![]() ![]() |
![]() ![]() ![]() |
TGNG-HOSP2029.pantown.com : รพ.สต.ตะกาดเง้า | [ลูกบ้านSignIn] [เจ้าบ้านSignIn] |
  
ข้อมูลทั่วไป
ประวัติความเป็นมาของสถานีอนามัย
สถานีอนามัยตำบลตะกาดเง้า ตั้งอยู่ที่หมู่ 4 บ้านหนองคัน ตำบลตะกาดเง้า อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี ก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2514 เป็นอาคารไม้ชั้นเดียว ต่อมาในปี พ.ศ. 2540 ได้ก่อสร้างใหม่เป็นอาคาร 2 ชั้น และได้รับการพัฒนาขึ้นเป็น ศูนย์สาธารณสุขชุมชน ในปี พ.ศ. 2545และปี 2553 ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น "โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล" อันเป็น1ใน2แห่ง ของศูนย์สุขภาพชุมชน 17 แห่งที่มีในอำเภอท่าใหม่
นางอารมย์ จันทเพ็ชร
นักวิชาการสาธารรสุขชำนาญการ
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลตะกาดเง้า
นางนิตยา ตุริยะกุล
พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ
นายนาวี อนันต์สลุง
เจ้าพนักงานสาธารณสุขชำนาญงาน
นายนิมิต แก้วบริสุทธิ์
พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ
นางสุภาวดี โถแก้ว
นักวิชาการสาธารรสุขปฏิบัติการ
อาณาเขตรับผิดชอบ
รับผิดชอบจำนวน 8 หมู่บ้าน คือ
หมู่ 1 บ้านตะกาดเง้า
หมู่ 2 บ้านตะกาดเง้า
หมู่ 3 บ้านตะกาดเง้า
หมู่ 4 บ้านหนองคัน
หมู่ 5 บ้านท่าใต้
หมู่ 6 บ้านศรีอาวุธ
หมู่ 7 บ้านถนนมะกอก
หมู่ 10 บ้านสามง่าม
อาณาเขตติดต่อ
ทิศเหนือ ติดต่อ เทศบาลตำบลท่าใหม่
ทิศใต้ ติดต่อ ตำบลบางกะไชย อำเภอแหลมสิงห์ และอ่าวไทย
ทิศตะวันออก ติดต่อ ตำบลสีพยา ตำบลบ่อพุ อำเภอท่าใหม่
ทิศตะวันตก ติดต่อ ตำบลคลองขุด อำเภอท่าใหม่
ลักษณะภูมิประเทศ
เป็นเกาะพื้นที่ราบ มีน้ำล้อมรอบ โดยมีภูเขาเล็กๆ อยู่ตรงกลางพื้นที่
การคมนาคม
จากกรุงเทพมหานคร ใช้ทางหลวงหมายเลข 3 ถนนสุขุมวิท สายบางนา ตราด ถึงหลักกิโลเมตรที่ 334 ถึงทางแยกเข้าอำเภอท่าใหม่ ใช้ทางหลวงท้องถิ่นหมายเลข 3152 ระหว่างอำเภอท่าใหม่เชื่อมต่อถนนสุขุมวิท ระยะทาง 3 กิโลเมตร จากที่ว่าการอำเภอท่าใหม่ ไปทางทิศใต้ผ่านสะพานสวัสดิไชย เข้าสู่ตำบลตะกาดเง้า ถึงสถานีอนามัยตำบลตะกาดเง้า ระยะทาง 5 กิโลเมตร เส้นทางติดต่อระหว่างตำบลตะกาดเง้า กับพื้นที่อื่น และเส้นทางติดต่อระหว่างหมู่บ้านเป็นเส้นทางลาดยางตลอด สะดวกในการเดินทางติดต่อ แต่ไม่มีรถประจำทาง เนื่องจากชุมชนส่วนใหญ่ มีรถยนต์และรถจักรยานยนต์ เป็นของตนเอง
ศาสนา
ประชาชนทั้งหมดนับถือศาสนาพุทธ
การศึกษา
โรงเรียนประถมศึกษา 2 โรง
โรงเรียนประถมศึกษาขยายโอกาส 1 โรง
ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 1 แห่ง
ข้อมูลประชากร
ข้อมูลทรัพยากรสาธารณสุข
ประเภทสถานบริการสาธารณสุข
ศูนย์สุขภาพชุมชน 1 แห่ง
ศูนย์สาธารณสุขมูลฐานชุมชน 8 แห่ง
บุคลากรสาธารณสุข
เจ้าหน้าที่บริหารสาธารณสุข 1 คน
เจ้าพนักงานสาธารณสุขชุมชน 1 คน
พยาบาลวิชาชีพ 1 คน
นักวิชาการสาธารณสุข 1 คน
เจ้าพนักงานทันตาภิบาล ไม่ประจำ 1 คน
พนักงานผู้ช่วยแพทย์และพยาบาล 1 คน
นักการภารโรง 1 คน
ข้อมูลสถานะสุขภาพ
หมายเหตุ อัตราต่อพันประชากร
จากแผนภูมิที่ 2 อัตราเพิ่มของประชากรในเขตรับผิดชอบของสถานีอนามัยตะกาดเง้าจากปี 2548ลดลง จาก 6.28 เป็น 0.76 ก่อนที่จะเพิ่มขึ้นในปี 2549 คือ 4.58 และเพิ่มขึ้นเป็น 6.34 ในปี 2550 และลดลงเป็น 5.18 ในปี 2551 จะเห็นได้ว่า อัตราการเพิ่มของประชากรนั้น จะขึ้นกับอัตราการเกิดของประชากร เป็นหลัก เนื่องจากอัตราการตายนั้นมีสภาวะที่ค่อนข้างคงที่ ไม่เคลื่อนไหวมาก หากปีไหนมีประชากรเกิดมาก อัตราเพิ่มจะเพิ่มอย่างเห็นได้ชัด
แผนภูมิที่ 3 แสดงอัตราตาย 5 อันดับแรก ของสถานีอนามัยตำบลตะกาดเง้า ปี 2551
ที่มา : จากการสำรวจและหนังสือรับรองการตาย
จากแผนภูมิที่ 3 พบว่า สาเหตุการตายอันดับหนึ่งของประชากรในเขตรับผิดชอบของสถานีอนามัยตำบลตะกาดเง้า คือโรคหัวใจล้มเหลว คิดเป็นอัตรา 0.959 ต่อพันประชากร รองลงมาเป็น โรคชราภาพ คิดเป็นอัตรา 0.767 ต่อพันประชากร โรควัณโรคและปอดบวม คิดเป็นอัตรา 0.384 ต่อพันประชากร ตามลำดับ
แผนภูมิที่ 4 แสดงจำนวนผู้ป่วย 10 อันดับแรก ของสถานีอนามัยตำบลตะกาดเง้า ปี 2551
ที่มา : 1. รง.504 1 ตุลาคม 2550 30 กันยายน 2551
จากแผนภูมิที่ 4 พบว่า อาการผิดปกติไม่สามารถจำแนกได้ พบมากเป็นอันดับหนึ่ง ของผู้ป่วยนอกที่มารับบริการในปี 2551 จำนวน 1,625 ราย รองลงมา คือ โรคในกลุ่มทางเดินหายใจ จำนวน 1,580 ราย ระบบไหลเวียนเลือด จำนวน 1,525 ราย โรคระบบย่อยอาหารและโรคในช่องปาก จำนวน 749 ราย สาเหตุภายนอกอื่นๆ จำนวน 718 ราย โรคผิวหนังและเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง จำนวน 620 ราย โรคระบบกล้ามเนื้อ รวมโครงร่าง และเนื้อยึด จำนวน 525 ราย โรคหูและปุ่มกกหู จำนวน 166 ราย โรคตาและส่วนประกอบของตา จำนวน 146 ราย โรคติดเชื้อและปรสิต จำนวน 95 ราย ตามลำดับ
แผนภูมิที่ 5 แสดงอัตราป่วยด้วยโรคติดต่อที่ควรเฝ้าระวัง ปี 2551 ของสถานีอนามัยตำบลตะกาดเง้า
ที่มา : รง.506
จากแผนภูมิที่ 5 พบว่า ในปี 2552 ผู้ป่วยด้วยโรคที่ต้องเฝ้าระวังอันดับหนึ่งของประชากรในเขตรับผิดชอบของสถานีอนามัยตำบลตะกาดเง้า คือโรคอุจจาระร่วง ที่อัตรา 728.94 ต่อแสนประชากร รองลงมาคือ โรคสุกใส และโรคปอดบวม คิดเป็นอัตรา 230.19 ต่อแสนประชากร โรคตาแดง คิดเป็นอัตรา 191.89 ต่อแสนประชากร โรคไข้ไม่ทราบสาเหตุ คิดเป็นอัตรา 172.65 ต่อแสนประชากร โรคไข้เลือดออก คิดเป็นอัตรา 95.91 ต่อแสนประชากร โรควัณโรค และโรคไข้หวัดใหญ่ คิดเป็นอัตรา 76.73 และ19.18 ต่อแสนประชากร ตามลำดับ
ในปี 2552 มีหญิงวัยเจริญพันธุ์ทั้งสิ้น จำนวน 1,402 ราย วางแผนครอบครัวเป็นจำนวน 1,062 ราย คิดเป็นร้อยละ 75.6 และมีจำนวนผู้ไม่วางแผนครอบครัว จำนวน 342 ราย คิดเป็นร้อยละ 24.4 ตามลำดับ
พบว่า ในปี 2552 ประชาชนมีการวางแผนครอบครัวจำนวนทั้งสิ้น 1,062 ราย แบ่งตามประเภทของการวางแผนครอบครัวได้ดังนี้ ยาฉีดคุมกำเนิด จำนวน 543 ราย คิดเป็นร้อยละ 51.1 รับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด จำนวน 330 ราย คิดเป็นร้อยละ 31.1 หมันหญิง จำนวน 131 ราย คิดเป็นร้อยละ 12.3 หมันชาย จำนวน 28 ราย คิดเป็นร้อยละ 2.6 ยาฝังคุมกำเนิด และใส่ห่วงคุมกำเนิด จำนวน 22 , 8 ราย คิดเป็นร้อยละ 2.1 , 0.8 ตามลำดับ
มีเด็กทั้งสิ้น จำนวน 337 ราย ชั่งน้ำหนักจำนวน 330 ราย คิดเป็นร้อยละ 97.92 น้ำหนักปกติ จำนวน 307 รายคิดเป็นร้อยละ 93.03 น้ำหนักค่อนข้างน้อย จำนวน 5 ราย คิดเป็นร้อยละ 1.52 น้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ จำนวน 3 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.91 น้ำหนักค่อนข้างมาก จำนวน 2 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.61 และ น้ำหนักมากเกินเกณฑ์ จำนวน 13 ราย คิดเป็นร้อยละ 3.94
ผลการดำเนินงานสาธารณสุข ปี 2552
ของศูนย์สุขภาพชุมชนตะกาดเง้า
ในรอบปี 2552 ที่ผ่านมา ศูนย์สุขภาพชุมชนตะกาดเง้า ได้ดำเนินงานสาธารณสุข ด้วยการจัดบริการตอบสนองต่อความจำเป็นทางด้านสุขภาพของประชาชนตำบลตะกาดเง้า โดยเชื่อมโยงกิจกรรมด้านสุขภาพในลักษณะองค์รวมผสมผสาน เพื่อการสร้างสุขภาพ และสร้างความเข้มแข็งให้แก่ประชาชนเพื่อป้องกันหรือลดปัญหาที่ป้องกันได้ทั้งกาย จิต สังคม โดยเน้นให้ประชาชนมีส่วนร่วม ดังนี้
1. ด้านบริการ
1.1 กิจกรรมบริการในชุมชน
ศูนย์สุขภาพชุมชนตะกาดเง้า ดำเนินกิจกรรมด้านสาธารณสุข โดยได้พยายามให้ประชาชนหรือตัว
แทนประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผน การดำเนินกิจกรรมหรือสนับสนุน เพื่อแก้ไขปัญหาสาธารณสุขในชุมชนของตนเอง รวมทั้งก่อให้เกิดการเรียนรู้ เข้าใจและพัฒนาทักษะในการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การรักษาพยาบาล การดูแลตนเองเบื้องต้น และรวมถึงการฟื้นฟูสมรรถภาพในผู้ป่วยบางกลุ่มที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ซึ่งสรุปการดำเนินกิจกรรมบริการในชุมชนได้ดังนี้
1.1.1 จัดตั้งชมรมสร้างสุขภาพ จำนวน 8 ชมรมใน 8 หมู่บ้านที่รับผิดชอบ
ศูนย์สุขภาพชุมชนตะกาดเง้า ได้เริ่มจัดตั้งชมรมสร้างสุขภาพเมื่อ กลางปี 2547 จนถึงปัจจุบัน (2553) โดยเริ่มจากการประชุมกลุ่มผู้นำชุมชน ตัวแทนภาคประชาชนจากองค์กรชุมชนต่างๆที่มี รวมทั้งหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องและอยู่ในพื้นที่ เพื่อชี้แจงและทำความเข้าใจ ขอความร่วมมือและการสนับสนุน ในนโยบายการรวมกลุ่มพลังต่างๆของชุมชน เพื่อดำเนินกิจกรรมด้านส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรค ปัจจุบันชมรมสร้างสุขภาพในแต่ละหมู่ ประกอบด้วย ชมรมเครือข่ายต่างๆคือ
- ชมรมอาสาสมัครสาธารณสุข
- ชมรมแอโรบิคเพื่อสุขภาพ
- ชมรมผู้สูงอายุ
- ชมรมทูบีนัมเบอร์วัน
- ชมรมคุ้มครองผู้บริโภค
- กลุ่มสตรีอาสาพัฒนาชุมชน
- กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์
- กลุ่มกีฬาแต่ละหมู่บ้าน ( เปตอง ฟุตบอล วิ่งเพื่อสุขภาพ ขี่จักรยานเพื่อสุขภาพ )
นอกจากนี้ ในหมู่ 3 บ้านตะกาดเง้า และหมู่ 4บ้านหนองคัน ซึ่งมีโรงเรียนตั้งอยู่ ยังประกอบด้วย
ชมรมเครือข่าย ซึ่งได้จัดตั้งอยู่ในโรงเรียนเข้าร่วมเป็นสมาชิกเครือข่ายของชมรมสร้างสุขภาพด้วยคือ
- ชมรม อย.น้อย
- ชมรมละครและการละเล่นพื้นบ้าน ( ละครชาตรีหรือเท่งตุ๊ก อังกะลุง )
- ชมรมอาสาสมัครไข้เลือดออก ( มือปราบน้อยตามรอยลูกน้ำยุงลาย )
ซึ่งในการดำเนินการจัดตั้งชมรมสร้างสุขภาพ ทั้งหมด 8 หมู่บ้าน และ มีการดำเนินกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งในอนาคตอันใกล้นี้ ศูนย์สุขภาพชุมชนตะกาดเง้า จะได้พยายามสนุบสนุนให้ทุกชมรมมีการดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง และสามารถดำเนินการได้เองโดยชาวบ้าน ร่วมมือกันทำงานร่วมกัน
1.1.2 การดำเนินงานโครงการอาหารปลอดภัย
ศูนย์สุขภาพชุมชนตะกาดเง้า ได้ดำเนินกิจกรรมด้านอาหารปลอดภัยมาอย่างต่อเนื่อง จนถึงปัจจุบัน
(30 มิถุนายน2553) มีร้านอาหารหรือแผงลอยจำหน่ายอาหารสดที่เสี่ยงต่อการปนเปื้อนสาร 6 ชนิด ที่เข้าเกณฑ์ ได้รับป้ายอาหารปลอดภัย จำนวนทั้งสิ้น 4 ร้าน จากร้านทั้งหมด 4 ร้าน คิดเป็นร้อยละ 100 มีสถานที่ขายส่งอาหารสด(อาหารทะเล) จำนวนทั้งหมด 2 แห่ง ทุกแห่งผ่านการตรวจหาสารปนเปื้อนชนิดฟอร์มาลิน เข้าเกณฑ์การได้รับป้ายอาหารปลอดภัย คิดเป็นร้อยละ 100 นอกจากนี้ ในเขตรับผิดชอบของศูนย์สุขภาพชุมชนตะกาดเง้า ยังมีแผงลอยจำหน่ายอาหารที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานสุขาภิบาลอาหาร และได้รับป้าย อาหารสะอาด รสชาติอร่อย (Clean Food Good Taste) จำนวน 6 แผง จากทั้งหมด 6 แผง คิดเป็น ร้อยละ 100 ซึ่งได้มีการมอบป้ายรับรองมาตรฐานให้ไว้ที่ร้านอาหาร/แผงลอยที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานเรียบร้อยแล้ว
1.1.3 การดำเนินงานจัดทำและใช้แฟ้มครอบครัว ( Family Folder ) เพื่อการดูแลสุขภาพ
ศูนย์สุขภาพชุมชนตะกาดเง้า ได้เริ่มสำรวจ จัดทำและใช้แฟ้มครอบครัว เพื่อการดูแลสุขภาพประชาชนในเขตรับผิดชอบ เพื่อสนองตอบต่อนโยบายการสร้างสุขภาพและการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2547 จนถึงปัจจุบัน สามารถจัดทำแฟ้มครอบครัวได้จำนวน 1,368 แฟ้ม จากจำนวนทั้งหมด 1,368 หลังคาเรือน คิดเป็นร้อยละ 100 โดยมีรูปแบบการจัดทำในหลายๆรูปแบบ อาทิเช่น
- การจัดทำในวันที่นัดกลุ่มผู้สูงอายุ
- การจัดทำในวันที่นัดกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ตรวจสุขภาพ ( ตรวจวัดระดับความดันโลหิต พร้อมทั้งตรวจน้ำตาลในปัสสาวะ )
- การจัดทำในวันที่ประชุมกลุ่ม อสม. ผู้นำชุมชน
- การจัดทำในวันที่นัดกลุ่มหญิงวัยเจริญพันธุ์ เพื่อให้ความรู้ในเรื่องการตรวจหามะเร็งเต้านม และมะเร็งปากมดลูก
- การจัดทำในวันที่ทีมสุขภาพออกเยี่ยมบ้าน
- การออกชุมชนเพื่อการจัดทำแฟ้มครอบครัวโดยตรง
- การจัดทำเพิ่มเติมส่วนขาดในแฟ้มครอบครัว เพื่อความสมบูรณ์ของแฟ้มครอบครัวในสถานบริการจากการสอบถาม สัมภาษณ์ผู้มารับบริการ
1.1.4 การดำเนินงานจัดทำและใช้แฟ้มชุมชน ( Community Folder )
ในการจัดทำแฟ้มชุมชน ศูนย์สุขภาพชุมชนตะกาดเง้า ได้เริ่มดำเนินการจัดทำแฟ้มชุมชนในทุกหมู่บ้านที่รับผิดชอบ คือ 8 หมู่ คิดเป็นร้อยละ 100 แต่ยังไม่สามารถกล่าวได้ว่า เป็นแฟ้มชุมชนที่สมบูรณ์ได้ตามเกณฑ์มาตรฐาน เนื่องจากหลายๆ ส่วน ยังขาดรายละเอียด ไม่ครบถ้วนครอบคลุม ผู้นำชุมชนบางส่วน ยังขาดความรู้ความสามารถในการจัดการใช้ข้อมูลในแฟ้มชุมชน อย่างไรก็ตาม ศูนย์สุขภาพชุมชนตะกาดเง้า มีความมุ่งมั่นและตั้งเป้าหมายการจัดทำแฟ้มชุมชน ให้สมบูรณ์ ในปีงบประมาณ 2553 นี้เช่นเดียวกับแฟ้มอนามัยครอบครัว
1.2 กิจกรรมบริการในศูนย์สุขภาพชุมชน
1.2.1 การจัดบริการด้านสุขภาพแบบองค์รวม
ศูนย์สุขภาพชุมชนตะกาดเง้า ได้เริ่มดำเนินการจัดรูปแบบบริการ เพื่อการดูแลประชาชนกลุ่มเป้าหมายให้ได้ทั้งด้าน กาย จิต สังคมและครอบครัวมีส่วนร่วม และเยี่ยมบ้าน โดยศูนย์สุขภาพชุมชนตะกาดเง้าได้จัดตั้งทีมสุขภาพขึ้น ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปี 2546 ปัจจุบันทีมสุขภาพประกอบไปด้วย พยาบาลวิชาชีพ 1 คน เจ้าพนักงานทันตาภิบาล 1 คน เจ้าพนักงานสาธารณสุขชุมชน 1 คน เจ้าหน้าที่บริหารงานสาธารณสุข 1 คน นักวิชาการสาธารณสุข 1 คน โดยมีที่ปรึกษาคือแพทย์และเภสัชกร ซึ่งปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชนท่าใหม่
ทีมสุขภาพของศูนย์สุขภาพชุมชนตะกาดเง้า แม้จะประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ที่ไม่หลากหลายสาขาวิชาชีพมากนักเนื่องจากการขาดบุคลากรในบางส่วน แต่ก็ได้มีการพยายามที่จะพัฒนาความสามารถในแต่ละคน ให้สามารถตรวจรักษาโรคทั่วไปในระดับตัวบุคคล ( Case Approach) การค้นหาปัญหา และให้การแก้ไขแบบองค์รวม ( Holistic Approach) โดยการเข้ารับการอบรม ฝึกทักษะ จากหน่วยงานต่างๆที่จัดอบรมในรอบปีที่ผ่านมา ได้มีการจัดทำ และนำแนวทาง กระบวนการ มาตรฐานและคู่มือมาใช้เป็นมาตรฐานในการปฏิบัติงาน สามารถเชื่อมโยงจากการเจ็บป่วยชองสมาชิกในครอบครัว คนหนึ่ง ไปสู่การป้องกันสมาชิกอื่นๆในครอบครัวได้ โดยขณะให้บริการก็ให้คำปรึกษาแนะนำ แก่ผู้รับบริการถึงการป้องกันภาวะและความเสี่ยงต่างๆ ในระดับบุคคลและครอบครัว ส่วนภายหลังการให้บริการ จะมีการรวบรวมข้อมูลที่ได้หรือรับทราบ มาวางแผนเพื่อดำเนินการลดปัญหา หรือป้องกันปัญหาอย่างเป็นระบบในระดับชุมชน
นอกจากนี้ ศูนย์สุขภาพชุมชนตะกาดเง้า ยังมีการเชื่อมต่อบริการภายในเครือข่าย ทั้งระหว่างศูนย์สุขภาพชุมชนด้วยกัน โรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลศูนย์ เพื่อการดูแลสุขภาพประชาชน รวมทั้งการจัดให้บริการการดูแลฉุกเฉินทั้งในและนอกเวลาราชการ มีระบบและแผนการส่งต่อที่ชัดเจน
ด้านการตรวจสอบการทำให้ปราศจากเชื้อและป้องกันการติดเชื้อในศูนย์สุขภาพชุมชนตะกาดเง้า ปัจจุบันศูนย์สุขภาพชุมชนตะกาดเง้า ได้มีการจัดเก็บ และส่งต่อเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ ให้โรงพยาบาลชุมชนท่าใหม่ ในการทำให้ปราศจากเชื้อ และในส่วนอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการทำอุปกรณ์ปราศจากเชื้อ ได้ดำเนินการตามคู่มือ หรือแนวทางการทำให้อุปกรณ์ปราศจากเชื้อ ทั้งการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ การบันทึกการตรวจสอบการหมดอายุของวัสดุ อุปกรณ์ เครื่องใช้ต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ เป็นประจำ และจากการสำรวจความพึงพอใจของประชาชนในพื้นที่ที่มารับบริการใน เดือนมิถุนายน 2553 พบว่า มีความพึงพอใจในบริการของศูนย์สุขภาพชุมชนตะกาดเง้า คิดเป็น ร้อยละ 94
1.2.2 การจัดบริการด้านทันตกรรม
ศูนย์สุขภาพชุมชนตะกาดเง้า ได้จัดบริการด้านทันตสาธารณสุขที่มีคุณภาพ ตอบสนองต่อ
ความจำเป็นของประชาชนด้านทันตกรรม โดยมีเจ้าพนักงานทันตาภิบาล จำนวน 1 คน มาให้บริการทุกสัปดาห์ ๆ ละ 2 วัน คือ วันอังคาร และวันศุกร์ ซึ่งในส่วนของการบำบัดรักษา ได้ให้บริการ คือ การอุดฟัน การขูดหินปูน / หินน้ำลาย การถอนฟันกรณีไม่ซับซ้อน ในส่วนของการส่งเสริมป้องกัน ได้ให้บริการคือ การประเมินสภาวะช่องปาก การส่งเสริมป้องกันโรคฟันผุ เช่น การเคลือบหลุมร่องฟัน การสอนและสาธิตการแปรงฟันที่ถูกวิธี การให้ความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพปากและฟัน โรคฟันผุ และปริทันต์ ในประชาชนกลุ่มอายุต่างๆ รวมทั้งนักเรียนในเขตรับผิดชอบจำนวน 2 โรง (นอกเขตรับผิดชอบอีก 2 โรง) ศูนย์เด็กเล็กจำนวน 1 ศูนย์ และมีการบริการปรึกษาและส่งต่อการรักษาในกรณีที่ไม่สามารถกระทำได้ที่สถานีอนามัย
1.2.3 บริการด้านการชันสูตร
ศูนย์สุขภาพชุมชนตะกาดเง้า สามารถจัดบริการด้านการชันสูตร วิเคราะห์เบื้องต้นเพื่อช่วยใน
การวินิจฉัยโรคและการรักษาที่ถูกต้อง เหมาะสมรวมทั้งเพื่อให้การบริการเป็นไปด้วยความสะดวก รวดเร็ว ทันเวลา ประชาชนได้รับความพึงพอใจและประโยชน์สูงสุด ในการเข้ารับบริการในศูนย์สุขภาพชุมชนตะกาดเง้า ทางศูนย์สุขภาพชุมชนตะกาดเง้า ได้จัดบริการดังนี้คือ
- การตรวจ Hematocrit หาปริมาณเม็ดเลือดแดงอัดแน่นวัดปริมาณเทียบกับเลือดทั้งหมด ซึ่ง
บริการนี้ ศูนย์สุขภาพชุมชนตะกาดเง้า ได้นำมาใช้เพื่อตรวจหาภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กในนักเรียน ซึ่งในปีการศึกษา 2553 ได้ทำการตรวจในนักเรียนทั้ง 2 โรงเรียน จำนวน 139 คน พบว่าปกติ จำนวน 112 คน คิดเป็นร้อยละ 80.58 และ มีนักเรียนจำนวน 27 คนที่มีระดับความเข้มข้นของโลหิต ระดับ 1 ( 27 35 % ) คิดเป็นร้อยละ 19.42 นอกจากนี้ ยังได้ตรวจหาระดับความเข้มข้นของโลหิตในผู้รับบริการที่มีสงสัยว่าเป็นไข้เลือดออก และในหญิงตั้งครรภ์ อีกจำนวนหนึ่ง
- การตรวจ Urine Sugar และ Urine Albumin โดยใช้แถบตรวจ ซึ่งจัดบริการนี้ในผู้รับบริการที่
มีครรภ์ ผู้มารับริการวางแผนครอบครัว และผู้ป่วยเรื้อรังโรคเบาหวานที่มารับบริการในศูนย์สุขภาพชุมชนตะกาดเง้า ซึ่งในรอบปี 2552 ที่ผ่านมามีผู้รับบริการทั้งสิ้น จำนวน 1,891 คน
- การตรวจ Urine Pregnancy Test หาฮอร์โมน HCG ในปัสสาวะเพื่อหาภาวะตั้งครรภ์ซึ่งในรอบปี 2552 ที่ผ่านมามีผู้รับบริการทั้งสิ้น จำนวน 11 คน
- Stool Examination ตรวจหาหนอนพยาธิ ไข่พยาธิ และพยาธิเซลล์เดียว ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการ
ฝึกอบรมการตรวจหาและใช้กล้องจุลทรรศน์ แต่ที่ผ่านมายังไม่มีการดำเนินงานในส่วนนี้ เนื่องจากการวัสดุและน้ำยาในการตรวจ รวมทั้งผู้ที่จะมารับบริการตรวจโรคหนอนพยาธิ และเนื่องจากไม่พบว่าโรคหนอนพยาธิ เป็นปัญหาสาธารณสุขสำหรับท้องถิ่นนี้
- Fasting blood sugar การตรวจปริมาณน้ำตาลกลูโคสในเลือด โดยเจาะหลังจากงดอาหารและน้ำไม่น้อยกว่า 8 ชั่วโมง ซึ่งปี 2552 ที่ผ่านมา ศูนย์สุขภาพชุมชนตะกาดเง้า มีผู้รับบริการเป็นจำนวนทั้งสิ้น 452
ราย
- การเก็บ Sputum เพื่อค้นหาเชื้อ TB.ในกลุ่มเสี่ยงซึ่งมีผู้ที่อาศัยอยู่ในบ้านป่วยด้วยโรควัณโรค
โดยศูนย์สุขภาพชุมชนตะกาดเง้า เป็นเพียงผู้เก็บรวบรวมส่ง ไม่ได้ตรวจเอง โดยส่งตรวจที่โรงพยาบาลชุมชนท่าใหม่ ในปี 2552 มีการดำเนินงานในส่วนนี้ จำนวน 2 ราย
- การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ( Pap smear ) ในศูนย์สุขภาพชุมชนตะกาดเง้า มีเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการฝึกและอบรม สามารถให้บริการนี้ได้จำนวน 2 คน โดยเก็บตัวอย่างที่ศูนย์สุขภาพชุมชน และนำส่งตรวจที่โรงพยาบาลท่าใหม่ และในรอบปี 2552 ที่ผ่านมา ได้ให้บริการดังกล่าวเป็นจำนวน ทั้งสิ้น 164 ราย อยู่ในกลุ่มเป้าหมายจำนวน 58 ราย นอกกลุ่มเป้าหมาย 106 ราย คนนอกเขต จำนวน 6 ราย และจากผลการตรวจพบผลปกติ จำนวน 155 ราย ผิดปกติ จำนวน 3 ราย
1.2.4 บริการด้านยา และการบริหารเวชภัณฑ์
ศูนย์สุขภาพชุมชนตะกาดเง้า ได้มีการจัดระบบการเบิกจ่ายเวชภัณฑ์ วัสดุการแพทย์ โดยใช้
โปรแกรม HCIS (Health Center Information System) ร่วมกับการใช้ Stock card โดยมีการแบ่งเบิกจ่ายเป็นคลังยานอก และคลังยาใน ตลอดจนการเบิกจ่ายยา เวชภัณฑ์และวัสดุการแพทย์จากโรงพยาบาลแม่ข่าย (โรงพยาบาลท่าใหม่) ทุก 2 เดือน โดยในรอบปี 2552 คิดเป็นมูลค่าที่เบิกจ่ายยาเป็นเงิน 133,925.45 บาท และเวชภัณฑ์ที่มิใช่ยา จำนวน 19,925.06 บาท โดยรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 153,850.51 บาท
นอกจากนี้ เพื่อให้การบริการผู้ป่วยเป็นไปโดยสะดวก รวดเร็ว ทางศูนย์สุขภาพชุมชนตะกาดเง้า
ได้จัดแบ่งยา ตามขนาด ที่เหมาะสม บรรจุในซองยา แยกใส่ในภาชนะอย่างเป็นสัดส่วน ตามประเภทของยา เพื่อสะดวกในการหยิบและจ่ายแก่ผู้รับบริการ ซึ่งเป็นที่พึงพอใจทั้งเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการและประชาชนผู้มารับบริการ โดยการจัดระบบดังกล่าว ได้รับการยืนยันจากเภสัชกรจากโรงพยาบาลศูนย์พระปกเกล้าจันทบุรีแล้วว่า สามารถจัดทำได้และไม่มีผลเสียหากจัดไว้ในปริมาณที่สามารถจ่ายได้หมดภายในระยะเวลาไม่นานเกินไป (3 6 เดือน) ยกเว้นยาบางชนิดที่ไม่ควรถูกแสงสว่างมากนัก เช่น ยาเม็ดวิตามินซี ฯลฯ ในการบริการด้านยานี้ หากมีปัญหาสามารถโทรศัพท์ปรึกษาเภสัชกรโรงพยาบาลชุมชนท่าใหม่ ได้ตลอดในวันและ เวลาราชการ
1.2.5 บริการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก
ศูนย์สุขภาพชุมชนตะกาดเง้า ได้เห็นความสำคัญของการส่งเสริมให้ประชาชนมีการพึ่งตนเองด้านสุขภาพ โดยใช้การแพทย์แผนไทย ซึ่งบริการที่ศูนย์สุขภาพชุมชนตะกาดเง้า ได้สนับสนุนและจัดให้มีบริการในศูนย์คือ การนวดแผนไทย ซึ่ง มีผู้ให้บริการจำนวน 1 คน คือ นางนันทนา คำรัง ซึ่งเป็นชาวบ้านหมู่ 1 บ้านตะกาดเง้า เป็นผู้ให้บริการ เนื่องจากได้เข้ารับการอบรมหลักสูตรนวดแผนไทย ( เพื่อสุขภาพ ) จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดจันทบุรี
นอกจากการนวดแผนไทย ศูนย์สุขภาพชุมชนตะกาดเง้า ได้เห็นความสำคัญของการส่งเสริม
การใช้สมุนไพร ในชุมชนให้มากขึ้น โดยจัดให้มีสวนสมุนไพรในศูนย์สุขภาพชุมชนตะกาดเง้า และศูนย์สาธารณสุขมูลฐานชุมชนในแต่ละหมู่ เพื่อเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจและวิธีใช้ พืชสมุนไพรบางชนิดด้วย และในโอกาสต่อไป ศูนย์สุขภาพชุมชนตะกาดเง้า มีแผนที่จะนำยาสมุนไพร ที่ผลิตจากหน่วยงานราชการที่ได้มาตรฐานมาจำหน่าย เช่น ยาสมุนไพรจากโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศ จังหวัดปราจีนบุรี
1.2.6 บริการด้านส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรคในหญิงตั้งครรภ์ และเด็กอายุ แรกเกิด5 ปี
บริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในหญิงตั้งครรภ์และเด็กอายุแรกเกิด 5 ในศูนย์สุขภาพชุมชนตะกาดเง้า ได้ให้บริการดังนี้
1.หญิงมีครรภ์ได้รับการฝากครรภ์ตามมาตรฐาน โดยบริการตรวจและฝากครรภ์ของศูนย์สุขภาพชุมชนตะกาดเง้า ให้บริการสัปดาห์ละ 1 วัน คือวันอังคาร และหากมีความจำเป็นต้องส่งต่อเพื่อการปรึกษาหรือรักษาต่อก็มีระบบส่งต่อ ซึ่งสามารถรับการปรึกษาและรับส่งต่อได้ โดยมีโรงพยาบาลชุมชนท่าใหม่
เป็นที่รับปรึกษาและรับส่งต่อ ในรอบปีที่ผ่านมา มีผู้รับบริการนี้ เป็นจำนวนทั้งสิ้น 61 ราย
2.เด็กแรกเกิด 5 ปีได้รับวัคซีน ตาม EPI Program ประกอบเด็กเกิดปี 2552 จำนวน 50 คน เด็กเกิดปี 2551 จำนวน 58 คน เด็กเกิดปี 2550 จำนวน 42 คน เด็กเกิดปี 2549 จำนวน 40 คน เด็กเกิดในปี 2548 จำนวน 54 คน รวมทั้งสิ้น 244 คน สำหรับการติดตามเพื่อหาความครอบคลุมของการรับวัคซีนในแต่ละชนิด ศูนย์สุขภาพชุมชนตะกาดเง้าได้ใช้ระบบการตรวจและติดตามโดยระบบ Cohort Analysis ตามแบบรายงาน EPI.001 - EPI.006 ซึ่งวัคซีนทุกชนิด มีความครอบคลุมของการได้รับมากกว่าร้อยละ 95 นอกจากนี้ศูนย์สุขภาพชุมชนตะกาดเง้าได้ใช้ระบบการติดตามเด็กเพื่อมารับวัคซีน ด้วยการประชาสัมพันธ์และประกาศผ่านเสียงตามสาย ซึ่งมีกระจายครอบคลุมพื้นที่ทุกหมู่ รวมทั้งการโทรศัพท์ติดตามในรายที่ถึงกำหนดรับวัคซีนแล้วไม่มารับวัคซีนในช่วงเช้าของวันให้บริการ ซึ่งก็คือ ทุกวันที่ 10 ของเดือน ซึ่งบริการโทรติดตามนี้ ได้รับความพึงพอใจจากผู้ปกครองเด็กมาก เนื่องจากทำให้เด็กได้รับวัคซีนครบตามกำหนด
3.เด็กแรกเกิด 6 ปี ได้รับการส่งเสริมให้เจริญเติบโตตามมาตรฐาน อายุ น้ำหนัก จำนวน 337 คน ได้รับการชั่งน้ำหนักเฝ้าระวังและติดตามภาวะโภชนาการ จำนวน 330 คน คิดเป็น ร้อยละ 97.92 และจากเด็กที่ได้รับการติดตามภาวะโภชนาการ พบว่า มีน้ำหนักปกติ จำนวน 307 คน คิดเป็น ร้อยละ 93.03
น้ำหนักค่อนข้างน้อย จำนวน 5 คน คิดเป็นร้อยละ 1.52 น้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ จำนวน 3 คน คิดเป็น ร้อยละ 0.91 น้ำหนักค่อนข้างมาก จำนวน 2 คน คิดเป็นร้อยละ 0.61 และน้ำหนักค่อนข้างมากจำนวน 13 คน คิดเป็นร้อยละ 3.94
1.3 การบริการต่อเนื่อง
1.3.1 บริการให้คำปรึกษา (Counseling)
ศูนย์สุขภาพชุมชนตะกาดเง้าได้ให้บริการให้คำปรึกษา มาตั้งแต่ ก่อน พ.ศ. 2544 อันเป็นปีที่สถานีอนามัยตะกาดเง้าได้ถูกกำหนดให้เป็นศูนย์สุขภาพชุมชน เจ้าหน้าที่ทั้งหมด จำนวน 4 คน ที่ปฏิบัติงานในศูนย์สุขภาพชุมชนตะกาดเง้า ได้รับการอบรมการให้คำปรึกษาทั้งหมด โดยได้จัดให้มีห้องให้คำปรึกษาโดยเฉพาะ คือห้องที่ใช้ในการตรวจ และฝากครรภ์ เนื่องจากไม่มีสถานที่เพียงพอ ซึ่งที่ผ่านมาการให้คำปรึกษาส่วนหนึ่ง ใช้โต๊ะซึ่งใช้ในการให้บริการรักษาพยาบาลทั่วไป ในการให้คำปรึกษา เนื่องจากผู้มารับบริการให้คำปรึกษาส่วนใหญ่ เลือกที่จะมา และพูดคุยในเวลาบ่าย หรือในช่วงที่ไม่มีผู้รับบริการอื่นอยู่ แต่ขณะที่ให้คำปรึกษา หากมีผู้รับบริการอื่นมาใช้บริการ ผู้รับคำปรึกษาก็ไม่มีท่าทีที่จะปกปิดเรื่องที่ปรึกษา เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพอันเนื่องมาจากโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคปวดข้อ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ วิตกกังกล หรือภาวะเครียดจากการทำงาน เศรษฐกิจ
นอกจากนี้ศูนย์สุขภาพชุมชนตะกาดเง้า ยังได้ให้บริการให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์ หมายเลข 0 3945 5511 ในเวลาราชการอีกทางหนึ่งด้วย เนื่องจากปัจจุบันเกือบทุกหลังคาเรือนมีโทรศัพท์มือถือใช้ และมากกว่า ร้อยละ 25 ของหลังคาเรือน มีการติดตั้งโทรศัพท์ประจำบ้าน
1.3.2 ระบบส่งต่อกรณีฉุกเฉิน
ศูนย์สุขภาพชุมชนตะกาดเง้า มีระบบเตรียมความพร้อมก่อนการส่งต่อ โดยมีแผนรองรับกรณีผู้ป่วยฉุกเฉิน มีผังและแนวทางการปฏิบัติ เพื่อการส่งต่อและการติดต่อหน่วยรับส่งต่อคือโรงพยาบาลชุมชนท่าใหม่ ทั้งทางวิทยุสื่อสาร และโทรศัพท์ โดยในการส่งต่อ ใช้เอกสาร แสดงรายละเอียดของการส่งต่อตามแบบฟอร์มสำหรับส่งผู้ป่วยไปรับการตรวจ หรือรักษาต่อ ( บส. 08 ) และมีติดตามผลการตรวจรักษา ในปี 2552 (ตุลาคม 2551 30 กันยายน 2552 ) มีการส่งต่อทั้งหมด 46 ราย โดยในการส่งต่อในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถเดินทางไปเองได้ ทางสถานีอนามัยจะมีรถยนต์สำหรับส่งต่อผู้ป่วย ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์รถยนต์จากสำนักงานสาธารณสุขอำเภอท่าใหม่ และโรงพยาบาลท่าใหม่ให้งบประมาณในการซ่อมแซมจนสามารถใช้งานได้
1.3.3 บริการเยี่ยมบ้าน
ศูนย์สุขภาพชุมชนตะกาดเง้า โดยทีมสุขภาพซึ่งประกอบด้วยพยาบาลวิชาชีพ เจ้าพนักงานทันตาภิบาล เจ้าพนักงานสาธารณสุขชุมชน เจ้าหน้าที่บริหารงานสาธารณสุข และนักวิชาการสาธารณสุข ได้ดำเนินการเยี่ยมบ้าน ในผู้ป่วย ในหลายๆ ลักษณะ ส่วนใหญ่ เป็นผู้ป่วยกลุ่มโรคเรื้อรัง มากที่สุดคือความดันโลหิตสูง เบาหวาน อัมพาต ซึ่งหลายๆคนมีภาวะอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น แผลกดทับ แผลเรื้อรัง นอกจากนี้ยังทำการเยี่ยมบ้านในกลุ่มอื่นๆ ตามความจำเป็นของผู้รับบริการและตามความจำเป็นของภารกิจที่ทีมสุขภาพได้วางแผนร่วมกันไว้ พร้อมกับการจัดทำแฟ้มครอบครัวในบางโอกาส โดยการออกเยี่ยมส่วนใหญ่ จะประกอบไปด้วยพยาบาลวิชาชีพและเจ้าพนักงานสาธารณสุขชุมชนเป็นหลัก เนื่องจากทันตาภิบาลไม่ได้ปฏิบัติงานประจำในศูนย์สุขภาพชุมชน และเจ้าหน้าที่บริหารมีภารกิจที่จำเป็น และเร่งด่วนอื่นๆมากกว่าที่จะมีเวลาออกเยี่ยมบ้าน ซึ่งต้องใช้เวลาในการเยี่ยมครั้งละหลายชั่วโมง
โดยสรุป การเยี่ยมบ้านของทีมสุขภาพของ ศูนย์สุขภาพชุมชนตะกาดเง้า ก็ได้รับความร่วมมือและความพึงพอใจจากประชาชนที่รับผิดชอบ นอกจากนี้ยังทำให้เข้าใจวิถีชีวิต สภาพสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อสุขภาพของแต่ละบุคคล อันจะนำมาซึ่งการวางแผน พัฒนากลวิธี ปรับปรุง หรือหาแนวทางแก้ไขพฤติกรรมสุขภาพที่เสี่ยงต่อการเจ็บป่วยในแต่ละบุคคล และครอบครัวนั้นๆได้ดียิ่งขึ้น
2. ด้านบริหารจัดการ
2.1 การให้บริการต่อเนื่องเป็นทีมประจำของทีมสุขภาพ
การปฏิบัติงานในส่วนของการให้บริการที่ต่อเนื่องเป็นทีมประจำของทีมสุขภาพ ของศูนย์สุขภาพชุมชนตะกาดเง้านั้น เมื่อเทียบกับเกณฑ์มาตรฐานของศูนย์สุขภาพชุมชน ที่จะต้องประกอบไปด้วยบุคลกรทุกสาขา ตามสัดส่วนประชากร เพื่อการสร้างสุขภาพแบบองค์รวมนั้น ยังถือว่าไม่ได้มาตรฐานตามเกณฑ์ อันเนื่องมาจากปัญหาของการขาดบุคลากร บางสาขาคือแพทย์ และเภสัชกร ซึ่งเป็นปัญหาที่ยากจะแก้ไข แต่ทีมสุขภาพของศูนย์สุขภาพชุมชนตะกาดเง้าที่มี ก็สามารถปฏิบัติภารกิจได้ เนื่องจากสามารถติดต่อแพทย์และเภสัชกรในกรณีต้องการคำปรึกษาได้ตลอดเวลา และนอกจากนี้แพทย์และเภสัชกรยังมีการออกมาเยี่ยมและให้คำแนะนำ ปรึกษาที่ศูนย์สุขภาพชุมชนตะกาดเง้า เป็นครั้งคราว
2.2 การพัฒนาบุคลากร
ศูนย์สุขภาพชุมชนตะกาดเง้าได้เห็นความสำคัญของการพัฒนาบุคลกรที่ปฏิบัติงานประจำอยู่ในศูนย์สุขภาพชุมชน และร่วมเป็นทีมสุขภาพ ว่าจะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถและทักษะต่างๆ เกี่ยวกับการให้บริการ รวมทั้งความสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบริการ การบริหารจัดการให้ศูนย์สุขภาพชุมชนตะกาดเง้าพัฒนาและดำเนินการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อส่งเสริมสุขภาพร่วมกับประชาชน ครอบคลุมกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ควบคู่ไปกับการรักษาโรค และฟื้นฟูสุขภาพ
ในรอบปีงบประมาณ 2552 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์สุขภาพชุมชนตะกาดเง้าและทีมสุขภาพทุกคนได้เข้ารับการฝึกอบรมประชุม เพื่อพัฒนาความรู้ความสามารถและทักษะต่างๆ รวมกันทั้งสิ้น 64 ครั้ง โดยแบ่งเป็น เจ้าหน้าที่บริหารงานสาธารณสุข จำนวน 26 ครั้ง เป็นจำนวน 45 วัน เจ้าหน้าที่สาธารณสุขชุมชน 12 ครั้งเป็นจำนวน 18 วัน นักวิชาการสาธารณสุข 23 ครั้งเป็นจำนวน 35 วัน และพยาบาลวิชาชีพ 4 ครั้งเป็นจำนวน 8 วัน
2.3 การพัฒนามาตรฐานบริหารจัดการ
2.3.1 การจ่ายค่าตอบแทน
ศูนย์สุขภาพชุมชนตะกาดเง้า ได้รับการจัดสรรทรัพยากรจากคู่สัญญาการจัดบริการปฐมภูมิ (Contracting Unit For Primary Care : CUP ) เพื่อการจัดบริการสุขภาพในรูปแบบที่ไม่มีระบบชัดเจน โดยส่วนใหญ่เป็นการจ่ายแบบเหมาจ่ายรายเดือน (Fix cost เดือนละ 25,000 บาท) หรือรอบการจ่ายอื่นๆ ซึ่งไม่มีความแตกต่างจากศูนย์สุขภาพรอง เพื่อใช้จ่ายเป็นค่าสาธารณูปโภคและค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ โดยในส่วนของการจ่ายค่าตอบแทน ยังคงเป็นไปตามกิจกรรมที่ปฏิบัติ เช่น ค่าเวร ในอนาคตอันใกล้นี้ทางศูนย์สุขภาพชุมชนตะกาดเง้าคาดหวังว่า จะได้รับการจ่ายค่าตอบแทน เป็นแบบการจ่ายตามความเป็นไปตามแผนแบบมุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ และผลที่เกิดขึ้นจากแผนงานนั้น ( Result Base )
2.3.2 ระบบบริหารงานที่คำนึงถึงความคุ้มค่า และแสดงต้นทุนบริการที่แท้จริง
ศูนย์สุขภาพชุมชนตะกาดเง้า มีกิจกรรมการให้บริการที่คำนึงถึงต้นทุนบริการที่เหมาะสมกับกิจกรรมด้านส่งเสริมสุขภาพ ป้องกัน รักษา และฟื้นฟูสมรรถภาพ ยังไม่ครบทุกกิจกรรมบริการ อันเนื่องมาจากบุคลากรบางส่วนยังการขาดความรู้ ความเข้าใจในระบบบริหารงานนี้ ปัจจุบันได้มีการสนับสนุนในการจัดทำระบบบัญชีตามหน่วยต้นทุน เพื่อที่จะประเมินต้นทุนที่แท้จริงของบริการในแต่ละประเภท และในปีงบประมาณ 2548 เมื่อวันที่ 2 4 มีนาคม 2548 ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดจันทบุรี ได้จัดการอบรมเจ้าหน้าที่ ผู้ปฏิบัติงานประจำศูนย์สุขภาพชุมชนให้รับรู้ และสามารถใช้โปรแกรมวิเคราะห์หน่วยต้นทุนแยกตามกิจกรรมบริการเพื่อที่จะประเมินต้นทุนที่แท้จริงของบริการในแต่ละประเภทไปแล้ว และได้เริ่มมีการนำโปรแกรมดังกล่าวมาใช้ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2548
2.4 งานปรับปรุงโครงสร้าง
- ปูพื้นกระเบื้องชั้นล่าง ได้รับงบลงทุนจากสปสช. และ เงินบำรุง รวมทั้งสิ้น 76,500 บาท
- ทาสีรั้วสถานีอนามัย งบประมาณ 8,000 บาท (เงินบำรุง)
- เครื่องชั่งน้ำหนักแบบดิจิตอล งบประมาณ 18,000 บาท (งบลงทุนสปสช.)
- เครื่องขูดหินน้ำลาย งบประมาณ 37,000 บาท (งบลงทุน)
- คอมพิวเตอร์ 1 ชุด และจอคอมพิวเตอร์ 2 ตัว งบประมาณ 39,000 (เงินบำรุง)
3. ด้านวิชาการ
3.1 มีแนวทาง กระบวนการ มาตรฐานในการให้บริการ
3.1.1 มาตรฐานการให้บริการในศูนย์สุขภาพชุมชน
ศูนย์สุขภาพชุมชนตะกาดเง้า เห็นความสำคัญของการดูแลรักษาผู้ป่วย ว่ามีปัจจัยหลายอย่าง ที่มีบทบาทต่อการเกิดคุณภาพบริการ ไม่ว่าจะเป็นความรู้ ประสบการณ์และรวมถึงการใช้วิจารณญาณของทีมสุขภาพ ผู้ให้บริการ อันอาจทำให้เกิดความหลากหลายในวิธีการรักษาและการให้บริการ
เพื่อให้ทุกคนในทีมสุขภาพของศูนย์สุขภาพชุมชนตะกาดเง้า มีการให้บริการเป็นไปในแนวทางหรือวิธีการเดียวกัน จึงได้มีการประชุมร่วมกัน เป็นประจำอย่างน้อย เดือนละ 1 ครั้ง พร้อมทั้งมีการแลกเปลี่ยนแนวคิด ประสบการณ์ รวมทั้งการทบทวนเอกสารทางวิชาการ เพื่อลดความแตกต่างในวิธีการให้บริการ ทำให้เกิดความเชื่อมั่น ไว้วางใจในบริการที่ได้รับ ว่าเป็นบริการที่มีคุณภาพ ประสิทธิภาพและปลอดภัย รวมทั้งถือโอกาสซักถามปัญหาที่แต่ละคนพบ และวางแผนการแก้ไข ปรับปรุงวิธีการดำเนินงาน ร่วมกัน อีกทั้งยังทำให้เกิดความสามัคคี สร้างความสัมพันธ์และเข้าใจกันของทีมสุขภาพ ทำให้การพัฒนาศูนย์สุขภาพชุมชน เป็นไปด้วยความราบรื่น มีประสิทธิภาพและมีความคาดหวังที่จะเป็น ศูนย์สุขภาพชุมชนที่ได้มาตรฐานในเร็ววัน
3.1.2 การพัฒนาและการดำเนินงานวิจัยในพื้นที่
ในรอบปี 2551 ที่ผ่านมาศูนย์สุขภาพชุมชนตะกาดเง้า ได้ดำเนินการศึกษาสภาพปัญหาที่พบในพื้นที่ รวมทั้งพฤติกรรมสุขภาพบางพฤติกรรม ซึ่งทางศูนย์สุขภาพชุมชนตะกาดเง้าเห็นว่าน่าสนใจ ซึ่งอาจมีส่วนเกี่ยวข้อง และเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคทันตกรรมในกลุ่มเด็กนักเรียน ซึ่งมีหัวข้อการศึกษาดังนี้
- โครงการป้องกันการสูญเสียฟันถาวรในโรงเรียนประถมศึกษา ตำบลตะกาดเง้า อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี
ซึ่งจากการศึกษาดังกล่าว สามารถนำผลการศึกษามาร่วมใช้ประโยชน์ดังนี้
- เป็นแนวทางในการวางแผนยุทธศาสตร์ ในการป้องกัน รักษา ควบคุมโรคฟันถาวรผุ ในปีต่อๆไป
- สามารถทำให้กำหนดกลวิธีในการดำเนินการแก้ไขปัญหา
- ก่อให้เกิดความตระหนัก ในกลุ่มของเด็กนักเรียนประถมศึกษา และกลุ่มคุณครูประจำชั้น ทำให้เกิดความร่วมมือในกิจกรรมต่างๆ ให้เป็นไปได้ด้วยดียิ่งขึ้น
- เกิดการสร้างสัมพันธ์ภาพอันดีระหว่างเจ้าหน้าที่ทันตสาธารณสุขกับนักเรียน ทำให้นักเรียนเกิดทัศนคติที่ดี ต่อการไปรับการตรวจรักษาทางทันตกรรม
- เป็นโครงการนำร่องเพื่อใช้เป็นแนวทางการปฏิบัติงานในโรงเรียนอื่นๆต่อไป
หมายเหตุ. : ทดลองโพสต์ ข้อมูล เนื้อหายังไม่สมบูรณ์