงามเต็มสระ

และบริเวณสระบัวนั้นยังได้สร้างที่ประทับสำหรับพระองค์และเรือนฝ่ายในเป็นที่ประทับของเจ้าจอม รวมไปถึงโรงเรือนโรงครัวต่างๆ ซึ่งพระองค์ให้พระราชทานนามให้แก่สถานที่แห่งนี้ว่าปทุมวัน และทรงเรียกบริเวณที่ประทับว่าวังสระปทุม
ไม่ใช่เฉพาะแต่ที่ประทับเท่านั้น แต่พระองค์ยังได้ทรงสร้างวัดขึ้นบริเวณด้านทิศตะวันตกของสระนอกเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแก่สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี พระมเหสี และพระราชทานนามวัดว่า "วัดปทุมวนาราม" แต่ชาวบ้านมักเรียกว่า วัดสระปทุม โดยในเวลาที่พระองค์เสด็จมาประทับที่วังสระปทุมนี้ก็จะโปรดเกล้าฯ ให้พระสงฆ์จากวัดปทุมวนารามพายเรือเข้าไปบิณฑบาตในสระนี้ด้วย

มาจนถึงวันนี้ แม้ดอกบัวที่เคยมีอยู่เต็มสระจะเหลือเพียงแค่ไม่กี่ดอกอยู่ในอ่างบัวเท่านั้น แต่ภายในวัดปทุมฯ ก็ยังมีสิ่งที่น่าสนใจหลายสิ่งด้วยกัน สิ่งแรกก็ต้องเป็นเรื่องของพระพุทธรูป เพราะที่วัดนี้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์จากฝั่งลาวถึง 3 องค์ด้วยกัน นั่นก็คือ "พระเสริม" "พระแสน" และ "พระสายน์"

สำหรับพระเสริมและพระแสนนั้นประดิษฐานอยู่ด้วยกันในพระวิหาร "พระเสริม" นั้นเป็นพระพุทธรูปพี่น้องกับ พระสุก และ พระใส ซึ่งพระราชธิดาของกษัตริย์ล้านช้างทั้ง 3 พระองค์ เป็นผู้สร้างขึ้นและถวายนามของพระองค์เองให้เป็นชื่อของพระพุทธรูปด้วย

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 กองทัพสยามเดินทางไปตีเมืองเวียงจันทน์เพื่อปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์ เมื่อกองทัพจะเดินทางกลับบ้านเมือง ก็ได้อัญเชิญพระพุทธรูปมาจากเมืองเวียงจันทน์มาด้วยหลายองค์ด้วยกัน รวมทั้งพระสุก พระใส และพระเสริมด้วย

แต่ในขณะที่เคลื่อนย้ายพระพุทธรูปมาทางลำน้ำงึมออกแม่น้ำโขงก็ได้เกิดพายุฝนตกหนัก จนทำให้พระสุกหล่นจากแท่นประดิษฐานจมลงใต้แม่น้ำ บริเวณนั้นต่อมาจึงเรียกกันว่าเวินพระสุก หรือเวินสุก ส่วนพระเสริมและพระใสก็ได้อัญเชิญข้ามมายังฝั่งไทยได้อย่างปลอดภัย แต่เมื่อจะอัญเชิญต่อมายังกรุงเทพฯ ก็ปรากฏว่าเกวียนที่ประดิษฐานพระใสนั้นเกิดหักลงอยู่ตรงหน้าวัดโพธิ์ชัย เมืองหนองคาย ทำอย่างไรก็ไปต่อไม่ได้ จึงต้องอัญเชิญพระใสให้ประดิษฐานไว้ที่วัดโพธิ์ชัย เป็นพระคู่บ้านคู่เมืองหนองคายมาแต่บัดนั้น ส่วนพระเสริมนั้นอัญเชิญต่อมาได้จนถึงกรุงเทพฯ และมาประดิษฐานไว้ที่วัดปทุมวนารามอย่างที่เห็นในปัจจุบัน
ส่วน "พระแสน" พระพุทธรูปอีกองค์หนึ่งซึ่งประดิษฐานอยู่ในวิหารเดียวกันกับพระเสริมนั้น เดิมประดิษฐานอยู่ในถ้ำที่เมืองมหาไชย แขวงล้านช้าง แต่ได้อัญเชิญมายังกรุงเทพฯ เมื่อรัชกาลที่ 4 มีพระราชประสงค์จะอัญเชิญพระพุทธรูปโบราณจากล้านช้างมาประดิษฐานไว้ในพระอารามที่ทรงสร้างขึ้นใหม่หลายแห่ง

เช่นเดียวกับ "พระสายน์" ซึ่งประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถของวัดปทุมวนาราม ก็เป็นพระพุทธรูปที่อัญเชิญมาจากเมืองมหาไชย แขวงล้านช้างในสมัยรัชกาลที่ 4 เช่นกัน โดยพระแสนและพระสายน์นั้นต่างก็มีความศักดิ์สิทธิเหมือนกันตรงที่เมื่อใดเกิดฝนแล้ง ก็จะอัญเชิญท่านออกมาบูชากลางแจ้งและบูชาขอฝนจากท่านได้

นอกจากพระพุทธรูปทั้งสามองค์นี้แล้ว ระหว่างพระวิหารและพระอุโบสถก็ยังมีพระเจดีย์ ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบาทจำลองทำด้วยหินอ่อน และพระพุทธไสยาสน์หินอ่อนซึ่งได้มาจากลังกาอีกด้วย ส่วนด้านหลังเจดีย์ ตรงข้ามกับพระวิหารนั้นก็มีมณฑปของรัชกาลที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ทรงสร้างวัดนี้ขึ้นมา
หากกราบพระเรียบร้อยแล้ว อย่าลืมเดินไปทางด้านหลังพระวิหารออกประตูเล็กๆ ไปเพื่อกราบเจดีย์ที่ตั้งอยู่ด้านหน้าหอพระปริยัติธรรม ซึ่งภายในเจดีย์นั้นเป็นที่บรรจุพระสรีรังคารของ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก หรือพระราชบิดาของในหลวงเรานั่นเอง

หากใครที่เข้ามาชมวัดตรงบริเวณนี้แล้วยังคิดว่าวัดปทุมฯ ยังสงบไม่พอ ก็ต้องไปที่ "สวนป่าพระราชศรัทธา" ซึ่งตั้งอยู่บริเวณด้านหลังวัด ที่เรียกว่าสวนป่าก็เนื่องจากว่า บรรยากาศในแถบนี้ร่มครึ้มเต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่ร่มรื่น และมี "ศาลาพระราชศรัทธา" ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุให้ผู้ที่ศรัทธามากราบไหว้ รวมทั้งศาลานี้ยังเปิดให้ประชาชนเข้าไปนั่งสมาธิ และฟังธรรมได้ โดยจะมีเทปธรรมะเปิดให้ฟังตลอดทั้งวันอีกด้วย หรือหากใครต้องการเดินจงกรมก็สามารถทำได้เช่นกัน

ในตอนที่ฉันเดินชมพระอุโบสถ และพระวิหารอยู่นั้นก็รู้สึกขัดตาอยู่บ้างกับตึกสูงทั้งหลายที่ล้อมรอบวัดอยู่ แต่เมื่อเข้ามายังสวนป่าฯ แห่งนี้แล้ว บรรยากาศเหล่านั้นก็ถูกบดบังไปด้วยต้นไม้ใหญ่มากมายที่อยู่เต็มบริเวณ ซึ่งทำให้ฉันเชื่อแล้วว่า แม้ว่าวัดปทุมวนารามจะอยู่ในย่านที่พลุกพล่านที่สุด แต่ก็ยังมีความสงบและมีบรรยากาศของความเป็นวัดอยู่ครบถ้วนไม่ตกหล่นไปไหนจริงๆ

ดังนั้นหากใครที่ต้องการมาสัมผัสบรรยากาศสงบของวัดที่อยู่ท่ามกลางชุมชน อยากมานั่งสมาธิฟังธรรม หรือสนใจอยากจะไปร่วมทำบุญเนื่องในวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษาที่วัดปทุมวนาราม ก็ขอเชิญมาได้ ซึ่งนอกจากจะได้มาร่วมทำบุญถวายสังฆทาน ตักบาตรพระประจำวันเกิด และไหว้พระพุทธรูปสำคัญๆ ภายในวัดแล้ว ก็ยังมีการถวายเทียนพรรษาและผ้าอาบน้ำฝน รวมทั้งมีการเวียนเทียน และแสดงพระธรรมเทศนา 1 กัณฑ์ในวันอาสาฬหบูชาอีกด้วย

โอกาสนี้ฉันก็ขอเชิญเด็กแนวทั้งหลายแถวสยามมาลิ้มรสพระธรรมด้วยเสียเลยก็แล้วกัน...

วัดปทุมวนาราม ราชวรวิหาร ตั้งอยู่ที่ ถนนพระราม 1 แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร อยู่ระหว่างศูนย์การค้าสยามพารากอนและห้างเซ็นทรัลเวิลด์ พลาซ่า มีรถประจำทางสาย 2 15 16 25 40 45 48 54 73 79 204 79 ฯลฯ ผ่าน หรือสามารถนั่งรถไฟฟ้ามาลงที่สถานีสยาม แล้วเดินมาทางที่จะไปแยกเฉลิมเผ่า วัดจะอยู่ทางซ้ายมือ เปิดให้เข้าชมทุกวัน ในเวลา 07.00-18.00 น. สอบถาม โทร 0-2251-6469

********************************************




วัดโสมนัสวิหาร

วัดโสมนัสวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร ตั้งอยู่ริม คลองผดุงกรุงเกษม ระหว่างถนนราชดำเนินนอกกับถนนนครสวรรค์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2396 เพื่อเฉลิมพระเกียรติและอุทิศพระราชกุศลแก่ สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี พระบรมราชเทวี โดยได้ทรงวางศิลาฤกษ์พระอุโบสถเมื่อวันอาทิตย์ แรม 2 ค่ำ เดือนยี่ ปีฉลู จ.ศ.1215 ตรงกับวันที่ 15 มกราคม พ.ศ.2396 และการก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2399

เหตุที่มีการสร้างวัดนี้ขึ้นมานั้น มาจากการที่รัชกาลที่ 4 มีพระราชกระแสรับสั่งกับสมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี พระบรมราชเทวี ว่าจะสร้างวัดขึ้นสักวัดหนึ่ง แต่ยังไม่ทันจะได้สร้าง สมเด็จพระนางเจ้าฯ ก็ประชวรและสวรรคตเสียก่อน เมื่อมีการขุดคลองผดุงกรุงเกษมเป็นคูพระนครชั้นนอกแล้ว รัชกาลที่ 4 จึงมีพระราชประสงค์ที่จะให้มีวัดหลวงริมคูเหมือนที่กรุงศรีอยุธยา จึงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ สร้างวัดเพื่อเฉลิมพระเกียรติและอุทิศพระราชกุศลพระราชทาน พร้อมพระราชทานนามเพื่อเป็นที่ระลึกถึงสมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี พระบรมราชเทวี ว่า วัดโสมนัสวิหาร แล้วสถาปนาเป็นพระอารามหลวงฝ่ายธรรมยุต

วัดโสมนัสวิหารเป็นวัดที่มีกำแพงใหญ่หนาและสูงล้อมรอบ มีเสมา 2 ชั้น ชั้นนอกเรียกว่า มหาสีมา อยู่ที่กำแพงรอบวัด มหาสีมาของวัดโสมนัสวิหารนับว่ามีขนาดใหญ่ที่สุด ส่วนเสมาชั้นในเรียกว่า ขัณฑสีมา เป็นเสมาเล็กรอบพระอุโบสถเหมือนวัดทั่วๆ ไป พระสงฆ์จึงสามารถทำสังฆกรรมได้ทั่วบริเวณภายในกำแพงวัด ถือเป็นลักษณะพิเศษซึ่งมีอยู่เพียง 2 วัดเท่านั้นในกรุงเทพมหานครที่มีเสมาถึง 2 ชั้น อีกวัดหนึ่งคือ วัดมกุฎกษัตริยาราม

สิ่งสำคัญของวัดโสมนัสวิหาร คือ
• พระเจดีย์ วัดโสมนัสวิหารเป็นพระเจดีย์สีทอง ทรงลังกา สูง 27 วา 3 ศอก (55 เมตร) ส่วนกว้างโดยรอบฐาน 80 เมตร ปิดด้วยกระเบื้องโมเสคสีทอง ภายในประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ นอกจากนั้นยังมีพระเจดีย์องค์เล็กอีกองค์หนึ่ง เป็นพระเจดีย์แบบขมฟาง มีลักษณะเช่นเดียวกับปรินิพพานสถูปในอินเดีย อันเป็นลักษณะของพระเจดีย์ยุคแรกในพระพุทธศาสนา แต่ทางวัดโสมนัสวิหารเรียกพระเจดีย์องค์นี้ว่า เจดีย์มอญ กล่าวกันว่า พระเจดีย์ประเภทนี้มีอยู่ 2 แห่งเท่านั้นในประเทศไทย คือที่วัดโสมนัสวิหาร กับที่วัดกันมาตุยาราม พระวิหาร เป็นอาคารทรงไทยฐานสูง หลังคามุงกระเบื้อง ไม่มีช่อฟ้า ใบระกา หน้าบันเป็นปูนปั้น ประดับลวดลายด้วยกระเบื้องเคลือบสีและสีทอง เป็นรูปพระราชสัญลักษณ์ในรัชกาลที่ 4 และพระบรมราชเทวี ซุ้มประตูหน้าต่างเป็นปูนปั้นลงรักปิดทองประดับกระจกเป็นลายดอกพุดตาน มีรูปพระมหามงกุฎอยู่ตอนบน บานประตูหน้าต่างภายนอกเขียนลายรดน้ำ ภายในเขียนสี

พระวิหารมีระเบียง 3 ด้าน พนักระเบียงกรุด้วยกระเบื้องเคลือบปรุสีเขียว สุดระเบียงเป็นประตูเข้าสู่ภายในพระวิหารคตทั้ง 2 ข้าง ด้านหน้าพระวิหารมีบันไดทั้งสู่ชานระเบียง 2 บันได และขึ้นสู่พระวิหาร 2 บันได

พระประธานในพระวิหารคือ พระสัมพุทธโสมนัสวัฒนาวดีนาถบพิตร เป็นพระพุทธรูปขนาดหน้าตักกว้าง 52 นิ้ว ประดิษฐานอยู่ในบุษบกที่สวยงามมาก สูงเด่น มีพระพุทธรูปพระอัครสาวก 2 รูป นั่งประนมมือซ้าย - ขวา หน้าพระประธาน ทั้งพระประธานและพระอัครสาวกเป็นของหลวง อัญเชิญมาจากพระบรมมหาราชวัง

ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่พระวิหารวัดโสมนัสวิหารนับว่าแปลกกว่าที่อื่น คือเขียนเป็นเรื่อง อิเหนา ในขณะที่วัดอื่นๆ มักจะเขียนภาพชาดกหรือภาพพุทธประวัติ นอกจากเนื้อหาของภาพจะแตกต่างแล้ว เทคนิคการวาดก็ยังแตกต่างด้วย เพราะเริ่มได้รับอิทธิพลการวาดของชาติตะวันตกเข้ามาผสมผสาน เช่น การเขียนภาพเริ่มมีความเป็นธรรมชาติมากขึ้น มีการผลักระยะใกล้ไกลเหมือนจริง แบบที่เรียกว่าภาพสามมิติ



• พระอุโบสถ อยู่ด้านหลังพระวิหารและพระวิหารคต มีกำแพงแก้วล้อมรอบ บนกำแพงแก้วมีซุ้มสีมาประจำทั้ง 8 ทิศ พระอุโบสถมีลักษณะเช่นเดียวกับพระวิหาร แต่ขนาดย่อมกว่า ต่างกันที่เสาระเบียงเป็นเสาเหลี่ยม และกระเบื้องเคลือบที่กรุพนักระเบียงเป็นสีไพล ที่เสาพระอุโบสถมีสีมาศิลาสร้างติดไว้ทั้ง 8 ทิศ ซุ้มประตูหน้าต่างเป็นซุ้มลายดอกพุดตานปูนปั้น ลงรักปิดทองประดับกระจก บานประตูและบานหน้าต่างด้านนอก เขียนลายรดน้ำเช่นเดียวกับพระวิหาร หน้าบันเป็นปูนปั้นประดับกระเบื้องเคลือบสี ตรงกลางเป็นพระราชสัญลักษณ์ในรัชกาลที่ 4 และพระบรมราชเทวี

ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระประธานนามว่า พระสัมพุทธสิริ เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ขนาดหน้าตักกว้าง 2 คืบ 6 นิ้ว ซึ่ง สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทธสิริ) เจ้าอาวาสองค์แรกของวัดนี้ (พ.ศ.2399 - 2434) ได้สร้างไว้สมัยเมื่อท่านยังอยู่ที่วัดราชาธิวาสวิหาร รัชกาลที่ 4 ได้พระราชทานนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่าสัมพุทธสิริเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่เจ้าพระคุณสมเด็จฯ
ลักษณะเด่นของวัดนี้อีกประการหนึ่งก็คือ มีเมรุเผาศพอยู่นอกกำแพงวัด ไม่ใช่อยู่ในวัดเหมือนวัดทั่วไป เมรุหลังนี้อยู่ทางด้านหลังวัด รัชกาลที่ 4 ทรงให้เขียนแปลนวัดไว้ที่ผนังพระอุโบสถโดยให้เมรุอยู่นอกกำแพงวัด คือแยกออกจากพุทธาวาสและสังฆาวาสโดยเด็ดขาด

Pantown.com ใช้คุกกี้ (cookies) หรือไฟล์ข้อมูลขนาดเล็กเพื่อจดจำการเข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเรา จดจำความชอบและความสนใจเพื่อการแสดงผลให้สอดคล้องกับความชอบและความสนใจของผู้เข้าใช้งาน เพื่อเร่งความเร็วในการแสดงผลของข้อมูล เพื่อวิเคราะห์และนำเสนอโฆษณา รวมถึงเพื่อความสะดวกในการให้บริการต่างๆในเว็บไซต์ของเรา โดยคุกกี้นี้จะถูกดาวน์โหลดเก็บไว้ในอุปกรณ์ของผู้เข้าใช้งานเพื่อระบุอุปกรณ์การใช้งานของผู้เข้าใช้ แต่จะไม่ระบุตัวบุคคลผู้เข้าใช้งาน ทั้งนี้การวิเคราะห์อาจทำโดยบุคคลอื่นที่ให้บริการหรือได้ รับมอบหมายให้กระทำการแทนในนามของ Pantown.com เช่น Google Analytics เป็นต้น