เดิน...เพื่อชีวิต ตอนที่ 2
|
ความคิดเห็นที่ 1 การเดินเพื่อเสริมสร้างสมรรถภาพให้ร่างกาย
1. เดินด้วยพละกำลัง เป็นการเดินแบบตั้งใจ มีสติ ก้าวเท้ายาวๆและเน้นหนักเมื่อเท้าถึงพื้น ขณะเดียวกันก็เกร็งมือทั้งสองข้างแกว่งสลับกับเท้าที่ก้าวออกไป วิธีการเดินแบบนี้จะเป็นการสร้างกล้ามเนื้อได้อย่างรวดเร็ว แต่มีข้อเสียตรงที่กล้ามเนื้อจะอ่อนล้าได้ง่าย
2. เดินทน เป็นการเดินในระยะทางไกลๆ พร้อมกับการหายใจเข้าออกอย่างสัมพันธ์กันตลอดการเดิน วิธีนี้ต้องอาศัยความอดทนและขีดความสามารถของผู้เดินเป็นหลัก ซึ่งเมื่อเดินมาได้ระยะทางหนึ่งแล้ว รู้สึกไม่ไหว เหนื่อยมาก หรือหายใจไม่ทันให้หยุดพัก แล้วค่อยๆเพิ่มระยะทางในวันหลัง ควรระวังที่จะไม่เดินในระยะทางไกลแบบเร็วเกินไป เพราะจะมีผลเสียต่อร่างกายมากกว่าผลดี โดยเฉพาะระบบการหมุนเวียนเลือดไปสู่หัวใจ อาจทำให้เกิดอาการช็อกได้
3. การเดินตามจังหวะการควบคุม เป็นการเดินที่อยู่ภายใต้การควบคุมของประสาทให้มีความว่องไว การตอบสนองสัมพันธ์กันอย่างสมดุล เช่นการเดินถอยหลัง การเดินสลับฟันปลาด้วยความรวดเร็ว เป็นการเพิ่มขีดความสามารถระบบสั่งงานของประสาท ทำให้ร่างกายมีความคล่องตัวอยู่เสมอ การเดินแบบนี้เหมาะสำหรับคนที่มีอายุไม่มาก มีกล้ามเนื้อที่แข็งแรง และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
4. เดินตามสบาย เป็นการเดินไปเรื่อยๆ แบบมีสติ พร้อมกับหายใจเข้าออกให้สัมพันธ์กับการเดิน เหมาะสำหรับคนที่มีอายุมากหรือย่างเข้าสู่วัยกลางคน และคนที่ต้องนั่งหรือยืนทำงานอยู่กับที่ตลอดทั้งวัน การเดินตามสบายจะช่วยให้ร่างกายได้ผ่อนคลาย หายเครียดกับการงานที่ทำตลอดทั้งวันได้
เดินอย่างไรจึงเป็นการเดินเพื่อสุขภาพ โดยทั่วๆไปเราจะเห็นการเดินอยู่ 3 ลักษณะ คือ เดินเร็วโดยมีของหนักติดตัวไปด้วย เดินไปเรื่อยๆกินเวลานานๆ เดินแบบเร็ว จ้ำเอาๆ
ซึ่งการเดินทั้ง 3 แบบ ก็ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของผู้ออกกำลังกาย เราลองมาพูดตามหลักวิชาการบ้างเพื่อที่เราจะได้รู้ว่าการเดินแบบไหนจะให้ผลดีต่อสุขภาพของเราที่สุด
เริ่มจากการเดินแบบมีของหนักติดตัวไปด้วย วิธีนี้กล้ามเนื้อจะถูกใช้งานหนักมากแบบทันทีทันใด เหมือนกับการเพาะกาย ที่ต้องยกบาร์เบลที่มีน้ำหนักเป็นสิบๆ กิโล กล้ามเนื้อมนุษย์ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อการใช้งานอย่างหักโหมในทันทีทันใด หากฝืนทำไปโดยที่กล้ามเนื้อยังไม่แข็งแรง จะเป็นอันตรายอย่างมาก
การเดินแบบเร็ว จ้ำเอา จ้ำเอา เหมือนเดินเพื่อการคว้าเหรียญทองอันดับหนึ่งแต่เนื่องจากร่างกายคนเรา มีขีดจำกัดในการออกกำลังกายไม่เท่ากัน หากฝืนหักโหมจนเกินขีดความอดทน อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ โดยเฉพาะหัวใจ
ฉะนั้นการเดินเพื่อให้ได้ผลดีต่อสุขภาพที่สุด จึงควรเป็นการเดินที่ใช้เวลานานๆ มีจังหวะการเดินที่ไม่เร็วหรือช้าจนเกินไป การเดินแบบนี้ ทำให้ร่างกายนำเอาออกซิเจนเข้าไปเผาผลาญไขมันให้กลายเป็นพลังงาน ยิ่งได้เดินนานๆ ก็จะมีการใช้ไขมันส่วนเกินมากขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีต่อรูปร่าง เรียกว่าเป็นการเดินเพื่อเสริมสร้างสมรรถภาพร่างกายให้มีสุขภาพดี หรือจะใช้เป็นการเดินเพื่อลดน้ำหนัก ลดความอ้วนก็ได้
**แต่สำหรับผู้ที่ไม่เคยออกกำลังกายมาเลยตลอดชีวิต ไม่ควรเดินระยะไกลๆ เป็นเวลานานๆ หากฝืนสภาพร่างกายอาจเป็นอันตรายต่อหัวใจได้ ผู้ที่ไม่เคยออกกำลังกายมาก่อน จึงควรเดินทดสอบสมรรถภาพของตัวเองดูก่อน โดยลองเดินดูว่าเดินได้ระยะไกลแค่ไหนถึงจะหายใจไม่ทัน หรือเกิดอาการเหนื่อยหอบ ถ้าเกิดอาการเช่นนี้ให้หยุดทันทีโดยไม่มีการฝืน โดยเฉพาะผู้ที่ไม่เคยออกกำลังมากายและมีอายุมากๆ ยิ่งต้องระวังมากเป็นพิเศษ ไม่ควรหักโหมอย่างเด็ดขาด หลังจากทดสอบตัวเองแล้ว วันต่อไปจึงค่อยเริ่มเดินใหม่เพื่อเพิ่มระยะทางและเวลาขึ้นเรื่อยๆ โดยยึดหลักเดิมคือ เดินตามความสามารถที่เรามี ไม่เดินตามคนอื่น และพร้อมที่จะพักได้ตลอดเวลา จึงจะเป็นผลดีต่อสุขภาพและร่างกายของเราที่สุด**
(จบ เดิน...เพื่อชีวิต ตอนที่ 2)
| โดย: เจ้าบ้าน [1 ก.ค. 56 19:30] ( IP A:14.207.78.92 X: ) |  |
|