ECGH.pantown.com : ชมรมมัคคุเทศก์ภาษาสเปน
[ลูกบ้านSignIn][เจ้าบ้านSignIn]

   พุทธศาสนา

พระพุทธศาสนา หรือ ศาสนาพุทธ (อังกฤษ: Buddhism, จีน: 佛教, บาลี: buddhasāsana, สันสกฤต: buddhaśāsana, ) เป็นศาสนาที่มีพระพุทธเจ้าเป็นพระบรมศาสดา มีพระธรรมที่พระบรมศาสดาตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เองเป็นหลักคำสอนสำคัญ มีพุทธบริษัท 4 เป็นชุมชนของผู้นับถือศาสนาและศึกษาปฏิบัติตนตามคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อสืบทอดไว้ซึ่งคำสอนของพระบรมศาสดา
พระพุทธศาสนา เป็นศาสนาอเทวนิยม คือสอนว่าไม่มีพระเจ้าผู้สร้างโลกผู้ทำลายโลก ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่เชื่อในศักยภาพของมนุษย์และมีแต่ตนเองเท่านั้นที่เป็นสิ่งศักดิ์สิทธ์สามารถดลบันดาลชิวิตให้ดีขึ้นหรือเลวลงได้ด้วยตนเองไม่ต้องอ้อนว้อนขอแก่พระผู้เป็นเจ้าที่ไหน คือให้พึ่งตนเอง เพื่อพาตัวเองออกจากกองทุกข์ มีจุดมุ่งหมายคือการสอนให้มนุษย์หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวงในโลก ด้วยวิธีการสร้าง "ปัญญา" ในการอยู่กับความทุกข์อย่างรู้เท่าทันตามความเป็นจริง วัตถุประสงค์อันสูงสุดของศาสนา คือการหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง เช่นเดียวกับที่พระบรมศาสดาทรงหลุดพ้นได้ด้วยกำลังสติปัญญาและความเพียร ในฐานะที่พระองค์ก็ทรงเป็นมนุษย์ คนหนึ่งมิใช่เทพเจ้า
พระพุทธเจ้าได้ทรงเริ่มออกเผยแผ่คำสอนในภูมิภาคที่เป็นประเทศอินเดียตอนเหนือและเนปาลในปัจจุบัน ตั้งแต่เมื่อ 45 ปีก่อนพุทธศักราช (พุทธศักราชในไทยเริ่มนับ 1 ปีถัดจากปีที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน) ปัจจุบันศาสนาพุทธได้เผยแผ่ไปทั่วโลก โดยมีจำนวนผู้นับถือส่วนใหญ่อยู่ใน ทวีปเอเชีย ทั้งในเอเชียกลาง เอเชียตะวันออก และ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะประเทศไทย ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นพุทธศาสนิกชน จัดเป็น 1 ใน 3 ศาสนาสากลหรือศาสนาโลก (หรือศาสนาที่เป็นศาสนาประจำชาติในหลายประเทศ) ประเทศที่มีพุทธศาสนิกชนมากที่สุดคือประเทศจีน
หลังการปรินิพพานของพระพุทธเจ้า พระพุทธศาสนา หรือพระธรรมวินัยที่พระองค์ทรงสั่งสอน ได้ถูกรวบรวมเป็นหมวดหมู่ด้วยการสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งแรก และสิ่งที่ได้จากการรวบรวมคำสอนของพระองค์ของพระมหาเถระผู้เป็นพระสาวกของพระองค์เองในครั้งนั้น ได้กลายเป็นหลักสำคัญที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมาตลอดของ พระพุทธศาสนานิกายเถรวาท และแนวคิดที่เห็นต่างออกไป จากการสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งที่สอง ได้เริ่มก่อตัวและแตกสายออกเป็นนิกายใหม่ในชื่อของ พระพุทธศาสนานิกายมหายาน ทั้งสองนิกายได้แตกนิกายย่อยไปอีกและเผยแพร่ออกไปทั่วดินแดนเอเชียและใกล้เคียง พระพุทธศาสนาในบางดินแดนก็ยังดำรงอยู่บางดินแดนก็เสื่อมไปผ่านกาลเวลาในประวัติศาสตร์ แต่หลักคำสอนดั้งเดิม (เถรวาท) และคำสอนของมหายาน ยังคงได้รับการรักษาและมีผู้นับถือมาโดยตลอด
ปัจจุบันพระพุทธศาสนาได้มีผู้นับถือกระจายไปทั่วโลก หากนับจำนวนรวมกันแล้วอาจมากกว่า 500 ล้านคน

องค์ประกอบของพุทธศาสนา

• สิ่งเคารพสูงสุด สรณะ (ที่พึ่ง) อันประเสริฐของพระพุทธศาสนาเรียกว่า พระรัตนตรัย ได้แก่ พระพุทธเจ้า พระธรรม และ พระสงฆ์ โดย "พระพุทธเจ้า" ทรงตรัสรู้ "พระธรรม" แล้วทรงสั่งสอนให้พระภิกษุได้รู้ธรรมจนหลุดพ้นตามในที่สุด ทรงจัดตั้งชุมชนของพระภิกษุให้อยู่ร่วมกันอย่างผาสุกด้วยการบัญญัติพระวินัยเพื่อเป็นกติกาในการอยู่ร่วมกันอย่างประชาธิปไตยเพื่อศึกษาพระธรรม (คันถธุระ) และฝึกฝนตนเองให้หลุดพ้น (วิปัสสนาธุระ) เรียกว่า "พระสงฆ์" (สงฆ์ แปลว่าหมู่, ชุมนุม) แล้วทรงมอบหมายให้พระสงฆ์ทั้งหลายเผยแผ่พระธรรม เพื่อประโยชน์สุขของสัตว์โลกทั้งปวง

• ศาสดา คือ พระพุทธเจ้า เกิดขึ้นในดินแดนที่เรียกว่า ชมพูทวีป ในสมัยพุทธกาล จุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ในลุมพินีวัน จากการประสูติของพระโพธิสัตว์ที่มีพระนามว่า เจ้าชายสิทธัตถะ ผู้ดำรงตำแหน่งศากยมกุฏราชกุมาร ผู้สืบทอดราชบัลลังก์กรุงกบิลพัสดุ์แห่งแคว้นศากยะ และด้วยความพรั่งพร้อมด้วยสมบัติอันอำนวยสุขที่ไม่ยั่งยืน เจ้าชายผู้ปรารถนาความสุขที่ยั่งยืนแท้จริงจึงได้สละจากสมบัติและบัลลังก์แห่งอนาคตพระเจ้าจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ตามคำทำนาย ออกผนวชเป็นนักบวชด้วยพระองค์เอง เพื่อแสวงหาโมกษะ หรือความหลุดพ้นจากความทุกข์ เพื่อความสุขอันเป็นนิรันดร์เมื่ออายุได้ 29 พรรษา จวบจนได้ทรงบรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณคือ การตรัสรู้อันทำให้ทรงหลุดพ้นจากทุกข์และกิเลสตัณหาที่จะทำให้พระองค์เกิดความทุกข์อยู่เสมอไม่จบสิ้น เมื่ออายุได้ 35 พรรษาที่ใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ จากนั้นพระองค์จึงได้ออกประกาศสิ่งที่พระองค์ตรัสรู้คือพระธรรมวินัยตลอดพระชนม์ชีพ เป็นเวลากว่า 45 พรรษา ทำให้พระพุทธศาสนาดำรงมั่นคงในฐานะศาสนาอันดับหนึ่งอยู่ในชมพูทวีปตอนเหนือ จวบจนพระองค์ได้เสด็จดับขันธปรินิพพาน ดับสังขารอันเป็นกองแห่งทุกข์ทั้งปวง ไม่ทรงไปเกิดที่ไหนและไม่ทรงกลับมาเกิดใหม่อีกตลอดกาล เมื่อพระชนมายุได้ 80 พรรษา ณ สาลวโนทยาน

• คัมภีร์ หลักธรรมคำสอนทางพุทธศาสนา ในยุคก่อนจะบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร ใช้วิธีท่องจำ (มุขปาฐะ) โดยใช้วิธีการสวดมนต์ เป็นเครื่องมือช่วยในการเปรียบเทียบความถูกต้อง และเรียกรวมกันทั้งหมดว่า "พระธรรมวินัย" ต่อมาภายหลังเรียกแยกเป็น "พระธรรม" คือ ความรู้ในสัจธรรมต่าง ๆ ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้แล้วและได้นำมาแสดงแก่ชาวโลก กับ "พระวินัย" คือข้อตกลง กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่ทรงบัญญัติไว้สำหรับผู้ที่ออกบวช เพื่อให้ผู้บวชใช้ยึดถือปฏิบัติ ในการครองเพศสมณะมีความขวนขวายมากในด้านที่ถูกต้องเป็นสาระแก่ชีวิต มีความขวนขวายน้อยในด้านอื่นที่ไม่เป็นสาระ เป็นชุมชนตัวอย่างที่ดำเนินชีวิตเพื่อความพ้นทุกข์ โดยมีหมวดอภิธรรมไว้อธิบายคำจำกัดความของศัพท์ในหมวดพระธรรม และมีหมวดอภิวินัยไว้อธิบายคำจำกัดความคำศัพท์ในส่วนพระวินัย จนมาถึงยุคสังคายนาครั้งที่ 3 ได้มีการบันทึกพระธรรมและพระวินัยเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นภาษาบาลี เรียกว่า "พระไตรปิฏก" แปลว่าตะกร้าสามใบ ซึ่งหมายถึง คัมภีร์หรือตำราสามหมวดหลัก ๆ ได้แก่

1. วินัยปิฎก ว่าด้วยวินัยหรือศีลของภิกษุ ภิกษุณี จัดเป็นรากของพระศาสนา เพราะเป็นการรักษาความน่าเชื่อถือของนักบวช

2. สุตตันตปิฎก ว่าด้วยพระธรรมทั่วไป และเรื่องราวต่าง ๆ จัดเป็นกิ่ง ใบ ผล ร่มเงาของพระศาสนา เพราะธรรมะย่อมก่อให้เกิดประโยชน์แตกต่างกันไปในแต่ละคน ซึ่งแต่ละคนสามารถนำไปใช้เพื่อประโยชน์แก่คนหมู่มาก

3. อภิธรรมปิฎก ว่าด้วยธรรมะที่เป็นปรมัตถ์ธรรม หรือธรรมะที่แสดงถึงสภาวะล้วน ๆ ไม่มีการสมมุติ จัดเป็นลำต้นของพระศาสนา เพราะแนวคิดที่แตกต่างกันออกไปอาจก่อให้เกิดความแตกแยกทางความคิด จึงต้องมีหลักเทียบเคียงความถูกต้องเป็นหลัก

• ผู้สืบทอด ได้แก่ พุทธบริษัท 4 อันหมายถึง พุทธศาสนิกชน พุทธมามกะ พุทธสาวก อันเป็นกลุ่มผู้ร่วมกันนับถือ ร่วมกันศึกษา และร่วมกันรักษาพุทธศาสนาไว้

• ผู้นับถือศาสนาพุทธที่ได้บวชเพื่อศึกษา ปฏิบัติตามคำสอน (ธรรม) และคำสั่ง (วินัย) และมีหน้าที่เผยแผ่พระธรรมของพระพุทธเจ้า เรียกว่า พระภิกษุสงฆ์ ในกรณีที่เป็นเพศชาย และ พระภิกษุณีสงฆ์ ในกรณีที่เป็นเพศหญิง

• สำหรับผู้บวชที่ตั้งแต่อายุยังไม่ถึงเกณฑ์ 20 ปี จะเรียกว่าเป็น สามเณร สำหรับเด็กชาย และ สามเณรีและสิกขมานา(สามเณรีที่ต้องไม่ผิดศิล 6 ข้อตลอด 2 ปี) สำหรับเด็กหญิง ลักษณะการบวชสำหรับภิกษุหรือภิกษุณี จะเรียกเป็นการอุปสมบท สำหรับ สามเณรหรือสามเณรี จะเรียกเป็นการ บรรพชา

• ส่วนผู้นับถือที่ไม่ได้บวชจะเรียกว่าฆราวาส หรือ อุบาสก ในกรณีที่เป็นเพศชาย และอุบาสิกา ในกรณีที่เป็นเพศหญิง

หลักการสำคัญของพุทธศาสนา

พระพุทธศาสนา หรือ ศาสนาพุทธ เป็นศาสนาที่มุ่งเน้นเรื่องการพ้นทุกข์ และสอนให้รู้จักทุกข์และวิธีการดับทุกข์ ให้พ้นจากอวิชชา (ความไม่รู้ความจริงในธรรมชาติ) อันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์จากกิเลสทั้งปวงคือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง เน้น การศึกษาทำความเข้าใจ การโยนิโสมนสิการด้วยปัญญา และพิสูจน์ทราบข้อเท็จจริง (ธัมมวิจยะ) เห็นเหตุผลว่าสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี (อิทัปปัจจยตา) และความเป็นไปตามธรรมชาติ และสัตว์โลกที่เป็นไปตามกฎแห่งกรรม ด้วยความไม่ประมาทในชีวิตให้มีความสุขในทั้งชาตินี้ ชาติต่อๆไป (ด้วยการสั่งสมบุญบารมี) ตลอดจนปรารถนาในพระนิพพานของผู้มีปัญญา
หลักคำสอนในพุทธศาสนามีทั้งหลักปฏิบัติที่เป็นหลักการพื้นฐานของจริยธรรมสากลคุณธรรมสากลและศิลธรรมสากล จริยธรรมสากลคือการรักษาหน้าที่ตามบทบาทที่สมมุติของสังคม คุณธรรมสากลคือความดีของจิตใจตามที่สังคมคาดหวัดยึดถือ ศิลธรรมสากลคือการไม่ทำร้ายกันความประพฤติถูกต้องตามที่วัฒนธรรมนั้นๆยอมรับได้ และ ปรมัตถธรรมสากล คือหลักปรัชญาหลักวิทยาศาสตร์หรือหลักวิชาการ

หลักจริยธรรม

หลักจริยธรรม) ได้แก่หลักธรรมพื้นฐานทั่วไปของมนุษย์เพื่อการดำรงอยู่อย่างปกติสุข ได้แก่ความกตัญญูกตเวที คือการรู้จักบุญคุญและตอบแทนดังนั้นทุกคนจึงมีหน้าที่ต่อกันด้วยการปฏิบัติตามหลักจริยธรรมของพระพุทธเจ้า คือการปฏิบัติหน้าที่ต่อกันด้วยหลักทิศ ๖ เช่น
• พ่อแม่ทำหน้าเลี้ยงดูลูก(บุพพการี) บุตรธิดาจึงมีหน้าที่ตอบแทนบุญคุณตอบด้วยการดูแลท่านไม่ทำให้ท่านเสียใจ ดังนั้นพ่อแม่จึงตอบแทนด้วยการเป็นพ่อแม่ที่ดีของลูก
• ครูทำหน้าที่สั่งสอนศิษย์ ศิษย์จึงมีหน้าที่ตั้งใจเล่าเรียนตอบแทน ดังนั้นครูจึงตอบแทนศิษย์ด้วยการตั้งใจสั่งสอนศิษย์
• ภรรยาดูแลลูกรักษาบ้านทำงานบ้านไม่บกพร่อง สามีจึงควรตอบแทนด้วยการไม่ดุด่าหรือไม่นอกใจ ภรรยาก็ตอบแทนด้วยความรักและจริงใจ
• ผู้ว่าจ้างให้ทรัพย์ในการดำรงชีวิต ลูกจ้างจึงควรตอบแทนด้วยการตั้งใจทำงานรับใช้ด้วยความซื่อสัตย์ ผู้ให้ทรัพย์จึงควรตอบแทนด้วยการสนับสนุนช่วยเหลือควบคุมให้เหมาะสมถูกต้องตามจรรยาบรรณอาชีพของสถาบันเขา
• สังคมมีบุญคุณหน้าที่ในการไม่ให้มีการทำร้ายกันและกันให้ปัจจัยในการดำรงค์ชีวิตแยกตามหน้าที่ความชำนาญของแต่ละบุคคล ประชาชนเป็นหนี้สังคมจึงควรเป็นพลเมืองดีเป็นการตอบแทนสังคม ประเทศชาติต้องตอบแทนด้วยการปกครองตามหลักธรรมาภิบาล
• ศาสนาสั่งสอนให้คนในสังคมไม่โหดร้ายและมีเมตตาต่อกัน เราจึงควรเป็นคนดีตอบแทนมิให้ศาสนาอื่นดูถูกได้ว่าสังคมที่นั้นถือศาสนานี้ส่ำสอนทางเพศชอบก่อแต่อาชญากรรมจนสังคมวุ่นวาย พระสงฆ์ตอบแทนด้วยการรักษาวินัยและตั้งใจปฏิบัติธรรม เป็นต้น

หลักคุณธรรม

(หลักคุณธรรม) เช่น พรหมวิหาร 4 เป็นหลักธรรมประจำใจเพื่อให้ตนและสังคมดำรงชีวิตด้วยการเอื้อเพื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน ไม่มุ่งร้ายต่อกันด้วยความรักที่บริสุทธิ์ต่อเพื่อนร่วมโลก ประกอบด้วยหลักปฏิบัติ 4 ประการ คือ เมตตา (ความปรารถนาอยากให้ผู้อื่นมีความสุข) กรุณา (ความปรารถนาอยากให้ผู้อื่นพ้นทุกข์) มุทิตา (ความยินดีที่ผู้อื่นประสบความสุขในทางที่เป็นกุศลหรือประกอบเหตุแห่งสุข) อุเบกขา (การวางจิตเป็นกลาง การมีเมตตา กรุณา มุทิตา เป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าตนไม่สามารถช่วยเหลือผู้นั้นได้ จิตตนจะเป็นทุกข์ ดังนั้น ตนจึงควรวางอุเบกขาทำวางใจให้เป็นกลาง และพิจารณาว่า สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรมที่ได้เคยกระทำไว้ จะดีหรือชั่วก็ตาม กรรมนั้นย่อมส่งผลอย่างยุติธรรมตามที่เขาผู้นั้นได้เคยกระทำไว้อย่างแน่นอน รวมถึงการให้อภัยผู้อื่น)และการปราศจากอคติ

หลักศีลธรรม

(หลักศีลธรรม) หลักคำสอนสำคัญของศาสนา ได้แก่ โอวาทปาติโมกข์ คือ " การไม่ทำความชั่วทั้งปวง การบำเพ็ญแต่ความดี การทำจิตให้สะอาดบริสุทธิ์"
หลักปรมัตถธรรม
(หลักปรมัตถธรรม) พุทธศาสนา สอน "อริยสัจ 4" หรือความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ
1. ทุกข์ที่ทำให้เราเข้าใจปัญหาและลักษณะของปัญหา
2. สมุทัยสาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์
3. นิโรธความดับแห่งทุกข์ และ
4. มรรควิถีทางอันประเสริฐที่จะนำให้ถึงความดับทุกข์
ซึ่งความจริงเหล่านี้เป็นสัจธรรมอันจริงแท้ของชีวิตและกฎธรรมชาติที่ตั้งอยู่โดยอาศัยเหตุปัจจัยปรุงแต่ง ดังนั้นเมื่ออธิบายคำสอนสำคัญโดยลำดับตามแนวอริยสัจ ได้แก่

1 สภาพแห่งทุกข์ (ทุกข์)
สภาพแห่งทุกข์ (ทุกข์) ได้แก่ ไตรลักษณ์ (หลักอภิปรัชญา) ลักษณะสภาพพื้นฐานธรรมดาที่เป็นสากลอย่างหนึ่ง จากทั้งหมด 3 ลักษณะ ที่ พุทธศาสนาได้สอนให้เข้าใจถึงเหตุลักษณะสากลแห่งสรรพสิ่งที่เป็นไปภายใต้กฎธรรมดา อันได้แก่

1. อนิจจัง (ความไม่เที่ยงแท้ มีอันต้องแปรปรวนไป)
2. ทุกขัง (ความทนอยู่อย่างเดิมได้ยาก)
3. อนัตตา (ความไม่มีแก่น สาระ ให้ถือเอาเป็นตัวตน ของเราและของใครๆ ได้อย่างแท้จริง)
และได้ค้นพบว่า นอกจากการ แก่ เจ็บ และตาย เป็นทุกข์ (ซึ่งมีในหลักคำสอนของศาสนาอื่น) แล้ว ยังสอนว่า การเกิดก็นับเป็นทุกข์ในทางพระพุทธศาสนาปฏิเสธการมีอยู่ของพระเจ้า และเชื่อว่า โลกนี้เกิดขึ้นจากกฎแห่งธรรมชาติอันมี กฎแห่งสภาวะ หรือมีธาตุทั้งสี่คือ ดิน น้ำ ลม และ ไฟ ที่เปลี่ยนสถานะเป็นธาตุต่างๆกลับไปกลับมา ที่เป็นไปตาม กฎไตรลักษณ์ และ กฎแห่งเหตุผล 3 ประการ คือ

• 1 ทุกขลักษณ์ (ความไม่เที่ยงแท้ ทนอยู่ในสภาพเดิมมิได้ตลอดกาล) คือสิ่งทั้งปวงหยุดนิ่งมิได้เหมือนจะต้องระเบิดอยู่ตลอดเวลา อย่างแสงอาทิตย์ต้องวิ่งมาชนโลก โลก จักรวาล กาแล๊คซี่ต้องหมุน ลมต้องพัด เปลือกโลกต้องเคลื่อน ทำให้มีกฎแห่งสมตา (ปรับสมดุล) เช่นเรานอนเฉยๆต้องขยับ หรือวิ่งมากๆต้องหยุด เช่นความร้อนย่อมต่องการสลายตัวไปที่เย็นกว่า ไฟฟ้าในเมฆพายุฝนที่มีมากทิ้งมาที่พื้นโลกจนเกิดฟ้าผ่า ที่ ๆ เป็นสุญญากาศย่อมดึงให้สิ่งที่มีอยู่เข้ามา ความทุกข์ทำให้เกิดการวิวัฒนาการของสัตว์ พืช เช่นพืชที่ปลูกถี่ๆกันย่อมแย่งกันสูงเพื่อแย่งแสงอาทิตย์ในการอยู่รอด หรือการปรับสมดุลจึงเกิดชิวิต
• 2 อนิจจลักษณ์ (ความไม่แน่นอน) ทำให้สิ่งทั้งปวงย่อมต้องเปลี่ยนแปลงสถานะเดิม อย่างธาตุดิน (ของแข็ง) เปลี่ยนเป็นธาตุน้ำ (ของเหลว) เปลี่ยนเป็นธาตุลม (แก๊ส) และเปลี่ยนเป็นธาตุไฟ (แสง ความร้อน พลังงาน) และเปลี่ยนไปไม่สิ้นสุด แม้จะเปลี่ยนแปลงแต่การเปลี่ยนแปลงก็มีขีดจำกัดทำให้เกิดกฎแห่งวัฏจักร (วัฏฏตา) โลก จักรวาล กาแล็กซี ย่อมหมุนเป็นวงกลม สิ่งมีชีวิตเริ่มต้นถึงที่สุดก็กลับมาตั้งต้นใหม่ ความไม่แน่นอนทำให้สัตว์ พืช ไม่เหมือน พ่อแม่ของตนได้นิดหน่อยเพราะกฎแห่งเหตุผลทำให้ลูกต้องมาจากปัจจัยพ่อแม่ของตน เช่นหมูที่เขี้ยวยาวกว่าจะเอาตัวรอดในสถานที่นั้นๆได้ดีกว่า นานๆ เข้าตัวที่เขี้ยวยาวกว่าพ่อแม่ของตนรอดมากๆเข้าก็ทำให้หมูป่าในปัจจุบันเขี้ยวยาวขึ้น
• 3 อนัตตลักษณ์ (สิ่งทั้งปวงไม่มีตัวตนอยู่เองโดยไม่เกี่ยวเนี่ยวกับใครมีตัวตนเพราะอาศัยปัจจัยต่างๆประกอบกันขึ้น เช่น ต้นไม้ย่อมอาศัยแสง ดิน น้ำ แร่ธาตุ ราก ใบ กิ่ง แก่น ลำต้น อากาศ ทำให้ดำรงอยู่ได้) สิ่งทั้งปวงย่อมเกี่ยวเนี่องซึ่งกันและกันทำให้เกิดการผสมผสาน ทำให้เกิดความหลากหลายยิ่งขึ้น อย่างร่างกายของเราย่อมเกิดจากความเกี่ยวข้องกันเล็กๆน้อยและเพิ่มขึ้นซับซ้อนขึ้น เมื่อสิ่งต่างมีผลกระทบต่อกันในด้านต่างๆทำให้เกิดกฎแห่งหน้าที่ (ชีวิตา) เช่น ตับย่อมทำงานของตับ ไม่ได้ทำงานเป็นกล้ามเนื้อหัวใจ และถ้าธาตุทั้งสี่ไม่ทำหน้าที่ของตน ร่างกายของย่อมแตกสลายไปราวกับอากาศธาตุ สรุป กฎไตรลักษณ์เป็นสิ่งที่ทำให้มีการสร้าง ดำรงรักษาอยู่ และทำลายไปของทุกสรรพสิ่ง ทุกขลักษณ์ทำให้สิ่งทั้งปวงอยู่นิ่งมิได้ อนิจจลักษณ์เปลี่ยนแปลงธาตุต่าง อนัตตลักษณ์ทำให้เกี่ยวเนื่องผสมผสานกันทำให้ซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกขลักษณ์เกิดจากการขัดแย้งกันของธาตุ อนัตตลักษณ์เกิดจากธาตุที่ต่างถูกผลักออกจากการขัดแย้งของธาตุ(ทุกขลักษณ์)มาเจอกัน อนิจจลักษณ์เกิดจากช่องว่างที่ธาตุถูกผลักออกไปและกระเด็นเข้ามาไหลเวียนเปลี่ยนผันเป็นกระแสไม่สิ้นสุด
เมื่อย่อกฎทั้ง 3 แล้ว จะเหลือเพียง ทุกข์เท่านั้นที่เกิดขึ้น ทุกข์เท่านั้นที่ดับไป (มีเพียงการสั่นสะเทือนของสสารอวินิพโภครูป8)

2 เหตุแห่งทุกข์ (สมุทัย)
เหตุแห่งทุกข์ (สมุทัย) ได้แก่ ปฏิจจสมุปบาท (หลักศรัทธา) พุทธศาสนา สอนว่า ความทุกข์ ไม่ได้เกิดจากสิ่งใดดลบันดาล หากเกิดแต่เหตุและปัจจัยต่างๆ มาประชุมพร้อมกัน โดยมีรากเหง้ามาจากความไม่รู้หรือ อวิชชา ทำให้กระบวนการต่างๆ ไม่ขาดตอน เมื่อมีการปรุงแต่งของเจตสิกอันเป็นนามธาตุที่วิวัฒนาการตามกฎไตรลักษณ์และเหตุผลจนกลายเป็นจิต (ธรรมธาตุ๗) ตามแนวมหาปัฏฐาน จนเกิดกระบวนการทางวิญญาณ ธาตุแสง(รังสิโยธาตุ) ต่างๆเกิดมีธาตุที่ ทรงจำแสง (สัญญา) เพ่งรู้แสง (มโน) ควบคุมแสง (สังขาร) อัสนีธาตุ (จิตตะ) ประสานกับรูปขันธ์ของชีวิตินทรีย์ (เช่นไวรัส แบคทีเรีย ต้นไม้ที่เป็นไปตามกฎชีวิตา) ทำให้เหตุผลของรูปธาตุเป็นไปตามเหตุผลของนามธาตุด้วย (จิตเป็นนายกายเป็นบ่าว) ทำให้รูปขันธ์ที่เป็นชีวิตินทรีพัฒนา มีอายตนะทั้ง 6 คือ
1. เมื่ออายตนะกระทบกับสรรพสิ่งที่มากระทบ
2. จนเกิดความสุขบ้าง ทุกข์บ้าง ไม่สุขไม่ทุกข์บ้าง (เวทนา อันเกิดจากการแปรปรวนแห่งนามธาตุ)
3. เมื่อได้สุขมาเสพก็ติดใจ
4. อยากเสพอีก ทำให้เกิดความทะยานอยาก (ตัณหา) ในสิ่งต่างๆ เมื่อประสบสิ่งไม่ชอบใจ พลัดพรากจากสิ่งที่ชอบใจ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้น
5. จึงเกิดการแสวงหาความสุขมาเสพ
6. จนเกิดการสะสม
7. นำมาซึ่งความตะหนี่
8. หวงแหน
9. จนในที่สุดก็ออกมาปกป้องแย่งชิงจนเกิดการสร้างกรรม และยึดว่าสิ่งนั้นๆเป็นตัวกู (อหังการ) ของกู (มมังการ) (เป็นปัจจยการ9)
ทำให้มีอุปาทาน (ความยึดมั่นถือมั่น) เมื่อมีอุปาทานว่าเป็นสิ่งนั้นเป็นสิ่งนี้ เช่น คนตาบอดแต่เกิด เมื่อมองเห็นภาพตอนโตย่อมต้องอาศัยอุปาทานว่าภาพที่เห็นเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้จนสร้างภพขึ้นในใจ
สสารทำให้เกิดเวลาและระยะทาง (ทฤษฎีสัมพันธภาพ) ถ้าไม่มีสสารก็ไม่มีเวลาและระยะทาง (เช่น นอกเอกภพย่อมไม่มีสถานที่ใดๆและไม่มีเวลา) เมื่อนามธาตุ (จิตเจตสิกและเหตุผลของนามธาตุ (กฎแห่งกรรม) ที่อยู่นอกเหนือเวลาและภพ แต่มาติดในเวลาและภพเพราะความยึดติดในสสารของจิต กรรมที่สร้างเป็นเหตุให้ต้องรับผลแห่งกรรม (หรือวิบากกรรม) ตามกฎแห่งกรรม ต่อเนื่องกันไป ตามหลักปฏิจจสมุปบาทสู่การเวียนว่ายตายเกิดของจิตวิญญาณทั้งหลายนับชาติไม่ถ้วน ผ่านไประหว่าง ภพภูมิทั้ง 31 ภูมิ (มิติต่างๆ ตั้งแต่เลวร้ายที่สุดไปจนถึงสุขสบายที่สุด) ในโลกธาตุที่เหมาะสมในเวลานั้นที่สมควรแก่กรรม นี้เรียกว่า สังสารวัฏ ตาม กฎแห่งกรรม
กฎแห่งกรรม นี้เป็นเงื่อนไขสำคัญที่กำหนดการเกิดภพชาติความเป็นไปของแต่ละดวงจิตในสังสารวัฏจนเป็นเหตุปัจจัยให้ประพบเจอความทุกข์ความสุข ปรารถนาหนีทุกข์ หรือแสวงหาความสุขจนสร้าง กรรม (คือการกระทำทุกอย่างทั้งทางกาย วาจา และใจ ที่มีเจตนาสั่งการโดยจิตของสิ่งมีชีวิต ไม่ว่าเป็นการกระทำที่ดี (บุญ/กุศล) หรือไม่ดี (บาป/อกุศล) หรือกลาง ๆ อันทำให้มีผลของการกระทำตามมา(วิบาก)เมื่อกรรมมากพอ ถูกทาง และควรให้ผล ถ้ากรรมดีหรือกรรมชั่วหนักให้ผลอยู่กรรมที่ให้ผลแตกต่างแต่มีกำลังน้อยกว่าย่อมไม่อาจให้ผลจนกว่ากรรมหนักนั้นจะอ่อนกำลังลงไป ในทางพุทธศาสนาเชื่อว่าผลของการกระทำจะไม่สูญหายไปไหน แต่รอเวลาที่จะให้ผลตอบแทนที่เหมาะสมกับการกระทำนั้นๆ สะท้อนกลับมาหาผู้กระทำเสมอ โดยกรรมในอดีตที่จะส่งผลสามารถบรรเทาเบาบางลงได้ถ้ามีสติปัญญารักษาตัวทำกรรมในปัจจุบันที่ถูกต้องเหมาะสม)กรรมเหมือนการปลูกต้นไม้เรารู้ว่าปลูกทุเรียน ย่อมได้ต้นทุเรียนหรืออาจได้ผลทุเรียน แต่ไม่อาจรู้ได้ว่าต้นทุเรียน จะมีรูปร่างเช่นไรให้ผลที่กิ่งไหน กล่าวโดยย่อว่า สิ่งทั้งหลาย ในโลกนี้ต่างมีเหตุให้เกิด เมื่อมีเหตุเกิดขึ้นผลก็เกิดขึ้นตาม เมื่อเหตุนั้นไม่มีอีกแล้วผลก็ดับไป การกระทำที่ไม่มีเจตนาหรือจิตรวมด้วยไม่เรียกว่ากรรมเรียกว่ากิริยา(เช่นลมพัด) ผลไม่เรียกวิบากเรียกปฏิกิริยา(ลมพัดใบไม้ไหว) กรรมดีเปรียบเหมือนน้ำกรรมชั่วเหมือนเกลือกรรมดีมากๆอาจละลายความเค็มของเกลือคือไม่ให้ผลหนักที่เดียวแต่ค่อยๆทยอยให้ผลเบาๆจนแทบไม่รู้สึกได้
สำหรับการเวียนว่ายของจิตวิญญาณมีเหตุมาจาก "อวิชชา" คือความที่จิตไม่รู้ถึงความเป็นจริง ไปหลงผิดในสิ่งสมมุติต่างๆซึ่งเป็นรากเหง้าของกิเลสทั้งหลาย เมื่อจิตยังมีอวิชชาสัตว์โลกย่อมเวียนว่ายตายเกิดไม่สิ้นสุด จนกว่าจะทำลายที่ต้นเหตุคืออวิชชาลงได้

3 ความดับทุกข์ (นิโรธ)
ความดับทุกข์ (นิโรธ) คือ นิพพาน ( อันเป็นเป้าหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา ) อันเป็น แก่นของพระพุทธศาสนา หรือ
• วิราคะความไม่ยึดมั่นถือมั่นในขันธ์5ของจิต
• วิโมกข์พ้นไปจากการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ
• อนาลโย ไม่มีความอาลัย
• ปฏินิสสัคคายะการปล่อยวาง
• วิมุตติ การไม่ปรุงแต่ง
• อตัมมยตา (กิริยาอารมณ์ว่า ไม่ต้องการอีกแล้ว) และ
• สุญญตา ความว่างเป็นความสุขสูงสุด
เนื่องจากธรรมดาของสัตว์โลกมีปกติทำความชั่วมากโดยบริสุทธิใจในความเห็นแก่ตัว ทำดีน้อยซึ่งไม่บริสุทธิ์ใจ ซ้ำหวังผลตอบแทน จึงมีปกติรับทุกข์มากกว่าสุข ดังนั้น ถ้าเป็นผู้มีปัญญาหรือเป็นพ่อค้าที่ฉลาดยอมรู้ว่าขาดทุนมากกว่าได้กำไร และ สุขที่ได้เป็นเพียงมายา ย่อมปรารถนาในพระนิพพาน เมื่อ ขันธ์5 แตกสลาย เจตสิกที่ประกอบกันเป็นจิตนั้นก็แตกสลายตามเช่นเดียวกัน เพราะไม่มีเหตุปัจจัยจะประกอบกันเป็นจิตนั้น กรรมย่อมไม่อาจให้ผลได้อีก (อโหสิกรรม) เหลือเพียงแต่พระคุณความดีเมื่อมีผู้บูชาย่อมส่งผลกรรมดีให้แก่ผู้บูชาเหมือนคนตีกลอง กลองไม่รับรู้เสียง แต่ผู้ตีได้รับอานิสงส์เสียงจากกลอง

4 วิถีทางดับทุกข์ (มรรค)
วิถีทางดับทุกข์ (มรรค) คือ มัชฌิมปฏิปทา (หลักการดำเนินชีวิต) ทางออกไปจากสังสารวัฏมีทางเดียว คือ การฝึกสติ เป็นวิธีฝึกฝนจิตเพื่อให้ถึงซึ่งความดับทุกข์หรือมหาสติปัฏฐาน โดยการปฏิบัติหน้าที่ทุกชนิดอย่างมีสติด้วยจิตว่างตามครรลองแห่งธรรมชาติ มีสติอยู่กับตัวเองในเวลาปัจจุบัน สิ่งที่กำลังกระทำอยู่เป็นสิ่งสำคัญกว่าทุกสรรพสิ่ง จนบรรลุญานโดยการดำเนินตามเส้นทางอริยมรรคโดยยึดทางสายกลาง( การดำเนินทางสายกลาง ที่ไม่ใช่ทางสายกลวง คือสักแต่ว่ากลางโดยไม่มีวิธีการที่แน่ชัด โดยทางพระพุทธศาสนากำหนดวิธีการที่ชัดเจนคือหลักมรรค 8)
เมื่อจำแนกตามลำดับขั้นตอนของการบำเพ็ญเพียรฝึกฝนทางจิต คือ

1. ศีล (ฝึกกายและวาจาให้ละเว้นจากการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น รวมถึงการควบคุมจิตใจไม่ให้ตกอยู่ในอำนาจฝ่ายต่ำด้วยการเลี้ยงชีวิตอย่างพอเพียง)
2. สมาธิ (ฝึกความตั้งใจมั่นจนเกิดความสงบ (สมถะ) และทำสติให้รับรู้สิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง) (วิปัสสนา) ด้วยความพยายาม
3. ปัญญา (ให้จิตพิจารณาธรรมชาติจนรู้ว่าสิ่งทั้งปวงเป็นเช่นนั้นเอง (ตถตา) และตื่นจากมายาที่หลอกลวงจิตเดิมแท้ (ฐิติภูตัง)

ศาสนสถาน

วัดอันเป็นสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวพุทธ ซึ่งเป็นสถานที่อยู่อาศัย หรือ ที่จำพรรษา ของ พระภิกษุ สามเณรตลอดจน แม่ชี เพื่อใช้ประกอบกิจกรรมประจำวันของพระภิกษุสงฆ์ เช่น การทำวัตรเช้าและเย็น และสังฆกรรมในพระอุโบสถ อีกทั้ง ยังใช้ประกอบพิธีกรรมเช่นการเวียนเทียนในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา และยังเป็นศูนย์รวมในการมาร่วมกันทำกิจกรรมในทางช่วยกันส่งเสริมพุทธศาสนาเช่นการมาทำบุญในวันพระของแต่ละท้องถิ่นของพุทธศาสนิกชน อีกด้วย สำหรับประเทศไทย วัด จะมีองค์ประกอบพื้นฐาน คือ พระอุโบสถ หรือ โบสถ์ ใช้เป็นที่ทำสังฆกรรมต่างๆ กุฏิ ใช้เป็นที่จำวัดของภิกษุ/สามเณร บางวัดอาจมี ศาลาการเปรียญ เพิ่มเติม สำหรับใช้เป็นที่ศึกษาธรรมะของภิกษุ/สามเณร
เจดีย์/สถูป เป็น สังเวชนียสถาน เพื่อรำลึกถึงพระพุทธเจ้า หรือบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ในประเทศไทย มีเจดีย์สำคัญๆ หลายๆ แห่ง อาทิ พระปฐมเจดีย์ ที่จังหวัดนครปฐม

พิธีกรรม

พิธีกรรมต่างๆในทางพระพุทธศาสนารวมเรียกว่าศาสนพิธีในทางพุทธศาสนาพิธีกรรมที่มีบัญญัติไว้เป็นอย่างเป็นหลักการคือสังฆกรรมของพระภิกษุสงฆ์ และพิธีกรรมที่มีมาตามวัฒนธรรมคืออัญชลี (การประนมมือ) วันทา (การไหว้) และอภิวาท (การกราบ) รวมถึงการเวียนประทักษิณ (เดินวนขวาสามรอบหรือการเวียนเทียน) และการพรมน้ำมนต์ เนื่องจากศาสนาพุทธถือว่าพิธีกรรมเป็นเพียงอุบายในการช่วยให้เข้าสู่ความดีในผู้ที่ยังไม่เข้าถึงแก่นแท้ทางศาสนา จึงไม่จำกัดหรือเจาะจงแน่ชัดลงไป ดังนั้นพิธีกรรมของชาวพุทธจึงมีความยืดหยุ่นและเป็นไปตามวัฒนธรรมของชนชาตินั้นๆตามความชอบของสังคมนั้น ทำให้ประเพณีชาวพุทธทั่วโลกจึงมีลักษณะที่แตกต่างกัน อันเนื่องจากพุทธไม่ถือว่าวัฒนธรรมตนเป็นวัฒนธรรมเอกและเห็นวัฒนธรรมอื่นเป็นวัฒนธรรมรองจนต้องทำลายหรือดูดกลืนวัฒนธรรมของชนชาติอื่นๆ พุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่จึงเป็นผู้ใจกว้างในความแตกต่างทางวัฒนธรรม ยินดีในความหลากหลายทางวัฒนธรรม ยอมรับในประเพณีที่แตกต่างของกันและกันได้ดี

ลักษณะเด่นของพุทธศาสนา

พระพุทธศาสนา เป็นศาสนาที่เกิดในยุคที่สังคมอินเดียมีสภาพการณ์หลายอย่างที่วุ่นวาย เช่น มีการแบ่งแยกกดขี่ทางชนชั้นวรรณะของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู มีความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่ชัดเจน ถือชั้นวรรณะอย่างเข้มงวด มีความแตกต่างกันทางฐานะอย่างมากมาย (มีทั้งเศรษฐีมหาศาลและคนยากขาดแคลน) และลัทธิ ความเชื่อ ศาสดา อาจารย์เกิดขึ้นมากมาย ที่สอนหลักการยึดถือปฏิบัติอย่างผิดพลาด หรือสุดโต่ง เช่น การใช้สัตว์เป็นจำนวนมากเพื่อบวงสรวงบูชายัญ การบำเพ็ญทุกรกิริยาของนักบวชบางพวก การปล่อยชีวิตให้เป็นไปโดยไม่แก้ไขถือว่าเป็นพระประสงค์ของพระเจ้า รวมถึงการกีดกันไม่ให้คนบางพวก บางกลุ่มเข้าถึงหลักการ หลักคำสอนของตนได้ เนื่องจากข้อจำกัดของชาติกำเนิด ฐานะ เพศ เป็นต้น แต่พุทธศาสนาเปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าถึงเป้าหมายสูงสุดได้เสมอกัน โดยไม่แบ่งแยกตามชั้นวรรณะ จึงเสมือนน้ำทิพย์ชโลมสังคมอินเดียโบราณให้ขาวสะอาดมากกว่าเดิม คำสอนของพุทธศาสนาทำให้สังคมโดยทั่วไปสงบร่มเย็น

ศาสนาแห่งเหตุผล

พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งความรู้ เพราะเป็นศาสนาแห่งการตรัสรู้ของพระพุทธองค์เอง จากปัญญาของพระองค์ และธรรมที่พระองค์ตรัสรู้คือ อริยสัจ 4 ก็เป็นความจริงอย่างแท้จริง ให้เสรีภาพในการพิจารณา ให้ใช้ปัญญาเหนือศรัทธา ในขณะที่บางศาสนาสอนว่าศาสนิกชนต้องมีศรัทธามาก่อนปัญญาเสมอ และต้องมีความภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้าสูงสุด ผู้นับถือจะสงสัยในพระเจ้าไม่ได้ ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งการศึกษา และการแสวงหาความจริง และส่งเสริม (ท้าทาย) ให้ศาสนิก พิสูจน์ หลักธรรมนั้นด้วยปัญญาของตนเอง ไม่สอนให้เชื่อง่ายโดยไม่ไตร่ตรองให้รอบคอบก่อน เช่น หลักกาลามสูตร

ศาสนาแห่งอิสระเสรีภาพ

พุทธศาสนาไม่มีการบังคับ ให้คนศรัทธา หรือเชื่อ แต่ท้าทายให้เข้ามาเรียนรู้ และพิสูจน์หลักธรรม ด้วยตนเอง ศาสนาของพระพุทธเจ้าคือคำสอน ซึ่งทรงสอนให้ผู้ฟังใช้ปัญญาพิจารณาอย่างถ่องแท้ก่อนจะปลงใจเชื่อ ไม่ใช่เทวโองการ (Gospel) จากพระเจ้าซึ่งแย้งไม่ได้ พระสงฆ์หรือพุทธสาวกก็มิใช่มิชชันนารี ซึ่งมีภารกิจหลักคือจาริกไปชี้ชวนให้ใครต่อใครมานับถือพระศาสนา พระสงฆ์หรือพุทธสาวกมีหน้าที่เพียงอธิบายคำสอนของพระพุทธเจ้าให้ คนที่สนใจฟังเท่านั้น ใครไม่สนใจฟัง ชาวพุทธก็ไม่เคยใช้กฎหมายหรือรัฐธรรมนูญบังคับให้นับถือ ไม่เคยตั้งกองทุนให้การศึกษาฟรี แล้วสร้างเงื่อนไขให้ผู้รับทุนเปลี่ยนมาเป็นชาวพุทธ ไม่เคยสร้างที่พักอาศัยให้หรือแจกทานให้อาหารฟรีๆ แล้ววางเงื่อนไขให้คนมาขออาศัยตนต้องหันมานับถือศาสนาในภาวะจำยอม ความใจกว้างและมีหลักคำสอนที่เป็นสัจธรรม เชิญชวนให้มาพิสูจน์ด้วยการปฏิบัติเองและเน้นให้ใช้ปัญญาไตร่ตรองให้รอบคอบก่อนนับถือ ทำให้พระพุทธศาสนาได้รับการยอมรับจากวิญญูชนไปทั่วโลก ทั้งจุดมุ่งหมายคือวิมุตติความหลุดพ้น เป็นอิสระจากกิเลสตัณหาทั้งปวง
ในอีกนัยหนึ่ง พุทธศาสนา สอนว่าทุกคนมีอิสระ และเสรีที่จะเลือกทำ เลือกเป็น เลือกสร้าง โลก ได้อย่างเต็มที่ด้วยตนเอง โดยการสร้างเหตุ และเตรียมปัจจัยให้พร้อม ที่จะทำให้เกิดผลอย่างที่ต้องการ (เมื่อเหตุและปัจจัยพร้อม ผลก็จะเกิดขึ้น) ซึ่งไม่ขึ้นอยู่กับ การดลบันดาลของใคร หรือกรรมเก่า (ที่เป็นเพียงแค่ปัจจัยหนึ่ง หรือเงื่อนไขหนึ่งเท่านั้น)

ศาสนาอเทวนิยม

เพราะเหตุว่าพระพุทธศาสนาไม่ยอมรับในอำนาจการดลบันดาลของพระเจ้า จึงจัดอยู่ในศาสนาประเภท อเทวนิยม ในความหมายที่ว่าไม่เชื่อว่า พระเจ้าบันดาลทุกสรรพสิ่ง ไม่เชื่อว่าพระเจ้าสร้างโลก พุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ไม่ผูกติดกับพระผู้ดลบันดาล หรือพระเจ้า ไม่ได้ผูกมัดตนเองไว้กับพระเจ้า ไม่พึ่งพาอำนาจของพระผู้เป็นเจ้า เชื่อในความสามารถของมนุษย์ว่ามีศักยภาพเพียงพอ โดยไม่ต้องพึ่งอำนาจใดๆภายนอก เชื่อว่ามนุษย์เองสามารถปลดเปลื้องความทุกข์ได้โดยไม่รอการดลบันดาล และพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้โดยไม่มีใครสั่งสอน และไม่อ้างว่าเป็นทูตของพระเจ้า นักปราชญ์ทั้งหลายทั้งในอดีต และปัจจุบันจึงกล่าวยกย่องว่าเป็นศาสนาที่ประกาศความเป็นอิสระของมนุษย์ให้ปรากฏแก่โลกยิ่งกว่าศาสนาใดๆที่มีมา แต่หากจะเปรียบเทียบกับศาสนาอื่นที่มีพระเจ้า ชาวพุทธทุกคนคือพระเจ้าของตัวเอง เนื่องจากตัวเองเป็นคนกำหนดชะตาชีวิตของตัวเอง ว่าจะมีความเจริญรุ่งเรืองในชีวิตหรือมีความตกต่ำในชีวิต จากการประพฤติปฏิบัติของตัวเอง ดังคำพุทธพจน์ที่ว่า ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน ซึ่ง ต่างกับศาสนาที่มีพระเจ้าผู้เป็นใหญ่ ที่ชะตาชีวิตทั้งหมดล้วนเป็นสิ่งที่พระเจ้ากำหนดมาแล้วเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ไม่ว่าจะเจอเรื่องดีหรือร้ายก็ต้องทนรับชะตากรรมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ศาสนาแห่งสันติภาพ

ในกระบวนการนักคิดของโลกศาสนา พุทธศาสนาได้รับการยกย่องจากทั่วโลกว่า เป็นศาสนาแห่งสันติภาพอย่างแท้จริง เพราะไม่ปรากฏว่ามีสงครามศาสนาเกิดขึ้นในนามของพุทธศาสนา หรือเผยแผ่ศาสนาโดยการบังคับผู้อื่นให้มานับถือ สอนให้มีความรักต่อสรรพชีวิตใดๆไม่ใช่เพียงแค่มนุษย์รวมถึงสรรพสัตว์ทั้งหมด ที่ร่วม เกิด แก่ เจ็บ ตาย รักสุข-เกลียดทุกข์เช่นเดียวกับเรา สอนให้เมตตาทั้งผู้อื่นและตัวเอง ไม่สอนให้ละเมิดสิทธิของตนเองและไม่ให้ละเมิดสิทธิของผู้อื่น สหประชาชาติยกย่องให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสันติภาพโลก

นิกาย

ศาสนาพุทธ แบ่งออกเป็นนิกายใหญ่ได้ 2 นิกายคือ เถรวาท และมหายาน นอกจากนี้แล้วยังมีการแบ่งที่แตกต่างออกไปแบ่งเป็น 3 นิกาย เนื่องจากวัชรยานไม่ยอมรับว่าตนคือมหายาน เนื่องจาก มหายานมีต้นเค้ามาจากท่านโพธิธรรม(ปรมาจารย์ตั๊กม้อ) ส่วนวชิรยานมีต้นเค้ามาจากท่านคุรุปัทสัมภวะ
• เถรวาท (เดิมเรียกอีกชื่อว่า'หินยาน' แปลว่า ยานเล็ก) หมายถึง คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งคำสั่งสอน และ หลักปฏิบัติ จะเป็นไปตามพระไตรปิฎก แพร่หลายอยู่ในประเทศไทย ศรีลังกา พม่า ลาว กัมพูชา และ บางส่วนของประเทศเวียดนามส่วนมากเป็นชาวเขมร บังกลาเทศ และ มาเลเซียส่วนมากเป็นชาวไทย
• มหายาน (ยานใหญ่) หรือ อาจาริยวาท แพร่หลายใน จีน ญี่ปุ่น มองโกเลีย ภูฏาน ไต้หวัน เกาหลีเหนือ เกาหลีใต้และ สิงคโปร์ และบางส่วนของ อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซียส่วนมากเป็นชาวจีน เนปาล บรูไนส่วนมากเป็นชาวจีน ฟิลิปปินส์ส่วนมากเป็นชาวจีน อุซเบกิสถาน และ ทาจิกิสถาน
• วัชรยาน หรือ มหายานพิเศษ ปัจจุบันมีใน อินเดียบริเวณลาดักในรัฐชัมมูและกัษมีร์ และในรัฐสิกขิม ประเทศเนปาล ภูฏาน ปากีสถาน มองโกเลีย และ เขตปกครองตนเองทิเบต


********************************************

มรรค4 ผล4 นิพพาน1

โดย พระจุลนายก (สุชาติ อภิชาโต)
วัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร ในพระบรมราชูปถัมภ์ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี

มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑
ตลอดระยะเวลา ๔๕ พรรษาที่พระพุทธองค์ทรงอุทิศตนประกาศพระธรรมสั่งสอนโลกนั้น พระพุทธองค์ทรงประกาศสั่งสอนอยู่ทุกๆวัน พระธรรมคำสอนจึงมีมากมาย ที่รวบรวมไว้ในพระไตรปิฏกก็มีถึง ๘๔๐๐๐ พระธรรมขันธ์ แต่ถึงแม้พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าจะมีมากมายเท่าไรก็ตาม เนื้อหาสาระคำสอนของพระพุทธองค์นั้นสรุปรวมเป็นหัวข้อใหญ่ๆได้ ๓ หัวข้อด้วยกัน คือ ๑. ละการกระทำบาปทั้งปวง ๒. ทำความดีทั้งหลายให้ถึงพร้อม ๓. ชำระจิตใจให้สะอาดหมดจด คือชำระความโลภ ความโกรธ ความหลง ให้ออกไปจากจิตจากใจ นี่คีอเนื้อหาสาระของพระธรรมคำสอนที่พระพุทธองค์ได้แสดงไว้ตลอด ๔๕ พรรษา ไม่ว่าจะไปแสดงธรรมให้กับใครที่ไหนก็จะแสดงแต่เรื่องเหล่านี้

ผู้ใดสามารถประพฤติปฏิบัติธรรม ตามที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนได้แล้ว ผลที่จะพึงหวังได้ คือความผาสุก ความเจริญรุ่งเรือง ความปราศจากทุกข์ในจิตใจ ความร่มเย็นเป็นสุข ซึ่งจะปรากฏเป็นขั้นๆไป นำไปสู่การสิ้นสุดของการเวียนว่ายตายเกิด คือการตัดภพ ตัดชาติ ให้เหลือน้อยลงไปตามลำดับ จนกระทั่งภพชาติหมดสิ้นไป นี่คือผลที่ผู้ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ จะสามารถบรรลุถึงได้ พระพุทธองค์ได้ทรงแยกผลเหล่านี้ไว้เป็น ๙ ขั้นด้วยกัน เรียกว่า มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ คือมีมรรคอยู่ ๔ ขั้น มีผลอยู่ ๔ ขั้น และพระนิพพานเป็นสุดยอดของการประพฤติปฏิบัติธรรม มรรคนี้หมายถึงการประพฤติปฏิบัติแต่ละขั้นนั่นเอง เปรียบเหมือนกับการเดินทาง เช่นเวลาญาติโยมมาจากบ้าน ขณะเดินทางนั่งรถเข้ามาสู่วัดนี้ เรียกว่ากำลังเจริญมรรค เมื่อเข้าถึงตัววัดแล้ว เรียกว่าได้บรรลุถึงผลคือจุดหมายปลายทาง การเดินทางนั้นเป็นมรรค เมื่อมาถึงจุดหมายปลายทางแล้ว เรียกว่าผล

มรรคผลนี้ พระพุทธองค์ทรงจำแนกไว้อยู่ ๔ ขั้นด้วยกัน คือ มรรค ๔ ผล ๔ คือ ๑. โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล ๒. สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล ๓. อนาคามิมรรค อนาคามิผล ๔. อรหัตตมรรค อรหัตตผล แล้วจึงจะถึงพระนิพพาน ทั้งหมดนี้รวมเป็น ๙ ขั้นด้วยกัน คือมรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ ผู้ปฏิบัติเพื่อมรรคผลนิพพานต้องปฏิบัติตามที่พระพุทธองค์ทรงสอนไว้ คือละความชั่ว ทำความดี และชำระจิตใจให้สะอาดหมดจด ด้วยการทำบุญให้ทาน รักษาศีล และเจริญจิตตภาวนา เรียกสั้นๆว่า ทาน ศีล ภาวนา นี่คือวิธีดำเนินการเพื่อที่จะเข้าสู่มรรคผลนิพพาน เมื่อปุถุชนคนธรรมดาอย่างเราอย่างท่าน เกิดมีศรัทธาในพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ ได้น้อมเอาสิ่งต่างๆที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนมาประพฤติปฏิบัติ เริ่มด้วยการทำบุญให้ทาน รักษาศีล และเจริญจิตตภาวนา คือทำจิตให้สงบด้วยการไหว้พระสวดมนต์ หรือด้วยการนั่งสมาธิ กำหนดพุทโธ หรืออานาปานสติกำหนดดูลมหายใจเข้าออก ทำจิตใจให้สงบ จากนั้นก็เจริญวิปัสสนาปัญญา ให้เห็นว่าสภาพทั้งหลายในโลกนี้มีแต่ความทุกข์ มีแต่ความไม่เที่ยง มีแต่ความไม่มีตัวตน นี่คือการเจริญมรรคของปุถุชนเพื่อตัดสังโยชน์ เครื่องพันธนาการที่ผูกมัดสัตว์โลกทั้งหลายไว้ในวัฏสงสาร คือการเวียนว่ายตายเกิด

สังโยชน์เครื่องพันธนาการนี้มีอยู่ ๑๐ ประการด้วยกัน แบ่งออกเป็น ๒ ส่วนคือ สังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการ สังโยชน์เบื้องสูง ๕ ประการ สังโยชน์เบื้องต่ำ ๓ ตัวแรกที่ผู้เจริญโสดาปัตติมรรคจะต้องตัดให้ขาดนั้นคือ ๑. สักกายทิฐิ ความเห็นว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นตัวเป็นตน เป็นเราเป็นของๆเรา ๒. วิจิกิจฉา ความสงสัยในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ๓. สีลัพพตปรามาส ความลูบคลำศีล

เป็นปกติของปุถุชนคนธรรมดาที่จะเห็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นตัวเป็นตน เป็นเราเป็นของๆเรา ที่จะสงสัยว่าพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ มีจริงหรือเปล่า ที่จะมีความไม่มั่นใจว่าการรักษาศีลนั้นจะได้ประโยชน์จริงหรือเปล่า ตายไปแล้วสูญ หรือตายไปแล้วจะได้เกิดอีก ถ้าตายแล้วสูญการรักษาศีลก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร นี่คือเครื่องผูกมัดจิตใจของปุถุชนให้ติดอยู่กับการเวียนว่ายตายเกิด แต่ถ้าได้ศึกษาพระธรรมคำสอนและได้เจริญทาน ศีล ภาวนา ไปอย่างต่อเนื่องแล้ว ไม่ช้าก็เร็วแสงสว่างแห่งธรรมก็จะปรากฎขึ้นมาในดวงจิต คือมีดวงตาเห็นธรรมขึ้นมานั่นเอง คือเห็นว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนี้ไม่มีตัวมีตน เห็นว่าร่างกายนี้เป็นมาจากอาหารที่รับประทานเข้าไป อาหารนั้นนี้ก็มาจาก ดิน น้ำ ลม ไฟ เช่นข้าวที่ปลูกไว้ในดิน ถ้าไม่มีน้ำ ไม่มีแดด ไม่มีอากาศ ข้าวก็ไม่เจริญงอกงาม ร่างกายนี้ก็เหมือนกัน เมื่อธาตุทั้ง ๔ ได้เข้าไปในร่างกายในรูปของอาหาร ก็เปลี่ยนเป็นอาการ ๓๒มี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เป็นต้น เมื่อตายไปก็กลับคืนสู่ธาตุเดิม

การเจริญสมาธิและวิปัสสนาอย่างต่อเนื่องจะทำให้เห็นว่าที่แท้จริงแล้วร่างกายนั้นเป็นการรวมตัวของธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลมไฟ เท่านั้นเอง ไม่มีตัวตนอยู่ในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ และเห็นว่ากรรมนั้นมีจริง คือทำดีย่อมได้รับความสุข ทำชั่วย่อมได้รับความทุกข์ เมื่อเป็นเช่นนั้นก็จะไม่ลูบคลำศีล แต่จะรักษาศีลอย่างเคร่งครัด นี่คือการเห็นธรรม เมื่อเห็นธรรมย่อมเห็นพระพุทธเจ้า เพราะพระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเราตถาคต ผู้ที่เห็นพระตถาคตได้ต้องเป็นพระสุปฏิปันโน คือผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ คือพระโสดาบัน พระอริยสงฆ์นั่นเอง นี่คือเรื่องของโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล อริยมรรค อริยผลขั้นที่หนึ่ง ที่ผู้ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าจะบรรลุถึงได้

พระโสดาบันจะมีภพชาติเหลือเพียง ๗ ภพชาติเท่านั้นเอง จะเกิดอยู่แต่ในสุคติภพ คือจะไม่ไปเกิดในอบายภูมิอีกต่อไป ไม่ต้องเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์นรก เพราะมีธรรมะคอยป้องกันไม่ให้ตกลงไปสู่ที่ต่ำ พระโสดาบันนี้จะรักษาศีล ๕ ยิ่งกว่าชีวิต จะไม่ละเมิดศีล ๕ อย่างเด็ดขาดไม่ว่าในกรณีใดทั้งสิ้น พระโสดาบันเป็นบุคคลที่ยังครองเรือนอยู่ เพราะยังไม่ได้ละสังโยชน์เครื่องพันธนาการอีก ๒ ตัว คือกามราคะและปฏิฆะ กามราคะหมายถึงความยินดีในกาม ปฏิฆะหมายถึงความหงุดหงิดใจ แสดงว่าพระโสดาบันยังยินดีกับการครองเรือน มีสามี มีภรรยา จนกว่าจะละกามราคะและปฏิฆะได้ คือต้องเจริญสกิทาคามิมรรคและอนาคามิมรรคจนบรรลุอนาคามิผล

การเจริญสกิทาคามิมรรคและอนาคามิมรรค คือการพิจารณาร่างกายให้เห็นว่าเป็นของไม่สวยไม่งาม เรียกว่าการเจริญอสุภกรรมฐาน พิจารณาอาการ ๓๒ ของร่างกายทั้งส่วนข้างนอกของผิวหนังและส่วนที่อยู่ใต้ผิวหนังอวัยวะต่างๆ เช่นเนื้อ หนัง เอ็น กระดูก หัวใจ ปอด ตับ ไต ไส้พุง เป็นต้น ทั้งขณะที่เป็นอยู่และขณะที่ตายไป เป็นซากศพในลักษณะต่างๆ ถ้าได้พิจารณาอยู่เรื่อยๆต่อไปกามราคะความยินดีในกามก็จะค่อยๆ คลายลงไปเรื่อยๆ จะค่อยๆเบาบางลงไป ปฏิฆะความหงุดหงิดใจ ก็จะค่อยๆเบาบางตามไปด้วย เมื่อได้ทำให้กามราคะและปฏิฆะเบาบางลงไป ก็จะบรรลุสกิทาคามีผล พระสกิทาคามีจะมีความรู้สึกเบื่อๆอยากๆกับเรื่องของร่างกาย ถ้าเป็นน้ำก็ไม่ใช่น้ำเย็น ไม่ใช่น้ำร้อน แต่เป็นน้ำอุ่นๆ ภพชาติของพระสกิทาคามีจะเหลือเพียงภพชาติเดียวเท่านั้นเอง ถ้าปฏิบัติต่อไป คือเจริญมรรคขั้นที่ ๓ คืออนาคามิมรรค พิจารณาเรื่องอสุภความไม่สวยงามของร่างกายให้มากยิ่งขึ้นไป พิจารณาอย่างต่อเนื่องไม่หยุดหย่อน จนเห็นอสุภความไม่สวยงามของร่างกายได้ตลอดเวลา ก็จะบรรลุอนาคามิผล เพราะตัดกามราคะความยินดีในกามและปฏิฆะความหงุดหงิดใจได้หมด

พระอนาคามีเมื่อตายไปจะไม่กลับมาเกิดในกามโลกนี้อีก จะไปเกิดบนสวรรค์ชั้นพรหมโลก ชั้นใดชั้นหนึ่ง มี ๕ ชั้นด้วยกัน แล้วก็จะบรรลุเป็นพระอรหันต์ในสวรรค์ชั้นพรหมโลกต่อไป อนาคามีแปลว่าผู้ที่ไม่กลับมาเกิดในกามภพอีก คือไม่มาเกิดเป็นเทวดา เป็นมนุษย์ เป็นสัตว์เดรัจฉานเป็นต้น ถ้าปฏิบัติต่อไปได้ คือเจริญมรรคขั้นที่ ๔ คืออรหัตตมรรค จะต้องพยายามตัดสังโยชน์อีก ๕ ตัว คือรูปราคะความยินดีในรูปฌาน อรูปราคะความยินดีในอรูปฌาน มานะความถือตน อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน อวิชชาความไม่รู้จริง

พระอนาคามีมีจิตที่ละเอียดมาก สงบมาก และสุขมาก จนทำให้ท่านติดอยู่กับความสงบของจิตใจ ไม่เจริญปัญญาเพื่อตัดกิเลสละเอียดที่ยังซ่อนเร้นอยู่ในจิตใจ ต่อมาเมื่อเห็นว่ายังมีความทุกข์ที่เกิดจากมานะ จากอวิชชา จึงได้ออกจากการติดความสงบของรูปฌานและอรูปฌาน มาสู่การเจริญปัญญา แต่ทำเลยเถิดไปเกินความพอดี เลยกลายเป็นอุทธัจจะความฟุ้งซ่านไป ทางที่ถูกควรจะยึดทางสายกลางระหว่างการเจริญสมาธิและปัญญา สลับกันไป ปัญญาไว้ใช้ทำลายกิเลส สมาธิไว้สำหรับพักผ่อนเติมพลัง เมื่อทำได้ดังนี้ก็จะตัดอุทธัจจะความฟุ้งซ่านไปได้

มานะคือความถือตัว ถือว่าสูงกว่าเขาบ้าง ต่ำกว่าเขาบ้าง เสมอเขาบ้าง อวิชชาคือยังไม่เห็นไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อริยสัจสี่ ที่ยังซ่อนเร้นอยู่ในจิต จึงต้องพิจารณาเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ และจิต ให้เห็นว่าเป็นไตรลักษณ์ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งเหล่านี้เสีย เมื่อปล่อยวางได้ก็จะบรรลุเป็นพระอรหันต์ เมื่อบรรลุเป็นพระอรหันต์ก็เข้าสู่พระนิพพานไป

นี่คือเรื่องของมรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ นิพพานนั้นมีอยู่ ๒ ลักษณะด้วยกัน คือสอุปาทิเสสนิพพาน นิพพานในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ และอนุปาทิเสสนิพพาน นิพพานที่ไม่มีชีวิตอยู่แล้ว ดังที่พระพุทธองค์ขณะนั่งบำเพ็ญจิตใต้ต้นโพธิ์ในวันเพ็ญเดือน ๖ ได้ทรงตรัสรู้ธรรมขึ้นมาในขณะนั้น พระพุทธองค์ทรงบรรลุถึงพระนิพพานแล้ว แต่เป็นสอุปาทิเสสนิพพาน นิพพานที่ยังมีเบญจขันธ์อยู่ ยังมีชีวิตอยู่ หลังจากที่พระพุทธองค์ได้ทรงใช้เวลาถึง ๔๕ พรรษา สั่งสอนสัตว์โลกจนกระทั่งครบอายุ ๘๐พรรษา จึงได้เสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน เป็นอนุปาทิเสสนิพพาน นิพพานที่ไม่มีเบญจขันธ์ ไม่มีชีวิตเหลืออยู่แล้ว จิตนิพพานคือจิตที่มีความสะอาดหมดจด เป็นจิตที่ปราศจากความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นจิตที่เปี่ยมด้วยบรมสุข ที่เรียกว่า นิพพานัง ปรมัง สุขัง นี่คือผลที่ผู้ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมคำสอน ด้วยการบำเพ็ญทาน ศีล ภาวนา จะพึงได้รับ คือ มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ เป็นผลที่น่าพึงปรารถนาอย่างยิ่ง เพราะเป็นความสุขความเจริญอันสูงสุด

พวกเรายังอยู่ในโลกที่มีแต่ความทุกข์ความวุ่นวายใจ ถ้าเราไม่เจริญรอยตามพระพุทธองค์ด้วยการบำเพ็ญทาน ศีล ภาวนาแล้ว ชีวิตของเราก็จะเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพน้อยภพใหญ่ ไม่มีที่สิ้นสุด ภพชาติของเรานี้ พระพุทธองค์ทรงตรัสว่ามีมากมายจนกระทั่งไม่สามารถนับได้ พระองค์ทรงเปรียบเทียบให้ฟังว่า ในแต่ละภพละชาติที่พวกเราเกิดมานั้นต้องมีความเศร้าโศกเสียใจ ต้องมีการร้องห่มร้องไห้กัน ถ้าเราเก็บน้ำตาที่เราร้องห่มร้องไห้ในแต่ละภพแต่ละชาตินั้นมารวบรวมกันแล้ว จะมากกว่าน้ำในมหาสมุทรเสียอีก คิดดูซิว่าภพชาติจะมากมายแค่ไหน จึงขอให้ท่านทั้งหลายจงเห็นโทษของการเวียนว่ายตายเกิด ว่าเป็นสิ่งที่ไม่น่ายินดี มีแต่ความทุกข์ จงเห็นคุณของพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า แล้วน้อมเอามาประพฤติปฏิบัติเพื่อจะได้ตัดภพตัดชาติ ตัดความทุกข์ทั้งหลายให้ออกไปจากจิตจากใจ เพื่อความร่มเย็นเป็นสุขต่อไป

********************************************

การลดกรรม 44 อย่าง

1. ไม่มีลูก
กรรมจาก การทำร้ายลูกของสัตว์อื่น พรากสัตว์อื่นจากพ่อแม่หรือเคยข่มเหงลูกคนอื่น
ลดกรรม ด้วยการงดกินเนื้อสัตว์ทุกๆ 7 วัน ในทุกๆเดือนทำบุญปล่อยปลาลงน้ำ ปล่อยนกปล่อยกา ทำบุญบริจาคทานที่มูลนิธิสัตว์หรือมูลนิธิเด็กอ่อน

2. เจ็บป่วยบ่อย หรือเป็นโรคร้าย
กรรมจาก เคยทำทารุณกรรมต่อสัตว์
ลดกรรม ด้วยการทำบุญทำทานกับสัตว์อนาถา ให้อาหารให้ความเมตตา ซื้อยาหรือบริจาคเงินที่โรงพยาบาลสงฆ์ ทำบุญปล่อยเต่า งดกินเนื้อสัตว์ตลอดชีวิต

3. ตาบอดหรือเป็นโรคตา
กรรมจาก เคยทำร้ายสัตว์ที่ดวงตา หรือไม่เคยทำบุญเติมน้ำมันตะเกียงในชาติก่อน หรือเคยทำลายไฟฟ้าของวัด ของที่สารธารณะ
ลดกรรม ซื้อโคมไฟ หลอดไฟถวายวัด ถวายเทียนห่อใหญ่ ถวายไฟฉาย เติมน้ำมันตะเกียงทุกวันพระ บริจาคเงินในกล่อง ซื้อน้ำมันเติมตะเกียงที่วัด

4. ถูกรถเฉี่ยวชน ถูกลูกหลง ถูกสัตว์กัดต่อย
กรรมจาก จากเคยเป็นคนพาลเกะกะเกเร หาเรื่องเดือดร้อนให้ผู้อื่น มักรังแกและสาปแช่งผู้อื่นอยู่เสมอ
ลดกรรม หมั่นพูดดี มีวาจาไพเราะ

5. สูญเสียคนใกล้ชิด
กรรมจาก เคยยิงนกตกปลา
ลดกรรม ทำบุญไถ่ชีวิตโค กระบือ งดกินเนื้อสัตว์อย่างน้อยสัก 1 อย่างชั่วชีวิต หรือกินเจทุกๆ 3 เดือน ทำบุญปล่อยนกปล่อยปลา

6.ถูกนินทา ถูกให้ร้าย
กรรมจาก เคยพูดจาให้เป็นเหตุให้คนอื่นเป็นทุกข์หรือเดือดร้อน
ลดกรรม พิมพ์หนังสือธรรมะแจกฟรี พูดดี พูดให้คนอื่นเกิดประโยชน์ พูดให้ผู้อื่นมีความสุข

7. มักเดือดร้อนเพราะไฟ ไฟไหม้บ้าน ไฟดูด
กรรมจาก เคยลบหลู่พระสงฆ์ และศาสนา
ลดกรรม ตักบาตรทุกวันพระ ทำบุญถวายสังฆทานทุกเดือน ฟังเทศน์ฟังธรรมทุกวันพระ หรือทุกๆเดือนในวันพระ ร่วมพิมพ์หนังสือธรรมะแจกจ่ายฟรี

8. ขาดบารมี ไร้ญาติขาดมิตร
กรรมจาก ไม่เคยไปร่วมงานบุญงานศพ
ลดกรรม ร่วมทำบุญงานศพ บริจาคเงิน หรือร่วมด้วยแรงกายช่วยงานอื่นๆในงานศพ เช่นทำอาหาร จัดดอกไม้

9. ตั้งหลักปักฐานไม่ได้ โยกย้ายบ่อย
กรรมจาก ไม่เคยร่วมทำบุญสร้างโบสถ์สร้างวิหาร แก่วัดวาอารามต่างๆ
ลดกรรม ร่วมทำบุญสร้างโบสถ์ สร้างหลังคาวิหาร ร่วมทำบุญฝังลูกนิมิต หมั่นไปไหว้ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ณ เมืองที่ตนอยู่อาศัย

10. มักถูกรังแก ถูกเบียดเบียน
กรรมจาก ไม่เคยบวช หรือทำบุญงานบวช
ลดกรรม บวช ด้วยจิตศรัทธาปวารณาอย่างบริสุทธิ์ไม่มีเจตนาอื่นแอบแฝงจะบวช 7 วัน หรือ 15 วัน 1 เดือน 1 พรรษา แล้วแต่จิตศรัทธา ถ้าเป็นสตรีจะบวชชีพราหมณ์ หรือถือศีล 8 ตามเวลาที่สะดวกและตั้งจิตศรัทธา หรือร่วมทำบุญงานบวชอย่างสม่ำเสมอเท่าที่จะทำได้

11.ไม่มีคนชื่นชมเอ็นดู ชาดเสน่ห์
กรรมจาก ไม่เคยถวายของหอม
ลดกรรม หมั่นทำบุญไหว้พระทุกวันพระ ถวายธูปหอม เทียน ดอกไม้สด พวงมาลัย ทองคำเปลว ประน้ำอบน้ำปรุง ประพฤติดี ปฏิบัติชอบต่อผู้อื่น คิดดี ทำดี พูดดี ให้ผู้อื่นได้ดี มิให้ร้ายผู้ใด

12. เป็นที่รังเกียจ มีกลิ่นปาก กลิ่นตัว
กรรมจาก ทำติเตียนดูแคลน ผู้ที่ชอบทำบุญทำทาน
ลดกรรม หมั่นทำบุญทำทานอย่างสม่ำเสมอ ฟังเทศน์มหาชาติทุกๆปี ชักชวนผู้อื่นให้ร่วมทำบุญหรือบริจาคทานเป็นการบอกบุญผู้อื่น พิมพ์หนังสือธรรมะจ่ายแจกฟรี

13. ไปไหนมาไหนลำบาก มีแต่อุปสรรค
กรรมจาก เคยทำลายหนทางสัญจรของวัด หรือของชาวบ้าน หรือทำให้ทางสัญจรสาธารณะได้รับความไม่สะดวก
ลดกรรม บริจาคทรัพย์หรือแรงกายช่วงสร้างสะพาน สร้างทางอันเป็นประโยชน์แก่วัด หรือชุมชนเล็กๆ ช่วยผู้คนยากไร้ให้ได้มี ยวดยานพาหนะหรือทางสัญจรที่สะดวก

14. เป็นคนรับใช้เขาร่ำไป
กรรมจาก เคยเนรคุณผู้ที่เคยมีพระคุณแก่ตน
ลดกรรม ตอบแทนผู้มีคุณด้วยความกตัญญู ร่วมทำบุญสร้างพระพุทธรูป พระประธาน ทำทานทั้งกับคนและสัตว์
15. ขัดสน อดมื้อกินมื้อ
กรรมจาก เคยละเว้นการใส่บาตร ละเว้นการให้ทาน เมื่อมีคนยากไร้มาขอทานอาหารและน้ำ
ลดกรรม แบ่งปันอาหาร น้ำ เสื้อผ้า แก่คนยากไร้อนาถา แม้ไม่มีเงินก็แบ่งปันสิ่งของตามที่มี ตักบาตรทุกเช้าหรือทุกวันพระ

16. อาภัพคู่ ร้างคู่
กรรมจาก เคยผิดลูกผิดเมียเขา
ลดกรรม บวชพระ หรือบวชชีพราหมณ์ ร่วมทำบุญเป็นเจ้าภาพงานแต่งงานคู่บ่าวสาวที่ยากจน ถวายของเป็นคู่ เช่น แจกันคู่ เชิงเทียนคู่ หมอนคู่ เป็นต้น

17. ได้คู่ที่เลวร้าย ทำร้ายตนหรือทำให้เป็นทุกข์
กรรมจาก เคยข่มขืนเขาในชาติก่อน เคยทุบตีทำร้ายคู่
ลดกรรม บวชพระ หรือบวชชีพราหมณ์ ทำบุญปล่อยนกปล่อยปลา

18. อยู่โดดเดี่ยวยามบั้นปลาย
กรรมจาก เคยจับสัตว์ขัง
ลดกรรม ทำบุญปล่อยปลาลงน้ำ ปล่อยนกปล่อยกา ทำบุญทำทานแก่เด็กอนาถาและสัตว์อนาถา

19. รูปร่างหน้าไม่งดงาม
กรรมจาก ไม่เคยถวายดอกไม้ของหอม
ลดกรรม ถวายพวงมาลัยดอกไม้สด ดอกไม้หอม ทำบุญบริจาคดวงตา บริจาคร่างกายให้โรงพยาบาล

20. มักถูกโกง ถูกเบี้ยวเงิน
กรรมจาก เคยคดโกงผู้อื่น
ลดกรรม สละทรัพย์บริจาคร่วมการกุศลต่างๆ ทำบุญตักบาตร ถวายสังฆทาน อุทิศส่วนกุศลแก่เจ้ากรรมนายเวรทุกๆเดือน

21.. พิการ ร่างกายไม่สมประกอบ
กรรมจาก เคยทุบตีพ่อแม่ ด่าพ่อแม่ หรือทำร้ายพ่อแม่
ลดกรรม หมั่นทำบุญไหว้พระ ปล่อยนกปล่อยปลา ถือศีล 5 ศีล 8 เจริญภาวนา นั่งวิปัสสนากรรมฐาน

22. มีคดีความ
กรรมจาก เคยพบคนทุกข์ร้อนแล้วไม่ช่วยหรือพยายามหาทางช่วยเหลือ
ลดกรรม หมั่นทำบุญปล่อยนกปล่อยปลา นั่งสมาธิ เจริญวิปัสสนากรรมฐาน ถือศีล 8 ทุกๆ 3 เดือนๆละ 7 วัน

23. ไร้ที่อยู่เป็นหลักแหล่ง
กรรมจาก ไม่สงเคราะห์คนอนาถา ที่มาขออาหาร ขอชายคาหลบฝน ไม่มีน้ำใจช่วยเหลือคนตกทุกข์ได้ยาก
ลดกรรม ร่วมทำบุญซื้อกระเบื้องหลังคาโบสถ์ หมั่นไปกราบไหว้บูชาศาลหลักเมือง ทำบุญทำทานแก่สัตว์พิการหรือสัตว์จรจัด

24. จิตใจขุ่นมัว ดุดัน ขี้โมโห
กรรมจาก มักตระหนี่ในการทำบุญ
ลดกรรม สวดมนต์ไหว้พระ ทุกวันพระ ฝึกวิปัสสนากรรมฐาน ถือศีล 5 หรือศีล 8 ทุกๆ 3 เดือน บริจาคทาน แบ่งปันเงินทองหรือสิ่งของแก่ผู้ตกทุกข์ได้ยาก หรือร่วมทำบุญบริจาคทานกับมูลนิธิสถานสงเคราะห์ และวัดวาอารามต่างๆ

25. ไม่มีชื่อเสียง
กรรมจาก เคยติฉินนินทาทำให้ผู้อื่นเสียหาย
ลดกรรม ร่วมทำบุญสร้างหอระฆัง ร่วมทำบุญหล่อเทียนพรรษา ทำทานกับคนยากไร้ และสัตว์อนาถา

26. ไม่มีวาสนาบารมี
กรรมจาก ไม่เคยนับถือชื่นชมผู้นับถือธรรมมะ
ลดกรรม ทำบุญสร้างพระพุทธรูป ทำทานกับคน

27. มีลูกหลานไม่ดี เกเร ไม่เชื่อฟัง
กรรมจาก ทำแท้ง เคยทำร้ายคนใกล้ชิดมาก่อน และทำร้ายจิตใจครอบครัวในชาติก่อน
ลดกรรม บวชเณร โดยให้ลูกบวชหรือไปร่วมบวช จะทำให้กรรมน้อยลง ปฏิบัติธรรม อุทิศให้ลูกตนเอง

28. เจอแต่คนเอาเปรียบ
กรรมจาก เคยเบียดเบียนเงินพ่อแม่ไว้ในอดีตชาติ เคยโกงคนไว้ในอดีตชาติ ขโมยเงินครอบครัวมาใช้
ลดกรรม หมั่นยึดถือศีล 5 ให้มั่น ไม่ดื่มเหล้า ทำให้ขาดสติ โดนโกงง่าย หมั่นสวดมนต์ อธิษฐานบารมีด้านขอพรให้พบเจอคนดี ๆ เข้ามาในชีวิต

29. เกิดในสกุลต้อยต่ำ
กรรมจาก โอหัง อวดดี จิตใจคับแคบ
ลดกรรม ร่วมทำบุญสร้างวัด สร้างพระประธาน ทำบุญทำทานกับคนยากไร้ และสัตว์อนาถา พิมพ์หนังสือธรรมะแจกฟรี

30. ไร้สง่าราศี ขาดวาสนา
กรรมจาก เคยเมาสุระอาละวาด ระรานผู้อื่น
ลดกรรม นั่งสมาธิ ฝึกกรรมฐาน ทำทานกับคนอนาถา และสัตว์อนาถา ร่วมพิมพ์หนังสือธรรมะแจกฟรี

31. ไม่เจริญก้าวหน้า จิตใจเป็นทุกข์
กรรมจาก เคยชักจูงคนทำ ชั่ว
ลดกรรม ถือศีล 8 เป็นเวลา 7 วัน ทุกๆ 3 เดือน หมั่นทำบุญตักบาตร ถวายสังฆทาน

32. จิตใจฟุ้งซ่าน เป็นทุกข์
กรรมจาก เคยริษยาผู้อื่น
ลดกรรม ทำบุญตักบาตร ถวายสังฆทาน ปล่อยปลาลงน้ำ นั่งสมาธิ สวดมนต์บทคาถาพระชินบัญชร

33. ชีวิตตกต่ำ ทำสิ่งใดไม่เจริญ
กรรมจาก เคยทำแท้ง
ลดกรรม ปล่อยปลาลงน้ำทุกๆเดือน จนครบ 9 เดือน หรือ 1 ปีเต็ม ถวายสังฆทาน ทำบุญใส่บาตรเสมอ

34. เป็นเมียน้อย เมียเก็บ
กรรมจาก เคยผิดลูกผิดเมียเขามาก่อน ขืนใจเขาโดยไม่ยินยอม เคยอธิษฐานจิตร่วมกันมาว่ากี่ภพก็ขอให้ได้ใช้ชีวิตคู่ด้วยกัน
ลดกรรม ถวายธงคู่ ธูปคู่ เชิงเทียนคู่ หมอนคู่ อย่างใดก็ได้ อธิษฐานจิตขอให้ชีวิตคู่ที่ดีขึ้น บวชชีพราหมณ์ ปีละ 1 ครั้ง 3 วัน อุทิศให้เจ้ากรรมนายเวรที่เคยล่วงเกินให้ได้รับกุศลและเปิดทางให้ชีวิตคู่ดีขึ้น ร่วมเป็นเจ้าภาพงานแต่ง เพื่อชีวิตตนจะดีขึ้นและสมหวัง สวดมนต์ขอพรทุกวันเกิดด้านความรักให้สมหวังต่อไป ทำบุญสังฆทานสด ในวันเกิดตนเอง เดือนละครั้ง เพื่ออุทิศให้เจ้ากรรมนายเวรในอดีตชาติปัจจุบันชาติและวิญญาณที่ตามมาให้ได้รับกุศลและอโหสิกรรม

35. เป็นทุกข์เพราะคนในครอบครัว
กรรมจาก เคยลำเอียง ไร้คุณธรรมในด้านครอบครัวไว้ก่อน เคยเอารัดเอาเปรียบคนในครอบครัวและคนใกล้ชิดไว้ในชาติอดีตและชาติปัจจุบัน เคยทำให้ครอบครัวเขาแตกแยกในอดีตชาติ
ลดกรรม ต้องบวชชีพราหมณ์ เพราะเมื่อเกิดอีกภพชีวิตจะได้ดีมีชีวิตที่ดีขึ้น เพราะกุศลของการบวช ปฏิบัติธรรมทำให้เจ้ากรรมนายเวรอโหสิกรรม และตนเองได้พบสิ่งที่มีกุศลมากขึ้น ยึดพรหมวิหาร 4 มี เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา จะทำให้ชีวิตมีความเมตตา และไม่ลำเอียงเอารัดเอาเปรียบคนใกล้ชิด ทำให้วิถีชีวิตมีคนนับถือและพ้นจากความทุกข์ในเรื่องญาติพี่น้องยุ่งเกี่ยวได้ นำพระคู่บ้านคู่เมืองเข้าสักการะที่บ้าน และสวดมนต์ขอพรให้ครอบครัวอยู่เย็นเป็นสุข

36. เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต
กรรมจาก ฆ่าสัตว์ ทรมานสัตว์ ทำร้ายคนไว้ในอดีตชาติและปัจจุบันชาติ
ลดกรรม ตักบาตรอุทิศส่วนกุศลให้เจ้ากรรมนายเวรในอดีตชาติปัจจุบันชาติ รวมถึงสรรพสัตว์ทั้งหลายให้ได้กุศลและอโหสิกรรมซึ่งกันและกัน ปล่อยสัตว์ลงน้ำในวันเกิดตนเอง กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้เจ้ากรรมนายเวรได้รับและอโหสิกรรม ถวายยาเข้าวัด หรือช่วยเหลือคนป่วย

37. เป็นมะเร็ง
กรรมจาก รู้เห็นเป็นใจกับการทำแท้ง การทารุณสัตว์ หรือการทำร้ายเบียดเบียนผู้อื่น
ลดกรรม ทำบุญใหญ่อุทิศให้เจ้ากรรมนายเวร และบวชชีพราหมณ์ 1 เดือน เพื่อส่งกุศลให้เจ้ากรรมนายเวรอโหสิกรรม ทำบุญสร้างพระพุทธรูป สร้างโบสถ์หรือสร้างศาลาวัด ร่วมพิมพ์หนังสือธรรมะแจกฟรี หมั่นนั่งสมาธิ ฝึกกรรมฐาน

38. ค้าขายขาดทุน ทำงานไม่ก้าวหน้า
กรรมจาก เคยลบหลู่เจ้าที่เจ้าทาง
ลดกรรม หมั่นทำบุญใส่บาตร ถวายสังฆทาน ถวายเครื่องเซ่นสังเวย เจ้าที่-เจ้าทาง หมั่นสวดมนต์บทคาถาพระชินบัญชร

39. ด้อยปัญญา
กรรมจาก ฝักใฝ่อบายมุขในชาติก่อน หรือชักชวนคนไปทำชั่ว ดูแคลนหลักธรรมมะ
ลดกรรม พิมพ์หนังสือธรรมะจ่ายแจก ทำบุญทำทานกับโรงเรียนของเด็กพิการหรือตามูลนิธิต่างๆ

40. ตกงาน
กรรมจาก เคยกลั่นแกล้งผู้อื่นในเรื่องงาน หรือแย่งงานผู้อื่น
ลดกรรม หมั่นทำบุญทำทาน ร่วมงานบุญต่างๆ ปล่อยนกปล่อยปลา

41. ไม่มีโชคลาภ
กรรมจาก ไม่เคยสวดมนต์ไหว้พระ
ลดกรรม หมั่นทำบุญสวดมนต์ไหว้พระ ถวายธูป เทียน ดอกไม้สด พวงมาลัย และทองคำเปลว

42. เรียนไม่จบ การเรียนมีอุปสรรค
กรรมจาก ชาติก่อนปฏิเสธการฟังเทศน์ฟังธรรม
ลดกรรม หมั่นเข้าวัด ร่วมงานบุญต่างๆ ฟังเทศน์ อ่านหนังสือธรรมะ

43. มีอาชีพต้อยต่ำที่ผู้คนดูแคลน
กรรมจาก ชาติก่อนเคยบวชด้วยเจตนาไม่บริสุทธิ์ ไร้ความศรัทธา อาศัยผ้าเหลืองหา กิน
ลดกรรม ถือศีล 5 ศีล 8 นั่งสมาธิ ฝึกกรรมฐาน ถวายสังฆทานทุกเดือน หรือทุก 3 เดือน

44. ครอบครัวยากจน
กรรมจาก ชาติก่อนไม่เคยบริจาคทาน

Pantown.com ใช้คุกกี้ (cookies) หรือไฟล์ข้อมูลขนาดเล็กเพื่อจดจำการเข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเรา จดจำความชอบและความสนใจเพื่อการแสดงผลให้สอดคล้องกับความชอบและความสนใจของผู้เข้าใช้งาน เพื่อเร่งความเร็วในการแสดงผลของข้อมูล เพื่อวิเคราะห์และนำเสนอโฆษณา รวมถึงเพื่อความสะดวกในการให้บริการต่างๆในเว็บไซต์ของเรา โดยคุกกี้นี้จะถูกดาวน์โหลดเก็บไว้ในอุปกรณ์ของผู้เข้าใช้งานเพื่อระบุอุปกรณ์การใช้งานของผู้เข้าใช้ แต่จะไม่ระบุตัวบุคคลผู้เข้าใช้งาน ทั้งนี้การวิเคราะห์อาจทำโดยบุคคลอื่นที่ให้บริการหรือได้ รับมอบหมายให้กระทำการแทนในนามของ Pantown.com เช่น Google Analytics เป็นต้น